Thursday, 9 May 2024
การค้า

‘บังกลาเทศ’ ทดลองวิ่งรถไฟสินค้าบนสะพานฝีมือ ‘จีน’ ตอกย้ำความสำเร็จโครงการ ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’

เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 66 สำนักข่าวซินหัว, ธากา รายงานว่า บังกลาเทศประสบความสำเร็จในการทดลองเดินรถไฟสินค้าบนช่วงหนึ่งของทางรถไฟ ที่ก่อสร้างภายใต้แผนริเริ่ม ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ (BRI) และบนสะพานปัทมา ซึ่งเป็นสะพานขนาดใหญ่ที่สุดในบังกลาเทศที่ก่อสร้างโดยจีน

‘ซัยยิด อาเหม็ด’ ผู้อำนวยการโครงการทางรถไฟฟาริดปูร์ของการรถไฟบังกลาเทศ แถลงข่าวว่ารถไฟพร้อมตู้สินค้า 5 ตู้ บรรทุกก้อนหินหนัก 350 ตัน ทดลองวิ่งที่ความเร็วสูงสุด 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จากสถานีบังกาของเขตฟาริดปูร์ในช่วงเช้าวันเสาร์ (16 ก.ย.) ถึงสถานีมาวา และวิ่งกลับสถานีบังกา

เมื่อสัปดาห์ก่อน รัฐบาลบังกลาเทศเปิดตัวรถไฟโดยสารขบวนแรกสำหรับช่วงหนึ่งของทางรถไฟสายใหม่นี้ โดยทางรถไฟยาว 172 กิโลเมตรเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญที่สุดที่ก่อสร้างโดยบริษัท ไชน่า เรลเวย์ กรุ๊ป ลิมิเต็ด (CREC) และรับทุนจากธนาคาร เพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศจีน (China Exim Bank)

‘รัฐบาลไทย’ หารือ ‘ทูตอินเดีย’ เตรียมฟื้นฟู FTA-เปิดตลาดเสรี หนุนการค้า-ลงทุนทุกมิติ ดันไทยสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจภูมิภาค

(28 ก.ย. 66) นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยว่า ได้หารือกับ นายนาเคศ สิงห์ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอินเดียประจำประเทศไทย โดยอินเดียพร้อมฟื้นฟูความตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Agreement : FTA) ไทย-อินเดีย อีกครั้ง และพร้อมแก้ไขปัญหาอุปสรรคร่วมกันอย่างเข้มแข็งและรวดเร็วที่สุด

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาไทยและอินเดียได้ทำความตกลงการค้าเสรี หรือ ‘FTA’ โดยได้เปิดตลาดสินค้าส่วนแรก (Early Harvest Scheme) จำนวน 83 รายการ ครอบคลุมทั้งสินค้าผลไม้สด ธัญพืช อาหารปรุงแต่งจากเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์แร่ เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า

โดยได้ยกเลิกภาษีตั้งแต่ปี 2549 ทำให้การค้าทั้ง 2 ฝ่ายขยายตัว และไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า แต่ได้หยุดชะงักไปเมื่อปี 2559 เนื่องจากอินเดียได้หันมาผลักดันการเจรจา FTA ระหว่างอาเซียน-อินเดียแทน เพื่อขยายตลาดมายังกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ

นางนลินี กล่าวว่า อินเดียให้ความสำคัญกับไทยในฐานะประเทศที่มีศักยภาพด้านการค้าการลงทุนของอาเซียนและเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค โดยวันนี้ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกกลายเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจโลก ซึ่งไทยคือหนึ่งในนั้น โดยการพูดคุยหารือครั้งนี้ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่อินเดียต้องการจะฟื้นฟู FTA

รวมทั้งยังอยากเห็นผลการดำเนินงานของคณะกรรมการร่วมทางการค้า หรือ ‘JTC’ ไทย-อินเดีย และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ ‘RCEP’ ที่เติบโตขึ้นด้วย

ทั้งนี้ ในการหารือทั้ง 2 ฝ่ายเห็นตรงกันว่า ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ หรือ ‘BIMSTEC’ จะเป็นเวทีที่จะช่วยขจัดอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อให้ความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกเป็นไปอย่างราบรื่น โดยนายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ตั้งใจอย่างมากที่จะมาร่วมการประชุมระดับผู้นำ BIMSTEC ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2566 นี้

รวมทั้งยังหวังว่าจะมีโอกาสเดินทางเยือนระดับผู้นำอย่างเป็นทางการในโอกาสต่อไป สำหรับนโยบาย Startups India ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางการพัฒนาประเทศภายใต้แนวคิดอินเดียใหม่ (New India) เพื่อให้สอดคล้องกับที่อินเดียกำลังก้าวสู่ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจ 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2568 นั้น อินเดียได้แสดงความจำนงที่จะยกระดับความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการ Startup รุ่นใหม่ของไทยและอินเดียให้เกิดผลสำเร็จ

“มิติการเจรจาหารือทางการค้าวันนี้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต เพราะครอบคลุมหลายด้าน โดยทูตอินเดียได้พูดถึงความต้องการส่งออกสินค้าเกษตรมายังไทย เช่น กุ้งหรือเนื้อสัตว์อื่น สินค้ายาและเวชภัณฑ์โดยเฉพาะยารักษาโรคเบาหวาน หรือแม้กระทั่งความร่วมมือด้านความมั่นคงหรือยุทโธปกรณ์ที่อินเดียมีศักยภาพ ได้แก่ เฮลิคอปเตอร์หรือเรือดำน้ำ ผ่านนโยบาย Offset Policy หรือการชดเชยในกรณีซื้อจากต่างประเทศของกระทรวงกลาโหม สำหรับมิตรประเทศอีกด้วย” นางนลินี ระบุ

ข้อมูลการค้า ไทย-อินเดีย 
จากข้อมูลรายงานการค้าระหว่างประเทศของไทย ประจำปี 2565 ของกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า อินเดีย ขึ้นมาเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 7 จากอันดับที่ 10 ในปีก่อน โดยขยายตัวถึง 22.5% โดย การค้าระหว่างไทยและอินเดีย มีมูลค่า 17,702.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 18.06%

โดยไทยส่งออกไปอินเดีย มูลค่า 10,524.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากอินเดีย มูลค่า 7,178.14 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย อาทิ เม็ดพลาสติก ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ เคมีภัณฑ์ อัญมณีและเครื่องประดับ และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์

ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญของอินเดีย อาทิ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะ เคมีภัณฑ์ และพืชและผลิตภัณฑ์จากพืช

‘ไทย-ตุรกี’ หารือฟื้น FTA ลดช่องว่างการค้า เล็งเชิญผู้นำไทยเยือนตุรกีในรอบ 20 ปี

(12 ต.ค. 66) นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยหลังการหารือกับนางแซรัป แอร์ซอย เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐตุรกีประจำประเทศไทย ว่า ไทยและตุรกีเห็นพ้องกันที่จะผลักดันความตกลงการค้าเสรีหรือ FTA ระหว่างกันให้ก้าวหน้า เนื่องจากที่ผ่านมามีการเจรจากันถึง 7 รอบ แต่ต้องหยุดชะงักลงเมื่อปี 2564 จากเหตุปัจจัยภายในประเทศของตุรกี โดยไทยพร้อมและยินดีจะกลับเข้าสู่การเจรจาทันทีเมื่อตุรกีเสร็จสิ้นกระบวนการทบทวนนโยบาย ซึ่งเอกอัครราชทูตตุรกียืนยันว่าแนวทางการพิจารณาของตุรกี น่าจะเป็นรูปเป็นร่างได้ในช่วงต้นปี 2567 

ทั้งนี้ หากการจัดทำ FTA ร่วมกันสำเร็จ ทั้ง 2 ประเทศก็จะได้ประโยชน์โดยเฉพาะการลดช่องว่างดุลการค้าและด้านอื่น ๆ เช่น การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรม โดยในปีนี้ไทยและตุรกีมีความสัมพันธ์ครบรอบ 65 ปีอีกด้วย

นางนลินี กล่าวว่า ตุรกีเป็นตลาดที่มีศักยภาพและมีกำลังซื้อสูง มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 19 ของโลก ไทยสามารถใช้ตุรกีเป็นสะพานเชื่อมต่อทางการค้าไปสู่ยุโรปตะวันออก กลุ่มประเทศบอลข่าน และแอฟริกาตอนเหนือได้ และสินค้าไทยที่จะได้รับประโยชน์จาก FTA เช่น ยานพาหนะ ตู้เย็น พลาสติกชนิดโพลิสไตลีน ผ้าทอ เมล็ดพืช อาหารฮาลาล ผลไม้ เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น 

ส่วนทางตุรกีนั้น สามารถใช้ไทยเป็นประตูการค้าไปสู่เอเชียตะวันออก อาเซียน และประเทศอื่นที่มีความตกลงการค้าเสรีกับอาเซียน โดยเฉพาะประเทศสมาชิก RCEP รวมทั้งการลงทุนใน EEC ขณะเดียวกันตุรกียังสนใจใช้ไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอาเซียน โดยตุรกีมีความเข้มแข็งด้านอุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากจีน

นางนลินี กล่าวอีกว่า สำหรับบริษัทไทยที่เข้าไปลงทุนในตุรกี เช่น CPF Indorama และ Dusit Thani ส่วนบริษัทตุรกีที่ลงทุนในไทย เช่น KOC Holding HIDROMEX Sabanci Holding เป็นต้น และทั้ง 2 ประเทศยังมีเที่ยวบินตรงระหว่างกันทั้ง Turkish Airlines และสายการบินไทยจำนวนหลายเที่ยวบินต่อสัปดาห์ โดยตุรกีเห็นว่าทั้ง 2 ประเทศยังร่วมกันพัฒนาด้านอื่นได้อีก ได้แก่ เศรษฐกิจสีเขียว ธุรกิจเพื่อความยั่งยืน อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และการจัดตั้งโรงเรียนในประเทศไทย และอยากให้ไทยพิจารณาผ่อนปรนเงื่อนไขการนำเข้าผลไม้จากตุรกีด้วย

"ท่านทูตตุรกีย้ำว่าไทยไม่ได้มีการเยือนตุรกีในระดับผู้นำเป็นเวลามากกว่า 20 ปีแล้ว จึงอยากเชิญนายกฯ และผู้แทนการค้าไทยไปเยือนตุรกี และยังแสดงความขอบคุณอย่างสุดซึ้งที่ราชวงศ์ไทย รัฐบาล ภาคเอกชน NGO และประชาชนชาวไทย ให้ความช่วยเหลือตุรกีในเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อเดือน ก.พ.66 ที่ผ่านมาด้วย" นางนลินี กล่าว

‘รองนายกฯ ไทย’ ยก ‘แผน BRI’ เป็นสุดยอดวิสัยทัศน์ระดับโลก เชื่อมต่อความเจริญ หนุนการค้า-ลงทุน เสริมแกร่ง ศก. ‘ไทย-จีน’

เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 66 สำนักข่าวซินหัว, กรุงเทพฯ รายงานว่า เมื่อไม่นานนี้ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ให้สัมภาษณ์พิเศษกับสำนักข่าวซินหัวว่า ‘แผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ (BRI) ถือเป็นวิสัยทัศน์ระดับโลกอันชาญฉลาดที่ส่งเสริมการเชื่อมต่อและโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงนำพาความเจริญมายังทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

นายปานปรีย์ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุม ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ’ (BRF) ครั้งที่ 3 ว่าแผนริเริ่มฯ เป็นโครงการที่มีความชาญฉลาดมาก มีการมองไปข้างหน้าเพื่อการพัฒนาภูมิภาค และเพื่อให้โลกมีความเจริญรุ่งเรืองทางด้านเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น พัฒนาการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะทำให้ประเทศด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนาได้ประโยชน์จากโครงการนี้สูงมาก

แผนริเริ่มฯ ได้ยกระดับการเชื่อมต่อระดับภูมิภาคผ่านโครงการต่างๆ อย่าง ‘ทางรถไฟ’ ซึ่งเชื่อมต่อเมืองสำคัญอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้เกิดการขนส่งสินค้าอย่างราบรื่นตลอดแนวเส้นทาง โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ซึ่งรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการสร้างทางรถไฟจีน-ไทย ซึ่งจะเชื่อมต่อกับทางรถไฟจีน-ลาว และจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งจีน ลาว และไทย

“เราหวังจะเสริมสร้างการเชื่อมต่อกับมาเลเซียและสิงคโปร์เพิ่มเติม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศเหล่านี้ในด้านการค้า การลงทุน และสำคัญที่สุดคือ ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน” นายปานปรีย์กล่าว พร้อมชี้ว่า จีนมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกที่เผชิญความไม่แน่นอนมากมายในสถานการณ์ปัจจุบัน

สำหรับการเติบโตของเศรษฐกิจจีน นายปานปรีย์กล่าวว่า ประเทศจีนมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก เวลานี้เศรษฐกิจจีนจะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจโลกฟื้นกลับมาได้ในสภาพที่ปกติ เพื่อนบ้านหรือภูมิภาคที่อยู่ใกล้จีน ก็สามารถค้าขายกับจีนได้อย่างเป็นปกติเช่นเดียวกัน ซึ่งจะทำให้การค้าในภูมิภาคของเอเชียมีความแข็งแรงทั้งหมด

“ในมุมมองผม ก็ยังมองเศรษฐกิจของจีนในด้านดีและด้านบวก” นายปานปรีย์กล่าว

สำหรับความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างไทยและจีนนั้นหยั่งรากลึก โดยนอกจากการค้าและการลงทุนแล้ว ความร่วมมือทวิภาคียังครอบคลุมด้านอื่นๆ เช่น ความมั่นคง สังคม และวัฒนธรรม ขณะการทำงานร่วมกันมุ่งเน้นเศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียว โดยเฉพาะการเกื้อหนุนห่วงโซ่อุปทานเพื่อความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน

อนึ่ง ข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศของจีน ระบุว่า การค้าทวิภาคีระหว่างจีนและไทยในปี 2022 อยู่ที่ 1.35 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.9 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จากปีก่อนหน้า โดยจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทย

นายปานปรีย์ กล่าวว่า จีนเป็นหนึ่งในตลาดเป้าหมายสำคัญของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งเมื่อไม่นานนี้ ไทยได้ดำเนินนโยบายฟรีวีซ่าแก่นักท่องเที่ยวชาวจีน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางเยือนไทย และกระตุ้นเศรษฐกิจไทย

สำหรับการพัฒนาระดับภูมิภาค นายปานปรีย์กล่าวว่า ความสัมพันธ์จีน-อาเซียนที่แข็งแรงจะเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาค รวมถึงไทย ในหลากหลายด้าน เช่น การค้า การลงทุน และความมั่นคงของภูมิภาค

“ความสัมพันธ์นี้เป็นประโยชน์ต่อทั้งอาเซียนและจีน” นายปานปรีย์กล่าว

‘ผู้แทนการค้าไทย’ หารือความร่วมมือฯ ทูต ‘กลุ่มประเทศเบเนลักซ์’ หวังเจาะตลาดยุโรปเพิ่ม ผลักดันเอฟทีเอ ‘ไทย-อียู’ สำเร็จใน 2 ปี

(27 ต.ค. 66) นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยถึงการหารือกับเอกอัครราชทูตกลุ่มประเทศเบเนลักซ์ประจำประเทศไทย นางซีบีย์ เดอ การ์ตีเย ดีฟว์ เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเบลเยียม, นายแพทริก เฮมเมอร์ เอกอัครราชทูตราชรัฐลักเซมเบิร์ก และนายเร็มโก โยฮันเนิส ฟัน ไวน์คาร์เดิน เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลนโยบายและแนวทางยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศไทย กับสหภาพยุโรปและกลุ่มประเทศเบเนลักซ์ โดยเฉพาะเรื่องการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหภาพยุโรป ที่เป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของไทย รองจากจีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ไม่รวมอาเซียน โดยการค้ารวมมีมูลค่า 41,038.10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็น 6.95% ของการค้าไทยในตลาดโลก

นางนลินี กล่าวว่า การเจรจาความตกลงฯ ไทย-สหภาพยุโรป หยุดชะงักมาตั้งแต่ปี 2557 ต่อมาเดือน มี.ค. 2566 ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันประกาศเปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการ โดยวางแผนว่าจะจัดการประชุมปีละ 3 ครั้ง ตั้งเป้าเบื้องต้นเพื่อหาข้อสรุปการเจรจาภายใน 2 ปี โดยเริ่มเจรจารอบแรก ณ กรุงบรัสเซลล์ เมื่อวันที่ 18 - 22 ก.ย. ที่ผ่านมา โดยการเจรจาเป็นไปด้วยดี และเราหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนการเจรจา เพื่อให้สามารถสรุปผลและบังคับใช้ได้โดยเร็ว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป รวมถึงประเทศเบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์ก ด้วย และไทยมีกำหนดเป็นเจ้าภาพจัดการเจรจารอบต่อไปในเดือน ม.ค. 2567

นางนลินี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำว่า รัฐบาลมีแนวทางสร้างรายได้โดยใช้การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก เพื่อเปิดประตูการค้าสู่ตลาดใหม่ หนึ่งในนั้นคือ กลุ่มสหภาพยุโรป และมุ่งเน้นพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ เช่น พัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง อุตสาหกรรมสีเขียว และสานต่อนโยบาย Carbon Neutrality ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายข้อตกลงสีเขียว (EU Green Deal) ของสหภาพยุโรป ที่ต้องการสร้างสังคมที่เป็นธรรมบนพื้นฐานเศรษฐกิจที่ทันสมัย ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และตั้งเป้าลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 55% ภายในปี 2030 และลดเป็นศูนย์ภายในปี 2050

ทั้งนี้ ไทยคาดหวังว่าจะมีการพูดคุยและร่วมมือเชิงลึกเกี่ยวกับมาตรการ การรายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้าแต่ละชนิด เพื่อลดภาระของผู้ประกอบการไทยในการส่งสินค้าออกไปยังสหภาพยุโรปต่อไป

‘จีน-แทนซาเนีย’ ผนึกความร่วมมือ ปั้น ‘ศูนย์การค้า-ขนส่ง’ ครบวงจร หนุนเป็นศูนย์กลางการค้าข้ามพรมแดน โกยเงินสะพัดกว่าพันล้าน

(2 พ.ย. 66) สำนักข่าวซินหัว, ปักกิ่ง รายงานข่าว การสร้างเขตความร่วมมือด้านการบริการที่ครอบคลุมของนิคมอุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ และการขนส่งแอฟริกาตะวันออกในประเทศแทนซาเนีย เป็นหนึ่งในรายการผลลัพธ์จากความร่วมมือเชิงปฏิบัติของการ ที่มีการเปิดเผยในการประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ (BRF) ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 18 ต.ค. ที่ผ่านมา

เขตความร่วมมือดังกล่าวลงทุนและพัฒนาในปี 2020 โดย ‘เวยไห่ หัวถ่าน ซัพพลาย เชน เมเนจเมนต์ จำกัด’ (Weihai Huatan Supply Chain Management Co., Ltd.) วิสาหกิจจากเมืองเว่ยไห่ มณฑลซานตงทางตะวันออกของจีน โดยครอบคลุมพื้นที่รวม 109,700 ตารางเมตร ประกอบด้วย ศูนย์การค้าและโลจิสติกส์ในแอฟริกาตะวันออก (EACLC) ศูนย์นิทรรศการ 1 แห่ง คลังสินค้าหัวถ่านในต่างประเทศ 1 แห่ง ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองดาร์เอสซาลาม ประเทศแทนซาเนีย และคลังสินค้าทัณฑ์บนและศูนย์ขนส่ง ณ สนามบินแซนซิบาร์ ในเกาะแซนซิบาร์ของแทนซาเนีย อีกทั้งยังมีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนอีก 1 แห่งด้วย

จากโครงการทั้งหมดนี้ โครงการศูนย์การค้าและโลจิสติกส์ในแอฟริกาตะวันออก ระยะที่ 1 ได้ให้การรองรับวิสาหกิจของจีนและแทนซาเนียแล้วมากกว่า 200 ราย และโครงการฯ ระยะที่ 2 ซึ่งมีกำหนดเปิดใช้งานในเดือนมีนาคมปี 2024 คาดว่าจะมีการตั้งถิ่นฐานของผู้ค้ากว่า 1,600 องค์กร หลังก่อสร้างแล้วเสร็จ ศูนย์แห่งนี้จะกลายเป็นศูนย์การค้าและโลจิสติกส์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศแทนซาเนีย

3 ปีหลังจัดตั้ง เขตความร่วมมือดังกล่าวกลายเป็นโครงการความร่วมมือที่โดดเด่นระหว่างจีนและแทนซาเนีย โดยสามารถให้บริการที่ครอบคลุม อาทิ การค้าสินค้าโภคภัณฑ์ นิทรรศการและการจัดแสดง คลังสินค้าในต่างประเทศ การสนับสนุนด้านโลจิสติกส์ อีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน และห่วงโซ่อุปทานด้านการเงิน

ในปี 2022 เขตความร่วมมือฯ มีมูลค่าผลผลิตรวม 210 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 7.59 พันล้านบาท) หนุนให้เกิดการส่งออกสินค้าทั่วไปที่ผลิตในประเทศเป็นมูลค่ามากกว่า 270 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9.77 พันล้านบาท)

ปัจจุบัน เขตความร่วมมือดังกล่าวเป็นที่ตั้งของวิสาหกิจมากกว่า 230 ราย ในจำนวนนี้ 60 รายมาจากประเทศจีน สร้างตำแหน่งงานทั้งทางตรงและทางอ้อมให้กับคนในท้องถิ่นมากกว่า 2,000 ตำแหน่ง และคาดว่าจะเพิ่มเป็นมากกว่า 5,000 ตำแหน่งหลังก่อสร้างแล้วเสร็จ

‘กลุ่มธุรกิจไทย’ เผย งาน ‘CIIE’ หนุนการสื่อสาร-ขยายตลาดดียิ่งขึ้น เพิ่มขีดความสามารถการค้า-เจาะกลุ่มเป้าหมายตรงจุด-กระตุ้นยอดขายพุ่ง

เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 66 สำนักข่าวซินหัว, กรุงเทพฯ รายงานว่า ผู้นำวงการธุรกิจไทย กล่าวว่า ‘งานมหกรรมสินค้านำเข้านานาชาติจีน’ (CIIE) ครั้งที่ 6 ถือเป็นงานแสดงสินค้าระดับสูง ที่มีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมชั้นนำเข้าร่วม และสร้างเวทีอันกว้างใหญ่สำหรับผู้ประกอบการต่างชาติเข้าสู่ตลาดจีน

‘หลี่เจียชุน’ วัย 48 ปี ผู้ค้าอัญมณี และประธานสมาคมนักธุรกิจยุคใหม่ไทย-จีน ย้ายมาไทยพร้อมกับพ่อแม่ตั้งแต่ยังเด็ก และก่อตั้ง ‘บริษัท ไทยแลนด์ หย่งไท่ จิวเวลรี จำกัด’ (Thailand Yongtai Jewelry) ตอนอายุ 18 ปี ซึ่งนำสู่การมีส่วนร่วมในแวดวงธุรกิจการค้าอัญมณี

หลี่ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัว ก่อนมีการจัดงานมหกรรมฯ ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 5-10 พ.ย. ว่า งานมหกรรมฯ ขยับขยายกลุ่มมิตรสหาย และเขาเข้าร่วมงานทุกครั้งมาตั้งแต่ปี 2018 โดยปีนี้นับเป็นการเข้าร่วมงานครั้งที่ 6 แล้ว

ไทยเป็นศูนย์กลางการแปรรูปทับทิมและไพลินระดับโลก และอัญมณีเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเสาหลักของไทย โดยหลี่และบริษัทของเขาได้เข้าร่วมงานมหกรรมฯ ตามคำเชิญจากตลาดแลกเปลี่ยนอัญมณีและหยกแห่งประเทศจีน (China Gems & Jade Exchange) ในปี 2018

หลี่ กล่าวว่า บริษัทของเขาได้ลงนามสัญญาจะซื้อจะขายจำนวนมาก และทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ที่งานมหกรรมฯ รวมถึงแข่งขันกับแบรนด์ชื่อดังมากมาย และเรียนรู้จากแต่ละฝ่ายผ่านงานนี้ ขณะเดียวกันสามารถสื่อสารกับลูกค้าที่มีศักยภาพโดยตรง ซึ่งช่วยเพิ่มชื่อเสียงของเราในจีน

งานมหกรรมฯ ในปีนี้จัดทางออฟไลน์อย่างเต็มรูปแบบ และบูธของหลี่ขยายพื้นที่จากเดิม 36 เป็น 72 ตารางเมตร โดยขนาดบูธที่เพิ่มขึ้นสะท้อนความน่าดึงดูดของงานมหกรรมฯ ที่มีต่อผู้ประกอบการที่เข้าร่วม และเขาขยายบูธเพราะเชื่อว่าจะได้รับประโยชน์มากมายจากงานนี้

หลี่ เผยว่า งานมหกรรมฯ ไม่เพียงแสดงการเปิดกว้างของตลาดจีน แต่ยังแสดงพัฒนาการของบริษัทเขาตลอดหลายปีมานี้ด้วย โดยการขยายบูธเป็นเครื่องแสดงการหยั่งรากลึกในตลาดจีนยิ่งขึ้น และปีนี้เขาวางแผนนำเสนออัญมณีกว่า 1,000 รายการ และเพชรพลอย 5,000 กะรัต

การเจรจาพูดคุยกับลูกค้าชาวจีนโดยตรง ทำให้หลี่พบว่า ความเข้าใจของลูกค้าชาวจีนที่มีต่อวัฒนธรรมอัญมณีนั้นลึกซึ้งเพิ่มขึ้น โดยชาวจีนแสวงหาและรู้จักอัญมณีเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ตามกำลังการบริโภคที่พัฒนาดีขึ้นต่อเนื่อง ขณะความต้องการของลูกค้ามีความหลากหลายเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งเขาเชื่อว่าอุตสาหกรรมอัญมณีในจีนมีโอกาสรออยู่มากมาย

นอกจากมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ หลี่ยังมีส่วนร่วมช่วยผู้ประกอบการชาวไทยเข้าร่วมงานมหกรรมฯ ผ่านสมาคมฯ โดยเขานำพาผู้ผลิตอัญมณีไทยเข้าร่วมงานมหกรรมฯ ครั้งแรกในปี 2018 มากกว่า 40 ราย และตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 70 รายในงานมหกรรมฯ ครั้งที่ 2 ซึ่งครอบคลุมผู้จัดแสดงสินค้าอาหารและการแพทย์ด้วย

ปีนี้ตรงกับวาระครบรอบ 10 ปี ‘แผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ (BRI) ที่นำเสนอโดยจีน ซึ่งงานมหกรรมฯ ที่เป็นงานแสดงสินค้านำเข้าระดับชาติงานแรกของโลก มีกลุ่มประเทศตามแผนริเริ่มฯ เข้าร่วมกันอย่างแข็งขัน โดยปัจจุบันมีบริษัทจากกลุ่มประเทศตามแผนริเริ่มฯ ลงทะเบียนเข้าร่วมนิทรรศการผู้ประกอบการและธุรกิจของงานมหกรรมฯ ครั้งนี้มากกว่า 1,500 แห่ง

หลี่ กล่าวว่า งานมหกรรมฯ สร้างโอกาสใหม่แก่ไทยและกลุ่มประเทศตามแผนริเริ่มฯ ในการเข้าสู่ตลาดจีน โดยรัฐบาลไทยยกย่องงานมหกรรมฯ เป็นเวทีสำคัญในการส่งเสริมการค้า และกระตุ้นบริษัทต่างๆ เข้าร่วมอย่างแข็งขันเป็นจำนวนมาก

“เราจะยังคงส่งเสริมผู้ประกอบการชาวไทยเข้าร่วมงานมหกรรมฯ และนำเสนอสินค้าไทยสู่ตลาดจีนมากขึ้นในอนาคต ขณะเดียวกันจะมุ่งนำเสนอสินค้าที่มีคุณภาพสูงจากจีนมาสู่ไทยและทั่วโลกด้วย” หลี่ กล่าวทิ้งท้าย

‘ภูมิธรรม-นลินี’ เยือนนครเซี่ยงไฮ้ เดินหน้าหนุนเจาะการค้าจีนระดับท้องถิ่น จ่อคว้าโอกาสประชุม JC ‘ไทย-จีน’ ขยายตลาดใหม่-ส่งออกสินค้าไทยเพิ่ม

(8 พ.ย. 66) นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย กล่าวถึงการเดินทางไปเยือนนครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมกับนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ ระหว่างวันที่ 4 - 6 พ.ย. 66 ว่า การได้พบกับนายหวัง เหวินเต้า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของจีน เป็นโอกาสอันดีที่ได้กระชับความสัมพันธ์ทางด้านการค้าของทั้งสองประเทศ โดยในปีนี้จีนได้จัดงาน ‘China International Import Expo’ (CIIE) ครั้งที่ 6 ขึ้น ตามนโยบายการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจของจีนที่ให้ประเทศต่าง ๆ มีส่วนร่วม ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมงานใน 2 ส่วน คือ การจัดนิทรรศการ ‘Country Exhibition Thailand Pavilion’ ประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ประเทศไทย และการจัดแสดงสินค้า ‘Enterprise and Business Exhibition’ เน้นนำเสนอผลิตภัณฑ์อาหารและการเกษตรของไทย ซึ่งมีผู้เข้าชมเป็นจำนวนมาก

ผู้แทนการค้าไทย กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง และทั้งสองฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่เสร็จสิ้นแล้วจึงเป็นโอกาสอันดี ที่จะมีการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้าการลงทุนและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (JC) ไทย - จีน ครั้งที่ 7 ในระยะอันใกล้นี้ เพื่อสานต่อเป้าหมายทางการค้าและจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมฉบับใหม่ การเปิดตลาดสินค้าเกษตร การอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าระหว่างไทยและจีน เพื่อส่งเสริมการขยายมูลค่าการค้ากันระหว่างกัน

“ที่ผ่านมาไทยและจีนมีความร่วมมือทางการค้าลงไปถึงในระดับมณฑล/ท้องถิ่น โดยกระทรวงพาณิชย์ของไทยได้จัดทำบันทึกความเข้าใจกับเมืองหรือมณฑลของจีนแล้ว 4 ฉบับ คือ ไห่หนาน กานซู่ เซินเจิ้น และยูนนาน โดยในอนาคตจะทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางการค้ากับเมืองหรือมณฑลอื่นเพิ่มเติม เช่น เซี่ยเหมิน ซานซี เฮร์หลงเจียง และเหอเป่ย

ทั้งนี้ จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ที่มีมูลค่าการค้าระหว่างกันกับไทยสูงที่สุดติดต่อกันถึง 11 ปี ตั้งแต่ปี 2556 โดยปีที่แล้วมีมูลค่าการค้ารวม 105,196.80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าส่งออกหลักของไทยไปจีน ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก มันสำปะหลัง เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ส่วนประกอบ เป็นต้น” นางนลินี กล่าว

‘สภาฯ สิงคโปร์’ วุ่น!! เร่งถก ‘แลนด์บริดจ์ไทย’ หวั่นกระทบการค้า-สะเทือนเศรษฐกิจในประเทศ

เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 66 สำนักข่าว CNA ของสิงคโปร์ รายงานว่า นายชี ฮง ทัต รักษาการณ์รัฐมนตรีคมนาคมสิงคโปร์ได้ชี้แจงและตอบข้อซักถามต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรสิงคโปร์ในวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา ในประเด็นโครงการแลนด์บริดจ์ของไทย ซึ่งถูกมองว่าอาจส่งผลกระทบต่อศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์

โดยนายชี กล่าวว่า โครงการแลนด์บริดจ์อาจช่วยลดเวลาการขนส่งสินค้าราว 2-3 วันก็จริงอยู่ แต่เรือขนสินค้าอาจมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น และจริงๆ อาจลดเวลาได้ไม่มากนัก ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยปัจจัยสำคัญ คือ เรือสินค้าจะต้องเสียเวลาในการโหลดสินค้าขึ้นจากท่าเรือฝั่งหนึ่ง เพื่อขึ้นรถบรรทุกหรือรถไฟขนส่งไปยังท่าเรืออีกฝั่ง จากนั้นก็โหลดสินค้าลงสู่เรือเพื่อเดินทางต่อ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ บริษัทขนส่งจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ซึ่งอาจทำให้ต้องมีการทบทวนและเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ระหว่างการแล่นอ้อมช่องแคบมะละกาและสิงคโปร์ และการใช้แลนด์บริดจ์ของไทยว่าทางไหนคุ้มกว่ากัน

สำหรับประเด็นที่ว่าโครงการแลนด์บริดจ์ซึ่งเชื่อมอ่าวไทยและทะเลอันดามันของไทย จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสิงคโปร์ และกระทบกับศักยภาพการแข่งขันของสิงคโปร์ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการขนส่งหรือไม่ นายชีตอบว่า “สิงคโปร์ไม่สามารถห้ามประเทศอื่นจากการพัฒนาท่าเรือหรือโครงสร้างใดๆ ก็ตามได้ แต่สิ่งที่สิงคโปร์ควรทำและทำได้ คือ ทำอย่างไรที่จะให้สิงคโปร์ไม่ได้รับผลกระทบ หรือหาทางเพิ่มศักยภาพท่าเรือสิงคโปร์ให้ดึงดูดเรือขนสินค้าเหล่านั้น”

‘JETRO’ ชื่นชม ‘ไทย’ ให้ความสำคัญด้านความร่วมมือทาง ศก. พร้อมยกระดับห่วงโซ่อุตสาหกรรม ‘EV ไทย-ญี่ปุ่น’ อย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 66 นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ผู้แทนการค้าไทย เผยผลหารือกับ นายคุโรดะ จุน (Mr.KURODA Jun) ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น ณ กรุงเทพฯ (Japan External Trade Organization : JETRO Bangkok) ว่า ประธานเจโทรชื่นชมนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลไทยที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการยกระดับห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญ

พร้อมกันนี้ ได้ขอบคุณในความร่วมมือที่ใกล้ชิดกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกัน ทั้งบริษัทข้ามชาติและบริษัทวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งจะเป็นรากฐานสำหรับการต่อยอดความร่วมมือด้านเศรษฐกิจอื่นๆ โดยประธานเจโทรได้ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับนโยบายการสนับสนุนการลงทุนของไทยเพื่อให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่บริษัท Startup และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

นางนฤมล กล่าวว่า ไทยให้ความสำคัญกับญี่ปุ่นในฐานะมิตรประเทศสำคัญขนาดใหญ่ร่วมกับจีนและสหรัฐอเมริกา และเป็นประเทศที่มีความร่วมมือด้านเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดกับไทยมาอย่างยาวนาน โดยหวังว่าจะสามารถกระชับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

โดยได้ชี้แจงถึงนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN EV hub) กองทุนสีเขียว (Green Fund)

นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลไทยได้มีความร่วมมือที่ใกล้ชิดกับ OECD โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้มีมีการดำเนินโครงการ Country PRogramme ระยะที่ 2 (พ.ศ.2566-2568) ร่วมกับ OECD ที่จะช่วยส่งเสริมศักยภาพ และการพัฒนาขัดความสามารถด้านการแข่งขันของไทย พร้อมทั้งสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและยั่งยืน ตลอดจนส่งเสริมหลักธรรมาภิบาลและความโปร่งใส และการปฏิรูปกฎระเบียบภายในประเทศให้ดียิ่งขึ้น


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top