รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (1) : ความเป็นมาของกิจการพลังงานไฟฟ้า รู้จัก!! หน่วยงานต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ ‘ค่าไฟฟ้า’
(26 ม.ค. 68) การดำรงชีวิตในโลกยุคปัจจุบัน นอกจากปัจจัย 4 อันได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรคแล้ว ยังมีปัจจัยที่กลายเป็นจำเป็นในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้นมาอีกหลายสิ่งหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปกรณ์เครื่องใช้สำหรับอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น โทรทัศน์ ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ ในสภาวะที่เต็มไปด้วยฝุ่น PM 2.5 เครื่องฟอกอากาศก็กลายเป็นเครื่องใช้ที่จำเป็น เครื่องซักผ้า เตารีด หม้อหุงข้าว ปั้มน้ำ ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้า
ดังนั้น วิถีชีวิตของชาวโลกรวมถึงคนไทยในทุกวันนี้โดยส่วนใหญ่แล้ว ต้องพึ่งพาอาศัยใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งสิ้น เมื่อใช้พลังงานไฟฟ้าจึงมี ‘ค่าไฟฟ้า’ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่งต้องจ่ายตามมาเป็นประจำทุกเดือน แม้ว่า ‘ค่าไฟฟ้า’ จะเป็นรายจ่ายประจำทุกเดือน จะมากหรือน้อยก็เป็นไปตามปริมาณไฟฟ้าที่มีการใช้ แต่พี่น้องประชาชนคนไทยส่วนใหญ่อาจจะไม่เข้าใจถึงความเป็นมาและความเป็นไปของกิจการพลังงานไฟฟ้า อันประกอบด้วยหลายหน่วยงานมากองค์กร ซึ่งมีบทบาทหน้าที่และภารกิจที่แตกต่างกัน รวมถึงเรื่องราวรายละเอียดต่าง ๆ ของ ‘ค่าไฟฟ้า’ จึงขอนำมาบอกเล่าให้ผู้อ่าน The States Times ได้เข้าใจพอสังเขป
ประเทศไทยมีไฟฟ้าใช้เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2427 โดยไฟฟ้าดวงแรกส่องสว่างภายในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของในหลวงรัชกาลที่ 5 เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2427 ต่อมา พ.ศ. 2441 มีก่อตั้งบริษัท ไฟฟ้าสยาม จำกัด โรงไฟฟ้าเอกชนแห่งแรกของไทย โดยโอนกิจการมาจากบริษัทบางกอก อิเลกตริกไลท์ ชิกดีแคท เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2441 และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยาวนานจนกลายเป็น 3 หน่วยงานหลักที่บริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทยคือ (1)การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และ (2)การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) มีหน้าที่ในการจัดหาและจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศไทยเช่นเดียวกัน แต่ กฟน. จะรับผิดชอบในพื้นที่ กรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ และ กฟภ. จะดูแลในพื้นที่อื่น ๆ นอกเหนือจาก 3 จังหวัดนี้ โดย (3)การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะมีหน้าที่ผลิตและจัดซื้อพลังงานไฟฟ้าเพื่อส่งต่อให้กับ กฟน. กฟภ. รวมถึงจำหน่ายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าของประเทศเพื่อนบ้าน
ปัจจุบัน ประเทศไทยมี ‘โครงสร้างกิจการไฟฟ้า’ ในรูปแบบ ‘Enhanced Single Buyer Model (ESB)’ คือ “การที่รัฐเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน โดยผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนไม่สามารถขายไฟฟ้าตรงให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าได้ จุดแข็งของระบบโครงสร้างนี้คือ ทำให้รัฐมีอำนาจในการบริหารจัดการและควบคุมสั่งการได้อย่างเด็ดขาด 100% เพื่อให้เกิดเสถียรภาพด้านราคา” ซึ่งเป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2546 ปัจจุบัน กฟผ. เป็นผู้ผลิตไฟฟ้า ส่งไฟฟ้า และเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชน ได้แก่ IPP (โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดมากกว่า 90 MW) และ SPP (โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดน้อยกว่า 90 MW) รวมถึงรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ
ในขณะที่ กฟน. และ กฟภ. เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจาก VSPP (โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดน้อยกว่า 10MW) โดย กฟผ.จะจำหน่ายไฟฟ้าผ่านระบบส่งไฟฟ้า (Transmission) ให้แก่ กฟน. และ กฟภ. เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าภายในพื้นที่รับผิดชอบของ กฟน. หรือ กฟภ. นอกจากนี้ กฟผ. ยังจำหน่ายไฟฟ้าบางส่วนโดยตรงให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่บางรายที่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายได้ภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และมีศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า (System Operator : SO) ทำหน้าที่ในการควบคุม บริหารและกำกับดูแลการเดินเครื่องโรงไฟฟ้า ทั้งของ กฟผ. IPP SPP และโรงไฟฟ้าที่มีสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ ทำให้ระบบพลังงานมีความสมดุล มั่นคง มีเสถียรภาพ ประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือ ตามความในมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 โดย กฟผ. เป็นผู้รับใบอนุญาตควบคุมระบบไฟฟ้า
ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2533 รัฐบาลในขณะนั้นให้การส่งเสริมเอกชนได้เข้ามามีบทบาทในการผลิตไฟฟ้า เพื่อจะเป็นการเพิ่มการแข่งขันในกิจการพลังงานไฟฟ้า ทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและผู้บริโภคมีพลังงานไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอในราคาที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังจะเป็นการลดภาระการลงทุนของรัฐและลดภาระหนี้สินของประเทศ ส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น กรณีของโครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก หรือ SPP ซึ่งใช้ระบบพลังงานความร้อนร่วม เป็นต้น ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าได้รับบริการและคุณภาพไฟฟ้าที่ดีขึ้น สนับสนุนประชาชนให้มีส่วนร่วมในการพัฒนากิจการด้านพลังงานของประเทศและช่วยพัฒนาตลาดทุน
ต่อมา ในปี พ.ศ. 2535 รัฐบาลมีนโยบายลดภาระการลงทุนภาครัฐ และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า โดยมีมติ ครม.เห็นชอบเรื่องแนวทางในการดำเนินงานในอนาคตของ กฟผ. กำหนดขั้นตอนและแนวทางให้เอกชนมีบทบาทมากขึ้นในกิจการไฟฟ้าประเทศไทย ให้มีการลงทุนจากภาคเอกชนในการผลิตไฟฟ้ารูปแบบของ IPP และจะต้องขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ. และให้ออกระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็ก ซึ่งใช้พลังงานนอกรูปแบบ เป็นการแบ่งเบาภาระทางด้านการลงทุนของรัฐในระบบการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าด้วย โดย กฟผ. ได้ประกาศรับซื้อไฟจากเอกชนรายใหญ่เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2537 ซึ่งปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจะอยู่ภายใต้มติเห็นชอบของ ‘คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)’ มาจนถึงปัจจุบัน
โดย ‘คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ’ มีอำนาจหน้าที่ในการ (1) เสนอนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศต่อคณะรัฐมนตรี (2) กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการกำหนดราคาพลังงาน ให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศ (3) ติดตาม ดูแล ประสาน สนับสนุนและเร่งรัดการดำเนินการของคณะกรรมการทั้งหลายที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน เพื่อให้มีการดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศ และ (4) ประเมินผลการปฏิบัติตามนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศ
โดยมี ‘คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)’ ทำหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงาน อันหมายถึง กิจการไฟฟ้า กิจการก๊าซธรรมชาติ และกิจการระบบโครงข่ายพลังงาน โดยมีมีอำนาจหน้าที่ใน “การอนุญาตการประกอบกิจการพลังงานการกำกับดูแลอัตราค่าบริการ การกำหนดมาตรฐานการ ให้บริการพลังงาน และมาตรฐานความปลอดภัยในการประกอบกิจการพลังงาน การคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้ใช้พลังงาน รวมทั้งการให้ความคุ้มครองแก่ผู้ประกอบการให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม การใช้อสังหาริมทรัพย์เพื่อประโยชน์ในการสำรวจหรือ เพื่อหาสถานที่ตั้ง ระบบโครงข่ายพลังงานการใช้อสังหาริมทรัพย์ เพื่อประโยชน์ในการสำรวจหรือเพื่อหาสถานที่ตั้ง ระบบโครงข่ายพลังงาน และการพิจารณาข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการประกอบกิจการพลังงาน” และทำหน้าที่ในการพิจารณากำหนด “อัตราค่าไฟฟ้า”
เรื่อง : บทบรรณาธิการ THE STATES TIMES