Saturday, 5 April 2025
นายหัวไทร

แอบทำกันเงียบๆ เอาป่าสงวนอุทยานทับลาน เข้าโครงการ One Map แน่ใจได้อย่างไร ว่าที่ดินจะตกถึงมือเกษตรกร ไม่ไปอยู่ในมือนายทุน?

จากกรณีที่ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช บอกว่ายินดีรับฟังเสียงของประชาชน กรณี มติครม. จะเอาป่าสงวนอุทยานแห่งชาติทับลาน 265,286 ไร่ มาเข้าโครงการ One Map และยกที่ดินเข้าสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร (สปก.) นั้น

หากลงในรายละเอียดแล้ว โครงการ One Map มีเป้าหมายให้ทุกส่วนราชการใช้แผนที่เดียวกันในการแก้ปัญหาข้อโต้แย้ง ที่เดิมต่างฝ่ายต่างมีแผนที่ของตัวเอง ซึ่งน่าจะเป็นผลดี แต่ในทางปฏิบัติเมื่อไปยึดสัดส่วน 1:4000 จึงก่อให้เกิดปัญหามีที่ดินเหลือ จึงจะยกให้ สปก.ไปจัดสรรให้เกษตรกรทำกิน 

แต่จะแน่ใจได้อย่างไร ว่าที่ดินจะตกถึงมือเกษตรกร ไม่ไปอยู่ในมือของนายทุน?

ในวงประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ที่ดินก็ตั้งข้อกังวลเรื่องนี้มาก่อนแล้ว แต่รัฐบาลก็ยังจะเดินหน้าเพิกถอนพื้นที่บางส่วนของอุทยานแห่งชาติทับลาน เอาไปให้แจกจ่ายกัน

ประเด็นข้อสงสัยทำไมต้องยึดสัดส่วน 1:4000 เมื่อรู้ทั้งรู้ว่าจะทำให้สูญเสียพื้นที่ป่าไม้ไป 265,000 ไร่ ซึ่งตามหลักวิชาการ ต้องมีพื้นที่ป่าไม่น้อยกว่า 25% เมื่อหลายปีก่อนพบว่า เรามีพื้นที่ป่าไม่ถึง 18% เวลาผ่านมาหลายปี ไม่รู้ว่าเวลานี้เรามีพื้นที่ป่าเหลืออยู่กี่เปอร์เซ็นต์ 

เราจึงไม่ควรสูญเสียพื้นที่ป่าไปอีกแล้ว ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม มีเพียบจะร่วมกันรณรงค์ไม่บุกรุกพื้นที่ป่า รณรงค์ให้ปลูกป่าเพิ่มขึ้น แต่ผู้ดูแลป่ากลับจะยกพื้นที่ป่าให้เอาไปทำลายกัน เป็นเรื่องที่คนไทยรับไม่ได้ และไม่ต้องอ้างว่า ต้นเรื่องมาจากรัฐบาลก่อน ถ้าไม่เห็นชอบก็ยกเลิกได้ แค่มติ ครม.

น่าแปลกใจว่าเรื่องนี้ ‘แอบทำกันเงียบ ๆ’ มาโผล่เป็นข่าวเมื่อต้องทำประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นของประชาชน เสียงค้านจึงอื้ออึงขึ้นพร้อมกันทั้งประเทศ ไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะเอาพื้นป่าที่ดีที่สุดของชาติ ไปพัฒนาแบบผิด ๆ ป่าทับลานมีพื้นที่รวมกันถึง 1,398,000 ไร่ รัฐบาลจะเอาไปใช้ในชุดแรก 18.59%

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น มรดกโลกกำลังถูกคุกคามครั้งใหญ่ ประชาชนเริ่มออกมาปกป้องกันแล้ว ถ้าไม่ออกมาอาจจะสายเกินแก้ ผลงาน สปก.ที่นายทุนเอามาทำรีสอร์ท กว่า 400 แห่งยังไม่สามารถรื้อถอนได้ทั้ง ๆที่มีคำสั่งศาลให้รื้อถอนแล้ว นี่คือการสะสมปัญหาใหม่ชัด ๆ

จากความพยายามให้ต่างชาติสามารถเช่าที่ดินไทยได้ถึง 99 ปีและยังจะให้ต่างชาติถือครองคอนโด ได้อีก 75% เรื่องนี้ยังไม่จบ จะมาเอามาทับลานไปพัฒนาอีกแล้วจะพัฒนาอะไรกันนักหนา ขยันผิดปกติไปหรือเปล่า?

ทรัพยากรป่าไม้ของเรา เหลือน้อยเต็มทีแล้ว อย่าให้ใครมาทำลายอีกเลย หาวิธีการแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่นเถอะครับ

‘ปลอดประสพ’ กร้าว!! “กินทับลาน มีเรื่องกับผมแน่นอน” ร่วม #Saveทับลาน ค้านจัดสรรเป็นที่ดิน สปก.

“กินทับลาน มีเรื่องกับผมแน่นอน”

นี่เป็นประโยคที่ ‘ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี’ อดีตอธิบดีกรมป่าไม้ ได้เขียนและโพสต์ลงในแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก พร้อมข้อความต่อมาว่า…

“รูปนี้ถ่ายที่อุทยานแห่งชาติทับลานเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว ที่พกปืนเพราะกำลังมีเรื่อง ตอนนี้มีคนจะมาเอาทับลานอีกแล้ว ขอย้ำว่า อธิบดีกรมป่าไม้คนแรกที่ไปจับกุมการบุกรุกทับลานเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วชื่อปลอดประสพนะครับ ผมจะไม่มีวันเปลี่ยนความคิดแน่นอน สงสัยคราวนี้จะต้องอาสาคุณประวัติศาสตร์ หัวหน้าอุทยานทับลานซึ่งเป็นลูกน้องเก่า ไปช่วยเฝ้าอีกเสียแล้ว”

นี้เป็นการประกาศจุดยืนชัดเจนของคนในพรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วยกับการถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน 265,000 ไร่ ไปจัดสรรเป็น สปก.

คงหลับตาเห็นภาพเก่า ๆ ของปลอดประสพ ทั้งดุดัน และจริงจัง และเป็นคนคิดเปลี่ยนเครื่องแบบของข้าราชการกรมป่าไม้ อีกภาพที่จำได้ คือการยืนบนหัวเรือไล่ล่าจระเข้ หลุดจากฟาร์มเลี้ยง

พ้นจากข้าราชการประจำ ปลอดประสพก็กระโดดเข้าสู่เวทีการเมืองในนามพรรคไทยรักไทยในยุคก่อตั้ง ในยุคทักษิณ ชินวัตร เรืองอำนาจ เมื่อไทยรักไทยถูกยุบ ก็แปลงร่างมาเป็นพรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน

แม้นการเพิกถอนพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติทับลานไม่ได้ริเริ่มขึ้นจากรัฐบาลเพื่อไทย ที่มีเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี แต่รัฐบาลเพื่อไทยก็ไม่ได้คัดค้าน แถมยังเดินหน้าต่อไป นายกฯ เศรษฐาเป็นคนให้สัมภาษณ์เองด้วยซ้ำว่าจะเดินหน้าต่อไปจนกว่าจะสำเร็จ เช่นเดียวกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ 

เป็นการประกาศเดินหน้าท่ามกลางเสียงค้านอื้ออึงทั้งในสื่อกระแสหลัก และในสื่อโซเชียล ที่ติด #saveทับลาน พร้อมรณรงค์ให้ร่วมกันลงชื่อคัดค้านการถอนป่าทับลาน

ไม่ใช่เป็นการคัดค้านเพราะรักและหวงแหนในผืนป่าอย่างเดียว แต่ยังตั้งข้อสังเกตว่า ที่ดินที่นำไปจัดสรรเป็น สปก.นั้น จะตกถึงมือเกษตรกรจริงหรือ หรือจะตกไปอยู่ในมือของนายทุนกันแน่

ขอบคุณคุณปลอดประสพที่รักษาจุดยืนไม่เปลี่ยนแปลง แม้จะเป็นแนวทางของรัฐบาลที่มาจากพรรคเดียวกันก็ตาม

ชีวิตการเมือง 'ชลน่าน ศรีแก้ว' สุดท้ายก็ 'เข้าวัด' ปฏิบัติธรรม

'นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว' อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย, อดีตรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ผู้ที่นำพาพรรคเพื่อไทย ร่วมเจรจาจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล แต่ไม่สำคัญ สุดท้ายฉีกเอ็มโอยูตามคำสั่งนายใหญ่ 

พรรคเพื่อไทยมาเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลเอง โดยมี 'เศรษฐา ทวีสิน' เป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนตัวของ นพ.ชลน่าน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอยู่เพียงไม่นาน ก็ถูกปรับออก ให้ สมศักดิ์ เทพสุทิน ไปนั่งแทน

โดย นพ.ชลน่าน ไม่มีตำแหน่งอะไรในรัฐบาลนี้อีกต่อไป ยังเหลือเพียงเป็น สส.ที่ลดบทบาทตัวเองลงไปมาก ไม่เหมือน นพ.ชลน่าน ครั้งเป็นฝ่ายค้าน

สุดท้ายก็ 'เข้าวัด' ปฏิบัติธรรม!!

นี่เป็นบทเรียนครั้งสำคัญของนักการเมือง ที่ถวายตัวรับใช้ เป็นหนังหน้าไฟให้ 'นาย' อย่างจงรักภักดี พร้อมเดินตามรอยนักการเมืองอีกมากรายในค่ายนี้ ที่หลายคนไปนอนอยู่ในคุกบ้าง เพียงแต่โชคยังดีที่ นพ.ชลน่าน ได้ไปนอนวัด ได้เห็นแสงแห่งธรรม

ว่าแล้ว...สังคมไทยก็กำลังเฝ้าติดตามชะตากรรมของ 'เศรษฐา ทวีสิน' ต่อ...ว่าชีวิตการเมืองจะถูกสังหารลงด้วยวิธีการใด

ประชาชนได้อะไร? ตั้งจังหวัดใหม่ 'สว่างแดนดิน' และ 'ทุ่งสง'  ทำไม? ไม่ตั้งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ 

ในฐานะเป็นคนเกิดอำเภอหัวไทร จ.นครศรีธรรมราช เป็นคนนครศรีฯ โดยกำเนิด ไม่เห็นด้วยกับความพยายามในการแยกจังหวัดนครศรีธรรมราช ออกไปจัดตั้งจังหวัดทุ่งสง

สุธรรม จริตงาม สส.พลังประชารัฐ นครศรีธรรมราช พร้อม สส.พรรคเดียวกัน 20 คน ลงชื่อเสนอให้ญัตติให้สภาตั้งกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาแยก อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร และ อ.ทุ่งสง ออกไปจัดตั้งจังหวัดใหม่ เรียกว่าจังหวัดสว่างแดนดิน และจังหวัดทุ่งสง แต่ญัตติยังไม่ได้รับการบรรจุเข้าที่ประชุมสภา เนื่องจากที่ประชุมคณะกรรมการประสานงาน (วิป) เห็นว่า มีเรื่องอื่นที่เร่งด่วนกว่า จึงสลับเอาเรื่องอื่นขึ้นมาพิจารณาก่อนในการประชุมเมื่อวันที่ 18 กรกฏาคมที่ผ่านมา

ในมุมของ #นายหัวไทร ถือว่าเป็นการเสนอกฎหมายที่ล้าหลัง ไม่ก้าวหน้า เพราะเป็นการเปิดให้มีการขยายตัวของราชการส่วนภูมิภาค อันเป็นตัวแทนของรัฐบาลกลางที่แบ่งอำนาจไปตามเมืองต่างๆ สวนกระแสสังคมโลกที่เน้นการกระจายอำนาจ (ท้องถิ่น) เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ

เหตุผลของคณะ สส.ผู้เสนอญัตติระบุว่า ด้วยอำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร เป็นอำเภอที่ จัดตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2406 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตั้งเมืองภูมิดลสว่าง

เมืองสว่างแดนดิน เป็นเมืองที่ขึ้นกับมืองสกลนคร ต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนมาเป็นอำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร

โดยมีสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมมากมาย เช่น พระบรมธาตุเจดีย์ศรีมงคล หลวงปู่คำบ่อ และปราสาทขอม บ้านพันนา เป็นต้น 

ส่วนอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นอำเภอที่มีความเจริญเป็นอันดับสองของจังหวัดนครศรีธรรมราช รองจากอำเภอเมือง เนื่องจากมีที่ตั้งอยู่ตรงกลางของภาคใต้และเป็นจุดศูนย์กลางคมนาคมทางบกทั้งรถยนต์และรถไฟ อำเภอทุ่งสงมีประวัติความเป็นมายาวนาน 

ปรากฏตามตำนานเมืองนครศรีธรรมราชว่าเคยเป็นแขวง ขึ้นอยู่ในการปกครองของเมืองนครศรีธรรมราชตั้งแต่สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่อได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองจากมณฑล เป็นจังหวัด เมื่อ พ.ศ. 2440 ได้จัดตั้ง เป็นอำเภอทุ่งสงขึ้นกับจังหวัดนครศรีธรรมราช 

แต่ปัจจุบันพบว่า อ.ทุ่งสงมีปัญหาภูมิประเทศในเรื่องระยะทาง ทำให้การติดต่อระหว่างอำเภอที่ห่างไกลและจังหวัดเป็นไปด้วยความยากลำบาก และใช้ระยะเวลาในการเดินทางมากเกินควร 

ซึ่งมีความสอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2524 ว่าด้วยหลักเกณฑ์การตั้งจังหวัดใหม่ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ ที่ต้องพิจารณาลักษณะพิเศษของจังหวัด ผลดีในการให้บริการประชาชน และหลักเกณฑ์อื่นๆ เช่น เหตุผลทางประวัติศาสตร์ การเมือง และวัฒนธรรมของท้องถิ่นและนโยบายของรัฐบาล เป็นตัน 

จากเหตุผลดังกล่าวคณะ สส.พลังประชารัฐ จึงเห็นสมควร แยกอำเภอสว่างแดนดิน ออกจากจังหวัดสกลนคร และ แยกอำเภอทุ่งสง ออกจากจังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมจัดตั้งขึ้นเป็นจังหวัดสว่างแดนดิน และจังหวัดทุ่งสง เพื่อประโยชน์ในการจัดระเบียบการปกครอง การรักษาความมั่นคงและการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในพื้นที่ 

อีกทั้งเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน กระจายความเจริญสู่ภูมิภาค และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ โดยเป็นศูนย์กลางทางการเงิน การค้า การลงทุน การอุตสาหกรรม การคมนาคม การศึกษา เทคโนโลยีรวมถึงอื่นๆ ได้อย่างยั่งยืนต่อไป 

กล่าวเฉพาะอำเภอทุ่งสง ถ้าแยกไปจัดตั้งเป็นจังหวัด จะมีอะไรเป็นอัตลักษณ์ของความเป็นเมือง ปัจจุบันมีพระบรมธาตุฯ เป็นอัตลักษณ์ที่ชาวนครศรีฯภาคภูมิใจ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ และกำลังเสนอต่อยูเนสโก เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ถามว่าแล้วทุ่งสงมีอะไร มีสถานีรถไฟ มีพ่อท่านคล้ายวาจาสิทธิ์ จะเป็นเมืองที่ขาดอัตลักษณ์

ถามว่าแยกเป็นจังหวัดใหม่ประชาชนได้อะไร? นี่คือธงนำ ประชาชนจะได้งบประมาณจัดตั้งจังหวัดใหม่ 2,000 ล้าน จะได้ศาลากลางหลังใหม่ ได้ผู้ว่าฯ เพิ่มมาอีกคน ได้นายกฯ อบจ. ได้ข้าราชการส่วนภูมิภาคเพิ่มขึ้น แต่ชีวิตความเป็นอยู่ การดำรงชีพของชาวบ้านดีขึ้นไหม และทุ่งสงจะเป็นอีกจังหวัด นอกจากยะลา ที่ไม่ได้อยู่ติดทะเล

การยกเหตุผลว่าห่างไกลจากตัวจังหวัด การคมนาคมยากลำบาก ในสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่น่าจะจริง เดี๋ยวนี้ถนนหนทางสะดวกสบาย เกือบทุกบ้านมีรถยนต์ แค่ชั่วโมงเดียวก็ถึงตัวเมืองแล้ว ถ้าเป็นสมัยปี 2529-2530 ที่ 'ถวิล ไพรสณฑ์' เสนอให้จัดตั้งจังหวัดทุ่งสง อ้างเรื่องการคมนาคมเป็นเหตุผลหนึ่ง ยังพอรับฟังได้ แต่ปัจจุบันไม่ใช่

“ยังคิดแยกจังหวัด/ผมว่ามันไม่มีเหตุผลเท่าไหร่ คนเห็นด้วยก็ดราม่าไปเรื่อยโน่นนี่นั่น/เอาเงิน2พันล้านที่จะสร้างศูนย์ราชการใหม่ทำประโยชน์กับคนพื้นที่ก่อนดีมั้ย/เพราะแค่เหตุผลมีศาล มีคุก มีขนส่งใกล้บ้านมันก็มีหมดแล้ว...หลายจังหวัดก็มี นอกจาก 'เหล้าขาว' ที่ต้องซื้อเฉพาะในเขตจังหวัด/ข้าราชการที่ย้ายไปอยู่กิ่งจังหวัดส่วนใหญ่ก็คิดแค่เป็นกระดานหกไปที่อื่นท้างน้าน” ความเห็นจากนิกร จันพรม ชาวไร่ขอนแก่น

แต่ต้องยอมรับความจริงว่า ทุ่งสงมีความเจริญ เป็นรองก็แค่อำเภอเมือง เป็นศูนย์กลางการคมนาคม ศูนย์กลางกระจายสินค้า มีศาลจังหวัด มีสำนักงานอัยการ มีความพร้อมในระดับหนึ่ง

ถ้า สส.หัวก้าวหน้าหน่อย ต้องเสนอให้ทั้งสองอำเภอ ยกฐานะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ หรือจังหวัดจัดการตนเอง อย่างนี้น่าสนใจกว่า เป็นการกระจายอำนาจให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเมือง ผ่านการเลือกตั้ง ผู้บริหารเมืองอาจจะเรียกว่า 'นายกเมือง' อย่างพัทยา ก็ได้ หรือ 'นายกนคร' แล้วแต่กฎหมายจะยกฐานะเป็นอะไร หรือจะเรียกว่า 'ผู้ว่าฯ' ก็ได้ แต่มาจากการเลือกตั้ง เหมือนกรุงเทพมหานคร

ถ้าเสนอออกมาในรูปแบบจังหวัดจัดการตนเอง หรือองค์ปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ก็จะเป็นกฎหมายที่ก้าวหน้า และสองจังหวัดนี้ก็จะเป็นจังหวัดนำร่องกับการปกครองรูปแบบใหม่

อย่างทุ่งสงอาจจะเรียกชื่อใหม่ว่า 'นครทุ่งสง' อย่างน้อยก็มีร่องรอยของประวัติศาสตร์ว่า เคยขึ้นอยู่กับจังหวัดนครศรีธรรมราช

การเสนอให้มีการจัดตั้งจังหวัดใหม่สะท้อนด้วยว่า พรรคพลังประชารัฐ ไม่มีแนวคิด และไม่จริงจังจริงใจอะไรกับการกระจายอำนาจ แถมยังห่วงอำนาจ ขยายฐานอำนาจออกไปอีก อันเป็นแนวคิด 'อำนาจนิยม'

ไม่ใช่ครั้งแรกในความพยายามแยก อ.ทุ่งสง เพื่อจัดตั้งจังหวัดใหม่ มีรายงานผลการศึกษามากมาย จริงๆไม่ต้องเสนอให้สภาตั้งกรรมาธิการศึกษาให้เสียเวลา เสียงบประมาณ 

ถ้าตั้งใจจริง เสนอ พรบ.จังหวัดทุ่งสง และสว่างแดนดินไปเลย ร่างก็เคยมีให้อ่านกันอยู่แล้ว จะได้เห็นกันว่า สภาเราคิดอะไรกันอยู่ และจะผ่านความเห็นชอบหรือไม่?

แต่ย้ำว่านายหัวไทรชูมือคัดค้านแน่นอน

ย้อนอดีต ‘พรรคประชาชน’ กับ ‘กลุ่ม 10 มกราฯ’ ในพรรคประชาธิปัตย์ คนอกหักทางการเมือง ที่ไม่มีใครเห็นหัว สุดท้ายก็ยุบตัว ในสถานการณ์ที่ร่อแร่

(10 ส.ค.67) เมื่อคณะอดีตพรรคก้าวไกลที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบพรรค และตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค 10 ปี ได้อพยพกันไปอยู่พรรคใหม่ “ถิ่นกาขาวชาววิไล และเปลี่ยน ชื่อพรรคมาเป็น 'พรรคประชาชน'

ถามว่าพรรคประชาชนเคยมีตัวตนอยู่จริงไหม คนรุ่น 50-60 ขึ้นไปจะตอบได้ว่า “มี” อันก่อกำเนิดมาจากกลุ่ม 10 มกราฯในพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นกลุ่มอกหักทางการเมือง ถูกถีบส่งออกมา มี 'เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์-วีระ มุสิกพงศ์' เป็นแกนนำหลัก ออกจากพรรคประชาธิปัตย์ มาตั้งพรรคใหม่ ใช้ชื่อว่า 'พรรคประชาชน' ใช้คำขวัญพรรคว่า 'ของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน'

พรรคประชาชนมีชื่อเดิมว่าพรรครักไทย จดทะเบียนก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2526 ต่อมาในปี พ.ศ. 2530 พรรครักไทยได้เปลี่ยนแปลงชื่อพรรคเป็น พรรคประชาชน

คณะพรรคประชาชนมาเปิดที่ทำการพรรคอยู่ริมคลองประปา ตั้งอยู่ข้ามกระทรวงการคลัง ไม่ไกลจากที่ทำการของพรรคประชาธิปัตย์มากนัก ถ้าเป็นต่างจังหวัดพูดได้ว่า ตะโกนกันได้ยิน

กลุ่ม 10 มกราฯก่อตัวมาจากความขัดแย้งในการฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาล ในยุคที่ 'พิชัย รัตตกุล' เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มีดร.พิจิตต รัตตกุล ลูกชายได้รับการคัดเลือกให้เป็นรัฐมนตรี ในขณะที่สายของ 'เฉลิมพันธ์-วีระ' ถูกมองข้าม แม้กระทั่งในกลุ่มวาดะห์ ก็ไม่มีใครเห็นหัว ไม่มีตำแหน่งใด ๆ

ความขัดแย้งขยายผลมาถึงการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์ แบ่งเป็นสองทีมลงแข่งขันกันชัดเจน สายของ 'เฉลิมพันธ์-วีระ' พ่ายแพ้ศึกชิงหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค

กลุ่มของ 'เฉลิมพันธ์-วีระ' ถูกเฉดหัวออกมาอย่างไม่มีปรานีปราศรัย ตัดญาติขาดมิตรต่อกัน กลุ่มก้อนการเมืองสายนี้จึงก่อเกิดเป็น 'พรรคประชาชน'

พรรคประชาชนยุคเปลี่ยนผ่านจึงมีหัวหน้าชื่อเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ เลขาธิการชื่อวีระ มุสิกพงศ์ คำขวัญ ของพรรคประชาชน คือโดยประชาชน เพื่อประชาชน

สถานการณ์ทางการเมือง ทำให้พรรคประชาชนไปยุบรวมกับพรรคการเมือง อื่นๆอีก 4 พรรค เช่นพรรคกิจประชาคม พรรคก้าวหน้า เป็นต้น ก่อกำเนิดเป็น 'พรรคเอกภาพ' 

แกนนำของพรรคประชาชนในยุคนั้นนอกจากเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ เป็นหัวหน้าพรรค และวีระ มุสิกพงศ์ เป็นเลขาธิการพรรค ยังมีแกนนำคนสำคัญ อาทิ เดโช สวนานนท์ ไกรสร ตันติพงศ์ เลิศ หงษ์ภักดี อนันต์ ฉายแสง สุรใจ ศิรินุพงศ์ ถวิล ไพรสณฑ์ พีรพันธุ์ พาลุสุขสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ กริช กงเพชร กลุ่มวาดะห์ในสามจังหวัดชายแดนใต้

เลือกตั้งครั้งแรก ปี 2532 พรรคประชาชนกวาดที่นั่งในสภามาร่วม 40 ที่นั่งในสถานการณ์ที่พรรคร่อแร่ 'วีระ มุสิกพงศ์' เลขาธิการพรรคติดคุกในช่วงหาเสียงเลือกตั้งคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ถวิล ไพรสณฑ์ ขึ้นมารักษาการเลขาธิการพรรคแทน

มาถึงวันนี้อดีตคนพรรคก้าวไกลตัดสินใจใช้ชื่อ 'พรรคประชาชน' อีกครั้งกับโฉมใหม่ โลโก้เป็นไป คำขวัญเป็นไป จุดยืนทางการเมืองที่ไม่เหมือนกัน มีเป้าหมายชัดเจนว่า เลือกตั้งปี 70 ต้องได้เกินครึ่งของสภา จัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว

ติดตามกันต่อไปครับว่า พรรคประชาชนอันมีรากเหง้ามาจากพรรคก้าวไกล จะเดินไปบรรลุเป้าหมายหรือไม่ หรือเป็นฝ่ายค้านต่อไป ไม่มีใครร่วมด้วย (ถ้าได้ไม่ถึงครึ่ง)

จับตา!! 'เอกนัฏ-จักรภพ' เข้าคิวเสียบ 'ครม.อุ๊งอิ๊ง' 'เพื่อไทย' โละรมต.สายนิด ตัดหาง 'วงษ์สุวรรณ'

หลังจากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้ง แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีตามผลโหวตในสภาผู้แทนราษฎร โผการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีก็สะพัด มีทั้งคนที่จะหลุดโผ คนเข้ามาใหม่ และคนที่ยังอยู่ รวมถึงบางคนขยับขึ้นไปในอีกระดับหนึ่ง

ฝุ่นคงจะตลบไปอีก 2-3 วัน จนกว่าทุกอย่างจะนิ่ง สะเด็ดน้ำ อย่างในส่วนของพรรคเพื่อไทย ที่ข่าวบางกระแสว่า รัฐมนตรีชุดสุดท้ายใน ครม.เศรษฐา ที่อาจจะไม่ได้กลับมาใน ครม.อุ๊งอิ๊ง ก็มีเช่น สุทิน คลังแสง อดีต รมว.กลาโหม ที่ก่อนหน้านี้ได้ต่อวีซ่า ตอนปรับ ครม.เมื่อเมษายน 2567 ที่ผ่านมา แต่รอบนี้อาจจะหลุด

พิชัย ชุณหวชิร อดีตรองนายกฯ และ รัฐมนตรีการคลัง ที่เป็นสายยิ่งลักษณ์ ชินวัตร-เศรษฐา เพราะพิชัยเคยไปเป็นพยานขึ้นเบิกความที่ศาลฎีกาฯ ช่วยยิ่งลักษณ์ในคดีจำนำข้าว จึงต้องมีการตอบแทนกัน แต่ตอนนี้วีซ่าขาดแล้ว โดยลือกันว่า จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ จะพาชั้นจาก รัฐมนตรีช่วยคลัง ขึ้นเป็น รัฐมนตรีว่าการคลัง รวมถึง จักรพงษ์ แสงมณี อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็มีชื่อว่าไม่ได้กลับมาเป็น รมต.อีกรอบ เป็นต้น  

ส่วนคนที่คาดว่า จะมีชื่อได้ลุ้นในสัดส่วนของพรรคเพื่อไทยมีชื่อ 'จักรภพ เพ็ญแข' รอเสียบเข้ามาในโผ ครม.อุ๊งอิ๊ง 1, ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สส.กทม.หนึ่งเดียวของพรรคเพื่อไทย ที่ชนะก้าวไกลมาได้ 4 คะแนน ก็อาจได้ลุ้นเป็นรัฐมนตรีดูแล กทม.ของเพื่อไทยในอนาคต และยังมีชื่อ 'สรวงศ์ เทียนทอง' เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ซึ่งหลายเดือนที่ผ่านมา ทำงานสอดประสานกับอุ๊งอิ๊ง หัวหน้าพรรคเพื่อไทยได้เป็นอย่างดี ก็มีข่าวว่า มีสิทธิ์ลุ้นตำแหน่งรัฐมนตรีเช่นกัน

พอเริ่มมีข่าวโยนหินถามทางออกมาโผ เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันว่า นักการเมือง-สส.เพื่อไทยสาย 'อุ๊งอิ๊ง' หรือที่เรียกกันในเพื่อไทยว่า 'แก๊งมินต์ช็อก' กำลังจะผงาดยกแผง ใน ครม.อุ๊งอิ๊ง เพราะเดิมที อดีต รมต.สายมินต์ช็อกหลายคนใน ครม.เศรษฐา ก็มีข่าวว่าก็ยังรักษาเก้าอี้ไว้ได้ ใน ครม.อุ๊งอิ๊ง ไม่ว่าจะเป็น จิราพร สินธุไพร อดีต รมต.สำนักนายกฯ, เผ่าภูมิ โรจนสกุล อดีต รัฐมนตรีช่วยคลัง รวมถึง สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีวัฒนธรรม 

เท่ากับว่า นักการเมือง-สส.เพื่อไทยกลุ่มมินต์ช็อก ที่คอยประกบซ้ายประกบขวาอุ๊งอิ๊งหลายคน อาจได้ผงาดใน 'ครม.แพทองธาร 1' ถ้าชื่อผ่านความเห็นชอบจากทักษิณ แต่ก็มีข่าวว่าบางชื่อตามข่าวอาจไม่ผ่าน เพราะวัยวุฒิ-ฝีมือ ยังไม่โดนใจทักษิณ จึงอาจต้องขัดใจลูกสาว กาหัวว่าไม่โอเค

แต่ข่าวที่ทำให้ลุงป้อม-ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพลังประชารัฐหัวฟัดหัวเหวี่ยง คือ 'ไม่เอาวงษ์สุวรรณ' เป้าตรงไปยัง 'พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ' อดีตรองนายกฯ และอดีต รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ จากพลังประชารัฐ

ทักษิณสุดทนกับ 'ลุงป้อม-พลเอกประวิตร' กับท่าทีหลายอย่าง ที่ไม่สนใจเพื่อไทย ล่าสุดก็ไม่ไปประชุมสภาฯ ร่วมโหวตให้ลูกสาวอุ๊งอิ๊งเป็นนายกฯ เพราะแม้จะติดงานเลี้ยงฉลองนักกีฬาโอลิมปิกฯ แต่ของแบบนี้ทักษิณคงมองว่า ถ้าจะซื้อใจกันจริง ๆ ก็ตีรถแว่บไปสภาฯ โหวตให้ได้ ไม่ใช่ต้องอยู่ร่วมงานเลี้ยงจนไม่ยอมไปโหวตให้ หลังก่อนหน้านี้ ตอนเศรษฐาก็ไม่ไปโหวตให้ และที่ผ่านมาก็โนสนโนแคร์อะไรทั้งสิ้น ขนาดงานเลี้ยงพรรคร่วมรัฐบาลหลายครั้งก็ไม่ไป-ไม่เบรกอดีต สว.กลุ่มบ้านป่าฯ ที่เข้าชื่อถอดถอนเศรษฐา ทำให้มีข่าวว่าทักษิณขอแตกหัก ไม่ให้มีชื่อ พล.ต.อ.พัชวาท ใน ครม.อุ๊งอิ๊ง

ส่วนของพรรครวมไทยสร้างชาติมีข่าวหนาหูว่า 'ปุ้ย-พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล' อาจจะหลุดโผกับผลงานที่ยังไม่น่าประทับใจนัก แต่ที่แน่ ไม่ต้องแช่แป้ง คือ 'ขิง-เอกนัฏ พร้อมพันธุ์' จะได้เข้าร่วม ครม.แน่นอน จากโควตารัฐมนตรีที่ยังว่างอยู่อีก 1 ตำแหน่ง

ส่วนของพรรคภูมิใจไทย ไม่มีการเคลื่อนไหวอะไรผิดสังเกต น่าจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ

สัปดาห์นี้ทุกอย่างน่าจะลงตัวหมด รอให้สะเด็ดน้ำ ส่งรายชื่อให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีตรวจประวัติ ก็นำรายชื่อ ครม.ใหม่ขึ้นทูลเกล้าฯ

‘ธรรมนัส’ ประกาศอิสรภาพ หลุดพ้น ‘บิ๊กป้อม-พปชร.’ เอ่ยชัด “ผมว่า…ผมพอแล้ว” หลังถวายหัวรับใช้มา 6 ปี

หลัง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ออกมาเปิดเผยโผรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ โดยไม่มีชื่อ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ โดยให้เหตุผลสั้น ๆ ว่า พรรคร่วมเขาไม่เอา ซึ่งพรรคร่วมน่าจะหมายถึงพรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำรัฐบาล ที่ไม่ต้องการให้มลทินทั้งหลายไปกระทบต่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของแพทองธาร เหมือน ‘เศรษฐา ทวีสิน’ โดนมาแล้ว กรณีไร้จริยธรรม แต่งตั้ง ‘พิชิต ชื่นบาน’ เป็นรัฐมนตรี ทั้ง ๆ ที่มีมลทิน

แต่ที่น่าสนใจ มีกระแสข่าวออกมาก่อนหน้าว่า รัฐบาลใหม่ไม่เอา ‘วงษ์สุวรรณ’ ซึ่งหมายถึงไม่เอา ‘พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ’ นั้น แต่ในโผรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ กลับมีชื่อ พล.ต.อ.พัชรวาท นั่งเก้าอี้เดิม แต่เตะโด่ง ‘ร.อ.ธรรมนัส’ ออกนอกสนามแข่ง มี ‘สันติ’ มานั่งว่าการกระทรวงเกษตรแทน และให้ ‘ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์’ เสียบแทนสันติในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยสาธารณสุข

ไม่เอา ‘วงษ์สุวรรณ’ อันเกิดจากความไม่พอใจของหัวเรือใหญ่เพื่อไทย ไม่พอใจต่อท่าทีที่เมินเฉยต่อพรรคเพื่อไทยของ ‘พล.อ.ประวิตร’ ที่ไม่เข้าร่วมประชุมสภาโหวตให้แพทองธาร เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ออกแรงห้าม 40 สว.ที่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความฐานะของนายกฯ เศรษฐา ผิดจริยธรรมทางการเมือง จนต้องพ้นจากตำแหน่ง

เกือบ 6 ปีที่ประชาชนได้รู้จักชื่อของ ‘ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า’ ในฐานะนักการเมืองที่สร้างแรงสะเทือนอยู่ตลอดเวลา ทุกครั้งที่เขาให้สัมภาษณ์หรือปรากฏตัว มักมีสัญญาณทางการเมืองที่สำคัญ เคยถูก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ปลดพ้นรัฐมนตรีมาแล้ว หลังร่วมกันวางแผนล้ม พล.อ.ประยุทธ์กลางสภา และเคยออกจากพรรคพลังประชารัฐ ไปตั้งพรรคใหม่ ‘เศรษฐกิจไทย’ แต่สุดท้ายก็กลับมาพลังประชารัฐอีกครั้งและรับบทเป็นแม่บ้านเลขาธิการพรรค

“จากประสบการณ์ 6 ปีที่ผ่านมา ผมเองรับใช้บุคคลหนึ่งและพรรคหนึ่งมามากพอสมควรแล้ว จึงถึงเวลาที่ต้องเดินออกมาโดยไม่ทะเลาะกับใคร วันนี้ถึงเวลาที่ต้องประกาศความเป็นอิสรภาพของตัวเองแล้ว” 

พร้อมกล่าวด้วยว่า “พี่น้องคงเห็นแล้วว่าสมัยรัฐบาลที่แล้ว ผมก็รักคนคนหนึ่งมาก ใช้ผมไปตาย ผมยังไปตายเลย แล้วท้ายที่สุดผมก็ประสบอุบัติเหตุทางการเมือง ผมว่าผมพอแล้ว และการที่ พล.อ.ประวิตร ให้สัมภาษณ์เมื่อวานนี้ก็ไม่ได้ถามผมและไม่ได้คุยอะไรกัน”

คำพูดเหล่านี้ไม่ต้องแปล เข้าใจกันได้ง่าย ๆ ‘แตกหักกันแล้ว’ แต่ ร.อ.ธรรมนัสก็ยังไปไหนไม่ได้ จะย้ายพรรคก็ยังไม่ได้ เพราะถ้าลาออกเองก็จะพ้นจากความเป็น สส. ก็ต้องอยู่เป็นก้างขวางคอไปเรื่อย ๆ จนกว่า พรรคเขาหมั่นไส้ ไม่ออกเอง แล้วไปหาพรรคใหม่

พรรคใหม่ก็ไม่ต้องไปควานหา หรือดิ้นรนอะไรมาก ‘พรรคกล้าธรรม’ ที่ ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ไปตั้งพรรครอไว้เรียบร้อยแล้ว

ก็ต้องติดตามกันต่อไปสำหรับก้าวย่างของชายผู้กล้าได้กล้าเสียคนนี้ในนาม ‘ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า’

สื่อจีนตีข่าวไทยส่ง 'โทนี่ เตียว' อาชญากรโกงคริปโตฯ 4 แสนล้านกลับไปให้จีนดำเนินคดี ด้าน ปปง.จ่อยึดทรัพย์อาณาจักรหมื่นล้าน 'ด่านนอก' นักการเมืองบางคนจ้องตาเป็นมัน

กรณีที่ไทยส่งตัวนายโทนี่ เตียว หรือที่ใช้ชื่อนายจาง อาชญากรฉ้อโกงสกุลเงินดิจิทัลไปยังประเทศจีน

โดยสื่อจากประเทศจีนรายงานข่าวว่า ทางการไทยได้มีการส่งตัวนายจาง มูมู (Zhang Moumou) ผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัท MBI อันโด่งดังไปยังประเทศจีน หลังจากที่มีการตามล่าตัวนายจางในระดับระหว่างประเทศมาอย่างยาวนาน

สื่อจีนชื่อว่า The Paper รายงานว่าการส่งผู้ร้ายข้ามแดนครั้งนี้เป็นคดีแรกที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจภายใต้สนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนจีน-ไทย ซึ่งลงนามในปี 2542 สำหรับพฤติการณ์ของนายจางเริ่มขึ้นในปี 2555 เกี่ยวข้องกับโครงการปิรามิดออนไลน์ที่อ้างว่าให้ผลตอบแทนสูงผ่านสกุลเงินดิจิทัลเสมือนจริง

ตามรายงาน โครงการ MBI กําหนดให้ผู้เข้าร่วมโครงการต้องชําระค่าธรรมเนียมตั้งแต่ 700 ถึง 245,000 หยวน (3,328 ถึง 1,165,995 บาท) เพื่อเข้าร่วม รายได้นี้เชื่อมโยงกับการสรรหาสมาชิกใหม่และระดับของเงินทุนที่ลงทุน มีรายงานว่ามีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการมากกว่า 10 ล้านคน โดยมีเงินทุนรวมเกิน 1 แสนล้านหยวน (475,916,337,000 บาท) บทบาทของนายจางในปฏิบัติการนี้ทําให้เขาเป็นหนึ่งในผู้ต้องสงสัยอาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่ต้องการตัวมากที่สุดของจีน

สํานักความมั่นคงสาธารณะเทศบาลฉงชิ่งตั้งข้อหานายจางอย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายน 2563 ต่อมาในเดือนมีนาคม 2564 สํานักงานตํารวจสากล สาขาประเทศจีน ได้ออกหมายแดงสำหรับนายจาง และตํารวจไทยได้จับกุมนายจางเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2565 

อย่างไรก็ตาม กระบวนการส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้นซับซ้อน เพราะเกี่ยวข้องกับขั้นตอนทางกฎหมายหลายขั้นตอน ทางการจีนขอให้ส่งนายจางในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนอย่างเป็นทางการภายใต้สนธิสัญญาทวิภาคี ซึ่งนําไปสู่คําตัดสินของศาลอุทธรณ์ไทยเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 ให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน รัฐบาลไทยยืนยันการตัดสินใจเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ2567 และนายจางถูกส่งตัวกลับไปยังจีนหลังจากนั้นไม่นาน

กรณีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนนี้เป็นผลมาจากความร่วมมือระหว่างกระทรวงความมั่นคงสาธารณะของจีน สถานทูตจีนในประเทศไทย และหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของไทย ปฏิบัติการร่วมนี้ดําเนินการภายใต้ "ปฏิบัติการล่าสุนัขจิ้งจอก" ของจีน ซึ่งมุ่งเป้าไปที่ผู้ต้องสงสัยที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ

กล่าวสำหรับอาณาจักรโทนี่เตียว หรือ"เตียว วุย ฮวด" หรือ "โทนี่ เตียว" เป็นคนมาเลเซียเชื้อสายจีน ชื่อทางการในภาษามาเลเซียจึงออกสำเนียงจีนที่เขียนด้วยอักษรไทยได้ว่า “เตียว วุย ฮวด” ชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการคือ “เสี่ยวจาง” แต่มีคนจำนวนหนึ่งพานเรียกว่า “เสี่ยจาง” ซึ่งได้ความหมายเช่นกัน ส่วนชื่อเรียกที่ออกไปทางสากลแบบถูกลิ้นฝรั่งและโดยเฉพาะคนไทยด้วยคือ “โทนี่ เตียว” แต่สำหรับคนจีนแผ่นดินใหญ่และจีนโพ้นทะเลอื่นๆ จะผิดแผกไปนิดเรียกขานเขาว่า “เทดี้ เตียว”

“เตียว วุย ฮวด” มีหมายจับเกี่ยวกับคดีฉ้อโกงและฟอกเงินในมาเลเซีย รวมถึงในสาธารณรัฐประชาชนจีน “เทดี้ เตียว” มีหมายจับเกี่ยวกับคดีฉ้อโกงเช่นกัน เป็นหมายแดงขององค์การตำรวจสากล หรืออินเตอร์โพล ตั้งแต่วันที่ 9 พ.ค.2563 อายุความตามหมาย 15 ปี หรือกว่าจะหมดอายุความก็ต้องปี 2578 จากคดีฉ้อโกงที่เกิดจาก MBI International Holdings ได้ออกแพลตฟอร์มชื่อ NSC แล้วชักชวนให้คนจีนร่วมลงทุนในลักษณะเดียวกับ “แชร์ลูกโซ่” แบ่งสมาชิกออกเป็น 8 ระดับ โดยใช้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แบบครบวงจรเป็นตัวล่อ แล้วจัดทัวร์พาผู้ร่วมทุนจากจีนไปท่องเที่ยวในอาณาจักรของเครือบริษัทในประเทศต่างๆ แต่ภายหลังทางการมาเลเซียสั่งอายัดทรัพย์ ทำให้ไม่มีเงินไปต่อเงิน จึงเกิดการฟ้องร้องขึ้นนำมาสู่การออกหมายจับแดงดังกล่าว

การทำธุรกิจในนาม MBI International Holdings ในมาเลเซียและจีน หรือบริษัท เอ็มบีไอ กรุ๊ป ในประเทศไทย ล้วนตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน คือ เน้นการเรียกเชิญชวนให้ผู้คนให้มาร่วมลงทุนด้วยจากการสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่แบบครบวงจร ซึ่งต้องใช้ที่ดินนับร้อยนับพันไร่ ภายในโครงการจะประกอบไปด้วยบ้านจัดสรร บ้านพักตากอากาศ โรงแรม รีสอร์ต สวนผลไม้นานาชนิด รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกแบบครบครัน ไม่ว่าจะเป็นสระว่ายน้ำ สนามกีฬา ห้องประชุมและสันทนาการ ลานจัดกิจกรรมขนาดใหญ่ แล้วยังเพิ่มเติมด้วยการสร้างสิ่งดึงดูดใจให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ หรือจุดเช็กอินมากมาย ตามแต่ว่าคนในประเทศที่โครงการตั้งอยู่ชื่นชอบสไตล์ไหน

สำหรับที่เมืองชายแดนไทย-มาเลเซีย ที่ 'ด่านนอก' อ.สะเดา จ.สงขลา บริษัท เอ็มบีไอ กรุ๊ป ได้ลงทุนไปแล้วนับหมื่นล้านบาท ตั้งแต่ทศวรรษที่ 2550 หรือเมื่อ 25 ปีที่ผ่านมา โดยกว้านซื้อที่ดินไว้หลายพันไร่ ภายในโครงการประกอบด้วย โรงแรม 6 แห่ง รีสอร์ต 2 แห่ง อพาร์ตเมนต์ 9 แห่ง สถานบันเทิง สวนสนุก ธุรกิจประเภทเฟอร์นิเจอร์ หมู่บ้านวัฒนธรรมอาเซียน มีการจำลองวัดร่องขุ่น พระพิฆเนศองค์ใหญ่ สวนไดโนเสาร์ เมืองคาวบอย ฟิวเจอร์ปาร์ค ฟาร์มม้า สวนแพนด้า กระทั่งศาลไคฟงก็ยังมี

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้ารายงานไว้ว่า บริษัท เอ็มบีไอ กรุ๊ป สัญชาติมาเลย์เข้ามาจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในไทยครั้งแรกปี 2545 แล้วในปี 2559 ขยับขยายบริษัทในเครือเพิ่มเป็น 15 บริษัท รวมทุนจดทะเบียนได้ 662.5 ล้านบาท แบ่งเป็นใน อ.สะเดา และ อ.นาทวี จ.สงขลา 14 บริษัท และที่กรุงเทพฯ 1 บริษัท เช่น บริษัท บิลเลี่ยนคอนโด จำกัด ทำธุรกิจโรงแรม จดทะเบียน 4 กันยายน 2545 ทุน 51.5 ล้าน นายเตียว วุย ฮวด ถือหุ้น 49% บริษัท เอ็มวัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด โรงแรม จดทะเบียน 18 มกราคม 2551 ทุน 100 ล้าน นายเตียว วุย ฮวด ถือหุ้น 30% บริษัท เค.เอ.ดับเบิลยู. จำกัด โรงแรม จดทะเบียน 30 กันยายน 2551 ทุน 125 ล้าน นายเตียว วุย ฮวด ถือหุ้น 60% บริษัท เอ็มบีไอ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 30% และนายเตียว อี เม้ง 10% (มาเลเซีย) และบริษัท เซาท์เทิร์น เอเซีย จำกัด อสังหาริมทรัพย์ จดทะเบียน 3 ธันวาคม 2558 ทุน 300 ล้าน

ส่วนอาณาจักรของเสี่ยวจางจะเกี่ยวข้องกับใคร นักการเมืองคนไหนบ้าง ในวงการเมืองพอจะรับรู้กัน มีผู้มากบารมีในสงขลาเกี่ยวแน่นอน

ให้จับตาว่า เมื่อ ปปง.ซึ่งยึดทรัพย์เสึ่ยว จาง ไว้หมดแล้ว เมื่อเปิดประมูลขาย ใครจะเป็นคนเข้ายื่นประมูลบ้าง อาจจะมีนักการเมืองบางคนจ้องตาเป็นมันก็ได้

รู้จัก ‘ซาบีดา ไทยเศรษฐ์’ ลูกสาว ‘ชาดา ไทยเศรษฐ์’ ‘ว่าที่ รมช.กระทรวงมหาดไทย’ ใน ครม.แพทองธาร 1

เป็นชื่อที่ไม่ค่อยปรากฏให้เห็นหรือได้ยินในแวดวงข่าวมากนักสำหรับ ‘ดีดา-ซาบีดา ไทยเศรษฐ์’ แต่หลังจาก ‘ชาดา ไทยเศรษฐ์’ ประกาศถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล ‘แพทองธาร’ พร้อมส่งซาบีดา เข้ามาเป็นรัฐมนตรีแทนชื่อของ ‘ซาบีดา’ ก็เริ่มเป็นที่จับจ้องมองทันที ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่มีชื่อเธอเข้ามาแทนชาดาเลย ส่วนคนที่น่าจะมาแทน คือ ‘มนัญญา ไทยเศรษฐ์’ น้องสาวของชาดา 

แต่ขณะนี้เป็นห้วงเวลาที่มนัญญาเตรียมลงชิงนายกฯ อบจ.อุทัยธานี ‘ชาดา-มนัญญา’ สองพี่น้องได้มีเรื่องบาดหมางกัน เนื่องจากชาดาได้รับปากสนับสนุนอีกคนหนึ่งไปแล้ว นักเลงต้องรักษาคำพูด ยังดีที่ตกลง และเคลียร์กันได้ก่อนการสมัคร ‘มนัญญา’ ก็ถอนตัว จากการชิงนายกฯ อบจ.อุทัยธานี ในขณะที่ชื่อ ‘ซาบีดา’ ถูกส่งเข้าประกวดชิงเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยมหาดไทยพอดี

บุญหล่นทับ ‘ซาบีดา’ ด้วยการสละของบิดา หลังตรวจสอบน่าจะไม่ผ่านคุณสมบัติ

‘ซาบีดา ไทยเศรษฐ์’ ดีกรีนักเรียนนอก เกิดวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2527 ปัจจุบันอายุ 39 ปี 11 เดือน เป็นบุตรคนที่ 2 ของนายชาดา ไทยเศรษฐ์ กับ นางเตือนจิตรา แสงไกร อดีตนายกเทศมนตรี จบการศึกษาปริญญาตรี นิติศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ปริญญาโทนิติศาสตรมหาบัณฑิต จากลอนดอน ประเทศอังกฤษ 

เมื่อชาดาผู้เป็นบิดาเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย ซาบีดา เข้ามาฝึกงานเป็นคณะทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยของผู้เป็นพ่อ และเป็นตัวแทนในการทำงานดูแลประชาชนในพื้นที่อุทัยธานีด้วย

ชีวิตครอบครัว ‘ซาบีดา ไทยเศรษฐ์’ แต่งงานกับ ชาเดฟ-อนันต์ ปาทาน เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2565 ที่โรงแรมบันยันทรี เกาะสมุย โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาในขณะนั้นเป็นประธานในพิธี ซึ่งปัจจุบัน ‘ดีดา ซาบีดา’ ยังไม่มีบุตร และถือว่ามีครอบครัวช้า เพราะแต่งงานในวัยเลย 35 ปีไปแล้ว

แต่ก็ถือว่า ‘ซาบีดา’ เป็นรัฐมนตรีที่มีอายุน้อยคนหนึ่ง เพียงแต่อายุมากกว่า นายกฯ แพทองธาร 1 ปีกว่า ๆ แต่ในวัยที่ยังไม่ถึง 40 ปี ถือว่า ‘กำลังดี’

'ลิซ่า' อัด 'ประชาธิปัตย์' กระอักเลือดกลางสภา ไร้เงา สส.ปชป.ใช้สิทธิ์พาดพิง ชี้แจงข้อเท็จจริง

ผมไม่ใช่สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ แต่มีพรรคพวกเพื่อนฝูงอยู่ในประชาธิปัตย์จำนวนมาก ทั้งนิพนธ์ บุญญามณี, สมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล, สมชาย โล่สถาพรพิพิธ เหล่านี้เป็นต้น ไม่อยากนับ เทพไท เสนพงศ์ ที่ทุกวันนี้ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ก็ยังไม่ชัดว่า อนาคตจะเดินไปทางไหน 'ส้ม' หรือ 'ฟ้า' หรือ 'น้ำเงิน'

แต่บอกตามตรงว่า 'เจ็บลึก' หรือเจ็บแสบเข้าไปในทรวง แม้ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์กับคำอภิปรายของ 'ลิซ่า' นางสาวภคมน หนุนอนันต์ สส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ซึ่งเป็นคนถิ่นฐานบ้านเดิมอยู่พัทลุง ลุกขึ้นอภิปรายในฐานะที่เป็นคนใต้คนหนึ่ง เมื่อวันที่13 กันยายน ที่ผ่านมา

เนื้อหาการอภิปรายตอนหนึ่ง ลิซ่าได้กล่าวพาดพิงถึงพรรคการเมืองหนึ่ง โดยไม่ระบุชื่อว่าเป็นพรรคการเมืองใด แต่คนที่ฟังการอภิปรายก็สามารถรับรู้ได้ว่า หมายถึงพรรคการเมืองเก่าแก่อย่างประชาธิปัตย์ เพราะลิซ่าได้กล่าวถึงพรรคการเมืองน้องใหม่ล่าสุดเข้าร่วมรัฐบาลและเป็นพรรคการเมืองที่เคยเป็นคู่ต่อสู้กับระบอบทักษิณ และพรรคเพื่อไทยมาเป็นเวลาร่วม 20 ปี ได้ชวนคนภาคใต้ร่วมการต่อสู้กับระบอบทักษิณ แต่มาวันนี้ได้ละทิ้งอุดมการณ์ที่เคยมี ไปร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย ซึ่งไม่ได้อยู่ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล แต่เป็นเพียงพรรคพลอยรัฐบาล ความหมายก็คือ ขออาศัยชายคาของพรรคเพื่อไทย เพื่อขอเป็นพรรคร่วมรัฐบาลด้วย

แหม…มันเจ็บในทรวง เจ็บเข้ากระดองใจกับคำว่า 'พลอยร่วม' ไม่รู้ว่าคนพรรคประชาธิปัตย์คิดอย่างไร แต่บางคนอาจจะกระอักเลือด เช่น ชวน หลีกภัย, บัญญัติ บรรทัดฐาน และแฟนคลับสายผู้อาวุโส

ตอนท้าย ลิซ่า ได้ขอบคุณพรรคเพื่อไทยที่ทำให้คนภาคใต้หูตาสว่างขึ้น และการเลือกตั้งในครั้งหน้า คนไทยทั้งประเทศและคนภาคใต้จะเลือกพรรคการเมืองที่มีสัจจะวาจา ตรงไปตรงมา หรือเลือกพรรคที่เอาประชาชนมาบังหน้า หรือพรรคสับปลับกลับไปกลับมา ก็ไม่รู้หมายถึงพรรคการเมืองไทย แต่น่าจะไม่ใช่ประชาธิปัตย์

ผมไม่ทราบว่าคนที่อยู่ในพรรคประชาธิปัตย์ปัจจุบัน และได้โหวตให้พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลจะรู้สึกอย่างไรบ้าง เพราะในที่ประชุมรัฐสภาไม่มีสส.พรรคประชาธิปัตย์คนใด ลุกขึ้นใช้สิทธิ์พาดพิง อภิปราย ชี้แจงข้อเท็จจริง และตอบโต้ลิซ่าเลย หรือเพราะว่าลิซ่าพูดความจริงจนจุกอก ไม่สามารถหาเหตุผลมาชี้แจงได้

คนในพรรคประชาธิปัตย์จะเจ็บจะปวดหรือไม่ ไม่ทราบ แต่เราในฐานะคนนอก มันรับไม่ได้จนแทบกระอักเลือดตาย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top