Saturday, 18 May 2024
พรรคก้าวไกล

‘เท่าพิภพ’ รับเสียน้ำตาบ่อย หลัง ‘ก้าวไกล’ ทำ ปชช.ผิดหวัง ขอบคุณทุกคนที่ให้กำลังใจ เชื่อ ทุกปัญหาจะค่อยๆ ถูกแก้ไข

‘เท่าพิภพ’ รับ เสียน้ำตาบ่อย ‘ก้าวไกล’ ทำปชช.ผิดหวัง ห่วง ‘สส.เพื่อไทย’ ลงพื้นที่ลำบาก เหตุไม่พอใจการจับข้ามขั้วตั้ง รบ. สะท้อนเสียงจากการประชุมที่อินโดนีเชีย ต่างชาติมองประเทศไทย เสียประชาธิปไตยไปแล้ว

(15 ส.ค. 66) ที่ตึกไทยซัมมิท นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตกร สส.กทม.พรรคก้าวไกล กล่าวก่อนการประชุม สส.ของพรรคก้าวไกล ถึงการรับฟังความเห็นจากประชาชนในการลงพื้นที่กรณีการโหวตนายกรัฐมนตรีให้พรรคเพื่อไทยหรือไม่ ว่า ตนคิดว่าบรรยากาศในการลงพื้นที่ขณะนี้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เพราะไม่ได้เป็นไปในแนวทางบวกเหมือนหลังการเลือกตั้ง เพราะประชาชนส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นด้วย ในการที่พรรคก้าวไกลจะโหวตให้กับแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย พร้อมยอมรับว่าตนเองเสียน้ำตาบ่อย เพราะทำให้ประชาชนผิดหวัง ซึ่งก็ทำได้แค่เพียงให้กำลังใจ สส. ของพรรคคนอื่นๆ ที่เจอสถานการณ์เดียวกัน

แต่ก็อาจจะเป็นแบบที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่เคยระบุไว้ว่า “อาจจะไม่ได้เป็นฝ่ายค้าน” ก็ได้ ขอให้กำลังใจ สส.เขตพรรคเพื่อไทยด้วย เราก็เข้าใจว่าในระบบพรรคการเมือง ผู้บริหารพรรคคงจะไม่ได้รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนมากเท่า สส.เขต จึงอยากให้ สส.เขตสะท้อนเสียงที่ได้รับฟังจากประชาชนขึ้นไป ให้ผู้บริหารของพรรคได้รับทราบ ซึ่งก็ไม่ได้มีคนตำหนิหรือติเตียนอะไรที่พรรคก้าวไกลไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ส่วนใหญ่มีแต่คนมาให้กำลังใจ

เมื่อถามว่า ในการประชุมที่ประเทศอินโดนีเซีย ได้มีการพูดคุยกับผู้นำคนอื่นๆ ในการประชุมหรือไม่ และมีเสียงสะท้อนอย่างไรบ้าง นายเท่าพิภพ กล่าวว่า จากการที่ตนได้พูดคุยกับรองประธานสภาจากประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศมาเลเซีย ทั้งสองคนก็ได้สอบถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย ซึ่งตนก็ได้แค่เพียงอธิบายถึงระบบที่บิดเบี้ยวของประเทศไทย ว่าสุดท้ายแล้วปัญหาจะค่อยๆ ถูกแก้ไปเอง

ซึ่งก็หวังว่าคงจะมีรัฐบาลโดยเร็ว เพื่อที่จะได้เร่งแก้ไขปัญหา เพราะทั้งสองประเทศเขาจะมีการจับขั้ว และตกลงกันก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง ไม่ใช่มาจับกันมั่วภายหลังการเลือกตั้ง เราจึงได้เรียนรู้ว่า ประเทศไทยได้สูญเสียสิ่งที่เราเคยได้เป็นตัวอย่างการเป็นประชาธิปไตยให้กับประเทศอื่น ซึ่งในการประชุมครั้งหน้า ตนก็ไม่อยากจะตอบคำถามลักษณะเดียวกันนี้อีก

‘ก้าวไกล’ ยัน!! เสนอญัตติทบทวนมติรัฐสภากรณีสภาโหวตนายกฯ ต่อไป ย้ำ!! สภาควรแก้ไขกันเองได้ ทำเรื่องที่ถูกต้องให้เป็นบรรทัดฐาน

(16 ส.ค.66) ที่รัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล แถลงหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่รับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีสภาฯ โหวตเลือกนายกฯ เนื่องจากผู้ร้องเรียนไม่ใช่บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพโดยตรง ไม่อาจใช้สิทธิยื่นคำร้องเรียนได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213

นายรังสิมันต์กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้พิจารณาในเนื้อหาสาระข้อเท็จจริง แต่ยกเรื่องเทคนิคกระบวนการมาเป็นเหตุผล สำหรับพรรคก้าวไกลยืนยันโดยตลอดว่ากรณีเช่นนี้ สภาฯ ควรแก้ไขปัญหากันเองได้ ไม่จำเป็นต้องให้องค์กรภายนอกอย่างศาลรัฐธรรมนูญเข้ามา อะไรก็ตามที่ทำไม่ถูกต้องหรือผิดพลาดไป สภาฯ มีอำนาจแก้ไขปรับปรุง จึงเป็นที่มาที่ทำให้พรรคก้าวไกลเสนอญัตติเพื่อให้สภาทบทวน ว่าการที่สภาเคยมีมติว่าญัตติที่เสนอพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคก้าวไกลซ้ำ ไม่สามารถทำได้นั้น เป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องทางกฎหมาย

ดังนั้น ในโอกาสที่จะมีการเลือกนายกฯ ต่อไป พรรคก้าวไกลขอยืนยันจะเสนอญัตตินี้ต่อไป และหวังว่ากระบวนการนี้จะทำให้สภาฯ ได้ทำสิ่งที่ถูกต้อง โดยยืนยันว่าไม่ใช่การตีรวนทางการเมือง

“สถานะแคนดิเดตนายกฯ เป็นสถานะตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่พอเสนอกันไปแล้วไม่ผ่านในรอบแรก จะบอกว่าสถานะนั้นไม่มีอีกแล้ว การพิจารณาแบบนี้เป็นการเล่นการเมือง โดยไม่พิจารณาอยู่บนข้อเท็จจริงข้อกฎหมาย พรรคก้าวไกลยืนยันว่า การพิจารณาแคนดิเดตนายกฯ ไม่ว่าจะเป็นใคร หากรอบนี้ไม่ผ่าน รอบต่อไปก็เสนอได้” นายรังสิมันต์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเช่นนี้ พิธาจะยื่นคำร้องเองในฐานะบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือไม่ นายรังสิมันต์กล่าวว่า ไม่ยื่นแน่นอน แม้พรรคก้าวไกลจะเป็นเป้าของการไม่ให้เสนอนายกฯ ซ้ำ แต่เรายืนยันมาตลอดว่าเรื่องนี้เป็นกิจการของสภาฯ จึงต้องการใช้กลไกของสภาฯ ในการทำสิ่งที่ถูกต้อง

“เรื่องนี้เป็นเรื่องหลักการ ไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง หรือเพื่อให้นายพิธากลับมาเป็นแคนดิเดตนายกฯ อีกครั้ง ไม่ว่าแคนดิเดตเป็นใคร จะได้ประโยชน์จากข้อเสนอของพรรคก้าวไกลทั้งสิ้น เว้นเสียแต่บางกลุ่มบางพวกต้องการวางหมากให้การเสนอนายกฯ เกิดขึ้นได้ครั้งเดียว ซึ่งไม่ใช่เจตนาที่ดีแน่ๆ โดยอาจแบ่งเป็น 2 กรณี หนึ่งคือเพื่อให้พรรคก้าวไกลไม่ผ่านหรือพรรคการเมืองบางพรรคไม่ผ่าน แล้วหวังว่าตัวเองจะได้ประโยชน์ และสอง เป็นการปูทางไปสู่นายกฯ คนนอก ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย” นายรังสิมันต์ กล่าว

นอกจากนี้ นายรังสิมันต์ยอมรับว่า สถานะของญัตติดังกล่าวมีปัญหา เพราะแม้ตามกระบวนการมีผู้รับรองถูกต้อง และไม่มีอำนาจในข้อบังคับฯ ที่ให้ประธานวินิจฉัย ซึ่งประธานชี้แจงว่าให้รอศาลรัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่มีข้อกฎหมายเช่นกันว่าระหว่างที่รอ จะทบทวนไม่ได้ ดังนั้น เรื่องนี้จึงไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของข้อกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม เข้าใจว่าเป็นเจตนาดีของประธานรัฐสภา ที่ต้องการให้กระบวนการมีความชัดเจนก่อนแต่หากพิจารณาด้วยเหตุผล หากเรื่องนี้กลายเป็นบรรทัดฐาน หากรอต่อไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีความชัดเจน จะสร้างความเสียหายแก่บ้านเมือง เพราะการเสนอชื่อบุคคลในรัฐสภานั้นไม่ได้มีแค่ตำแหน่งนายกฯ และหากเสนอชื่อนายกฯ ซ้ำไม่ได้ อาจทำให้ได้รัฐบาลที่ไม่ตรงกับความต้องการของประชาชน ทำลายประชาธิปไตย ทำลายการเมืองแบบรัฐสภา ทำลายความหวังของพี่น้องประชาชน

‘กกต.’ โต้เดือด ‘พิธา’ กรณีไต่สวนอาญา ม.151 ชี้!! ยังไม่แล้วเสร็จ ปัด ‘กลั่นแกล้งให้ได้รับโทษ’

(16 ส.ค. 66) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกเอกสารข่าว ว่า ตามที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความว่า “คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนของ กกต.มีมติยกคำร้องในคดีอาญา มาตรา 151 ตามข้อกล่าวหาว่า รู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส.ได้สมัครรับเลือกตั้งหรือทำหนังสือยินยอมให้พรรคการ เมืองเสนอรายชื่อเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ...” จากกรณีที่เป็นข่าวว่า นายพิธา เป็นผู้ถือหุ้นบริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส. โดยเป็นผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ กกต.จึงได้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนฯ เพื่อพิจารณาว่าฝ่าฝืนมาตรา 151 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. พ.ศ. 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 (พรป.สส.) หรือไม่ประการใดนั้น

กกต.ชี้แจงว่า ในการเลือกตั้ง สส. เป็นการทั่วไป 2566 มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 3 ราย ได้ยื่นคำร้องต่อสำนักงาน กกต. กล่าวหาว่า นายพิธา เป็นผู้ถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น อันเป็นกิจการสื่อมวลชน เชื่อว่าเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 (3) แห่งรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน แต่คำร้องดังกล่าวยื่นเกินกำหนดระยะเวลาตามที่กฎหมายบัญญัติ กกต. จึงมีมติสั่งไม่รับคำร้องดังกล่าวทั้งหมดไว้พิจารณา 

แต่เมื่อ กกต.ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า รายละเอียดที่ปรากฏตามข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของผู้ยื่นคำร้อง มีเหตุอันควรเชื่อว่านายพิธา อาจจะเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้สมัครรับเลือกตั้ง สส. โดยมีเหตุอันควรสงสัยหรือความปรากฏ จึงได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนฯ เพื่อให้ดำเนินการสืบสวนฯ ให้เป็นไปตามมาตรา 151 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. ว่า นายพิธา กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่ประการใด ขณะนี้การดำเนินการสืบสวนไต่สวนยังไม่เสร็จสิ้นและได้ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติ โดยอยู่ในระหว่างกระบวนการสืบสวนไต่สวนเป็นไปตามลำดับชั้นตามระเบียบและกฎหมาย หลังจากนั้น จะได้นำเสนอข้อเท็จจริงข้อกฎหมายและความเห็นต่อ กกต. ให้เป็นผู้พิจารณาและมีคำสั่งต่อไป

โดยเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2566 กกต. ได้ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ทำให้นายพิธา มีสมาชิกภาพเป็น สส.แบบบัญชีรายชื่อ แต่ปรากฏว่า กกต. ได้พิจารณามีข้อเท็จจริงและมีเหตุอันควรสงสัยหรือความปรากฏ เชื่อได้ว่านายพิธา อาจเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส.ตามมาตรา 98 (3) อันเนื่องมาจากการเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทไอทีวีจำกัด (มหาชน) อาจมีผลทำให้สมาชิกภาพ สส.ของนายพิธาฯ ต้องสิ้นสุดลงตามมาตรา 101 (6) แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ดังนั้น จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อให้ทำหน้าที่รวบรวมข้อเท็จจริง พยานหลักฐาน ข้อกฎหมาย และความเห็น เสนอต่อ กกต.ให้พิจารณาสั่งการต่อไป

คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เห็นว่า มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าสมาชิกภาพความเป็น สส. ของ นายพิธา อาจมีเหตุสิ้นสุดลง จึงเสนอความเห็นต่อ กกต. ให้มีมติยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยให้เป็นไปตามบทบัญญัติของมาตรา 82 ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบันต่อไป

กกต. ขอชี้แจงว่าคณะกรรมการฯ ตามที่ได้รับแต่งตั้งจาก กกต. จำนวน 2 คณะ เป็นผู้ที่มีหน้าที่และอำนาจที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยมีความเป็นอิสระ ไม่ขึ้นตรงภายใต้การบังคับบัญชาซึ่งกันและกัน ดังนั้น คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนฯ จะมีความเห็นเป็นเช่นใด ถือได้ว่าเป็นดุลยพินิจอันเป็นความเห็นเบื้องต้นเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสืบสวนและไต่สวนเท่านั้น โดยจะมีกระบวนการและขั้นตอนที่จะต้องปฏิบัติตามระเบียบสืบสวนไต่สวนอีกหลายขั้นตอน กระบวนการดังกล่าวยังไม่สิ้นสุด หลังจากนั้น เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการที่บัญญัติไว้ตามกฎหมายแล้วจะนำเสนอความเห็นต่อ กกต. พิจารณาในลำดับสุดท้าย

การพิจารณาเสนอความเห็นว่า นายพิธา กระทำความผิดตามมาตรา 151 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. หรือไม่ กกต. จะต้องนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มาใช้ประกอบการตัดสินใจที่จะดำเนินคดีอาญากับนายพิธา หรือไม่ประการใด อันเป็นหลักประกันว่าบุคคลจะได้รับโทษในทางอาญา เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาสามารถนำพยานหลักฐาน ข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายมาต่อสู้และหักล้างข้อกล่าวหาได้ทุกประเด็น

สำหรับการยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยกรณีสมาชิกภาพ สส. ของนายพิธาฯ มีเหตุต้องสิ้นสุดลง เป็นการดำเนินการตามมาตรา 82 ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เป็นระบบไต่สวน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญสามารถใช้อำนาจดังกล่าวที่จะตรวจสอบข้อเท็จจริงและแสวงหาพยานหลักฐานจากแหล่งต่างๆ ได้ด้วยตนเอง กกต.ไม่มีอำนาจในการวินิจฉัยสั่งการให้คดีที่ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นไปในทางหนึ่งทางใดตามที่ กกต.ต้องการ

ศาลรัฐธรรมนูญ จึงเป็นผู้มีอำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยว่า นายพิธา เป็นผู้ถือหุ้นในกิจการสื่อมวล ชนหรือไม่ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเป็นประการใด ย่อมส่งผลโดยตรงต่อสมาชิกภาพการเป็น สส. ของนายพิธา เฉพาะตน โดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ผูกพันทุกองค์กร ดังนั้น กระบวนการในการดำเนินคดีอาญาตามมาตรา 151 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.ต่อ นายพิธา จึงยังไม่เสร็จสิ้นหรือมีผลเป็นที่สุดเด็ดขาด กกต.จึงไม่ได้กลั่นแกล้ง หรือจงใจที่จะทำให้นายพิธา ต้องได้รับโทษตามกฎหมายใด ๆ ทั้งสิ้น การนำข้อมูลมาเสนอต่อสาธารณชน อันอาจทำให้ประชาชนเกิดความสับสนและเข้าใจผิดว่ากระบวนการตามมาตรา 151 พ.ร.ป.ว่าด้วย การเลือกตั้ง สส. เป็นกระบวนการเดียวกันกับการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยชี้ขาดเรื่องคุณสมบัติตามมาตรา 82 ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน 

‘วิโรจน์’ ออกโรงป้อง ‘รองอ๋อง’ หลังถูกตำหนิเรื่องการแต่งกาย ยกกรณี ‘ผู้นำสิงคโปร์’ เทียบ ซัด ‘พท.’ อย่าใช้เรื่องนี้หาซีนในสภาฯ

(25 ส.ค. 66) นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ‘Wiroj Lakkhanaadisorn - วิโรจน์ ลักขณาอดิศร’ ถึงกรณี สส.พรรคเพื่อไทย ตำหนิการแต่งกายของนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ประธานการประชุม โดยสวมเสื้อคอจีนและใส่สูททับ พร้อมกับโพสต์ภาพของผู้นำสิงคโปร์ขณะที่อยู่ในสภาฯ โดยสวมเสื้อเชิ้ตแขนยาวไม่ผูกเน็กไท โดยนายวิโรจน์ ระบุว่า…

“การแต่งกายด้วยชุดสุภาพสากล สามารถสวมสูท โดยไม่จำเป็นต้องผูกเน็กไทก็ได้ครับ คือ สส.คนไหนจะผูก หรือไม่ผูก ก็ถือว่าเป็นดุลพินิจในการแต่งตัวของแต่ละคน

การใส่เสื้อเชิ้ต และสวมสูททับ ก็ถือว่าเพียงพอแล้วครับ

อย่างกรณีที่สิงคโปร์ นายกรัฐมนตรี ลี เซียนลุง และ สส.ที่สิงคโปร์ เขาก็ใส่เสื้อเชิ้ตเข้าประชุมสภาฯ ตามปกติของเมืองร้อนได้เลยนะครับ

ที่สิงคโปร์เขามุ่งเน้นที่เนื้อหาสาระในการทำงาน ไม่ได้คิดเล็กคิดน้อยกับเปลือกครับ

ผมจำได้ว่าในสภาฯ ชุดที่แล้ว ก็เคยมีการประท้วงในเรื่องนี้ไปแล้ว และพรรคที่ประท้วงเรื่องนี้ ก็น่าจะเป็นพรรคพลังประชารัฐนะครับ

ผมเองก็คิดว่า มันน่าจะจบด้วยความเข้าใจไปแล้ว ถ้าคนที่ประท้วงในเรื่องนี้ เป็นพรรครวมไทยสร้างชาติ หรือพรรคพลังประชารัฐ ผมก็ยังพอเข้าใจได้

ไม่นึกไม่ฝันว่าอยู่ดีๆ พรรคเพื่อไทย จะเอาเรื่องกระพี้แบบนี้มาประท้วงเอาซีนในสภาฯ อีก

ผมจึงถือโอกาสชี้แจงให้ทุกท่านทราบอีกครั้งก็แล้วกันนะครับ จะได้เคลียร์ๆ และการประท้วงด้วยเรื่องไร้สาระแบบนี้ จะได้หมดไปจากสภาไทยเสียที ไม่อยากให้เรื่องหยุมหยิมแบบนี้รกสภาฯ ครับ”

‘ก้าวไกล’ ป้อง ‘พงศธร’ มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี เชื่อ!! ตอนนี้มีขบวนการสาดโคลน หวังดิสเครดิต

(29 ส.ค. 66) ที่พรรคก้าวไกล นายรังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย นายพงศธร ศรเพชรนรินทร์ ผู้สมัครเลือกตั้งซ่อม สส. พรรคก้าวไกล ระยอง เขต 3 ร่วมแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนกรณีข้อกล่าวหาทางด้านภาษีและคดียักยอกทรัพย์ ตามที่ปรากฏในข่าว

โดยนายรังสิมันต์ เปิดเผยว่า รายละเอียดว่าตั้งแต่ปี 2562 นายพงศธร ทำหน้าที่เป็นผู้ชำนาญการประจำตัว สส.ของ น.ส.เบญจา แสงจันทร์ มีเงินรายได้ประมาณ 15,000 บาท/เดือน เมื่อคำนวณตลอดทั้งปี นายพงศธร จะมีรายได้ไม่เกิน 180,000 บาท ซึ่งเป็นตัวเลขไม่เกินที่กฎหมายกำหนดให้จ่ายภาษี ดังนั้น เมื่อตลอด 3 ปีที่ผ่านมา นายพงศธร ก็ไม่ได้ยื่นแบบฟอร์มภาษี ทั้งที่ตัวเองก็โดนหักภาษี ณ ที่จ่าย และนายพงศธร ก็ได้ทำแบบฟอร์ม สส. 4/7 เพื่อยืนยันว่าตัวเองมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี

ประเด็นที่สอง กรณีสื่อผู้จัดการพาดหัวข่าวว่า “โซเชียลทั้งขุดทั้งแฉนายพงศธร ผู้สมัครเขต 3 ระยอง ก้าวไกล ไม่ได้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พบชีวิตหรูหราฟู่ฟ่า ขายเบียร์ใส่รถกันเป็นลังๆ อีกด้านขุดกันไปถึงคดียักยอกปี 61” ซึ่งเป็นพาดหัวค่อนข้างรุนแรง จึงขอชี้แจงตามนี้

กรณีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นายพงศธร ได้ร่วมหุ้นกับเพื่อนเพื่อดำเนินธุรกิจนี้จริง แต่การประกอบธุรกิจดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่นำไปสู่การปันผลจนถึง ณ ปัจจุบันนี้ เมื่อไม่ได้รับปันผล นายพงศธรก็ไม่เคยต้องไปยื่นเสียภาษีในกรณีนี้ ดังนั้นรายได้ของนายพงศธร ในช่วงเวลาที่ผ่านมา มาจากการทำหน้าที่ตำแหน่งผู้ชำนาญการ สส.เท่านั้น

ประเด็นต่อมาคือคดีความที่นายพงศธร เคยถูกแจ้งความร้องทุกข์ในคดียักยอกทรัพย์ ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏอยู่ชัดเจนแล้วว่าสุดท้ายทางตำรวจมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง จึงยังมีคุณสมบัติครบถ้วนลงสมัครรับเลือกตั้งได้

“ขอยืนยันต่อสื่อมวลชนว่าเราเข้าใจดีในการตรวจสอบ และเราก็ยินดีที่พี่น้องสื่อมวลชน พี่น้องประชาชนจะตรวจสอบพวกเรา เพราะถือเป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่สำคัญ ที่จะทำให้เกิดการเมืองที่มีความโปร่งใส แต่เมื่อพิจารณาจากพาดหัวข่าวและประเด็นที่มีการโจมตี ต้องเรียนว่าเกินเลยจากข้อเท็จจริงไปมาก สุดท้ายก็คงคิดเป็นอื่นไม่ได้ว่าคงจะมีกลุ่มบุคคล ใครบางคนหวังใช้ข้อเท็จจริงเหล่านี้หวังประโยชน์ทางการเมืองจากการดิสเครดิตนี้ ผมขอฝากว่าอย่าเลยครับ เรามาสู้กันเพื่อเอาชนะใจประชาชนมากกว่าจะมาใช้การสาดโคลน ดิสเครดิตทางการเมืองจะดีกว่า” นายรังสิมันต์ กล่าว

ด้านนายพงศธร เปิดเผยว่ามีพี่น้องประชาชนติดต่อสอบถามเข้ามาจำนวนมาก โดยตนเองยังมีกำลังใจดี ไม่หวั่นไหวหรือกังวลต่อกรณีดังกล่าว และเชื่อว่าทุกวันนี้พ่อแม่พี่น้องทุกคนมีวุฒิภาวะแยกแยะข้อเท็จจริงได้

เริ่มต้นด้วยความอกหักทางการเมือง แต่เดินเรื่องด้วยมุมรักเฉกปุถุชน บทเพลงจาก 'พี่เสก' ที่อาจเสกเพลงนี้ไปได้ไกลกว่า 'พรรคก้าวไกล'

หลังการเผยแพร่เพลง ‘ก้าวให้ไกลกว่าเดิม’ แบบไร้ลิขสิทธิ์ (None Copyright) ของ 'พี่เสก' คุณเสกสรรค์ ศุขพิมาย หรือที่เรารู้จักกันดีในนาม ‘เสก โลโซ’ นั้น ถือเป็นความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมเพลงไทย ซึ่งกำลังซบเซาอย่างถึงขีดสุด

ทว่า เราอาจจะต้องวางเหตุผลทางการเมืองสำหรับการฟังเพลงนี้ไว้สักหน่อย เพราะต่างก็ทราบกันดีว่าต้นกำเนิดของเพลงนี้กลั่นจากความอกหักส่วนตัวของคุณเสกเอง ต่อความล้มเหลวของพรรคการเมืองไทยที่ชื่อ 'ก้าวไกล'

แนวเพลงนี้ มาในทางจิ๊กโก๋อกหัก ซึ่งแกถนัด เพียงแค่ไม่ใช่ความอกหักแบบหนุ่มสาว แต่เป็นเรื่องรักคุดซึ่งมีที่มาจากความคาดหวังทางการเมือง

วงการศิลปะเรียกว่า 'Impressionism - ศิลป์ดลใจ'

พอเพลงขึ้นไปออนไลน์บน YouTube แล้ว ก็นับเป็นเพลงรักทั่วไป มิได้มีข้อความหรือท่อนเนื้อร้องใดเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างเปิดเผย (อย่างคาราบาวหรือก๊วนเพื่อชีวิตวงอื่นทำ) ซ่อนพรรณาถึงความเจ็บใจต่อสิ่งที่หวังไว้แล้วไม่เป็นจริง อาจหมายถึงผู้หญิง (เพราะคนร้องเป็นชาย) พูดถึงการทุ่มเทลงกับรัก แต่ไม่ได้แม้อะไรสะท้อนกลับให้เห็น แล้วก็สรุปเองว่าจะเดินจากลาด้วยคำ ‘ก้าวให้ไกลกว่าเดิม’ ซึ่งตรงกับคำ 'Move On' นั่นเอง

งานเพลงเชิงศิลปะแบบนี้ 'บ๊อบ ไดเลน' (Bob Dylan) 'ยูทู' (U2) 'บรู๊ซ สปริงทีน' (Bruce Springteen) 'จิม มอริสัน' (The Doors) หรือแม้แต่เจ้าพ่อแทรชเมทัล 'เมทัลลิกา' (Metallica) ต่างยึดถือเป็นสรณะนมนานตั้งแต่ก่อตั้งวง จนทุกคนที่กล่าวถึงล่วงเลยวัยแซยิดเกินสิบปีเข้าแล้ว ต่างพูดถึง 'รัก' บนภาพรวม รักโลก รักสังคม ก่นด่าความอยุติธรรม โดยในท้ายสุดก็ให้กำลังใจ มิได้เน้นเพียงรักปุบปับอย่างหนุ่มสาว

ไม่แปลกใจที่ 'เสก โลโซ' กำลังก้าวเดินตาม...

...แรงบันดาลใจที่พรรคก้าวไกลก้าวไปไม่ถึงฝั่งฝัน (ของคุณเสก) ส่งผลกระทบขนาดสร้างงานใหม่ขึ้นได้ในรอบหลายปี เรื่องนี้เป็นความอันต้องยินดีด้วยอย่างมาก

แต่ในฐานะนักฟัง ผมแค่อยากตั้งข้อสังเกตว่า ผู้แต่งเพลงหลีกเลี่ยงจะใช้คำว่า 'ก้าวไกล' ตรงๆ โดยเขียนขยายให้เป็นเพียงคำกิริยาว่า ‘ก้าว (ให้) ไกล (กว่าเดิม)’ แล้วใส่อารมณ์ความรักหนุ่มสาวปนลงกับเนื้อเพลงเกือบ 99% เพื่อแหวกทางสู่ผู้ฟังส่วนใหญ่ (Mass Communication) ผู้มิได้สนใจใยดีกับพรรคการเมืองใด

ดังนั้น จึงการันตีได้เลยว่า งานชิ้นที่พี่เสกปั้นออกมานี้ จะคงอยู่ต่อไปเนิ่นนานพอๆ กันกับเพลงระดับขึ้นหิ้งใจที่บอกเล่าเรื่องราวคล้ายๆ กัน อาทิ ซมซาน, ฝนตกที่หน้าต่าง, เคยรักฉันบ้างไหม, รอยยิ้มนักสู้, ผู้ชนะ

หรืออย่างน้อยก็อยู่ได้นานเกินกว่าพรรคการเมืองที่พี่เสกเชียร์อยู่แน่นอน...

‘ปชป.’ โต้ ‘ก้าวไกล’ หลังเปรย มีการทุจริตเลือกตั้งซ่อมระยอง  ท้างัดหลักฐานมาพิสูจน์ต่อ กกต. ยัน!! ไม่ใช่ประชาธิปัตย์แน่นอน

(4 ส.ค. 66) ที่รัฐสภา นายชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช และรักษาการรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีพรรคก้าวไกล ระบุว่าการเลือกตั้งซ่อม สส.เขต 3 ระยอง เริ่มมีบางพรรคการเมืองทุจริตด้วยการเก็บบัตรประชาชน ว่า ไม่ทราบว่าเป็นพรรคใด เพราะจากการที่ตนลงพื้นที่กับ นพ.บัญญัติ เจตนจันทร์ ผู้สมัคร สส.ของพรรค พร้อมด้วยนายบัญญัติ บรรทัด สส.บัญชีรายชื่อ, นายนิพนธ์ บุญญามณี รักษาการรองหัวหน้าพรรคฯ และคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รักษาการรองหัวหน้าพรรคฯ เป็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ดี โปร่งใส ไม่มีทุจริตคอร์รัปชัน พรรคฯ ยึดมั่นในการหาเสียงชูนโยบายพรรคการเมือง เดินเคาะประตูบ้าน

เพราะฉะนั้น การกล่าวหาลอยๆ ว่ามีการเก็บบัตรประชาชนหรือการเลือกตั้งจะไม่โปร่งใส ก็ขอให้พรรคก้าวไกลระบุมาว่าเป็นใคร หากมั่นใจว่ามีหลักฐานพอ ขอให้ไปยื่นร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัดระยอง (กกต.จังหวัด) อย่าพูดเพื่อหวังผลคะแนนเสียงในวันเลือกตั้งเช่นนี้

เมื่อถามว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นการแข่งขันที่ดุเดือดระหว่างพรรคก้าวไกลกับพรรคประชาธิปัตย์ การพูดลักษณะนี้มีความตั้งใจพุ่งเป้ามายังพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ นายชัยชนะกล่าวว่า ต้องไปถามพรรคก้าวไกลว่าคิดอย่างไร การแข่งขันครั้งนี้แข่งกัน 3 พรรคการเมืองเราจะไปมองว่าพรรคที่ 3 ไม่ได้อยู่ในสนามแข่งขันไม่ได้ ทั้งนี้ หากพรรคก้าวไกลมีหลักฐานหรือคลิปวีดีโอก็ให้มาเปิดแล้วนำไปยื่นต่อ กกต.เลย ทางเรายินดีให้ตรวจสอบ และยืนยันว่าไม่ใช่พรรคประชาธิปัตย์แน่นอน
 

‘ก้าวไกล’ เสนอ ‘บิ๊กทิน-รบ.ใหม่’ เขย่ากองทัพ หากการันตี ‘ยกเลิกเกณฑ์ทหาร’ พร้อมร่วมมือ

(6 ก.ย. 66) ที่รัฐสภา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงนโยบายของกระทรวงกลาโหมในรัฐบาลชุดใหม่ เกี่ยวกับการยกเลิกการเกณฑ์ทหารว่า ขณะนี้สังคมกำลังจับตามอง ทางพรรคก้าวไกลจะมีการชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับนโยบายดังกล่าว ซึ่งตาม พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ.2497 ได้ให้อำนาจกองทัพสามารถบังคับคนที่ไม่อยากเป็นทหารเข้าเป็นทหารแม้ในยามที่ไม่มีสงคราม ทำให้มีช่องว่าง เพราะตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ยอดผู้สมัครเข้ารับการเกณฑ์ทหารเฉลี่ย 30,000 คนต่อปี น้อยกว่ายอดกำลังพลที่กองทัพต้องการคือ 90,000 คนต่อปี ทำให้วันนี้ทุกฝ่ายคงเห็นตรงกันถึงราคาที่สังคมต้องจ่าย เมื่อมีการบังคับคนเข้าไปเกณฑ์ทหาร กระทบต่อเสรีภาพในการประกอบอาชีพ หรือการทำตามความฝัน การใช้เวลากับครอบครัว ไปจนถึงการดึงทรัพยากรมนุษย์ออกจากตลาดแรงงานในระดับสังคม

นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่า ดังนั้น ถ้าเราอยากจะยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารให้สำเร็จ โดยไม่ให้กระทบภารกิจการรักษาความมั่นคง คือต้องลดยอดกำลังพลที่กองทัพต้องการ หรือลดยอดผี คือ ชื่ออยู่ในทะเบียนแต่ตัวไม่อยู่ในค่ายทหาร ลดทหารรับใช้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคง ทบทวนงานบางอย่างตามบริบทภัยความมั่นคงที่เปลี่ยนแปลงไปขณะเดียวกันต้องเพิ่มยอดสมัครใจในการเกณฑ์ทหาร ด้วยการยกระดับคุณภาพชีวิตพลทหาร ทั้งค่าตอบแทน ความปลอดภัย โอกาสในความก้าวหน้าของอาชีพ

“การยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร มี 2 แบบคือ 1.) ลุ้นยกเลิกแบบปีต่อปี ค่อยๆ ลดช่องว่างกำลังพล ตามแผนของกระทรวงกลาโหมปี 2566-70 ที่กำลังดำเนินการอยู่ และ 2.) ที่พรรคก้าวไกลเสนอ คือ เลิกแบบการันตีไม่มีเกณฑ์ทหาร คือการแก้ไข พ.ร.บ.รับราชการทหาร ปี 2497 ทำให้กองทัพไม่มีอำนาจ ในการบังคับคนเป็นทหาร ในช่วงไม่มีสงคราม เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าเราจะยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารสำเร็จในกรอบระยะเวลาเท่าไหร่ เพราะสามารถกำหนดได้ในกฎหมาย ทำให้ผู้ที่เกณฑ์ทหารไม่ต้องมาลุ้นปีต่อปีเหมือนการยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารแบบแรก ขณะเดียวกันจะเป็นแรงกระตุ้นสำคัญให้กองทัพปฏิรูปตัวเอง และให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพชีวิตพลทหาร ก็คงต้องจับตาดูการแถลงนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ว่าแนวทางการยกเลิกฯ จะเป็นอย่างไร” นายพริษฐ์ กล่าว 

นายพริษฐ์ กล่าวอีกว่า ต้องยอมรับว่าการชี้แจงของนายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม เกี่ยวกับกับเรื่องนี้ ดูจะเป็นแนวทางการยกเลิกฯ แบบที่ 1 ถ้าในที่สุดออกมาเป็นแบบที่ 1 ก็เพียงแต่หวังว่ารัฐบาลจะมีความชัดเจนเรื่องกรอบเวลาว่าจะลดกำลังในแต่ละปีอย่างไรจนเป็นศูนย์ แต่ถ้าเป็นแบบที่ 2 พรรคก้าวไกลยินดีร่วมมือกับรัฐบาล เพราะเราได้ยื่นร่างแก้ไขกฎหมายรับราชการทหารเข้าสู่สภาฯ แล้ว อยู่ในขั้นตอนการรอนายกรัฐมนตรีคนใหม่เซ็นรับรองให้สามารถถูกบรรจุในสภาฯ แล้วมีการถกเถียงกัน

เมื่อถามว่านายสุทิน ออกมาระบุยืนยันในเดือน เม.ย.ปีหน้า จะไม่มีการเกณฑ์ทหารแล้ว นายพริษฐ์ กล่าวว่า ถ้าเป็นแบบที่ 1 มันจะอยู่ในสภาวะที่ต้องลุ้นปีต่อปี ตัวเลขแรกในยอดกำลังพลที่จะลดในแต่ละปี ก็ยังไม่ได้มีการสื่อสารออกมา ถึงแม้ปีหน้าจะสามารถลดให้เหลือศูนย์ได้จริง แต่คงต้องมาลุ้นในปีต่อไปอีกว่า ยอดกองทัพจะมีจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งอาจไม่ได้เป็นการรับประกันให้เยาวชนที่ต้องวางแผนชีวิตว่าจะมีความเสี่ยงในการรับการเกณฑ์ทหารหรือไม่

“การปฏิรูปกองทัพต้องมีไอเดียมาจากรัฐบาลพลเรือนที่เป็นกรอบการดำเนินการด้วย ไม่ใช่แค่ปล่อยให้องค์กรนั้นๆทำแผนที่ตัวเองคิดมาเพียงอย่างเดียว อย่างที่ผ่านมาอาจมีกฎหมายบางส่วนที่ทำให้กองทัพมีอำนาจเหนือพลเรือนเช่น พ.ร.บ.ระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ที่ระบุว่า การตัดสินใจหลายๆ อย่างเกี่ยวกับงบประมาณ ไม่ได้อยู่ในอำนาจของรมว.กลาโหม ที่เป็นตัวแทนของพลเรือน แต่กลับไปอยู่ในอำนาจของสภากลาโหมที่ประกอบไปด้วยข้าราชการทหารเป็นหลัก ทำให้ขัดหลักที่ว่ารัฐบาลพลเรือนควรอยู่เหนือกองทัพ” นายพริษฐ์ กล่าว

เมื่อถามถึงการหารือกับพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะฝ่ายค้านร่วมกัน นายพริษฐ์ กล่าวว่า ยังไม่ได้มีการพูดคุย ที่ผ่านมามีแต่การพูดคุยในพรรคก้าวไกลเป็นหลัก 

‘หมิว สิริลภัส’ โต้!! ปมถูกกล่าวหาลักลอบเอาข้าวสภาฯ กลับบ้าน  พร้อมเหน็บ ถ้ามี สส.อยู่จนปิดประชุมมากพอ คงไม่มีข้าวเหลือแบบนี้

(7 ก.ย. 66) น.ส.สิริลภัส กองตระการ หรือ ‘หมิว’ สส.กทม. พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่าน X หรือทวิตเตอร์ กรณีมีการเผยแพร่ภาพอดีตดาราสาวลักลอบนำอาหารสภากลับบ้าน ว่า…

“น่าแปลกใจนะคะ เป็น สส.มา 2 สมัย ก็ไม่ทราบว่าได้เข้ามาห้องอาหารตอน ‘เลิกประชุมสภา’ กี่ครั้ง ตั้งแต่มีประชุมสภามา หมิวกล้ายืนยันว่าหมิวอยู่จนจบประชุมสภา ‘ทุกครั้ง’ พร้อมเพื่อน สส.ก้าวไกลอีกหลายคน หลังจบประชุม ที่ห้องอาหารก็จะมีอาหารที่เขาเตรียมไว้ให้ ตามจำนวน สส.
คำถามคือ แล้วทำไมตอนเลิกประชุม อาหารถึงได้เหลือมากขนาดที่เขาต้องห่อใส่ถุงให้เอากลับบ้าน?? ถ้าจำนวน สส. ที่เหลืออยู่จนปิดประชุมมีมากพอ ก็ไม่มีอาหารที่เหลือแบบนี้หรอกมั้งคะ

อาหารที่เหลือเหล่านี้ ถ้าไม่ห่อกลับ เจ้าหน้าที่ก็จะแจกจ่ายอยู่แล้ว และวันนี้ หมิวก็ใช้สิทธิ์ตามที่มี ไม่ได้นั่งทานที่ห้องอาหาร แต่ห่อกลับมากินที่บ้าน

การใช้คำว่า ‘ลักลอบ’ นี่ไม่รู้ว่า อ่อนภาษาไทยหรือจงใจใส่ร้ายกันแน่

เข้ามาทำงานที่มีเกียรติแล้ว ก็ช่วยภูมิใจ ที่ประชาชนคนไทย เขาเลือกมาของตัวเองหน่อยค่ะ มีหน้าที่ทำงานการเมืองก็ทำไป จะอภิปราย จะขับเคลื่อนประเด็นอะไรก็ว่าไป

มัวแต่มานั่งถ่ายรูปจับผิดคนอื่น เอาเขาไปแขวน อย่าคิดว่าเจ้าตัวเค้าจะไม่เห็นนะคะ

มีสื่ออยู่ในมือก็หัดใช้ให้มันเป็น ถ้าใช้สื่อไม่เป็น เดินเข้ามาถามได้ ยินดีให้คำแนะนำ ถ้าอยากได้ยอดติดตามที่มากกว่าที่มีอยู่ 4000 กว่าคน

ถ้าเจอกันครั้งหน้า ไม่มีเพื่อนสส.พรรคเดียวกันนั่งกินข้าวด้วยเพราะอยู่ไม่ถึงเลิกประชุม ก็มานั่งทานด้วยกันได้นะคะ จะได้มาคุยกันหน่อยว่าจุดประสงค์ที่ถ่ายรูป+แคปชั่นแบบนี้ จะสื่อว่าอะไร พร้อมจะรับฟังค่ะ”

สภาไฟเขียว!! แถลงนโยบาย 2 วัน รวม 30 ชั่วโมง ด้าน ‘วันนอร์’ เผย ‘ก้าวไกล’ รับปากไม่ใช้เป็นเวทีซักฟอก

(7 ก.ย. 66) ที่รัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมการประสานงานร่วม 3 ฝ่าย (วิป 3 ฝ่าย) โดยมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม และมีตัวแทนจากวุฒิสภา (สว.) สส. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) อาทิ นายสมคิด เชื้อคง ตัวแทน ครม. นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย นายภราดร ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ นายประมวล พงษ์ถาวราเดช สส.ประจวบคีรีขันธ์ และประธานสส.พรรคประชาธิปัตย์ นายมหรรณพ เดชพิทักษ์ สว. เป็นต้น เพื่อวางกรอบเวลาการอภิปรายการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อที่ประชุมรัฐสภา และแบ่งสัดส่วนเวลาของแต่ละฝ่าย ซึ่งใช้เวลาการประชุมประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที

จากนั้น นายวันมูหะมัดนอร์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ว่าบรรยากาศการประชุมเป็นไปด้วยดี ทุกฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นผ่อนปรนไปมา เพื่อให้การประชุมเรียบร้อย โดยการประชุมเพื่อแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ที่จะมีขึ้นในวันที่ 11 ก.ย.นี้ จะใช้เวลา 2 วัน รวมทั้งสิ้น 30 ชั่วโมง โดยแบ่งเป็น ประธานรัฐสภา 1 ชั่วโมง ฝ่าย ครม.แถลง และชี้แจง 5 ชั่วโมง ฝ่าย สว. 5 ชั่วโมง ฝ่ายรัฐบาล 5 ชั่วโมง ฝ่ายค้าน 14 ชั่วโมง ซึ่งคิดว่าคงเพียงพอในการที่ทุกฝ่ายจะปรับเวลาที่ชัดเจนให้ตามจำนวนคน คาดว่าคงไม่เกินในเวลาที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ ต้องขอบคุณทุกฝ่ายที่ทำให้การประชุมจบด้วยดี ไม่มีใครไม่ยอม แม้ทุกฝ่ายจะอยากได้เวลา แต่เมื่อทราบข้อจำกัดของเวลา และความสนใจของพี่น้องประชาชนแล้ว จึงตกลงกันเช่นนี้

นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวต่อว่า ในวันแรกอาจจะเลิกประชุมดึก แต่คงไม่เกินเที่ยงคืน และวันที่สองคงไม่เกิน 23.00 น. แม้บางฝ่ายจะบอกว่าไม่อยากให้เกิน 21.00 น. แต่เพื่อให้การอภิปรายในวันถัดมามีคุณภาพมากขึ้น และความสนใจของพี่น้องประชาชน รวมถึงครม. แจ้งว่าในวันที่ 13 ก.ย. 66 จะมีการประชุมครม. ทุกฝ่ายจึงบอกว่าจะกลับไปเตรียมทั้งตัวบุคคลและเนื้อหาสาระให้ดี เพื่อให้เป็นประโยชน์มากที่สุด

เมื่อถามว่า อยากฝากอะไรถึงฝ่ายค้านหรือไม่ เนื่องจากฝ่ายค้านอยากใช้เวทีนี้ในการซักฟอกรัฐบาล? นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ฝ่ายค้านยืนยันเองว่า จะอยู่ในกรอบของการอภิปรายเรื่องนโยบายและความเป็นไปได้ในการปฏิบัติตามนโยบายนั้น แต่ไม่ใช่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตนคิดว่าฝ่ายค้านตอนนี้เป็นฝ่ายค้านที่มีคุณภาพ มีข้อมูลพร้อมที่จะอภิปรายในกรอบกฎหมายและข้อบังคับ รวมถึงความสนใจของพี่น้องประชาชน

เมื่อถามว่า การรักษาความปลอดภัยในวันนั้น จะเป็นไปตามกฎระเบียบ หรือต้องมีการรักษาความปลอดภัยเข้มที่เป็นพิเศษหรือไม่ เนื่องจากอาจจะมีกลุ่มผู้ชุมนุมมาในบางวัน? นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า คิดว่าคงไม่มีกลุ่มผู้ชุมนุม หรือมีการกดดันสภา เพราะพี่น้องประชาชนติดตามการประชุมตลอดเวลาผ่านการถ่อยสดในหลายช่องทาง เนื่องจากทุกฝ่ายคงอยากให้การอภิปรายเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีคุณภาพ ไม่มีแรงกดดันใดๆ นอกจากเนื้อหาที่จะพูดอย่างเต็มที่ หากมีกลุ่มผู้ชุมนุมมาที่สภาคงไม่เกิดประโยชน์อะไร ไม่ได้หมายความสภาจะรังเกียจ การมีผู้ชุมนุมหรือผู้สนับสนุนก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ช่วงอภิปรายต้องใช้เวลา หากมาคงเสียงทั้งค่าใช้จ่าย และเวลามาก


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top