Saturday, 19 April 2025
ปาเลสไตน์

‘เจ้าชายวิลเลียม’ วอน!! ‘หยุดยิง’ ในกาซา ชี้!! สงครามทำผู้คนล้มตายมากเกินไปแล้ว

เจ้าชายวิลเลียมแห่งอังกฤษทรงเรียกร้องให้มีการหยุดยิงในฉนวนกาซา และตรัสว่า “ความทุกข์ทรมานแสนสาหัส” จากสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ซึ่งทำให้ “มีผู้เสียชีวิตไปแล้วมากมาย” ทำให้การฟื้นฟูสันติภาพคือสิ่งจำเป็น

(21 ก.พ.67) รอยเตอร์ รายงานว่า เจ้าชายวิลเลียม มกุฎราชกุมารแห่งอังกฤษ ทรงออกคำแถลงเมื่อวันอังคาร (20 ก.พ.) เน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้แก่พลเรือนในกาซา และทรงเรียกร้องให้กลุ่มฮามาสปลดปล่อยตัวประกันทั้งหมดด้วย

“ข้าพเจ้ายังคงกังวลอย่างมากเกี่ยวกับต้นทุนมนุษย์ (human cost) ที่สูญเสียไปจากความขัดแย้งในตะวันออกกลาง นับตั้งแต่ผู้ก่อการร้ายฮามาสโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค. มีผู้คนถูกสังหารมากมายเกินไปแล้ว” เจ้าชายวิลเลียมตรัส

“บางครั้งก็ต้องให้เผชิญหน้ากับความทุกข์ทรมานครั้งใหญ่ของมนุษย์ เราจึงจะเห็นคุณค่าของสันติภาพที่ยั่งยืนถาวร”

ย้อนหลังไปเมื่อปี 2018 เจ้าชายวิลเลียมทรงเป็นเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงของอังกฤษพระองค์แรกที่เดินทางไปเยือนอิสราเอลและดินแดนปาเลสไตน์อย่างเป็นทางการ และได้ทรงติดตามสถานการณ์ในภูมิภาคอย่างใกล้ชิดตลอดมา

สำนักพระราชวังเคนซิงตันแถลงว่า กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษได้รับทราบเนื้อหาในพระดำรัสของเจ้าชายวิลเลียม ก่อนที่จะมีการเผยแพร่ออกมา 

เจ้าชายวิลเลียมวัย 41 พรรษาได้เสด็จไปยังสำนักงานใหญ่สภากาชาดอังกฤษในกรุงลอนดอนเมื่อวานนี้ (20) เพื่อทรงรับฟังแนวทางการปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามในตะวันออกกลาง

“ข้าพเจ้าก็เช่นเดียวกับอีกหลายๆ คนที่อยากเห็นสงครามครั้งนี้จบลงโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้... ชาวกาซาจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเพิ่มขึ้นโดยด่วน การส่งความช่วยเหลือเข้าไป และการปล่อยตัวประกัน คือสิ่งที่สำคัญยิ่งยวด” เจ้าชายตรัส

อีลอน เลวี โฆษกรัฐบาลอิสราเอล ได้ออกมาแถลงตอบพระดำรัสของเจ้าชายแห่งเวลส์ โดยกล่าวว่า “ชาวอิสราเอลก็ปรารถนาที่จะเห็นการสู้รบยุติลงโดยเร็วที่สุดเช่นกัน และนั่นจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อตัวประกัน 134 คนได้รับการปลดปล่อย และหลังจากที่กองทัพผู้ก่อการร้ายฮามาสซึ่งข่มขู่ใช้ความรุนแรงเหมือนเมื่อวันที่ 7 ต.ค. ถูกทำลายหมดสิ้นไป”

เลวี กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า รัฐบาลอิสราเอล “รู้สึกซาบซึ้งที่เจ้าชายแห่งเวลส์ทรงเรียกร้องให้ฮามาสปลดปล่อยตัวประกัน และยังสำนึกในพระกรุณาฯ ที่ได้ทรงมีพระดำรัสเมื่อวันที่ 11 ต.ค. ประณามการก่อการร้ายโดยพวกฮามาส อีกทั้งทรงสนับสนุนสิทธิในการป้องกันตนเองของอิสราเอล”

สัปดาห์หน้าเจ้าชายวิลเลียมทรงมีกำหนดการเสด็จเยี่ยมโบสถ์ยิวแห่งหนึ่ง เพื่อทรงรับฟังมุมมองจากคนหนุ่มสาวเกี่ยวกับการรับมือกระแสเกลียดชังชาวเซมิติก (anti-Semitism) หลังจากปีที่แล้วเป็นปีที่กระแสต่อต้านชาวยิวในอังกฤษทวีความรุนแรงเป็นประวัติการณ์ 

ความผิดพลาดครั้งใหญ่ของ ‘อิสราเอล’ หลังลาก ‘อิหร่าน’ เข้ามาอยู่ในวงสงคราม


ถ้อยแถลงประณามการโจมตีอันโหดร้ายของอิสราเอลต่อสถานเอกอัครรัฐทูตสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน ณ กรุงดามัสกัส ประเทศซีเรีย ของกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน

กลายเป็นประเด็นลุกลามขึ้นมาในโลกทันที หลังจากกระทรวงการต่างประเทศของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน ได้ประณามการโจมตีด้วยขีปนาวุธของ ‘รัฐบาลอิสราเอล’ อย่างผิดกฎหมายที่อาคารส่วนกงสุลของสถานทูตสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านในกรุงดามัสกัส ด้วยถ้อยคำที่รุนแรงที่สุด ในตอนเย็นของวันจันทร์ที่ 1 เมษายน 2024

นั่นก็เพราะการโจมตีแบบกำหนดเป้าหมายในสถานที่ทางการทูตแห่งนี้ ซึ่งมีที่ปรึกษาทางทหารด้านต่อต้านการก่อการร้ายของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านหลายคนพักอาศัยอยู่ โดยทุกคนนั้นยังได้รับความคุ้มครองทางการทูต ภายหลังกำลังเข้าร่วมพิธีละศีลอดในช่วงเดือนรอมฎอนอันศักดิ์สิทธิ์อยู่ในอาคารดังกล่าว

ดังนั้น จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า การโจมตีที่น่ารังเกียจและน่าอับอายนี้ จะเป็นการละเมิดเอกสิทธิและความคุ้มกันของเจ้าหน้าที่ทางการทูตและสถานที่ โดยเฉพาะสถานทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านในกรุงดามัสกัส และละเมิดกฎระเบียบระหว่างประเทศอย่างชัดเจน รวมถึงอนุสัญญาเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูต ค.ศ. 1961 อนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม ค.ศ. 1973 การลงโทษอาชญากรรมที่กระทำต่อบุคคลที่ได้รับการคุ้มครองระหว่างประเทศ รวมถึงตัวแทนทางการทูต และกฎบัตรสหประชาชาติ 

ฉะนั้น รัฐบาลและองค์กรระหว่างประเทศทั้งหลาย จึงสมควรต้องออกแสดงความไม่พอใจและประณามการกระทำอันชั่วร้ายที่เป็นการรุกรานและการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศครั้งนี้ โดยคาดหวังว่าสหประชาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติและเลขาธิการสหประชาชาติ ที่น่าจะต้องรีบออกมาตอบสนองอย่างรวดเร็วกับการกระทำของอิสราเอล ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ หากวิเคราะห์การโจมตีของอิสราเอลในครั้งนี้ กำลังสะท้อนให้เห็นถึงความสิ้นหวัง ทำอะไรไม่ถูก และความงุนงงทางยุทธศาสตร์ของอิสราเอล อันเป็นผลจากความล้มเหลวทางการทหาร การเมือง และศีลธรรมในฉนวนกาซา หลังจากหกเดือนของสงครามอาชญากรรมอันโหดร้าย ล้วนล้มเหลวในการบรรลุชัยชนะใดๆ ต่อขบวนการต่อต้าน ตลอดจนประเทศปาเลสไตน์ที่อดทนและยืดหยุ่น

ย้อนกลับไป อิสราเอล ล้มเหลวในการยุติความกล้าหาญของชาวปาเลสไตน์ และเริ่มหันไปใช้กลยุทธ์ที่น่าอับอาย อย่างการสังหารหมู่ สตรี เด็ก และพลเรือนชาวปาเลสไตน์ ที่ถูกปลิดชีพไปแล้วหลายหมื่นคน ภายใต้ความล้มเหลวในการพยายามขยายขอบเขตสงครามที่อันตรายและไม่ฉลาด จนเริ่มกลายเป็นการทำลายสันติภาพในภูมิภาค โดยมีประเทศอื่นร่วมเป็นเหยื่อ 

อย่างไรก็ตาม สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน คงไม่เหมือนปาเลสไตน์ และมีความเป็นไปได้ที่ต่อจากนี้จะทำให้ผู้รุกราน (อิสราเอล) กลายเป็นเป็ดง่อยและต้องเสียใจกับอาชญากรรมครั้งล่าสุดอย่างถึงที่สุด เพื่อตอบโต้อาชญากรรมที่ชั่วร้ายนี้

นั่นก็เพราะการกระทำของผู้นำแห่งอิสราเอลในครั้งนี้ กำลังกระตุกปฏิบัติการพายุอัลอักซอ และความแน่วแน่อย่างกล้าหาญของประเทศปาเลสไตน์ที่ถูกกดขี่แต่ทรงอำนาจในฉนวนกาซาในช่วงหกปีที่ผ่านมา ภายใต้แรงหนุนแห่งสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน ที่อาจทำให้ปาเลสไตน์ไม่มีวันถอยแม้แต่ก้าวเดียวต่อจากนี้...ซวยแล้ว!!

‘ม็อบหนุนปาเลสไตน์’ ผุดขึ้นตามมหาวิทยาลัยทั่วสหรัฐฯ ‘เจ้าหน้าที่’ ปราบดุ!! ใช้สารเคมี-ช็อตไฟฟ้า สลายการชุมนุม

เมื่อวานนี้ (25 เม.ย. 67) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เริ่มใช้มาตรการแข็งกร้าวกับผู้ชุมนุมประท้วงสนับสนุนปาเลสไตน์ที่ปักหลักชุมนุมกันตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ หลังการชุมนุมลักษณะนี้แผ่ลามไปตามสถาบันอุดมศึกษาอื่น ๆ ทั่วอเมริกามากขึ้น

รายงานข่าวระบุว่า เจ้าหน้าที่ปราบจลาจลใช้สารระคายเคืองและอุปกรณ์ช็อตไฟฟ้าเข้าควบคุมการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ในขณะที่บรรดาผู้บริหารของสถาบันการศึกษาที่ทรงเกียรติที่สุดของประเทศบางแห่งกำลังดิ้นรนขัดขวางการปักหลักชุมนุมยึดสถานที่ของผู้ประท้วง

การปักหลักชุมนุมและประท้วงอันครึกโครม ผุดขึ้นมาตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วสหรัฐฯ ด้วยที่พวกนักเคลื่อนไหวเรียกร้องข้อตกลงหยุดยิงในสงครามระหว่างอิสราเอลกับนักรบฮามาส เช่นเดียวกับเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยทั้งหลายตัดความสัมพันธ์กับอิสราเอลและบริษัทต่าง ๆ ที่พวกเขาบอกว่าโกยกำไรจากความขัดแย้งดังกล่าว

"สำหรับ 201 วัน ที่โลกเฝ้าดูอย่างเงียบ ๆ ปล่อยให้อิสราเอลฆาตกรรมชาวปาเลสไตน์ไปกว่า 30,000 คน" ข้อความหนึ่งที่โพสต์บนสื่อสังคมออนไลน์โดยแกนนำการประท้วงจุดใหม่ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ในลอสแอนเจลิส 

"วันนี้ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเข้าร่วมกับนักศึกษาทั่วประเทศ เรียกร้องมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ของเราตัดขาดกับบริษัทต่าง ๆ ที่แสวงหาผลกำไรจากการรุกราน การแบ่งแยก และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์"

มีผู้ประท้วงมากกว่า 200 คน ถูกจับกุมในวันพุธ (24 เม.ย.) และวันพฤหัสบดี (25 เม.ย.) ตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในลอสแอนเจลิส บอสตัน และในเมืองออสติน รัฐเทกซัส บริเวณที่มีผู้คนกว่า 2,000 ราย มารวมตัวกันอีกครั้งในวันพฤหัสบดี (25 เม.ย.)

ที่มหาวิทยาลัยเอโมรี ในแอตแลนตา ปรากฏภาพถ่ายกำลังใช้เครื่องช็อตไฟฟ้าระหว่างเข้าจัดการกับพวกผู้ประท้วงที่อยู่บริเวณลานหญ้า ขณะที่เว็บไซต์ข่าวของทางมหาวิทยาลัย เผยว่า พวกเจ้าหน้าที่สวมหน้ากากป้องกันแก๊สและใช้สายรัดข้อมือควบคุมตัวผู้ชุมนุม

กรมตำรวจแอตแลนตา อ้างว่าทางมหาวิทยาลัยร้องขอให้ช่วยคุ้มกันมหาวิทยาลัย "พวกเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเจอกับการใช้ความรุนแรง เราทราบมาว่าเจ้าหน้าที่กรมตำรวจแอตแลนตาใช้สารระคายเคืองระหว่างเหตุการณ์นี้ แต่กรมตำรวจแอตแลนตาไม่ได้ใช้กระสุนยาง"

สถานการณ์ที่ลุกลามบานปลายของการประท้วง เริ่มต้นขึ้นที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียในนิวยอร์ก หลังจากผ่านพ้นเส้นตายที่พวกนักศึกษาได้รับคำสั่งให้รื้อถอนค่ายชั่วคราวที่พวกเขาใช้ปักหลักชุมนุมและกลายมาเป็นศูนย์กลางของความเคลื่อนไหว

การประท้วงที่ลุกลามกลายมาเป็นความท้าทายใหญ่หลวงสำหรับบรรดาผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่พยายามรักษาสมดุลในพันธสัญญาของมหาวิทยาลัย ในเรื่องของสิทธิเสรีภาพการแสดงออกกับเสียงโวยวายต่าง ๆ เกี่ยวกับการล้ำเส้นของพวกผู้ประท้วง

พวกผู้ประท้วงสนับสนุนอิสราเอลและอื่น ๆ แสดงความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยในมหาวิทยาลัย โดยชี้ถึงเหตุการณ์ต่อต้านยิวต่าง ๆ และกล่าวหาว่ามหาวิทยาลัยทั้งหลายกำลังสนับสนุนการข่มขู่คุกคามและประทุษวาจา (hate speech)

อย่างไรก็ตาม นักศึกษาผู้ประท้วงบอกว่าพวกเขาต้องการแสดงออกถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันกับชาวปาเลสไตน์ในกาซา ดินแดนที่มีผู้ถูกสังหารไปแล้วแตะระดับ 34,305 คน โดยผู้ชุมนุมบางส่วน ในนั้นรวมถึงนักศึกษายิวเองจำนวนหนึ่ง ปฏิเสธคำกล่าวหาต่อต้านยิว และวิพากษ์วิจารณ์พวกเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติกับพวกเขาสวนทางกับฝ่ายสนับสนุนอิสราเอล

อิสราเอล พันธมิตรของสหรัฐฯ เปิดสงครามในกาซา แก้แค้นกรณีที่พวกนักรบฮามาสบุกจู่โจมเล่นงานอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม สังหารผู้คนไปราว 1,170 ราย และจับตัวประกันไปประมาณ 250 คน คาดหมายว่าเวลานี้ยังเหลือตัวประกันอยู่ในกาซาอีก 129 คน แต่ในนั้น 34 คน สันนิษฐานว่าเสียชีวิตแล้ว

ที่มหาวิทยาลัยเซาเทิร์น แคลิฟอร์เนีย ในลอสแอนเจลิส ซึ่งมีผู้ประท้วงถูกจับกุมฐานบุกรุก 93 รายในวันพุธ (24 เม.ย.) พวกเจ้าหน้าที่เปิดเผยว่าได้ยกเลิกกิจกรรมพิธีสำเร็จการศึกษาในวันที่ 10 พฤษภาคม

ส่วนที่มหาวิทยาลัยเอเมอร์สัน ในบอสตัน สื่อมวลชนท้องถิ่นรายงานว่าได้มีการยกเลิกการเรียนการสอนในวันพฤหัสบดี (25 เม.ย.) หลังจากตำรวจปะทะกับผู้ประท้วงเมื่อคืนที่ผ่านมา รวมถึงเข้ารื้อถอนค่ายของผู้ชุมนุมฝักใฝ่ปาเลสไตน์และจับกุมผู้ประท้วงไปราว 108 คน

ในวอชิงตัน พวกนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ และมหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน จัดตั้งแคมป์ปักหลักชุมนุมเพื่อแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกัน ที่มหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตันในวันพฤหัสบดี (25 เม.ย.) โดยที่บรรดานักศึกษาของมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ยังมีแผนประท้วงไม่เข้าเรียนอีกด้วย

การประท้วงและการปักหลักชุมนุมยังผุดขึ้นที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก และมหาวิทยาลัยเยล แม้พบเห็นนักศึกษาหลายสิบคนถูกจับกุมไปเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ เช่นเดียวกับที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยบราวน์ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ มหาวิทยาลัยมิชิแกน และที่อื่น ๆ

เมื่อวันอาทิตย์ (21 เม.ย.) ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ประณามความเคลื่อนไหวต่อต้านยิวอย่างโจ่งแจ้ง โดยบอกสิ่งแบบนี้ไม่ควรมีที่ว่างตามมหาวิทยาลัยทั้งหลาย อย่างไรก็ตาม ทำเนียบขาวบอกเช่นกันว่าท่านประธานาธิบดีสนับสนุนเสรีภาพการแสดงออก ณ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ของสหรัฐฯ

143 ชาติโหวตหนุน ‘ปาเลสไตน์’ ได้รับสิทธิเพิ่มขึ้นในเวทียูเอ็น ย่างก้าวสำคัญสู่การพิจารณาให้สมาชิกภาพเต็มรูปแบบ

(11 พ.ค.67) ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) ลงมติด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นเพิ่มสิทธิพิเศษให้แก่ปาเลสไตน์ ในเวทียูเอ็นเมื่อวานนี้ (10 พ.ค.) ซึ่งถือเป็นย่างก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่การพิจารณาให้สมาชิกภาพเต็มรูปแบบ

กีลาด เออร์ดัน เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำยูเอ็น แสดงท่าทีไม่พอใจภายหลังการโหวตซึ่งมีผลในเชิงสัญลักษณ์ ขณะที่ ริยาด มันซูร์ เอกอัครราชทูตปาเลสไตน์ประจำยูเอ็น ชี้ว่านี่คือการลงมติครั้งประวัติศาสตร์

รัฐสมาชิกยูเอ็นจำนวน 143 ประเทศ รวมถึง 'ไทย' ได้ให้การรับรองมติดังกล่าว โดยมี 9 ประเทศคัดค้าน และอีก 25 ประเทศงดออกเสียง

มติดังกล่าวมีการระบุชัดเจนว่า ปาเลสไตน์จะไม่สามารถถูกเลือกเข้าเป็นสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น (UNSC) หรือลงคะแนนโหวตในที่ประชุม UNGA ได้ ทว่าจะมีสิทธิยื่นข้อเสนอและแก้ไขข้อเสนอได้โดยตรง โดยไม่จำเป็นต้องกระทำผ่านประเทศอื่น ๆ อย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้

มตินี้ยังให้สิทธิแก่ผู้แทนปาเลสไตน์ในการนั่งอยู่ท่ามกลางรัฐสมาชิกยูเอ็น โดยเรียงตามลำดับตัวอักษรด้วย

ริชาร์ด โกวาน นักวิเคราะห์จาก International Crisis Group ชี้ว่าความเคลื่อนไหวของยูเอ็นในครั้งนี้กำลังสร้างวงจรความล้มเหลวทางการทูต เพราะในขณะที่ UNGA เรียกร้องซ้ำแล้วซ้ำเล่าให้ UNSC รับรองสมาชิกภาพเต็มรูปแบบแก่ปาเลสไตน์ แต่ถูกสหรัฐฯ ใช้สิทธิวีโต ตีตกทุกครั้งอีกเหมือนกัน

อย่างไรก็ดี โกวาน ระบุว่า ผลโหวตในเชิงสัญลักษณ์นี้ มีความสำคัญ เพราะเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนไปยังสหรัฐฯ และอิสราเอลว่า ประชาคมโลกเล็งเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องผลักดันการก่อตั้งรัฐปาเลสไตน์อย่างจริงจังเสียที

ปาเลสไตน์ได้ยื่นคำร้องซ้ำในเดือน เม.ย. เพื่อขอเข้าเป็นรัฐสมาชิกยูเอ็นเต็มรูปแบบ จากปัจจุบันที่มีฐานะเป็นเพียง ‘รัฐผู้สังเกตการณ์ที่ไม่ใช่สมาชิก’ (nonmember observer state)

กระบวนการดังกล่าวจะสำเร็จได้ต้องได้รับไฟเขียวจากคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น รวมถึงได้เสียงสนับสนุนจากรัฐสมาชิก UNGA ถึง 2 ใน 3

อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ซึ่งเป็น 1 ใน 5 สมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคง และเป็นชาติพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดของอิสราเอล ได้ใช้สิทธิ ‘วีโต’ ความพยายามของปาเลสไตน์เมื่อวันที่ 18 เม.ย.

‘อิสราเอล’ เดือด!! ออกมาตรการโต้กลับ ประเทศที่หนุนตั้งรัฐปาเลสไตน์ ล่าสุดตอบโต้ทางการทูต ‘สเปน-นอร์เวย์-ไอร์แลนด์’

อิสราเอล ตอบโต้ประเทศที่สนับสนุนการตั้งรัฐปาเลสไตน์ ด้วยการเรียกตัวเอกอัครราชทูตของไอร์แลนด์, นอร์เวย์ และสเปน ประจำอิสราเอล เข้ารับทราบคำตำหนิ ขณะเดียวกัน ได้เรียกตัวเอกอัครราชทูตของอิสราเอล ที่ประจำการในกรุงดับลินของไอร์แลนด์, กรุงออสโลของนอร์เวย์ และกรุงมาดริดของสเปน เดินทางกลับประเทศทันที

(24 พ.ค.67) สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า กระทรวงการต่างประเทศอิสราเอล กำลังพิจารณาขั้นตอนทางการทูตเพิ่มเติม เช่น ยกเลิกการเยือนอิสราเอลของเจ้าหน้าที่จากประเทศเหล่านี้ และการเพิกถอนวีซ่า 

ขณะที่ทำเนียบขาวของสหรัฐฯ ระบุว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ เชื่อว่า เรื่องการจัดตั้งรัฐปาเลสไตน์ควรมีการเจรจาทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่การยอมรับฝ่ายเดียว 

สำหรับ รัฐบาลสเปน, นอร์เวย์ และไอร์แลนด์ ประกาศเตรียมรับรองสถานะ ‘รัฐปาเลสไตน์’ อย่างเป็นทางการในวันที่ 28 พฤษภาคมนี้ หลังจากรัฐบาลทั้งสามประเทศเห็นพ้องว่า การรับรองดังกล่าวเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการบรรลุสันติภาพที่ยั่งยืนในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะปัญหาอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ตาม ‘แนวทางสองรัฐ’ (Two-State Solution) 

เวลานี้มีรัฐสมาชิกของสหประชาชาติ (UN) มากกว่า 140 จาก 193 ประเทศทั่วโลกได้ประกาศรับรองสถานะนี้ให้กับปาเลสไตน์อย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศอาหรับและมุสลิมในตะวันออกกลาง ขณะที่ 3 ใน 5 ประเทศสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) อย่างสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส รวมถึงอีกหลายประเทศในสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และออสเตรเลีย ยังไม่ได้ประกาศรับรองสถานะ ‘การเป็นรัฐ’ ให้ปาเลสไตน์ 

‘ศาลโลก’ มีคำสั่งให้ ‘อิสราเอล’ ระงับปฏิบัติการโจมตีที่เมือง ‘ราฟาห์’ หลัง ‘แอฟริกาใต้’ ได้ยื่นฟ้องว่า เป็นการกระทำที่มีเจตนา ‘ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’

(25 พ.ค.67) คณะผู้พิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice - ICJ) หรือที่เรียกกันว่า 'ศาลโลก' มีคำสั่งวานนี้ (24 พ.ค.) ให้อิสราเอลต้องยุติปฏิบัติการโจมตีทางทหารที่เมืองราฟาห์ (Rafah) ทางตอนใต้ของฉนวนกาซาทันที ซึ่งถือเป็นคำตัดสินฉุกเฉินครั้งสำคัญหลังจากที่แอฟริกาใต้ยื่นฟ้องกล่าวหาอิสราเอลว่ามีเจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (genocide)

แม้ ICJ จะไม่มีกลไกในการบังคับใช้คำสั่งนี้ ทว่าคดีดังกล่าวก็สะท้อนให้เห็นว่าปฏิบัติการโจมตีกาซากำลังทำให้อิสราเอลถูกโดดเดี่ยวจากนานาชาติมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่กองทัพยิวเริ่มเคลื่อนพลเข้าสู่ราฟาห์ในเดือนนี้ โดยไม่สนใจแม้แต่เสียงเตือนจากพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดอย่างสหรัฐอเมริกา

นาวาฟ ซาลาม ประธานศาล ICJ ระบุในคำตัดสินว่า สถานการณ์ในฉนวนกาซา ‘เลวร้ายลง’ จากที่ศาลได้มีคำสั่งครั้งก่อนให้อิสราเอลต้องดำเนินการแก้ไขวิกฤตมนุษยธรรม และเงื่อนไขต่าง ๆ เข้าเกณฑ์ที่ศาลจะออกคำสั่งฉุกเฉินใหม่

“รัฐอิสราเอลจะต้องระงับทันทีซึ่งปฏิบัติการโจมตีทางทหาร และการกระทำอื่น ๆ ภายในเขตปกครองราฟาห์ที่อาจส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวปาเลสไตน์ในกาซา จนอาจนำมาซึ่งการทำลายล้างเชิงกายภาพ ไม่ว่าจะบางส่วนหรือทั้งหมด” ซาลาม กล่าว

ประธาน ICJ ยังชี้ด้วยว่า รัฐบาลอิสราเอลไม่เคยให้คำอธิบายที่ชัดเจนว่าจะปกป้องพลเรือนให้ปลอดภัยได้อย่างไรระหว่างการอพยพคนออกจากราฟาห์ รวมถึงการจัดส่งอาหาร น้ำดื่ม ระบบสุขาภิบาล และยารักษาโรคให้แก่ชาวปาเลสไตน์ 800,000 คนที่ได้อพยพหนีกองทัพอิสราเอลไปแล้วก่อนหน้า

ICJ ยังสั่งให้อิสราเอลเปิดด่านพรมแดนราฟาห์ที่เชื่อมอียิปต์กับกาซาเพื่อให้มีการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าไปได้ นอกจากนี้ ยังต้องเปิดทางให้คณะผู้ตรวจสอบ และรายงานความคืบหน้าให้ศาลทราบภายใน 1 เดือน

คำสั่งนี้ผ่านความเห็นชอบจากคณะผู้พิพากษา 15 คนด้วยคะแนน 13 ต่อ 2 เสียง โดยผู้ที่คัดค้านมีเพียงผู้พิพากษาจากยูกันดาและอิสราเอลเองเท่านั้น

แอฟริกาใต้ออกมายกย่องคำสั่งศาล ICJ ว่าเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ (groundbreaking) ขณะที่โฆษกทำเนียบขาวระบุว่า สหรัฐฯ มีความชัดเจนในจุดยืนเกี่ยวกับราฟาห์มาโดยตลอด

องค์การบริหารแห่งชาติปาเลสไตน์ (Palestinian Authority) แถลงชื่นชมคำสั่ง ICJ ว่าเป็นการสะท้อนมติของประชาคมโลกว่าสงครามกาซาควรยุติลงได้แล้ว ขณะที่ นาบิล อบู รูไดเนห์ โฆษกของประธานาธิบดี มะห์มูด อับบาส ยังติงว่าคำสั่งนี้ ‘ไม่เพียงพอ’ เพราะไม่ได้เรียกร้องให้มีการหยุดสู้รบในภูมิภาคอื่น ๆ ของกาซาด้วย

ด้าน บาเซม นาอิม เจ้าหน้าที่ระดับสูงของฮามาส ให้สัมภาษณ์ผ่านรอยเตอร์ว่า เราขอให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาตินำคำสั่งของ ICJ ไปปฏิบัติให้เกิดผลจริงทันที เพื่อบีบให้พวกศัตรูไซออนิสต์ต้องปฏิบัติตามด้วย

รัฐบาลอิสราเอลออกมาตอบโต้คำสั่งของ ICJ ด้วยท่าทีกราดเกรี้ยว โดย บาซาเลล สโมตริช รัฐมนตรีกระทรวงการคลังหัวขวาจัด ชี้ว่าใครก็ตามที่เรียกร้องให้อิสราเอลยุติสงครามครั้งนี้ ก็เท่ากับบอกให้อิสราเอลยุติการดำรงอยู่ ซึ่งอิสราเอลไม่มีวันยอม

ยาอีร์ ลาพิด ผู้นำฝ่ายค้านอิสราเอล ชี้ว่าคำสั่ง ICJ ถือเป็นการล่มสลายและหายนะทางศีลธรรม เพราะไม่ได้เชื่อมโยงข้อเรียกร้องยุติการสู้รบเข้ากับการปลดปล่อยตัวประกันในกาซา

ICJ ซึ่งมีฐานอยู่ที่กรุงเฮกถือเป็นองค์กรสูงสุดของสหประชาชาติที่ทำหน้าที่ไต่สวนข้อพิพาทระหว่างรัฐ คำพิพากษาของ ICJ ถือเป็นที่สุดและมีผลผูกพันตามกฎหมาย ทว่าที่ผ่านมาเคยถูกเพิกเฉยมาแล้วหลายครั้ง เนื่องจากศาลไม่มีกลไกที่จะบังคับให้เกิดผลตามคำสั่งได้

‘ปาเลสไตน์’ ประณาม ‘อิสราเอล’ หลังถล่มค่ายผู้ลี้ภัยในกาซา สังหารพลเรือนบริสุทธิ์ 274 ราย เพื่อช่วยเหลือ 4 ตัวประกัน

กองทัพอิสราเอลถล่มค่ายผู้ลี้ภัยใหญ่ตอนกลางกาซา ระบุช่วยตัวประกันออกมาได้ 4 คน ขณะที่เจ้าหน้าที่ปาเลสไตน์ระบุในวันอาทิตย์ (9 มิ.ย.67) การโจมตีดังกล่าวทำให้พลเรือนเสียชีวิตอย่างน้อย 274 คน และบาดเจ็บอีกเกือบ 700 ซึ่งถือเป็นการโจมตีนองเลือดที่สุดอีกครั้งในสงครามที่ยืดเยื้อมาถึง 8 เดือน

เมื่อวานนี้ (9 มิ.ย.67) การปฏิบัติการช่วยเหลือตัวประกันดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันเสาร์ (8 มิ.ย.67) ในค่ายผู้ลี้ภัยนูเซรัต ตอนกลางของกาซา โดยพลเรือตรีแดเนียล ฮาการี โฆษกกองทัพอิสราเอลอ้างว่า กองทหารรัฐยิวได้เข้าโจมตีกลางย่านที่พักอาศัยซึ่งกลุ่มฮามาสใช้เป็นที่กักขังตัวประกันไว้ในอพาร์ตเมนต์สองหลัง แต่ถูกระดมยิงอย่างหนักจึงตอบโต้ด้วยการโจมตีทางอากาศและจากภาคพื้นดิน ก่อนสำทับว่า กองทัพรับรู้ว่า มีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตไม่ถึง 100 คน แต่ไม่รู้ว่าในจำนวนดังกล่าวเป็นผู้ก่อการร้ายกี่คน

ด้าน อิสราเอล ยังบอกว่า ตัวประกันที่ช่วยออกมาได้ทั้ง 4 คน ได้แก่ โนอา อาร์กามานี วัย 26 ปี, อัลม็อก เมร์ แจน วัย 22 ปี, แอนเดรย์ คอสลอฟ วัย 27 ปี และชโลมี ซิฟ วัย 41 ปี มีสุขภาพดีและถูกนำตัวไปโรงพยาบาล โดยทั้งหมดนี้ถูกจับจากเทศกาลดนตรีโนวาระหว่างที่นักรบฮามาสบุกเข้าโจมตีอิสราเอลครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 1,200 คน อีก 250 คนถูกจับเป็นตัวประกัน และจุดชนวนสงครามในกาซาที่ยืดเยื้อมาจนถึงขณะนี้

ปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลเพื่อตอบโต้และกำจัดฮามาสทำให้มีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตอย่างน้อย 36,801 คนแล้ว

ทางด้านอาบู อูไบดา โฆษกของกองกำลังอาวุธอัล-กัสซัม ซึ่งเป็นกองกำลังของฮามาส อ้างว่า ตัวประกันบางคนเสียชีวิตระหว่างปฏิบัติการของอิสราเอล

ทว่า ปีเตอร์ เลอร์เนอร์ โฆษกกองทัพอิสราเอลอีกคน ตอบโต้ว่า ฮามาสโกหก

เมื่อถูกสอบถามเกี่ยวกับรายงานข่าวที่ว่า หน่วยข่าวกรองของอเมริกาให้การสนับสนุนปฏิบัติการช่วยตัวประกันครั้งนี้ เลอร์เนอร์แบ่งรับแบ่งสู้ว่า อิสราเอลและอเมริกามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดในด้านปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับข่าวกรอง

ทางด้านประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของอเมริกาที่อยู่ระหว่างการเยือนฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ แสดงความยินดีกับการช่วยเหลือตัวประกันในกาซา และย้ำว่า วอชิงตันจะไม่ยุติความพยายามจนกว่าตัวประกันทั้งหมดจะกลับบ้านอย่างปลอดภัย และทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลงหยุดยิง

ทว่า บรรยากาศในกาซากลับตรงกันข้าม เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขปาเลสไตน์และหน่วยแพทย์ท้องถิ่นเผยว่า การโจมตีของอิสราเอลในค่ายนูเซรัตทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

ทั้งนี้ ในวันอาทิตย์ (9 มิ.ย.) กระทรวงสาธารณสุขของกาซา ซึ่งอยู่ในความควบคุมของกลุ่มฮามาส แถลงว่า ในจำนวนผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 274 คนจากการบุกโจมตีล่าสุดของอิสราเอลนี้ เป็นเด็ก 64 คน และผู้หญิง 57 คน ขณะที่ในหมู่ผู้ได้รับบาดเจ็บเกือบ ๆ 700 คน ที่เป็นเด็กมี 153 คน และผู้หญิง 161 คน

เจ้าหน้าที่ทีมแพทย์ฉุกเฉินคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในนูเซรัตระบุว่า เป็นการสังหารหมู่อย่างแท้จริง โดยโดรนและเครื่องบินรบอิสราเอลซุ่มโจมตีบ้านประชาชนและคนที่พยายามหนีออกจากบริเวณดังกล่าวตลอดทั้งคืน

เขายังบอกอีกว่า การโจมตีทางอากาศพุ่งเป้าที่ตลาดท้องถิ่นและมัสยิดอัล-ออดา และสำทับว่า อิสราเอลสังหารพลเรือนบริสุทธิ์นับสิบเพื่อช่วยตัวประกัน 4 คน

ค่ายผู้ลี้ภัยนูเซรัต ที่ตั้งอยู่นอกเมืองเดอีร์ อัล-บาลาห์ ตกเป็นเป้าหมายการโจมตีทางอากาศอย่างหนักของอิสราเอลระหว่างสงคราม นอกจากนี้กองทหารอิสราเอลยังยกกำลังบุกภาคพื้นดินเข้าโจมตีทางด้านตะวันออกของค่ายผู้ลี้ภัยแห่งนี้ ไม่เพียงเท่านั้น หน่วยแพทย์ปาเลสไตน์เผยว่า อิสราเอลยังโจมตีทางอากาศใส่ค่ายผู้ลี้ภัยอัล-บูเรจ ซึ่งอยู่ทางตอนกลางกาซาเช่นกันเมื่อคืนวันเสาร์ ทำให้มีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิต 5 คน

ขณะเดียวกัน แม้ข่าวการช่วยตัวประกันล่าสุดสร้างความยินดีให้กับชาวอิสราเอล แต่ยังมีความกังวลเกี่ยวกับชะตากรรมของตัวประกันที่เหลืออยู่ ทำให้ผู้คนนับพันไปชุมนุมกันที่กรุงเทลอาวีฟเพื่อเรียกร้องให้ยุติสงครามในกาซา เนื่องจากเชื่อว่า ปฏิบัติการทางทหารไม่สามารถช่วยเหลือตัวประกันทั้งหมดออกมาได้

นอกจากนั้นยังมีการชุมนุมในลอนดอนเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา เรียกร้องให้ยุติสงครามในกาซา

วันเดียวกันนั้น ที่สหรัฐฯ ผู้ประท้วงต่อต้านสงครามกาซานับพันชุมนุมใกล้ทำเนียบขาว ในกรุงวอชิงตัน โดยส่วนใหญ่สวมเสื้อสีแดง ชูธงปาเลสไตน์และป้ายที่มีข้อความว่า “เส้นแดงของไบเดนคือคำโกหก” และ “การทิ้งระเบิดใส่เด็กไม่ใช่การป้องกันตัว”

ทั้งนี้ ไบเดนกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก หลังจากทำเนียบขาวเคยแถลงเมื่อเดือนที่แล้วว่า การโจมตีของอิสราเอลในเมืองราฟาห์ ยังไม่ได้ข้าม ‘เส้นแดง’ ที่ไบเดนระบุไว้เมื่อสองเดือนก่อนหน้านั้นตอนที่ถูกผู้สื่อข่าวถามเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่อิสราเอลจะบุกเมืองดังกล่าว โดยที่เขาบอกว่าหากมีการข้ามเส้นแดง สหรัฐฯก็จะพิจารณางดส่งอาวุธให้อิสราเอล

‘เนทันยาฮู’ ลั่น!! ‘อิสราเอล’ จะไม่ยุติสงครามจนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย ย้ำ!! จะโจมตีฉนวนกาซาต่อไปจนกว่า ‘กลุ่มฮามาส’ จะถูกกวาดล้าง

(2 ก.ค. 67) รอยเตอร์ส/อัลจาซีรา รายงาน นายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู แถลงต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอิสราเอลประจำสัปดาห์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 มิ.ย. ว่า กองทัพอิสราเอลยังคงปฏิบัติการทั้งในเมืองราฟาห์ เชไจยา และทุกที่ในฉนวนกาซามีนักรบและผู้ก่อการร้ายถูกสังหารทุกวันเป็นสงครามที่ยากลำบาก ทหารต้องรับมือทั้งการรบระยะประชิดและการถูกซุ่มโจมตีทั้งบนพื้นดินและใต้ดิน แต่ยืนยันว่า อิสราเอลจะไม่หยุดทำสงครามในฉนวนกาซา จนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย คือการกวาดล้างและคว้าชัยชนะเหนือกลุ่มฮามาส

ทั้งนี้ กองทัพอิสราเอลยังคงเดินหน้าส่งทั้งรถถังและกำลังพลประชิดเข้าไปลึกในย่านเชไจยา ทางตอนเหนือของฉนวนกาซาและรุกกดดันพื้นที่ทางตะวันออกและตอนกลางของเมืองราฟาห์ ทางตอนใต้ของกาซาในช่วงสุดสัปดาห์นี้ มีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตจากการโจมตี 6 นาย บ้านเรือนหลายหลังเสียหาย นอกจากนี้ยังมีการยิงปะทะดุเดือดกับนักรบทั้งของกลุ่มฮามาสและอิสลามิกจีฮัด ในย่านทางตอนเหนือของกาซาและในเมืองราฟาห์ นักรบของทั้ง 2 กลุ่มได้ยิงจรวดต่อต้านรถถังและลูกกระสุนปืน ค. เพื่อต่อต้านกองกำลังอิสราเอล

ขณะที่นับตั้งแต่เริ่มเกิดสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา เมื่อ7 ตุลาคมปีที่แล้ว มีชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาเสียชีวิตจากการโจมตีของอิสราเอลแล้ว37,834 ศพแล้ว บาดเจ็บอีกกว่า 86,800 คนส่วนเมื่อวันเสาร์ที่ 29 มิ.ย. มีทหารอิสราเอลเสียชีวิตเพิ่ม 2 นาย ระหว่างปฏิบัติการทางทหารในย่านเชไจยา ส่งผลให้จนถึงขณะนี้ มีทหารอิสราเอลเสียชีวิตจากสงครามในฉนวนกาซาแล้วอย่างน้อย 670 นาย

ในอีกด้านหนึ่ง โอซามา ฮัมดาน เจ้าหน้าที่ระดับสูงของฮามาส แถลงที่กรุงเบรุตของเลบานอนว่า ไม่มีความคืบหน้าในการเจรจาข้อตกลงหยุดยิงในฉนวนกาซากับอิสราเอล อย่างไรก็ดี กลุ่มฮามาสยังคงพร้อมดำเนินการในเชิงสร้างสรรค์กับทุกข้อเสนอที่จะนำไปสู่การทำข้อตกลงหยุดยิงถาวร การถอนทหารอิสราเอลทั้งหมดออกจากฉนวนกาซาและการมีข้อตกลงแลกเปลี่ยนตัวประกันในกาซากับชาวปาเลสไตน์ที่ถูกคุมขังในเรือนจำอิสราเอลอย่างจริงจัง เจ้าหน้าที่ฮามาสยังได้กล่าวโทษสหรัฐฯ ว่า กดดันให้ฮามาสยอมรับเงื่อนไขของอิสราเอลโดยไม่ต้องปรับแก้ไข ซึ่งกลุ่มฮามาสไม่เห็นด้วย

ด้านชาติอาหรับ ทั้งอียิปต์และกาตาร์ ที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยพยายามที่จะทำให้เกิดการหยุดยิง แต่ยังคงไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้จนถึงขณะนี้ ฮามาสยืนยันว่า ข้อตกลงใด ๆ ก็ตามจะต้องยุติสงคราม ถอนทหารอิสราเอลทั้งหมดออกจากกาซา ขณะที่อิสราเอลยืนยันว่า จะยอมรับการพักรบต่อเมื่อกลุ่มฮามาสที่ปกครองกาซามาตั้งแต่ปี 2550 ถูกกำจัด

‘กองทัพยิว’ ถล่มโรงเรียนในกาซาแห่งที่ 4 คร่าชีวิตเฉียด!! 30 ราย ด้านกลุ่มผู้เชี่ยวชาญแห่ประณาม จงใจก่อความรุนแรงฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

(11 ก.ค.67) กองทัพอิสราเอลระดมโจมตีทั้งตอนเหนือและตอนกลางของกาซาในวันพุธ (10 ก.ค.) ไม่กี่ชั่วโมง หลังจากโจมตีทางอากาศต่อโรงเรียนแห่งหนึ่งใกล้เมืองข่านยูนิสทางใต้ของกาซา ที่มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 29 คน นับเป็นครั้งที่ 4 ในรอบ 4 วัน ที่อาคารโรงเรียนที่ใช้เป็นที่หลบภัยถูกโจมตี ขณะที่กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนอิสระของยูเอ็นกล่าวหายิว ‘ดำเนินการเพื่อให้เกิดความอดอยากแบบกำหนดเป้าหมาย’ และ ‘ก่อความรุนแรงที่เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’

รายงานระบุว่า กองทัพอิสราเอลโปรยใบปลิวแจ้งให้พลเรือนทั้งหมดอพยพออกจากกาซาซิตี้ พร้อมแผนที่เส้นทางปลอดภัยบนถนน 2 สายมุ่งลงใต้สู่ตอนกลางของฉนวนกาซา

ด้านฮามาสระบุว่า ปฏิบัติการของอิสราเอลในวันอังคาร (9 ก.ค.) ทำให้ชาวปาเลสไตน์กว่า 60 คนเสียชีวิต และบ่อนทำลายความพยายามในการผลักดันข้อตกลงหยุดยิงที่มีการฟื้นการเจรจาอีกครั้งในวันพุธที่โดฮา

ทั้งนี้ รายงานระบุว่า ฮามาสส่งสัญญาณว่า พร้อมยกเลิกการเรียกร้องให้หยุดยิงโดยสมบูรณ์ในเงื่อนไขสำหรับการเริ่มต้นการเจรจาที่มีกาตาร์และอียิปต์เป็นตัวกลาง และสหรัฐฯ ให้การสนับสนุน

ทว่า ทางด้านสำนักนายกรัฐมนตรีอิสราเอลกลับกำหนดเงื่อนไขที่รวมถึงการเปิดทางให้อิสราเอลสู้รบต่อหลังการหยุดยิงจนกว่าจะบรรลุเป้าหมายของสงคราม

เจ้าหน้าที่แพทย์ปาเลสไตน์ระบุว่า การโจมตีทางอากาศต่อค่ายผู้หลบภัยในโรงเรียนแห่งหนึ่งในย่านอาบาสซาน ทางตะวันออกของเมืองข่านยูนิส ในกาซาตอนใต้เมื่อวันอังคาร ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 29 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 4 ในรอบ 4 วันที่อาคารโรงเรียนที่ใช้เป็นที่หลบภัยถูกโจมตี

ทางด้านกองทัพอิสราเอลแถลงว่า กำลังตรวจสอบรายงานที่ว่า มีพลเรือนได้รับอันตราย พร้อมระบุว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างการใช้กระสุนที่แม่นยำ โจมตีนักรบฮามาสคนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการบุกอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค. ซึ่งเป็นชนวนเหตุของสงครามกาซาในขณะนี้

ขณะเดียวกัน สมาคมเสี้ยววงเดือนแดงปาเลสไตน์เผยว่า ได้รับการติดต่อขอความช่วยเหลือจากประชาชนที่ติดอยู่ในกาซาซิตี้ แต่ไม่สามารถเข้าไปช่วยได้เนื่องจากมีการระดมทิ้งระเบิดอย่างหนักหน่วง และกองทัพอิสราเอลยังคงโจมตีเขตที่อยู่อาศัย ทำให้พลเรือนต้องหนีจากบ้านและที่หลบภัย

ที่ค่ายนูเซรัต ตอนกลางกาซา หน่วยแพทย์เผยว่า ชาวปาเลสไตน์ 6 คนที่รวมถึงเด็กเสียชีวิตจากการโจมตีทางอากาศต่อบ้านหลังหนึ่งเมื่อรุ่งเช้าวันพุธ และการโจมตีทางอากาศอีกระลอกมีผู้เสียชีวิต 2 คน และบาดเจ็บอีกหลายคนในข่านยูนิส

สหประชาชาติระบุว่า พลเรือนหลายแสนคนได้รับผลกระทบจากการระดมโจมตีนับจากอิสราเอลออกคำสั่งอพยพออกจากกาซาซิตี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 เดือนที่แล้ว

ฟิลิปเป ลาซซารินี ข้าหลวงใหญ่หน่วยงานผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์ของยูเอ็น หรือ UNRWA แถลงว่า ขณะนี้มีพลเรือนราว 35,000 คนต้องออกเดินทางอีกครั้ง โดยที่ไม่มีที่ใดในกาซาที่ปลอดภัยอีกต่อไป

สำนักงานสิทธิมนุษยชนของยูเอ็นสำทับว่า ‘ตกใจ’ กับการที่พลเรือนที่ต้องอพยพโยกย้ายกันมาหลายครั้ง ได้รับคำสั่งให้มุ่งหน้าไปยังบริเวณที่ยังมีปฏิบัติการทางทหารต่อเนื่องและมีพลเรือนล้มตายตลอดเวลา

ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนอิสระของยูเอ็นจำนวน 10 คน กล่าวหาอิสราเอล ‘ดำเนินการเพื่อให้เกิดความอดอยากแบบกำหนดเป้าหมาย’ ที่ส่งผลให้เด็กในกาซาเสียชีวิตและ ‘ก่อความรุนแรงที่เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’

กลุ่มผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวแจงว่า นับจากวันที่ 7 ต.ค.มีชาวปาเลสไตน์ 34 คน ส่วนใหญ่เป็นเด็ก เสียชีวิตจากความอดอยาก

ทว่า คณะทูตของอิสราเอลในยูเอ็นที่เจนีวา กล่าวหาผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้นเผยแพร่ข้อมูลเท็จและสนับสนุนการโฆษณาชวนเชื่อของฮามาส

นอกจากนั้น สงครามที่ดำเนินมากว่า 9 เดือนส่งผลให้โรงพยาบาลมากมายในกาซาต้องปิดตัวลง โดยในวันอังคาร สมาคมเสี้ยววงเดือนแดงปาเลสไตน์แถลงว่า โรงพยาบาลทั้งหมดในกาซาซิตี้ยุติการให้บริการโดยสิ้นเชิง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top