Friday, 29 March 2024
ค้ามนุษย์

อดีตผู้บำบัดจากวัดท่าพุ พร้อมทนายความ และหมอปลา เข้าแจ้งความให้ดำเนินคดีศูนย์บำบัด ‘วัดท่าพุฯ’ เมืองกาญจน์ ชี้เป็นกระบวนการจัดหาผู้บำบัด เข้าข่ายค้ามนุษย์

อดีตผู้บำบัดจากวัดท่าพุ พร้อมด้วยทนายความและหมอปลา เข้าแจ้งความกองปราบปราม (บก.ป.) ให้ดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องกับศูนย์บำบัดข้อหาค้ามนุษย์ เชื่อทำเป็นขบวนการตั้งแต่จัดหาผู้บำบัด การนำพา การเรียกรับเงินผลประโยชน์ หลังแจ้งความลงบันทึกประจำวันที่ สภ.ด่านมะขามเตี้ย แต่เจ้าหน้าที่กลับนิ่งเฉย 

วันที่ 22 ก.ย. 64 ที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) นายไพศาล เรืองฤทธิ์ ทนายความ พร้อมด้วย นายจิรพันธ์ เพชรขาว หรือหมอปลา พาผู้เสียหายซึ่งเป็นอดีตผู้บำบัดจากศูนย์สงเคราะห์บำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด วัดท่าพุราษฎร์บำรุง ต.ด่านมะขามเตี้ย อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี ประมาณ 10 คน เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน กก.5 บก.ป. เพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับศูนย์บำบัด ในข้อหาค้ามนุษย์ หลังจากก่อนหน้านี้ได้มีการเข้าช่วยเหลือผู้ที่เข้ารับบำบัดกว่า 216 คน เมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา เพราะได้รับการร้องเรียนจากกลุ่มอดีตผู้เข้ารับการบำบัดว่าขั้นตอนการบำบัดไม่ถูกสุขลักษณะ มีการทำร้ายและทรมานโดยให้อดอาหาร เรียกรับเงินการเข้าบำบัด และเรียกเก็บค่าใช้จ่ายรายเดือน รวมทั้งหากจะออกจากศูนย์บำบัดดังกล่าวก็ต้องจ่ายเงินอีก

“ประวิตร” สั่งหน่วยมั่นคง กวาดล้างใหญ่ขบวนการค้ามนุษย์ และจับตาเจ้าหน้าที่รัฐมีเอี่ยว เพิกเฉย รับส่วย สั่งปลดออก สอบวินัยดำเนินคดีตามกม.ถึงที่สุด

พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นายกฯ ยังไม่พอใจการขับเคลื่อนแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ที่ผ่านมา โดยพบรายงานการทุจริตและการมีส่วนร่วมของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งทหาร ตำรวจและฝ่ายปกครองเข้าไปเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์  รวมทั้งมีแรงงานภาคบังคับอยู่ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติในหลายอุตสาหกรรมของไทย โดยเฉพาะแรงงานประมง ซึ่งไม่ระบุแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน  อันเป็นอุปสรรคต่อการต่อต้านการค้ามนุษย์ที่สำคัญ 

โดย พล.อ.ประวิตร ได้ย้ำสั่งการไปยังหน่วยงานข่าว ให้ติดตามเชิงลึกความเชื่อมโยงขบวนการลักลอบนำพาคนต่างด้าวเข้าไทยกับขบวนการค้ามนุษย์และเจ้าหน้าที่รัฐ โดยให้รายงานให้ทราบในทุกสัปดาห์  พร้อมทั้งขอให้ กระทรวงมหาดไทย และ กระทรวงแรงงานฯ ประสานกับ ตำรวจและทหาร เปิดรับแจ้งเบาะแสจากภาคประชาชน เข้าพิสูจน์ทราบและเปิดปฏิบัติการกวาดล้างใหญ่ขบวนการเครือข่ายค้ามนุษย์ ทั้งพื้นที่ชายแดนและพื้นที่ชั้นในต่อเนื่องกันไป โดยให้ขยายผลสู่การบังคับใช้กฎหมายและดำเนินคดีกับผู้ร่วมขบวนการทุกรายไม่มียกเว้น  ทั้งนี้ หากมีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้อง รับประโยชน์ ละเลย และเพิกเฉย ให้สอบสวนเอาผิดทั้งวินัยและอาญา ยึดทรัพย์และปลดออกจากราชการทุกราย 

รวบ!! 'เครือข่ายค้ามนุษย์' หลอกคนไทยทำงานผิดกฎหมายในกัมพูชา พร้อมจับกุมสมาชิกเครือข่ายค้าแรงงานข้ามชาติเมื่อปี 2558

จากกรณีปรากฏข่าวทางสื่อโซเชียลมีเดียและสื่อโทรทัศน์ต่าง ๆ ว่ามีคนไทยถูกหลอกลวงและบังคับให้ทำงานผิดกฎหมายในเมืองพระสีหนุ ประเทศกัมพูชา และได้ร้องขอความช่วยเหลือจากหน่วยราชการไทยให้ช่วยเหลือเดินทางกลับประเทศไทย ผ่านทางสื่อโซเชียลมีเดีย ตามที่ทราบแล้วนั้น

จากกรณีดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการให้การช่วยเหลือเหยื่อคนไทยให้ได้กลับประเทศเป็นการเร่งด่วน และทำการปราบปรามคนร้ายข้ามชาติและการกระทำผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมและเศรษฐกิจ เนื่องจากปัจจุบันยคนร้ายหรืออาชญากรได้ถือโอกาสที่คนได้รับผลกระทบจากปัญหาในช่วงไวรัสโควิด-19 สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน โดยการหลอกลวงให้ไปใช้แรงงาน ทำงานผิดกฎหมายในต่างประเทศ ซึ่งลักษณะดังกล่าวเป็นภัยต่อประเทศ ในการนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศพดส.ตร.) จึงได้ทำหน้าที่สืบสวนและปราบปรามอาชญากรรมในรูปแบบดังกล่าวอย่างจริงจัง

พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. จึงได้สั่งการให้ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ/ผู้อำนวยการ ศพดส.ตร. และ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ/ รองผู้อำนวยการ ศพดส.ตร. ให้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนกรณีดังกล่าว โดยได้สั่งการให้ พ.ต.อ.เขมรินทร์ พิสมัย หัวหน้าชุดปฏิบัติการสืบสวน พร้อมพวก ทำการรวบรวมข้อมูลและพยานหลักฐานในกรณีดังกล่าว จนสามารถออกหมายจับเครือข่ายผู้กระทำความผิดได้ทั้งหมด 10 ราย ประกอบด้วยผู้ต้องหาชาวจีนจำนวน 4 ราย, ผู้ต้องหาชาวกัมพูชาจำนวน 4 ราย และผู้ต้องหาชาวไทยจำนวน 2 ราย

ต่อมาเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2564 ชุดปฏิบัติการสืบสวน ศพดส.ตร. ได้ทำการจับกุม สองผู้ต้องหาชาวไทยที่ได้ถูกออกหมายจับจากกรณีดังกล่าว ประกอบด้วย

1) น.ส.อุบลรัตน์ พุฒิไพรสกุล อายุ 22 ปี

    ผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลอาญาที่ 1701/2564 ลงวันที่ 19 ต.ค.64

2) น.ส.เทียนฟ่ง แซ่หลี่ อายุ 28 ปี

    ผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลอาญาที่ 1702/2564 ลงวันที่ 19 ต.ค.64

โดยสามารถจับกุมตัวผู้ต้องหาทั้งสองได้ในพื้นที่ สภ.ฝาง และสภ.เวียงแหง จว.เชียงใหม่ จากนั้นได้นำตัวผู้ต้องหาทั้งสองนำส่งพนักงานสอบสวน บก.ปคม. เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย ศพดส.ตร. ได้ประสานขอความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศกัมพูชา เพื่อให้ความช่วยเหลือเหยื่อคนไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการทางเอกสารเพื่อขอรับตัวเหยื่อคนไทยกลับประเทศไทยต่อไป

นอกจากนี้ ได้มีกรณีที่ทางการมาเลเซีย โดยสถานเอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำประเทศไทย ได้มีคำร้องผ่านกระทรวงการต่างประเทศ ร้องขอให้ทางการไทยส่งตัวบุคคลสัญชาติไทยจำนวน ๙ รายเป็นผู้ร้ายข้ามแดน โดยกลุ่มบุคคลดังกล่าวมีส่วนเกี่ยวข้องกับการลักลอบขนย้ายแรงงานโดยผิดกฎหมายในประเทศมาเลเซีย ต่อมา พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุดของไทย ได้ยื่นคำร้องขอหมายจับบุคคลทั้ง ๙ รายตามคำร้องขอของทางการมาเลเซีย เพื่อดำเนินการจับกุมและส่งตัวไปดำเนินคดีตามกฎหมายในประเทศมาเลเซียต่อไปนั้น

จากกรณีดังกล่าว พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้สั่งการให้ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ/ผู้อำนวยการ ศพดส.ตร. และ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ/รองผู้อำนวยการ ศพดส.ตร. ให้ดำเนินการสืบสวนติดตามจับกุมผู้ต้องหาทั้ง 9 ราย ดังกล่าว

ตร.เตือน พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ระวัง!! บุตรหลานถูกหลอกถ่าย ‘คลิปลามก’

วันที่ 12 พ.ย. 2564 พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ตามที่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้มีนโยบายให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนรู้เท่าทันถึงอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการสืบสวนจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดนั้น

จากกรณีที่ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ ได้จับกุมตัวคนร้าย ที่ได้ทำการล่อลวงเยาวชนจำนวนหลายราย โดยปลอมเป็นหญิงสาวสวยหน้าตาดี ใช้ช่องทางเฟซบุ๊ก ติดต่อพูดคุยกับเหยื่อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กและเยาวชน เมื่อเหยื่อเริ่มคุ้นเคยก็จะชักชวนพูดคุยเรื่องลามกอนาจาร อาศัยโอกาสที่เหยื่อเป็นเยาวชนรู้เท่าไม่ถึงการณ์ คนร้ายก็จะส่งภาพลามกอนาจารของหญิงสาวไปแล้วชักชวนเหยื่อถ่ายภาพโป๊เปลือย โชว์ของสงวนของลับตนเองกลับมา จากนั้นก็บันทึกภาพลามกอนาจารเหยื่อ แล้วนำมาข่มขู่กรรโชกทรัพย์ให้จ่ายเงิน มิฉะนั้นจะเผยแพร่ภาพของเหยื่อในสื่อสังคมออนไลน์ทำให้เหยื่อได้รับความเสียหายนั้น

พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ฯ กล่าวต่ออีกว่า การกระทำของคนร้ายเป็นความผิดหลายข้อหาด้วยกัน ดังนี้

- ครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็กเพื่อแสวงหาประโยชน์ในทางเพศสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 287/1

- ส่งต่อซึ่งสื่อลามกอนาจารเด็กแก่ผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 287/1

- กรรโชกทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337

 

“บิ๊กป้อม” สั่งเข้ม กวาดล้างค้ามนุษย์ ตั้ง “บิ๊กโจ๊ก” ปธ.คณะทำงานป้องกันปราบปรามค้ามนุษย์  “ตั้งศูนย์คัดแยก เยียวยาผู้เสียหาย” ลั่น ฟันจนท.รัฐ มีเอี่ยวโดนสถานหนัก  

ที่ทำเนียบรัฐบาลพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปราม และคณะกรรมการป้องกันเจ้าหน้าที่รัฐมิให้เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ 

โดยที่ประชุมเห็นชอบร่างพ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551  เพื่อนำทรัพย์สินที่อายัดในความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์เข้ากองทุนป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และเห็นชอบให้จัดตั้ง “ศูนย์คัดแยกผู้เสียหาย” ( ดอนเมือง )เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเห็นชอบโครงการพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน  รวมทั้งแต่งตั้ง พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผช.ผบ.ตร.เป็นประธานคณะทำงานประสานและติดตามงานด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์  

และรับทราบความคืบหน้าผลประชุมร่วมกับฝ่ายสหรัฐฯโดยสำนักงานตรวจสอบและต่อต้านการค้ามนุษย์ มีความเห็นว่าไทยควรมีการปรับปรุงด้านแรงงานบังคับให้ผู้ตรวจแรงงาน มีความรู้ความเข้าใจการดำเนินคดีและส่งต่อคดีให้ตำรวจมากขึ้น เร่งปรับปรุงระบบคัดแยกผู้เสียหาย และความคืบหน้าการจัดทำรายงานการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ปี 64 (เม.ย-ก.ย.64)และผลกระทบจากโควิด-19

นอกจากรับทราบผลการประเมินในรายงานสถานการณ์และการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบเลวร้ายที่สุดปี 2020 ในภาพรวม ซึ่งประเทศไทยอยู่ในระดับปานกลาง ยังมีการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กทางอินเตอร์เน็ต และพบเด็กไทยยังถูกใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายและการแสวงหาประโยชน์ทางเพศเชิงพาณิชย์ รวมทั้งยังไม่สามารถบรรลุมาตรฐานระหว่างประเทศด้านอายุขั้นต่ำของการจ้างแรงงาน  พร้อมกันนี้ได้รับทราบ ผลจากการที่คณะผู้แทนรัฐสภาสหรัฐ ได้เข้าเยี่ยมชม สถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ จ.ปทุมธานี มีท่าทีพึงพอใจ และสนใจผลการปราบปรามสื่อลามกอนาจารเด็กและการค้ามนุษย์ที่เชื่อมโยงบนสื่อออนไลน์ พร้อมชื่นชมต่อความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนนโยบายของไทยในช่วง 6 ปี ที่ผ่านมา 

จากนั้นพล.อ.ประวิตร เป็นมีการประชุมต่อเนื่อง โดยได้พิจารณา กรณี ร้าน เดอะเบสท์ พื้นที่สอบสวน สน.บางซื่อ ที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องกับการนำพาบุคคลเข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิได้รับอนุญาต ซึ่งอาจตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์  ที่ประชุมเห็นชอบมอบหมายให้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ รับเป็นคดีพิเศษ โดยให้นำเทคโนโลยีและเครื่องมือพิเศษเข้ามาสอบสวนและให้แจ้ง ปปช.ดำเนินตามอำนาจหน้าที่ และให้ สตช.ดำเนินการทางวินัยเต็มอำนาจ

“บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล แถลงข่าวอาชญากรรมข้ามชาติ – ค้ามนุษย์ และฟอกเงิน

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร./รอง ผอ.ศพดส.ตร.แถลงข่าวอาชญากรรมข้ามชาติ และค้ามนุษย์ ทลายเครือข่ายค้ามนุษย์ , องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และฟอกเงิน ณ ตำรวจภูธรจังหวัดชุมพร

สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2564 เวลาประมาณ 14.40 น. เจ้าพนักงานตำรวจ สภ.บ้านมาบอำมฤต จังหวัดชุมพร  ได้ร่วมกันจับกุมตัวนายเขมทัต ผาลี อายุ 36 ปี พร้อมด้วยคนต่างด้าวสัญชาติ เมียนมา (โรฮิงญา) ซึ่งโดยสารมากับรถตู้คันที่นายเขมทัตฯ ขับมา จำนวน 5 คน โดยกล่าวหาว่า ช่วยเหลือด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวซึ่งหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายพ้นจากการจับกุม และต่อมาเวลา 16.30 น. ของวันเดียวกัน เจ้าพนักงานตำรวจ ฯ ได้ร่วมกัน จับกุมตัว นายชัยชาญ ไม่ยาก อายุ 41 ปี  และ นางสาวจุลลา บรรเทา อายุ 26 ปี พร้อมด้วยคนต่างด้าวสัญชาติ เมียนมา (โรฮิงญา) ซึ่งโดยสารมากับรถตู้ที่นายชัยชาญฯ ขับมา จำนวน 6 คน โดยกล่าวหาว่า ช่วยเหลือด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวซึ่งหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายพ้นจากการจับกุมและในวันเดียวกัน เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2564 เวลาประมาณ 19.30 น. เจ้าพนักงานตำรวจ สภ.เขานิพันธ์ ได้ร่วมกันจับกุมตัว Mr.Man Jo Min หรือนายฮู เซ็น อายุ 48 ปี สัญชาติ เมียนมา และชู อาลิน อายุ 18 ปี สัญชาติ เมียนมา

โดยกล่าวหา รู้ว่าคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย ให้เข้าพักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยเหลือด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุม และได้ทำการตรวจค้นบ้านเลขที่ 59/7 ม.5 ต.คลองฉนวน อ.เวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตรวจพบคนต่างด้าวสัญชาติ เมียนมา (โรฮิงญา) หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย จำนวน 3 คน ในบ้านดังกล่าวซึ่งเป็นลักษณะกักขังตัวไว้ ซึ่งทั้ง 3 คดีดังกล่าว ตำรวจภูธรจังหวัดสุราษฎร์ธานี และ ตำรวจภูธรจังหวัดชุมพร ได้ทำการคัดแยกเหยื่อผู้เสียหายจากขบวนการค้ามนุษย์ และมีความเห็นว่าคดีดังกล่าวทั้ง 3 เรื่องนั้น เข้าข่ายกระทำความผิดฐาน ค้ามนุษย์

ตำรวจภูธรภาค 8 โดย พล.ต.ท.อำพล  บัวรับพร ผบช.ภ.8 ได้ออกคำสั่ง ภ.8 ที่ 390/2564 ลง 29 ตุลาคม 2564 เรื่อง แต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนขยายผลความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 โดยมอบหมายให้ พล.ต.ต.วันไชย  เอกพรพิชญ์ รอง ผบช.ภ.๘ เป็นหัวหน้าพนักงานสืบสวน และจากการสืบสวนแสวงหาข้อเท็จจริงทราบว่า ทั้ง 3 คดีมีความเกี่ยวข้องกันมีผู้ร่วมกระทำผิดเป็นกระบวนการมีความสัมพันธ์กันเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และฟอกเงิน มีการกระทำผิดโดยแบ่งหน้าที่กันทำเริ่มจากจัดหาคนจากประเทศเมียนมาร์ ส่งเข้ามาในประเทศไทยช่องทางธรรมชาติที่บริเวณ อ.แม่สอด จว.ตาก แล้วมีกลุ่มคนที่ได้ตกลงกันไว้แล้ว รับตัวเดินทางมาพักตามจุดต่าง ๆ ในประเทศไทย ที่กลุ่มผู้กระทำผิดได้เตรียมไว้ เช่น จังหวัดปทุมธานี กรุงเทพมหานคร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา นราธิวาส จนถึงประเทศมาเลเซีย มีการกักขังขู่เข็ญ ขูดรีด เพื่อเรียกเงินจากเหยื่อ และญาติการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามกฎหมายจึงได้ร้องทุกข์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับผู้ต้องหาเพิ่มเติมอีก 4 คดี เมื่อ 10 พฤศจิกายน 2564

จากนั้นตำรวจภูธรภาค 8 ได้มีคำสั่ง ภ.8 ที่ 413/2564 ลง 14 พ.ย.64 เรื่องแต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน (คดี สภ.บ้านมาบอำมฤต ) และ คำสั่ง ภ.8 ที่ 426/2564 ลง 25 พ.ย.64 เรื่องแต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน (คดี สภ.เขานิพันธ์) โดยมี พล.ต.ต.วันไชย  เอกพรพิชญ์ รอง ผบช.ภ.๘ เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน ซึ่งจากการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน คณะพนักงานสอบสวนได้ทำการขออนุมัติศาลให้ออกหมายจับผู้ต้องหาทั้งสิ้นรวม 4 คดี 14 คน 24 หมายจับ ดังนี้  สภ.บ้านมาบอำมฤต 3 คดีข้อหา ร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และค้ามนุษย์ฯ จำนวน  2 คดี คือคดีอาญาที่ 415/2564 (4 หมายจับ) ,416/2564 (4 หมายจับ) และ ข้อหา ฟอกเงิน คดีอาญาที่417/2564 (13 หมายจับ) สภ.เขานิพันธ์ 1 คดี ข้อหา ร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และค้ามนุษย์คดีอาญาที่  371/2564 จำนวน 3 หมายจับ

ต่อมาวันที่ 6 ธันวาคม 2564 พล.ต.ต.นภันต์วุฒิ เลี่ยมสงวน ผบก.สส.ภ.8 หัวหน้าฝ่ายสืบสวน พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ศพดส.ตร. และ ศพดส.ภ.๘ ได้ร่วมกันปิดล้อมตรวจค้นเป้าหมายเพื่อจับกุมตัวผู้ต้องหาในพื้นที่ 4 จังหวัด คือ อ.แม่สอด จว.ตาก, อ.สุไหง-โกลก จว.นราธิวาส, อ.พระแสง จว.สุราษฎร์ธานี,อ.กะทู้ จว.ภูเก็ต และพื้นที่อื่น ๆ จนสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้จำนวน 7 คน ดังนี้

 

‘ผบช.ภ.1’ ปล่อยแถวระดมกวาดล้าง ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์!!

เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2564 เวลา 16:00 น. ที่ลานจอดรถ ห้างแม็คโครคลองหลวง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี พล.ต.ท.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค1 เป็นประธานปล่อยแถวเพื่อระดมกวาดล้างป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ 

โดยมี พล.ต.ต.พนัญชัย ชื่นใจธรรม รองผบช.ภ.1 พล.ต.ต.ชุมพล ชาญชนะโยธิน ผบก.ภ.จว.ปทุมธานีพ.ต.อ.เกียรติศักดิ์ มิตรปราสาท ผกก.สภ.คลองหลวง ว่าที่ร้อยตรี พิชญะ เพียราช ปลัดอำเภอคลองหลวง นำเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครอง สาธารณสุขเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคม แรงงานจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด ตำรวจสันติบาลจังหวัดปทุมธานี และตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดปทุมธานี เข้าร่วมปล่อยแถว 



ในเวลาต่อมา พล.ต.ท.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค1 พร้อมส่วนเกี่ยวข้องได้เข้าตรวจสอบตลาดผลไม้ตลาดไท ต.คลองสอง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี โดยมี พ.ต.ต.สิรภพ บัวหลวง สว.สส.สภ.คลองหลวง พร้อมผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ตลาดไท ให้การต้อนรับและนำตรวจแผงค้าผลไม้และพื้นที่ตลาดไทเนื้อที่กว่า 500 ไร่  

ด้านพล.ต.ท.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค1 เปิดเผยว่า ตามนโยบายของรัฐบาลและผบ.ตร.ให้ดูแลเรื่องแรงงานต่างด้าวให้เข้มข้นตลอดระยะเวลา 2-3 เดือนที่ผ่านมามีการเข้มงวดตรวจสอบแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาในพื้นที่ประเทศไทยเข้ามาอย่างถูกต้องหรือไม่ มีการลักลอบนำเข้าแรงงานต่างด้าวอย่างผิดกฎหมายหรือไม่การตรวจวันนี้มีการทำพร้อมกันทั้งจังหวัดปทุมธานี ทุกโรงพัก ว่าเป็นแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เข้าเมืองอย่างถูกต้องโดยถูกกฎหมายหรือไม่ 

‘ผบ.ตร.’ นำทีมแถลงผลการช่วยเหลือ ‘เหยื่อค้ามนุษย์’ ในต่างประเทศ!!

ในรอบปี พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจ ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศพดส.ตร.) ได้รับการร้องขอความช่วยเหลือผ่านทางสื่อมวลชนและโซเชียลมีเดีย ว่ามีคนไทยถูกหลอกลวงและตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ในต่างประเทศ และได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยราชการไทยและต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง จนสามารถเข้าให้ความช่วยเหลือคนไทยดังกล่าวและเดินทางกลับประเทศไทย ตามที่ทราบแล้ว นั้น

ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้สั่งการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การช่วยเหลือเหยื่อคนไทยที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ พร้อมทั้งขยายผลถึงเครือข่ายผู้กระทำผิดที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการตัดวงจรการกระทำผิดของกลุ่มองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติเหล่านี้ ที่ได้ใช้โอกาสที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจในช่วงโควิด-19 หลอกลวงคนไทยไปบังคับใช้แรงงานและค้าประเวณีในต่างประเทศ ซึ่งการกระทำในลักษณะดังกล่าวอาจเข้าข่ายการค้ามนุษย์ กระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนทั่วไปในสังคมในวงกว้าง

จากกรณีดังกล่าว พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้สั่งการให้ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร./ผู้อำนวยการ ศพดส.ตร. และ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร./ รองผู้อำนวยการ ศพดส.ตร. ในการดำเนินการประสานงานหน่วยงานและส่วนราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กองต่อต้านการค้ามนุษย์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน กรมการกงสุล กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย รวมทั้งความร่วมมือจากภาคเอกชน เช่น NGO ต่าง ๆ ที่ช่วยให้ข้อมูลของคนไทยที่ร้องขอความช่วยเหลือ จนสามารถช่วยเหลือคนไทยซึ่งถูกหลอกลวงกลับมาได้อย่างปลอดภัยจำนวนทั้งสิ้น 364 คน แบ่งเป็นการช่วยเหลือจากประเทศกัมพูชาจำนวน 361 คน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จำนวน 3 คน นอกจากนี้ยังมีการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดในกรณีดังกล่าวได้เป็นจำนวนมาก โดยมีการออกหมายจับผู้กระทำผิดที่หลอกลวงคนไทยไปบังคับใช้แรงงานในกัมพูชาได้ทั้งสิ้น 32 ราย จับกุมแล้ว 15 ราย คงเหลือ 17 ราย และออกหมายจับผู้กระทำผิดที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงคนไทยไปค้าประเวณีที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ทั้งสิ้น 25 ราย จับกุมแล้ว 6 ราย คงเหลือ 19 ราย

กรณีผู้เสียหายจากกัมพูชานั้น เป็นกรณีที่ผู้เสียหายได้ถูกหลอกลวงจากข้อมูลการรับสมัครงานทางโซเชียลมีเดียเหมือนปกติทั่วไป ตั้งแต่งานรับจ้างทั่วไป จนถึงงานในคาสิโน โดยมีการใช้ตัวเลขรายได้ที่สูงมาล่อใจ เพื่อให้ผู้เสียหายมีความสนใจสมัครไปทำงานดังกล่าว แต่แท้จริงแล้วได้มีการนำพาผู้เสียหายข้ามชายแดนโดยผิดกฎหมายตามช่องทางธรรมชาติ และมีการยึดหนังสือเดินทาง และบังคับให้ทำงานที่ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การหลอกลวงให้คนไทยลงทุนในธุรกิจที่ไม่มีอยู่จริง หรือคอลเซ็นเตอร์ สร้างความเสียหายมูลค่าหลายล้านบาท หากใครไม่ยอมทำงานดังกล่าวก็จะถูกบังคับทุบตี ทำร้ายร่างกาย กักขัง และอดอาหาร จะต้องหาทางร้องขอความช่วยเหลือจากทางการไทยเพื่อช่วยเหลือกลับประเทศไทย

 

เลขาฯศรชล. ลงพื้นที่เพื่อติดตามการดำเนินการตามนโยบายการยกระดับการปฏิบัติงานในการแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) และการปราบปรามการค้ามนุษย์ ในพื้นที่จ.สมุทรสาคร  

พล.ร.อ.สมประสงค์  นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.ฉ ในฐานะ รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) มอบให้ พล.ร.อ.เถลิงศักดิ์ ศิริสวัสดิ์  เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะเลขาธิการ ศรชล. ลงพื้นที่เพื่อติดตามการดำเนินการตามนโยบายการยกระดับการปฏิบัติงานของ ศรชล. ในการแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) และการปราบปรามการค้ามนุษย์ ในจังหวัดสมุทรสาคร ตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว 

โดยมี คณะกรรมการบริหารจากหน่วยงานหลักของ ศรชล. และหน่วยงานด้านความมั่นคงต่าง ๆ  ได้แก่ กรมเจ้าท่า กรมประมง กรมศุลกากร กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกองบังคับการตำรวจน้ำ  รวมถึง นายณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ในฐานะผู้อำนวยการ ศรชล.จังหวัดสมุทรสาคร เข้าร่วมประชุมหารือ 

ด้านพล.ร.ต.อิทธิพัทธ์ กวินเฟื่องฟูกุล โฆษก ศรชล. กล่าวว่า การติดตามการดำเนินการตามนโยบายฯ ในครั้งนี้มีเรื่องสำคัญที่ต้องติดตามประกอบด้วย  การดำเนินการตามนโยบายการปฏิบัติงานของ ศรชล. ประจำปี งป.65 ที่สำคัญ คือการดำรงความต่อเนื่องในการกำกับดูแลหน่วยงานที่ดูแลรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลและการแก้ไขการทำการประมงผิดกฎหมาย รวมถึงการปราบปรามการค้ามนุษย์ เพื่อยกระดับการรายงานสถานการณ์ด้านการค้ามนุษย์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯในส่วนของประเทศไทย จากปีที่ผ่านมาให้ปรับระดับขึ้นจากระดับบัญชี 2 กลุ่มประเทศเฝ้าระวัง (TIER2 WATCH LIST) ต่อไป

โดยทางรัฐบาลได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการต่อต้านการค้ามนุษย์ ซึ่งถือเป็นวาระแห่งชาติ นอกจากนี้จะมี ตัวแทนมูลนิธิความยุติธรรมสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice Foundation: EJF) ซึ่งเป็นองค์กรเอกชน (NGO) โดยมีพันธกิจหลัก คือ การรักษาสิ่งแวดล้อมและการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะประเด็นการละเมิดสิทธิแรงงาน การค้ามนุษย์ การทำลายสิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรม ตลอดจนการต่อต้านการทำประมง IUU ร่วมสังเกตการณ์การติดตามการดำเนินการตามนโยบายฯ ของ ศรชล. ในครั้งนี้ด้วย 

ศพดส.ตร. พบเรือประมงสองจังหวัด สวมทะเบียนลอบทำประมงผิดกฎหมาย สั่งขยายผลจับกุมผู้เกี่ยวข้อง เชื่อ!!เจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนรู้เห็น

จากกรณีที่ประเทศไทยได้ถูกลดอันดับการรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์จากทางการสหรัฐฯ ลงเป็นอันดับประเทศที่ต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) โดยมีข้อสังเกตในเรื่องการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการค้ามนุษย์อย่างจริงจังในทุกภาคส่วน ปัญหาการบังคับใช้แรงงานและแรงงานข้ามชาติซึ่งเกิดขึ้นในหลายอุตสาหกรรมรวมถึงภาคการประมง รวมทั้งปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ตามที่ทราบแล้ว นั้น

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ  รองนายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย เพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย และการบังคับใช้แรงงานในภาคการประมง โดยมี พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานคณะทำงานเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบ ควบคุม เฝ้าระวังการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ

โดยได้แต่งตั้งชุดปฏิบัติการตรวจสอบและเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาการประมง เพื่อการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวและประสานการปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ในการนี้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. จึงได้สั่งการให้ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รองผู้บัญชาการ ตำรวจแห่งชาติ/ผู้อำนวยการ ศพดส.ตร. และ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ/ รองผู้อำนวยการ ศพดส.ตร./รองประธานอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) โดยเร่งด่วน

ต่อมาเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2565 พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร./รองประธานอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ได้เดินทางมาตรวจสอบเรือประมงต้องสงสัยในการสวมซาก ปลอมเปลี่ยนแปลงชื่อเรือ ที่คานเรือ ต.โกรกกราก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร 

หลังได้รับรายงานจาก สภ.สัตหีบว่า เมื่อวันที่ 8 ม.ค.2565 เจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจประมงชลบุรีเข้าตรวจสอบเรือประมงชื่อโนรีนาวา ณ ท่าเทียบเรือสะพานปลาป้าแคลง ซึ่งเรือลำดังกล่าวยื่นคำร้องขอปิดสัญญาณอุปกรณ์ระบุตำแหน่งเรือชั่วคราว เนื่องจากกรณีตัวเรือเกิดชำรุดเสียหายต้องซ่อมแชม โดยนำเรือเข้าอู่เรือคานเรือ หรือท่าเทียบเรือประมงไว้กับด่านตรวจประมงชลบุรี แต่เมื่อไปตรวจสอบ ไม่พบเรือลำดังกล่าวที่ท่าเทียบเรือสะพานปลาป้าแคลง จึงขยายผลตรวจสอบ จนพบเรือดังกล่าว ถูกนำไปจอดไว้ห่างออกไป ซึ่งคาดว่าจะนำเรือไปจม เพื่อนำหมายเลขเรือดังกล่าวไปสวมซากเรือ 

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ได้สั่งการให้ พล.ต.ต.พนัญชัย ชื่นใจธรรม รอง ผบช.ภ.1/หน.ชป.2 พ.ต.อ.น้ำเพขร ทรัพย์อุดม รอง ผบก.คด./รอง หน.ชป.ที่ 2 พร้อมพวกตำรวจสืบสวนขยายผลจนได้ข้อมูลว่า มีเรือที่เกี่ยวข้องกัน อยู่ที่ จ.สมุทรสาคร จึงเดินทางมาตรวจสอบพบเรือต้องสงสัยอีก 1 ลำ จึงร่วมกับพิสูจน์หลักฐาน กรมเจ้าท่า กรมประมง ศรชล. ตำรวจน้ำ ทำการตรวจพิสูจน์

เบื้องต้นพบว่า นายสนั่น แซ่ลี้ เป็นเจ้าของเรือ โดยให้การว่า ซื้อเรือ ศุภประภานำโชค   มาจาก น.ส.สุธีรา มุกดา อยู่ที่ ต.แสมสาร  ชลบุรี  เมื่อวันที่ 16 พ.ย.64  ในราคาสามแสนบาท   โดยจดทะเบียนที่ กรมเจ้าท่าถูกต้อง ก่อนผู้ขายจะขับเรือมาส่งให้ ที่ท่าหน้าบ้าน เลขที่ 82/6 ม.2 ต.บางหญ้าแพรก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร  โดยผู้ซื้อเดินทางด้วยรถยนต์ มาจดทะเบียนโอนเรือให้ที่ จท.สมุทรสาคร  และจอดเรือไว้ที่ท่าหน้าบ้านประมาณ 20 วัน จึงนำเรือมาขึ้นคานซ่อมแซม ที่คานเรือ เนื่องจากเรือมีสภาพทรุดโทรมมาก จากนั้นตน ก็ไปขอโอนใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ และได้รับแล้ว  มีเอกสารหลักฐานครบถ้วนถูกต้อง  

จากการตรวจสอบกายภาพของเรือ พบมีชื่อ เลขทะเบียน เลขเครื่องหมายประจำเรือประมง  มีการตอกเลขอัตลักษณ์2 แห่ง จึงได้แจ้งจท. Pipo ศรชล. พฐ. ร่วมตรวจสอบเรือ โดยตรวจวัดขนาด และตรวจเลขอัตลักษณ์ พฐ.ตรวจพิสูจน์ ชื่อเรือ  เลขทะเบียน โดยจะลอกสี  เพื่อดูชื่อเรือที่เคยเขียนไว้ก่อนหน้านี้ รวมทั้งตรวจ การตอก ร่องรอยลักษณะ 

โดยเบื้องต้นพบว่า เรือลำดังกล่าวมีการขูดเปลี่ยนแปลงหมายเลขเป็นอีกลำหนึ่ง ซึ่งน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับ เรือ ศุภประภานำโชค เรือโนรีนาวา ที่ตรวจพบที่ สัตหับ จ.ชลบุรี

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “เรือต้องสงสัยที่ตรวจพบทั้งหมด มีความเชื่อมโยงกัน มีการขูดลอกเลข เพื่อปลอมแปลงชื่อเรือ ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบโดยละเอียดของกองพิสูจน์หลักฐาน หากพบการกระทำความผิด จะเรียกผู้เกี่ยวข้องมาดำเนินคดี รวมทั้งขยายผลว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐรู้เห็นเป็นใจหรือไม่ ยืนยันว่าจะทำความจริงให้ปรากฏ แยกน้ำดีออกจากน้ำเสีย เพื่อแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมายตามนโยบายรัฐบาล” 

 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top