Saturday, 5 April 2025
นายหัวไทร

เปิด 14 นายกฯ อบจ.ภาคใต้ ผลการเลือกตั้งออกแล้ว ปชน. ยังปักธงไม่ลง!! ผมทายพลาดไปสองจังหวัด

(2 ก.พ. 68) ผ่านพ้นไปสำหรับศึกชิงเก้าอี้นายกฯอบจ.47 จังหวัด ผลการเลือกตั้งออกมาแล้ว มีทั้งคนที่ผิดหวังและสมหวัง ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดาของการเมือง การเลือกตั้ง

กล่าวสำหรับภาคใต้เลือกตั้งไปแล้ว 3 จังหวัดคือ ชุมพร ระนอง นครศรีฯ เหลือต้องเลือกตั้งแค่ 13 จังหวัด พรรคประชาชนยังไม่สามารถปักธงส้มได้แม้แต่ยังหวัดเดียว

สุราษฏร์ธานี เมืองคนดี ป้าโสแก้แค้นแทนสามีได้สำเร็จ ยึดเก้าอี้นายกฯอบจ.จากกำนันศักดิ์มานั่งแทน “หมอมุดสัง”แห่งพรรคประชาชน พลาดคะแนนต่างอำเภอ พ่ายไปอย่างน่าเสียดาย

พัทลุง นายกพร วิสุทธ์ ธรรมเพ็ชร ยังเหนียว รักษาแชมป์ไว้ได้ เอาใหม่นะ ‘สาโรจน์ สามารถ’ มนต์ขลังของ ‘พิพัฒน์’ยังไม่พอ ต้องกลับไปนอนเคลียร์กับ ดร.นทีก่อน

สงขลา ‘สุพิศ’ เข้าวินตามคาด แต่น่าสนใจว่าทำไมคะแนน ‘โนโหวต-โหวตโน’ จึงพุ่งแรงที่สงขลา ฝากให้ช่วยกันคิดครับ

ปัตตานี เศรษฐ์ ยังเหนียว รักษาเก้าอี้เอาไว้ได้อีกสมัย เป็นสมัยที่ห้า แม้จะถูกพลพรรคภูมิใจไทยโจมตีอย่างหนักก็ตาม

นราธิวาส กูเซ็ง กับการถูกรุมกินโต๊ะ ทั้งจากพรรคกล้าธรรม และพรรคภูมิใจไทย ‘ธรรมนัส-ชาดา’ นำทัพลุยเอง แต่ผู้เฒ่าจอมยุทธ์แก้กล้า รักษาฐานไว้ได้ สมัยหน้าสงสัยต้องเปลี่ยนตัวเล่นแล้วกับอายุ 85 อีก 4 ปีก็ 89 แล้ว

ยะลา ชื่อชั้นของ ‘มะทา’ ยังขายได้ มุขตาร์ ยังคงนั่งบริหารต่ออีก 4 ปี สมัยหน้าว่ากันใหม่

สตูล สัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์ เดิมตั้งใจว่าจะไม่ลงสมัครแล้ว แต่ท้ายสุดหาตัวแทนไม่ได้ก็ต้องลงเอง คู่แข่งยังไม่แกร่งพอ เหนื่อยอีกสัก 4 ปีนะ แล้วค่อยพักผ่อน แต่บ้านใหญ่ต้องหาตัวแทนให้ได้นะ

ตรัง บุนเล้ง โล่สถาพาพิพิธ บ้านใหญ่สายชวนไม่พลาด เมื่อคู่แข่งที่คู่ควร ‘สาทิตย์’ ถอยในนาทีสุดท้าย บุนเล้งก็สบายตัวไป

กระบี่ คุณปูสมศักดิ์ ยังรักษาแชมป์ที่ครองมายาวนานได้สบายๆ ยังครองใจขาวกระบี่ไม่เสื่อมคลาย สมัยหน้าคุณปู่จะไหวไหมเนี่ย

พังงา จังหวัดนี้น่าสนใจ เนื่องจากผลออกมาพลิกความคาดหมาย ‘บำรุง’ กลับมาทวงเก้าอีคืนได้สำเร็จ หลังจากพรรคพวกนักการเมืองมาออกแรงช่วยกันรุม ‘ธนาธิป’ กระเด็นตกเก้าอี้

ภูเก็ต ไข่มุกอันดามัน แหม…ตอนแรกคิดว่า เรวัตหยัดได้ จะพลาดท่าเสียแล้ว เมื่อถูกพรรคประชาชนบดขยี้หนัก กับ สส.เต็มจังหวัด 3 คน ช่วย ‘หมอเลอสันต์’ แต่คุณงามความดีอาจจะยังไม่พอนะ หรือคนภูเก็ตคิดได้แล้ว ไม่เอา มา.112

การเมืองมีโอกาสเปลี่ยนได้ตลอดเวลา พลาดนิดเดียวก็เปลี่ยนได้ทันที คงจำกันได้กับวลี ‘สินค้าแบกะดิน’ ของ ‘พิชัย รัตตกุล’ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้ ‘ชนะ รุ่งแสง’ พ่ายแพ้ ‘พล.ต.จำลอง ศรีเมือง’ ได้เป็นผู้ว่าฯกทม.คนแรกจากการเลือกตั้งตามกฎหมายใหม่มาแล้ว ทั้งๆที่กระแสชนะดีมากๆ

ขออนุญาตเขียนชื่อ 14 นายกฯ อบจ.ในจังหวัดภาคใต้ไว้ก่อน รอดูว่า กกต.จะรับรองผลทั้งหมดหรือไม่ จะมีใบแดง ใบเหลืองหรือเปล่า

สำหรับ #นายหัวไทร ทำนายผิดไปสองจังหวัด คือ สุราษฏร์ธานี ที่คาดว่า หมอมุดสังจะมา แต่กลับเป็นป้าโสมาแทน และพังงาที่คาดว่า ธราธิป จะรักษาเก้าอี้ไว้ได้ แต่กลับถูกบำรุงพาพวกมารุมกระชากจนตกเก้าอี้

สำหรับ 14 นายกฯ อบจ.ภาคใต้ ประกอบด้วย
1.นายนพพร อุสิทธิ์ จากค่ายบ้านใหญ่ (เลือกตั้งแล้ว ไม่มีคู่แข่ง)

2.สีหราช สรรพกุล” คว้าชัยเลือกตั้งนายกฯ อบจ.ระนอง (เลือกตั้งแล้วล้มแชมป์เก่า)

3.น้ำ-วาริน ชิณวงค์ เลือกตั้งแล้ว ล้มแชปม์เก่า ‘เจ้ต้อย-กนกพร เดชเดโช’

4.ป้าโส โสภา กาญจนะ (เลือกตั้ง 1 ก.พ.นี้)

5.วิสุทธิ์ ธรรมเพชร นายกฯ อบจ.พัทลุง (เลือกตั้ง 1 ก.พ.)

6.สุพิศ พิทักษ์ธรรม นายกฯ อบจ.สงขลา (เลือกตั้ง 1 ก.พ.)

7.เศรษฐ์ อัลยุฟรี นายกฯ อบจ.ปัตตานี แชมป์เก่า 4 สมัย

8.กูเซ็ง ยาวอหะซัน นายกฯ อบจ.นราธิวาส แชมป์เก่า 5 สมัย

9.มุขตาร์ มะทา นายกฯ อบจ.ยาลา แชมป์เก่า น้องชายวันนอร์

10.สัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์ นายกฯ อบจ.สตูล อดีตแชมป์เก่า

11.เรวัต อารีรอบ นายกฯ อบจ.ภูเก็ต แชมป์เก่า เจ้าของสโลแกน ‘เรวัติหยุดได้’

12.บุ่นเล้ง โล่สถาพรพิพิศ นายกฯ อบจ.ตรัง บ้านใหญ่ค่ายนายหัวชวน

13.สมศักดิ์ กิตติธรกุล นายกฯ อบจ.กระบี่ แชมป์เก่าหลายสมัย

14.นายบำรุง ปิยะนามวนิช นายกฯ อบจ.พังงา กลับมาทวงแชมป์คืน

‘เจือ ราชสีห์’ เผย ปี 69 ‘กรมทางหลวงชนบท’ เตรียมตั้งงบฯ ศึกษาความเป็นไปได้สร้างสะพานเชื่อมเมืองสขลา - สงหนคร

(3 ก.พ. 68) คืบหน้า…ปีหน้าทางหลวงชนบทตั้งงบศึกษาความเป็นไปได้สร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา

นายเจือ ราชสีห์ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (พีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค) อดีต สส.สงขลา ผู้ผลักดันเต็มที่ และต่อเนื่องให้มีการสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา บริเวณหัวเขาแดง เพื่อเชื่อม อ.สิงหนครกับ อ.เมือง เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่กรมทางหลวงชนบทว่า ได้ข้อสรุป กรมทางหลวงชนบท จะตั้งงบประมาณ ปี 69 เพื่อศึกษาความเป็นไปได้การก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา เพื่อเชื่อม อ.เมืองสงขลา กับ อ.สิงหนคร จ.สงขลา และมีความน่าจะเป็นการสร้างในรูปแบบ ‘สะพานเปิดปิด’ ซึ่งจะรองรับการข้ามผ่านของเรือและยังสามารถแก้ไขปัญหาการจราจรที่ติดขัดในพื้นที่ได้สะดวก 

ทั้งนี้ปัจจุบันผู้ที่สัญจรไปมาระหว่าง อ.สิงหนคร และอำเภออื่นๆ เพื่อเข้าไปยังตัวเมืองสงขลา มีทางเลือกอยู่สองทาง คือ ข้ามด้วยแพขนานยนต์ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ซึ่งมีแพอยู่ 4 ลำ มีท่าเทียบแพฝั่งละสองท่า ในช่วงเช้าๆ การจราจรจะหนาแน่น บางครั้งรถติดยาวเป็นกิโล เพราะมีทั้งคนเดินทางไปทำงาน และนักเรียนเข้ามาเรียนหนังสือ นายเจือจึงเคลื่อนไหวผลักดันให้มีการสร้างสะพานข้ามทะเลสาบ หรือจะสร้างเป็นอุโมงค์ก็ได้

อีกทางเลือกหนึ่งคือ อ้อมไปขึ้นสะพานติณสูลานนท์ ผ่านเกาะยอ แล้วอ้อมสี่แยกเกาะยอมาเข้าเมือง เส้นทางสายนี้ก็สะดวก แต่อ้อมไกลไปประมาณ 20 กิโลเมตร

สมัยนายไพเจน มากสุวรรณ์ เป็นนายกฯอบจ.สงขลา ก็พยายามแก้ปัญหาความคับคั่งของรถข้ามแพ ด้วยการเพิ่มจำนวนแพขนานยนต์ และเพิ่มท่าเทียบแพ ก็พอจะบรรเทาการจราจรไปได้บ้าง

นายไพเจนเคยให้สัมภาษณ์ว่า ยินดีถ้าจะมีการสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา เพราะการให้บริการแพขนานยนต์ ก็เป็นการให้บริการที่ขาดทุนอยู่แล้ว แต่ถือว่าเป็นภารกิจในการให้บริการสาธารณะ จึงต้องตั้งงบสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง และปรับปรุงการให้บริการมาโดยตลอด เช่นล่าสุดการติดตั้งระบบแพขนานยนต์อัจฉริยะ เป็นต้น

ส่องปรากฎการณ์ ‘โนโหวต – บัตรเสีย’ พุ่ง สะท้อนอารมณ์ประชาชนสั่งสอนนักการเมือง

(4 ก.พ. 68) น่าสนใจศึกษา และถอดรหัสยิ่ง สำหรับปรากฏการณ์ทางการเมืองในการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) กับปรากฏการณ์บัตรเสีย และบัตรโนโหวต-โหวตโนจำนวนมากอย่างไม่เคยมีมาก่อน

อ.เมืองตรังเขต 2 ถึงขั้นต้องจัดเลือกตั้งใหม่ ส.อบจ.16 มีนาคมนี้ หลังเกิดปรากฏการณ์ประชาชนสอนนักการเมืองจากการเลือกตั้งครั้งนี้ ผู้ชนะอันดับ 1 ได้ 2,000 กว่าคะแนน แต่แพ้คะแนนโหวตโนที่พุ่งไปเกือบ 3,000 กว่าคะแนน จน กกต.จังหวัดต้องเรียกประชุมด่วน เพื่อเปิดรับสมัคร และจัดการเลือกตั้งใหม่

กกต.ตรังกำหนดแล้ว เปิดรับสมัครใหม่ และเลือกตั้งใหม่ 16 มีนาคมนี้ 

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนับเป็นปรากฏการณ์อารมณ์ของประชาชนอย่างแท้จริง ที่น่าจะเกิดจากความไม่พอใจต่อตัวผู้สมัคร ทั้งในส่วนของฝ่ายบริหาร และฝ่ายสภาประชาชนจึงต้องสั่งสอนนักการเมือง ผ่านการโหวตโน โนโหวต หรือบัตรเสีย เราจึงพบว่า การเลือกตั้งนายกฯอบจ.คราวนี้มีบัตรเสียจำนวนมากผิดปกติ

ขอยกเป็นตัวอย่างจังหวัดที่บัตรเสียจำนวนมาก

ในส่วนของการเลือกนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดหลายจังหวัดมียอดของจำนวนบัตรเสีย กับบัตรไม่เลือกผู้สมัครคนใด หรือ บัตรโหวตโน สูงหลักหมื่นถึงหลักแสนจำนวนมาก อาทิ

จ.นครราชสีมาผู้มาใช้สิทธิ 1,155,142 คน บัตรดี 972,902 ใบ บัตรเสีย 71,306 ใบ (6.17%) บัตรไม่เลือกผู้ใด 110,934 ใบ (9.60%)

จ.มหาสารคาม ผู้มาใช้สิทธิ 453,567 คน บัตรดี 408,108 ใบ บัตรเสีย 29,007 ใบ บัตรไม่เลือกผู้ใด 16,452 ใบ

จ.เชียงใหม่ ผู้มาใช้สิทธิ 877,640 คน บัตรดี 778,227 ใบ บัตรเสีย 41,798 ใบ บัตรไม่เลือกผู้ใด 57,625ใบ

จ.เชียงราย ผู้มาใช้สิทธิ 605,780 คน บัตรดี 525,928 ใบ บัตรเสีย 36,446 ใบ (6.02%) บัตรไม่เลือกผู้ใด 43,406 ใบ (7.17%)

จ.ยะลา ผู้มาใช้สิทธิ 224,707 คน บัตรดี 176,840 ใบ บัตรเสีย 18,533 ใบ (8.25%) บัตรไม่เลือกผู้ใด 29,334 ใบ (13.05%)

จ.สงขลาผู้มาใช้สิทธิ 687,944 คน บัตรดี 572,496 ใบบัตรเสีย 28,593 ใบ (4.16%) บัตรไม่เลือกผู้ใด 86,855 ใบ (12.63%)

จ.สมุทรปราการ ผู้มาใช้สิทธิ 569,659 คน บัตรดี 547,604 ใบ บัตรเสีย 22,055 ใบ บัตรไม่เลือกผู้ใด 42,142 ใบ

จ.นนทบุรี ผู้มาใช้สิทธิ์ 432,613 คน บัตรดี 382 ,782 ใบ บัตรเสีย 12,268 ใบ บัตรไม่เลือกผู้ใด 37,562 ใบ (8.68%)

จ.สุพรรณบุรี ผู้มาใช้สิทธิ 393,849 ใบ บัตรดี 353,460 ใบ บัตรเสีย 16,274 ใบ บัตรไม่เลือกผู้ใด 24,113 ใบ

จ.กำแพงเพชร ผู้มาใช้สิทธิ 272,278 คน บัตรดี 236,084 ใบ บัตรเสีย 14,712 ใบ บัตรไม่เลือกผู้ใด 21,482 ใบ

จ.ลำพูน ผู้มาใช้สิทธิ 242,381 คน บัตรดี 212,777 ใบ บัตรเสียจำนวน 15,131 ใบ (6.2 4%) บัตรไม่เลือกผู้ใด 14,473 ใบ (5.97%)

บัตรเสียน่าจะเกิดขึ้นทั้งจากความผิดพลาดในการกาช่องลงคะแนน และเจตนาให้เป็นบัตรเสีย ส่วนการโนโหวต หรือโหวตโนก็ตามเป็นเจตนาของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่ต้องการสะท้อนความรู้สึกของประชาชน อันเป็นเรื่องน่าสนใจยิ่งว่าอารมณ์ของคนที่สะท้อนออกมาเช่นนี้เกิดจากอะไร

จากการประมวลความคิดเห็นของนักวิชาการ และวงกาแฟพอจะสรุปได้ใน 4-5 ประเด็น

ประการแรก ประชาชนไม่พอใจต่อการที่ “บ้านใหญ่” เข้าไปจัดการในการคัดสรรบุคคลที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นนายกฯอบจ.และ ส.อบจ.ที่ประชาชนรับรู้ได้จากสื่อที่หลากหลาย และความรวดเร็วของสื่อโซเชียล ซึ่งบางคนไม่ได้มีคุณสมบัติอะไร แต่บ้านใหญ่ชี้ตัวลงมาก็ต้องเอาตามนั้น บางคนมีคุณวุฒิ วัยวุฒิ และประสบการณ์เพียบ แต่ถูกบีบให้หลุดวงโคจรก็มีไม่น้อย

ประการที่สอง คือประชาชนไม่พอใจต่อพรรคการเมือง และนักการเมืองระดับชาติที่เข้าไปจุ้นจ้านชี้นำประชาชน ทำให้ประชาชนขาดความเป็นอิสระในการตัดสินใจด้วยตัวเองตามหลักการกระจายอำนาจ องค์กรท้องถิ่นต้องมีอิสระปลอดจากการครอบงำ หรือชี้นำของการเมืองสนามใหม่

ประการที่สาม ประชาชนไม่พอใจต่อตัวผู้สมัครเอง ไม่ว่าจะเป็นการนำตัวเองไปสังกัดซุ้มการเมืองต่างๆ การมีประวัติที่ไม่ใสสะอาด บางคนมีเรื่องร้องเรียนเรื่องทุจริตคอร์รัปชน มั่วสุมในวงการพนัน ได้รับโอกาสจากประชาชนแล้ว แต่กลับไม่มีผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์

ประการที่สี่ ประชาชนเรียนรู้มากขึ้นผ่านสื่อต่างๆมากมาย สืบค้นได้ด้วยตัวเอง เมื่อประชาชนได้ศึกษาเรียนรู้แล้ว วิธีการที่ประชาชนทำได้คือการสะท้อนผ่านการเลือกตั้งนั้นเอง

ประการที่ห้า ปรากฏการณ์การใช้เงินจำนวนมากของผู้สมัครนายกฯอบจ.บางคน ที่มีข่าวสะพัดกับการจัดการหัวละ 500 หัวละ 1000 เมื่ออเทียบกับเงินเดือน ค่าตอบแทนของผู้บริหารแค่หลักแสน ปีละล้านกว่าบาท สี่ปีก็แค่ไม่เกิน 5 ล้านบาท แต่กลับทุ่ม 200-300 ล้านเพื่ออะไร ถ้าไม่ใช่การถอนทุนในอนาคตบนตำแหน่งบริหาร

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นฝ่ายที่เกี่ยวข้องน่าจะได้นั่งลงถอดรหัส และนำไปสู่การปรับเปลี่ยนวิถี หมายรวมถึงฝ่ายนิติบัญญัติด้วยในการคิดแก้กฎหมาย เช่น การแก้ปิดทางนักการเมืองใหญ่เข้าไปบงการ สั่งการ จัดการกับการเมืองท้องถิ่น รวมถึงจะแก้เรื่องฝ่ายบริหารลาออกก่อนหมดวาระอย่างไม่จำเป็น ทำให้สูญเสียงบประมาณในการจัดการเลือกตั้งใหม่ และต้องใช้งบประมาณซ้ำสองครั้ง

ปรากฏการณ์บัตรเสีย โนโหวต เป็นปรากฏการณ์ชัดเจนว่า ประชาชนได้ออกมาใช้สิทธิ์สั่งสอนนักเมืองแล้ว เหลือแค่นักการเมืองจะสำนึกหรือไม่

จับตาความยุ่งยากใน อบจ.นครศรีฯ เมื่อฝ่ายบริหารมีเสียงข้างน้อยกว่าฝ่ายค้าน

มีคนตั้งคำถามกันมากว่า เมื่อองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช (อบจ.) ผลการเลือกตั้ง ส.อบจ.ฝ่ายบริหารมีเสียงข้างน้อย คือ ฝ่ายบริหารมี 16 เสียง ฝ่ายค้านมี 20 เสียง อีก 6 เสียงเป็นผู้สมัครอิสระ แล้วจะเกิดความยุ่งยากในการบริหารหรือไม่ จะบริหารได้หรือไม่

แน่นอนว่า ถ้าเป็นรัฐบาลกลางยุ่งยากถึงขั้นอยู่ไม่ได้แน่นอน กฎหมายของรัฐบาลไม่ผ่านสภา นายกรัฐมนตรีก็ต้องรับผิดชอบ ถ้าไม่ลาออก ก็ต้องยุบสภา อย่างใดอย่างหนึ่งแน่นอน

สำหรับ อบจ.นครศรีธรรมราช ให้จับตาดู
-กลุ่มพลังเมืองนคร ต้องยึดตำแหน่งประธานสภาแน่นอน เพราะเป็นฝ่ายเสียงข้างมาก
-กลุ่มพลังเมืองนคร อาจจะถึงขั้นยึดตำแหน่งรองประธานสภาด้วย ถ้าไม่ประนีประนอมกัน
-หลักการของกฎหมายท้องถิ่น ถ้าสภาขัดแย้งกับฝ่ายบริหารจนทำงานไม่ได้ มีทางออก
-นายกฯมีอำนาจทำรายงานเสนอผู้ว่าฯถึงปัญหายุ่งยากที่เกิดขึ้นได้
-ผู้ว่าฯมีอำนาจเสนอมหาดไทยให้ยุบสภา อบจ.ได้ หากไม่สามารถแก้ไขปัญหาร่วมกันได้ แต่นายกฯยังอยู่
-ถ้าสภาถูกยุบก็ต้องเลือกตั้งใหม่ ไม่มีใครอยากเลือกตั้งใหม่
-เราจะเห็นว่าที่ผ่านมาแม้เสียงข้างน้อยก็บริหารงานได้ แต่ต้องมีการเจรจาประสานประโยชน์กันให้ลงตัว
-ต้องมีมือประสานความร่วมมือ ส.อบจ.ที่มีบารมีมากพอ และน่าจะต้องมีบารมีมากกว่านายกฯปัจจุบัน
-การแบ่งขั้วชัดเจนในช่วงหาเสียง อาจจะประสานงานยากหน่อย ถ้าคนกุมอำนาจยังเสียงแข็ง ไม่ยอมกัน

ถามว่าเคยมีตัวอย่างฝ่ายบริหารมีเสียงข้างน้อยไหม ตอบว่าเคยมีตัวอย่าง เทศบาลเมืองชุมพร ฝ่ายบริหารมีเสียง สท.น้อยกว่าฝ่ายค้าน ส่งผลให้เทศบัญญัติไม่ผ่านสภา ผู้ว่าฯลงมาเล่นด้วย ตั้งกรรมการเข้ามาจัดการ ประนีประนอม แต่ผลออกมาเทศบัญญัติงบประมาณก็ยังไม่ผ่านสภา ผู้ว่าฯชุมพร จึงเสนอมหาดไทยให้ยุบสภา ถึงที่สุดแล้ว มหาดไทยสั่งยุบสภา และเลือกตั้งใหม่ ผลเลือกตั้งใหม่ ฝ่ายบริหารจึงมีเสียงข้างมาก เทศบัญญัติงบประมาณ จึงผ่านความเห็นชอบไปได้ด้วยดี

กล่าวสำหรับ อบจ.นครศรีธรรมราช น่าติดตามยิ่งว่า สภากับฝ่ายบริหารจะทำงานร่วมกันได้หรือไม่ เมื่อในสนามเลือกตั้งที่ผ่านมา ต่อสู้กันดุเดือด เข้มข้น แบ่งเป็นสองขั้วชัดเจน อันเป็นผลสืบเนื่องต่อกันมาจากการเลือกตั้งนายกฯอบจ.ที่บดขยี้กันหนักหน่วงระหว่าง เจ้ต้อย-กนกพร เดชเดโช อดีตนายกฯ กับ น้ำ วาริน ชิณวงค์ อันส่งผลให้ฝ่ายเจ้ต้อยบ้านใหญ่ร่อนพิบูลย์ พ่ายแพ้ เสียหน้าอย่างรุนแรง เจ้ต้อยที่มี แทน-ชัยชนะ เดชเดโช สส.พรรคประชาธิปัตย์เป็นหัวเรือใหญ่

มองไปถึงการเลือกตั้ง สส.ปี 70 แน่นอนว่า ถ้าแทนยังอยู่ประชาธิปัตย์ แทนจะต้องเป็นแม่ทัพใหญ่ของนครศรีธรรมราช และเป็นแม่ทัพภาคใต้ด้วย และแน่นอนว่าสนามเลือกตั้งใหญ่ปี 70 แทนจะยังคงยืนแบกหมัดกับพรรคภูมิใจไทย ที่ยังคิดจะขยายฐานเมืองนครศรีฯ จาก 2 เป็น 4 หรือเป็น 6 แน่นอน ซึ่งเป็นประเด็นที่แทนเองก็ยอมให้สูญเสียไม่ได้อีกแล้ว

แทนจึงอาจจะจำเป็นต้องระเบิดศึกในสนาม อบจ.ก่อน อันเป็นการรับรู้กันว่า อบจ.ยุคนี้สีน้ำเงินชัดเจน มีน้ำเงินที่มีพิพัฒน์ รัชกิจประการ หัวเรือใหญ่ภาคใต้ของพรรคภูมิใจไทย

แต่ปรากฏการณ์การเลือกตั้ง อบจ.ที่ส่งผลให้เจ้ต้อยพ่ายแพ้ เป็นปรากฏการณ์ที่แทนจะต้องทบทวนบทบาทของตัวเองที่ผ่านมา

แทนต้องทบทวนบทบาท และท่าทีในการแสดงออก ที่ถูกมองว่า 'วัยรุ่นกร่าง' ซึ่งแทนต้องลดท่าทีเหล่านี้ลง วัยรุ่นกร่าง นำมาสู่ข้อครหากดขี่ข่มเหง เอารัดเอาเปรียบคนอื่น ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร #นายหัวไทรไม่ทราบ ไม่รู้ ไม่เห็น เพียงแต่มีคำนินทาให้ได้ยิน

การนำพลพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล 'อุ๊งอิ๊ง' แห่งพรรคเพื่อไทย เป็นเหตุการณ์ที่คนใต้รับไม่ได้ เพราะต้องยอมรับความจริงว่าในช่วง 20 ปีมานี้ ประชาธิปัตย์สู้รบปรบมือกับเพื่อไทยมาตลอด และสังคมคนเชียร์ประชาธิปัตย์ก็รับรู้กันลึกซึ้งเกี่ยวกับอดีต-ปัจจุบันของ 'ทักษิณ ชินวัตร' ที่ยังรับไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคใต้ ที่ไม่เคยให้โอกาสพรรคเพื่อไทยเลย

พฤติกรรมบางเรื่องในช่วงเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ และการเข้าร่วมรัฐบาล แทนถูกมองว่า ก้าวร้าวต่อผู้อาวุโสในพรรคประชาธิปัตย์ ผู้อาวุโสอย่าง ชวนหลีกภัย บัญญัติ บรรทัดฐาน จุรินทร์ ลักษณะวิศิฏฐ์

จริงๆก็ยังมีอีกหลายประเด็นที่ประเดประดังเข้าหาแทนช่วงหาเสียงเลือกตั้ง อันเป็นเหตุผลหนึ่งจากหลายๆ เหตุผลที่ทำให้เจ้ต้อย ผู้เป็นแม่แพ้การเลือกตั้ง แต่หลังผลการเลือกตั้งนายกฯอบจ.ผ่านไป ผมได้เห็นบริบทที่เปลี่ยนไปของแทน เช่น อ่อนน้อมถ่อมตนมากขึ้น ได้เห็นภาพเข้าหาผู้อาวุโสมากขึ้น ถึงขั้นร่วมเคานต์ดาวน์บ้านนายหัวชวน หิ้วกระเช้าปีใหม่เข้าอวยพร ขอพรผู้อาวุโส

ภาพเหล่านี้น่าจะเกิดจากการทบทวน ถอดบทเรียนกับการเมืองที่ผ่านมา จึงเริ่มเห็น “แทน เปลี่ยนไป” แต่ต้องจับตาดูต่อไปว่า จะปรับเปลี่ยนได้อย่างยั่งยืนหรือไม่กับการเมืองในวันข้างหน้าที่หนักหน่วงไม่น้อย

‘มะม่วงแช่อิ่ม’ จิ้ม!! ‘วาซาบิ’ จากร้านมะม่วงเบาคาเฟ่ สิงหนคร ถูกคัดเลือกขึ้นโต๊ะ!! เสิร์ฟ ครม.สัญจร ‘สงขลา’ อร่อยละมุนลิ้น

(15 ก.พ. 68) พิเศษ…มะม่วงเบาแช่อิ่ม สูตรพิเศษคิดเอง ทำเอง จิ้มวาซาบิ จากร้านมะม่วงเบา คาเฟ่ สิงหนคร ได้รับการคัดเลือกให้นำไปเสิร์ฟเป็นอาหารว่างเลี้ยงคณะรัฐมนตรีช่วงสัญจรไปประชุมที่สงขลา ช่วงวันที่ 17-18 กุมภาพันธ์นี้

“มะม่วงเบาแช่อิ่มจิ้มวาซาบิ เป็นสูตรพิเศษไม่เหมือนใคร ทางร้านคิดขึ้นมาเอง ไม่มีที่ร้านอื่น รสชาติก็จะละมุนลิ้นขึ้น อร่อยในแบบที่แตกต่างกันออกไป” พงศ์ศักดิ์ มากสุวรรณ เจ้าของร้านสาธยาย

พงศ์ศักดิ์ บอกว่า เราจะคัดมะม่วงอย่างดี ไม่อ่อน ไม่แก่จนเกินไปทางมาหั่น ล้างก่อนจะแช่อิ่มตามสูตรของร้าน เราสามารถเลือกมะม่วงได้ เนื่องจากสิงหนครเป็นแหล่งปลูกมะม่วงเบาที่ใหญ่ที่สุด เป็นผลิตผลที่มีจีไอ“

พงศ์ศักดิ์ บอกว่า ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา โชตินรินทร์ เกิดสม เป็นคนตัดสินใจให้เอามะม่วงเบาแช่อิ่มจิ้มวาซาบิจากทางร้านไปขึ้นโต๊ะเสิร์ฟ ครม. เพราะผมเคยนำไปฝากท่านผู้ว่าฯให้ได้ชิมมาแล้ว ท่านผู้ว่าฯให้นายเอกสิทธิ์ สองเมือง นายอำเภอสิงหนคร คัดเลือกของว่างไปเลี้ยง ครม.นายอำเภอก็เสนอมะม่วงเบาแช่อิ่มจิ้มวาซาบิจากทางร้าน ผู้ว่าฯเคยชิมมาแล้ว จึงตัดสินใจเลย

“ทางร้านมะม่วงเบาคาเฟ่ เราจะคิดสูตรอาหารใหม่ ๆ ขึ้นมาเรื่อย ๆ เช่น เส้นบีหุ้นผัดเคย ล่าสุดเราลองทำปลาช่อนทะเลนึ่งด้วยมะม่วงเบา ไม่ต้องใช้มะนาว รสชาติก็จะนุ่มละมุนกว่า ไม่จี๊ดจ๊าดเหมือนมะนาว อร่อยกว่า”

พงศ์ศักดิ์ บอกอีกว่า ทางร้านจะเน้นอาหารประเภทปลา ปลาสดๆจากทะเลที่ชาวประมงในย่านนั้นนำมาขาย มีปลาเนื้ออ่อน (ทำได้หลายเมนู) จะฉู่ฉี่ หรือทอดกรอบ แกงส้มก็อร่อย แกงส้มเราก็มีแกงส้มมะม่วงเบาให้เป็นทางเลือกของลูกค้า นอกจากนี้เรายังมีหอยจ๊อปู เนื้อปูแน่น ๆ อีกด้วย

“รับรองว่ามารับประทานอาหารที่ร้านมะม่วงเบาแล้วจะไม่ผิดหวังกับบรรยากาศแนวลูกทุ่ง เมนูอาหารให้เลือกมากมาย เรากำลังทดลองทำเค้กจากมะม่วงเบาด้วย แต่สูตรยังไม่ลงตัวจึงยังไม่นำเสนอลูกค้า มีแต่เค้กรสชาติอื่นที่เราก็ผลิตเองเช่นกัน อีกไม่นานก็จะมีเค้กมะม่วงเบาให้บริการ”

กล่าวสำหรับร้านมะม่วงเบาคาเฟ่ ตั้งแต่เปิดให้บริการมาก็ได้รับการผลักดันจาก “วิชาญ ช่วยชูใจ” นักจัดรายการวิทยุ และจัดทัวร์ทางไท เป็นทัวร์ท่องเที่ยวเชิงชุมชน วิชาญก็จะนำลูกทัวร์มาแวะที่ร้านมะม่วงเบาคาเฟ่ตลอด

พงศ์ศักดิ์ บอกว่า ดีใจและภูมิใจที่ทางร้านได้รับการคัดเลือกให้นำมะม่วงเบาแช่อิ่มจิ้มวาซาบิ ไปขึ้นโต๊ะเลี้ยงผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมือง ขอบคุณนายอำเภอสิงหนคร ขอบคุณท่านผู้ว่าฯ

‘เฮียล้ง - จำนงค์ เอี้ยววงษ์เจริญ’ แห่งห้างสยามนครินทร์ บริจาคที่ดิน 130 ไร่ สร้างโรงพยาบาลหาดใหญ่ 2

เฮียล้งแห่งสยามนครินทร์ บริจาคที่ดิน 130 ไร่ สร้างโรงพยาบาลหาดใหญ่ 2 นายกฯชาย ตั้งงบทันที 90 กว่าล้าน ปรับพื้นที่

เป็นเรื่องที่ต้องกล่าวถึง หลังจาก 'นายกฯชาย-เดชอิศม์ ขาวทอง' รมช.สาธารณสุข มีนโยบายจะสร้างโรงพยาบาลหาดใหญ่ แห่งที่ 2 เพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองหาดใหญ่ หลังเข้ารับตำแหน่ง รมช.สาธารณสุข หลังจากนั้นตระเวนหาสถานีสร้างโรงพยาบาลหาดใหญ่ 2 ในหลายพื้นที่ มีทั้งคนที่ประสงค์จะขาย และประสงค์จะบริจาค รวมถึงมีกลุ่มคนเข้ามาเสนอแบบหวังผลประโยชน์ ในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในอนาคตก็มี

โรงพยาบาลหาดใหญ่ ต้องรองรับผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นทุกปี พื้นที่คับแคบไม่สามารถขยายได้แล้ว โดยเฉพาะสภาเศรษฐกิจหาดใหญ่ได้ร่วมกับผู้บริหาร รพ.หาดใหญ่ และนายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกันพิจารณาที่ดินหลายแปลง ทั้งในพื้นที่อ.บางกล่ำ และอ.หาดใหญ่ แต่ไม่สามารถดำเนินการได้

ล่าสุด นายเดชอิศม์ ขาวทอง ที่ลุยสำรวจพื้นที่ด้วยตัวเองมาหลายจุดทั้งที่ผู้สนใจบริจาค ที่ราชพัสดุ และได้ตัดสินใจเลือกที่ดินในพื้นที่ หมู่ที่ 9 ตำบลบ้านพรุ (เขตเทศบาลตำบลบ้านไร่) อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งบริจาคโดยกลุ่มสยามนครินทร์ จำนวน 130 ไร่

จำนงค์ เอี้ยววงษ์เจริญ ผู้บริหารกลุ่มสยามนครินทร์ เจ้าของห้างสยามนครินทร์ หาดใหญ่ ได้เสนอตัวบริจาคที่ดิน 130 ไร่ บริเวณบ้านพรุ (หาดใหญ่)สำหรับก่อสร้างโรงพยาบาลหาดใหญ่ 2 

จำนงค์ หรือเฮียล้ง บอกว่าที่ดินแปลงนี้สวยงามมาก อยู่บนที่เนิน น้ำไม่ท่วม จึงเหมาะที่จะสร้างโรงพยาบาลหาดใหญ่ 2 ตามเจตนารมย์ของนายกฯชาย และนายกฯชายได้ตัดสินใจแล้วเลือกที่ดินแปลงนี้ ตนก็จะบริจาคให้ แบบไม่คิดอะไรเลย ทางราชการก็จะต้องตั้งงบเพื่อปรับสภาพหน้าดินต่อไป

เฮียล้ง กล่าวด้วยความสุขใจว่า ที่ดินแปลงนี้สวยงามมากพี่เหลียว ผมปลูกต้นไม้ไว้หลายต้น อยู่บนเนินที่น้ำไม่ท่วม ยินดีบริจาคให้สร้างโรงพยาบาลหาดใหญ่ 2 ซึ่งนายกฯชายก็ตัดสินใจเลือกแล้ว

“ก่อนหน้านี้ มีผู้ติดต่อบริจาคที่ดินในเขตตำบลท่าช้าง อำเภอบางกล่ำ แต่ติดปัญหาเรื่องที่ดินมรดกทราบว่ามีทายาท 1 คนไม่เซ็นต์มอบที่ดินให้ จึงมีการจัดหาที่ดินใหม่หลายแปลง ทั้งที่บริจาค ที่ราชพัสดุ ที่ดินแปลงนี้คุณจำนงค์ แจ้งความประสงค์จะบริจาคมานานแล้วจำนวน 100 ไร่ แต่ผมขอเพิ่มเติมอีก เพราะอยากจะสร้างเป็นเมืองสุขภาพ มีวิทยาลัยพยาบาลในพื้นที่ด้วย จึงเป็นที่มาของการบริจาคที่จำนวน 130 ไร่ของสยามนครินทร์ในวันนี้” นายเดชอิศม์ กล่าว และว่า

การเลือกที่ดินแปลงนี้ เราได้ตัดสินใจร่วมกันด้วยหลายเหตุผล พื้นที่ดังกล่าวตั้งอยู่ในพื้นที่สูงน้ำไม่ท่วมแน่นอน ไม่ต้องใช้งบประมาณในการถมพื้นที่เยอะ เป็นพื้นที่ที่โอบล้อมด้วยธรรมชาติ อยู่ไม่ไกลจากถนนสายหลักคือ ถนนกาญจนวณิชย์ (ทล.4) และอยู่ใกล้แนวถนนวงแหวนรอบเมืองหาดใหญ่สายตะวันออก (ทล.425) การเดินทางสะดวกจากทุกเส้นทาง 

รมช.สาธารณสุข กล่าวต่อว่า ได้เชิญชวนหลายหน่วยงานมาร่วมกันประชุมเพื่อช่วยกันทำให้โครงการนี้เกิดขึ้นเร็วที่สุด โดยในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการจัดตั้งงบประมาณในการปรับพื้นที่แล้วจำนวน 92 ล้านบาท และเมื่อทุกอย่างลงตัวแล้ว ก็จะมีพิธีส่งมอบ และมีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

สาธุบุญสำหรับจิตอันเป็นกุศลของเฮียล้ง (จำนงค์) ขอให้ธุรกิจเดินหน้าไปอย่างไม่มีปัญหา ไม่มีโรคภัยเบียดเบียน บริวารมากมี

สับ!! ‘กกต.’ กลางวงเสวนา จัดเลือกตั้ง อบจ.68 ล้มเหลว ‘นิพนธ์’ กังวล!! ปัญหาซื้อเสียง ‘นายหัวไทร’ ชี้!! คนลงคะแนนน้อยกว่าปกติ เพราะ กกต.กำหนดวันเลือกตั้งผิดพลาด

เมื่อวันที่ (20 ก.พ.68) ที่ห้อง SB 0301 อาคารศรีศรัทธา มหาวิทยาลัยรามคำแหง ชมรมรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง จัดเสวนาเชิงวิชาการหัวข้อ เลือกตั้ง: อบจ.68 สะท้อนอะไร? โดยวิทยากรร่วมเสวนาอาทิ นายนิพนธ์ บุญญามณี อดีตรมช.มหาดไทย รศ.ดร.รงค์ บุญสวยขวัญ อดีตสส.นครศรีฯ นายศักดา นพสิทธิ์ อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย และนายเฉลียว คงตุก สื่อมวลชนอาวุโสสายการเมืองท้องถิ่นและเจ้าของคอลัมน์ ‘นายหัวไทร’ ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.เพิ่มศักดิ์ จะเรียมพันธ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง ซึ่งการเสวนาครั้งนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมฟังประมาณ 100 คน

เฉลียว คงตุก เปิดวงเสวนาด้วยข้อกังวลกับการเลือกตั้ง อบจ.หลายประเด็น เช่น บ้านใหญ่ส่งผู้สมัครไม่ตรงกับความต้องการของประชาชน การเมืองใหญ่เข้าไปครอบงำการเมืองท้องถิ่น ทำให้ท้องขาดอิสระ การใช้เงินซื้อเสียงมโหฬาร แต่ กกต.ไม่รู้ไม่เห็น การจัดเลือกตั้งวันเสาร์เป็นครั้งแรก กกต.อ่อนด้อยในการประชาสัมพันธ์ เหล่านี้คือเหตุผลทำให้คนออกมาใช้สิทธิ์น้อย โหวดโต บัตรเสีย

นายนิพนธ์ บุญญามณี อดีตรมช.มหาดไทยและอดีตสส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า วันนี้การจะทำให้ประเทศเข้มแข็งจะต้องทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็ง ซึ่งการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรมเริ่มในยุคพลเอกเปรม ติณนสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี  หลังมีการเรียกร้องให้มีการกระจายอำนาจและในปี 2528 มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นครั้งแรกในการเลือกตั้งผู้ว่าฯกรุงเทพมหานครที่ใช้อยู่ในปัจจุบันถือเป็นการกระจายอำนาจแรก ในขณะตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดหรืออบจ.นั้นเป็นตำแหน่งของผู้ว่าราชการจังหวัด 

“ตอนนั้นผู้ว่าฯ สวมหมวกสองใบ คือเป็นทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดและนายกอบจ. หมวกหนึ่งเป็นตัวแทนราชการส่วนกลาง อีกหมวกเป็นส่วนท้องถิ่น นายอำเภอก็เป็นนายกสุขาภิบาล ต่อมารัฐธรรมนูญปี40 เริ่มเห็นบทบาทการกระจายอำนาจอย่างจริงจัง โดยเขียนไว้ว่าให้ผู้บริหารท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง เริ่มจากนายกอบจ.ที่เลือกมาจากสจ. นายกเทศบาลก็เหมือนกันเลือกมาจากสท. แล้วต่อมาก็มาเปลี่ยนเป็นการเลือกตั้งโดยตรง เริ่มเลือกตั้งครั้งแรกปี44 จนถึงวันนี้ ทำให้เลือกตั้งท้องถิ่นเข้มข้นมากขึ้น”

นายนิพนธ์กล่าวต่อว่า แต่ก่อนการเลือกตั้งท้องถิ่น พรรคการเมืองไม่ค่อยเข้าไปยุ่งมาก เพราะมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งข้อดีผู้สมัครนายกอบจ.หรือองค์กรปกครองท้องถิ่นอื่นในนามพรรคการเมืองก็จะมีคนรับผิดชอบ อย่างน้อยในการช่วยคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมลงสมัคร หรือหากบริหารงานเกิดความผิดพลาดพรรคการเมืองก็ต้องรับผิดชอบ แต่หากสมัครนามอิสระไม่มีใครกรองให้ประชาชน เมื่อเกิดการบริหารราชการความผิดพลาดเสียหายขึ้นมา ตัวเองผ่านพ้นไปใครจะรับผิดชอบ  

“เมื่อผมมาอยู่ในพรรคประชาธิปัตย์ก็อยู่ในปีกกระจายอำนาจ มีกระแสไม่เห็นด้วยเหมือนกันในพรรคประชาธิปัตย์ขณะนั้น แต่สรุปเราเห็นแนวทางนี้แล้วว่าการเลือกผู้บริหารท้องถิ่นโดยตรงเป็นสิ่งจำเป็น ผมเชื่อตรรกะนี้ว่าถ้าท้องถิ่นเข้มแข็ง ประเทศไทยก็จะเข้มแข็ง”อดีตรมช.มหาดไทยกล่าวย้ำ 

ขณะที่ รศ.ดร.รงค์ บุญสวยขวัญ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์และอดีตสส.นครศรีฯ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวเสริมว่า แม้ปัจจุบันการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไทยจะเป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ เพราะมีการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนในทุกระดับทั้งนายกอบจ. นายกเทศบาล นายกอบต. หากแต่การบริหารราชการแผ่นดินในท้องถิ่นท้องที่ยังไม่มีความอิสระยังเป็นการบริหารราชการแบบรวมศูนย์ โดยนายกอบจ.ไม่มีโอกาสจัดทำโครงการฯทำโปรเจกต์ตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ต้องรอคำสั่งจากส่วนกลาง ที่สำคัญท้องถิ่นก็ไม่ได้ขับเคลื่อนงานตามนโยบายรัฐบาล แต่ขับเคลื่อนด้วยกระทรวงมหาดไทย ทำให้การบริหารงานท้องถิ่นผิดฝาผิดฝั่งไป

“วันนี้ท้องถิ่นไม่ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายรัฐบาลแต่ขับเคลื่อนด้วยมหาดไทย พอเกิดปัญหาท้องถิ่นทำอะไรได้ไม่เต็มที่ ไม่สามารถจัดการปัญหาสาธารณะได้ มังคุดราคาตก ชาวบ้านเคยพาไปเททิ้งหน้าอบจ. อบต.ไม๊ ก็ไปเททิ้งหน้าศาลากลาง มันสะท้อนถึงรัฐบาลรวมศูนย์ ท้องถิ่นยังทำอะไรไม่ได้ เมื่อทำอะไรไม่ได้ก็ตอบคำถามที่ว่าทำไมคนจึงไปเลือกตั้งอบจ.คราวนี้น้อยกว่าปกติ เพราะเลือกไปก็ไม่มีประโยชน์ เข้าไปก็ทำอะไรไม่ได้มาก”รศ.ดร.รงค์ บุญสวยขวัญ วิพากษ์อย่างเผ็ดร้อน  

ด้าน นายศักดา นพสิทธิ์ อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทยกล่าวว่าในการเลือกตั้งอบจ.68 ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าบริบทบางครั้งนโยบายของพรรคการเมืองมีอิทธิพลต่อการเลือกตั้งในระดับพื้นที่เหมือนกัน อย่างบางพรรคการเมืองไม่ได้รับความนิยมในพื้นที่ภาคใต้ก็จะไม่ส่งผู้สมัครลงสมัครในนามพรรค หรืออาจมีทัศนคติก็ได้ที่ว่าในเรื่องของท้องถิ่นพรรคการเมืองไม่ควรเข้าไปสนับสนุน ควรอยู่ในระดับชาตินโยบายของประเทศเท่านั้น เพราะคำว่าท้องถิ่นหมายความว่าให้คนในพื้นที่ ให้คนในท้องถิ่นบริหารจัดการเลือกผู้นำของตัวเองขึ้นมาเป็นผู้บริหาร นั่นคือนิยามสมบูรณ์ดีที่สุดในแง่การปกครองการบริหารส่วนท้องถิ่น ส่วนท้องถิ่นนำเอานโยบายบางส่วนบางตอนของพรรคการเมืองใดไปใช้เป็น ก็แล้วแต่ผู้บริหารท้องถิ่นนั้นที่เห็นว่ามีความเหมาะสมในสภาพพื้นที่และบริบทของสังคม 

“กกตไม่ใช่มีแค่หน้าที่จัดการเลือกตั้งให้เสร็จเท่านั้น แต่หลักการจะต้องสะท้อนการลงคะแนนผ่านการเลือกตั้งด้วย เราจะได้รู้ว่าใครเป็นคนดีที่สุดเหมาะบริหารในท้องที่ในท้องถิ่นระดับชาติมากที่สุด ไม่เช่นนั้น คนที่มีการศึกษาดี มีคุณธรรม ไม่เคยมีประวัติทุจริตคดโกงก็ไม่ได้เป็นตัวแทน บางทีคนที่เลวร้ายที่สุดก็ยังได้รับการเลือก เพราะมีหลายบริบทที่รวมอยู่ในคุณสมบัติผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง” อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทยกล่าว

ส่วนนายเฉลียว คงตุก สื่อมวลชนอาวุโสเชี่ยวชาญด้านการเมืองท้องถิ่นและเจ้าของคอลัมน์ ‘นายหัวไทร’ กล่าวว่า การเลือกตั้งอบจ.คราวนี้มันสะท้อนอะไรบ้าง สิ่งที่ยังอยากพูดถึงในวันนี้ก็คือการกำหนดวันเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ซึ่งปกติจัดการเลือกตั้งในวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันหยุดทุกองค์กร ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและบริษัทเอกชน ยกเว้นเกษตรกรที่ไม่มีวันหยุด แต่การจัดการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นวันเสาร์ ซึ่งบริษัท ห้างร้าน โรงงาน หรือบริษัทเอกชนยังเปิดทำงานกันตามปกติ ทำให้การเลือกตั้งอบจ.ในหลายจังหวัดครั้งนี้มีการลงคะแนนเลือกตั้งน้อยเป็นประวัติการณ์ 

“ผมคิดว่าน่าจะเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่เลือกตั้งวันเสาร์ เพราะทุกครั้งที่ผ่านมาจะมีการเลือกตั้งวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันหยุดของประชาชนคนส่วนใหญ่จะสะดวกเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ไม่ใช่วันทำงาน ผมเองให้ทีมงานไปถามเลขากกต.ทำไมจัดการเลือกตั้งวันเสาร์แล้วที่ประชุมสภาเองก็ได้มีการเชิญกกต.ไปชี้แจง ซึ่งเลขากกต.ชี้แจงว่าการที่จัดการเลือกตั้งวันเสาร์ เพราะถ้าขยับไปอีกวันเป็นวันอาทิตย์ที่ 2 ก.พ.เกรงว่าการเลือกตั้งจะไม่แล้วเสร็จตามกฎหมายที่กำหนดจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 45วัน  อันที่จริงกกต.น่าจะร่นลงมาสักอาทิตย์ก็ได้ ซึ่งก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า แต่ทางกกต.เกรงว่าผู้สมัครจะมีเวลาหาเสียงน้อย พบปะประชาชนไม่ทั่วถึง ผมไม่เชื่อในตรรกะนี้”เจ้าของคอลัมน์”นายหัวไทรกล่าวทิ้งท้าย

สรุปภาพรวมวงเสวนามีน่าสนใจ พอจะประมวลจากการสะท้อนของวิทยากร ที่ทำให้มีบัตรเสียจำนวนมาก บัตรโหวตโนเยอะ คนใช้สิทธิ์น้อย เกิดจากเหตุปัจจัยหลายประการ

ประการแรก ข่าวหน้าหูเรื่องการใช้เงินมโหฬารในการจ่ายกับการเลือกตั้ง (ซื้อเสียง) อันจะนำไปสู่การถอนทุนในอนาคต (ทุจริต) ทำให้คนเบื่อการเมือง ชัดขึ้นกับคำว่า “เงินไม่มากาไม่เป็น” วิทยากรส่วนใหญ่แนะนำว่า ถ้าเขาเอาเงินมาให้ก็รับไว้ แต่การเลือกตั้งเป็นสิทธิ์ของแต่ละคน เดินเข้าสู่คูหาไม่มีใครรู้ว่าเราเลือกใคร เหตุฆาตกรรมจากการเบี้ยวกันทางการเมือง เริ่มหายไปราว 1 ทศวรรษแล้ว

ประการต่อมา การที่นักการเมืองบ้านใหญ่เข้าไปจัดการ บงการส่งผู้สมัคร ซึ่งมีคุณสมบัติไม่ตรงกับที่ประชาชนต้องการ จึงเลือกที่จะโหวตโน เพราะผู้สมัครยังไม่โดนใจพอ

ประการต่อมา คือที่พรรคการเมือง นักการเมืองระดับชาติเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น ทำให้ท้องถิ่นขาดความเป็นอิสระ ผิดหลักการกระจายอำนาจ แม้วิทยากรบางคนจะเห็นแย้งว่า เมื่อพรรคการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง พรรคการเมืองก็ต้องรับผิดชอบต่อประชาชนด้วยกับผลของการกระทำ

ประการที่สี่ ประชาชนไม่เชื่อมั่นต่อการจัดเลือกตั้งว่าจะเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ เที่ยงธรรม เพราะเห็นมามากแล้ว ประชาชนรู้กันทุกหย่อมหญ้าว่ามีการซื้อเสียง แต่ กกต.หน่วยงานจัดการเลือกตั้งกลับไม่รู้ไม่เห็น ทำให้ประชาชนหมดหวังกับองค์อิสระอย่าง กกต. จะเห็นได้ว่า ที่ผ่านมา กกต.ไม่เคยจับทุจริตการเลือกตั้งได้ด้วยตัวเอง รอให้คนนำหลักฐานไปร้องเรียนถึงจะดำเนินการสอบสวน ไม่มีการสืบด้วยตัวเอง กลไกผู้ตรวจการเลือกตั้งก็ทำงานไม่ได้ผล

ประการที่ห้า การจัดการเลือกตั้งวันเสาร์เป็นครั้งแรก ทั้ง ๆ ที่เป็นวันทำงาน ผู้มีสิทธิ์บางคนไม่สามารถละจากงานเพื่อไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งได้ ทำให้ยอดผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งน้อยกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา กกต.อ้างว่า ถ้าจัดเลือกตั้งวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ จะหมิ่นเหม่ถ้ามีเหตุฉุกเฉินจะจัดการเลือกตั้งไม่แล้วเสร็จในกรอบ 45 วัน จริง ๆ กกต.ร่นมาอีกอาทิตย์หนึ่งก็ยังได้ แต่ กกต.กลับกลัวว่า จะมีเวลาให้หาเสียงน้อย ซึ่งเป็นตรรกะที่จะรับฟังได้

ประการที่หก การไม่จัดให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้า สำหรับผู้ที่มีภารกิจ ไม่สามารถมาลงคะแนนเสียงได้ในวันเสาร์ทำให้เขาต้องถูกตัดสิทธิ์ทางการ จะถูกปิดกั้นการแสดงออกทางการเมือง จะลงสมัครอะไรก็ไม่ได้ไประยะหนึ่ง

นี้คือประเด็นหลัก ๆ ที่มีการพูดคุยกันในวงเสวนา ‘เลือกตั้ง อบจ.68 สะท้อนอะไร’ ก็สะท้อนให้เห็นปัญหามากมายที่จะต้องปรับแก้กันต่อไปในอนาคต

ถ้า ‘สส.มุก’ โดนใบแดง เลือกตั้งซ่อมเขต 8 นครศรีฯ ดุเดือดแน่ แม้ปี่กลองยังไม่เชิดเลย แต่บางพรรคก็เริ่มร่ายรำแล้ว

ศาลอุทธรณ์ยังไม่ตัดสินคดี 'มุกดาวรรณ เลื่องสีนิล' สส.นครศรีธรรมราช เขต 8 พรรคภูมิใจไทย ที่ถูกร้องเรียนเรื่องทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง โดยศาลนัดอ่านคำพิพากษาวันที่ 26 มีนาคมนี้ แต่ปรากฏเห็นการเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองคึกคัก เตรียมส่งคนลงสมัครเลือกตั้งซ่อมกันแล้ว

ปี่กลองยังไม่เชิดเลย แต่บางพรรคก็ร่ายรำแล้ว ประเดิมด้วยพรรคประชาชน กรรมการบริหารพรรคประชาชน มีมติให้ณัฐกิตต์ อยู่ด้วง เป็นว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในการเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ 8 จ.นครศรีธรรมราช ในนามของพรรคประชาชน

โดยพื้นที่เขตเลือกตั้งที่ 8 จะประกอบไปด้วย อำเภอพิปูน, อ.ฉวาง, อ.นาบอน และอำเภอช้างกลาง

ณัฐกิตต์ฯ กล่าวว่า ตนมีความพร้อมและทุ่มเทความตั้งใจอย่างเต็มกำลัง จึงขอให้ประชาชนให้โอกาสในการทำงานรับใช้พื้นที่นี้ด้วยความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาให้ก้าวหน้าไปพร้อมกัน ตนก็เป็นลูกหลานของพ่อแม่พี่น้องชาวอำเภอพิปูน ฉวาง ช้างกลาง นาบอน เช่นกัน

พยายามค้นหาโปรไฟล์ของณัฐกิตต์ฯในระบบออนไลน์ (กูเกิล) ไม่ว่ากันนะ แทนจะไม่พบเลย จึงไม่อาจจะสาธยายสรรพคุณได้

สำหรับพรรคภูมิใจไทย เจ้าของพื้นที่ยังสงบนิ่งอยู่ คงรอให้ศาลตัดสินก่อนในวันที่ 26 มีนาคม แต่ในระดับพื้นที่เข้าใจว่าคงจะมีการเตรียมการอยู่บ้างแล้ว อย่าง 'เลื่องสีนิล' แน่นอนว่าน่าจะเสนอทายาทให้พรรคพิจารณา อาจจะเป็นสามี หรือหลานของ สส.มุกดาวรรณ ก็เป็นได้ แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับพรรคว่าจะเอาสายเดิม หรือเปลี่ยนสาย ซึ่งถ้าพรรคภูมิใจไทยจะเปลี่ยนสาย ก็มี 'สุนทร รักษ์รงค์' ที่ไปยืนคอยอยู่แล้ว เป็นสมาชิกพรรคภูมิใจไทยแล้ว

การเลือกตั้งปี 66 สุนทรลงสมัครในเขต 8 แข่งกับมุกดาวรรณ ในนามพรรคพลังประชารัฐ ได้คะแนนมา 18000 กว่าคะแนน แพ้ให้กับมุกดาวรรณ ถ้ามุกดาวรรณโดนใบแดง สุนทรก็จะเป็นอีกตัวเลือกที่ดีของพรรคภูมิใจไทย

พรรคประชาธิปัตย์คงจะไม่พลาดในการชิงพื้นที่กลับคืนมา อยู่ที่ว่าจะส่งใครลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ต้องอยู่ใน 'ตระกุลบุณยะเกียรติ์' แน่นอน จะเป็นชินวรณ์ หรือลูกสาวเท่านั้นเอง แต่แว่วมาว่าชินวรณ์จะลงสมัครเอง

พรรครวมไทยสร้างชาติ ถ้าจะเดินหน้าพรรคต่อก็ไม่ควรพลาดสนามเลือกตั้งนี้ แต่ไม่รู้ว่ามีตัวเลือกของพรรคหรือไม่ แต่ทราบว่า ดร.คมเดช มัชฌิมวงค์ ที่เคยลงสมัครรับเลือกตั้ง เขต 7 ทุ่งใหญ่ ในนามพรรคพลังประชารัฐ สนใจว่าย้ายมาลงเขตนี้ เนื่องจากเป็นคนพิปูน เคยเป็นนายกฯอบต.อยู่ที่พิปูน แต่จะลงพรรคพลังประชารัฐ หรือย้ายมาพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็ต้องติดตามกันต่อไป

แต่ที่น่าสนใจ คือ 'บิ๊กโอ' สจ.ก้องเกียรติ์ เกตุสมบัติ ที่ช่วงหลังใกล้ชิดกับ รอ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ประธานที่ปรึกษาพรรคกล้าธรรม และ รอ.ธรรมนัส ก็สนับสนุนบิ๊กโอเต็มที่ด้วยบุคลิก และอะไรที่เข้ากันได้ดี เมื่อจังหวะ และโอกาสมาถึงบิ๊กโอ จึงน่าจะลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคกล้าธรรม

บิ๊กโอ ตั้งใจจะลงสมัคร สส.ตั้งแต่คราวที่แล้ว ในนามพรรคประชาธิปัตย์ แต่การจัดสรรคนไม่ลงตัว เมื่อบุณยเกียรติ์ ลงสมัครถึงสองเขต ทำให้บิ๊กโอพลาดโอกาสนั้นไป ทั้ง ๆ ที่ลาออกจาก ส.อบจ.มานั่งรออยู่แล้ว แต่ประเด็นของบิ๊กโอคือ ถ้าลงสมัครรับเลือกตั้งเขตนี้ อาจจะต้องชนกับพ่อตา (ชินวรณ์) หรือน้องเมีย (ปุณสิริ) ซึ่งเป็นเรื่องยากสำหรับการตัดสินใจ แต่การเมืองคือการเมือง สามีภรรยาอยู่คนละพรรคกันก็มี เพียงแต่ไม่ได้ลงแข่งกันในเขตเดียวกัน แต่บิ๊กโอ จะต้องแข่งกับพ่อตา หรือน้องเมีย อาจจะยุ่งยากใจอยู่บ้าง

คร่าว ๆ เบื้องต้นสำหรับการเมืองในสนามเลือกตั้งเขต 8 นครศรีธรรมราช แต่ย้ำว่า ศาลยังไม่ตัดสินนะ

เลือกตั้งซ่อมเขต 8 นครศรีฯถ้ามีขึ้นจริง ดุเดือดแน่นอน พรรคการเมืองใหญ่ต้องมารุมกันอยู่ที่นี้ ยังไม่รู้ว่าพรรคเพื่อไทย จะร่วมวงกับเขาด้วยหรือเปล่า

‘เถ้าแก่หลี’ ประเดิมช่วยครอบครัว 4 ผู้พิการสิงหนคร มอบ!! แพมเพิร์ม เงินสด มูลค่า 40,000 บาท

เมื่อช่วงเช้าวันที่ 8 มีนาคม 2568 น.ส.ชัชฎาภรณ์ ยิ้มแก้วชึ่งเป็นภรรยานายเฉลิมชัย ครุอำโพธิ์ (เถ้าแก่หลี) เศรษฐีผู้ใจบุญแห่ง อ.สิงหนคร จ.สงขลา ได้เป็นตัวแทนของเถ้าแก่หลีนำสิ่งของ(แพมเพิร์ส)จำนวน 100โหลคิดเป็นเงิน 32,000 บาทพร้อมด้วยเงินสดอีก10,000บาทมามอบให้กับครอบครัวผู้เปราะบาง(พิการทั้งครอบครัว 4 คน ชึ่งครอบครัวดังกล่าวตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลสทิงหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา และเยี่ยมเยียนให้กำลังใจครอบครัวกลุ่มเปราะบางและผู้พิการ ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 4 คน ได้แก่ 1. นางปวีณา พรหมสถิตย์ อายุ 63 ปี 2. นายชัยยันต์ พรหมสถิตย์ อายุ 61 ปี 3. นายดำรงค์เดช พรหมสถิตย์ อายุ 36 ปี 4. นายนัทพงค์ พรหมสถิตย์ อายุ 29 ปี ซึ่งดำรงชีวิตด้วยเงินสวัสดิการจากภาครัฐ อาทิ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดือนละ 600 บาท เบี้ยยังชีพคนพิการเดือนละ 800 บาท และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเดือนละ 300 บาท อีกทั้งได้รับความช่วยเหลือจากชุมชน และมีรายได้เสริมจากการรับจ้างทำงานเล็กๆ น้อยๆ

โดยนส.ชัชฎาภรณ์ได้พูดถึงการลงมาในครั้งว่าได้ทราบข่าวจากคุณพงค์ศักดิ์ มากสุวรรณ ชึ่งเป็นเจ้าของร้านอาหารมะม่วงเบาคาเฟ่ ในอำเภอสิงหนคร ช่วยเป็นสะพานบุญในการบริจาคในครั้งนี้ด้วยการแจ้งข่าวพบผู้เปราะบางอยู่ในบ้านเดียวกันถึง 4 คน เมื่อเถ้าแก่หลีทราบเรื่องจึงยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นก่อน แต่หากเดือดร้อนอะไรอย่างไรก็ขอให้แจ้งมายินดี และพร้อมให้ความช่วยเหลือ และอยากฝากถึงผู้ที่มีจิตศรัษธาที่มีกำลังทรัพย์อยากจะบริจาคถ้าเป็นสิ่งของก็สามารถบริจาคฝากไว้ที่ร้านอาหารมะม่วงเบาที่สิงหนครก็ได้หรือถ้าเป็นเงินก็สามารถบริจาคผ่านบัญชี9270437183กรุงไทย นายดำรงค์เดช พรหมสถิตย์ได้เลย นส.ชัชฎาภรณ์กล่าว

นับเป็นการยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือผู้เปราะบางโดยภาคเอกชน แต่สำหรับภาคราชการ นายอำเภอ ได้นำเจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองสิงหนคร เข้าไปเยี่ยมให้กำลังใจแล้ว หลังทราบข่าว แต่ยังไม่เห็นมาตรการช่วยเหลือว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง ช่วยอะไรได้หรือไม่ เช่นเดียวกัน ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสงขลา ก็ได้เดินทางไปเยี่ยมให้กำลังใจแล้ว พร้อมควักเงินส่วนตัว 3000 บาทช่วยเหลือไปก่อน แต่มาตรการภาครัฐ ยังไม่เห็นว่าจะดำเนินการอย่างไร

ต้องขอขอบคุณพงค์ศักดิ์ มากสุวรรณ เจ้าของร้านมะม่วงเบาคาเฟ่ สิงหนคร ที่พบเห็นแล้วไม่มองผ่าน แจ้งประสานไปยังหน่วยงานต่างๆ ให้เข้ามาใส่ใจดูแล ง่ายๆ คือไม่นิ่งดูดาย ขอบคุณเถ้าแก่หลีผู้มากบุญ มากด้วยน้ำใจยื่นมือเข้ามาช่วยคนบ้านเดียวกัน

คนร้ายถล่มที่ว่าการ อ.สุไหงโกลก สะท้อนความเพ้อเจ้อของ ‘ทักษิณ’ “เหตุการณ์ร้ายในสามจังหวัดชายแดนใต้จะสงบในสองปี”

เหตุการณ์คนร้ายนับ 10 คน บุกยิงถล่มป้อม อส.อำเภอสุไหงโกลก จ.นราธิวาส พร้อมปาระเบิด จนเกิดการยิงปะทะกันเป็นเหตุให้ อส.สังเวยชีวิตไป 2 นาย เป็นภาพสะท้อนความเพ้อเจ้อของ 'ทักษิณ' เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังทักษิณลงไปเยือนพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ และเชื่อมั่นว่า จะแก้ปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ได้ในสองปี และปี 68 จะเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ปี 69 จบ

เพ้อเจ้อ กับคำกล่าวของ 'ทักษิณ ชินวัตร' อดีตนายกรัฐมนตรี ที่บอกว่าจะได้รับความร่วมมือจากทางการมาเลเซีย และถ้าพี่น้องประชาชนในพื้นที่ให้ความร่วมมือ เป็นการกล่าวที่ไม่มีรายละเอียดของแผนการว่าจะทำอะไร อย่างไร แค่พูดลอย ๆ

แต่เป็นคำกล่าวที่ทำให้ 'ภูมิธรรม เวชยชัย' รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกลาโหม หลงคารมเชื่อไปแล้วว่า ในสองปี เหตุการณ์ไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะสำเร็จเสร็จสรรพกับการลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหา ไม่กี่ชั่วโมงกับความเพียรพยายามแก้ปัญหามานาน ผ่านมาหลายรัฐบาล รวมถึงรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช สมชาย วงศ์สวัสดิ์ และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รากเหง้าของไทยรักไทย

การลงพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ของทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ปรึกษาประธานอาเซียน ที่ว่าการแก้ไขปัญหาไฟใต้มองเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ และจะให้จบในปี 2569 เป็นแค่คำคุยโวโอ้อวดเท่านั้น เพราะยังหาความชัดเจนอันใดมิได้ ยังไม่นับคำขอโทษที่ว่างเปล่าไร้ความหมาย ขาดความจริงใจ 

ในกรณีตากใบ ได้แค่คำว่า “ขออภัย” ถ้าทำให้รู้สึกไม่สบายใจ ในขณะที่ชาวตากใบต้องการ “คำขอโทษ”อย่างเป็นทางการ ไม่ใช่เกิดจากการสัมภาษณ์ ซักไซด์ไล่เลียง

การลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของทักษิณ 'พรรคประชาชาติ' ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นพรรคสาขาของพรรคเพื่อไทยนั้น เป็นที่รับรู้กันดีว่า ทริปทักษิณล่องชายแดนใต้ครั้งนี้  พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาชาติ และ  นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร อดีตหัวหน้าพรรคประชาชาติ เป็นผู้วางโปรแกรมออนทัวร์ โดยทุกจุดที่ทักษิณไปเยือนนั้นเป็นฐานเสียงของพรรคประชาชาติ และล้วนแต่มีหัวคะแนนของ 'วันนอร์ – ทวี' มาต้อนรับร่วมกับภาคส่วนราชการ

เริ่มจากไปพบปะพี่น้องชาวไทยพุทธที่ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ก่อนจะไปกล่าวคำขออภัยต่อชาวมุสลิม ที่ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส, อ.สายบุรี จ.ปัตตานี และ อ.เมืองยะลา จ.ยะลา และสุดท้ายมาจบที่บ้านศรียะลา ของ 'วันนอร์' ซึ่งวันนอร์ ยกมือไหว้ต้อนรับอย่างนอบน้อมในฐานะเจ้าบ้าน ส่วนทักษิณ ไม่ได้ยกมือไว้รับ แต่เอื้อมมือสองข้างไปโอบไหล่แบบเอ็นดูสงสาร เหมือนผู้ใหญ่เอ็นดูสงสารเด็ก ก่อนบินกลับกรุงเทพฯ

ไฮไลต์ทริปลงพื้นที่ 3 ชายแดนใต้ นราธิวาส, ปัตตานี และยะลา ในหนึ่งนั้น เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2568 ของทักษิณ ในรอบ 20 ปี จึงมีจุดโฟกัส 3 เรื่องใหญ่ คือ

หนึ่งการขีดเส้นจบปัญหาชายแดนใต้ในปี 2569 แต่ยังไม่มีแผนการอะไรว่าจะจบแบบไหน อย่างไร

สอง คำขออภัยของทักษิณ ต่อความผิดพลาด ที่สะท้อนถึงความไม่จริงใจและไร้ความหมาย

และสาม อนาคตข้างหน้าของพรรคประชาชาติ จะรุ่งหรือร่วง หลังการโหนทักษิณ รวมถึงภาพวันนอร์ ไหว้สวยรับทักษิณขณะเยือนบ้านใหญ่ศรียะลา ซึ่งใคร ๆ ก็มองว่าไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง

ต้องไม่ลืมว่า ปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ เกิดจากทักษิณ ที่รับรู้ข้อมูลไม่รอบด้าน และตัดสินใจผิดพลาดในเชิงนโยบายรับรู้ข้อมูลว่า ขบวนการโจรใต้แบ่งแยกดินแดน แค่ 'โจรกระจอก' และมีไม่เกิน 20 คน เป็นคนที่ไม่มีอุดมการณ์อะไร เป็นโจรก่ออาชญากรรมธรรมดา อันนำมาสู่การตัดสินใจเชิงนโยบายที่ผิดพลาด คือสั่งยุบ 'ศอ.บต.' ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นหน่วยงานพิเศษจัดตั้งขึ้นสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐ เป้าหมายทำหน้าที่การพัฒนา และงานจิตวิทยามวลชน และยุบ พ.ต.ท.43 (กองกำลังผสมพลเรือน ทหาร ตำรวจ) อันเป็นหน่วยงานรักษาความสงบเรียบร้อย

การตัดใจที่ผิดพลาดยังนำมาสู่การบุกเข้าไปปล้นปืนของทางราชการทหาร ในค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (ค่ายปิเหล็ง) เมื่อเช้ามืดของวันที่ 4 มกราคม 2547 อันเป็นปฐมบทของเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

จากนั้นมายังมีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นมากมายเป็นรายวัน รวมถึงเหตุการณ์บุกมัสยิดกรือเซาะ และจบลงด้วยการล้อมปราบ เกิดการสูญเสียมากมาย เป็นบาดแผลของสังคม ยังมีเหตุการณ์สลายการชุมนุมปิดล้อมโรงพักตากใบ กดดันให้ปล่อยตัว 4 ผู้ต้องหาครอบครองอาวุธปืนของทางการ และจบลงด้วยการล้อมปราบเช่นกัน แต่ไปหนักตรงตอนขนย้ายผู้ถูกควบคุมตัวไปไว้ในค่ายทหาร เป็นการขนย้ายด้วยรถยีเอ็มซี ที่อัดแน่น สุดท้ายเหยียบกันตาย ขาดอากาศหายใจเสียชีวิตไปร่วม 80 คน

20 ปีกับขวัญร้ายของผู้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ต้องสูญเสียมากมาย สูญเสียชีวิต ทรัพย์สิน เลือดเนื้อ และสูญเสียโอกาสอีกมากมาย ทหาร ตำรวจ ก็สูญเสียไม่น้อย ผู้ที่เปราะบาง อ่อนแอกว่าก็ตกเป็นเหยื่อ 20 ปีภาครัฐใช้งบประมาณไปแล้วประมาณ 3 แสนล้าน ถ้าไม่มีเหตุการณ์ร้ายในสามจังหวัดชายแดนใต้ งบสามแสนล้าน นำไปใช้ในการพัฒนาอื่นๆ ได้อีกมากมาย

ถ้าพิจารณากันตามข้อเท็จจริง ยังไม่เห็นวี่แววอะไรว่า เหตุการณ์ร้ายในสามจังหวัดชายแดนใต้จะจบลงในสองปี กรรมการเจรจาก็ยังไม่มี มาเลเซียจะยื่นมือมาช่วยอะไรได้ แค่ปัญหาคนสองสัญชาติข้ามแดนไปมา ก็ยังแก้ไม่ได้ เพราะเขาข้ามไปทำมาหากิน หรือเยี่ยมญาติ แต่อาจจะมีกลุ่มคนร้ายแอบแฝงเข้าไป ถามว่าที่ผ่านมามาเลเซียไม่ให้ความร่วมมือเหลอ ก็ร่วมมือกันมาตลอด แต่ปัญหาก็ยังดำรงอยู่

ยุทธศาสตร์ และยุทธวิธีของบีอาร์เอ็น ที่ใช้ยุทธวิธีแบบสงครามกองโจร ยังเหนือกว่า หน่วยงานความมั่นคงของไทยเรามากนัก การตั้งโต๊ะเจรจาบีอาร์เอ็นก็มีอำนาจต่อรองที่เหนือกว่า ถามว่า เราเจรจากันมากี่รอบ กี่ครั้งแล้ว แต่ปัญหาก็ยังดำรงอยู่ และเดินหน้าต่อไป ไทยเราก็มีเพียงคำปลอบประโลมใจ สถานการณ์ดีขึ้น สถิติการเกิดเหตุการณ์ร้ายลดลง แต่ทางหน่วยงานความมั่นคงพูดอย่างนี้มาสิบกว่าปีแล้ว

คำพูดของทักษิณก็เพ้อเจ้อไปเรื่อย ถ้าแค่ลงไปพูดแค่นั้นแล้วเหตุการณ์จะจบลง เขาทำกันไปนานแล้ว ถามว่า ทางการเราเคยได้พบปะพูดคุยกับตัวแทนที่แท้จริงของบีอาร์เอ็นบ้างแล้วยัง พบที่ไหน พบเมื่อไหร่ พูดคุยกันเรื่องอะไร ผลการพูดคุยเป็นอย่างไร ใครตอบได้บ้าง…ไม่มี

อย่าไปหลงคารมของทักษิณ การไปครั้งนี้อาจจะทำให้เป็นจุดจบของพรรคประชาชาติก็ได้กับการ “ยกมือไหว้อดีตนักโทษโกงชาติ โกงแผ่นดินอย่างนอบน้อม” ที่พี่น้องในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่รับไม่ได้ “ไม่ให้เกียรติ ไม่ยกมือไหว้ ไม่สังคมด้วยกับคนเลว” พล.อ.เปรม เคยสอนพวกเราไว้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top