Monday, 20 May 2024
ค่าไฟฟ้า

‘ผู้ว่าฯ กฟผ.’ แนะ!! รัฐฯ ควรเคาะ ‘ค่าไฟ’ ปีละ 1 ครั้ง หวังลดภาระประชาชน - เอื้อเอกชนในการคิดต้นทุน

เมื่อวานนี้ (20 มี.ค.67) ที่สำนักงานใหญ่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ กฟผ. คนใหม่ (คนที่ 16) เปิดเผยถึงทิศทางการดำเนินงานของ กฟผ. และแนวทางการบริหารงาน ว่า ระยะเวลา 1 ปี 4 เดือน ในฐานะผู้ว่าการ กฟผ. จะเร่งเดินหน้า 5 ภารกิจสำคัญ คือ 1.รักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้า 2.บริหารจัดการค่าไฟฟ้าให้เป็นธรรมและแข่งขันได้ 3.ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมาย Carbon Neutrality ของประเทศ 4.ดำเนินการตามนโยบายภาครัฐ และ 5.เป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัฐ โดย กฟผ. เป็นกลไกของรัฐเพื่อดำเนินนโยบายด้านพลังงานและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในการพัฒนาประเทศ ในช่วงที่ประเทศไทยเดินหน้าเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดด้วยการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ระบบไฟฟ้าต้องมีประสิทธิภาพและความมั่นคงสูง พร้อมส่งต่อไฟฟ้าที่มีคุณภาพไฟไม่ตก ไม่ดับ ควบคู่กับการดูแลค่าไฟฟ้าให้สามารถแข่งขันได้และเป็นธรรม เพื่อเป็นปัจจัยดึงดูดนักลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ

นายเทพรัตน์ กล่าวว่า นอกจากนี้อยากให้ภาครัฐพิจารณาปรับรูปแบบการคำนวณค่าไฟของประเทศให้ต่ำและนิ่งกว่านี้ จากปัจจุบันค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) จะคำนวณตามต้นทุนเชื้อเพลิงทุก 4 เดือน ทำให้ค่าไฟขึ้นลงผันผวน กระทบต่อค่าครองชีพประชาชน การคำนวณต้นทุนของภาคเอกชน ซึ่งปกติเอกชนจะโควทต้นทุนที่สูงที่สุดของปีและเมื่อค่าไฟถูกลงก็ไม่ได้ลดราคาสินค้าลง ดังนั้นหากเป็นไปได้ควรกำหนดค่าไฟให้ต่ำและนิ่งอาจคำนวณทุก 1 ปี เพื่อให้ทุกภาคส่วนรับรู้ต้นทุนระยะยาว เพราะราคาพลังงานขึ้นลงเป็นปกติ สามารถหักลบกัน เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับคนไทยทั้งประเทศแน่นอน

นายเทพรัตน์ กล่าวว่า ปัจจุบัน กฟผ.รับภาระค่าไฟแทนประชาชนอยู่ที่ 99,689 ล้านบาท คาดว่าค่าไฟงวดใหม่ เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2567 ที่อยู่ระหว่างรับฟังความเห็นจากประชาชนจะสรุปตัวเลขที่ 4.18 บาทต่อหน่วย โดย กฟผ.จะได้เงินคืน 7 งวด งวดละ 14,000 ล้านบาท หรือ 20.51 สตางค์ต่อหน่วย คาดหวังอัตราค่าไฟหลังจากนี้ กฟผ.จะได้เงินคืนรูปแบบนี้ทั้ง 7 งวดเพื่อบริหารสภาพคล่อง กฟผ. โดยปี 2567 กฟผ.ตั้งงบลงทุนไว้ที่ประมาณ 30,000 ล้านบาท เน้นลงทุนปรับปรุงระบบสายส่ง และโซลาร์ลอยน้ำ และปัจจุบัน กฟผ.มีสัดส่วนผลิตไฟฟ้าประมาณ 30% ของการผลิตทั้งประเทศ

'กฟผ.' ชี้!! ร้อนปีนี้บิลค่าไฟฟ้าอาจแพงขึ้น แม้รัฐตรึง 4.18 บาทต่อหน่วย หลังหน้าร้อนมาเร็วกว่าเดิม ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่ม อุปกรณ์ทำงานหนัก

(22 มี.ค. 67) นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ กฟผ.คนใหม่ กล่าวว่า ปีนี้หน้าร้อนมาเร็วขึ้น ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว จึงมีแนวโน้มว่าหน้าร้อนนี้จะมีปริมาณการใช้ไฟพีกกว่าปีที่แล้ว แต่ยืนยันว่าค่าไฟฟ้าต่อหน่วยยังเท่าเดิม ตามที่รัฐบาลตรึงไว้ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย แต่การที่บิลค่าไฟฟ้าแพงขึ้นในช่วงหน้าร้อน เพราะเครื่องใช้ไฟฟ้าทำงานหนักขึ้น

ส่วนค่าไฟฟ้าเดือน พ.ค. - ส.ค. 2567 ที่มี 3 แนวทาง โดยค่าไฟฟ้าต่ำสุดอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย และสูงสุดอยู่ที่  5.44 บาทต่อหน่วย ขณะนี้อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนนั้น ผู้ว่าการ กฟผ.กล่าวว่า หากค่าไฟฟ้างวดหน้ายังเก็บในอัตราเดิม คือ 4.18 บาทต่อหน่วย ก็ต้องแบ่งจ่ายคืนหนี้คงค้างให้ กฟผ. 7 งวด งวดละ 14,000 ล้านบาท รวมยอดหนี้คงค้าง 99,689 ล้านบาท ซึ่งหากชำระหนี้คืน กฟผ.ได้หมดภายใน 7 งวดจริง  ก็ไม่มีปัญหาต่อสภาพคล่องของ กฟผ. แต่สิ่งที่ต้องการคือความแน่นอน และความมั่นใจว่าการชำระหนี้จะเป็นไปตามเงื่อนไข ไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เพราะส่งผลกระทบต่อการวางแผนการดำเนินงานของ กฟผ. ความน่าเชื่อถือ และเครดิตเรทติ้งของกฟผ.ด้วย 

“กฟผ. เป็นกลไกหนึ่งของรัฐซึ่งพร้อมสนับสนุนในการดูแลค่าไฟ ซึ่งเป็นต้นทุนของทุกอุตสาหกรรม และเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ โดย กฟผ. สนับสนุนการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ เช่น ก๊าซ ลิกไนท์ ถ่านหิน มาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เพื่อให้ต้นทุนค่าไฟลดลง รวมถึงสนับสนุนนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำของ สปป.ลาว เพราะเป็นพลังงานสีเขียวและราคาถูก เพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกกลุ่มได้รับความเป็นธรรม และสามารถเข้าถึงราคาค่าไฟได้” นายเทพรัตน์ กล่าว

นอกจากนี้ นายเทพรัตน์ ยังเปิดตัวต่อสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการครั้งแรก ในฐานะ ผู้ว่าการ กฟผ.คนใหม่ พร้อมชู 5 ภารกิจสำคัญเร่งด่วน ได้แก่

1. รักษาความมั่นคงทางด้านไฟฟ้า เนื่องจากไฟฟ้าเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ มีส่วนในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ 

2. เพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคา ทำให้ราคาไฟฟ้ามีเสถียรภาพ และอยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยนำทรัพยากรที่มีอยู่ เช่น ก๊าซ ลิกไนท์ ถ่านหิน มาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด รวมถึงสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการปรับปรุงโครงสร้างค่าไฟฟ้า 

3. รักษาสมดุลสิ่งแวดล้อม
4. ตอบสนองนโยบายรัฐบาล
5. นำส่งรายได้เข้ารัฐ

‘ก.พลังงาน’ สั่ง ‘กกพ.’ บี้ ‘ปตท.’ คืนค่าชอร์ตฟอล 4,700 ลบ. เล็งดึงเงินลดค่าไฟงวดสุดท้ายปี 67 ได้ 7.8 สต./หน่วย

(26 เม.ย. 67) แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานสั่งให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ตรวจสอบการส่งผ่านราคาก๊าซธรรมชาติ 

กรณีผู้ผลิตไม่สามารถส่งมอบก๊าซฯ ได้ตามเงื่อนไขในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ (ชอร์ตฟอล) ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพิ่มเติมจากงวดแรก 4,300 ล้านบาท มีช่วงเวลาอื่นอีกหรือไม่ว่า ล่าสุดทาง กกพ. ได้รายงานผลการตรวจสอบราคาจัดหาก๊าซธรรมชาติของปตท. ระหว่างปี 56-63 พบตัวเลขส่วนต่างราคาชอร์ตฟอลที่ปตท. ซื้อก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย แต่ยังไม่ได้สะท้อนไปเป็นส่วนลดในราคาพูลแก๊สหรือราคารวม อีก 4,700 ล้านบาท 

ทั้งนี้ ปตท. ต้องส่งคืน เพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน หลังจากก่อนหน้านี้คณะกรรมการ หรือบอร์ดปตท. มีมติยอมส่งคืนราคาชอร์ตฟอล ระหว่างต.ค. 63 - ธ.ค. 65 เป็นมูลค่า 4,300 ล้านบาท เพื่อนำมาลดต้นทุนค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. ที่ผ่านมาแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 29 เม.ย. คณะอนุกรรมการตรวจสอบการส่งผ่านราคาก๊าซธรรมชาติ กรณีผู้ผลิตไม่สามารถส่งมอบก๊าซได้ตามเงื่อนไขในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ (ชอร์ตฟอล) จะประชุมพิจารณาตัวเลขส่วนต่างราคาชอร์ตฟอลรอบสอง มูลค่า 4,700 ล้านบาท

ก่อนเสนอให้กกพ.มีมติ และแจ้งไปยังปตท.ให้ดำเนินการต่อไป หากปตท.ยอมรับตัวเลขส่วนต่างราคาชอร์ตฟอล จะสามารถนำมาลดค่าไฟฟ้างวดสุดท้ายของปี 67 (ก.ย. - ธ.ค. 67) ได้ประมาณ 0.078 บาทต่อหน่วย หรือ 7.8 สตางค์

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 67 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน มีหนังสือถึงกกพ. สั่งให้ตรวจสอบชอร์ตฟอลเพิ่มเติมจากงวดแรก และให้ดำเนินงานการอย่างเร่งด่วน เมื่อได้ผลอย่างไรให้รายงานความคืบหน้าต่อรมว.พลังงานทุก 30 วัน

ซึ่ง กกพ.ได้ส่งหนังสือรายงานรมว.พลังงานเป็นระยะ จนพบข้อมูลตัวเลขล่าสุด โดยงวดแรกปตท.ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของกกพ. เนื่องจากมองว่า ปตท.คำนวณถูกต้องมาตลอด ตามการบริหารสัญญาซื้อขายก๊าซ 

แต่ทาง กกพ. ได้พิจารณายกอุทธรณ์ ทำให้ปตท.ต้องคืนค่าชอร์ตฟอลตามคำสั่ง ซึ่งครั้งนี้หากปตท.ไม่เห็นด้วยกับคำสั่ง สามารถยื่นอุทธรณ์ และชี้แจงข้อเท็จจริงได้อีกเช่นกัน

‘พีระพันธุ์’ ยื่นเสนอ ครม.ให้ช่วยเหลือค่าไฟฟ้า เดินหน้าผลักดัน ให้ปชช.ใช้ไฟฟ้า ในราคาที่ถูก

(27 เม.ย.67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ยื่นเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอใช้งบกลางในการดูแลค่าไฟฟ้าประชาชนงวดที่จะถึงนี้ คือ ในเดือนพ.ค.-ส.ค. 2567 พร้อมทั้งดูแลราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ที่ตรึงราคาไว้ที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ระหว่าง 1 เม.ย.-30 มิ.ย. 2567 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอให้ ครม. นำเข้าสู่การพิจารณาในวาระการประชุม ครม. ครั้งต่อไป

โดยเชื่อว่า ครม. จะพิจารณาได้ทันก่อนถึงกำหนดบิลค่าไฟฟ้างวดเดือน พ.ค. 2567 จะออกมา ซึ่งกระทรวงพลังงานได้ของบประมาณสำหรับดูแลค่าไฟฟ้าเท่าเดิม (งวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 ใช้งบกลางดูแลค่าไฟฟ้าประมาณ 2,000 ล้านบาท) หากได้รับการอนุมัติจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าแบ่งเป็น 2 อัตรา คือ กลุ่มที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย จะจ่ายค่าไฟฟ้าเพียง 3.99 บาทต่อหน่วย ขณะที่ผู้ใช้ไฟฟ้าเกิน 300 หน่วยจะจ่ายค่าไฟฟ้า 4.18 บาทต่อหน่วย แต่กรณีที่ ครม. ไม่อนุมัติงบกลางช่วยค่าไฟฟ้า ก็จะส่งผลให้ทุกกลุ่มต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเท่ากันที่ 4.18 บาทต่อหน่วย  

สำหรับในส่วนของ LPG นั้น ยังต้องรอลุ้นเช่นกันว่า ครม.จะพิจารณาให้งบกลางมาช่วยเหลือหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้กำหนดให้ตรึงราคา LPG ที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม เป็นเวลา 3 เดือน ระหว่าง 1 เม.ย.-30 มิ.ย. 2567 โดยให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง นำเงินในบัญชี LPG มาอุดหนุนราคาในเดือน เม.ย. 2567 ส่วนอีก 2 เดือนที่เหลือ คือ เดือน พ.ค.-มิ.ย. 2567 จะของบกลางจากรัฐบาลมาอุดหนุนราคา เนื่องจากกองทุนน้ำมันฯ เหลือเงินดูแลราคา LPG ได้แค่เดือน เม.ย. 2567 ก็จะเต็มกรอบวงเงินแล้ว

อย่างไรก็ตามยังไม่แน่ใจว่า ครม.จะพิจารณาได้ทันก่อนเข้าสู่เดือน พ.ค. 2567 หรือไม่ หากไม่ทันอาจจำเป็นต้องให้กองทุนน้ำมันฯ ดูแลราคา LPG ต่อไปเอง โดยยอมปล่อยให้เงินไหลออกจากกองทุนฯ แบบไม่มีการเก็บเงินเข้ามาเลย

ขณะที่การดูแลราคาดีเซลนั้น ทางกระทรวงพลังงานยังรอการพิจารณาจากกระทรวงการคลังและ ครม. ในการประชุมครั้งต่อไป ว่าจะมีการพิจารณาปรับลดภาษีสรรพสามิตดีเซลให้หรือไม่ หลังจากสิ้นสุดมาตรการลดภาษีดีเซล 1 บาทต่อลิตร ไปเมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ ต้องเข้าไปพยุงราคาไว้ 50 สตางค์ต่อลิตร และยอมปล่อยราคาปรับขึ้นตามภาษีดีเซล 50 สตางค์ต่อลิตร ไปเมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2567 ที่ผ่านมา  


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top