Saturday, 19 April 2025
ปาเลสไตน์

‘Dr. Husam Zomlot’ หัวหน้าคณะผู้แทนปาเลสไตน์ประจำสหราชอาณาจักร ผู้เรียกร้องความเป็นธรรมให้ชาวปาเลสไตน์ และการต่อสู้กับอคติของสื่อตะวันตก

‘Dr. Husam Zomlot’ หัวหน้าคณะผู้แทนปาเลสไตน์ประจำสหราชอาณาจักร
ตอบโต้คำถามและการสัมภาษณ์ที่มีอคติของ BBC สื่อตะวันตกอย่างดุเดือด

‘Dr. Husam Zomlot’ หัวหน้าคณะผู้แทนปาเลสไตน์ประจำสหราชอาณาจักร ต้องเผชิญหน้ากับคำถามและการสัมภาษณ์อย่างมีอคติจากสื่อตะวันตก โดยเฉพาะ BBC โดยพยายามให้ความกระจ่างเกี่ยวกับความโหดร้ายที่บีบคั้นหัวใจ ซึ่งเกิดขึ้นโดยกองทัพอิสราเอลต่อพลเรือนชาวปาเลสไตน์ผู้บริสุทธิ์

Dr. Zomlot ได้ตอกย้ำความมุ่งมั่นอันแน่วแน่ของชาวปาเลสไตน์ในการยุติการยึดครองอันโหดร้ายที่คุกคามชีวิตของพวกเขามายาวนานเกินไป อิสราเอลซึ่งแต่เดิมตั้งใจที่จะยุติการขยายถิ่นฐานและการยึดครอง แต่กลับวนเวียนอยู่ในวงจรแห่งความทุกข์ทรมานของชาวปาเลสไตน์

เขาท้าทายความพยายามของผู้สัมภาษณ์ที่จะถือข้างผู้ครอบครอง โดยเน้นว่านี่ไม่ใช่สงครามระหว่างความเท่าเทียมกัน หลักการทางการทหารที่มีมายาวนานของอิสราเอลมุ่งเป้าไปที่พลเรือน ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายอย่างนับไม่ถ้วน Dr. Zomlot เรียกร้องอย่างกระตือรือร้นให้ยุติวงจรแห่งความตายนี้ การเผชิญหน้ากับความหน้าซื่อใจคดของผู้สัมภาษณ์ โดยเน้นย้ำถึงการขาดความรับผิดชอบต่ออาชญากรรมสงครามของอิสราเอลในการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ เขาตั้งคำถามว่า เหตุใดเจ้าหน้าที่อิสราเอลจึงไม่ถูกกดดันให้ประณามตนเอง โดยเน้นย้ำถึงอคติที่มักสร้างความเสียหายให้ปาเลสไตน์จากการรายงานข่าวของสื่อตะวันตก

Dr. Zomlot ปฏิเสธที่จะเล่าเรื่องที่บิดเบือน โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการจัดการที่ต้นตอของความขัดแย้ง แทนที่จะคาดหวังให้ชาวปาเลสไตน์ประณามตนเองอย่างต่อเนื่อง เขาตั้งคำถามกับการรายงานแบบเลือกข้างของสื่อ โดยถามว่าพวกเขาเคยเชิญให้ Dr. Zomlot ออกมาพูดเมื่อชาวปาเลสไตน์ถูกสังหารหรือเมื่อมีการยั่วยุจากฝั่งอิสราเอลหรือไม่? เนื่องจากประชากรในฉนวนกาซาถูกจับเป็นตัวประกันโดยอิสราเอล Dr. Zomlot จึงเรียกร้องให้เปลี่ยนจากการใช้วาทกรรมและให้ยอมรับความจริงอันน่ารังเกียจนี้

เมื่อถามถึงแนวทางแก้ไข เขาเน้นย้ำถึงการใช้กฎหมายระหว่างประเทศอย่างเท่าเทียมกัน กฎของสันนิบาตแห่งชาติ และมติของสหประชาชาติ ซึ่งเป็นหลักการที่ขาดหายไปอย่างเห็นได้ชัดเมื่อพูดถึงการกระทำของอิสราเอลในฐานะกองกำลังผู้ยึดครอง

Dr. Zomlot เปิดเผยความจริงอันโหดร้ายที่พลเรือนปาเลสไตน์ต้องเผชิญอย่างเด็ดเดี่ยว และเรียกร้องความยุติธรรม และความรับผิดชอบต่อความอยุติธรรมนับครั้งไม่ถ้วนที่ชาวปาเลสไตน์ต้องเผชิญ Dr. Zomlot ได้โต้ตอบผู้สื่อข่าวของ BBC อย่างไม่เกรงใจ เนื่องจากความมีอคติของผู้สัมภาษณ์ที่ชัดเจนต่อชาวปาเลสไตน์อิสราเอล โดยเปิดเผยถึงความโหดร้ายอันน่าสยดสยองที่กองทัพอิสราเอลกระทำต่อพลเรือนชาวปาเลสไตน์ผู้บริสุทธิ์

อย่างไรก็ตาม กลุ่มฮามาสไม่ใช่รัฐบาลหรือกองทัพอย่างเป็นทางการของชาวปาเลสไตน์ จึงไม่สามารถถือเอากลุ่มฮามาสเป็นตัวแทนของชาวปาเลสไตน์ได้ Dr. Zomlot เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นแน่วแน่ของชาวปาเลสไตน์ที่จะหลุดพ้นจากพันธนาการแห่งการยึดครองที่ยืดเยื้อยาวนาน เขาเน้นย้ำว่า จุดประสงค์เดิมของอิสราเอล คือการยุติการขยายตัวของการตั้งถิ่นฐานและการยึดครอง แต่อิสราเอลได้หลงไปไกลจากเส้นทางนี้ และทิ้งร่องรอยแห่งความทุกข์ทรมานไว้

ด้วยการท้าทายความพยายามของผู้สัมภาษณ์ที่จะเปรียบเทียบผู้กดขี่กับผู้ถูกกดขี่ Dr. Zomlot โต้แย้งอย่างกระตือรือร้นว่านี่ไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างความเท่าเทียมกัน เขากล่าวหาอิสราเอลว่าปฏิบัติตามหลักคำการทางทหารที่น่ากังวลซึ่งมุ่งเป้าไปที่พลเรือน ซึ่งสร้างความเจ็บปวดแก่ชาวปาเลสไตน์อย่างไม่สามารถประเมินได้ Dr. Zomlot เรียกร้องให้ยุติวงจรความรุนแรงซึ่งมีแต่การทำลายล้างนี้

Dr. Zomlot ขอให้ผู้สัมภาษณ์ตอบข้อกล่าวหาว่ามีอคติ โดยตั้งคำถามตรง ๆ ไปว่า ทำไมเจ้าหน้าที่อิสราเอลจึงไม่รับผิดชอบต่อการกระทำของพวกเขาในรายการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ เขาท้าทายความล้มเหลวของสื่อในการเรียกร้องให้อิสราเอลประณามตัวเอง โดยแสดงให้เห็นถึงการมีสองมาตรฐานโดยสิ้นเชิง

Dr. Zomlot ยืนกรานที่จะต้องจัดการกับสาเหตุที่แท้จริงของความขัดแย้ง เขาตั้งคำถามที่ถูกต้องเกี่ยวกับการรายงานข่าวของสื่อ โดยถามว่าพวกเขาส่งคำเชิญถึงตัวเขาเมื่อชาวปาเลสไตน์ถูกสังหารหรือเมื่อมีการยั่วยุของอิสราเอล เพราะว่ามีชาวปาเลสไตน์กว่าสองล้านคนถูกอิสราเอลจับเป็นตัวประกันในฉนวนกาซา

Dr. Zomlot จึงเรียกร้องให้ละทิ้งวาทกรรมที่ปั้นแต่งขึ้น เพื่อเผชิญหน้ากับความจริงของสถานการณ์ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข เมื่อถามถึงแนวทางแก้ไข เขาเน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการใช้กฎหมายระหว่างประเทศอย่างเท่าเทียมกัน ตลอดจนการปฏิบัติตามกฎของสันนิบาตแห่งชาติและมติของสหประชาชาติ ซึ่งเป็นหลักการที่อิสราเอลดูเหมือนได้เคยยอมรับและนำมาปฏิบัติมานานหลายทศวรรษ

ทัวร์ลง ‘อธิการบดี ม.ฮาร์วาร์ด’ ประเด็น ‘อิสราเอล-ปาเลสไตน์’ ด้านบอร์ดบริหารลาออก เหตุรับไม่ได้ต่อความนิ่งเฉยของสถาบัน

เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 66 อธิการบดีมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ‘คลอดีน เกย์’ ซึ่งเพิ่งรับตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของสถาบันอันเก่าแก่นี้เมื่อเดือนกรกฎาคม กำลังเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จากการที่ฮาร์วาร์ดมีปฏิกิริยาออกมา หลังจากการโจมตีอิสราเอลโดยกลุ่มฮามาส

เศรษฐีพันล้านชาวอิสราเอล ‘ไอดาน โอเฟอร์’ และภรรยา ‘บาเทีย โอเฟอร์’ ลาออกจากตำแหน่งบอร์ดบริหารของคณะบดีแห่ง Harvard Kennedy School

ทั้งคู่กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องลาออกจากตำแหน่งดังกล่าว ก็เพราะการไร้ความชัดเจนของผู้บริหารมหาวิทยาลัยในการสนับสนุนชาวอิสราเอล

“ความศรัทธาของเราต่อคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยได้เเตกสลายลงเเล้ว” คู่สามีภรรยาโอเฟอร์กล่าวในแถลงการณ์

ขณะเดียวกันอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเเห่งนี้ ‘ลาร์รี ซัมเมอร์ส’ กล่าวว่าเขารู้สึก ‘สะอิดสะเอียน’ กับการที่ฮาร์วาร์ดนิ่งเงียบในตอนเเรกหลังจากที่กลุ่มนักศึกษากว่า 30 กลุ่ม ออกเเถลงการณ์กล่าวโทษอิสราเอลเพียงฝ่ายเดียว ว่าเป็นต้นเหตุของความรุนเเรง

มหาเศรษฐีอีกรายหนึ่งที่มีปฏิกิริยาต่อท่าทีของฮาร์วาร์ด คือ ‘บิลล์ อะเคอร์แมน’ นักลงทุนรายใหญ่และศิษย์เก่าของสถาบันแห่งนี้

ต่อมา ‘คลอดีน เกย์’ อธิการคนปัจจุบัน เมื่อเธอมีถ้อยเเถลงที่ชัดเจนถึงการโจมตีในอิสราเอล และซัมเมอร์ลดความร้อนเเรงในคำวิจารณ์ต่อเธอ

เกย์ต้องออกแถลงการณ์หลายฉบับ ในความพยายามลดความตึงเครียด โดยในฉบับที่สามเมื่อวันพฤหัสบดี เธอประณาม “ความโหดร้ายอันป่าเถื่อนที่กระทำโดยฮามาส” ซึ่งเป็นกลุ่มที่ถูกระบุโดยสหรัฐฯ และยุโรป ว่าเป็น ‘ขบวนการก่อการร้าย’ ขณะเดียวกัน เกย์ยืนยันที่จะปกป้องเสรีภาพในการเเสดงความคิดเห็น

ในถ้อยเเถลงผ่านคลิปวิดีโอ เกย์กล่าวว่า เธอปฏิเสธ “การคุกคาม หรือการข่มขู่บุคคล บนพื้นฐานความเชื่อของพวกเขา”

‘อิสราเอล’ โจมตีทางอากาศ ทิ้งบอมบ์ใส่ผู้อพยพปาเลสไตน์ในกาซา ดับแล้วอย่างน้อย 70 ราย ช็อก!! พบเหยื่ออายุน้อยสุดเพียง 2 ขวบ

(15 ต.ค. 66) ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศเที่ยวหนึ่ง ถล่มใส่คาราวานผู้คนที่กำลังหลบหนี บริเวณทางเหนือของฉนวนกาซา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 70 ราย ในนั้นมีเด็กหลายคน อายุน้อยสุดแค่ 2 ขวบ ความโหดร้ายป่าเถื่อนซึ่งเกิดขึ้นท่ามกลางปฏิบัติการทิ้งบอมบ์ของอิสราเอล แก้แค้นกรณีถูกกลุ่มนักรบฮามาสบุกจู่โจมนองเลือดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อย่างไรก็ตาม รัฐยิวปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้

สำนักข่าวนิวยอร์กโพสต์ รายงานข่าวระบุว่า นอกเหนือจากผู้เสียชีวิตแล้ว ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 200 ราย ในเหตุการณ์นี้ ซึ่งเกิดขึ้นบนเส้นทางที่ปลอดภัยแห่งนี้ บนถนนชาลาห์ อัล-อิน ในกาซา ซิตี ตอนบ่ายวันศุกร์ (13 ต.ค.)

การโจมตีครั้งนี้ เป็นการโจมตีใส่ถนนสายหนึ่งซึ่งคับคั่งไปด้วยยานพาหนะ ในระหว่างที่ชาวปาเลสไตน์พยายามหลบหนีออกจากกาซา ก่อนถึงเส้นตายที่ทางอิสราเอลขีดไว้ สำหรับให้อพยพออกจากฉนวนแห่งนี้ ก่อนหน้าสิ่งที่คาดหมายว่า อิสราเอลจะเปิดปฏิบัติการโจมตีทางภาคพื้น

อย่างไรก็ตาม กระทรวงกลาโหมอิสราเอล ปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุโจมตีคาราวานผู้อพยพ โดยอ้างว่าไม่พบสิ่งบ่งชี้ว่ากองกำลังของพวกเขาอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ดังกล่าว

กระทรวงกลาโหมอิสราเอล ให้ข้อมูลเพียงว่าในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีพลเรือนมากกว่า 1 ล้านคนที่หลบหนีไปทางใต้ของฉนวนกาซา ผ่านถนนสายหลัก 2 สาย ระหว่าง 10.00 น. ถึง 16.00 น. ของวันเสาร์ (14 ต.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น

จากการตรวจสอบของบีบีซี พบว่ามีผู้หญิงและเด็กเป็นหนึ่งในบรรดาผู้เสียชีวิตด้วย

วิดีโอที่เผยแพร่โดยกระทรวงสาธารณสุขปาเลสไตน์ พบเห็นเจ้าหน้าที่หน่วยฉุกเฉินกำลังเดินทางมาถึงจุดเกิดเหตุที่ถูกโจมตีทางอากาศ และมีเจ้าหน้าที่รถฉุกเฉินคันหนึ่งถูกโจมตี ระหว่างที่พวกเขากำลังพยายามพาตัวเด็กหญิงคนหนึ่งและผู้หญิงอีกคนเข้าไปภายในรถฉุกเฉิน

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นท่ามกลางปฏิบัติการโจมตีแก้แค้นของอิสราเอล ต่อเหตุการณ์ที่พวกนักรบฮามาสบุกจู่โจมสายฟ้าแลบเข้าไปยังดินแดนของอิสราเอล เข่นฆ่าหลายครอบครัว กราดยิงใส่เทศกาลดนตรีหนึ่ง ฆาตกรรมทารกและเด็กไปราว 40 ชีวิต รวมแล้วมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,300 รายในอิสราเอล

จนถึงตอนนี้มีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 2,200 คน ในปฏิบัติการโจมตีตอบโต้ของอิสราเอล ในนั้นเป็นเด็ก 724 คน

เปิดปูมหลัง เหตุความชัง ‘อิสราเอล-ยิว-ไซออนิสต์’ ที่ไม่จำกัดวงแค่คนมุสลิม ‘คริสต์-ยิว’ นอกไซออนิสต์ ก็ขยาดพฤติกรรมอ้างสิทธิ 3 พันปีตั้งอิสราเอล

เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 66 ติ๊กต๊อกช่อง ‘sulaimanwanie’ ได้ลงคลิปวิดีโอของอาจารย์สันติ เสือสมิง หรือ ‘อาลี เสือสมิง’ ประธานคณะอนุกรรมการคณะผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี ฝ่ายนิติศาสตร์อิสลาม สำนักจุฬาราชมนตรี ได้เคยออกมาบรรยายถึงสาเหตุที่ว่า ‘ทำไมมุสลิมถึงไม่ยอมรับประเทศอิสราเอล?’ ในกิจกรรมเปิดโลกอิสลาม ชมรมนิสิตมุสลิม เกษตรศาสตร์ กำแพงแสน เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2562 โดยกล่าวถึงผ่านข้อคำถามหนึ่งที่มีพูดในบรรยายครั้งนั้น ว่า…

ทำไม ‘อิสลาม’ ถึงเกลียดชังประเทศอิสราเอล และพี่น้อง ‘ชาวยิว’ ผู้นับถือศาสนายูดาห์?

เมื่อปี 1948 ‘เดวิด เบน-กูเรียน’ ประกาศตั้งประเทศอิสราเอลขึ้นในดินแดนของ ‘ชาวปาเลสไตน์’

หากย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นในช่วงยุคกลาง เมื่อศาสนาอิสลามได้ประกาศเผยแพร่ขยายออกไปในแอฟริกาเหนือ จนกระทั่งไปถึงประเทศสเปน ซึ่งในสเปนนั้นเคยมีชาวมุสลิมปกครองอยู่อย่างยาวนาน เกือบ 800 ปี

ชาวยิวเป็นกลุ่มชนที่ได้รับการคุ้มครองโดยชาวมุสลิม และชาวยิวที่อยู่ในการปกครองของชาวมุสลิมนั้น มีสถานภาพการดํารงชีวิตมีสิทธิเสรีภาพ มีการครองชีพดีกว่าชาวยิวที่อยู่ในดินแดนยุโรปในช่วงยุคกลาง เพราะชาวยิวในยุโรปนั้นถูกชาวคริสต์กดขี่

***เพราะฉะนั้น ‘คนยิว’ กับ ‘คนมุสลิม’ สามารถอยู่ร่วมกันด้วยดีมาตลอด นับตั้งแต่มีการประกาศศาสนา

‘นบี มุฮัมมัด’ ท่านได้ทําปฏิญญาสังคม หรือ ‘ธรรมนูญปกครอง’ โดยดึงชาวยิวมาร่วมเป็นพลเมืองในรัฐมะดีนะฮ์ ซึ่งเป็นรัฐอิสลาม และได้เรียกบุคคลเหล่านี้ว่า ‘กลุ่มชนแห่งพันธสัญญา’ ที่ได้รับการคุ้มครองในชีวิตและทรัพย์สิน มีสิทธิเสรีภาพในการถือศาสนา และมีหน้าที่ในการจ่ายภาษีรัชชูปการ เมื่อจ่ายภาษีรัชชูปการแล้วก็ไม่ต้องไปเป็นทหาร และยังคงสามารถนับถือในศาสนาเดิมของตนได้

***บางคนยกเรื่องนี้ เพื่อแสดงให้คนทั่วไปเห็นว่า ชาวมุสลิมไปกดขี่ ไปรีดภาษีจากคนต่างศาสนา แต่ในเมื่อคุณเป็นพลเมืองของรัฐฯ คุณจะไม่จ่ายอะไรเลยเชียวหรือ?

คนมุสลิมต้อง ‘จ่ายซะกาต’ (Zakat) หมายถึง การบริจาคทานตามหลักการศาสนาอิสลาม และยังต้องจ่ายภาษีอีกด้วย

ดังนั้น เมื่อคนยิวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองภายใต้รัฐอิสลาม คุณก็ควรต้องเสียภาษีรัชชูปการส่วนนี้ด้วย เช่นเดียวกันกับพลเมืองคนอื่นๆ ในรัฐฯ

อีกทั้งเมื่อจ่ายภาษีรัชชูปการ คุณก็จะได้รับข้อยกเว้นไม่ต้องไปเป็นทหารในกองทัพด้วย คุณมีสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนาด้วย สิ่งนี้เป็นเหมือนพันธสัญญาว่า “เมื่อคุณจ่ายภาษีนี้มา เราจะต้องปกป้องคุ้มครองคุณ”

***สิ่งนี้จึงทำให้ชาวยิวอยู่ร่วมกับชาวมุสลิมมาตราบจนกระทั่งเกิดสงครามกับนครมักกะฮ์ ที่ชาวยิวไปเข้าร่วมกับศัตรูของรัฐอิสลาม ซึ่งเป็นการกระทําที่ผิดสัญญาที่ได้เคยลงสัตยาบันกันเอาไว้ ว่าจะช่วยกันปกป้องรัฐอิสลาม แต่ชาวยิวกลับเป็นหนอนบ่อนไส้ ชักน้ำเข้าลึก ชักศึกเข้าบ้าน นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทําให้ชาวยิวถูกเนรเทศออกจากคาบสมุทรอาหรับ

กระนั้น เมื่อพ้นยุคสมัยของศาสดามุฮัมมัดไปแล้ว และเข้าสู่สมัยอาณาจักรของราชวงศ์อุมัยยะฮ์ ได้มีการสถาปนาเมืองดามัสกัสขึ้นเป็นราชธานี ซึ่งในเมืองดามัสกัสนั้นก็มีชุมชนชาวยิวอาศัยอยู่ และชาวยิวก็มีส่วนสําคัญในฐานะพลเมืองในรัฐอิสลาม ที่อยู่กันแบบสุขสบาย ต่อมาเมื่อครั้งสถาปนารัฐเคาะลีฟะฮ์อับบาซียะฮ์ ในนครแบกแดด ชาวยิวก็มีชุมชนอยู่ข้างพระราชวังหลวงของเคาะลีฟะฮ์ เมื่อมุสลิมพิชิตดินแดนในสเปน ที่เมืองกอร์โดบา เมืองกรานาดา ที่เดิมทีเป็นถิ่นฐานของชาวยิว และชาวมุสลิมก็ได้สร้างอาณาจักรอยู่ที่นั่นร่วมกับชาวยิว

***ชาวยิวไม่ได้ถูกกดขี่ในดินแดนของชาวมุสลิม แต่ถูกกดขี่อยู่ในดินแดนของชาวคริสต์ เพราะชาวยิวเป็นผู้สังหาร ‘พระเยซูคริสต์’ บนไม้กางเขน

ชาวยิวอยู่กับชาวมุสลิมมาโดยตลอด จนกระทั่งจักรวรรดิอังกฤษเริ่มล่าอาณานิคม ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้มีการดึงชาวยิวที่อพยพจากดินแดนต่างๆ มารวมกัน เพื่อสร้างนิคมของชาวยิวในดินแดนของชาวปาเลสไตน์ ทำให้ทางสุลต่านแห่งตุรกี ได้ออกมาประกาศว่า “คุณจะไปอยู่ในดินแดนไหนของออตโตมันก็ได้ แต่ไม่ให้ไปอยู่ในดินแดนของปาเลสไตน์”

***แต่ ‘องค์การไซออนิสต์สากล’ ก็ได้ออกมาประกาศเรียกร้องให้ชาวยิวกลับไปสู่ปาเลสไตน์ เพราะเป็นดินแดนแห่งพันธสัญญา

ประเด็นคือ หากจะบอกว่าชาวมุสลิมเกลียดชังประเทศอิสราเอล ต้องขอบอกว่าไม่ใช่เพียงแค่ชาวมุสลิมอย่างเดียว ชาวคริสต์ที่เป็นคนอาหรับนั้นก็รังเกียจประเทศอิสราเอลเช่นกัน เพราะชาวคริสต์ที่เป็นชาวอาหรับที่อาศัยอยู่ในเลบานอนก็มี อาศัยอยู่ในซีเรียก็มี แม้แต่ในเมืองเบธเลเฮม หรือเมืองนาซาเร็ธ ก็มีชาวอาหรับอาศัยอยู่ ซึ่งแม้เขาจะถือในศาสนาคริสต์ แต่เขาก็ไม่ชอบอิสราเอลเหมือนกัน

แม้กระทั่งชาวยิวในนิกายอื่นที่ไม่ใช่พวกไซออนิสต์ ก็มีการประท้วงไม่เห็นด้วยกับการที่ไปตั้งประเทศอิสราเอล เพราะประเทศอิสราเอลนี้เอาเรื่องในเหตุการณ์เมื่อ 3,000 ปีก่อนคริสตกาล มาอ้างว่า “ดินแดนแห่งนี้เป็นของตน”

ประเด็นคือ ชาวยิวนั้น เดิมเป็นลูกหลานของ ‘ยิตซ์ฮาก’ (นบีอิสฮาก) บุตรของ ‘อับราฮัม’ ที่กำเนิดกับ ‘นางซาร่า’ ซึ่งเดินทางมาจากเมืองหนึ่งในเมโสโปเตเมีย ที่อยู่ในอิรัก สู่ ‘ดินแดนคานาอัน’ ของชาวคานาอัน ซึ่งชาวคานาอันนั้น เดิมทีเมื่อ 2,500 ปีก่อนคริสตกาล ได้ไปผสมรวมกับชาวเมืองที่มาจากเกาะครีตมาขึ้นที่เมืองเพทรัส หรือปารัส ซึ่งต่อมาได้มีการเรียกกลุ่มคนที่อยู่ที่เมืองปารัส ว่า ‘ปารัสชีอะห์’ เรียกดินแดนตรงนี้ว่า ‘ปีรัสเทียร์’ ซึ่งคือ ‘ปาเลสไตน์’

ดังนั้น คนปาเลสไตน์ ก็คือลูกผสมระหว่างคานาอันกับปาเลสไตน์ เขาว่ากันว่า เมื่อเราไปตรวจดีเอ็นเอของชาวปาเลสไตน์ จะพบว่า ชาวปาเลสไตน์ในปัจจุบันนี้นั้น มีผลดีเอ็นเอตรงกับคนเมื่อประมาณ 3,000 ปีก่อนคริสตกาล หรือตั้งแต่สมัยฟินิเชียนนั่นเอง

เพราะชาวปาเลสไตน์ไม่เคยถูกขับไล่ให้ไปไหนเลย มีแต่ชาวยิวเท่านั้นที่แตกแยกย้าย กระจัดกระจายไปทั่วทุกดินแดนทั่วโลก ในขณะที่ชาวปาเลสไตน์ก็ยังคงอยู่ในดินแดนปาเลสไตน์

ปั้นแบรนด์ 'ปาเลสไตน์' เป็นผู้ก่อการร้าย 'ยิว' กลายเป็นผู้ถูกกระทำ สุดยอดการล้างสมอง ที่สารคดี Palestine in 1920 ช่วยไขกระจ่าง

(16 ต.ค. 66) จากเฟซบุ๊ก 'Trachoo Kanchanasatitya' โดยนายตราชู กาญจนสถิตย์ ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับกระบวนการล้างสมอง

รีวิวกระบวนการล้างสมอง ที่ผมโดนมา 

- 43 กว่าปีก่อน ผมในวัย 16 ดูหนังซีรีส์ทางช่อง 3 เรื่อง นาซีหฤโหด ผมถูกสอนให้จำความลำเค็ญแบบแสนสาหัสที่ชาวยิวที่โดนฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุด้วยวิธีที่เลวร้ายที่สุด ความสงสารชาวยิวฝังในสมองผมอย่างลึกซึ้ง

- พ่อผมที่ได้ไปดูงานที่อิสราเอล กลับมาโม้ให้ฟังถึงความเก่งของยิวในการต่อสู้กับ 6 ประเทศอาหรับแล้วชนะ เล่าถึงการปลูกพืชกลางทะเลทรายได้ ขนาดชื่อนายพลโมเช่ ดายัน นายพลคนนึงยังฝังหัวมาถึงวันนี้

- หนัง Schindler’s List ออกมาเล่าถึงความลำบากของชาวยิวในเยอรมัน ที่แม้แต่คนเยอรมันเองยังทนไม่ได้ต้องยื่นมือไปช่วยชาวยิว สร้างโดย Steven Spielberg ลูกหลานชาวยิว….

- เมื่อมีโอกาสไปเยอรมัน ผมต้องไปเบอร์ลิน ไปรับรู้ประสบการณ์หฤโหด 

>> สมองผมถูกโปรแกรมให้ยินดีกับการที่ชาวยิวมีบ้านของตัวเอง

- คำโฆษณาสุดเลิศ “A land without a people for a people without a land” ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อบอกใครๆ ว่า ชาวยิวไม่ได้แย่งที่ดินแย่งบ้านของใคร มันคือทะเลทรายที่ว่างเปล่า มีแต่ชาวยูโดอิน เร่ร่อน 

- ความยินดีในการมีบ้านของชาวยิวที่ถูกกลั่นแกล้ง ทำให้ผมตัดขาดการเรียนรู้เรื่อง “ดินแดนปาเลสไตน์ ก่อนยิวมาอยู่” ก็จะรู้ไปทำไม เรารู้หมดแล้ว

จนวันนี้ ผมได้มาดูสารคดีของ Al Jazeera เรื่อง Palestine in 1920 คือ ก่อนยิวทะลักกันมา ภาพที่ประกอบ คือ ภาพบ้านเมืองที่เจริญมากของชาวปาเลสไตน์ พวกเขาไม่ใช่คนเร่ร่อน อย่างที่เขาว่ากัน

สารคดีเรื่องนี้ เล่าถึงการทำในสิ่งที่ยิว พวกตนที่เคยโดนมาจากนาซี แต่เอามาทำกับชาวปาเลสไตน์ 

ผมตาสว่างกับ #กระบวนการล้างสมอง ที่มีมาอย่างยาวนานกับคนๆ นึงอย่างผม การแบรนดิ้งชาวปาเลสไตน์ว่าเป็น ผู้ก่อการร้าย ส่วนชาวยิวคือ ผู้โดนกระทำ มันคือ อภิมหาการตลาด

ทำไมไม่มีใครทำหนังฮอลลีวูดให้ชาวปาเลสไตน์บ้าง ก็แน่ล่ะ ใครจะให้ทุนล่ะ 

ขอบคุณ Al Jazeera ผมจะทบทวนความเข้าใจที่ผมมีต่อเรื่องต่างๆ ของโลกให้มากขึ้น 🙏

พาสปอร์ตมาเลเซีย ไปไหนก็ได้...ยกเว้น 'อิสราเอล'

รู้หรือไม่? ในพาสปอร์ตของมาเลเซีย จะมีข้อความระบุไว้ว่า… ‘This passport is valid for all countries except Israel’ หรือแปลว่า ‘หนังสือเดินทางนี้ใช้ได้กับทุกประเทศ ยกเว้นอิสราเอล’

ปัจจุบันความสัมพันธ์ของ ‘มาเลเซีย-อิสราเอล’ อยู่ในระดับคู่ขนาน และเมื่อเกิดสงคราม ‘อิสราเอล-ปาเลสไตน์’ ยิ่งทำให้ทางการของมาเลเซีย ‘ตัดความสัมพันธ์พลเมือง’ โดยไม่ให้เข้าอิสราเอล แต่ในทางกลับกัน ความสัมพันธ์ระหว่าง ‘มาเลเซีย-ปาเลสไตน์’ นั้นดีมาก หนำซ้ำในฉนวนกาซา ยังมีถนนชื่อ ‘มาเลเซีย’ อีกด้วย

'รพ.ปาเลสไตน์' จำยอม!! ปรับตู้แช่รถไอศกรีมเป็นตู้แช่ศพชั่วคราว หลังพบผู้เสียชีวิตเพิ่มทุกวัน แต่ห้องดับจิตเก็บได้เพียง 10 ศพ

การสู้รบในฉนวนกาซาระหว่างกองกำลังติดอาวุธฮามาส และกองทัพอิสราเอลยังคงดุเดือดต่อเนื่อง ส่งผลให้ยอดเสียชีวิตจากทั้งสองฝ่าย เพิ่มขึ้นไปเกินกว่า 4 พันราย บาดเจ็บนับหมื่นคนแล้ว 

และต้องยอมรับว่าพื้นที่ในกาซาเสียเปรียบกว่าฝ่ายอิสราเอลมาก เนื่องจากสาธารณูปโภคขาดแคลน และยังถูกตัดน้ำ ตัดไฟ และพลังงานเข้าพื้นที่ ทำให้ปฏิบัติการกู้ภัย และด้านการแพทย์ทำด้วยความยากลำบากอย่างมาก

จนล่าสุด เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในเขตพื้นที่ฉนวนกาซา ได้ออกมายืนยันยอดผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,500 คน จากการถล่มด้วยเครื่องบินทิ้งระเบิดของอิสราเอล ในจำนวนนั้นกว่า 1 ใน 4 เป็นกลุ่มเด็กๆ ชาวปาเลสไตน์ มีการเผยแพร่ภาพศพที่ถูกห่อไว้ในผ้าขาวจำนวนมาก ที่ยังไม่สามารถทำพิธีทางศาสนาได้ เพราะการสู้รบติดพัน และการเดินทางขนส่งในช่วงเวลานี้ อาจกลายเป็นเป้าโจมตีจากฝ่ายอิสราเอล 

ด้วยปัจจัยหลายด้านจำกัด ชาวปาเลสไตน์ไม่มีทางเลือก ต้องนำตู้แช่รถไอศกรีมท้องถิ่นมาใช้เป็นตู้แช่ศพชั่วคราวไปก่อน 

ด็อกเตอร์ ยัสเซอร์ อาลี นายแพทย์ประจำโรงพยาบาลชูฮาดา อัล-อัคซอร์ กล่าวว่า ตอนนี้ในห้องดับจิตของโรงพยาบาลสามารถเก็บศพได้เพียง 10 ศพเท่านั้น และการเคลื่อนย้ายศพไปยังสุสานแทบเป็นไปไม่ได้ มิหนำซ้ำ ศพยังล้นสุสาน เพราะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นทุกวัน จนไม่สามารถจัดการได้ทัน จึงจำเป็นต้องใช้รถตู้แช่ไอศกรีมเอามาเก็บศพก่อน 

ทำให้เราได้เห็นภาพรถขนไอศกรีมหวานเย็น สีสันสดใส ชวนน่ารับประทาน ต้องถูกดัดแปลงให้กลายเป็นตู้แช่เก็บศพจำนวนมาก ที่ขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง แต่ความน่าหดหู่ยังเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น 

ด็อกเตอร์ ยัสเซอร์ อาลี ย้ำว่า ต่อให้วันนี้เรามีรถตู้แช่ไว้เก็บศพแทนโรงพยาบาลได้ก็จริง แต่ไม่ช้าก็เร็ว รถตู้แช่เหล่านี้ก็จะมีศพเต็มจนล้นเกินความจุเช่นกัน ทางโรงพยาบาลยังต้องหาเต็นท์ชั่วคราวเพิ่มไว้เก็บศพที่จะเข้ามาเพิ่มอีกในวันต่อๆ ไปให้ทัน 

ด้าน ซาลามา มารอฟ ผู้อำนวยการสำนักการข่าวของรัฐบาลปาเลสไตน์ ยอมรับว่า การสู้รบยังเป็นอุปสรรคที่ทำให้ครอบครัว และ ญาติๆ ไม่สามารถเข้ามารับศพในโรงพยาบาลกลับไปประกอบพิธีทางศาสนาได้ ทางรัฐบาลจึงตัดสินใจเร่งสร้างสุสานฝังศพเฉพาะกิจ เพื่อประกอบพิธีฝังศพผู้วายชนม์จำนวนกว่า 100 ศพ ก่อนที่จะมีศพใหม่เพิ่มเติมเข้ามามากกว่านี้ 

ในขณะที่กองทัพอิสราเอลยังยืนยันที่จะเดินหน้าโจมตีกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา ทั้งทางบก ทางเรือ และ ทางอากาศ กดดันให้ชาวปาเลสไตน์ที่อาศัยอยู่อย่างหนาแน่นในฉนวนกาซา ต้องอพยพลงใต้กลายเป็นคนไร้ที่อยู่อาศัยแล้วกว่า 1 ล้านคน 

ซึ่งชาวปาเลสไตน์จำนวนไม่น้อย รู้สึกเหมือนประวัติศาสตร์แห่งโศกนาฏกรรมวันนักบาห์ในปี 1948 เกิดขึ้นอีกครั้ง ซึ่งเป็นผลพวงจากสงครามอาหรับ-อิสราเอล ทำให้ชาวปาเลสไตน์กว่า 7 แสนคน ถูกกองทัพอิสราเอลขับไล่ออกนอกดินแดน กลายเป็นคนไร้รัฐ นับเป็นปัญหาผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ที่ยังค้างคามาจนถึงปัจจุบัน 

แต่วันนี้ ชาวปาเลสไตน์กำลังเผชิญหน้ากับโศกนาฏกรรมนักบาห์ครั้งที่ 2 ที่ยังไม่สามารถประเมินความเสียหายจากสงคราม และการพลัดถิ่นฐานอีกครั้งของชาวปาเลสไตน์ได้ จนกว่าการปะทะระหว่างอิสราเอล และ กลุ่มฮามาสจะสงบ

ระทึก!! ‘อิหร่าน’ ขู่ชิงโจมตีอิสราเอลก่อน ใน ‘อีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า’ หลังรัฐยิวตั้งท่าบุกฉนวนกาซา โหมกระพือความขัดแย้งลุกลามหนัก

เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 66 สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน เตือนว่ามีความเป็นไปได้ที่พวกเขาจะชิงโจมตีเล่นงานอิสราเอลก่อน ‘ในอีกไม่ชั่วโมงข้างหน้า’ ส่งสัญญาณแข็งกร้าวถึงอิสราเอล ในขณะที่รัฐยิวเตรียมพร้อม สำหรับเปิดปฏิบัติการจู่โจมทางภาคพื้นบุกเข้าไปยังฉนวนกาซา

เตหะรานส่งเสียงเตือนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ว่าการรุกรานทางภาคพื้นฉนวนกาซา ที่ถูกปิดล้อมมาช้านาน จะต้องเจอกับการตอบโต้จากแนวหน้าอื่นๆ โหมกระพือความกังวลว่าความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มนักรบปาเลสไตน์ ฮามาสอาจลุกลามขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้น ลากประเทศอื่นๆ เข้ามาร่วมวงด้วย

“ความเป็นไปได้ของปฏิบัติการชิงโจมตีก่อนของเครือข่าย ‘Axis of Resistance’ (กลุ่มซึ่งเป็นการผนึกกำลังกันระหว่างกลุ่มก๊กมุสลิมชีอะห์ที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านในอิรัก กับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน) คาดหมายว่าจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า” ‘ฮอสเซน อามีร์ อับดอลลาห์เฮียน’ รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน กล่าวผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งรัฐ อ้างถึงการประชุมระหว่งเขากับ ‘ฮัสซัน นาสรัลเลาะห์’ ผู้นำฮิซบอลเลาะห์ เมื่อวันเสาร์ (14 ต.ค.)

ก่อนหน้านี้ในวันจันทร์ (16 ต.ค.) ‘ฮอสเซน อามีร์ อับดอลลาห์เฮียน’ และ ‘อิบราฮิม ไรซี’ ประธานาธิบดีอิหร่าน ต่างบอกว่าเวลาสำหรับการหาทางออกทางการเมืองใกล้หมดลงแล้ว และเตือนเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่สงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาสจะลุกลามสู่แนวหน้าอื่นๆ

‘อามีร์ อับดอลลาห์เฮียน’ ประกาศกร้าวว่าพวกผู้นำ Axis of Resistance จะไม่ยอมให้อิสราเอลทำอะไรตามอำเภอใจในฉนวนกาซา “ถ้าเราไม่ปกป้องฉนวนกาซาในวันนี้ วันพรุ่งนี้เราคงจำเป็นต้องป้องกันสกัดระเบิดฟอสฟอรัสเหล่านี้ จากการพุ่งใส่โรงพยาบาลเด็กทั้งหลายในประเทศของเราเอง”

อิสราเอล ประกาศสงครามกับกลุ่มนักรบ ‘ฮามาส’ ในดินแดนปาเลสไตน์หนึ่งวัน หลังจากพวกนักรบส่งสมาชิกระลอกแล้วระลอกเล่าจากฉนวนกาซา บุกฝ่าแนวป้องกันอันหนาแน่นเข้าไปโจมตีภายในอิสราเอล เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม เข่นฆ่าพลเรือนไปกว่า 1,400 คน ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน

ทางอิสราเอล ตอบโต้กลับด้วยการทิ้งบอมบ์ถล่มฉนวนกาซาเป็นชุดๆ แบบไม่มีหยุด ทั้งจากปฏิบัติการโจมตีทางอากาศและปืนใหญ่ ทำย่านต่างๆ พังราบเป็นหน้ากลอง สังหารชีวิตผู้คนไปอย่างน้อย 2,750 ราย ส่วนใหญ่เป็นพลเรือนเช่นกัน

เบื้องต้น อิหร่านออกมาแสดงความยินดีปรีดาต่อปฏิบัติการจู่โจมของฮามาส แต่ยืนกรานว่าพวกเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

คำเตือนของอิหร่านในวันจันทร์ (16 ต.ค.) มีขึ้นในขณะที่อิสราเอลได้เตรียมการสำหรับเปิดฉากรุกรานทางภาคพื้นเข้าไปยังฉนวนกาซา ท่ามกลางความกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า มีพลเรือนปาเลสไตน์ติดอยู่ในฉนวนที่ถูกทิ้งบอมบ์อย่างหนักแห่งนี้เป็นจำนวนมาก นับตั้งแต่อิสราเอลเปิดปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ

อนึ่งนับตั้งแต่เหตุการณ์ปฏิวัติอิสลามปี 1979 อิหร่านหยิบยกการสนับสนุนปาเลสไตน์เป็นหนึ่งในเสาหลักของอุดมการณ์ของพวกเขา

จีนอยู่ตรงไหน? ในความขัดแย้ง 'อิสราเอล-ปาเลสไตน์'

ปัจจุบัน 'จีน' ถือหนึ่งในผู้เล่นที่มีบทบาทสูงในเวทีโลกทั้งในมิติเศรษฐกิจและในมิติความมั่นคง เชื่อว่า จีนไม่ได้เลือกข้างที่จะสนับสนุนด้านใด ไม่ว่าจะเป็น อิสราเอล ปาเลสไตน์ และ/หรือ ฮามาส แต่จีนเลือกข้างการสนับสนุนการสร้างสันติภาพในภูมิภาคตะวันออกกลาง

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะ ‘จีน’ ดำเนินนโยบายเช่นนี้มาแล้วอย่างต่อเนื่องยาวนาน อย่างน้อยก็ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

โดยจีนภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงก็เริ่มสร้างสัมพันธ์ทางการทูตที่ดีกับโลกมุสลิมผ่านประเด็นที่เปราะบางที่สุดในโลกมุสลิม ซึ่งก็คือ ประเด็นปาเลสไตน์ โดยเชิญทั้ง มาห์มูด อับบาส (Mahmoud Abbas) ประธานาธิบดีแห่งรัฐปาเลสไตน์ และ เบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) นายกรัฐมนตรีอิสราเอลให้เดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการในช่วงเวลาเดียวกัน แม้จะเป็นคนละพื้นที่ก็ตาม (จีนเชิญ เนทันยาฮูไปยังมหานครเซี่ยงไฮ้ และเชิญอับบาสไปยังกรุงปักกิ่ง) 

จีนยังใช้ความเป็นเจ้าภาพในการนำเสนอแผนการสร้างสันติภาพระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ ใน ค.ศ.2013 (Four-Point Peace Proposal) ซึ่งมีข้อเสนอคือ...

1) เรียกร้องให้มีการก่อตั้งรัฐปาเลสไตน์ที่มีอิสระเสรีภาพทุกประการอยู่ร่วมควบคู่ไปกับรัฐอิสราเอล โดยยึดแผนที่และเขตแดนตามที่ตกลงกันไว้ใน ค.ศ. 1967 (ซึ่งปัจจุบันฝ่ายอิสราเอลเข้าไปครอบครองดินแดนเกือบทั้งหมดของปาเลสไตน์) โดยให้เมืองหลวงของปาเลสไตน์ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองเยรูซาเล็ม 

2) อิสราเอลยังมีสิทธิในการรักษาความมั่นคงของตนเอง แต่ต้องเริ่มต้นกระบวนการเจรจาสันติภาพเพื่อสันติสุขที่ยั่งยืนโดยมีประชาชนของทั้งสองรัฐเป็นที่ตั้ง 

3) เรียกร้องให้ฝ่ายอิสราเอลยุติการเข้าไปตั้งถิ่นฐาน การปิดล้อมและยึดครองพื้นที่ฉนวนกาซา และทั้ง 2 ฝ่ายต้องยุติการใช้ความรุนแรงต่อพลเรือน รวมทั้งต้องแสวงหาทางออกสำหรับนักโทษชาวปาเลสไตน์ร่วมกัน โดยเชื่อว่านี่คือเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับการเริ่มต้นการเจรจาสันติภาพ และ 

4) เรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศเข้ามามีส่วนร่วมและให้การสนับสนุนเพื่อให้การเจรจาระหว่าง 2 ฝ่ายเกิดขึ้นได้อีกครั้ง รวมทั้งเรียกร้องให้นานาชาติให้ความช่วยเหลือแก่ชาวปาเลสไตน์เพิ่มขึ้น 

สิ่งนี้คือการแสดงความพยายามครั้งแรกของจีนที่จะเข้ามามีบทบาทในการไกล่เกลี่ยเพื่อกระบวนการสร้างความสมานฉันท์ท่ามกลางความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลาง และนั่นทำให้คะแนนนิยมและความชื่นชมจีนในกลุ่มประชาคมความร่วมมือสันนิบาตอาหรับ (Arab League) อันประกอบไปด้วยสมาชิก 22 ประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ได้แก่ แอลจีเรีย, บาห์เรน, คอโมโรส, จิบูตี, อียิปต์, อิรัก, จอร์แดน, คูเวต, เลบานอน, ลิเบีย, มอริเตเนีย, โมร็อกโก, โอมาน, ปาเลสไตน์, กาตาร์, ซาอุดิอาระเบีย, โซมาเลีย, ซูดาน, ซีเรีย, ตูนิเซีย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเยเมน มีความนิยมต่อจีนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 

อีกทั้งจีนเองก็ยังดำเนินการผลักดันข้อเสนอสันติภาพนี้อย่างต่อเนื่อง 

โดยล่าสุดใน ค.ศ.2021 (ก่อนที่จะมีการปะทะกันครั้งล่าสุดในวันที่ 7 ตุลาคม 2023) หวัง อี้ (王毅 Wáng yì) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้นก็ยังคงเดินหน้าผลักดันข้อเสนอเพื่อสันติภาพ 4 ประการข้างต้น โดยจีนเรียกร้องให้ทั้ง 2 ฝ่ายหยุดปฏิบัติการทางทหารและหยุดการเป็นศัตรูกันโดยทันที และกล่าวว่า “อิสราเอลต้องใช้ความยับยั้งชั่งใจเป็นพิเศษ” รวมถึงเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และการดำเนินการแผนการสร้างสันติภาพ ค.ศ. 2013

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าการออกมาเรียกร้องของจีนใน ค.ศ. 2021 นี้ก็เป็นการตอบโต้แนวทางการขับเคลื่อนปัญหาตะวันออกกลางของสหรัฐฯ อย่างตรงไปตรงมา เพราะก่อนหน้านั้นสหรัฐฯ เพิ่งจะขัดขวางมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่เรียกร้องให้มีการหยุดยิงในพื้นที่ขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ รวมทั้งสหรัฐฯ ยังอนุมัติการขายอาวุธมูลค่า 735 ล้านดอลลาร์แก่อิสราเอล ท่ามกลางการโจมตีอย่างต่อเนื่องของอิสราเอลต่อ ศูนย์พักพิงพลเรือนในฉนวนกาซา 

การแสดงความจริงใจ และการผลักดันสันติภาพในดินแดนปาเลสไตน์อย่างต่อเนื่องของจีนถือเป็นการซื้อใจประชาคมโลกมุสลิมซึ่งรู้สึกเจ็บแค้นและชิงชังในท่าทีรุกรานของอิสราเอล รวมถึงแนวทางของโลกตะวันตกที่นำโดยสหรัฐฯ ที่มักจะใช้การสร้างความแตกแยกระหว่างรัฐต่าง ๆ ในโลกมุสลิมเพื่อเข้าไปครอบงำ และ/หรือครอบครองการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของพวกเขาอย่างต่อเนื่อง

และนี่คือข้อความบางส่วนจาก บทที่ 19 พันธมิตรซุนกวน-เล่าปี่ แห่งศตวรรษที่ 21: พันธมิตรจีน โลกมุสลิม และเศรษฐกิจเกิดใหม่ จากหนังสือ Amidst the Geo-Political Conflicts #สมรภูมิพลิกอำนาจโลก โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม และ รองศาสตราจารย์ ดร.จักรี ไชยพินิจ เผยแพร่โดย สำนักพิมพ์มติชน 

ส่องจุดยืนนานาชาติต่อสงคราม ‘อิสราเอล-ปาเลสไตน์’ ภายใต้เสียงแบ่งขั้ว ที่มองทั่วๆ แล้ว มีมากกว่าปัญหาแก่งแย่งดินแดน

(17 ต.ค. 66) มีคำกล่าวว่า ต่อให้เราไม่ยุ่งกับการเมือง เดี๋ยวการเมืองก็จะมายุ่งกับเราเอง เช่นเดียวกันกับสงคราม ที่ต่อให้เราไม่ได้เป็นคนก่อ และไม่ใช่คู่กรณี แต่สุดท้ายก็จะถูกดึงเข้ามาเกี่ยวข้องจนได้ ไม่ทางใด ก็ทางหนึ่ง

ไม่ต่างจากสงครามระหว่างอิสราเอล และ กองกำลังฮามาส ณ ขณะนี้ ที่ทั่วโลกกำลังจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และ กลายเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างร้อนแรงในหลายประเทศ แม้ไม่ได้อยู่เขตพื้นที่สงครามแต่อย่างใด

ซึ่งต้องยอมรับว่าการโจมตีของกลุ่มฮามาส เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมเป็นต้นมา ถือเป็นการโจมตีชุมชนชาวอิสราเอลที่รุนแรงที่สุด นับตั้งแต่เหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และยังถือเป็นหนึ่งในเหตุก่อการร้ายช็อกโลกที่สุดครั้งหนึ่งเช่นกัน และทำให้ ‘เบนจามิน เนทันยาฮู’ ผู้นำอิสราเอลประกาศภาวะสงครามในอิสราเอลเป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปี และใช้ปฏิบัติการทางทหารเต็มรูปแบบ โจมตีฉนวนกาซาอย่างหนัก ทำลายอาคาร บ้านเรือนย่อยยับ และทำให้ชาวปาเลสไตน์นับล้านพลัดถิ่นกลายเป็นคนไร้ที่อยู่อาศัย

ท่ามกลางวิกฤติสงครามในฉนวนกาซา โลกก็ได้แบ่งขั้วเป็น 2 ฝั่ง โดยชาติตะวันตก นำโดยสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมนี และอีกกว่า 40 ประเทศออกมาประณามกลุ่มก่อการร้ายฮามาส และสนับสนุนฝ่ายอิสราเอล โดยมองว่าอิสราเอลมีความชอบธรรมตามกฎหมายในการป้องกันตนเอง

แต่ในขณะเดียวกัน โลกมุสลิมในตะวันออกกลาง นำโดย อิหร่าน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย คูเวต ซีเรีย และอิรัก มองว่าเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น มีต้นเหตุเกิดจากอิสราเอล ที่สร้างความขัดแย้ง และความรุนแรงต่อชาวปาเลสไตน์ ในเขตเวสต์แบงก์ และฉนวนกาซา มานานนับ 10 ปี รวมถึงการก่อเหตุรุนแรงของทางการอิสราเอลในมัสยิดศักดิ์สิทธิ์ ‘อัล-อัคซอร์’ และการโจมตีทางอากาศในฉนวนกาซาที่ผ่านมา ได้สังหารชีวิตพลเรือนชาวปาเลสไตน์ไปเป็นจำนวนมาก และต้องไม่ลืมว่า การรุกไล่ที่ดิน และครอบครองดินแดนปาเลสไตน์ของรัฐบาลอิสราเอลเป็นสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

แต่ทั้งนี้ ก็มีหลายชาติมหาอำนาจที่พยายามชูนโยบายสายกลาง โดยมองว่า ไม่ใช่เวลาที่จะออกมาเลือกข้าง หรือประณามการกระทำของใครว่าเป็นฝ่ายผิดทั้งหมด ซึ่งกลุ่มพันธมิตรสายกลาง นำโดย จีน รัสเซีย ตุรกี กลุ่มประเทศสหภาพแอฟริกา และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เรียกร้องให้ทั้ง 2 ฝ่ายลดความรุนแรงลง เพื่อสามารถถอยกลับไปสู่จุดที่สามารถเปิดโต๊ะเจรจาสันติภาพได้ และยังเชื่อว่า ‘การแก้ปัญหาแบบสองรัฐ’ (Two-state Solution) สามารถยุติความขัดแย้งได้ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ประเทศเหล่านี้ก็ต่อต้านการใช้ความรุนแรงกับพลเมือง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก็ตาม

แต่หากมองมาทางฟากฝั่งเอเชียแปซิฟิก ก็จะพบว่าประเทศที่เป็นพันธมิตรอันดีกับสหรัฐอเมริกา มักแสดงท่าทีออกมาประณามกลุ่มฮามาส หรือสนับสนุนอิสราเอลอย่างชัดเจน อาทิ อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รวมทั้งไทยด้วย แต่ประเทศที่เป็นปฏิปักษ์กับสหรัฐฯ มักเลือกที่จะสนับสนุนปาเลสไตน์ หรือ เลือกนโยบายเป็นกลางที่ประณามความรุนแรงจากทุกฝ่าย อาทิ เกาหลีเหนือ จีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย เป็นต้น

ในขณะที่ ประเทศในโซนอเมริกาเหนือและยุโรปตะวันตก แสดงท่าทีไปในทางสนับสนุนอิสราเอลอย่างชัดเจน แต่โซนอเมริกาใต้กลับเสียงแตก มีทั้งสนับสนุนอิสราเอล และขอยืนเป็นกลาง หรือประณามความรุนแรงจากทั้งสองฝ่าย ส่วนกลุ่มทวีปแอฟริกาค่อนข้างชัดเจนว่า ส่วนใหญ่ไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความรุนแรงในกาซา และไม่ขอออกตัวประณามกลุ่มฮามาสแต่เพียงฝ่ายเดียวด้วยเช่นกัน

เมื่อทั่วโลกมีความเห็นที่แตกต่างกันชัดเจน 2 กลุ่ม ความรุนแรงในกาซา จะยกระดับไปสู่สงครามตัวแทน หรือสงครามโลกครั้งที่ 3 ได้หรือไม่?

‘เจเรมี โบเวน’ ผู้สื่อข่าวนานาชาติ ของสำนักข่าว BBC มีความเห็นว่า สงครามครั้งนี้จะทวีความรุนแรงขึ้นหากมีการแทรกแซงจากองค์กรภายนอก อาทิ อิหร่าน กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ในเลบานอน รวมถึง กองทัพสหรัฐฯ เช่นกัน และจำนำความเสียหายใหญ่หลวงมาสู่ภูมิภาคตะวันออกกลางทั้งหมด ซึ่งรัฐบาลของชาติในตะวันออกกลางรู้ดี และเชื่อว่าไม่น่าจะชาติใดกล้าแบกรับความเสี่ยงนี้  ดังนั้น การสู้รบในฉนวนกาซาน่าจะถูกจำกัดวงไม่ให้กระจายออกไปสู่พื้นที่อื่นๆ

เมื่อเป็นเช่นนี้ กลุ่มฮามาส ต้องการบรรลุเป้าหมายใดจากการใช้กำลังทหารโจมตีอิสราเอล แม้จะรู้ว่าเป็นการสงครามแบบอสมมาตร

เรื่องนี้ ‘โมฮัมเหม็ด อัล-เดอิฟ’ โฆษกกลุ่มฮามาส เคยออกมาประกาศว่า “ความอดทนสิ้นสุดแล้ว” ดังนั้น เหตุผลหลักของการขับเคลื่อนยุทธวิธีของกลุ่มฮามาส คือ ตอบโต้นโยบายกดขี่ของรัฐบาลอิสราเอลต่อชาวปาเลสไตน์ ที่สั่งสมเป็นปัญหามานานหลายสิบปี

แต่ทั้งนี้ ‘อับดุลาซิส เซเกอร์’ หัวหน้าศูนย์วิจัย Gulf Research Center แห่งซาอุดีอาระเบีย มองว่า สิ่งที่ถือว่าฮามาสบรรลุเป้าหมายจากสถานการณ์นี้ คือ สามารถเปิดเผยจุดอ่อนด้านความมั่นคงของอิสราเอล และทัศนคติของรัฐบาลอิสราเอลที่มีต่อปาเลสไตน์อย่างหมดเปลือก

อีกทั้งยังทำให้ทั่วโลกหันกลับมามองปัญหาในดินแดนปาเลสไตน์ และถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นหลัก แทนที่จะถูกมองเป็นประเด็นรองๆ หรือ ถูกลดทอนความสำคัญโดยสื่อตะวันตกอย่างที่แล้วมา ซึ่งนั่นทำให้ปัญหาด้านสันติภาพในดินแดนแห่งนี้ถูกซุกไว้ใต้พรมที่เขียนด้วยคำสวยหรูว่า “แผนสันติภาพ” มาโดยตลอด

และทำให้วันนี้ มีการขุดคุ้ย ตีแผ่ ไล่เรียง ประวัติศาสตร์เรื่องราวความขัดแย้งระหว่างชาวอิสราเอล และชาวปาเลสไตน์ กันอย่างกว้างขวางอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา และมองสถานการณ์ครั้งนี้ด้วยใจที่เป็นธรรมมากขึ้น ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกข้าง หรือกล่าวประณามฝ่ายใด


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top