Monday, 20 May 2024
ค่าไฟฟ้า

‘นายกฯ เศรษฐา’ ยัน!! กดค่าไฟต่ำกว่า 4.20 บ./หน่วย เร่งดูเรื่องโครงสร้าง-แผนบูรณาการ ‘ลดค่าไฟ’ ระยะยาว

(13 ธ.ค. 66) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ได้ตอบคำถามเวที Dailynews Talk 2023 ที่ส่วนหนึ่งจากคำถามคนไทย : ความคืบหน้ามาตรการนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท, เงื่อนไขมีอย่างไรบ้าง, แจกแบบถ้วนหน้าหรือเฉพาะกลุ่ม, งบประมาณ 5.6 แสนล้านบาท เอามาจากไหน?

นายกฯ เศรษฐาตอบ : ตามที่ได้ออกแบบผ่านกลไกให้ตรวจสอบได้ ผ่านทั้งคณะกรรมการกฤษฎีกา ผ่านสภาฯ เพื่อให้ฝ่ายบริหารถูกซักถาม และให้สังคมหมดข้อกังวล โดยจะเริ่มอย่างเร็วที่สุดในเดือนพ.ค.67 แต่ในความคิดของผมอยากให้เร็วกว่านี้ แต่เพื่อให้ถูกต้อง และสบายใจ จะเริ่มเงินดิจิทัลได้คือ เดือนพ.ค.67

ส่วนแหล่งเงินที่ใช้ในโครงการเงินดิจิทัลนั้น นายกฯ ตอบว่า จะออกเป็นพ.ร.บ.เงินกู้ แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเงินดิจิทัลวอลเล็ตอย่างเดียว โดยจะมีการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้วยอีก 100,000 แสนล้านบาท เพื่อนำไปดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทย และทำควบคู่กันไปกับดิจิทัลวอลเล็ต

ขณะที่เงื่อนไขดิจิทัลวอลเล็ตที่ออกมา คือ ต้องไม่มีเงินฝากเกิน 500,000 บาท และเงินเดือนต้องไม่เกิน 70,000 บาท เป็นข้อคิดเห็นโดยนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่ควรได้ทั้งหมด คนรวยไม่ควรได้ ซึ่งตอนนี้ล่าช้าออกไปเพราะกำลังดูว่า คนรวยคืออะไร แค่ไหนถึงรวย ยังไม่มีใครบอกได้ ถึงจุดหนึ่งต้องฟันธงใครได้หรือไม่ได้อย่างไร

ด้านหนี้สาธารณะที่จะเพิ่มขึ้นนั้น ยอมรับว่าจะเพิ่มขึ้นบ้าง จากหนี้สาธารณะ 62% เป็น 64.8% ต่อจีดีพี ซึ่งยังอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง โดยจะเป็นหนี้สาธารณะส่วนหนึ่ง มีการใช้หนี้ต่อไป แต่ก็มีเรื่องการกระตุ้นลงทุนต่างประเทศ เปิดการลงทุน การค้า เพื่อให้มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) สูงขึ้น และทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะลดลงได้ เป็นหนึ่งในอีกหลายนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม

“เงินดิจิทัลกว่า 5 แสนล้านบาท ตัวคูณทางเศรษฐกิจ ทางผู้ว่าการธปท.ได้ให้ความเห็น ผมก็เห็นด้วยและถูกต้อง ถ้ามีเงินเยอะ ถ้าแจกคนรวยไป ผลคูณต่อเศรษฐกิจจะต่ำ ถ้าคนรายได้น้อยจะมีตัวคูณต่อเศรษฐกิจสูง แต่อีกมิติหนึ่งคือ ถ้าเริ่ม 1 พ.ค.67 มีกว่า 5 แสนล้านบาท จะส่งผลดีต่อภาคอุตสาหกรรมเพราะจะเร่งการผลิต มีรายได้เพิ่ม มีผลิตผลเพิ่มขึ้น เชื่อว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ และต้องใช้ให้หมดภายใน 6 เดือน จำกัดพื้นที่ จะมีความเจริญในพื้นที่ ภายใน 1 อำเภอ ซึ่งจากที่ลงพื้นที่มั่นใจว่าประชาชนต้องการส่วนนี้”

คนไทยถาม : ชาวบ้านอยากให้รัฐบาลลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ค่าน้ำมัน / ค่าก๊าซหุงต้ม / ค่าไฟฟ้า มากกว่าในปัจจุบันได้หรือไม่ / เพราะอะไร?

นายกฯ เศรษฐาตอบ : ในเรื่องราคาน้ำมันปรับตามราคาตลาดโลกอยู่แล้ว ส่วนเรื่องค่าไฟในเวลานี้กำลังดูแลด้านพลังงานให้ประชาชนอยู่ จะดูแลให้ค่าไฟต่ำกว่า 4.20 บาทต่อหน่วย เชื่อว่าภาคอุตสาหกรรมจะพอใจ เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องดูแลพี่น้องประชาชน จะทำอย่างเต็มที่ ในเบื้องต้นค่าไฟจะต่ำกว่าหน่วยละ 4.20 บาท และในระยะยาวต้องดูเรื่องโครงสร้างทั้งหมดและต้องบูรณาการร่วมกัน

“ไม่ใช่แค่เรื่องค่าไฟ โดยต้องสนับสนุนให้เกิดพลังงานสะอาดเป็นเรื่องสำคัญ ต้องการสนับสนุนให้พี่น้องประชาชนทำโซลาร์รูฟ ทำแล้วสามารถนำมาขายได้ และทำให้พลังงานสะอาดขึ้นด้วย ในเรื่องพลังงานไม่ใช่แค่ค่าไฟ แต่เป็นเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย”

สุดท้ายในเรื่องสำคัญที่ทุกคนตั้งตารอ คือ ใกล้จะปีใหม่แล้ว ท่านนายกฯ มี ‘ของขวัญพิเศษ’ ให้กับคนไทยทั้งประเทศได้เซอร์ไพรส์ไหม?

นายกฯ เศรษฐาตอบ : ผมว่ารัฐบาลนี้มาจากการเลือกตั้งของพี่น้องประชาชน เพราะฉะนั้น ความสุขของพี่น้องประชาชน สิ่งที่ประชาชนอยากได้ ทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ตระหนักดีถึงเรื่องนี้ จริง ๆ ไม่ใช่แค่ขึ้นค่าแรง ราคาพืชผล อากาศสะอาด เท่านั้น เพราะเป็นหน้าที่ของรัฐบาล เป็นสิ่งที่รัฐบาลนี้ต้องทำให้ได้

“ให้คำมั่นว่ารัฐบาลนี้จะเอาความต้องการของพี่น้องประชาชน จะเอาปัญหาพี่น้องประชาชนเป็นที่ตั้ง ครม.ทุกท่านจะทำงานอย่างเต็มที่เต็มความสามารถ จะนำปัญหาต่าง ๆ ที่พูดคุยกันในพื้นที่เอามาแก้ไขทุกปัญหาของพี่น้องประชาชนให้ได้”

'พีระพันธุ์' ชงงบ 1.9 พันล้าน ช่วยค่าไฟกลุ่มเปราะบาง 3.99 บาทต่อหน่วย  ส่วนค่าไฟงวดใหม่ ม.ค. - เม.ย.67 มั่นใจ!! ไม่เกิน 4.20 บาทต่อหน่วย

เมื่อวานนี้ (14 ธ.ค. 66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน กล่าวถึงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่จะมีเรื่องตัวเลขค่าไฟฟ้างวดใหม่ ม.ค. - เม.ย.67 เสนอต่อที่ประชุม ครม. โดยได้ข้อสรุปตัวเลขค่าไฟจะไม่เกินที่ 4.20 บาทต่อหน่วย ขณะนี้กำลังทำตัวเลขอยู่ว่าจะได้เท่าไหร่ภายใต้เงื่อนไขปัจจุบัน 

ส่วนตัวเลข 3.99 บาทต่อหน่วยจะเป็นของครัวเรือนกลุ่มเปราะบางที่ใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ก็ยังอยู่ที่ราคาดังกล่าว

ส่วนจะใช้เงินอุดหนุนค่าไฟ 3.99 บาทต่อหน่วยเท่าไหร่ นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ใช้งบประมาณ 1.9 พันล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่น้อยมากหากเทียบกับการช่วยเหลือคนได้ 17 ล้านครัวเรือน คาดจะนำเข้า ครม.พิจารณา 19 ธ.ค.นี้

นายพีระพันธุ์ กล่าวถึงกระแสข่าวที่นายกรัฐมนตรีระบุว่ามีคนเข้าไปล็อบบี้เรื่องค่าไฟ ว่า ท่านก็เปรย ๆ แต่ก็ขอบคุณนายกรัฐมนตรี หากไม่ได้ท่านเป็นหลักในการยืนหลักการเรื่องการลดค่าไฟก็คงจะทำงานได้ลำบาก เพราะต้องใช้ความร่วมมือจากทุกฝ่าย ลำพังกระทรวงพลังงานหน่วยงานเดียวคงไม่พอ

ส่วนได้มีการพูดคุยกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บ้างหรือไม่ เนื่องจากมีการแบกหนี้อยู่ 1.3 แสนล้านบาท นายพีระพันธุ์ ระบุว่า มันก็มีมานานแล้ว สิ่งที่ตนจะทำให้ตอนนี้จะตั้งกรรมการขึ้นมาแก้ไขดูแลเรื่องนี้ ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีเพราะ กฟผ. ก็ดูแลตัวเองมาตลอด แต่ตนคิดว่าตอนนี้ต้องเข้าไปช่วยดูแลเขาแล้ว เพื่อที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้

ส่วนที่นายกรัฐมนตรีอยากให้ได้ค่าไฟอยู่ที่ 4.10 บาทต่อหน่วย จะทำได้หรือไม่ นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า เป้าหมายคืออยากจะให้ราคาต่ำที่สุด อยากให้ต่ำกว่า 4.10 บาท เสียอีก แต่อย่างที่บอกว่าไม่ได้อยู่ที่ กฟผ.อย่างเดียว แต่มีการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ด้วย

นอกจากนี้ไม่ได้อยู่ที่ต้นทุนแก๊สมีคนเสนอให้ปรับโครงสร้าง แต่ตนบอกไม่พอแล้ว ซึ่งต้องรื้อทั้งระบบ​ ตนทำงานมา 3 เดือน เหนื่อยแต่เมื่ออาสามาทำงานจึงไม่ต้องบ่นเรามีหน้าที่ทำงานก็พยายามทำให้ดีที่สุดสำหรับประชาชน ทั้งเรื่องของน้ำมัน พลังงาน ไฟฟ้า ระบบอะไรที่ไม่ดีมา 30-40 ปี จะรื้อให้หมด

ส่วนรัฐบาลจะต้องประกาศตัวเลขค่าไฟสองแบบหรือไม่นั้นในส่วนของกลุ่มเปราะบาง 3.99 บาทต่อหน่วย แน่นอนอยู่แล้ว หากใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วย ส่วนใครใช้เกินก็ต้องไปเสียในราคาที่ไม่ใช่กลุ่มเปราะบาง ซึ่งกำลังทำข้อมูลอยู่ว่าจะเสีย 4.10 หรือ 4.20 บาทต่อหน่วย โดยวันที่ 19 ธ.ค.นี้ น่าจะเสร็จแล้วเสนอ ครม.ได้

'พีระพันธุ์' เตรียมเสนอลดค่าไฟฟ้างวดใหม่ ครม.พรุ่งนี้  ยัน!! จะทำให้ดีที่สุด ตัวเลขต้องไม่เกิน 4.20 บาทต่อหน่วย 

(18 ธ.ค.66) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  เปิดเผย ว่าการประชุม ครม.วันพรุ่งนี้ (19 ธ.ค.) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เตรียมเสนอปรับลดค่าไฟฟ้างวดใหม่ ม.ค. - เม.ย.67   

โดยตัวเลขค่าไฟจะไม่เกินที่ 4.20 บาทต่อหน่วย ขณะนี้กำลังทำตัวเลขอยู่ว่าจะได้เท่าไหร่ภายใต้เงื่อนไขปัจจุบัน ส่วนครัวเรือนที่เป็นกลุ่มเปราะบางที่เคยใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วย ก็จะมีช่วยเหลือ อยู่ที่ราคาเดิม คือ 3.99 บาท ซึ่งสามารถช่วยครัวเรือนได้ประมาณ 17 ล้านราย  

นางรัดเกล้า กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยืนยันอยากที่จะให้ค่าไฟฟ้า อยู่ที่ 4.10 บาท แต่จะต้องมีหลายส่วนที่ต้องดูให้สอดคล้องกัน และรัฐมนตรีพลังงานอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะต้องดูทั้งระบบ ไม่ใช่แค่ปรับโครงสร้างเท่านั้น   

“ขอประชาชนไม่ต้องห่วง รัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานจะพยายามทำให้ดีที่สุด ทั้งเรื่องของพลังงานไฟฟ้า ราคาน้ำมัน โดยจะรื้อทั้งระบบที่เคยมีมากว่า 30 ปี ทั้งนี้เข้าใจความเดือดร้อนของประชาชนเป็นอย่างดี ซึ่งจะไม่สร้างภาระให้กับประชาชน และสิ่งใดที่สามารถทำได้จะทำทันที” นางรัดเกล้า กล่าว

‘พีระพันธุ์’ เผยข่าวดี!! ครม.ไฟเขียวตรึงค่าดีเซล-ก๊าซหุงต้ม 3 เดือน พร้อมลดค่าไฟกลุ่มเปราะบาง 3.99 บ./หน่วย เป็นของขวัญปีใหม่

(19 ธ.ค.66) นายพีระพันธ์ุ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ได้มีการนำเสนอมาตรการเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน โดยจะมีการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 3 เดือน ค่าก๊าซแอลพีจีและก๊าซหุงต้ม ตรึงไว้ที่ 423 บาทต่อ 15 กิโลกรัม เป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งเคยเป็นมาตรการเดิมภัยที่เคยช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางไปแล้ว

ขณะที่ค่าไฟฟ้า สำหรับกลุ่มเปาะบางที่ใช้ไฟไม่เกิน 300 บาทต่อหน่วย ตรึงราคาค่าไฟที่ 3.99 บาทต่อหน่วย ซึ่งจะช่วยเหลือได้ 17 ล้านราย ทั้งนี้ ต้องขออภัยกลุ่มภาคครัวเรือน ไม่สามารถยืนอยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วยได้ แต่รัฐบาลได้พยายามเต็มที่ไม่ให้เกิน 4.20 บาทต่อหน่วย

ส่วนจะได้ตัวเลขได้เท่าไร ขอดูตัวเลข 1 ม.ค. 67 ก่อน เพราะพบว่ามีแนวโน้มราคาก๊าซในตลาดโลกเริ่มลดลง ดังนั้น ณ วันที่ 1 ม.ค. อาจต่ำกว่าราคาในวันนี้ ซึ่งตอนแรกตนเองเตรียมราคาที่กำหนดไว้ แต่หากกำหนดไปแล้วยังลดค่าไฟลงไปได้อีก ซึ่งจะไม่เป็นไปตามมติ ดังนั้นจึงขอดูราคาสถานการณ์ก๊าซ ณ วันที่ 1 ม.ค. 67 ก่อน

ทั้งนี้ มาตรการที่ออกมาถือเป็นมาตรการระยะสั้น ภายใต้โครงสร้างเดิมที่ใช้มานานกว่า 40 ปี ซึ่งส่วนตัวคิดว่า ไม่เหมาะสม และตนเองได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษารื้อระบบโครงสร้างราคาค่าไฟและน้ำมันแล้ว ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ และถือเป็นมาตรการระยะยาวที่ต้องใช้เวลา ระหว่างนี้ที่รอมาตรการระยะยาวสิ่งไหนทำได้ก็ทำก่อนภายใต้โครงสร้างแบบเดิม และทำให้ดีที่สุดทุกเรื่อง เพื่อลดภาระค่าครองชีพประชาชน

นายพีระพันธุ์ ยังชี้แจงที่ไม่สามารถกำหนดที่ชัดเจนได้ว่า การผลิตไฟฟ้ามีวัตถุดิบที่นำมาผลิตไฟฟ้า 3 อย่างหลักๆ คือ 1.ถ่านหิน ซึ่งไทยยังมีใช้อยู่ เป็นราคาที่ถูกที่สุดและมีการใช้พลังน้ำบ้างบางส่วน 2.ผลิตจากก๊าซธรรมชาติ ซึ่งยังเป็นประเด็นใหญ่ในวันนี้ 3.พลังงานสะอาด จากพลังงานแสงแดด ลม ชีวมวลต่างๆ โดยทั้ง 3 อย่างคือวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้าและมีต้นทุนแตกต่างกัน ที่สำคัญมีสัญญาเดิมที่ทำไว้กับผู้ประกอบการระยะเริ่มต้น เมื่อหลาย 10 ปีที่แล้ว ตนเองกำลังแก้ไขอยู่ รวมถึงแก้ไขโครงสร้างของก๊าซที่ต้องปรับรูปแบบจะดำเนินการอย่างไร ให้หลุดบ่วงราคาตลาดโลก ซึ่งถือเป็นแนวโน้มในการวางระบบและโครงสร้างใหม่ของด้านวัตถุดิบที่ใช้ผลิตไฟฟ้า ซึ่งหากควบคุมตรงส่วนนี้ได้ ทำให้ราคาวัตถุดิบอยู่ภายใต้การควบคุมรัฐบาลมากขึ้น ซึ่งสามารถทำให้ลดราคาไฟฟ้าลงมาได้โดยระบบของมันเอง ไม่ใช่แบบมติครม. แต่ต้องใช้เวลาในการศึกษารูปแบบ ผลกระทบ รวมถึงส่วนที่เกี่ยวข้องต้องรับฟังความคิดเห็น ซึ่งตนเองจะพยายามทำให้เป็นรูปเป็นร่างภายในปี 2567 นี้

นายพีระพันธุ์ กล่าวถึง กรณีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีเตรียมพบหารือกับนายฮุน มาเนตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ในปี 67 นี้ จะมีการหารือเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางพลังงานระหว่างไทยกับกัมพูชา หรือไม่ว่า เรื่องนี้ต้องดำเนินการต่อ เพราะเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขและผ่านมาหลายรัฐบาลแล้ว ซึ่งส่วนตัวมองว่า จะเอาเรื่องเขตแดนกับเรื่องพลังงานมารวมกันจะหาข้อยุติได้ยาก เพราะเรื่องเขตแดนเป็นเรื่องต้องใช้เวลา ซึ่งส่วนตัวมองว่า การเจรจาเรื่องเขตแดนไม่มีประเทศใดในโลกตกลงถอยหลังกันได้ง่าย แต่ไทยต้องมีความพยายามหาทางยุติลงให้ได้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นห่วงในเรื่องนี้และตนก็เป็นกังวล เนื่องจากอยากใช้พลังงานในพื้นที่ตรงนั้น เพราะก๊าซธรรมชาติที่ไทยมีก็หมดไปทุกวัน หากไม่มีแหล่งใหม่มาเสริมหรือรองรับก็จะเป็นปัญหาต่อไปในอนาคต ดังนั้นเรื่องนี้เป็นสำคัญในการเจรจา

‘รมว.พีระพันธุ์’ รุดดูงานแท่นขุดเจาะก๊าซแหล่งเอราวัณ อ่าวไทย หวังขุดเจาะก๊าซให้ได้ตามเป้า ช่วยคงราคาค่าไฟให้ถูกลง

เมื่อวานนี้ (28 ก.พ. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมคณะได้ร่วมกันเดินทางไปยังแท่นขุดเจาะก๊าซแหล่งเอราวัณ กลางอ่าวไทย โดยเดินทางไปที่แท่นหลักที่เป็นศูนย์รวมก๊าซที่ขุดได้จากทุกแท่นในแหล่งเอราวัณเพื่อส่งมายังโรงแยกก๊าซที่ระยอง ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งถึง 400 กว่ากิโลเมตร

นายพีระพันธุ์ เปิดเผยว่า “ผมพยายามลดภาระค่าไฟฟ้าให้ประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยหลังสุดสามารถยันราคาค่าไฟฟ้าให้ประชาชนทั่วไปไว้ได้ที่ 4.18 บาท ต่อหน่วย สำหรับงวดเดือนมกราคมถึงเมษายน 2567 เพิ่มขึ้นจากเดิมเพียงเล็กน้อย ทั้ง ๆ ที่มีการคาดการณ์ว่าอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับงวดดังกล่าวจะอยู่ที่ 4.68 บาท เพราะในช่วงเวลาที่ว่านี้มีปัจจัยลบที่มีผลกระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้าหลายตัว โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการขุดเจาะก๊าซจากอ่าวไทยที่แหล่งเอราวัณขาดหายไปวันละ 800 ล้าน ลูกบาศก์ฟุต (ลบ.ฟ.) ทำให้ต้องสั่งก๊าซจากต่างประเทศที่มีราคาสูงมาชดเชยและมีผลต่อราคาค่าไฟฟ้าโดยตรง”

นายพีระพันธุ์ ระบุต่อว่า “แม้จะยังมีเวลาเหลืออีกสองเดือนกว่าจะครบกำหนดการปรับค่าไฟฟ้าตามวงรอบ 4 เดือน ในเดือนเมษายน 2567 แต่ผมไม่นิ่งนอนใจ เพราะหากยังคงขาดก๊าซจากอ่าวไทยวันละ 800 ล้าน ลบ.ฟ. อยู่ ก็จะมีผลต่ออัตราค่าไฟฟ้างวดเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม 2567 นี้แน่นอน ทั้งนี้ ทั้งผม ทั้งปลัดกระทรวงพลังงาน (นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ) ทั้งประธานที่ปรึกษา (นายณอคุณ สิทธิพงษ์) และคณะกรรมการ กกพ. ได้เตรียมการแก้ไขปัญหากันทุกวัน แต่สำคัญที่สุดคือต้องขุดก๊าซจากอ่าวไทยในปริมาณที่ขาดหายไปวันละ 800 ล้าน ลบ.ฟ. ขึ้นมาให้ได้ตามเดิม ซึ่งเป็นหน้าที่ของ ปตท.สผ.”

“ในช่วงที่ผ่านมาเราได้ประสานงานและขอคำยืนยันจาก ปตท. และ ปตท. สผ. ตลอดมาว่าจะสามารถนำก๊าซจากอ่าวไทยที่แหล่งเอราวัณขึ้นมาในปริมาณที่ขาดหายไป 800 ล้าน ลบ.ฟ. ต่อวัน ได้หรือไม่ ซึ่ง ปตท. และ ปตท.สผ. ยืนยันตลอดมาว่าสามารถทำได้แน่นอน แต่เพื่อให้เกิดความมั่นใจแทนพี่น้องประชาชน ผมจึงต้องไปให้เห็นกับตาและได้ยินกับหูจากผู้ปฏิบัติงานจริงที่แท่นขุดเจาะว่าจะสามารถทำได้แน่นอน” นายพีระพันธุ์ กล่าว

นายพีระพันธุ์ ได้กล่าวถึงสาเหตุที่ก๊าซจากอ่าวไทยขาดหายไป 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตว่า “คำตอบคือ เดิมผู้ที่ได้รับสัมปทานผลิตส่วนนี้คือบริษัทต่างชาติบริษัทหนึ่ง แต่แพ้ประมูลต่ออายุสัมปทานให้ ปตท.สผ. ซึ่งการประมูลนี้ต้องทำล่วงหน้าเป็นปีก่อนหมดสัมปทานเดิม บริษัทดังกล่าวเลยหยุดขุดเจาะก๊าซเพิ่มเติมไปเฉย ๆ ปริมาณก๊าซจากอ่าวไทยในส่วนนี้จึงค่อย ๆ หายไป ขณะที่ ปตท.สผ. ก็ยังเข้าดำเนินการในช่วงนั้นไม่ได้เพราะสัมปทานเดิมยังไม่หมดอายุ สุดท้ายเมื่อเข้าดำเนินการได้เมื่อประมาณธันวาคม 2564 ปตท.สผ. จึงเร่งเตรียมการและดำเนินการต่อมาจนกำลังจะสามารถทำได้ตามเป้าหมายตามที่เล่ามาครับ”

‘กกพ.’ เปิด 3 แนวทางค่าไฟงวดใหม่ สูงสุด 5.44 ต่ำสุดตรึงไว้ที่ 4.18 เท่าเดิม

(8 มี.ค. 67) นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกพ. มีมติรับทราบภาระต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจริงประจำรอบเดือน ก.ย. - ธ.ค. 2566 และเห็นชอบผลการคำนวณประมาณค่าเอฟทีสำหรับงวดเดือน พ.ค. - ส.ค. 2567 พร้อมให้สำนักงาน กกพ. นำค่าเอฟทีประมาณการและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. ไปรับฟังความคิดเห็นในกรณีต่าง ๆ ผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 8 - 22 มีนาคม 2567 ประกอบด้วย

กรณีที่ 1 จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างทั้งหมดในงวดเดียว แบ่งเป็น ค่าเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน พ.ค. - ส.ค. 2567 จำนวน 19.21 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. จำนวน 99,689 ล้านบาท ในงวดเดียวหรือ 146.03 สตางค์ต่อหน่วย รวมเป็นค่าเอฟทีเรียกเก็บ 165.24 สตางค์ต่อหน่วยสำหรับเดือน พ.ค. - ส.ค. 2567 เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.7833 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพิ่มขึ้นเป็น >> 5.4357 บาทต่อหน่วย

กรณีที่ 2 จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 4 งวด แบ่งเป็นค่าเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน พ.ค. - ส.ค. 2567 จำนวน 19.21 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. จำนวน 99,689 ล้านบาท ภายใน 4 งวดๆ ละ จำนวน 24,922 ล้านบาท หรือ 36.51 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าเอฟทีเรียกเก็บที่ 55.72 สตางค์ต่อหน่วยสำหรับเดือน พ.ค. - ส.ค. 2567 เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.7833 บาทต่อหน่วยแล้วทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ย ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น >> 4.3405 บาทต่อหน่วย

กรณีที่ 3 ตรึงค่าเอฟทีเท่ากับงวดปัจจุบันตามที่ กฟผ. เสนอ หรือจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างประมาณ 7 งวด แบ่งเป็นค่าเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน พ.ค. - ส.ค. 2567 จำนวน 19.21 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. จำนวน 99,689 ล้านบาท ประมาณ 7 งวดๆ ละ จำนวน 14,000 ล้านบาท หรือ 20.51 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าเอฟทีเรียกเก็บคงเดิมที่ 39.72 สตางค์ต่อหน่วยสำหรับเดือน พ.ค. - ส.ค. 2567 เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.7833 บาทต่อหน่วย แล้วทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ยไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น >> 4.1805 บาทต่อหน่วย เท่ากับค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในงวดปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี ทั้ง 3 กรณีดังกล่าวข้างต้น ยังไม่รวมเงินภาระคงค้างค่าก๊าซที่เกิดจากนโยบายที่ให้รัฐวิสาหกิจที่นำเข้าก๊าซเรียกเก็บราคาค่าก๊าซเดือน ก.ย. - ธ.ค. 2566 คงที่ตามมติ กพช. จึงมีส่วนต่างราคาก๊าซที่เกิดขึ้นจริงและราคาก๊าซที่เรียกเก็บ (AF Gas) โดยภาระดังกล่าวยังคงค้างที่ ปตท. (เฉพาะในส่วนของการผลิตไฟฟ้าเพื่อขายเข้าระบบ) เป็นจำนวนเงิน 12,076 ล้านบาท และยังคงค้างที่ กฟผ. เป็นจำนวนเงิน 3,800 ล้านบาท

นายคมกฤช กล่าวอีกว่า ผลการคำนวณประมาณค่าเอฟทีและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. ทั้ง 3 กรณีที่กล่าวข้างต้นนั้น เป็นไปตามการประมาณการต้นทุนเชื้อเพลิงโดย ปตท. และ กฟผ. นำค่าประมาณการดังกล่าวมาคำนวณต้นทุนค่าไฟฟ้า ซึ่งสำนักงาน กกพ. ได้จัดทำสรุปสมมุติฐานที่ใช้ในการประมาณการค่าเอฟทีรอบคำนวณเดือน ม.ค. - เม.ย. 2567 เทียบกับการคำนวณในปีฐาน พ.ค. - ส.ค.2558 และรอบประมาณการค่าเอฟทีเดือน พ.ค. - ส.ค. 2567

สำหรับปัจจัยหลักที่ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้ารอบ พ.ค - ส.ค.2567 ลดลงมีสาเหตุหลักมาจากต้นทุนราคา LNG ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องและส่งผลทำให้ราคาประมาณการ Pool Gas ลดลงจาก 333 ล้านบาทต่อล้านบีทียู เป็น 300 ล้านบาทต่อล้านบีทียู

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าแหล่งเอราวัณจะมีแผนทยอยปรับเพิ่มปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติจาก 400 เป็น 800 ล้านลูกบากฟุตต่อวันในเดือน เม.ย.2567 แต่ประมาณการปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ได้จากอ่าวไทยเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้ายังคงอยู่ในระดับเดิมหรือลดลงเล็กน้อย

อีกทั้งก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเมียนมายังมีแนวโน้มที่ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงมีความจำเป็นต้องนำเข้า LNG เพื่อเสริมปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ขาดหายและเสริมความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นในปัจจุบันและในช่วงฤดูร้อนที่กำลังจะมาถึง

“กกพ. จะเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 8 - 22 มีนาคม 2567 ก่อนที่จะมีการสรุปและประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป” นายคมกฤช กล่าว

ย้อนส่อง!! 'ค่าไฟฟ้า-ก๊าซหุงต้ม-น้ำมัน' ในรอบ 1 ปี ขยับแค่ไหน

ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ‘ค่าไฟฟ้า-ก๊าซหุงต้ม-น้ำมัน’ ในไทยมีการขยับปรับราคาอยู่ตลอดเวลา 

วันนี้ THE STATES TIMES ได้รวบรวมข้อมูลมาไว้ให้แล้ว หากอยากรู้ว่าราคาขยับมาก-น้อยแค่ไหน มาดูกันเลย!! ✨✨

ความจริงเรื่อง 'ค่าไฟฟ้า' ความถูก-แพง ที่ทำ 'ก.พลังงาน' กลุ้ม ผลพวงจากทิศทางโลก ผสมโรงบิ๊กเอกชนผูกขาดก๊าซธรรมชาติ

ปัญหาด้านสาธารณูปโภคที่เรื้อรังมายาวนานและกลายเป็นประเด็นที่บรรดานักกิจกรรมทางการเมือง นักร้อง นักเคลื่อนไหว นักการเมือง นักวิชาการ ฯลฯ ตลอดจนเหล่ามนุษย์ผู้หิวโหยหาแสงทั้งหลาย มักจะหยิบยกขึ้นมาเป็นประจำก็คือ 'ปัญหาราคาค่าไฟฟ้า'

แน่นอน 'ค่าไฟฟ้าแพง' เป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าพรรคการเมืองใดก็ตามมาเป็นรัฐบาล แต่เรื่องราวที่ผู้คนส่วนใหญ่อาจไม่รู้ หลงลืม หรือไม่ได้ใส่ใจ ก็คือ รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานไม่ได้เป็นผู้กำหนดทั้งอัตราค่าไฟฟ้าหลัก (ค่าไฟฟ้าฐาน ซึ่งไม่ได้ปรับเปลี่ยนมาแล้วหลายปี) และ อัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า Ft : ค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ) ค่า Ft ถูกกำหนดไว้เพื่อให้สะท้อนการเปลี่ยนแปลงต้นทุนที่อยู่ในค่าไฟฟ้าฐานที่อยู่เหนือการควบคุมของการไฟฟ้า คือค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง ค่าซื้อไฟฟ้า และค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐที่เปลี่ยนแปลงไปจากต้นทุนคงที่ซึ่งคำนวณไว้ในค่าไฟฟ้าฐาน โดยมีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ทำหน้าที่กำกับดูแล

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. อันเป็นคณะบุคคลจำนวน 7 คน (ประธานฯ 1 คน กรรมการ 6 คน ซึ่งได้รับการคัดสรรและได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง) ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงาน อันหมายถึง กิจการไฟฟ้า กิจการก๊าซธรรมชาติ และกิจการระบบโครงข่ายพลังงาน ดังนั้นการพิจารณาปรับขึ้นหรือลดอัตราค่าไฟฟ้า จึงไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของรัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานที่เพียงแต่ทำหน้าที่ในการทำให้ราคาต้นทุนพลังงานที่นำมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าลดลงให้มากที่สุด เพื่อให้สามารถลดค่า Ft ลงอันจะเป็นการช่วยเหลือประชาชนคนไทยได้

แต่เริ่มเดิมทีไทยเราผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานถ่านหินเป็นส่วนใหญ่ รองลงมาคือ พลังงานน้ำ เมื่อบ้านเมืองมีการพัฒนาให้เจริญก้าวหน้า กอปรกับพลังงานถ่านหินที่มีอยู่ก็ลดน้อยลงไปตามการใช้งาน อีกทั้งยังก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ นอกจากนั้นแล้วการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าก็ถูกคัดค้านโดย NGO และบรรดานักอนุรักษ์ธรรมชาติทั้งหลาย เพราะความเจริญก้าวหน้าของประเทศนำมาซึ่งความต้องการในการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น

ดังนั้นโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากก๊าซจึงเป็นกระบวนการหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าในเวลาต่อมาจนกระทั่งปัจจุบันทุกวันนี้

ปัจจุบันก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าของไทยมาจาก 3 แหล่ง คือ...

- ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย 
- ก๊าซธรรมชาติจากเมียนมา 
- ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่นำเข้าด้วยสัญญาระยะยาวและ LNG Spot

โดยที่ผ่านมาผู้ที่ผูกขาดจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติเพียงเจ้าเดียวของไทยก็คือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และปัจจุบันยังคงผูกขาดก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยและเมียนมา ในขณะที่ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่นำเข้าด้วยสัญญาระยะยาวและ LNG Spot นั้น ปี พ.ศ. 2567 กกพ.พึ่งจะอนุญาตให้ผู้ประกอบการโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าสามารถนำเข้าเองได้เป็นปีแรก

ในปัจจุบันราคาซื้อขาย LNG จะแตกต่างกันตามภูมิภาค ทั้งยังมีโครงสร้างราคาที่ต่างกัน ได้แก่...

- ตลาดภูมิภาคอเมริกาเหนือ จะใช้ดัชนีราคา Henry Hub (HH) 
- ตลาดภูมิภาคยุโรป แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ ประเภทที่ใช้ดัชนีราคา National Balancing Point (NBP) และประเภทที่ใช้ดัชนีราคา Title Transfer Facility (TTF)
- ตลาดภูมิภาคเอเชีย จะใช้ดัชนีราคา Japanese Crude Cocktail (JCC) 

นอกจากนี้ ยังสามารถแบ่งรูปแบบการซื้อขายออกเป็น 2 รูปแบบ คือ...

- Spot คือการซื้อ-ขาย LNG ที่มีการส่งมอบเป็นรายเที่ยวเรือ เป็นไปตามราคาตลาดในช่วงเวลานั้นๆ 
- Term Contract คือ การซื้อ-ขาย ที่มีการส่งมอบสินค้าอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาที่แน่นอน โดยจะคำนวณตามสูตรราคาอ้างอิงกับดัชนีราคาน้ำมันหรือราคาก๊าซฯ ตามข้อตกลงในสัญญาซื้อ-ขาย

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับราคา LNG ในปัจจุบันก็คือ ยุโรปยกเลิกการสั่งซื้อ LNG จากรัสเซียอันเนื่องมาจากการคว่ำบาตรรัสเซียที่ทำสงครามกับยูเครน ทำให้ต้องนำเข้า LNG จากแหล่งอื่นๆ โดยเฉพาะตะวันออกกลางและแอฟริกา ราคา LNG จึงมีราคาเพิ่มขึ้น อีกทั้งการนำเข้า LNG มีต้นทุนค่าขนส่งและคลังจัดเก็บ ตลอดจนค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อันเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการซื้อขาย LNG กอปรกับแหล่งก๊าซของ บริษัทปตท. จำกัด (มหาชน) ไม่ว่าจะเป็นอ่าวไทยหรือเมียนมามีปริมาณการผลิตที่ลดลง เรื่องเหล่านี้จึงส่งผลกระทบต่อการคำนวณพิจารณาค่า Ft ซึ่งต้องนำราคา LNG ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ด้วยเหตุผลที่ได้กล่าวมานั้นไม่ว่ารัฐบาลจากพรรคไหนก็ตาม จึงไม่สามารถกำหนดราคาค่าไฟฟ้าได้ตามอำเภอใจ เพราะเป็นบทบาทหน้าที่ตามกฎหมายของกกพ. แม้ว่าปัจจุบันภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะพยายามส่งเสริมการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานทางเลือก (Alternative energy) ไม่ว่าจะเป็นพลังงานธรรมชาติเช่น พลังงานแสงอาทิตย์ หรือพลังงานลม หรือพลังงานน้ำ หรือพลังงานจากชีวมวล ฯลฯ ก็ตาม ต้องมีการจ่ายค่า Adder (ค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่มโดยบวกเพิ่มจากอัตราค่าไฟฟ้าปกติเป็นระยะเวลา 7 หรือ 10 ปี ตามประเภทของโรงไฟฟ้า) ในอดีต และปัจจุบันจ่ายค่า  FiT (Feed-in-Tariff) อันเนื่องมาจากแม้จะไม่มีต้นทุนในการจัดหาเชื้อเพลิง แต่จะมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของพลังจากธรรมชาติ และความเสี่ยงจากความผันผวนของต้นทุนในการจัดหาเชื้อเพลิงในกรณีพลังงานจากชีวมวล 

นอกจากนั้นแล้วไทยยังต้องมีการ 'สำรองไฟฟ้า' เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย หากเกิดเหตุฉุกเฉินจึงต้องมีการสำรองไฟฟ้าให้เพียงพอ https://thestatestimes.com/post/2023042021 และ https://thestatestimes.com/post/2023042443 

ดังนั้นราคาค่าไฟฟ้าที่กกพ.กำหนด จึงเป็นไปตามบริบทที่แท้จริงตามสภาวะการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะที่มีการคำนวณค่า Ft หากไม่เช่นนั้นแล้วเหล่าบรรดานักกิจกรรมทางการเมือง นักร้อง นักเคลื่อนไหว นักการเมือง นักวิชาการ ฯลฯ ตลอดจนเหล่ามนุษย์ผู้หิวโหยหาแสงทั้งหลาย ยังไม่มีใครกล้านำข้อมูลที่นำมาสร้างเป็นกระแส 'ค่าไฟฟ้าแพง' ฟ้องร้องดำเนินคดีกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ.เลยจนถึงทุกวันนี้

‘พีระพันธุ์’ ปลื้ม!! แหล่งเอราวัณผลิตก๊าซ 800 ล้านลบ.ฟ./วัน แล้ว เชื่อ!! ช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้า - สร้างค่าไฟเป็นธรรมให้ ปชช.

‘กระทรวงพลังงาน’ เผยข่าวดี แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณในอ่าวไทย สามารถเพิ่มอัตราการผลิตเป็น 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หลังจากที่ผู้รับสัญญาเร่งดำเนินงาน จนสามารถดำเนินการเพิ่มอัตราการผลิตได้เร็วกว่าแผนที่กำหนด ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ให้ความสำคัญและกำชับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อความเป็นอยู่ของประชาชน

(20 มี.ค. 67) นายพีระพันธ์ุ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า “การเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติของแปลง G1/61 ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในวันที่ 20 มีนาคม 2567 นี้ เป็นการดำเนินการได้เร็วกว่าแผนที่กำหนด ถือว่าเป็นการแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของทั้งภาครัฐ คือ กระทรวงพลังงานโดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และผู้ได้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต คือ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (ปตท.สผ. อีดี) ในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ

ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยผมและทีมงานได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมแท่นผลิตก๊าซธรรมชาติโครงการ G/61 (แหล่งเอราวัณ) เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อติดตามให้มีการบริหารจัดการและเพิ่มการผลิตปิโตรเลียมอย่างเต็มกำลังให้ได้ปริมาณตามที่กำหนด รวมทั้งมอบหมายให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติกำกับดูแลการดำเนินงานของผู้รับสัญญาอย่างใกล้ชิด เพราะก๊าซธรรมชาติถือเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศ

ดังนั้น การเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติ ให้เป็นไปตามเป้าหมาย จะมีส่วนช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าและรักษาระดับค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนได้”

ด้านนายวรากร พรหโมบล อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า “กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ในฐานะที่กำกับดูแลการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศ ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่มาโดยตลอด โดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานของแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 ซึ่งนับเป็นงานที่มีความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการใช้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตในกิจการปิโตรเลียม โดยได้มีการเตรียมโครงสร้างหน่วยงานและบุคลากรของกรมเพื่อรองรับภารกิจการดำเนินงานภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต ตลอดจนการติดตาม กำกับดูแล พร้อมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานต่าง ๆ ของบริษัท ปตท.สผ. อีดี ให้เป็นไปอย่างราบรื่น เพื่อให้การผลิตปิโตรเลียมจากแปลงดังกล่าวเป็นไปตามเป้าหมาย ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

“ทั้งนี้ แหล่งก๊าซธรรรมชาติเอราวัณ นับเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติในทะเลอ่าวไทยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และเป็นหัวใจสำคัญในการผลิตก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้า

“ซึ่งภายหลังจากนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะยังคงทำงานร่วมกับผู้รับสัญญาอย่างใกล้ชิด เพื่อรักษาระดับการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งดังกล่าวให้มีความต่อเนื่อง และสามารถสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน เพื่อเป็นฐานในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศให้แข็งแกร่งต่อไป”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top