Saturday, 19 April 2025
ปาเลสไตน์

‘นายกฯ มาเลเซีย’ ประกาศหนุน ‘กลุ่มฮามาส-ชาวปาเลสไตน์’ ลั่น!! พร้อมช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม บรรเทาทุกข์เหยื่อสงคราม

นายกฯ อันวาร์ อิบราฮิม ของมาเลเซีย ประกาศตัวชัดเจน ให้การสนับสนุนกลุ่มฮามาสและชาวปาเลสไตน์ แม้ต้องเผชิญแรงกดดันจากชาติตะวันตก พร้อมเรียกร้องอิสราเอลยุติการโจมตีฉนวนกาซา และเปิดพื้นที่ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

(17 ต.ค. 66) สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน นายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม แห่งมาเลเซีย เผยแพร่ข้อความผ่านบัญชีอย่างเป็นทางการของตนในโซเชียลมีเดีย ทั้งเฟซบุ๊กและ X หรือทวิตเตอร์เดิม เมื่อช่วงเช้าของวันนี้ (17 ต.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น ประกาศยืนยันการสนับสนุนชาวปาเลสไตน์ และเรียกร้องให้อิสราเอลยุติการทิ้งระเบิดโจมตีฉนวนกาซาทันที และจัดตั้งเขตปลอดภัยจากการสู้รบที่เมืองราฟาห์ ซึ่งมีจุดผ่านแดน ‘ด่านราฟาห์’ จากกาซาไปอียิปต์ เพื่อให้ความช่วยเหลือชาวปาเลสไตน์
.
นายกรัฐมนตรีอันวาร์ เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (16 ต.ค.) เขาโทรศัพท์ไปพูดคุยกับนายอิสมาอิล ฮานิเยะห์ ผู้นำกลุ่มฮามาส เพื่อแสดงการสนับสนุนอย่างแน่วแน่ของมาเลเซียต่อชาวปาเลสไตน์

“เมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์ที่เลวร้ายมากในฉนวนกาซา ผมจึงขอเรียกร้องให้ยุติการทิ้งระเบิดทันที พร้อมจัดตั้งระเบียงมนุษยธรรม (Humanitarian Corridor) (เขตปลอดภัยจากการสู้รบ ที่ตั้งขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และการอพยพพลเรือน) นอกพื้นที่สู้รบ ที่เมืองราฟาห์” นายอันวาร์ กล่าว

นายกฯ อันวาร์ยังเรียกร้องให้อิสราเอลละทิ้งอุดมการณ์ทางการเมืองผ่านการแย่งชิง (Politics of Dispossession) และดำเนินการตามสันติวิธีเพื่อยุติความขัดแย้งนี้

นอกจากนี้ นายอันวาร์ได้ให้คำมั่นว่าจะมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โดยเฉพาะอาหาร และยารักษาโรค เพื่อบรรเทาความทุกข์ของเหยื่อจากการสู้รบนี้

ทางการมาเลเซียได้เปิดเผยว่า พวกเขาได้รับแรงกดดันจากชาติตะวันตกให้ออกมาประณามการบุกโจมตีอิสราเอลของกลุ่มฮามาส ซึ่งนายกฯ อันวาร์ ก็ได้กล่าววานนี้ว่า พวกเขาไม่เห็นด้วยกับการกดดันจากชาติตะวันตก อีกทั้งมาเลเซียก็มีความสัมพันธ์กับกลุ่มฮามาสมาตั้งนานแล้ว และประเทศจะคงความสัมพันธ์กับกลุ่มฮามาสต่อไป

ทั้งนี้ มาเลเซียถือเป็นหนึ่งในชาติที่มีความสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มฮามาส และให้การสนับสนุนชาวปาเลสไตน์มาเป็นเวลานาน อีกทั้งมาเลเซียก็ไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอล

‘ไบเดน’ จ่อขอสภาฯ อนุมัติงบเสริมแกร่งกองทัพ ‘อิสราเอล’ ชี้!! เพื่อความมั่นคงของสหรัฐฯ และเป็นการลงทุนที่ชาญฉลาด

(20 ต.ค. 66) สำนักข่าวรอยเตอร์ เสนอข่าว Biden to seek billions in military aid for Israel as invasion of Gaza nears ระบุว่า ในการปราศรัยของ โจ ไบเดน (Joe Biden) ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 66 ผู้นำสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ในวันที่ 20 ต.ค. 66 ตนจะขอให้รัฐสภาอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมสำหรับการสนับสนุนอิสราเอล เพื่อเสริมขีดความสามารถของกองทัพอิสราเอลให้แข็งแกร่งขึ้น โดยย้ำว่า เพื่อรักษาความมั่นคงของสหรัฐฯ จำเป็นต้องสนับสนุนพันธมิตรที่สำคัญอย่างอิสราเอล นี่เป็นการลงทุนที่ชาญฉลาดที่จะจ่ายผลตอบแทนให้กับสหรัฐฯ ไปอีกหลายชั่วอายุคน

รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า หากคำขอของไบเดนได้รับการอนุมัติงบประมาณด้านนี้ของสหรัฐฯ จะมีมูลค่ารวมถึง 1.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือมากกว่า 3.5 แสนล้านบาท อีกด้านหนึ่ง บนพื้นดินในฉนวนกาซา ดูเหมือนว่าอิสราเอลกำลังเข้าใกล้การเปิดปฏิบัติการภาคพื้นดิน บุกเข้าสู่ฉนวนกาซาเต็มรูปแบบที่ปกครองโดยกลุ่มฮามาส ซึ่งปัจจุบันกองทัพอิสราเอลระดมกำลังพลและยุทโธปกรณ์อยู่บริเวณใกล้ชายแดนฉนวนกาซา 

โดย โยฟ กัลลันท์ (Yoav Gallant) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอิสราเอล กล่าวกับทหารอิสราเอล เมื่อวันที่ 19 ต.ค.66 ว่า ตอนนี้เราเห็นฉนวนกาซาจากระยะไกล แต่อีกไม่นานเราจะเห็นมันจากด้านใน คำสั่งกำลังจะตามมาในเร็ว ๆ นี้

อิสราเอลโจมตีฉนวนกาซาด้วยการโจมตีทางอากาศหลังเหตุการณ์เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 66 ที่นักรบของกลุ่มฮามาสบุกโจมตีอิสราเอล ซึ่งคร่าชีวิตชาวอิสราเอลไป 1,400 ราย อีกทั้งยังปิดล้อมฉนวนกาซาประชาชน 2.3 ล้านคนและส่งสัญญาณการบุกภาคพื้นดินเต็มรูปแบบ พลเรือนในฉนวนกาซากล่าวว่าสถานการณ์ของพวกเขาสิ้นหวังมากขึ้น เนื่องจากขาดแคลนอาหาร น้ำ เชื้อเพลิง และเวชภัณฑ์ มีผู้เสียชีวิตแล้วประมาณ 3,500 ราย และอีกกว่าล้านคนกลายเป็นคนไร้บ้าน ตามการระบุของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขปาเลสไตน์ ด้าน อัยมาน ซาฟาดี (Ayman Safadi) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจอร์แดน กล่าวว่า สิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่กำลังจะเกิดขึ้น

ในระหว่างการเยือนอิสราเอลเป็นเวลา 8 ชั่วโมงเมื่อวันที่ 18 ต.ค. 66 ไบเดนพยายามทำข้อตกลงเพื่อขอความช่วยเหลือในฉนวนกาซา แต่ประสบความสำเร็จอย่างจำกัด เขากล่าวว่าอิสราเอลและอียิปต์เห็นพ้องกันว่ารถบรรทุก 20 คันพร้อมสิ่งของบรรเทาทุกข์สามารถข้ามเข้าไปในเขตนี้ได้ ขณะที่แหล่งข่าวด้านความมั่นคงของอียิปต์ 2 รายกล่าวว่า อุปกรณ์ถูกส่งไปเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 66 ผ่านการข้ามพรมแดนเพื่อซ่อมแซมถนนในฝั่งฉนวนกาซา ท่ามกลางรถบรรทุกมากกว่า 100 คันยังกำลังจอดรออยู่ในอียิปต์ ด่านดังกล่าวปิดตั้งแต่อิสราเอลเริ่มโจมตีในฝั่งปาเลสไตน์

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า เดวิด แซทเทอร์ฟิลด์ (David Satterfield) ทูตพิเศษสหรัฐฯ ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งให้ทำงานด้านประเด็นด้านมนุษยธรรมในตะวันออกกลาง ยังคงเจรจากับทางการอิสราเอลและอียิปต์ ในเรื่องของรูปแบบที่แน่นอนในการส่งมอบความช่วยเหลือ ซึ่งปัจจุบันประสบความล่าช้า ขณะที่อิสราเอลเรียกร้องการรับรองว่ากลุ่มติดอาวุธฮามาสไม่สามารถควบคุมสิ่งของบรรเทาทุกข์ได้

องค์การสหประชาชาติ (UN) เรียกร้องให้ความช่วยเหลือเร่งกลับไปสู่ระดับก่อนเกิดความขัดแย้ง ซึ่งปกติแล้วจะมีรถบรรทุก 100 คันต่อวันลำเลียงสิ่งของไปช่วยเหลือชาวกาซา โดยมีรายงานว่า วันที่ 20 ต.ค. 66 อันโตนิโอ กูเตร์เรส (Antonio Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติ จะเดินทางไปเยือนด่านพรมแดนราฟาห์ จุดเชื่อมระหว่างอียิปต์กับฉนวนกาซา ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่ กิลาด เออร์ดาน (Gilad Erdan) เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำสหประชาชาติ กล่าวในการชุมนุมในนิวยอร์ก ตำหนิว่า เลขาธิการใหญ่ UN ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือผู้ก่อการร้าย

ขณะเดียวกัน เหตุระเบิดในโรงพยาบาลในฉนวนกาซาเมื่อวันที่ 18 ต.ค. 66 สร้างความโกรธเคืองแก่โลกอาหรับ และการรุกรานภาคพื้นดินของอิสราเอลที่คาดการณ์ไว้ เพิ่มความหวาดกลัวว่าความขัดแย้งจะขยายวงออกไป ชาวปาเลสไตน์กล่าวโทษการโจมตีทางอากาศของอิสราเอลว่าเป็นต้นเหตุของเหตุระเบิดในโรงพยาบาล แต่อิสราเอลกล่าวว่ามีสาเหตุมาจากการยิงจรวดที่ล้มเหลวโดยกลุ่มติดอาวุธในปาเลสไตน์ ซึ่งผู้นำสหรัฐฯ สนับสนุนอิสราเอล

เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 66 กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่า เรือรบของกองทัพเรือสหรัฐฯ ลำหนึ่งสามารถสกัดกั้นขีปนาวุธร่อน 3 ลูก และโดรนหลายลำที่กลุ่มติดอาวุธฮูตียิงมาจากประเทศเยเมน ซึ่งคาดว่ามีเป้าหมายมุ่งหน้าสู่อิสราเอล โดยกลุ่มฮูตีนั้นเหมือนกับกลุ่มฮามาสที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน ในวันเดียวกัน กลุ่มติดอาวุธฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน ซึ่งเป็นพันธมิตรอีกรายหนึ่งของอิหร่าน เปิดเผยว่าา ได้ยิงจรวดใส่ที่มั่นของอิสราเอลในหมู่บ้านมานารา และดึงการโจมตีด้วยปืนใหญ่ของอิสราเอล เพื่อตอบโต้หลังจากความรุนแรงบริเวณชายแดนเพิ่มความรุนแรงครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบ 17 ปี

แหล่งข่าวด้านความมั่นคงของเลบานอน และกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ ให้ข้อมูลตรงกันว่า เหตุปะทะระหว่างกองทัพอิสราเอลและกลุ่มติดอาวุธฮิซบอลเลาะห์ บริเวณชายแดนเลบานอน-อิสราเอล เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 66 มีพลเรือนเสียชีวิต 1 ราย ขณะที่กองทัพเลบานอน กล่าวเพิ่มเติมว่า มีผู้สื่อข่าวชาวเลบานอนเสียชีวิต 1 ราย โดยอ้างว่ามาจากการโจมตีของอิสราเอล นอกจากนั้นยังมีสื่อมวลชน 7 คน ติดอยู่ในวงล้อม และประสานให้กองกำลังของ UN เข้าไปช่วยเหลือ ขณะที่ฝ่ายอิสราเอล ชี้แจงว่า เรื่องนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบ

ท่ามกลางความกังวลว่าเวสต์แบงก์ ดินแดนเชื่อมต่อระหว่างอิสราเอลกับเลบานอน อาจกลายเป็นแนวรบที่ 3 ในสงครามที่กว้างขึ้น ชาวปาเลสไตน์ 13 คนถูกสังหารในการปะทะกับกองกำลังอิสราเอลในค่ายผู้ลี้ภัยนูร์ชามส์ในเมืองทูลคาร์ม ฝั่งตะวันตก ตามรายงานเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 66 โดยสภาเสี้ยววงเดือนแดง (สภากาชาด) ปาเลสไตน์ ด้าน อาบู โอเบดา (Abu Obeida) โฆษกของกลุ่มฮามาส กล่าวว่า พวกตนได้เตรียมพร้อมสำหรับการทำสงครามยืดเยื้อกับกองทัพอิสราเอล และเรียกร้องให้ผู้คนในประเทศอาหรับและมุสลิมประท้วงต่อต้านอิสราเอล.

นสพ.The Guardian ของอังกฤษ เสนอข่าว New York’s Jewish community rallies for release of Israeli hostages: ‘They should be on the front page’ ระบุว่า ที่เมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา วันที่ 19 ต.ค. 66 ชุมชนชาวยิวได้รวมตัวกันบริเวณจตุรัสไทมส์ สแควร์ เรียกร้องให้กลุ่มฮามาสปล่อยตัวประกัน 203 คน ที่ถูกจับไปในเหตุการณ์กลุ่มฮามาสบุกโจมตีอิสราเอล วันที่ 7 ต.ค. 66

การชุมนุมจัดโดยสภาอิสราเอล-อเมริกัน ดึงดูดผู้เข้าร่วมทางการเมือง เช่น ชัค ชูเมอร์ (Chuck Schumer) นักการเมืองพรรคเดโมแครต ผู้นำฝ่ายเสียงข้างมากในวุฒิสภาสหรัฐฯ กิลาด เออร์ดาน เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำสหประชาชาติ และ เอริก อดัมส์ (Eric Adams) นายกเทศมนตรีเมืองนิวยอร์ก ซึ่งที่เมืองนี้มีผู้นับถือศาสนายิวประมาณ 1.6 ล้านคน มากกว่าใน 2 เมืองของอิสราเอลอย่างเทลอาวีฟและเยรูซาเลมรวมกัน

ในการชุมนุมครั้งนี้ ทูตอิสราเอลประจำ UN ให้คำมั่นว่า จนกว่าที่ตัวประกันชาวอิสราเอลจะต้องได้กลับบ้าน คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) และฉนวนกาซาจะไม่มีช่วงเวลาที่เงียบสงบ พร้อมกับ ยังตำหนิท่าทีของ อันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ที่มองข้ามความเจ็บปวดของชาวอิสราเอล ซึ่งมีกำหนดการเดินทางไปเยือนด่านชายแดนราฟาห์ จุดเชื่อมต่อระหว่างอียิปต์กับฉนวนกาซา ในวันที่ 20 ต.ค. 66 ว่า ดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือผู้ก่อการร้ายที่ลักพาตัวคนที่เรารัก 

“หากเลขาธิการใส่ใจต่อความต้องการด้านมนุษยธรรมอย่างแท้จริง ตัวประกันของเราก็ต้องมีความสำคัญสูงสุดของเขา” เออร์ดาน กล่าว

‘มะกัน’ จ่อส่งระบบ THAAD-ขีปนาวุธแพทริออตเพิ่มในตะวันออกกลาง เพื่อตอบโต้ท่าที ‘อิหร่าน’ หลังสถานการณ์เริ่มทวีความตึงเครียดต่อเนื่อง

(23 ต.ค. 66) สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ประเทศสหรัฐอเมริกาเตรียมที่จะส่งระบบต่อต้านมิสไซล์เพดานบินสูง (THAAD) และระบบป้องกันภัยทางอากาศแพทริออตเพิ่มเติมไปยังภูมิภาคตะวันออกกลาง ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐเมื่อวันที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อเป็นการตอบโต้ต่อการโจมตีใส่กองทัพสหรัฐฯ ในตะวันออกกลางในช่วงที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ ได้มีการส่งเรือบรรทุกอากาศยาน 2 ลำพร้อมเรือสนับสนุน และทหารเรือราว 2,000 คนไปในภูมิภาคตะวันออกกลางในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา และกำลังจับตาความเคลื่อนไหวของกลุ่มที่อิหร่านให้การหนุนหลัง ขณะที่ความตึงเครียดในภูมิภาคดังกล่าวได้พุ่งสูงขึ้น เนื่องจากสงครามระหว่างอิสราเอล-กลุ่มฮามาส

นายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ระบุในแถลงการณ์ว่า “หลังมีการหารือกันอย่างละเอียดกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำของสหรัฐฯ ถึงท่าทีที่ยั่วยุของอิหร่านในช่วงที่ผ่านมา และกองกำลังตัวแทนของอิหร่านทั่วภูมิภาคตะวันออกกลาง วันนี้ผมได้กำหนดขั้นตอนเพิ่มเติมหลายขั้นตอนเพื่อเสริมท่าทีของกระทรวงกลาโหมในภูมิภาคดังกล่าว”

นอกจากระบบ THAAD และขีปนาวุธแพทริออตแล้ว อาจมีการส่งทหารเข้าไปในภูมิภาคตะวันออกกลางเพิ่มเติมอีกด้วย โดยไม่ได้มีการระบุตัวเลขจำนวนทหารที่แน่ชัด

“ขั้นตอนเหล่านี้จะช่วยสนับสนุนความพยายามในการป้องปรามในภูมิภาค เพิ่มการป้องกันสำหรับกองกำลังของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลาง และช่วยเหลือการป้องกันตนเองของอิสราเอล” นายออสตินกล่าว

โดยคำสั่งดังกล่าวมีขึ้น 2 ปีหลังจากที่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ถอนระบบป้องกันภัยทางอากาศออกจากภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยให้เหตุผลว่า ความตึงเครียดกับอิหร่านได้คลี่คลายลงแล้ว

อย่างไรก็ดี การโจมตีใส่กองทัพสหรัฐฯ ในประเทศอิรักและซีเรียได้เพิ่มสูงขึ้นหลังสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มติดอาวุธฮามาสได้เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เรือรบของสหรัฐฯ ได้ยิงโดรนหลายลำและขีปนาวุธร่อน 4 ลูกที่ยิงมาจากที่ตั้งของกลุ่มกบฏฮูตีในประเทศเยเมน

‘อันโตนิอู กุแตเรซ’ ชี้ ชาวปาเลสไตน์บอบช้ำยาวนาน 56 ปี ต้องทนเห็นแผ่นดิน-บ้านเมือง-เศรษฐกิจ พังยับเยิน สูญสิ้นหนทางแก้ปัญหา

อันโตนิอู กุแตเรซ เลขาธิการสหประชาชาติ แสดงความคิดเห็นแทนชาวปาเลสไตน์ในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) ถึงชะตากรรมของชาวปาเลสไตน์ ตลอด 56 ปี ภายใต้การยึดครอง ที่มองไปทางไหนก็ไม่เห็นทางออก…ความฝันที่จะแก้ปัญหาก็สลายหายไปพร้อมกับสงคราม

เมื่อการทำสงครามถล่มกาซาของอิสราเอล ทำให้เศรษฐกิจพัง วันละ 1.33 พันล้านบาท

(25 ต.ค. 66) อินโฟเควสท์ รายงานถึงสถานการณ์ในอิสราเอลภายใต้หัวข้อ 'ราคาของการแก้แค้น เมื่อการทำสงครามถล่มกาซาต้องแลกมาด้วยเศรษฐกิจของอิสราเอล' ระบุว่า...

สงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มติดอาวุธฮามาสในฉนวนกาซาไม่ใช่เป็นแค่เรื่องของแสนยานุภาพทางการทหารและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของผลสะเทือนทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนชาวอิสราเอลด้วย”

เหตุการณ์ที่กลุ่มฮามาสซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธในปาเลสไตน์ เปิดฉากโจมตีอิสราเอลแบบไม่ทันตั้งตัวเมื่อเช้าวันเสาร์ที่ 7 ต.ค. จนมีพลเรือนเสียชีวิตมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของอิสราเอลนั้น ทำให้อิสราเอลต้องการล้างแค้นและประกาศลั่นกลองรบโดยทิ้งระเบิดถล่มกาซาตลอด 2 สัปดาห์นับแต่นั้นมา อย่างไรก็ดี ราคาของการล้างแค้นต้องแลกมาด้วยความเสียหายทางเศรษฐกิจของอิสราเอล ซึ่งมีมูลค่าสูงอย่างที่อิสราเอลไม่ได้ประสบมาในรอบหลายทศวรรษ

>> ภาคธุรกิจหยุดชะงัก แรงงานโดนเกณฑ์ไปรบ
ขอบฟ้าของกรุงเทลอาวีฟที่มักจอแจไปด้วยเสียงรถเครนและกิจกรรมการก่อสร้างต้องเงียบสงัดอยู่หลายวันหลังจากที่เมืองสั่งปิดไซต์ก่อสร้าง โดยแม้จะเพิ่งกลับมาเปิดทำการอีกครั้งในสัปดาห์นี้ภายใต้มาตรการความปลอดภัยที่เข้มงวดขึ้น แต่การหยุดชะงักของภาคการก่อสร้างในช่วงที่ผ่านมาคาดว่าสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจให้อิสราเอลถึง 150 ล้านเชเกล (1.33 พันล้านบาท) ต่อวัน

นายราอูล ซารูโก ประธานสมาคมผู้รับเหมาก่อสร้างของอิสราเอลกล่าวว่า “นี่ไม่ใช่แค่กระทบกับผู้รับเหมาหรือนักอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียว แต่ยังกระทบต่อทุกครัวเรือนในอิสราเอลด้วย”

นอกจากนี้ ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ฮามาส ยังส่งผลให้แรงงานหายไปเป็นจำนวนมาก เนื่องจากทหารกองหนุนนับแสนรายถูกเรียกตัวเข้าประจำการ ส่วนแรงงานชาวปาเลสไตน์นับพันที่ทำงานให้อิสราเอลก็ไม่สามารถเดินทางข้ามพรมแดนจากฉนวนกาซากับเขตเวสต์แบงก์มาได้ ทำให้ภาคธุรกิจขาดแคลนกำลังคนและสร้างความปั่นป่วนต่อห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ท่าเรือไปจนถึงซูเปอร์มาร์เก็ต ในขณะที่ผู้ค้าปลีกก็ต้องให้พนักงานหยุดงานเนื่องจากไม่มีงานให้ทำ

โรงแรมต่าง ๆ มีชาวอิสราเอลที่อพยพจากพื้นที่ชายแดนมาพักอยู่ราว ๆ ครึ่งหนึ่ง ส่วนห้องที่เหลือส่วนใหญ่ไม่มีใครเข้าพัก โรงงานหลายแห่งแม้กระทั่งโรงที่ตั้งอยู่ใกล้กาซายังคงดำเนินงานต่อไป แต่ขาดแคลนคนขับรถบรรทุกจนไม่สามารถขนส่งสินค้าได้มากเท่าปกติ

บันไดเลื่อนและทางเดินในห้างสรรพสินค้าหลักของเมืองเยรูซาเลมร้างผู้คนในช่วงสองสัปดาห์แรกของสงคราม แม้ว่าช่วงหลังจะเริ่มมีลูกค้าทยอยเข้าห้างบ้างก็ตาม แต่นายเนทาเนล ชรากา ผู้จัดการร้านชุดกีฬาโคลัมเบียในห้างดังกล่าวให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า “จำนวนคนเดินผ่านไปผ่านมาลดลงไปมาก”

นายชรากากล่าวว่า พนักงานของเขาบางคนถูกเรียกตัวเข้ากองทัพ บางคนก็กลัวเกินกว่าจะมาทำงาน

อุตสาหกรรมเทคโนโลยี ซึ่งคิดเป็น 18% ของ GDP อิสราเอล ก็กำลังประสบความยากลำบาก โดยนายดรอร์ บิน ซีอีโอของสำนักงานนวัตกรรมอิสราเอลคาดว่า แรงงานในภาคไอทีประมาณ 10-15% ถูกเรียกตัวเข้าประจำการกองหนุน

“เราได้ติดต่อกับบริษัทเทคฯ หลายร้อยราย โดยเฉพาะพวกบริษัทสตาร์ตอัป” นายบินกล่าว พร้อมเสริมว่า หลายบริษัทกำลังจะหมดเงินทุนในการทำธุรกิจต่อไป

ด้านนายบารัค ไคลน์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินจากบริษัทฟินเทคทีตาเรย์กล่าวว่า “ผลิตภาพลดลงไปมาก เพราะเป็นเรื่องยากที่จะจดจ่ออยู่กับงานในแต่ละวันเมื่อในหัวคุณกังวลแต่เรื่องความเป็นความตาย”

>> 'วิกฤตทางจิตใจ' คนอิสราเอลพากันรัดเข็มขัด
ด้วยแนวโน้มที่อิสราเอลจะส่งทหารบุกภาคพื้นดินเข้าฉนวนกาซาและความเป็นไปได้ที่สงครามจะลุกลามกลายเป็นความขัดแย้งในภูมิภาค ชาวอิสราเอลต่างพากันรัดเข็มขัด พฤติกรรมดังกล่าวส่งผลให้การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตลดลง 12% ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยการใช้จ่ายลดฮวบฮาบในเกือบทุกด้าน ยกเว้นการซื้ออาหารในซูเปอร์มาร์เก็ต

เมื่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคคิดเป็นมากกว่าครึ่งของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของอิสราเอล ความเสียหายทางเศรษฐกิจย่อมมีมหาศาล

ลีโอ ไลเดอร์แมน หัวหน้าที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของแบงก์ฮาโปอาลิม (Bank Hapoalim) หนึ่งในธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของอิสราเอลกล่าวว่า มี “วิกฤตทางจิตใจ” ในหมู่ประชาชนชาวอิสราเอล

“ประชาชนจะลดการใช้จ่ายด้านการบริโภค เพราะสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนและบรรยากาศที่ไม่เป็นใจ” นายไลเดอร์แมนกล่าว

ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่อาวุโสในกระทรวงการคลังของอิสราเอลเปิดเผยกับทางรอยเตอร์ว่า “อิสราเอลฟื้นตัวได้ดีอย่างน่าทึ่งจากการสู้รบครั้งที่ผ่าน ๆ มา แต่เหตุการณ์ครั้งนี้มีความรุนแรงมากกว่าที่เคย แม้ตอนนี้ยังเร็วเกินกว่าที่จะบอกได้ก็ตาม”

>> เศรษฐกิจหด เครดิตลด หนี้เพิ่ม เงินอ่อนค่า แม้แบงก์ชาติมั่นใจว่าจะฟื้นตัว
เมื่อวันจันทร์ (23 ต.ค.) ธนาคารกลางอิสราเอลปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2566 เหลือ 2.3% จาก 3% และลดเหลือ 2.8% จาก 3.0% ในปี 2567 โดยตั้งสมมติฐานว่าสงครามจะถูกจำกัดวงไว้อยู่ในกาซาเท่านั้น

รัฐบาลอิสราเอลได้ให้สัญญาว่าจะใช้จ่ายในการทำสงครามครั้งนี้แบบ “ไม่จำกัด” นั่นหมายความว่างบประมาณจะยิ่งขาดดุลมากขึ้นและประเทศมีหนี้มากขึ้น โดยธนาคารกลางคาดการณ์ว่าอัตราส่วนหนี้สินต่อ GDP จะพุ่งแตะระดับ 62% ในปี 2566 และ 65% ในปี 2567 จากเดิมที่อยู่ระดับ 60.5% ในปี 2565

ขณะเดียวกัน นายอามีร์ ยารอน ผู้ว่าการธนาคารกลางอิสราเอล ได้แสดงความเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจของประเทศจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในไม่ช้านี้ หลังจากธนาคารกลางคงอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันในการประชุม 3 ครั้งเพื่อรักษาเสถียรภาพในระบบการเงิน พร้อมกับกล่าวว่า ธนาคารกลางยังไม่ควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยเมื่อพิจารณาภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน เนื่องจากการลดดอกเบี้ยจะส่งผลให้เงินเชเกลอ่อนค่าลงอีก และจะยิ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น

ทั้งนี้ นับตั้งแต่เริ่มสงคราม สกุลเงินเชเกลของอิสราเอลอ่อนค่าลง 5% และหากนับตั้งแต่ต้นปี 2566 ก็ร่วงลงไปแล้ว 15.5%

แม้ว่าธนาคารกลางอิสราเอลยังคงมีมุมมองเป็นบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศ แต่มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส ประกาศทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือของอิสราเอล โดยมีแนวโน้มที่จะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ A1 เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส

“ความขัดแย้งทางทหารในครั้งนี้กำลังทำให้อิสราเอลมีความเสี่ยงด้านภูมิศาสตร์เพิ่มขึ้นอีก จากเดิมที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูงอยู่แล้ว ความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นนี้มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นเป็นเวลานานและส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของอิสราเอลอย่างเป็นรูปธรรม”

“ต่อให้ความขัดแย้งนี้เกิดขึ้นในระยะเวลาสั้น ๆ ก็ยังจะส่งผลกระทบต่ออันดับความน่าเชื่อถือของอิสราเอล ดังนั้นหากความขัดแย้งยืดเยื้อเป็นเวลานานขึ้น รุนแรงมากขึ้น และลุกลามเป็นวงกว้างมากขึ้น ก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบาย การคลังสาธารณะ (public finance) และเศรษฐกิจของอิสราเอล” มูดี้ส์กล่าว

มูดี้ส์ระบุว่า อิสราเอลได้ใช้จ่ายเงินด้านกลาโหมประมาณ 4.5% ของ GDP ซึ่งมากกว่าประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) และคาดว่าอิสราเอลจะเพิ่มการใช้จ่ายด้านกลาโหมเมื่อพิจารณาจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้

นอกจากมูดี้ส์แล้ว เมื่อวานนี้ (24 ต.ค.) เอสแอนด์พี โกลบอล เรทติ้งส์ (S&P) ประกาศลดแนวโน้มความน่าเชื่อถือของอิสราเอลลงสู่ “เชิงลบ” จาก “มีเสถียรภาพ” และคงอันดับความน่าเชื่อถือของอิสราเอลไว้ที่ระดับ AA- โดยระบุว่า ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสมีแนวโน้มที่จะบานปลาย และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระดับที่รุนแรงมากขึ้น

เอสแอนด์พีคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจอิสราเอลจะหดตัวลง 5% ในไตรมาส 4 ปีนี้เมื่อเทียบกับในไตรมาส 3 เนื่องจากสงครามในครั้งนี้ส่งผลให้เกิดภาวะชะงักงันและทำให้กิจกรรมทางธุรกิจอ่อนแอลง นอกจากนี้ ภาวะสงครามยังทำให้รัฐบาลอิสราเอลต้องเกณฑ์ทหารกองหนุนจำนวนมาก อีกทั้งทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวถูกชัตดาวน์ และบั่นทอนความเชื่อมั่นเป็นวงกว้าง

>> สิ่งที่ต้องแลกมาเพื่อ 'ตาต่อตา ฟันต่อฟัน'
เศรษฐกิจอิสราเอลในอดีตฟื้นตัวมาได้หลายต่อหลายครั้ง เช่นเมื่อปี 2549 ในการทำสงคราม 34 วันกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ของเลบานอนที่มีอิหร่านหนุนหลัง GDP ของอิสราเอลลดลงถึง 0.5% แต่ก็ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วหลังจากนั้น

อย่างไรก็ดี สงครามในปัจจุบันส่งผลสะเทือนทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้างมากยิ่งกว่าที่เคย ราคาของการล้างแค้นครั้งนี้ไม่เพียงต้องจ่ายด้วยชีวิตคนและความไร้เสถียรภาพทางภูมิรัฐศาสตร์เท่านั้น แต่ยังสร้างภาระหนักต่อเศรษฐกิจของอิสราเอลเองอีกด้วย

'โบกธง' แสดงพลังศรัทธาชาวไทยมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ยุติความรุนแรงในปาเลสไตน์

เมื่อเวลาประมาณ 13.30 น.หน้าบริเวณ มัสยิดกลางจังหวัดนราธิวาสได้มี ชาวไทยมุสลิมและมุสลีมะห์ ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ นราธิวาส ยะลา และปัตตานี ได้ออกมาแสดงพลังสามัคคี แสดดงจุดยืน ให้ยุติสงครามที่เกิดความรุนแรงขึ้นอยากต่อเนื่องจนบานปลายระหว่างประเทศ อิสลาแอล- ปาเลสไตน์ ด้วยความรุนแรงที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ จึงมี ทั้งประชาชน นักศึกษา สตรี เด็ก กว่า 200 คน  ถือธงปาเลสไตน์ และเรียกร้องให้ยุติความรุนแรง ขอความสันติให้กับพี่น้องที่ได้รับผลกระทบ และสูญเสียในสงครามครั้งนี้ จากนั้นได้เคลื่อนขบวน โบกธงปาเลสไตน์ ไปตามถนนสายหลักในเมือง จังหวัดนราธิวาส 

เนื่องจากก่อนหน้านี้ ได้รับรายงานจากโพสต์ ของเพจ Thailand Stand with Palestin ( ไทยเคียงข้างปาเลสไตน์ ) ได้ออกมาโพสต์ เชิญชวน ที่มีเนื้อหาว่า วันศุกร์ที่ 27 นี้ มาร่วมละหมาดกันที่ “ มัสยิดประจำจังหวัดรวมตัวกัน “หลังละหมาดวันศุกร์ เราจะไปโบกธงปาเลสไตน์ ให้โลกได้รู้ว่า เราเคียงข้างปาเลสไตน์ และ จะมีการแสดงพลัง เชิงสัญลักษณ์ต่อต้านการใช้ความรุนแรง หยุด โจมตีฉนวนกาซา เรียกร้องให้ยุติสงความ และสนับสนุนสันติภาพ อย่างเป็นธรรม

‘อิสราเอล’ ส่งหน่วยรบภาคพื้นดิน พร้อมด้วยโดรน-เครื่องบินขับไล่ บุกโจมตีตอนกลางของฉนวนกาซา สังหาร ผบ.ระดับสูงฮามาสดับ

(27 ต.ค. 66) สำนักข่าวบีบีซีและเอเอฟพีรายงานว่า ใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา กองกำลังภาคพื้นดินของอิสราเอล สนับสนุนด้วยเครื่องบินขับไล่และโดรนหลายลำ ได้บุกเข้าไปโจมตีในพื้นที่ตอนกลางของฉนวนกาซา ซึ่งโจมตีถูกเป้าหมายของฮามาสหลายสิบแห่ง

“ในส่วนหนึ่งของปฏิบัติการดังกล่าว เครื่องบินขับไล่และโดรนของกองกำลังป้องกันอิสราเอล (ดีไอเอฟ) ได้โจมตีหลายเป้าหมายในพื้นที่ชูจาอียาและที่อื่นๆ ในฉนวนกาซา” แถลงการณ์ของไอดีเอฟระบุ และกล่าวว่า เป้าหมายเหล่านั้นรวมถึงฐานยิงจรวดต่อต้านรถถัง กองบัญชาการและศูนย์ควบคุมทางทหารตลอดจนนักรบฮามาส โดยหลังเสร็จสิ้นภารกิจ ทหารอิสราเอลได้ถอนกำลังออกจากพื้นที่ดังกล่าวโดยไม่มีกำลังพลคนใดได้รับบาดเจ็บ

ก่อนหน้านั้น ไอดีเอฟแถลงอ้างว่า เครื่องบินขับไล่ของกองทัพอิสราเอลได้สังหาร ‘ชาดี บารุด’ รองหัวหน้าหน่วยข่าวกรองของกลุ่มฮามาส ที่มีส่วนร่วมกับ ‘ยาห์ยา ซินวาร์’ หัวกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา ในการวางแผนบุกโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา

พร้อมกันนี้ ไอดีเอฟยังเผยแพร่คลิปวิดีโอโจมตีทางอากาศที่อ้างว่าได้สังหารนายบารุดเป็นการยืนยันอีกด้วย

นายริยาด มันซูร์ เอกอัครราชทูตปาเลสไตน์ ประจำสหประชาชาติ (UN) ได้กล่าวเรียกร้องให้มีการหยุดยิง

เมื่อไม่นานนี้ ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UN) ได้มีการลงมติที่เป็นไปได้ ต่อข้อเรียกร้องให้ ‘หยุดยิงทันที’ ในตะวันออกกลางถูกเลื่อนออกไป เมื่อวันพฤหัสบดี Agencia Brasil รายงาน ร่างดังกล่าวจะกลับมาหารือกันอีกครั้งในวันศุกร์ เกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มอิสลามิสต์ฮามาส ซึ่งควบคุมภูมิภาคฉนวนกาซา
.
หลังจากการหยุดชะงักหลายครั้งในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ประเทศต่างๆ ที่สนับสนุนการยุติสงครามในตะวันออกกลาง เรียกร้องให้มีการประชุมฉุกเฉินของสมัชชาใหญ่ เพื่อพยายามบรรลุข้อตกลงหยุดยิง
.
แม้ว่าในประเทศต่างๆ ของคณะมนตรีความมั่นคง เช่น สหรัฐอเมริกา หรือรัสเซีย มีอำนาจในการยับยั้งมติต่างๆ ได้ แต่ในสมัชชาใหญ่ การลงคะแนนเสียงข้างมากก็เพียงพอแล้วสำหรับข้อความที่จะได้รับการอนุมัติ
.
นายริยาด มันซูร์ เอกอัครราชทูตปาเลสไตน์ ประจำสหประชาชาติ (UN) ได้กล่าวเรียกร้องให้มีการหยุดยิงทันที เขาพูดถึงชาวปาเลสไตน์มากกว่า 7,000 คนที่ถูกสังหารนับตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา และตั้งคำถามถึงความแตกต่างในการรักษาที่มอบให้กับเหยื่อชาวอิสราเอลและชาวปาเลสไตน์
.
“เหตุใดการเสียชีวิตของชาวอิสราเอลจึงเจ็บปวดมาก แต่ชาวปาเลสไตน์อย่างพวกเรากลับดูเจ็บปวดเพียงเล็กน้อย? อะไรคือปัญหา? เรามีความเชื่อที่ผิดหรือ? หรือผิดที่สีผิว? หรือผิดที่สัญชาติ? หรือผิดที่ที่มาของเรา? ตัวแทนของประเทศต่างๆ จะอธิบายได้อย่างไร ว่าการเสียชีวิตของชาวอิสราเอลนับพันนั้นช่างน่าสยดสยองเพียงใด และไม่รู้สึกแบบเดียวกันกับการตายของชาวปาเลสไตน์จำนวนหนึ่งพันคนที่กำลังจะเสียชีวิตในเวลานี้ทุกวัน”
.
ที่มา : 
https://en.mercopress.com/2023/10/27/un-general-assembly-evaluating-ceasefire-in-middle-east-war
.
https://www.facebook.com/100063765184493/posts/pfbid023pBjYkRYBJ7Fr8Wt8KKdxAhSAFEJVkP5Qqzw3TVuisms9NsVhFsruvtyj1Dh5CaSl/?mibextid=Nif5oz
.
Click on Clear >> 
.
------------------------------------------------
.
ติดตามผลงานอื่นๆ ของ THE STATES TIMES ได้ที่
TikTok > https://www.tiktok.com/@thestatestimes
.
#THESTATESTIMES
#World
#NewsFeed
#UN
#ปาเลสไตน์
#อิสราเอล
#สงคราม

เห็นพ้อง!! ‘กาตาร์’ รับบท ‘คนกลาง’ ยุติขัดแย้ง ‘อิสราเอล-ปาเลสไตน์’ เหตุมีสัมพันธ์ที่ดีกับหลายขั้วอำนาจ-ช่วยหยุดรอยร้าวมาแล้วหลายครั้ง

สงครามระหว่าง ‘อิสราเอล’ และ ‘กลุ่มติดอาวุธฮามาส’ ในปาเลสไตน์ยังคงเดือดต่อเนื่องโดยไม่มีทีท่าว่าฝ่ายใดจะลดราวาศอกลง โดยเฉพาะฝ่ายอิสราเอลที่ยังประกาศเดินหน้าแผนการโจมตีภาคพื้นดิน โดยไม่ฟังเสียงทัดทานจากมติขององค์การสหประชาชาติที่เรียกร้องให้ทุกฝ่ายหยุดยิง 

ท่ามกลางวิกฤติที่ดูไร้หนทางออก ในขณะเดียวกันนี้ หลายฝ่ายเริ่มฝากความหวังไว้กับประเทศกาตาร์ ในบทบาทการเป็น ‘คนกลาง’ ในการเจรจาเพื่อหาทางยุติสงครามในปาเลสไตน์ ก่อนสูญเสียชีวิตพลเมืองมากกว่านี้

เหตุใด ‘กาตาร์’ จึงกลายเป็นประเทศที่เหมาะสมที่สุดในการเป็นคนกลางในสถานการณ์ตอนนี้? 

ในขณะที่ ‘หลายชาติในโลกตะวันตก’ และ ‘โลกมุสลิม’ มีการแบ่งขั้วแบ่งฝ่ายอย่างชัดเจน ในกรณีความขัดแย้งในปาเลสไตน์ กาตาร์กลับเป็นประเทศหนึ่งที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับหลากหลายขั้วอำนาจ อาทิ ฝ่ายชาติตะวันตกและสหรัฐอเมริกา, กลุ่มติดอาวุธฮามาส รวมถึงคู่ขัดแย้งในโลกอื่น ๆ อย่างอิหร่าน และ รัสเซีย อีกด้วย 

ซึ่งการวางตัวเป็นมิตรกับกลุ่มต่าง ๆ และ พยายามรักษาสมดุลด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทำให้กาตาร์ได้รับบทบาทในการเป็นคนกลางในการเปิดโต๊ะเจรจาระหว่างคู่ขัดแย้งต่างขั้วหลายครั้ง

อาทิ การเป็นเจ้าภาพงานประชุมทวิภาคีระหว่างสหรัฐอเมริกากับอัฟกานิสถาน ภายใต้การนำของรัฐบาลตอลีบานเป็นครั้งแรกตั้งแต่กองกำลังตอลีบานบุกยึดกรุงคาบูล ในปี 2021 และยังเป็นคนกลางในการเจรจาระหว่างสหรัฐอเมริกาและอิหร่าน ในการแลกเปลี่ยนนักโทษการเมืองได้สำเร็จเมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะผิดสัญญาเรื่องการส่งมอบเงินสำรองต่างประเทศจำนวน 6 พันล้านเหรียญคืนให้อิหร่าน แต่ก็ได้โอนเงินจำนวนนั้นให้แก่รัฐบาลกาตาร์เพื่อเก็บรักษาไว้จนกว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลง 

อีกทั้ง กาตาร์ยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอิทธิพลในย่านตะวันออกกลาง เช่นเดียวกับ ซาอุดีอาระเบีย และ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทั้งในด้านความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ เป็นผู้ผลิตน้ำมันชั้นนำประเทศหนึ่งของโลก และยังเป็นเจ้าของสื่อยักษ์ใหญ่ Al Jazeera สื่อที่ทรงอิทธิพลอย่างมากในย่านตะวันออกกลาง 

จึงทำให้กาตาร์มีศักยภาพเพียงพอที่จะได้รับความไว้วางใจจากหลายฝ่าย แม้แต่ เอมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศสยังให้เครดิตกาตาร์ ที่ทำให้การเจรจาปล่อยตัวประกันชาวอเมริกัน 2 คนแรก ที่ถูกกลุ่มฮามาสจับตัวไว้ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมาประสบความสำเร็จ 

แต่ทั้งนี้ ด้วยความสัมพันธ์ที่ดีต่อกลุ่มติดอาวุธหลายกลุ่มในย่านตะวันออกกลาง ทั้ง ฮามาส, ตอลิบาน หรือ อิหร่าน ก็ทำให้กาตาร์ถูกมองว่าเป็นชาติที่สนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย  

มิหนำซ้ำ กับอิสราเอล ที่ประกาศไม่ยอมเจรจากับกลุ่มฮามาสที่ถูกรัฐบาลอิสราเอลขึ้นทะเบียนเป็น ‘กลุ่มก่อการร้าย’ ทุกกรณี ก็ไม่ไว้วางใจกาตาร์ และยังมองว่า กาตาร์ใช้สื่อ Al Jazeera ของตนเป็นกระบอกเสียงให้กับกลุ่มฮามาส และชาวมุสลิมโจมตีอิสราเอล และได้มีคำสั่งให้ปิดสำนักงานข่าว Al Jazeera ในอิสราเอลด้วย 

แต่สำหรับสหรัฐอเมริกา มองว่าในนาทีนี้ คงไม่มีชาติใดเหมาะสมในการเป็นคนกลางได้ดีเท่ากาตาร์อีกแล้ว และที่ผ่านมารัฐบาลกาตาร์ก็แสดงความสามารถในการเจรจาได้อย่างลุล่วงมาหลายครั้ง ซึ่งล่าสุด แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ได้เดินทางเยือนกาตาร์ เพื่อหารือเกี่ยวกับภารกิจทางการทูตในการแก้ไขวิกฤติความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้

และเมื่อได้แรงหนุนจากสหรัฐอเมริกา ยิ่งทำให้สถานะ และ บทบาทของกาตาร์ ในตะวันออกกลางมีความโดดเด่นมากขึ้น และถูกคาดหวังว่าจะสามารถไกล่เกลี่ยให้วิกฤติในปาเลสไตน์สามารถสงบลงได้ แม้เพียงแค่ชั่วคราวก็ยังดี 

‘อิสราเอล’ ถล่มโรงเรียนในกาซา ปชช.ทั้งเด็ก-ผู้หญิง หนีตายระทึก พบผู้เสียชีวิตแล้ว 20 ราย อ้าง!! เป็นฐานปฏิบัติการลับของกลุ่มฮามาส

(4 พ.ย. 66) จากเหตุโจมตีโดยอิสราเอล ที่เล็งเป้าหมายเล่นงานโรงเรียนแห่งหนึ่งทางเหนือของกาซา เบื้องต้นพบว่า มีผู้เสียชีวิต 20 ราย และบาดเจ็บหลายสิบคน จากการเปิดเผยของกระทรวงสาธารณสุขที่บริหารงานโดยฮามาส ในดินแดนปาเลสไตน์แห่งนี้ ในตอนเช้าวันเสาร์ (4 พ.ย.) แต่ฝ่ายอิสราเอลอ้างว่าโรงเรียนดังกล่าวถูกใช้เป็นฐานปฏิบัติการของพวกนักรบ

“พบผู้เสียชีวิต 20 คน และบาดเจ็บหลายสิบคน ที่ถูกส่งมาโรงพยาบาลอัล-ชิฟา ในกาซา ซิตี หลังมีการเล็งเป้าหมายโดยตรงใส่โรงเรียนแห่งหนึ่ง ซึ่งถูกเปลี่ยนเป็นค่ายพักพิงชั่วคราวสำหรับผู้ไร้ที่อยู่อาศัย ในพื้นที่อัล-ซาฟตาวี ทางเหนือของกาซา” กระทรวงสาธารณสุขกาซาแถลง “กระสุนปืนครกยิงจากรถถัง ตกใส่โรงเรียนซึ่งเป็นเป้าหมายโดยตรง”

สำนักข่าวสกายนิวส์ ได้ตรวจสอบวิดีโอ เป็นภาพที่เผยให้เห็นว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมากในโรงเรียน แต่ไม่สามารถระบุถึงต้นเหตุได้ และเวลานี้กำลังรอถ้อยแถลงชี้แจงจากกองทัพอิสราเอล

ภาพในวิดีโอพบเห็นความตื่นตระหนกเกิดขึ้นทั่วจุดเกิดเหตุ บางส่วนพยายามวิ่งหนี ทั้งนี้พบเห็นชายคนหนึ่งเอามือกุมศีรษะในอารมณ์ช็อกต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนผู้หญิงอีกคนพบเห็นกำลังคลุ้มคลั่งมอบไปรอบๆ เอามือปิดปากไม่อยากเชื่อสายตาตัวเอง

สำนักงานบรรเทาทุกข์และจัดหางานของสหประชาชาติ ระบุว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น หลังจากมีการยิงระเบิดทิ้งบอมบ์ถล่มพื้นที่บริเวณดังกล่าวอย่างหนักในช่วง 2 วันก่อนหน้านั้น

“ในวันเดียวกัน ค่ายพักพิงอีกแห่ง Beach Refugee Cam ก็ได้รับความเสียหายเช่นกัน มีรายงานเด็กเสียชีวิต 1 ราย ทั้ง 2 จุดต่างตั้งอยู่ในทางเหนือของฉนวนกาซา” ถ้อยแถลงระบุว่า “ลงไปทางใต้ โรงเรียน 2 แห่งที่ถูกปรับเปลี่ยนเป็นค่ายพักพิงชั่วคราวก็ถูกโจมตีเช่นกัน มีรายงานผู้เสียชีวิต 2 คนและบาดเจ็บ 31 ราย”

ที่ผ่านมา กองกำลังป้องกันตนเองของอิสราเอล อ้างความชอบธรรมในการโจมตีอาคารต่างๆ อย่างเช่นโรงพยาบาล โรงเรียนและสุเหร่าในกาซา โดยอ้างว่า ฮามาสใช้สถานที่แห่งนี้สำหรับจุดประสงค์ในด้านปฏิบัติการ

เหตุการณ์โจมตีโรงเรียนในวันเสาร์ (4 พ.ย.) เกิดขึ้นไม่นาน หลังจากปฏิบัติการทางอากาศของอิสราเอลโจมตีใส่รถฉุกเฉินคันหนึ่ง ซึ่งกำลังอพยพผู้ได้รับบาดเจ็บออกจากทางเหนือของกาซาที่ถูกปิดล้อม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 15 ราย และบาดเจ็บ 60 คนในวันศุกร์ (3 พ.ย.)

กองทัพอิสราเอลรุดชี้แจงว่า พวกเขาตรวจพบและโจมตีเข้าใส่รถฉุกเฉินคันหนึ่ง ซึ่งถูกใช้งานโดยเครือข่ายก่อการร้ายฮามาสในเขตสู้รบ กองทัพบอกว่าพวกนักรบฮามาสถูกปลิดชีพในเหตุโจมตีดังกล่าว พร้อมกับกล่าวหาว่ากลุ่มนักรบกำลังใช้รถฉุกเฉินคันดังกล่าว ลำเลียงกำลังพลและอาวุธ

นอกจากนี้ เหตุการณ์โจมตีโรงเรียนยังเกิดขึ้นไม่กี่วัน หลังจากอิสราเอลปฏิบัติการโจมตีทางอากาศใส่ค่ายผู้ลี้ภัยแห่งหนึ่งในเมืองจาบาเลีย ทางเหนือของกาซา ซิตี สังหารผู้คนไปอย่างน้อย 195 ราย ขณะที่เจ้าหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ออกมาเตือนว่า การกระทำของกองทัพอิสราเอลครั้งนี้อาจเข้าข่ายเป็น ‘อาชญากรรมสงคราม’


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top