Saturday, 5 April 2025
นายหัวไทร

‘ถาวร’ ยังไม่ชัด ‘ไพเจน-แบน-สุพิศ’ ชัดเจนแล้ว ศึกเลือกตั้ง ครั้งใหญ่!! ชิงนายกฯ อบจ.สงขลา

(7 ธ.ค. 67) แม้ ‘ถาวร เสนเนียม’ อดีตรัฐมนตรีช่วยคมนาคม จะยังไม่ชัดว่าจะลงสมัครชิงเก้าอี้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาหรือไม่ แต่สำหรับ ‘นายกฯแบน’ ประสงค์ บริรักษ์ อดีตนายกเทศมนตรีเทศบาลเขารูปช้าง ได้ตัดสินใจแล้ว ลงสมัครนายกฯอบจ.สงขลาแน่นอน แต่ไม่ส่ง ส.อบจ.นะ

“ลงสมัครแน่นอน ถ้าไม่มีปัญหาเกี่ยวกับคดีที่อยู่ระหว่างการอุทธรณ์ รอประชุมกับทีมทนายความประเมินคดี แนวทางการสู้คดี ถ้าทนายความประเมินผลออกมาทางบวก ก็จะลงสมัคร ถ้าผลออกมายังไม่แน่ใจ หรือออกมาเป็นลบ ก็จะไม่ลงสมัคร” ถาวร กล่าว

ถาวร กล่าวต่อว่า คดีในชั้นอุทธรณ์น่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 1 ปี ถ้าตนลงสมัครแล้วได้รับเลือก แต่ประมาณ 1 ปี ถ้าศาลตัดสินจำคุก ก็จะขาดคุณสมบัตินายกฯ อบจ.ต้องจัดเลือกตั้งใหม่

“ผมไม่อยากให้ อบจ.สงขลาต้องสูญเสียงบประมาณร่วม 100 ล้านบาทมาจัดการเลือกตั้งนายกฯอบจ.ใหม่ อันเป็นงบประมาณจากภาษีประชาชน 100 ล้านทำอะไรได้อีกมาก สร้างถนนในระดับหมู่บ้านได้หลายสาย” ถาวร กล่าว

ถาวร กล่าวย้ำว่า กลางเดือนธันวาคมจะทราบผลการประเมินคดีจากทีมทนายความ ทราบผลก็จะได้ตัดสินใจ และแถลงข่าวให้ประชาชนทราบ

หลังสื่อบางสำนักรายงานว่า ถาวรจะจับมือกับโกเกี๊ยะ (ภูมิใจไทย) ส่งถาวรลงชิงนายกฯ อบจ.สงขลา มีกระแสตอบรับดีมาก ร้านน้ำชา-กาแฟ มีการพูดถึงในเชิงบวก บางคนพูดย้ำว่าพร้อมสนับสนุนช่วยเหลือในการหาเสียง รอเพียงถาวรตัดสินใจเท่านั้น

สำหรับ ‘สุพิศ พิทักษ์ธรรม’ อดีตอธิบดีกรมฝนหลวง หลังเปิดตัวลงชิงเก้าอี้นายกฯอบจ.สงขลา ครึกโครม แต่หลังจากนั้นเงียบไปในสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ของสงขลา เข้าใจว่าเดินทางไปต่างประเทศที่เตรียมการไว้ก่อนน้ำท่วมแล้ว ประกอบกับไม่อยากแจกของในช่วงใกล้วันสมัคร จะวุ่นวายกับการถูกร้องเรียน แน่นอนว่าถ้าถาวรลงก็จะไปชิงคะแนนของสุพิศ เพราะถาวรอยู่คนละขั้วกับ ‘นิพนธ์ บุญญามณี’ และ ‘เดชอิศม์ ขาวทอง’ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ที่ทั้งสองให้การสนับสนุนสุพิศ และคะแนนของไพเจน มากสุวรรณ์ นายกฯอบจ.คนปัจจุบันที่ไม่ลงสมัครต่อ ก็จะไหลไปทางอื่น ไม่ใช่ไหลไปสุพิศ ถ้าถาวรลง คะแนนไพเจนจะไหลไปถาวร ถ้าถาวรไม่ลงสมัครคะแนนอาจจะไหลไปพรรคประชาชน (นิรันดร์ จินดานาค)

แม้ไพเจนจะได้ประกาศชัดผ่านแถลงการณ์ ยืนยันไม่ลงสมัครต่อ แต่แฟนคลับ ขาเชียร์ก็ยังหนาแน่น วันที่ 19 ธันวาคม จะหมดวาระ ก็จะอำลาตำแหน่ง ทราบว่า จะมี ส.อบจ.ปัจจุบัน และว่าที่ผู้สมัคร ส.อบจ.ที่ไม่ใช่สายสุพิศ นำมวลชนมาให้กำลังใจไพเจน 2-3000 คน พร้อมกับโน้มน้าวให้กลับใจลงสมัครอีกสมัย

‘ถาวร‘ นัดถกทีม ส.อบจ.สาย ‘ไพเจน’ ก่อนตัดสินใจลงชิงเก้าอี้ นายกฯ อบจ.สงขลา

(9 ธ.ค. 67) ถาวร เสนเนียม อดีตรัฐมนตรีช่วยคมนาคม เดินทางกลับบ้านที่หาดใหญ่ พร้อมนัดสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (ส่วน.อบจ.) ในสายของ ’ไพเจน มากสุวรรณ์’ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดคนปัจจุบันมาร่วมประชุม และรับประทานอหาร

ซึ่งนอกจาก ส.อบจ.ในสายของไพเจนเข้าร่วมประชุม นำทีมโดยอริย์ธัช ทองเพชร ประธานสภา อบจ.สงขลา แกนนำทีม ”รวมพลังร่วมสร้างสุข” ซึ่งมีว่าที่ผู้สมัคร ส.อบจ.อยู่ในมือแล้ว 27 คน จากทั้งหมด 32 คน

“พี่ยังยืนยันในหลักการเดิมในการตัดสินว่าจะลงสมัครหรือไม่ลงสมัคร คือขอประเมินคดีก่อน คดีที่ถูกกล่าวหาว่าขัดขวางการเลือก สมัยการชุมนุมของ กปปส.คดีอยู่ระหว่างเตรียมการฎีกา” ถาวร กล่าว

ถาวร เปิดเผยว่า การประเมินผลทางคดี ต้องรอประชุมร่วมกับทีมทนายความของผู้ต้องหาทั้ง 15 คน ที่ใช้ทนายความถึง 10 คน

“ไม่เกินกลางเดือนผมจะตัดสินใจ และจะแถลงให้ได้รับทราบถึงการตัดสินใจ ซึ่งเราจะสู้ในประเด็นข้อกฎหมายเป็นหลัก ประเด็นว่า เมื่อการเลือกตั้งเป็นโมฆะไปแล้ว ยังจะมีความอีกเหรอ และ กกต.เองก็จัดการเลือกตั้งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งการเลือกตั้งทั่วไป กฎหมายกำหนดให้เลือกตั้งพร้อมกันทั่วประเทศ แต่ครั้งนั้น กกต.ไม่สามารถจัดเลือกตั้งได้พร้อมกันทั่วประเทศ ยังขาดอีก 38 เขตเลือกตั้ง”

ถาวร กล่าวขอบคุณทุกกำลังใจที่ส่งสัญญาณกันมา สนับสนุนให้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกฯอบจ.สงขลา แต่สำหรับตนแล้ว ไม่อยากให้ อบจ.สงขลาต้องสูญเสียงบประมาณจัดการเลือกตั้งใหม่ถึงเกือบ 100 ล้าน ถ้าคดีออกมาเป็นลบ

“เงินเกือบ 100 ล้าน เป็นเงินมาจากภาษีประชาชน สร้างอะไร ทำอะไรได้อีกมาก ไม่ควรเอามาใช้จ่ายเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่” ถาวร กล่าว

กล่าวสำหรับทีมรวมพลังร่วมสร้างสุข แม้จะยังไม่มีหัว แต่หาง (ส.อบจ.)พร้อมแล้ว และนายกฯไพเจน ก็จะยังให้การสนับสนุนทีมรวมพลังร่วมสร้างสุขต่อไป และถาวร เสนเนียม จะลงหรือไม่ลงสมัคร ก็น่าจะสนับสนุนทีมรวมพลังร่วมสร้างสุขแน่นอน

ส่วนประสงค์ บริรักษ์ ที่เปิดตัวลงชิงนายกฯอบจ.สงขลาด้วย น่าจะเป็นการลงแบบอิสระ ไม่เกี่ยวกับพรรคภูมิใจไทย และไม่ส่ง ส.อบจ.ด้วย แต่มีทีมว่าที่ผู้สมัคร ส.อบจ.กลุ่มหนึ่งใช้ชื่อ “ภูมิใจสงขลา” ครบ 32 คน อันทำให้เข้าใจว่า ภูมิใจไทยสนับสนุน 

ส่วนสุพิศ พิทักษ์ธรรม อดีตอธิบดีกรมฝนหลวงฯ ที่เปิดตัวลงชิงตั้งแต่ไก่โห่  ประกาศความพร้อมอาสาเข้ามาเปลี่ยนสงขลา และเริ่มปล่อยรถตระเวนออกหาเสียงในทุกอำเภอแล้ว แม้จะประกาศลงสมัครอิสระ ไม่สังกัดพรรคไหน แต่การปรากฏตัวของนายกฯชาย เดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ในศูนย์ประกาศสานงาน ทำให้คราบของประชาธิปัตย์ และคราบของนายกฯชาย ติดตัวสุพิศไปด้วยอย่างสลัดออกยาก

เป็นภาพติดตัวสุพิศในสถานการณ์ที่ประชาธิปัตย์อ่อนแอยิ่ง นายกฯชายก็ใช้ว่าจะได้รับการยอมรับมากนักกับการนำพาพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลที่ทักษิณชักใยอยู่เบื้องหลัง

สุพิศต้องสลัดประชาธิปัตย์ ออกจากตัวให้ได้ และต้องอยู่ห่างนายกฯชายเข้าไว้ ทุกอย่างจะดีเอง

‘ศักดา นพสิทธิ์’ อดีตตัวตึง!! ‘นักการเมืองฝีปากกล้า’ แห่งชลบุรี ถูกยิง!! หลังร้านข้าวต้ม โดยเด็กในร้าน คาดเหตุ!! ทะเลาะวิวาท

(10 ธ.ค. 67) เปรี้ยง…เสียงมัจจุราชคำรามขึ้นในย่ำรุ่ง ร่างของ ‘ศักดา นพสิทธิ์' ลงไปนอนกองอยู่กับพื้น ณ ลานจอดรถ ร้านข้าวต้มบางปะกง 3

คำว่าย่ำรุ่ง คือเวลา 05.30 น. เจ้าหน้าที่กู้ภัย พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เสม็ด รีบรุดไปยังที่เกิดเหตุ พบร่างของศักดานอนจมกองเลือดอยู่บริเวณหลังร้านข้าวต้ม ซึ่งเป็นลานจอดรถ ใกล้ๆกันพบปลอกกระสุน 9 มม.1ปลอก และกระสุนที่ยังไม่ได้ยิงอีกจำนวนหนึ่ง

ศักดา นพสิทธิ์ อดีตโฆษกเพื่อไทย-พ่อ ส.ส.พรรคประชาชน ชลบุรี ”วรรณิดา นพสิทธิ์“ ซึ่งศักดามีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้ลูกสาวประสบความสำเร็จ เพราะศักดาทำกิจกรรมทางการเมืองในชลบุรีมายาวนาน และหลังชนะการเลือกตั้งก็ยังลงพื้นที่ทำกิจกรรมต่อเนื่อง ลงพบปะพี่น้องประชาชนดึกๆดื่นๆกว่าจะกลับบ้านพักผ่อน บางวันก็นอนชลบุรี บางวันนอนกรุงเทพ

นายศักดา นพสิทธิ์ ปัจจุบันอยู่ในวัยเกษียณ อายุ 61 ปี อดีตเคยเป็นเลขานุการ รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โฆษกฝีปากกล้าของพรรคเพื่อไทยมาก่อน ถ้ากล่าวถึงศักดา นักศึกษากิจกรรมการเมืองช่วงปี 25-28 คงรู้จักศักดาดี

ศักดาเข้ามาเรียนรามคำแหงปี 2525 ก็เริ่มเข้ามาสัมผัสกับกลิ่นไปของกิจกรรมทางการเมืองกับพรรคนักศึกษา 7 คณะ พรรคนักศึกษาระดับหัวก้าวหน้า ปี 2527 ศักดาลงสมัครเป็นสมาชิกสภานักศึกษา อศ.มร.และได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภานักศึกษา ในสมัยที่ ‘วันเลิศ กิตติธรกุล’ เป็นนายกองค์การนักศึกษา มร.

ในรุ่นไล่ๆกับกับศักดา ก็จะมี ‘นิกร จันพรม’ เจริญลักษณ์ เพ็ชรประดับ เป็นต้น หรือรุ่นไล่ขึ้นมาข้างบนหน่อยก็จะเป็น ‘ละม้าย เสนขวัญแก้ว’ อดีตประธานสภานักศึกษา มร.ปี 26 หรือ ‘นัดมุดดิน อูมาร์’ อดีต สส.นราธิวาส และอีกหลายๆคนที่ไม่อาจเอ่ยชื่อได้หมด

‘ศักดา’ เรียนจบนิติศาสตร์ แต่ด้วยความที่สนใจการเมืองมาตั้งแต่ต้น เมื่อเดินพ้นรั้วรามคำแหง ก็ไม่มีกำแพงใดกีดกั้น การเมืองคือวิถี ศักดากระโดนเข้าสู่เวทีการเมืองอย่างไม่ลังเล แต่ในวิถีของการเลือกตั้งศักดายังไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก้าวขึ้นไปเป็นโฆษกพรรคเพื่อไทย และเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพย์ พร้อมผลักดันให้ลูกสาวในวัยจบเผาะ ก้าวขึ้นเป็น สส.ชลบุรี พรรคประชาชน สมใจนึก

ช่วงระยะหลังศักดาผันตัวเองมาเป็นนักวิเคราะห์ทางการเมืองในทุกสถานการณ์แบบทันต่อเหตุการณ์ ทีวีหลายช่องก็เชิญมากขึ้น เริ่มติดชาร์ดนักวิเคราะห์การเมือง แต่การที่ศักดาโดนยิง เสี่ยวแรกของการฉุกคิด ต้องพุ่งปมไปสู่การเมือง แต่ข้อเท็จจริงน่าจะไม่ใช่ ลูกสาวที่เป็น สส.ก็บอกว่าไม่ใช่ปมการเมือง

ในทางการสอบสวน สืบสวนของตำรวจ พบว่าผู้ก่อเหตุเป็นเด็กในร้านข้าวต้ม เมาแล้วทะเลาะกับแฟนสาว ก่อนจะไปทะเลาะกับเด็กในร้านข้าวต้มคนอื่นๆ และลามมาถึงแขกในร้าน

จากพยานแวดล้อมไม่น่าจะยากในการติดตามจับกุมคนร้ายมาลงโทษ เพราะอาชญากรได้ทิ้งพยาน หลักฐานไว้มากมายในการก่ออาชญากรรม

‘ไพเจน’ ยืนยัน!! ไม่ทิ้งชาวสงขลา ควงภรรยากินโจ๊ก ในวันที่ไม่มีหัวโขน ย้ำ!! จะมืดจะค่ำ ก็ยังดูแล เพราะเป็นงานที่ชอบ ขออาสา มาดูแลประชาชน

(29 ธ.ค. 67) ‘ไพเจน มากสุวรรณ์’ ในวันที่ไม่มีหัวโขน ควงภรรยากินโจ๊กร้านดังเกาะยอ หน้าโรงเรียนวัดแหลมพ้อ

เช้าวันหนึ่งผมชวน ศักดิ์สิทธิ์ สุวรรณโชติ เพื่อนรักสมัยเรียนโรงเรียนมหาวชิราวุธ สงขลา ไปหาอาหารมื้อเช้าทานกัน หลังจากเสร็จภารกิจอันเหนื่อยล้าเมื่อวานนี้

“หาโจ๊กกินกันดีกว่า” โก้ (ศักดิ์สิทธิ์) เอ่ย ก็ไม่รอช้ารีบเดินทางไปตามนัด “ลุงเสรีป้าจิ” ร้านโจ๊กชื่อดังบนเกาะยอ สงขลา อยู่หน้าโรงเรียนวัดแหลมพ้อ

ไม่ผิดคาดคนเกือบเต็มร้าน กาแฟ 1 แก้ว โจ๊ก 1 ชาม สั่งมา

โจ๊กยังไม่หมดชาม รถตู้สีดำวิ่งเข้ามาจอด ชายสูงวัย แต่ยังแข็งแรง ทะมัดทะแมง กระโดดลงมาจากรถ ผู้หญิงอีกคนลบรถตามมา เดินเข้ามาในร้านลุงเสรีป้าจิ ทักทายผู้คนในร้านเหมือนรู้จักมักคุ้น

ไพเจน มากสุวรรณ์ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา พร้อมภรรยาคุณกัลยานั้นเอง ซึ่งเพิ่งพ้นตำแหน่งหมดวาระไป และโจ๊กใส่ไข่ คืออาหารมื้อแรกในวันที่ไม่มีตำแหน่งนายกฯอบจ.สงขลา ไม่มีหัวโขนใดๆ

“แม้จะไม่มีตำแหน่งอะไรแล้ว แต่ยังสำนึกในบุญคุณของชาวสงขลาที่เลือกให้มาเป็นนายกฯอบจ.ก็จะยังคงทำหน้าที่ช่วยเหลือชาวสงขลาต่อไป โดยเฉพาะงานด้านการเกษตร ที่ริเริ่มไว้หลายเรื่องก็จะสานต่อภารกิจช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรต่อไป”

ไพเจนอธิบายถึงภารกิจในวันที่พ้นตำแหน่งนายกฯอบจ.สงขลา และในระหว่างนี้ก็จะช่วยผู้สมัคร ส.อบจ.ที่เคยอยู่ในทีมเดียวกันหาเสียงต่อไป และจะยังคงพักอาศัยอยู่ในจังหวัดสงขลา

“ผมจบวิศวะ มีใบอนุญาตประกอบอาชีพวิศวกร ยังสามารถทำงานได้ เป็นที่ปรึกษาบริษัทต่างๆด้านวิศวกรรมได้ มีติดต่อมาจะให้เป็นที่ปรึกษาก็หลายบริษัท” ไพเจนอธิบายถึงภาพในอนาคต แต่เลี่ยงที่จะกล่าวถึงอนาคตทางการเมือง

“ผมเป็นคนไม่เครียด แม้จะทุ่มเททำงานหนัก เช้าจรดเย็น มืดค่ำก็ไม่เป็นไร เพราะเป็นงานที่เราชอบและขันอาสามาแล้ว ประชาชนไว้วางใจแล้ว

ค่ำของวันเดียวกัน ”ไพเจน“ยังไปที่ร้านมะม่วงเบา ย่านสิงหนคร ซึ่งเพื่อนร่วมรุ่น มว.74 (มหาวชิราวุธ รุ่น 74) นัดเลี้ยงส่งหลังพ้นจากตำแหน่งนายกฯอบจ.สงขลา ด้วยมิตรไมตรี และมิตรภาพที่มีต่อกันมายาวนานด้วยบรรยากาศที่แสนจะอบอุ่น

”เมื่อเลือกว่าที่นี้ดีที่สุด คือมหาวชิราวุธวิรุจค่า ก้าวมาแล้วจงทำตนพ้นราคา
ประหนึ่งเกลือคงวารักษาเค็ม”

นี้คือสิ่งที่ชาวมหาวชิราวุธ ครองตนและยึดมั่นเป็นแนวทางในการดำรงชีวิต

”รกฺขาม อตฺโน สาธุํ“ 

รักษาความดี ประดุจเกลือรักษาความเค็ม

อบจ.นครศรีฯ ตัดงบ!! อุดหนุน โรงพยาบาล ไม่ผ่านสภา!! ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

(18 ม.ค. 67) ต้องยอมรับความจริงก่อนว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช (อบจ.) มีการตัดงบอุดหนุนหน่วยงานต่าง ๆ ในจังหวัดนครศรีธรรมราชจริง มีการตัดงบอุดหนุนโรงพยาบาลร่อนพิบูลย์ และโรงพยาบาลยุพราช อ.ฉวาง จริง

ไม่ใช่แค่นี้ยังตัดงบอุดหนุนโรงเรียนต่าง ๆ อีกสี่สิบกว่าโรง รวมทั้งหมด 154 โครงการ เป็นวงเงิน 47 ล้านบาท เพื่อนำเงินงบประมาณไปใช้ในการจัดการเลือกตั้ง ส.อบจ.ที่จะมีขึ้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้

ต้นสายปลายเหตุมาจากการที่ ‘เจ้ต้อย-กนกพร เดชเดโช’ อดีตนายกฯอบจ.นครศรีฯ ลาออกก่อนหมดวาระ ทำให้ต้องจัดการเลือกตั้งสองครั้ง คือเลือกนายกฯอบจ.ก่อน แล้วมาเลือกตั้ง ส.อบจ.อีกครั้ง ในขณะที่ อบจ.นครศรีฯ ตั้งงบประมาณเพื่อจัดการเลือกตั้งไว้ 86 ล้านบาท ใช้เพื่อเลือกตั้งนายกฯอบจ.ไปแล้ว 74 ล้านบาท เหลืองบเพื่อใช้จัดการเลือกตั้ง ส.อบจ.เพียง 10 กว่าล้านบาท ซึ่งแน่นอนว่า ไม่เพียงพอ อบจ.นครศรีฯจึงต้องจัดหางบเพิ่มเติม เพื่อจัดการเลือกตั้ง ส.อบจ.ให้แล้วเสร็จตามช่วงเวลาที่กฎหมายกำหนด ช่วงเวลาสั้นๆ ง่ายๆ คือการ ‘ตัดงบอุดหนุน’ อันเป็นภารกิจรองของท้องถิ่น

ผู้บริหารท้องถิ่นอย่าง อบจ.นครศรีฯในเวลานั้น เมื่อนายกฯอบจ.ลาออก ปลัด อบจ.ต้องทำหน้าที่แทน จนกว่าจะได้นายกฯคนใหม่ อันเป็นช่วงเวลาคาบเกี่ยวกับการเตรียมการเลือกตั้ง ส.อบจ. เมื่อได้ประชุมหัวหน้าส่วนราชการแล้ว จึงตัดสินใจหางบประมาณจัดการเลือกตั้งด้วยการตัดงบประมาณอุดหนุนส่วนราชการต่างๆ และเลือกที่จะตัดงบอุดหนุนโรงพยาบาล โรงเรียน จึงทำให้เกิดกระแสดราม่าขึ้น เมื่อ ‘น้ำ-วาริน ชิณวงค์’ นายกฯอบจ.นครศรีฯ เป็นคนลงนามในหนังสือแจ้งการตัดงบประมาณอุดหนุนให้หน่วยงานต่าง ๆ ทราบด้วยตัวเอง ทำให้ตกเป็นเหยื่อ เป็นขี้ปากของฝ่ายตรงข้ามทันที

เราจะลองย้อนหลังไปดูเส้นทางการตัดงบอุดหนุนของ อบจ.นครศรีฯ กันว่า เกิดในช่วงไหนอย่างไร เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น

การดำเนินการพิจารณาตัดงบอุดหนุนนี้ได้ดำเนินเสร็จสิ้นตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2567 โดยปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่แทนนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดในขณะนั้น ในระหว่างรอนายกฯคนใหม่

ความจำเป็นในการตัดงบอุดหนุน เนื่องจากข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายปี 2568 ได้ตั้งงบประมาณเป็นค่าจัดการเลือกตั้งนายก อบจ. และส.อบจ. ไว้ 86 ล้านบาท 

ภายหลังจัดการเลือกตั้งนายก อบจ. มีงบประมาณคงเหลือประมาณ 10 กว่าล้านบาท ได้จัดทำประมาณการค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้งส.อบจ แล้ว ต้องตั้งงบประมาณเพิ่มเติม 47 ล้านบาทเศษ

ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเงินอุดหนุนของ อปท. พ.ศ.2559 ข้อ 4(3) อปท.ต้องให้ความสำคัญกับโครงการอันเป็นภารกิจหลักตามแผนพัฒนาท้องถิ่นที่จะต้องดำเนินการเอง และสถานะทางการคลังก่อนที่จะพิจารณาให้เงินอุดหนุน

แต่ประเด็นคือ อบจ.นครศรีฯ ภายใต้การบริหารชั่วคราวของ ‘ดุษฎี จันทร์พุ่ม’ เลือกที่จะตัดงบอุดหนุนโรงพยาบาลร่อนพิบูลย์ และโรงพยาบาลยุพราช ฉวาง (คุณภาพชีวิต)รวมถึงงบอุดหนุนโรงเรียน (การศึกษา) เมื่อเลือกตัดงบโรงพยาบาลร่อนพิบูลย์ จึงหลีกหนีไม่พ้นการตกเป็นขี้ปากของฝ่ายตรงข้าม เพราะอย่าลืมว่า ฝ่ายตรงข้ามเขาอยู่ร่อนพิบูลย์ ‘แทน-ชัยชนะ เดชเดโช’ สส.ในเขตนั้นจึงฟูมฟายผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ทันที

จริง ๆ อบจ.ยังมีทางเลือกในการตัดงบก้อนอื่น เช่น งบกลาง งบสร้างถนน งบสร้างสะพาน ที่ตอนหาเสียงก็กล่าวหาเขาว่า สร้าง ๆๆๆ สร้างถนนเยอะ ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

ประเด็นพิจารณา คือ การตัดงบอุดหนุนโดยฝ่ายบริหารนั้น ชอบหรือไม่ อย่าลืมว่า ข้อบัญญัติงบประมาณ ได้รับอนุมัติจากสภา อบจ.การจะเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในข้อบัญญัติ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภา.อบจ.ก่อนหรือไม่ ฝ่ายบริหารเปลี่ยนแปลงเอง โดยสภาไม่รับรู้ด้วย ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

การเปลี่ยนแปลงข้อบัญญัติงบประมาณโดยสภาไม่รับรู้ น่าจะเป็นปัญหาต่อไปของ อบจ.นครศรีฯ

‘นิด้าโพล’ เผยผลสำรวจ!! ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ชาวสงขลา เลือกหนุน ‘สุพิศ’ นั่งนายกฯ อบจ.

เมื่อวานนี้ (19 ม.ค. 68) ‘นิด้าโพล’ ทำการสำรวจความคิดเห็นของชาวสงขลาต่อการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (อบจ.) ซึ่งมีผู้ลงสมัครมากถึง 9 คน

ผลการสำรวจพบว่า ชาวสงขลา 26.36% เชื่อว่านายสุพิศ พิทักษ์ธรรม จากกลุ่มสงขลาพลังใหม่น่าจะมีโอกาสได้รับเลือก ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ที่มากกว่าทุกคน

ตามด้วยนายนิรันดร์ จินดานาค จากพรรคประชาชน 16.44% ซึ่งห่างจากนายสุพิศถึง 10%

นายประสงค์ บริรักษ์ นายกแบน จากทีมสงขลาเข้มแข็ง ได้แค่ 14.13%

ส่วนคนอื่นๆคะแนนอยู่ที่ 1-5% เท่านั้น แต่ยังมีอึก 25.54% ที่ยังไม่ตัดใจว่าจะเลือกใคร

มีเวลาเหลือสำหรับการหาเสียงแค่ 12 วัน เพราะจะมีการหย่อนบัตรลงคะแนนในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถ้าไม่มีอุบัติเหตุทางการเมือง กินขนมเชื่อก่อนได้เลยว่า นายสุพิศน่าจะได้รับเลือกให้เป็นนายกฯอบจ.สงขลา เว้นเสียแต่ว่า นายสุพิศสดุดขาตัวเอง ซึ่งในทางการเมืองวันเดียวก็มีโอกาสพลิกได้ ถ้าผิดพลาด กระแสจะไปเร็วมาก

ในสถานการณ์นี้นายสุพิศต้องประคองสถานการณ์ให้ได้ รักษาระดับเอาไว้ และสร้างกระแสดีดตัวเองให้พุ่งนำไว้เรื่อยๆ จนถึงวันหย่อนบัตร ก็เรียก ‘นายกฯสุพิศ’ ไว้ก่อนได้เลย

‘กำนันศักดิ์-เจ้โส’ จะประมาท ‘หมอมุดสัง’ ไม่ได้ ศึกเลือกตั้งนายกฯ อบจ. สมรภูมิเมืองหอยใหญ่

(20 ม.ค. 68) ‘กำนันศักดิ์’ พงษ์ศักดิ์ จ่าแก้ว นายก อบจ.สุราษฎร์ธานี หลังจากทิ้งรวมไทยสร้างชาติก็พาลูกสาว ‘แจง’ อนงค์นาถ จ่าแก้ว อดีตผู้สมัคร สส. สุราษฎร์ธานี มาสมัครเป็นสมาชิกพรรคกล้าธรรม ที่มี ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นหัวหน้าพรรค มี รอ.ธรรมนัส พรหมเผ่า กำกับบทอยู่

กล่าวถึงกำนันศักดิ์ ชาวสุราษฎร์รู้จักกันดี เป็นคนใจถึงพึ่งพาได้ พูดได้ว่าเป็นคนกว้างขวางของจังหวัด มีธุรกิจหลายตัว เช่น ธุรกิจเลี้ยงหอยแครง เขาเติบโตมาจากสายงานท้องที แล้วผันตัวเองมาสู่ท้องถิ่น จนได้เป็นนายกฯ อบจ.สุราษฎร์ และพยายามผลักดันลูกสาวเข้าสู่การเมืองระดับชาติ แต่ยังไม่สำเร็จ

สาเหตุที่กำนันศักดิ์ ตัดสินใจซบพรรคกล้าธรรม เพราะได้รู้จักสนิทสนมกันดีกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สส.พะเยา มาตั้งแต่สมัยเป็น รมช.เกษตรฯ ในยุครัฐบาลประยุทธ์

ช่วงปีใหม่ 2567 กำนันศักดิ์ได้เข้าอวยพรปีใหม่ ร.อ.ธรรมนัส ที่กระทรวงเกษตรฯ และอีก 3 เดือนถัดมา กำนันศักดิ์ได้ลาออกจากสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ หลังจากโสภา กาญจนะ อดีต สส.สุราษฎร์ธานี เปิดตัวลงชิงนายกฯอบจ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเจ้โส ก็คือภรรยาของชุมพล กาญจนะ ที่ยึดหัวหาดพรรครวมไทยสร้างชาติไว้แล้ว กำนันศักดิ์จึงต้องถอยออกไปร่วมงานกับ ร.อ.ธรรมนัส

ที่น่าสนใจ เมื่อวันที่ 29 ต.ค.2567 ที่ประชุม ครม. ได้แต่งตั้งให้ อนงค์นาถ จ่าแก้ว เป็นเลขานุการ รมว.เกษตรและสหกรณ์ (นฤมล ภิญโญสินวัฒน์)

ในการเลือกตั้ง สส.ปี 2566 กำนันศักดิ์กับชุมพล อยู่พรรคเดียวกัน นำทัพสู้ศึกเลือกตั้ง คว่ำ สส.ประชาธิปัตย์ไปหลายคน แต่เมื่อถึงเวลาเสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้ เมื่อการเจรจาไม่เป็นผลก็เดินหันหลังให้กัน

‘ลูกหมี’ ชุมพล จุลใส อดีต สส. ชุมพร เป็นคนชักชวนกำนันศักดิ์มาร่วมทีมรวมไทยสร้างชาติ แต่ปัจจุบัน ลูกหมี และพรรค รทสช. ประกาศสนับสนุน โสภา กาญจนะ ผู้สมัครนายก อบจ.สุราษฎร์ธานี

สมรภูมินายก อบจ.เมืองหอยใหญ่ ไม่ใช่แค่เจ้โสกับกำนันศักดิ์เท่านั้น ให้จับตา หมอมุดสัง นายแพทย์จิรชาติ เรืองวัชรินทร์ อดีตนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ที่ลาออกจากราชการมาสมัคร นายกฯอบจ.จากพรรคประชาชน ซึ่งหมอมุดสังเป็นที่รู้จักกันในสังคมคนสุราษฎร์ เมื่อเปิดตัวลงชิงนายกฯอบจ.ก็มีกระแสตอบรับที่ดี กับภาวะที่คนเบื่อการเมืองบ้านใหญ่ การเมืองอะไรก็เกิดขึ้นได้ คนสุราษฎร์เคย “เปลี่ยน” ด้วยการเลือก ”มนตรี เพ็ชรขุ้ม“ จากนายกฯอบต.มาเป็นนายกฯอบจ.มาแล้ว หลังมนตรีได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ในนามของขาวท้องถิ่น ชื่อเสียงเริ่มปรากฎ ได้แรงบวกจาก วรพจน์ เพ็ชรขุ้ม นักกีฬามวยสากลสมัครเล่นชาวไทย เจ้าของเหรียญเงินในกีฬาโอลิมปิก 2004 ที่ประเทศกรีซ ทำให้มนตรีได้กระแสบวกไปด้วย

1 หรือ 2 วัน ก็ทำให้การเมืองเปลี่ยนได้ ยิ่งมีกระแสต้านการซื้อสิทธิขายเสียงแรง กระแสเต็มรังเพลิง แต่ยิงไม่ออก มันก็ยุ่งอยู่เหมือนกันนะ

เลขา กกต. แจงปมจัดเลือกตั้ง อบจ. วันเสาร์ที่ 1 ก.พ. 68 อ้างต้องทำให้เสร็จภายใน 45 วัน ทั้งที่ 2 ก.พ. ยังอยู่ในกรอบเวลา

(21 ม.ค. 68) ขอเหตุผลที่ดีของ กกต.ในการจัดเลือกตั้ง อบจ.วันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์

ที่ประชุมวุฒิสภาสอบถามสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ว่า ทำไมจัดการเลือกตั้งนายกฯอบจ.และ ส.อบจ.วันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ มั้ง ๆ ที่ก่อนหน้ามีการคาดการณ์กันว่า น่าจะเลือกตั้งวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ และที่ผ่านมาก็จัดเลือกตั้งวันอาทิตย์มาโดยตลอดหลายสิบปีมาแล้ว ก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไร

ตามกฎหมายเลือกตั้งผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่นกำหนดไว้ว่า ถ้าลาออก หรือพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุใดก็ตามเว้นหมดวาระ ให้เลือกตั้งใน 60 วัน

แต่ถ้าอยู่จนครบวาระ จะต้องเลือกตั้งใน 45 วัน นายกฯอบจ.และ ส.อบจ.ที่กำลังจะเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ คือชุดที่อยู่จนครบวาระ 4 ปี เมื่อวันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา

แสวง บุญมี เลขาธิการสำนักงาน กกต.อธิบายต่อที่ประชุมวุฒิสภาเพียงสั้นๆว่า

“การเลือกตั้ง 1 ก.พ. นั้น กกต.มีหน้าที่รักษากระบวนการเลือกตั้งให้สำเร็จ หากเกินจากนั้นเวลาที่กฎหมายกำหนด อาจมีคนไปร้องและทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะได้ ดังนั้นต้องรักษากระบวนการการเลือกตั้ง ทั้งนี้ตนเข้าใจคนที่ลงแข่งขันอยากให้ประชาชนมีส่วนร่วม แต่กกต.ต้องรักษาระบบ” นายแสวง ชี้แจง

นายกฯอบจ. และ ส.อบจ.ชุดที่กำลังจะมีการเลือกตั้งใหม่หมดวาระ 19 ธันวาคม นับไป 45 วัน เดือนธันวาคม 11 วัน คือตั้งแต่ 20 ธันวาคม ถึง 31 ธันวาคม เป็น 11 วัน เดือนมกราคม 31 วัน ถ้าเลือกตั้ง 1 กุมภาพันธ์ เท่ากับ 43 วัน ถ้าเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ เท่ากับ 44 วัน ยังงัยก็ไม่เกิน 45 วัน

ก็ไม่เข้าใจว่า นายแสวง บุญมี เอาตรรกะอะไรมาอธิบายว่า ต้องรักษากระบวนการเลือกตั้งให้แล้วสำเร็จ คืออะไร หมายถึงอะไร จริงๆ กกต.นอกจากต้องจัดการเลือกตั้งให้สำเร็จแล้ว กกต.ยังมีหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ เที่ยงธรรม และชอบด้วยกฎหมาย

แต่การเลือกตั้งที่ผ่านมา เต็มไปด้วยข้อครหาทุจริตการเลือกตั้ง มีการซื้อสิทธิ์ขายเสียงในการเลือกตั้งทุกระดับที่ กกต.จัดให้มีการเลือกตั้ง แม้กระทั่งการเลือก สว.ครั้งที่ผ่านมา ยังมีเรื่องร้องเรียน ฟ้องศาลกันเต็มไปหมดเป็น 100 เรื่อง และถึงขั้นมีการเรียกร้องให้ยุบทิ้ง กกต.ก็มี

อยากจะถามไปยังเลขาฯ กกต.และคณะกรรมการการเลือกตั้งว่า การกำหนดวันลงคะแนนเลือกตั้งนายกฯอบจ.และ ส.อบจ.เป็นการตัดสินใจบนพื้นฐานอะไร เหตุผลที่แท้จริงคืออะไร กลัวคนไปร้องเรียนเรื่องอะไร

ส่วนตัวผมเองฟังแสวงอธิบายต่อ สว.แล้วไม่เข้าใจ เพราะอย่าลืมว่า วันเสาร์ผู้มีสิทธิ์บางคนทำงาน อาจไม่ได้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง อันเป็นการทำให้คนเสียสิทธิ์ ซึ่งเป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย

หาเหตุผลใหม่มาอธิบายเถอะ เหตุผลที่อธิบายสั้นๆ มันฟังไม่ขึ้น อย่าแถไปข้างๆคูๆเลย

นายหัวไทร ลงพื้นที่เก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ประเมินแล้ว ขอฟันธง!! เขียนชื่อแปะข้างฝาได้เลย ‘สุพิศ พิทักษ์ธรรม’ นายกฯ อบจ.สงขลา

(26 ม.ค. 68) เข้าสู่โค้งสุดท้าย ถ้าเป็นมวยก็ยกฟ้าปลายๆแล้วสำหรับศึกชิงเก้าอี้นายกฯอบจ.สงขลา ที่มีคนหาญกล้าลงชิงมากถึง 9 คนที่ถือเป็นประวัติการณ์ที่มีคนลงสมัครมากถึงขนาดนี้

เกมเดินมาถึงยกสุดท้ายแล้วสำหรับศึกชิงนายกฯ อบจ.สงขลา เริ่มเห็นเค้าเห็นลางว่า ใครจะเดินเข้าสู่ชัยชนะ ใครจะตกสวรรค์บ้าง

สำหรับ #นายหัวไทร ที่เฝ้าติดตามข้อมูลมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนสมัครรับเลือกตั้ง หลังสมัครรับเลือกตั้ง รวมทั้งเดินทางลงพื้นที่เก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ก็พอประเมินออกว่า ใครจะเข้าวิน

วินาทีฟันธงได้เลยครับว่า ‘สุพิศ พิทักษ์ธรรม’ อดีตอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เด็กบ้านปะโอ อ.สิงหนคร น่าจะได้รับความไว้วางใจจากชาวสงขลาให้เป็นนายกฯอบจ.คนต่อไป ต่อจาก ‘ไพเจน มากสุวรรณ์’ ที่ตัดสินใจไม่ไปต่อ

ไม่ใช่นั่งชี้นอนชี้แต่มีเหตุผลในการฟันธง ประการแรก คือความพร้อมของสุพิศเอง ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจสูงมากในการเปลี่ยนแปลงเมืองสงขลาบ้านเกิด ยอมเสียสละหน้าที่ราชการในตำแหน่งอธิบดี ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนที่ไต่เต้าจาก ซี 1 จนได้ ซี 10 กับอายุราชการที่ยังมีอีกหลายปี โอกาสคว้าเก้าอี้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็ยังมีอยู่ แต่สุพิศ ก้าวกระโดดออกมาเสี่ยงลงชิงเก้าอี้นายกฯ อบจ.

ประการต่อมาสุพิศมีความพร้อมด้านทุนทรัพย์ ที่ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาจากธุรกิจรับเหมาก่อสร้างรับช่วงต่อมาจากพ่อ ได้ทำงานรับเหมาใหญ่หลายงาน ทั้งงานในกรมชลประทาน และงานอื่นๆ จนถือว่าเป็นคนร่ำรวยคนหนึ่งของสงขลา

ประการที่สาม ด้วยหน้าที่การงาน และฐานะ ยอมสร้างบารมีขึ้นมาได้ เป็นที่ยอมรับของแวดวงราชการ และธุรกิจ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับการมีบริวารแวดล้อม เครือข่ายมากมายที่พร้อมสนับสนุนผลักดัน

ประการที่สี่ ต้องยอมรับความจริงว่า สุพิศลงสมัครได้รับการสนับสนุนด้วยดีจาก ‘นายกฯชาย เดชอิศม์ ขาวทอง’ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ รมช.สาธารณะสุข แม้จะอยู่ห่างๆสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่เป็นการห่างในเชิงยุทธวิธี เช่นเดียวกับ ‘พี่จ่า-นิพนธ์ บุญญามณี’ อดีต รมช.มหาดไทย อดีตนายกฯอบจ.สงขลา ที่รักษาระยะห่าง แต่การเมืองมันกรี๊งกร้างกันได้ แต่มีสมยศ พลายด้วง สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ออกหน้าในพื้นที่อยู่แล้ว

ประการที่ห้า นโยบายบางอย่างถือว่าโดดเด่นในการสร้างเมือง เช่น ถนน อบจ.ต้องไม่เป็นหลุมเป็นบ่อแม้แต่หลุมเดียว และต้องชื่นชมในการหยิบนโยบายบางเรื่องของนายกฯไพเจนมาทำต่อ สานต่อ เมื่อเห็นว่าเป็นนโยบายที่ดี เช่น พลิกนาร้างเป็นสวนปาล์ม เป็นต้น

แม้อาจจะขัดใจอยู่บ้างในช่วงแรกสำหรับการใช้สื่อโซเชี่ยลหาเสียงเข้าถึงผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง เข้าใจว่าเป็นช่วงการปรับตัว แต่ช่วงหลังใช้สื่อมากขึ้น กระแสดีขึ้น

สำหรับผู้สมัครคนอื่นๆ ผมเชื่อตาม ‘นิด้าโพล’

นิด้าโพล สำรวจพบ ‘สุพิศ’ มีคะแนนนิยมสูงสุด ตามด้วย ‘นิรันดร์’ นายกฯแบบมาอันดับ 3

นิด้าโพลทำการสำรวจความคิดเห็นของชาวสงขลาต่อการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (อบจ.) ซึ่งมีผู้ลงสมัครมากถึง 9 คน

ผลการสำรวจพบว่า ชาวสงขลา 26.36% เชื่อว่านายสุพิศ พิทักษ์ธรรม จากกลุ่มสงขลาพลังใหม่น่าจะมีโอกาสได้รับเลือก ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ที่มากกว่าทุกคน

ตามด้วยนายนิรันดร์ จินดานาค จากพรรคประชาชน 16.44% ซึ่งห่างจากนายสุพิศถึง 10%

นายประสงค์ บริรักษ์ นายกแบน จากทีมสงขลาเข้มแข็ง ได้แค่ 14.13%

ส่วนคนอื่นๆคะแนนอยู่ที่ 1-5% เท่านั้น แต่ยังมีอึก 25.54% ที่ยังไม่ตัดใจว่าจะเลือกใคร

วันนี้วันที่ 19 แล้ว มีเวลาเหลือสำหรับการหาเสียงแค่ 12 วัน เพราะจะมีการหย่อนบัตรลงคะแนนในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถ้าไม่มีอุบัติเหตุทางการเมือง กินขนมเชื่อก่อนได้เลยว่า นายสุพิศน่าจะได้รับเลือกให้เป็นนายกฯ อบจ.สงขลา เว้นเสียแต่ว่า นายสุพิศสดุดขาตัวเอง ซึ่งในทางการเมืองวันเดียวก็มีโอกาสพลิกได้ ถ้าผิดพลาด กระแสจะไปเร็วมาก

ในสถานการณ์นี้นายสุพิศต้องประคองสถานการณ์ให้ได้ รักษาระดับเอาไว้ และสร้างกระแสดีดตัวเองให้พุ่งนำไว้เรื่อยๆ จนถึงวันหย่อนบัตร ก็เรียก ‘นายกฯ สุพิศ’ไว้ก่อนได้เลย

ศาลยังไม่ตัดสินคดีใบแดง ‘มุกดาวรรณ’ แต่ไต่สวนเสร็จแล้ว รอนัดอ่านคำพิพากษา

(29 ม.ค. 68) ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับ ‘มุกดาวรรณ เลื่องสีนิล’ สส.นครศรีธรรมราช เขต 8 พรรคภูมิใจไทย ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ให้ใบแดง และศาลประทับรับฟ้อง พร้อมกับต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่

แต่วันนี้มีข่าวอื้ออึงไปทั่วเมืองนคร ว่า ศาลอาญาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดอ่านคำพิพากษา ซึ่งไม่เป็นความจริง เป็นการปล่อยข่าวออกมาจากบ้านฝ่ายผู้ร้อง ผู้ถูกร้อง (ฝ่ายคัดค้าน) ก็นั่งสงบ และข้อเท็จจริง คือศาลยังไม่นัดอ่านคำพิพากษา ยังอยู่ในขั้นตอนการไต่สวนพยานฝ่ายค้าน (ผู้ถูกร้อง)

โดยศาลฎีกาออกประกาศนัดไต่สวนพยานคดีใบแดง ‘มุกดาวรรณ เลื่องสีนิล’ สส.นครศรีฯพรรคภูมิใจไทย ฝั่ง ผู้ร้อง – คัดค้าน รวม  9 ครั้ง  23 ธ.ค. 67  สุดท้าย 29 ม.ค.68

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2567 ศาลฎีกาได้ออกประกาศ แจ้งวันนัดพิจารณา คดีเลือกตั้งหมายเลขที่ ลต สส 5/2567  ระหว่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)  ผู้ร้อง  นางมุกดาวรรณ เลื่องสีนิล  (สส.นครศรีธรรมราช เขต 8 พรรคภูมิใจไทย)  ผู้คัดค้าน เรื่อง ขอให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง และเรียกค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกตั้ง  ศาลฎีกามีคำสั่งให้ไต่สวนพยานผู้ร้อง วันที่ 23 -25 ธ.ค.2567, 20-21 ม.ค.2567, 27 ม.ค.2567  นัดไต่สวนพยานผู้คัดค้าน วันที่ 27-29 ม.ค.2567 รวมทั้งสิ้น 9 ครั้ง (ดูประกาศ)

ก่อนหน้านี้ศาลฎีกามีคำสั่งนัดตรวจพยานหลักฐานคดีนี้ในวันที่ 1 สิงหาคม 2567 ต่อมา วันที่ 1 สิงหาคม 2567 ศาลฎีกาออกประกาศเลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐานเป็นวันที่ 17 ก.ย.2567  

สำหรับคดีนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของนางมุกดาวรรณ เลื่องศรีนิล สส.นครศรีธรรมราช เขต 8 พรรคภูมิใจไทย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 226 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.มาตรา 138 และมาตรา 139 ศาลฎีกาได้มีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยเมื่อวันที่ 5 ก.ค.2567 จึงมีผลให้นางมุกดาวรรณ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลฎีกาจะมีคำพิพากษา  คดีนี้ เป็นกรณีถูกร้องเรื่องการแจกเงินไปลงคะแนนให้ตัวเอง หัวละ 500 บาท รวมเป็นเงิน 25,000 บาท และเรื่องการแจกเงินให้ไปฟังการปราศรัย

คดีของนางมุกดาวรรณ ถือเป็นคดีแรกที่ กกต.แจกใบแดงให้ สส.จึงเป็นคดีที่สังคมติดตามความคืบหน้ากันมาก อันจะเป็นการพิสูจน์ผลงานของ กกต.ด้วยกับคำร้องค้านผลการเลือกตั้งมากมายถึง 72 เขตเลือกตั้ง

ที่สำคัญถ้าศาลฎีกาให้ใบแดงมุกดาวรรณจริง นอกจากเพิกถอนสิทธิ์การเลือกตั้งแล้ว ยังจะต้องชดใช้ค่าจัดการเลือกตั้งใหม่เป็นเงินหลายล้านบาทแล้ว และในการเลือกตั้งซ่อม ก็จะเป็นสนามที่ต่อสู้กันดุเดือด เข้มข้นแน่นอน เพราะจะเป็นสนามพิสูจน์ฝีมือนักการเมืองระดับหัวทั้งสองสามขั้ว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top