“ประวิตร” เร่งปราบค้ามนุษย์ สั่งคุ้มครอง-ช่วยเหลือ ผู้เสียหายปลื้ม งานคืบ ส่งผลดี ทิปรีพอร์ต

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์(ปคม.)ครั้งที่ 1/2565 และเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการประสานและกำกับการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์(ปกค.)ครั้งที่ 1/2565 

โดยที่ประชุมปคม. เห็นชอบร่างข้อเสนอแนวทางการพัฒนากลไกการส่งต่อระดับชาติ และร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนกลไกการส่งต่อระดับชาติ และเห็นชอบร่างมาตรฐานการปฎิบัติงานการตรวจคัดกรอง เบื้องต้น เพื่อแสวงหาข้อบ่งชี้ สำหรับบุคคลที่มีเหตุอันควรสงสัยได้ว่าอาจเป็นผู้เสียหายจากการแสวงหาประโยชน์ด้านแรงงาน แรงงานบังคับ หรือการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน 

นอกจากนั้นเห็นชอบร่างรายงานความคืบหน้าผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย และกรอบเวลาการจัดทำรายงาน รวมทั้งเห็นชอบการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ครั้งที่5 และการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสครั้งที่15 ในปี2565 ที่ประเทศไทยจะดำรงตำแหน่งประธานคอมมิท (COMMIT Task Force)

นอกจากนั้นที่ประชุมรับทราบรายงานการประเมินการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์กลางปี ประจำปีค.ศ.2022 และรายงานผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ประจำปี 2564 ที่นายกรัฐมนตรี เห็นชอบแล้ว และ กระทรวงการต่างประเทศ ได้นำรายงานฉบับภาษาอังกฤษ ส่งให้สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐ ประจำประเทศไทย เมื่อ 21 ม.ค.65 เพื่อใช้ประเมินจัดระดับประเทศไทยในทิปรีพอร์ตแล้ว

โดยสหรัฐฯ แสดงความพอใจต่อการดำเนินงาน และชื่นชมผลการดำเนินคดีค้ามนุษย์ในภาพรวมที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าปี2563 รวมถึงการดำเนินงานที่สำคัญของรัฐบาลไทย เช่น การจัดตั้งศูนย์คัดแยกผู้เสียหาย (ดอนเมือง) การจัดทำกลไกการส่งต่อระดับชาติ (NRM) และการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านการค้ามนุษย์ ระยะเร่งด่วน 4รุ่น จำนวน 120 คน รวมทั้งการจัดตั้งสถาบันฝึกอบรม เพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์แห่งแรกในภูมิภาค ภายใต้ความร่วมมือ กับรัฐบาลออสเตรเลีย เป็นต้น

สำหรับการประชุมปกค.ที่ประชุมเห็นชอบ ร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ตามกระบวนการ ความร่วมมือระดับรัฐมนตรี ของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ และเห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการว่าด้วย กลไกการส่งต่อระดับชาติ และการคัดแยกผู้เสียหาย ช่วยเหลือและคุ้มครองสวัสดิภาพ เบื้องต้น สำหรับบุคคลที่อาจเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ การบังคับใช้แรงงาน หรือบริการ หรือการแสวงหาประโยชน์ด้านแรงงาน ในรูปแบบอื่น อันคล้ายคลึงกัน

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ให้คณะกรรมการทั้ง2คณะ และกระทรวงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อให้เป็นไปตามข้อแนะนำของสหรัฐฯอย่างครบถ้วน และให้บังคับใช้กฎหมายต่อผู้กระทำผิดคดีการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง เพื่อให้ประเทศไทยปลอดจากการค้ามนุษย์ และยกระดับผลการประเมินในทิปรีพอร์ตปี2565 ทั้งนี้ขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงาน ที่ร่วมขับเคลื่อนการป้องกันและปรับปรามการค้ามนุษย์ จนมีผลความคืบหน้าที่น่าพอใจ