Monday, 19 May 2025
น้ำท่วม

ศิษย์เก่า-ปัจจุบัน อุเทนถวาย เกือบ 100 ชีวิต ยกพลขึ้นเชียงราย ช่วยเหลือชาวบ้าน  

อดีตไม่สำคัญ ปัจจุบันขอเป็นพลังอาสาฟื้นฟูชุมชนหลังน้ำท่วมใหญ่ ศิษย์เก่า-ปัจจุบัน อุเทนถวาย เกือบ 100 ชีวิต ยกพลขึ้นเชียงราย ช่วยเหลือชาวบ้าน เยาวชนจากศูนย์ฝึกบ้านกาญจนาภิเษก กว่า 20 ชีวิต เดินทางมาร่วมกับมูลนิธิกระจกเงา ลงพื้นที่ฟื้นฟู ตักโคลนล้างบ้าน ด้านนายวิศาล ประธาน กมธ.วิสามัญ พรบ.คุมเหล้า ลงพื้นที่ให้กำลังใจ พร้อมหนุนเสริมภารกิจเยาวชนช่วยชาวเชียงรายสู้ภัยพิบัติ

เมื่อวันที่ (29 ก.ย.67) ที่ผ่านมานายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คณะกรรมาธิการฯ ซึ่งเดินทางมาศึกษาดูงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่จังหวัดเชียงราย และเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ (27-29 กย.) ได้เดินทางมอบถุงยังชีพให้กับประชาชน ผู้ประสบภัยในพื้นที่ และได้เดินทางไปมาเยี่ยมให้กำลังใจนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก เขตพื้นที่อุเทนถวาย และศิษย์เก่า ที่ประจำการอยู่ที่สนามกีฬากลาง อบจ.เชียงราย ได้ร่วมสนับสนุนเงินและสิ่งของกับโครงการ 'หมดตัวไม่หมดใจ เพราะยังมีอีจัน' และหลังจากนั้นกรรมาธิการฯได้เดินทางไปยังบ้านเกาะลอย อ.เมือง จ.เชียงราย 

เพื่อพบปะกับนักศึกษาอุเทนถวายที่ทำงานกันอยู่ในพื้นที่ ได้มอบอาหารให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วม และทานข้าวกับน้อง ๆ นักศึกษา “ในฐานะที่เป็นคนเชียงราย ต้องขอบคุณน้อง ๆ ชาวอุเทนถวายและรุ่นพี่ทุกคน ที่เดินทางไกลเข้ามาช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบกับความทุกข์ยากในเวลานี้ ทราบมาว่าในแต่ละวันทุกคนมีภารกิจที่หนักหน่วงกันมาก ทั้งที่จุดจัดการของบริจาคร่วมกับเพจอีจัน และในพื้นที่ประสบภัย ทำงานกันชนิดแทบไม่ได้พัก ได้เห็นภาพที่น้อง ๆ นอนพักกลางวันทั้งที่เนื้อตัวยังเต็มไปด้วยโคลนแล้ว ยังต้องลุกขึ้นมาทำงานต่อ ยิ่งรู้สึกเห็นใจและชื่นชมในความเป็นนักสู้ของทุกคน หากต้องการความช่วยเหลือให้ประสานงานมาได้ตลอด” นายวิศาล กล่าว  

นายเตชาติ์ มีชัย ประธานมูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัวมกล่าวว่า ท่ามกลางความโกลาหลหลังเกิดภัยพิบัติฝนตกถล่มเชียงรายในหลายพื้นที่ ตั้งแต่วันที่ 9-14 กันยายนที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตนับสิบราย บ้านเรือนเสียหายมากกว่าห้าหมื่นครัวเรือน หลายหน่วยงานเร่งเข้าให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟูความเสียหายที่มาพร้อมกับความรุนแรงของกระแสน้ำและดินโคลนจำนวนมหาศาล กลุ่มคนเล็กๆสองกลุ่มที่เข้าพื้นที่มาปฏิบัติภารกิจอย่างเงียบ ๆ และสม่ำเสมอ เรียกได้ว่าสายตัวแทบจะขาดในแต่ละวัน กลุ่มแรกพวกเขาคือคนหนุ่มสาวชาวอุเทนถวาย ที่ในอดีตมักถูกสังคมตัดสินตีตรา ในนามเด็กอาชีวะที่มักจะมีข่าวทะเลาะวิวาทต่างสถาบัน แต่วันนี้พวกเขาทั้งรุ่นพี่รุ่นน้อง และศิษย์เก่าเกือบ 100 ชีวิต พร้อมใจกันมาทุ่มเทแรงกายแรงใจเข้ามาฟื้นฟูพื้นที่น้ำท่วมเชียงราย แม้จะรู้ว่าต้องมาเจองานที่ยากและหนักยิ่งก็เต็มใจที่จะมา และอีกกลุ่มคือเยาวชนจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก กว่า 20 คน พร้อมเจ้าหน้าที่ ก็เดินทางเข้าพื้นที่ด้วยเช่นกัน  

ซึ่งเป็นภารกิจที่ถูกจัดขึ้นแทบทุกครั้งที่มีภัยพิบัติครั้งใหญ่ ๆในประเทศ เช่น กรณี คลื่นยักษ์สึนามิที่พังงา ดินถล่มที่ลับแล เป็นต้น โดยเป็นการตัดสินใจร่วมกันของเยาวชนในศูนย์ฝึกแห่งนี้ ซึ่งทุกคนต้องการใช้พลังกายพลังใจตอบแทนคืนสู่สังคมในยามที่ยากลำบากแบบนี้ มูลนิธิฯเป็นเพียงลมใต้ปีกผู้ที่คอยสนับสนุนภารกิจของทั้งสองกลุ่มนี้ให้ลุล่วง และพยายามระดมทรัพยากรช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้  

นายศุภชัย ลิ้มพิพัฒนโสภณ นายกสมาคมศิษย์เก่าอุเทนถวาย กล่าวว่า ช่วงมีข่าวน้ำท่วมหนักที่เชียงราย พวกเรารุ่นพี่รุ่นน้องอุเทนถวาย ได้จัดทำโครงการอาสารวมน้ำใจคนไทย กู้วิกฤตภัยน้ำท่วมที่จังหวัดเชียงราย โดยเบื้องต้นระดมเงินจากรุ่นพี่ ๆ หน่วยงานห้างร้าน องค์กรเครือข่ายเพื่อสนับสนุนภารกิจช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟูพื้นที่น้ำท่วม โคลนถล่มในจังหวัดเชียงราย เราเดินทางเข้าพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน แบ่งภารกิจเป็นสองส่วนคือส่วนแรกประจำการที่สนามกีฬากลาง อบจ.เชียงราย สนับสนุนภารกิจจัดการกับของบริจาค ในโครงการ 'หมดตัวไม่หมดใจ เพราะยังมีอีจัน' ที่จะส่งมอบอุปกรณ์ของใช้จำเป็นให้บ้านที่ได้รับผลกระทบหนัก ช่วยเหลือตัวเองได้ยากลำบาก เช่น 

ที่นอน หม้อหุงข้าว เตาแก๊ส ฯลฯ ส่วนที่สองจะเข้าไปในพื้นที่ที่น้ำท่วมโคลนถล่ม ไปช่วยตักโคลน ล้างบ้าน ทำความสะอาดบ้าน อุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ ให้มีสภาพพร้อมใช้งาน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เราได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานในพื้นที่เป็นอย่างดีทำให้ภารกิจที่วางไว้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี  

ด้านนายอนนทกรณ์ นาดี นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก เขตพื้นที่อุเทนถวาย กล่าวว่า รู้สึกมีความสุขที่ได้ช่วยเหลือคนที่ยากลำบาก พวกเขาลำบากเราก็เห็นใจ พวกเราทุกคนมีความสุขได้รับการต้อนรับจากคนในพื้นที่เหมือนลูกเหมือนหลาน น้อง ๆ ที่มาช่วยก็เต็มใจมา รู้สึกดี  เห็นแววตาที่ชาวบ้านมองเราอย่างเอ็นดู อยากชักชวนเพื่อนคนนักเรียนนักศึกษามาใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ มาช่วยเหลือชาวบ้านในยามที่ทุกคนกำลังแย่ ผมคิดว่าการมีกิจกรรมแบบนี้ เป็นเรื่องที่ดีจะเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาและน้อง ๆ ที่มาร่วมด้วย แม้ว่าเราจะเหนื่อย หนัก และได้พักผ่อนน้อย แต่เราก็มีความสุขทุกครั้งที่ออกไปทำงาน เวลาที่ได้ยินเสียงขอบคุณ แววตาของความเมตตาจากชาวบ้านที่มองเรา การโอบกอดเราอย่างลูกหลานคือพลังใจที่เราได้กลับมา

ด้านนายเอ นามสมมุติ เยาวชนจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย)บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า พวกเราเดินทางมาเชียงรายด้วยความสมัครใจ กว่า 20 ชีวิต และยังมีเพื่อนอีกจำนวนหนึ่งอยู่ที่บ้านกาญ คอยไปเป็นอาสาสมัครช่วยจัดการของบริจาคของมูลนิธิกระจกเงาที่กรุงเทพ ตามที่ได้รับแจ้งภารกิจมา ก่อนการตัดสินใจทำภารกิจในครั้งนี้ ป้ามล ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกฯบ้านกาญจนาภิเษก ได้เปิดโอกาสให้พวกเราได้พูดคุยกัน หาข้อมูล ตัดสินใจร่วมกันว่าจะไปช่วยชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมในพื้นที่เชียงราย ส่วนคนที่ไม่ได้ไปจะต้องพร้อมสแตนบายสำหรับภารกิจอาสาที่กรุงเทพ เราได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือ จากพี่ๆที่เคยเป็นศิษย์เก่าบ้านกาญ มูลนิชนะใจ มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว และเครือข่ายที่เป็นกัลยาณมิตรกับบ้านกาญจนา พวกเรารู้ดีว่าการมาในครั้งนี้ต้องเจองานใหญ่แน่นอน  

ซึ่งในความจริงที่มาก็เจองานหนักจริง ๆ ในแต่ละวันการเข้าพื้นที่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย งานตักโคลน ล้างบ้าน ทำความสะอาดทุกอย่าง ต้องใช้พลังกายพลังใจอย่างมาก มีเวลาพักน้อยต้องทำงานแข่งกับเวลา แต่สิ่งที่ตอบแทนกลับมามันมีคุณค่ามากๆสำหรับพวกเราคือรอยยิ้ม คำขอบคุณและความเมตตาของลุงป้าน้าอา ที่เราเข้าไปช่วย เหมือนกับพวกเราเป็นลูกหลานจริง ๆ หลายๆบ้านคุณตาคุณยายร้องไห้บอกให้เราแวะมาเยี่ยมด้วยนะถ้ามีโอกาส เรารู้สึกได้เลยว่านี่คุณค่า คือความหมายที่พวกเราตามหามานาน  และไม่เสียใจเลยที่ตัดสินใจมาที่นี่แม้จะเหน็ดเหนื่อยเพียงใดก็ตาม

'สอ.รฝ.' ส่ง 'กำลังพล' เสริมเข้าช่วยประชาชน ผู้ประสบภัยน้ำท่วมพื้นที่ 'จังหวัดเชียงราย'

(4 ต.ค.67) ที่หน้ากองบัญชาการหน่วยบัญชาการต่ออากาศยานและรักษาฝั่ง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี พลเรือตรี เอตม์ ยุวนางกูร  ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง มอบหมายให้ 'นาวาเอก วิรัตน์ ก้อนทอง' เสนาธิการ หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง มาเป็นประธานในพิธีส่งกำลังพล ชุดเสริม ในภารกิจ ฟื้นฟูช่วยเหลือ ประชาชนผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วม ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย โดยมี คณะผู้บังคับบัญชา นายทหาร ร่วมส่งกำลังพล

โดย นาวาเอก วิรัตน์ ก้อนทอง กล่าวให้โอวาทกำลังพล ชุดเสริมภารกิจ ทั้ง 75 นาย เน้นย้ำ ให้กำลังพลทุกนาย เข้าช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วม อย่างเต็มกำลังความสามารถ มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีต่อประชาชน และระมัดระวังเรื่องความปลอดภัย ตนเองด้วย ขอกำลังให้กำลังพลทุกนายที่ปฏิบัติภารกิจในครั้งนี้ เดินทางถึงพื่นที่ จังหวัดเชียงราย อย่างปลอดภัย 

‘ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง’ ร่ายบันทึกความทรงจำอย่างละเอียด หวังไม่ให้เกิดเหตุร้ายซ้ำรอย กับสัตว์ประจำชาติอย่าง ‘ช้างไทย’

(6 ต.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ‘ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง The Thai Elephant Conservation Center Lampang’ ได้โพสต์เฟซบุ๊กถึงเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นกับช้างไทย ว่า 

บันทึกเตือนความจำ
ภัยธรรมชาติที่เกิดจากภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงสุดขั้วนำมาซึ่งปริมาณน้ำฝนที่ไหลหลั่งลงสู่แหล่งน้ำ จำนวนมหาศาล ไหลบ่าจากป่าสู่เมืองในที่ลุ่มต่ำ ในทางกลับกันเชื่อแน่ว่าไม่ช้าก็เร็วเราน่าจะเจอกับเหตุการณ์ในขั้วตรงกันข้ามคือแล้ง ร้อนสุดโต่งแน่

กันยายนต่อเนื่องถึงตุลาคม ฝนตกต่อเนื่องจนเกิดมวลน้ำจำนวนมหาศาลจากต้นน้ำแม่แตง ไหลเข้าสู่ลำน้ำแม่แตง สายน้ำแห่งการท่องเที่ยวธรรมชาติของเชียงใหม่ ที่ตลอดสองข้างลำน้ำมีแหล่งท่องเที่ยวจำนวนมาก รวมทั้งปางช้างต่างๆเรียงรายตลอดลำน้ำแม่แตง ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาจากรายงานของสถาบันคชบาลแห่งชาติ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (2558-2567) พบว่ามีปางช้างถึง 49 ปาง (ช้างจำนวน 546 เชือก) 

เหตุระทึกเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่บ่ายวันพฤหัสที่ 3 ตุลาคม 2567 มวลน้ำจำนวนมากไหลบ่าล้นตลิ่งทั้งสองฝั่งของลำน้ำแม่แตงอย่างรวดเร็ว ต่อเนื่องจนถึงเช้ามืดวันศุกร์ น้ำเพิ่มระดับอย่างรวดเร็ว ช้างส่วนใหญ่ถูกอพยพนำขึ้นไปผูกล่ามไว้ในที่สูง  ในขณะที่ปางช้างขนาดใหญ่ (มีช้างมากกว่าหนึ่งร้อยเชือก) ของมูลนิธิช้างและสิ่งแวดล้อม ยังคงสาละวนและพยายามขนย้ายช้างและสัตว์อื่นๆอีกนับพันอาทิ สุนัข แมว แพะ โค กระบือ และสุกร ซึ่งยังคงไม่ทันการณ์ เป็นผลให้มวลน้ำจำนวนมหึมาไหลเข้าสู่ปางช้าง (ระดับน้ำสูงมากกว่า 1.5-2.0 เมตร เมื่อประเมินด้วยสายตา) การขนย้ายช้างนับร้อย เป็นเรื่องที่ยากและสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียมากทั้งชีวิตคนและช้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อช้างเหล่านี้มิได้ถูกฝึกหรือสื่อสารกับคนเลี้ยงอย่างใกล้ชิดมาก่อน เราเริ่มจับตาอย่างใกล้ชิดว่าจะพอช่วยเหลือสนับสนุนอะไรได้บ้าง

คณะของสถาบันคชบาลแห่งชาติ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้เริ่มเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องเมื่อเช้าตรู่ของวันศุกร์ จากการร้องขอของเจ้าหน้าที่มูลนิธิทางโทรศัพท์ โดยเบื้องต้นรับทราบมาว่าให้ช่วยเคลื่อนย้ายและดูแลช้างเพศผู้ที่ยังอยู่ในคอกแต่ไม่สามารถออกมาได้ ในขณะที่ระดับน้ำกำลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว  คณะทำงานถูกตามตัว รวมทีมและประชุมอย่างเร่งด่วน และออกเดินทางในช่วงสายของวันนั้น 

เมื่อแรกไปถึงพบว่าเส้นทางเข้าถึงปางช้างถูกตัดขาด ท่ามกลางกระแสน้ำที่เชี่ยวกราก การติดต่อด้วยโทรศัพท์ไม่สามารถทำได้ ต้องสื่อสารผ่านวิทยุสื่อสารคลื่นสั้นเท่านั้น คณะจึงต้องรอจนถึงบ่ายแก่ๆจึงได้เรือจากหน่วยกู้ภัย จ.กาฬสินธ์ุ ข้ามน้ำเพื่อไปดูช้างตัวผู้ในคอกต่างๆเพื่อประเมินสถานการณ์ เราพบว่าช้างตัวผู้ยังอยู่ครบทั้งสิบเชือก ในสภาพที่ช้างลอยคออยู่ภายในคอก   แต่ที่แปลกใจคือยังมีช้างตัวเมียอีกหลายสิบเชือกติดค้างอยู่ในคอกด้วย บ้างก็พิการขาเป๋ ตาบอด และยังทราบอีกว่าช้างอีกหลายเชือกได้สูญหายลอยไปกับน้ำด้วย เมื่อช่วงก่อนหน้า  

ซึ่งต่อมาพบซากของช้างฟ้าใส(วันเฉลิม)และพลอยทอง เป็นที่น่าเสียใจอย่างยิ่งต่อการสูญเสีย คณะจึงตัดสินใจแบ่งทีมงานออกเป็น 2 ทีมเพื่อช่วยเหลือช้างให้ครอบคลุมทั้งสองกลุ่มการดำเนินการในภาวะวิกฤติและเร่งด่วนเช่นนี้โดยหลักการแล้ว หากพบว่าช้างกับควาญสามารถสื่อสารกันได้ก็จะให้ควาญช้างเป็นผู้นำและกำหนดทิศทางการเดินของช้างเพื่อความปลอดภัย เพราะช้างเองมักเดินเฉพาะเส้นทางที่เคยชิน ซึ่งในกรณีนี้ช้างมักคุ้นชินกับการเดินแบบอิสระในทุ่งกว้างที่อยู่ติดกับน้ำแม่แตง ที่กำลังไหลเชี่ยว นับว่าอันตรายอย่างยิ่ง ฉะนั้นจึงจำเป็นที่ช้างเหล่านี้จะต้องมีควาญเป็นผู้ควบคุมทิศทาง

ในกรณีช้างเพศเมียหรือช้างที่ไม่ดุร้าย หากช้างกับควาญมิได้มีปฏิสัมพันธ์กันมาก่อน หรือมีแต่เพียงเล็กน้อย ในทางทฤษฎีที่มีการเคลื่อนย้ายช้างป่ามักวางยาซึมและนำทางด้วยผ้าพรางแสงตลอดทางเดินเพื่อนำช้างไปยังจุดที่ต้องการ แต่ในกรณีนี้มีน้ำท่วมสูงจึงค่อนข้างเสี่ยงที่จะวางยาซึม (ยาซึมช้างมีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อ ทำให้งวงตกลงสู่พื้น) โดยในวันนั้นคณะทำงานที่ประกอบด้วยสัตวแพทย์ ควาญช้างจากสถาบันคชบาลแห่งชาติ ควาญพี่เบิ้ม(ปางที่อยู่ติดกัน) และภัทรฟาร์ม ซึ่งมีความชำนาญ ร่วมกับควาญช้างของมูลนิธิช่วยกันควบคุมและกำหนดเส้นทางด้วยเชือกให้ช้างเดินไปยังจุดที่ปลอดภัย แต่ก็ทุลักทุเลพอควรด้วยเพราะควาญกับช้างสื่อสารกันแทบไม่รู้เรื่อง วันนั้นทีมเราช่วยเหลือช้างตัวเมียได้บางส่วนจนกระทั่งมืดค่ำจึงยุติภารกิจในเวลา 19.30 น. 

ในกรณีช้างเพศผู้ เราไม่สามารถวางยาซึมช้างในขณะที่ยังอยู่ในน้ำได้ ซึ่งจากข้อมูลที่ทีมงานได้รับพบว่าช้างทุกเชือกไม่เคยผ่านการฝึกและบางเชือกมีประวัติทำร้ายคนมาก่อน จึงเกิดคำถามว่าหากเคลื่อนย้ายออกมาได้แล้วจะนำช้างไปผูกล่ามอย่างไร ที่ไหน ทั้งในภาวะซึมหรือปกติ ด้วยเพราะช้างไม่คุ้นเคยกับคนหรือช้างใดๆ ช้างแต่ละเชือกอยุ่ตัวเดียวในคอกมานาน ซึ่งจากการประเมินพบว่าช้างทุกเชือกยังมีสภาพร่างกายปกติ (ยกเว้นพลายขุนเดชที่บาดเจ็บที่ขาหน้า) ดังนั้นจึงใช้วิธีวางแท่นพยุงให้ช้างสามารถใช้งวงยึดพยุงมิให้จมน้ำ หากพบว่าระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอีก เพราะจากประสบการณ์ตรงของคณะทำงานพบว่าช้างมักลอยน้ำและอยู่ในน้ำได้นานถึง 2 วัน 1 คืนในสภาพน้ำนิ่ง โดยไม่เกิดอันตราย ซึ่งจากสภาพช้างภายในคอกพบว่ากระแสน้ำยังคงไหลแต่ไม่เชี่ยวมากนักเมื่อเทียบกับในลำน้ำ ช้างน่าจะยังพอพยุงตัวเองไว้ได้ในระยะเวลาหนึ่ง ด้วยเพราะธรรมชาติของน้ำทางภาคเหนือมักมาเร็วไปเร็ว ไม่น่าจะท่วมนาน เราจึงกำหนดให้ทำแพต้นกล้วยไว้ให้ช้างเพื่อช่วยพยุง ต้นกล้วยยังเป็นอาหารและมีน้ำช่วยประทังชีวิตให้ช้างได้อีกด้วย ทั้งนี้ให้เฝ้าระวังพลายขุนเดชเป็นพิเศษ

โชคดีในช่วงเย็นของวันเดียวกันระดับน้ำเริ่มลดระดับลง เป็นสัญญาณว่าน้ำน่าจะลดลงเป็นปกติในไม่ช้า 
วันรุ่งขึ้นระดับน้ำลดลง เหลือเฉพาะในพื้นที่ลุ่มต่ำ ช้างเพศเมียถูกเคลื่อนย้ายขึ้นที่สูง ช้างตัวผู้ยังอยู่ในคอกของตัวเอง แต่ทุกตัวยังมีชีวิตอยู่แม้บางเชือกอาจแสดงอาการอ่อนเพลียบ้าง ดังนั้นการฟื้นฟูสุขภาพกาย และสภาวะจิตใจของช้างและควาญจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะโรคต่างๆที่มาหลังน้ำท่วม ก็ดี   น้ำป่าที่อาจเข้าสู่ร่างกายช้างในช่วงก่อนหน้าทั้งทางเดินหายใจ ทางเดินอาหารก็ดี ดินโคลนที่มีรสชาดเย้ายวนต่อการลิ้มลองของช้างก็ดี หรือแม้กระทั่งอาหารที่อาจปนเปื้อน ที่ล้วนนำมาซึ่งความเจ็บป่วยของช้างเหล่านี้ได้ และสภาพจิตใจของช้างที่อาจตระหนกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น การไม่คุ้นเคยกับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เหล่านี้จำเป็นต้องฟื้นฟูและเฝ้าระวังกันต่อไป

สรุปยอดรวมช้างในปางก่อนเกิดเหตุ จำนวน 118 เชือก ภายหลังน้ำลด พบช้างเพศเมีย 106 เชือก เป็นช้างเพศผู้ 10 เชือก สูญหายและเสียชีวิต 2 เชือก

วันนี้ฝนตกเบาบางลงแล้ว แต่หากเกิดเหตุการณ์แบบเดียวกันอีก การเรียนรู้บทเรียนและเตรียมแผนเผชิญเหตุทั้งของปางและผู้เกี่ยวข้องเป็นสิ่งที่ต้องจัดทำ  

แม้ในวันนี้ช้างบ้านของไทยจะมีสถานะเป็นทรัพย์สินของผู้ถือครองตามกฎหมาย (พรบ.สัตว์พาหนะ ) แต่จากเหตุการณ์หลายๆครั้งที่ผ่านมา ล้วนกระทบจิตใจคนไทยส่วนใหญ่ หลายส่วนยื่นมือเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม ผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองติดตามอย่างใกล้ชิด  จึงเป็นสิ่งที่ทุกท่านพึงตระหนักให้ดีว่า "ช้าง" มีสถานะยิ่งกว่าทรัพย์สิน แต่เขาคือสิ่งที่มีคุณค่า ที่สูงค่าอันประเมินมูลค่ามิได้ ซึ่งเป็นสมบัติของคนไทยเราทุกคน

‘พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์’ เสด็จลงพื้นที่ชุมชนคลองแม่ข่า เชียงใหม่ พร้อมทั้งประทานเครื่องใช้อุปโภค-บริโภค ให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วม

เมื่อวานนี้ (5 ต.ค. 67) กองทุนพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ได้รายงานว่า

วันนี้ วันเสาร์ที่ 5 ตุลาคม 2567 เวลา 16.00 น. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ 
(เสด็จเป็นการส่วนพระองค์) ลงพื้นที่บริเวณชุมชนคลองแม่ข่า จังหวัดเชียงใหม่ ทรงประทานข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำดื่ม ข้าวกล่อง และสิ่งของต่างๆให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ยังสูงมาก 

ทั้งนี้ยังทรงช่วยชาวบ้านและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ติดอยู่ในพื้นที่ ที่ยังออกมาไม่ได้ นำส่งไปยังพื้นที่ปลอดภัย และนำนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติส่งสนามบินเชียงใหม่เพื่อเดินทางกลับบ้านอย่างปลอดภัย

‘อนุทิน’ เตรียมเสนอ ครม. จัดงบเยียวยาค่าล้างโคลนเพิ่ม 10,000 บาท คาดไม่เกินสิ้นเดือน เคลียร์แผ่นดินแม่สาย-เชียงราย กลับเข้าสู่สภาวะปกติ

เมื่อวานนี้ (5 ต.ค. 67) เวลา 10.30 น. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย พร้อมด้วย น.ส.ธนนนท์ นิรามิษ ภริยารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมแม่บ้านมหาดไทย นำคณะผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อุทกภัย ใน อ.แม่สาย จ.เชียงราย โดยได้รับฟังการสรุปสถานการณ์ภาพรวมและลงพื้นที่ประเมินสถานการณ์ ณ สะพานด่านแม่สาย ก่อนจะเดินทางไปติดตามดูการช่วยเหลือพื้นฟูในจุดต่างๆ พร้อมเยี่ยมให้กำลังใจปลัดอำเภอและกำลังพลสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (อส.) ที่กรมการปกครองได้ระดมกำลังพลทั่วประเทศเข้ามาสนับสนุนการช่วยเหลือประชาชนใน จ.เชียงราย ฟื้นฟูทำความสะอาดบ้านเรือนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งกำลังพลทุกนายมีกำลังใจที่ดี ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจเสียสละและอดทน

นายอนุทิน กล่าวระหว่างการลงพื้นที่ว่า ขณะนี้รัฐบาลได้ระดมทุกภาคส่วนเข้ามาให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยใน อ.แม่สาย ทั้งฝ่ายทหาร พลเรือน และภาคประชาชน ส่วนของท่านเจ้ากรมการทหารช่าง ได้มาประจำอยู่แม่สายเป็นสัปดาห์แล้ว 

ในส่วนของการบัญชาการตอนนี้ที่เชียงรายไม่น่าเป็นห่วงแม้อยู่ในช่วงการรอแต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเนื่องจากท่านเดิมเกษียณอายุราชการ แต่ได้มีการตั้งนายโชตนรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เข้ามารักษาการผู้ว่าราชการจังหวัด สามารถสั่งการเพื่อจัดการกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ 

ส่วนของรองผู้ว่าราชการจังหวัดขณะนี้ก็ได้มีการแต่งตั้งเข้ามาจนครบแล้ว ขณะที่นายอำเภอแม่สายท่านได้เกษียณอายุราชการแล้วแต่ตัวท่านและภรรยาก็ยังคงอยู่ในพื้นที่ช่วยงานราชการซึ่งเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมมาก และได้รับการยืนยันจากทางปลัดกระทรวงมหาดไทยว่าจะมีการแต่งตั้งนายอำเภอแม่สายท่านใหม่เข้ามากำกับดูแลสถานการณ์ในสัปดาห์นี้

นายอนุทิน กล่าวว่า จากที่ได้ฟังการรายงานจากทางเจ้าหน้าที่ คาดว่าจะสามารถเคลียร์พื้นที่ได้ภายในไม่เกินสิ้นเดือนนี้ แต่จะทำให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ มีจุดที่หนักหน่อยก็คือที่ตลาดสายลมจอย ที่น้ำทะลักเช้าไปมากจนสร้างความเสียหาย ซึ่งมีความเห็นใจผู้ประกอบการ เพราะว่าทราบมาว่าสินค้าอะไรถูกทำลายไปด้วยซึ่งจะต้องพิจารณาต่อไปว่าจะหาวิธีช่วยเหลืออย่างไร

“ในเรื่องของการเยียวยาช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัย ในวันอังคารนี้ ก็มีการเสนอให้ ครม. พิจารณาปรับเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ซึ่งเป็นไปตามคำบัญชาของนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ว่าจะให้การเยียวยาในระดับสูงสุดก็คือ 9,000 บาทต่อครัวเรือน 

และก็ยังมีเงินที่ตอนนี้ทางกรมป้องกันสาธารณภัยได้ตั้งเรื่องและได้รับความเห็นชอบจากกรมบัญชีกลางแล้วคือ ค่าล้างโคลนบ้านละ 10,000 บาทต่อหลัง ซึ่งเป็นการที่เราพยายามจะหาความช่วยเหลือมาให้ประชาชนให้มากที่สุด 

ท่านรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ตั้งแต่รับตำแหน่งท่านก็ยังไม่ได้เข้าที่ทำงานที่มหาดไทยเลย เพราะมาอยู่ที่นี่ วิ่งรอกระหว่างเชียงใหม่ เชียงราย 2 จังหวัดนี้ตลอด เพื่อบัญชาการ ประสานงานขอความช่วยเหลือสนับสนุนต่าง ๆ ซึ่งก็ทำให้สิ่งที่มีความจำเป็นทั้งหมดก็มาถึงโดยเร็วอันนี้เป็นการบูรณาการอย่างจริงจังและจะเร่งแก้ไขสถานการณ์ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้” นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวถึง สถานการณ์น้ำภาพรวมของ อ.แม่สาย จ.เชียงราย หลังการลงพื้นที่ติดตามว่า ในส่วนของปริมาณน้ำนั้นห้ามไม่ได้ มีความเร็ว แรง แต่ด้วยประสบการณ์ที่พื้นที่ได้เจอมา ทำให้รู้ว่าน้ำมาแล้วจะไปทางไหน สามารถบริหารจัดการได้คล่องตัวในการกู้ภัย การฟื้นฟูสภาพก็มีความคล่องตัวมากขึ้น ทำได้เร็วขึ้นกว่าช่วงแรกๆ เหมือนกับอยู่ในช่วงอยู่ตัว แต่เราก็ไม่ได้ถอนกำลังหรือลดทรัพยากรใดๆ ออกไป 

สิ่งที่สำคัญตอนนี้คือต้องเร่งระบายขยะมูลฝอยและเศษไม้ ต่อไม้ที่มากับน้ำหากติดสะพานปิดกั้นทางน้ำจะทำให้การระบายช้าลง ต้องมีเครื่องมือเครื่องจักรคอยตักออกตลอดเวลา โดยคาดว่าน้ำท่วม ไม่น่าจะเกิดความรุนแรงแล้ว ส่วนการเอาดินออกจากบ้านเรือนประชาชนก็ทำไปได้มากแล้ว โดยจะเร่งทำให้สามารถคืนพื้นที่ให้เร็วที่สุด

ส่อง ‘ชัชชาติ’ เลกเชอร์ระบบระบายน้ำ กทม. เตรียมรับ ‘น้อนน้ำ’ ย้ำ น้ำเหนือ-น้ำหนุน ไม่น่ากังวลแต่ไม่ประมาท ปิดครบจุดอ่อนริมเจ้าพระยา

เมื่อวันที่ (2 ต.ค. 67) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวรายงานการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำของกรุงเทพมหานคร แก่ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมร่วมลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ณ กรมชลประทานปากเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี

นายชัชชาติ กล่าวว่า กรุงเทพมหานครต้องรับมือกับ 3 น้ำ คือ น้ำเหนือ น้ำหนุน และน้ำฝน สำหรับน้ำเหนือและน้ำหนุนจะอยู่ที่แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นหลัก ปัจจุบันน้ำเหนือเราจะดูที่สถานีจุดวัดน้ำบางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา โดยวันนี้ปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,818 ลบ.ม./วินาที ระดับเตือนภัยอยู่ที่ 2,500 ลบ.ม./วินาที วิกฤตอยู่ที่ 3,000 ลบ.ม./วินาที ซึ่งยังเหลืออีกเยอะ 

ด้านน้ำทะเลหนุนสุงสุดจากนี้จะเป็นวันที่ 20 ตุลาคม สำหรับการป้องกันน้ำเหนือและน้ำหนุนของกรุงเทพฯ เรามีเขื่อนตลอดแนวเจ้าพระยายาว 88 กม. และเข้าไปในคลองทวีวัฒนา พระโขนง และมหาสวัสดิ์ โดยความสูงเขื่อนไล่ตามระดับน้ำจากทางด้านเหนือ +3.5 เมตร และด้านล่าง +3 เมตร เพราะด้านล่างน้ำน้อยกว่า 

โดยตลอดแนวแม่น้ำเจ้าพระยามีจุดอ่อนน้ำท่วม 120 จุด ปัจจุบันแก้ไปแล้ว 64 จุด ที่เหลืออยู่ในขั้นตอนการดำเนินการทั้งหมดและมีการเสริมกระสอบทรายป้องกันไว้ ซึ่งเรามั่นใจว่าเขื่อนแนวริมเจ้าพระยามีคุณภาพ คาดว่าปีนี้น้ำเหนือและน้ำหนุนไม่น่ากังวลแต่เราก็ไม่ประมาท

นายชัชชาติ กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่เป็นห่วงคือน้ำฝน ซึ่งฝนที่ตกในกรุงเทพมหานครส่วนใหญ่แล้วไหลลงสู่เจ้าพระยาโดยมาจากคลองย่อยสู่คลองหลัก หรือจากอุโมงค์ระบายน้ำซึ่งเรามี 4 จุด ยาวรวม 20 กม. แต่ปัญหาการระบายน้ำหลัก ๆ คือเส้นเลือดฝอย ที่ผ่านมาเราลอกท่อไปแล้ว 5,000 กม. และคลองหลัก 200 กม. เปิดทางน้ำไหล 2,000 กม. จึงทำให้โดยรวมน้ำไหลได้ดีขึ้น แต่ปริมาณฝนปีนี้เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนภาพรวมยังน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม คาดว่าเดือนตุลาคมฝนจะตกมากขึ้น ซึ่ง กทม. พร้อมรับมือเพราะเตรียมการมาโดยตลอดและร่วมบูรณาการกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน แจ้งว่าปริมาณน้ำผ่านจุดสำคัญ ได้แก่ 
1.สถานีจุดวัดน้ำ จ.นครสวรรค์ ปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,383 ลบ.ม./วินาที โดยปริมาณน้ำไหลผ่านที่เฝ้าระวัง อยู่ที่ 3,660 ลบ.ม./วินาที

2.จุดวัดน้ำบริเวณเขื่อนเจ้าพระยา ปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,150 ลบ.ม./วินาที โดยปริมาณน้ำไหลผ่านที่เฝ้าระวัง อยู่ที่ 2,730 ลบ.ม./วินาที

3.สถานีจุดวัดน้ำบางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,865 ลบ.ม./วินาที โดยปริมาณน้ำไหลผ่านที่เฝ้าระวัง อยู่ที่ 2,500 ลบ.ม./วินาที

‘ภูมิ คชนิล’ ที่ปรึกษาฟื้นฟูการท่องเที่ยวแม่แตง ใจสลายกับการสูญเสียช้างไทย ชี้ หากรอบคอบความเสียหายคงไม่เกิด การเลี้ยงช้างแบบโบราณไม่ใช่การทรมาน

(6 ต.ค. 67) จากกรณีดราม่าปางช้างน้ำท่วมแม่แตง อาจารย์ภูมิ คชนิล ที่ปรึกษาเพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ,"แม่แตง Model" ในโครงการ Service to Survice - Thailand โพส facebook เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม โดยมีข้อความว่า 

นอนไม่หลับมาหลายวันทั้งเรื่องงาน เรื่องเชียงดาวเรื่องเหล่าน้องช้างที่ผมเป็นที่ปรึกษาการท่องเที่ยวแม่แตงตั้งแต่โควิดระบาด เมื่อวานทนห่วงไม่ไหวเลย

มีโอกาสโทรหาแม่หลวงบ้านแม่ตะมานเพื่อถามว่าน้องช้างหลายๆปางบ้านเรา 80 กว่าปางปลอดภัยทั้งหมด ค่อยยังยิ้มใด้หัวใจพองชุ่มฉ่ำอีกครั้ง แต่กลับมาเห็นน้องจากปางที่กักขังและไร้การวางแผนขนย้าย หลุดลอยน้ำล้มไปหลายเชือกก็สงสารใจจะขาด น้อง ๆ ควรปลอดภัยกว่านี้ถ้ามีความรอบคอบและดูแลใด้ดีมากอย่างที่ปากนางพูด 

ขอบคุณการนำทีมช่วยช้างโดยอ้ายเบิ้ม ปี้การ น้องเฟิร์น และควาญช้างจากปางCampช้าง ที่บุกฝ่าน้ำเข้าไปช่วยน้องออกมาได้ พี่ๆหัวใจยิ่งใหญ่มากครับ ส่วนที่เหลือเราควรลุกขึ้นมาช่วยกันเสพข่าวอย่างมีสติ ไร้ดราม่าว่า การเลี้ยงช้างควบคุมช้างแบบโบราณไม่ใช่การทรมานคือสิ่งที่ ‘ใช่’ ที่สุด 

ผมขอส่งพลังใจให้ ปางช้างแม่แตงโดย อ้ายดร.บุญทา พี่กล้าวาสนา พี่พารวย พี่เพชร พี่ดวง แม่หลวงฝน และทีมทำงาน ควาญช้างปางช้างแม่แตง พ่อหลวงวู๊ดดี้ พี่เจตน์ ตำบลกู๊ดช้าง ป้าศรี พี่อุ้มเราจะก้าวผ่านและช่วยกันตีแผ่เรื่องนี้ไปด้วยกันนะครับ

 .. ถึงเวลาที่จะช่วยกันตีแผ่อะไรที่ทำแย่ๆกับน้องช้าง แล้วโลกจะใด้รู้กัน..

‘สันติสุข มะโรงศรี’ วิจารณ์แรงถึงเหตุการณ์สูญเสียช้างไทย จี้ปางช้าง ‘เมื่อจุดขาย กลายเป็นจุดตาย จึงต้องบิดประเด็น ?’

(7 ต.ค. 67) นายสันติสุข มะโรงศรี ผู้ประกาศข่าวชื่อดังได้โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีการสูญเสียช้างไทยจากอุทกภัย ที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ว่า 

เมื่อจุดขาย (จะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม) กลายเป็นจุดตาย จึงต้องบิดประเด็น ?

1. ปางช้างเดียวที่มีช้างตาย มีวิธีการเลี้ยงที่แตกต่าง เป็นจุดขาย คือ โชว์การให้อิสระเสรีกับช้าง ทำกรงกว้างใหญ่ ไม่ล่ามโซ่ ไม่ให้ควาญใช้ตะขอฝึกควบคุมช้าง 
พอถึงเวลาวิกฤติ ปางอื่นมีควาญควบคุมช้าง ย้ายไปที่ปลอดภัยหมด แต่ปางนี้ไม่สามารถควบคุมช้างเพื่อย้ายออกได้ หรือไม่มีแผนเผชิญเหตุ จนควาญช้างปางอื่นๆ ต้องมาช่วย (ทั้งที่เคยถูกด้อยค่า) ทีมคชบาลระดมกันมาช่วย ฯลฯ (ผมก็ออกข่าวช่วย) 

2.ผู้บริหารปางนี้ ให้สัมภาษณ์สื่อ “ถ้าล่ามโซ่สิ ช้างตายแน่ๆ เพราะขาไม่อิสระ ฯลฯ” 

สะท้อนว่า ไม่ได้คิดทบทวนอะไรเลย หรือเจตนาบิดเบือนประเด็น
ประเด็น ไม่ใช่แค่ล่ามโซ่ แต่มันคือการเลี้ยงช้างที่ต้องให้ควาญฝึกช้าง ควบคุมช้าง และยามวิกฤติก็สามารถควบคุมจัดการได้ (ไปอ่านบันทึกของทีมหน้างานที่เข้าไปช่วยช้างหนีน้ำที่ปางนี้ เขียนไว้ชัดเจน) 

ช้างปางอื่น ไม่มีใครล่ามโซ่ช้างตัวเองให้จมน้ำ เขาควบคุมได้ จึงให้ควาญพาขึ้นไปล่ามบนที่สูง จนควาญมีเวลาลงมาช่วยปางคุณป้าด้วยไงครับ

คือ ต่อให้ป้าจะเลี้ยงแบบเดิมต่อไป เพราะมันเป็นจุดขาย โรแมนติก โลกสวย ฝรั่งชอบ คนสงสารช้างชอบ ฯลฯ แต่จะไปบิดประเด็นต่อทำไม ควรขอบคุณควาญช้างที่สามารถควบคุมช้าง ที่เขามาช่วย แล้วสรุปบทเรียนหาแผนเผชิญเหตุของปางช้างคุณป้า ถ้ามีแบบนี้อีกจะทำยังไง ดีกว่ามั๊ยครับ

ด้วยความปรารถนาดีครับ

‘เจือ ราชสีห์’ ชี้!! ป่าไม้ถูกทำลาย สาเหตุหลักน้ำท่วมภาคเหนือ ฝาก ‘รัฐบาล‘ เร่งปลูกป่าอย่างจริงจัง ป้องกันน้ำท่วมซ้ำซาก

(7 ต.ค. 67) นายเจือ ราชสีห์ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เปิดเผยกรณีอุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือ ว่า

มหันตภัย น้ำท่วมใหญ่ภาคเหนือ ภาพสะท้อนความไม่สมบูรณ์ของผืนป่า ผมขอเรียกร้องไปยังรัฐบาล “อย่ามัวแต่แก้ปัญหาที่ปลายเหตุ” จนหลงลืมว่าปัจจัยสำคัญของมหันตภัยน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ คือ ป่าไม้ถูกทำลาย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งแก้ปัญหา 

ถึงเวลาที่ “นายกรัฐมนตรี” ต้องขับเคลื่อนการเพิ่มพื้นที่ป่า ปลูกต้นไม้เพิ่มอย่างจริงจังตั้งแต่วันนี้

“ผมอยากให้รัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายกรัฐมนตรี “ต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุตั้งแต่วันนี้ ต้องช่วยกันปลูกต้นไม้เพิ่ม” ซึ่งก็ไม่ได้ใช้งบประมาณมากมาย ในทางกลับกันถ้าไม่ทำ ปีหน้าหรือปีต่อๆไปน้ำก็ท่วมในลักษณะนี้อีก ต้องสูญเสียชีวิตพี่น้องประชาชน บ้านเรือน ถนนหนทางเสียหาย ต้องใช้งบประมาณมหาศาลในการฟื้นฟูและช่วยเหลือ“

สทนช. ออกประกาศเตือนคน 3 ลุ่มน้ำ เจ้าพระยา-ท่าจีน-แม่กลอง เฝ้าระวังน้ำท่วมจากน้ำทะเลหนุน-น้ำเหนือไหลบ่า พื้นที่เสี่ยง 7 จังหวัด

(7 ต.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้ประกาศให้เฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูง ช่วงวันที่ 13 – 24 ตุลาคม 2567

เนื่องจากอิทธิพลของน้ำทะเลหนุนสูง ประกอบกับมวลน้ำหลากจากตอนบนของลุ่มน้ำไหลลงมาสมทบส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพิ่มสูงขึ้น 

มีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราวบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) 

จึงขอให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงจังหวัดสมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร นครปฐม และสมุทรสงคราม


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top