Monday, 29 April 2024
ค้ามนุษย์

‘สำนักงานตำรวจแห่งชาติ’ ยืนยัน! การปราบปราม 'การค้ามนุษย์' ดำเนินการตามหลักกฎหมาย และมุ่งมั่นในการดำเนินการปราบปรามอย่างต่อเนื่อง

‘สำนักงานตำรวจแห่งชาติ’ ยืนยัน! การปราบปรามการค้ามนุษย์ ดำเนินการตามหลักกฎหมาย และมุ่งมั่นในการดำเนินการปราบปรามอย่างต่อเนื่อง

พลตำรวจตรี ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากกรณี ส.ส.ฝ่ายค้าน อภิปรายประเด็นการปราบปรามจับกุมคดีค้ามนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีที่เกี่ยวข้องกับชาว "โรฮีนจา" เมื่อปี พ.ศ. 2558 ในทำนองว่าไม่ให้ความสำคัญ ไร้ประสิทธิภาพ และดำเนินการในลักษณะไม่มีมาตรฐานในการปฏิบัติที่เป็นธรรมนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติขอชี้แจง ดังนี้

1.คดีค้ามนุษย์ "โรฮีนจา" พื้นที่ สภ.ปาดังเบซาร์ จว.สงขลา เมื่อวันที่ 1 พ.ค.58 คดีนี้เป็นคดีที่เป็นความผิดนอกราชอาณาจักร ตาม ป.วิอาญา มาตรา 20 ซึ่งอัยการสูงสุดเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ต่อมาอัยการสูงสุดได้แต่งตั้งพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจและฝ่ายอัยการ เป็นคณะพนักงานสอบสวน ร่วมทำการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน  พนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาในข้อหาค้ามนุษย์, อาชญากรรมข้ามชาติ และข้อหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก่อนหน้านี้พนักงานสอบสวนได้ขอให้ศาลออกหมายจับผู้ต้องหาในคดีนี้ จำนวน 155 ราย จับกุมตัวได้แล้ว จำนวน 120 ราย เสียชีวิต จำนวน 2 ราย  และหลบหนี อยู่ระหว่างติดตามจับกุมเพิ่มเติม จำนวน 33 คน ซึ่งในส่วนของผู้ต้องหาที่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีแล้ว ศาลอาญาและศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไปแล้วหลายราย ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกา อย่างไรก็ตาม หากท่านใดมีข้อมูลหรือเบาะแสเพิ่มเติมที่เป็นประโยชน์ ที่สามารถนำไปสู่การจับกุมผู้กระทำผิดเพิ่ม ก็ขอได้โปรดแจ้งมาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติขอยืนยันว่าจะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องในคดีนี้ทุกรายโดยไม่มีละเว้น

2. สำหรับนโยบายการปราบปรามจับกุมการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายใต้ การกำกับดูแลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รวมทั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง และภายใต้การนำ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. มีความมุ่งมั่นปราบปรามจับกุม ตามนโยบายรัฐบาล อย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมามีการเร่งรัดปราบปรามจับกุมมาโดยตลอด มีผลการจับกุมและดำเนินคดีในปี 2564 จำนวน 182 คดี และ ปี 2565 จำนวน 11 คดี

‘บิ๊กตู่’ แนะ ‘ปวีณ’ ร้องทุกข์ตามช่องทาง ยันไม่ปกป้องใครที่มีเอี่ยวค้ามนุษย์

‘บิ๊กตู่’ ลั่น บ้านเมืองมีขื่อมีแป หลัง ‘พล.ต.ต.ปวีณ’ ร้องอยากกลับประเทศ บอก ‘ก็กลับมา’ จะฟ้องร้องอะไรก็ฟ้องไป ให้กระบวนการตัดสิน ยันไม่ปกป้องใครที่มีเอี่ยวค้ามนุษย์

วันนี้ 21 ก.พ. 65 เมื่อเวลา 11.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษยว่า ดำเนินการต่อเนื่องมาโดยตลอด ผลงานการแก้ปัญหาค้ามนุษย์ก็ดีขึ้นเรื่อยๆ สิ่งใดที่ผ่านมาแล้วก็เป็นเรื่องของอดีตที่ผ่านมา ตรวจสอบแล้วตำรวจก็ชี้แจงไปแล้ว บางเรื่องที่เป็นประเด็นผ่านด้วยระเบียบกฎหมาย ก็ต้องว่าไปตามนั้น รัฐบาลจริงใจในการแก้ไขปัญหา ไม่อย่างนั้นก็คงไม่ดีขึ้นเหมือนวันนี้อาจจะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์แต่ก็ต้องทำต่อไป ทั้งการค้ามนุษย์ การประมง เรื่องการทุจริต เราอาจจะมองว่าคะแนนเราตกต่ำลงก็ต้องไปในรายละเอียด ส่วนหนึ่งได้เท่าเดิม ส่วนหนึ่งลดลง แต่ส่วนที่เพิ่มมากขึ้นคือเรื่องการบริหารของภาครัฐที่ได้คะแนนสูงขึ้นมาก นี่คือผลงานของรัฐบาลในการแก้ปัญหา ไม่ใช่ดูเฉพาะเรื่องที่ไม่ดีอย่างเดียว ต้องดูส่วนไหนที่ดี ส่วนไหนที่ไม่ดีก็แก้กันไป ก็ต้องทำงานแบบนั้น

เมื่อถามว่าถึงคดีของ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตรองผู้บัญชาตำรวจภูธรภาค 8 พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวย้อนถามมาว่า ‘เขามีคดีอะไรหรือ’ เมื่อถามว่า พล.ต.ต.ปวีณ ระบุต้องลี้ภัยไปอยู่ประเทศออสเตรเลีย เพราะไม่ได้รับความเป็นธรรมเรื่องการแต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ก็ไปร้องทุกข์ ร้องเข้าช่องทางมา

‘โรม’ ซัด ‘3ป.’ มีเอี่ยวค้ามนุษย์ เชื่อปัญหาแก้ได้ แต่ต้องไม่ใช่รบ.ชุดนี้

วันนี้ 22 ก.พ. 65 นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ภายหลังอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 กรณีขบวนการค้ามนุษย์ว่า หลังจากจบการอภิปรายจนถึงวันนี้ ตนยังไม่ได้รับคำอธิบายที่น่าสนใจ และคำอธิบายของรัฐบาลที่ผ่านมาก็ไม่ต่างจากคำตอบเมื่อ 6 ปีที่ผ่านมาที่ขอให้พ.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ กลับประเทศไทยเพื่อสู้คดีโดยรัฐบาลควรมีสัญญาที่ดีกว่านี้ เช่น ควรกลับไปพิจารณาว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผู้ใดรู้บทบาทหน้าที่และการค้ามนุษย์และขัดขวางการทำงานของ พ.ต.ต.ปวีณ หากรัฐบาลต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมตนก็พร้อมที่จะให้ข้อมูลต่างๆ แก่รัฐบาล

“รัฐบาลไม่มีการต่อยอดและนำสู่การขยายผล เช่น ประเด็นเรื่องการรับผิดชอบของกองทัพเรือในกรณีที่สามารถจับผู้เกี่ยวข้องได้ 1 คน หรือ กรณีที่การทำงานของฝ่ายปกครอง ที่ปล่อยให้มีการขนคนจำนวนมากเพื่อนำไปค้ามนุษย์ในเรื่องนี้ต้องมีคนรับผิดชอบ” นายรังสิมันต์ กล่าว

นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า หากรัฐบาลมีความจริงใจในการปราบปรามเรื่องการค้ามนุษย์ ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อพิจารณาในประเด็นที่ตนได้อภิปรายไว้ โดยแต่งตั้งบุคคลที่สังคมให้ความเชื่อถือเข้ามาเป็นกรรมการ แต่ขณะนี้รัฐบาลกลับยืนกรานว่าได้ดำเนินการไปแล้ว และขอให้พ.ต.ต.ปวีณ กลับประเทศไทย แต่ใครจะกล้ากลับในเมื่อประเทศไทยยังมีเรื่องการอุ้มหาย และการเสียชีวิตของข้าราชการน้ำดี

 “คงชีพ” ยัน “บิ๊กป้อม” ไม่เกี่ยว คดีค้ามนุษย์ “พล.ท.มนัส” ระบุ หากมีข้อมูลคนอยู่เบื้องหลัง ขอให้เปิดเผยหลักฐาน

เมื่อวันที่ 22 ก.พ.พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์  โฆษกกระทรวงกลาโหม ในฐานะ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี  พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เปิดเผยถึงกรณีการอภิปรายในสภา ที่ผ่านมามีการกล่าวอ้างและพยายามเชื่อมโยงว่า มีนายตำรวจทีมงาน พล.อ.ประวิตร โทรมาสั่งให้ประกันตัว พล.ท.มนัส คงแป้น ผู้ต้องหาคดีค้ามนุษย์นั้น พล.อ.ประวิตร กล่าวยืนยันว่า ตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด และหากมีชื่อบุคคลตามกล่าวอ้างดังกล่าว หรือ มีข้อมูลผู้อยู่เบื้องหลังและผู้เกี่ยวข้องเพิ่มเติม  ขอให้เปิดเผยหลักฐานและข้อมูลจริงทั้งหมดออกมา เพื่อจะได้ดำเนินการตามกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมให้ถึงที่สุด 

'โรม’ รุกต่อ!! สอบปมค้ามนุษย์​ ผ่าน​กมธ.กฎหมาย คาดวีกหน้าเรียก 3 ป. แจงข้อเท็จจริง​ เหตุ ‘ปวีณ ลี้ภัย’

25 ก.พ. 65​ รังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร แถลงต่อสื่อมวลชนว่า จากกรณีที่ได้อภิปรายในประเด็นการค้ามนุษย์และการลี้ภัยของพลตำรวจตรี ปวีณ พงศ์สิรินทร์ วันนี้จะนำเรื่องดังกล่าวขอมติต่อคณะกรรมาธิการให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง หากมติกรรมาธิการเห็นด้วย จะเสนอต่อที่ประชุมให้เชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ โดยพุ่งประเด็นไปที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี,​ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี,​ พลตำรวจเอก สุวัจน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รวมถึงผู้บัญชาการทหารเรือ ยืนยันว่าเรื่องนี้พรรคก้าวไกลให้ความสำคัญมากจริงๆ และจะติดตามตรวจสอบเรื่องนี้อย่างถึงที่สุด

นอกจากนี้ วันเดียวกัน กมธ.กฎหมายฯ ยังได้รับหนังสือร้องเรียนจาก นายธนารัตน์ น้ำคำ ตัวแทนประชาชนที่มาเรียกร้องต่อคณะกรรมาธิการ ขอให้ตรวจสอบมาตรฐานโรงงานน้ำตาลแห่งหนึ่งใน จ.อุทัยธานี ที่เกิดกรณีคนงานพลัดตกลงไปในเครื่องบีบน้ำตาลจนเสียชีวิตแต่ยังคงดำเนินการผลิตต่อไปโดยไม่มีการยับยั้งชั่วคราวใดๆ จากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง 

“บิ๊กโจ๊ก” แถลงยึดทรัพย์ขบวนการค้ามนุษย์ 4 จังหวัดกว่า 100 ล้านบาท

ที่ สภ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร รองผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ (ศพดส.) แถลงผลการจับกุมขบวนการค้ามนุษย์และฐานความผิดที่เกี่ยวข้องในคดีฟอกเงิน มี พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ ปิงเมือง เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) พล.ต.ต.พนัญชัย ชื่นใจธรรม รอง ผบช.ภ.1 พล.ต.ต.วัฒนา ยี่จีน รอง ผบช.ภ.7 พล.ต.ต.วันชัย ธารณธรรม ผบก.ภ.จ.ประจวบฯ ร่วมในการแถลงข่าว จากเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.62 ตำรวจ ภ.8 ได้จับกุมขบวนการขนแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมาในพื้นที่ สภ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช และในวันที่ 6 ก.ย.64 สามารถจับกุมขบวนการขนแรงานต่างด้าวในพื้นที่ สภ.มาบอำมฤต จ.ชุมพร และ สภ.เขานิพันธ์ จ.สุราษฎร์ธานี และได้ดำเนินคดีในความผิดฐานค้ามนุษย์องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง

โดยมีการขนแรงงานชาวเมียนมาจากฝั่ง อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อไปส่งประเทศมาเลเซีย ต่อมาศาลจังหวัดทุ่งสงได้มีคำพิพากษาจำเลยที่ถูกจับกุมจำคุกผู้ต้องหา 6 ปี จากการสืบสวนพบเส้นทางการเงินที่เข้าข่ายคดีฟอกเงิน จึงรวบรวมหลักฐานขออนุมัติศาลอาญา  ออกหมายจับผู้ต้องหาเพิ่มอีก 9 คน หมายจับศาล จ.ชุมพร 1 คน ในความผิดอาญาฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงิน และขอหมายค้นศาลอาญาเข้าค้นเพื่อจับและยึดอายัดทรัพย์ผู้ต้องหาในพื้นที่ 4 จังหวัด 20 เป้าหมาย ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระนอง ภูเก็ต และปัตตานี 

ผลการตรวจค้นจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา 5 คน ผู้ต้องหาชาวเมียนมา 3 คน หลบหนีออกนอกประเทศกำลังติดตามจับกุมตัว ปปง.ได้สั่งอายัดบัญชีธนาคารของกลุ่มผู้ต้องหาทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ 25 บัญชี มีเงินหมุนเวียนในบัญชีรวมกว่า 680 ล้านบาท ยึดบ้านพร้อมที่ดิน 6 หลัง รถยนต์ 6 คัน รถจักรยานยนต์ 5 คัน อายัดเรือประมงผู้ต้องหาและหุ้นส่วนเพื่อตรวจสอบ 12 ลำ รถบรรทุกห้องเย็น 1 คัน สะพานปลา 1 แห่ง ทองรูปพรรณหนัก 37 บาท สมุดบัญชี 31 เล่ม กระเป๋าแบรนด์เนม นาฬิกาโรเล็กซ์ อาวุธปืน รวมมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท

'สน.บางขุนนนท์' ล็อกเป้า!! ส่อสั่งขัง 'โรม' หวังให้หลุดสถานะ ส.ส. เจ้าตัวเผย!! เป็นผลพวงจากอภิปราย 'ป่ารอยต่อ - ค้ามนุษย์'

(17 มี.ค.65) รังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่เพิ่งได้รับหมายจับจาก สน.บางขุนนนท์ ว่าหลังจากที่ตนได้อภิปรายทั่วไปเรื่องการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาเป็นต้นมา ก็ได้มีความพยายามที่จะเร่งรัดกระบวนการของคดีต่างๆ ที่ยัดเยียดมาให้จากการปฏิบัติหน้าที่ผู้แทนราษฎร โดยเฉพาะคดีที่มูลนิธิป่ารอยต่อฯ ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ฟ้องตนในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อต้นปี 2563

"จากกรณีที่เกิดขึ้น ผลที่ฝ่ายรัฐบาลคาดหวังจากความพยายามเหล่านี้ ก็คงหนีไม่พ้นการให้ผมได้ถูกศาลสั่งขังโดยไม่ให้ประกันตัว แม้เพียง 1 วันก็พอ เพื่อให้หลุดพ้นจากความเป็น ส.ส. โดยล่าสุดผมทราบว่าทางตำรวจ สน.บางขุนนนท์ ถึงขั้นมีการออกหมายจับผมในคดีนี้ โดยอ้างว่าไม่ได้ไปเข้าพบตามหมายเรียกที่ออกมาก่อนหน้านี้ ซึ่งผมขอชี้แจงดังนี้..

“หมายเรียกแรกที่ออกมานั้น ออกเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งยังอยู่ในระหว่างสมัยประชุมของสภาผู้แทนราษฎร จึงได้โต้แย้งไปแล้วว่าเป็นการออกหมายเรียกโดยไม่ชอบ เนื่องจากในรัฐธรรมนูญมาตรา 125 ได้ห้ามไม่ให้มีการออกหมายเรียกตัว ส.ส. ในระหว่างสมัยประชุม

"ต่อมาเมื่อวันที่ 5 มีนาคม ทาง สน.บางขุนนนท์ก็ได้ออกหมายเรียกอีกครั้งให้ไปพบในวันที่ 11 มีนาคม อย่างไรก็ตามตนติดภารกิจในฐานะ ส.ส. ในวันดังกล่าว จึงได้ทำหนังสือต่อ สน.บางขุนนนท์ เพื่อชี้แจงความไม่สะดวกและขอเลื่อนการเข้าพบออกไปเป็นวันอื่นที่ได้ระบุไว้ ทว่าทางตำรวจกลับมีคำสั่งไม่อนุญาตเลื่อนการนัดหมายดังกล่าว และอ้างเหตุนี้ในการขอศาลเพื่อออกหมายจับตน” รังสิมันต์ กล่าว

รังสิมันต์ กล่าวต่อไปว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 66 กำหนดว่าหมายจับจะออกได้ก็ต่อเมื่อ (1) มีหลักฐานการกระทำความผิดอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 3 ปี หรือ (2) มีหลักฐานการกระทำความผิดและมีเหตุควรเชื่อว่าจะหลบหนี (ซึ่งให้สันนิษฐานกรณีไม่มาตามหมายเรียกโดยไม่มีข้อแก้ตัวอันควรด้วย) กรณีของตนนั้นไม่ใช่ข้อ (1) แน่ๆ เพราะข้อหาหมิ่นประมาทมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ส่วนตามข้อ (2) นั้น เมื่อมีหมายเรียกมาตนก็ได้ยื่นหนังสือชี้แจงถึงความจำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ไปแล้ว พร้อมทั้งระบุวันที่สะดวกเข้าพบอย่างชัดเจนด้วย ยังไม่นับว่าในอดีตที่ผ่านมาเมื่อมีการแจ้งข้อหาแก่ตนในคดีนี้ ซึ่งตนก็ได้ไปแสดงตัวต่อเจ้าหน้าที่ อีกทั้งตลอดเวลาที่ผ่านมายังมาปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. อย่างสม่ำเสมอไม่หนีหายไปไหน จึงไม่มีเหตุสมควรที่จะต้องออกหมายจับผมแต่อย่างใดเลย

“ประวิตร” เร่งปราบค้ามนุษย์ สั่งคุ้มครอง-ช่วยเหลือ ผู้เสียหายปลื้ม งานคืบ ส่งผลดี ทิปรีพอร์ต

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์(ปคม.)ครั้งที่ 1/2565 และเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการประสานและกำกับการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์(ปกค.)ครั้งที่ 1/2565 

โดยที่ประชุมปคม. เห็นชอบร่างข้อเสนอแนวทางการพัฒนากลไกการส่งต่อระดับชาติ และร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนกลไกการส่งต่อระดับชาติ และเห็นชอบร่างมาตรฐานการปฎิบัติงานการตรวจคัดกรอง เบื้องต้น เพื่อแสวงหาข้อบ่งชี้ สำหรับบุคคลที่มีเหตุอันควรสงสัยได้ว่าอาจเป็นผู้เสียหายจากการแสวงหาประโยชน์ด้านแรงงาน แรงงานบังคับ หรือการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน 

นอกจากนั้นเห็นชอบร่างรายงานความคืบหน้าผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย และกรอบเวลาการจัดทำรายงาน รวมทั้งเห็นชอบการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ครั้งที่5 และการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสครั้งที่15 ในปี2565 ที่ประเทศไทยจะดำรงตำแหน่งประธานคอมมิท (COMMIT Task Force)

นอกจากนั้นที่ประชุมรับทราบรายงานการประเมินการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์กลางปี ประจำปีค.ศ.2022 และรายงานผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ประจำปี 2564 ที่นายกรัฐมนตรี เห็นชอบแล้ว และ กระทรวงการต่างประเทศ ได้นำรายงานฉบับภาษาอังกฤษ ส่งให้สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐ ประจำประเทศไทย เมื่อ 21 ม.ค.65 เพื่อใช้ประเมินจัดระดับประเทศไทยในทิปรีพอร์ตแล้ว

โดยสหรัฐฯ แสดงความพอใจต่อการดำเนินงาน และชื่นชมผลการดำเนินคดีค้ามนุษย์ในภาพรวมที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าปี2563 รวมถึงการดำเนินงานที่สำคัญของรัฐบาลไทย เช่น การจัดตั้งศูนย์คัดแยกผู้เสียหาย (ดอนเมือง) การจัดทำกลไกการส่งต่อระดับชาติ (NRM) และการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านการค้ามนุษย์ ระยะเร่งด่วน 4รุ่น จำนวน 120 คน รวมทั้งการจัดตั้งสถาบันฝึกอบรม เพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์แห่งแรกในภูมิภาค ภายใต้ความร่วมมือ กับรัฐบาลออสเตรเลีย เป็นต้น

'สหรัฐฯ' ปรับสถานะ 'ไทย' อยู่ใน 'Tier 2' สะท้อน!! รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาค้ามนุษย์

กต. สหรัฐฯ เผยรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี ค.ศ. 2022 ปรับสถานะไทยดีขึ้นโดยหลุดจากบัญชี Tier 2 Watch List ที่ต้องเฝ้าระวัง เหลือเพียงสถานะ Tier 2 เท่านั้น 

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เปิดเผย รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปีค.ศ. 2022 หรือ Trafficking In Person (TIP) Report 2022 เมื่อวานอังคาร (19 ก.ค.) โดยรายงานดังกล่าวรวบรวมข้อมูลด้านการค้ามนุษย์จาก 188 ประเทศและเขตปกครองต่าง ๆ ในรอบปีที่ผ่านมา 

สำนักข่าววีโอเอ สื่อใหญ่ของสหรัฐ รายงานว่า นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ที่เพิ่งมาเยือนประเทศไทยเมื่อเร็วๆ นี้ (9-10 ก.ค.) ทำหน้าที่เป็นประธานเปิดตัว รายงาน TIP Report 2022 ณ สำนักงานกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ในกรุงวอชิงตัน เขาเปิดเผยว่า รายงานนี้มีความสำคัญในฐานะเครื่องมือทางการทูตของรัฐบาลสหรัฐ ที่นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับความพยายามของรัฐบาลต่างๆ ในการปราบปรามการค้ามนุษย์ที่สมบูรณ์ครอบคลุมที่สุดในโลก

“นี่เป็นปัญหาใหญ่ มีผู้คนทั่วโลกเกือบ 25 ล้านคนที่ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ สหรัฐฯ มีพันธกิจที่ต้องต่อสู้กับปัญหานี้เพราะเป็นปัญหาที่กัดเซาะเศรษฐกิจ และสร้างอันตรายต่อคนทำงาน...”

รัฐมนตรีบลิงเคนยังกล่าวด้วยว่า “มี 21 ประเทศที่ได้รับการปรับอันดับสูงขึ้นหนึ่งระดับเนื่องจากรัฐบาลเพิ่มความพยายามต่อสู้กับการค้ามนุษย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่ก็มีอีก 18 ประเทศที่ถูกลดอันดับเพราะไม่แสดงให้เห็นถึงความพยายามแก้ไขจัดการในเรื่องนี้ หรือแม้กระทั่งรัฐบาลเป็นฝ่ายสนับสนุนให้เกิดการค้ามนุษย์ขึ้นเสียเอง...”

สำหรับปีนี้ ประเทศไทย ได้รับการปรับอันดับเป็น 'Tier 2' จากเดิมที่อยู่ในระดับ 'Tier 2 Watch List' หรือ 'Tier 2 ที่ต้องเฝ้าระวัง' หรือต้องจับตามอง เมื่อปี 2021 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามทั้งของภาครัฐและเอกชนในประเทศไทย ในการแก้ไขปัญหาการลักลอบค้ามนุษย์ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา

รายงาน TIP Report 2022 ระบุถึงสถานการณ์การค้ามนุษย์ในประเทศไทยว่า รัฐบาลไทยแสดงให้เห็นถึงความพยายามที่เพิ่มขึ้น ในการต่อสู้กับการลักลอบค้ามนุษย์ภายใต้ข้อจำกัดเรื่องศักยภาพและการระบาดของโควิด-19 ซึ่งรวมถึงการเพิ่มการสืบสวนกรณีการค้ามนุษย์ การปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องและการลงโทษผู้กระทำผิด การจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์แห่งใหม่ การจัดทำแนวทางสำหรับเจ้าหน้าที่ด้านแรงงาน และการระบุตัวเหยื่อของการค้ามนุษย์ได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังคงไปไม่ถึงมาตรฐานขั้นต่ำที่รัฐบาลสหรัฐฯ กำหนดไว้ในหลายด้าน เช่น ผู้ถูกดำเนินคดีและลงโทษในคดีค้ามนุษย์มีจำนวนลดลง เจ้าหน้าที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการระบุตัวผู้ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ เป็นต้น

นายมนัสวี ศรีโสดาพล เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ซึ่งเดินทางมาร่วมในพิธีเปิดตัว TIP Report 2022 กล่าวแสดงความยินดีที่ไทยได้รับการปรับอันดับให้สูงขึ้น

“ดีใจที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ยกระดับไทยขึ้นมาอยู่ที่ Tier 2 ในรายงานปีนี้ ถือว่าดีขึ้นและเป็นหน้าเป็นตา... คิดว่าความพยายามของไทยจะเดินหน้าต่อไปภายใต้นโยบาย Zero Tolerance คือไม่อยากให้มีในประเทศเราอีก...”

‘นายกฯ’ ตั้งเป้า!! ไทยขึ้นเทียร์ 1 เดินหน้าแก้ปัญหาค้ามนุษย์ให้สิ้น

(10 ส.ค. 65) รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผย ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบรายงานผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ประจำปี 2564 และชื่นชมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่ร่วมกันแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ จนทำให้สถานะการค้ามนุษย์ (TIP) ประจำปี 2022 ของไทย ที่รายงานโดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ อยู่ในระดับ เทียร์ 2 ดีขึ้นกว่าสองปีที่ผ่านมา และเป็นกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติงานทุกภาคส่วนสำเร็จเป้าหมาย เลื่อนสถานะสู่ เทียร์ 1 และขจัดการค้ามนุษย์ให้หมดไปในที่สุด

น.ส.รัชดา กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ (พม.) รายงาน ผลดำเนินงาน ว่า สามารถจับกุมและเริ่มการดำเนินคดีอาญา 188 คดี เพิ่มจากปี 2563 ร้อยละ 41.75 ในจำนวนนี้ เป็นคดีที่มาจากการสืบสวนสอบสวนช่องทางออนไลน์มากที่สุด จำนวน 107 คดี คิดเป็นร้อยละ 56.91 ของจำนวนคดีค้ามนุษย์ในชั้นสืบสวน และสามารถดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเพิ่มขึ้น 17 คน นอกจากนั้นยังช่วยเหลือและคุ้มครองผู้เสียหาย 414 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 79.22 เช่น คุ้มครองช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และผู้เสียหายจากการบังคับใช้แรงงานหรือบริการที่เข้ารับการคุ้มครองในสถานคุ้มครอง 148 คน ลดระยะเวลาการคุ้มครองผู้เสียหายในสถานคุ้มครองจาก 158 วัน ในปี 2563 เป็น 143 วัน ในปี 2564 ทำให้ผู้เสียหายไม่ต้องอยู่ในสถานคุ้มครองนานเกินความจำเป็น และเตรียมความพร้อมให้กับผู้เสียหายเข้าสู่กระบวนการทางศาลอย่างเหมาะสม รวมทั้งสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการคุ้มครองพยาน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ถึงร้อยละ 153.02 และผู้เสียหายได้รับเงินเยียวยาชดเชยในฐานะผู้เสียหายและพยานในคดีอาญา เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 123.9 และดำเนินการพัฒนากฎหมายสำคัญที่เกี่ยวกับสิทธิคนต่างด้าวในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน เพื่อยกระดับมาตรฐานด้านแรงงานสัมพันธ์ให้เหมาะสม


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top