Thursday, 9 May 2024
การค้า

‘จีน’ ส่งออก ‘ลูกปลาจาระเม็ด’ ล็อตแรก 1 ล้านตัวสู่มาเลเซีย เสริมความมั่นคงด้านการค้าในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เมื่อวันที่ (6 พ.ค. 66) สำนักข่าวซินหัว, ไห่โข่ว มณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) ทางตอนใต้ของจีน เดินเรือขนส่งลูกปลาจาระเม็ดที่เพาะเลี้ยงในไห่หนาน จำนวน 1 ล้านตัว มุ่งหน้าสู่จุดหมายในประเทศมาเลเซีย เมื่อวันศุกร์ (5 พ.ค.) ที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นการส่งออกปลาจาระเม็ดครั้งแรกของไห่หนานในปีนี้

‘หยางกัง’ ผู้ทำงานร่วมกับสถานีตรวจสอบขาเข้า-ขาออกของเมืองซานย่า กล่าวว่า สถานีฯ ให้บริการพิธีการศุลกากรแบบครบวงจรสำหรับการจัดส่งลูกปลานี้ โดยกระบวนการผ่านพิธีการศุลกากรที่รวดเร็วช่วยลดต้นทุนของบรรดาผู้ส่งออก

‘บิ๊กตู่’ หนุนการค้าและการลงทุน ‘ไทย-จีน’ เต็มอัตรา หวังเชื่อมโยง ‘เซี่ยงไฮ้-EEC’ ยกระดับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

(18 พ.ค. 66 ) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สนับสนุนความร่วมมือด้านการลงทุนและการค้าระหว่างไทย-จีน ซึ่งมีแนวโน้มคึกคักต่อเนื่อง ด้านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พร้อมเชื่อมโยงพื้นที่ EEC กับเขตพิเศษหลินกังของนครเซี่ยงไฮ้ มุ่งสู่คลัสเตอร์อุตสาหกรรมแห่งอนาคต

โดยเมื่อวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา นายกเทศมนตรีนครเซี่ยงไฮ้ นำคณะผู้บริหารระดับสูงของนครเซี่ยงไฮ้ เดินทางมาเยือนประเทศไทยเพื่อร่วมงานลงทุนเซี่ยงไฮ้ ร่วมแบ่งปันอนาคตซึ่งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ดำเนินการร่วมกับนครเซี่ยงไฮ้และภาคเอกชนจัดขึ้น เพื่อขยายความร่วมมือทางด้านการค้าและการลงทุนระหว่างทั้งสองประเทศ รวมถึงต่อยอดจากการเดินทางไปโรดโชว์ส่งเสริมการลงทุนที่ประเทศจีนของ BOI เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดย BOI เปิดเผยว่า ประเทศไทยยังเป็นที่สนใจของนักลงทุนชาวจีน โดยมีทำเลที่ตั้งซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับภูมิภาค รวมถึงมีระบบขนส่งและโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน และนิคมอุตสาหกรรมที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งในอนาคตสามารถเชื่อมโยงกับเขตพิเศษหลินกังของนครเซี่ยงไฮ้ได้อีกด้วย

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทั้งนี้ นครเซี่ยงไฮ้ของจีนได้ให้ความสำคัญกับการดึงดูดการลงทุนด้านนวัตกรรม วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี โดยผลักดันเขตพิเศษหลินกัง (Shanghai Lin-gang Special Area) เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนในอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เช่น อุตสาหกรรมดิจิทัล สุขภาพและการแพทย์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และยานยนต์ไฟฟ้า โดยเป็นอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ซึ่งจะเป็นโอกาสสำคัญในการเชื่อมโยงการลงทุนระหว่างไทยและจีนให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น

“นายกรัฐมนตรียินดีที่การค้าและการลงุทนระหว่างไทยและจีนยังคงเดินหน้าเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ทั้งอุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และดิจิทัล สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ทั้งนี้ รัฐบาล และ BOI ซึ่งมีสำนักงานในจีน 3 แห่ง ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง และกว่างโจว พร้อมขยายโอกาสเชื่อมโยงการลงทุนระหว่างทั้งสองประเทศให้เติบโตมากยิ่งขึ้น” นายอนุชากล่าว

เจ้าแม่โลจิสติกส์ ออกโรงเตือน  ให้รีบสามัคคี ก่อนที่ไทย จะไม่มีที่ยืนในเวทีโลก

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล เจ้าแม่แห่งวงการโลจิสติกส์ อภิมหาเศรษฐีคนหนึ่งของเมืองไทย ซึ่งเพิ่งเดินทางกลับมาจากประเทศเวียดนาม จากประสบการณ์ในการทำธุรกิจ และได้ไปเห็น การลงทุน การพัฒนาเศรษฐกิจ รวมทั้งปัจจัยพื้นฐานต่าง ๆ ของ

ประเทศเวียดนามแล้ว ก็เห็นถึงแนวโน้มที่ประเทศเวียดนาม จะดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนจากทั่วโลก และหากประเทศไทยยังมัวแบ่งฝ่ายทะเลาะกัน ขาดความรักความสามัคคีกันในชาติ เราก็อาจจะถูกประเทศเวียดนามพัฒนาแซงหน้าไปได้

โดยนางสาวจรีพร ได้โพสต์ ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว มีใจความว่า “เพิ่งกลับจากเวียดนาม โอกาสของการลงทุนยังมีอีกมาก คนไทยเราเลิกทะเลาะกันได้แล้ว ก่อนที่จะไม่มีที่ยืนในเวทีโลก”

‘ซาอุฯ’ หวังร่วมมือกับ ‘จีน’ ไม่ขอเป็นคู่แข่ง ลุยลงทุน 'ด้านการค้า-พลังงานหมุนเวียน'

📌 (12 มิ.ย. 66) เจ้าชายอับดุลอาซิซ บิน ซัลมาน รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานซาอุดีอาระเบีย เปิดเผยว่า ซาอุดีอาระเบียต้องการความร่วมมือกับจีนให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ในด้านการลงทุนทางการค้าและการไหลเวียนของพลังงาน แทนที่จะแข่งขันกับจีน โดยรับรู้ถึงความเป็นจริงในปัจจุบันว่าขณะนี้จีนกำลังนำอยู่ และจะยังคงเป็นผู้นำต่อไป จึงไม่จำเป็นต้องแข่งขันกับจีน โดยได้กล่าวกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซี ระหว่างการประชุมธุรกิจอาหรับ-จีน เมื่อวันอาทิตย์ 11 มิ.ย. ที่ผ่านมา

เจ้าชายบิน ซัลมาน ได้กล่าวเสริมว่า การทำงานกับจีนนั้นมีคุณค่า เพราะจีนเป็นผู้นำในการหาโรงงานผู้ผลิตที่เหมาะสม โดยเฉพาะในด้านพลังงานหมุนเวียน และจะไม่กลับไปเล่นเกมที่มีฝ่ายใดเป็นผู้ได้หรือเสียอีก

เมื่อต่อข้อคำถาม ทำไมซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกโอเปกจึงได้มุ่งความสนใจไปที่จีน

เจ้าชายบิน ซัลมาน เชื่อว่าอุปสงค์ด้านน้ำมันของจีนยังคงเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ และเป็นเรื่องสำคัญที่ซาอุดีอาระเบียจะต้องคว้าโอกาสนี้ไว้

ทั้งนี้ จีนเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดของโลก และซาอุดีอาระเบียเป็นผู้ส่งออกน้ำมันให้จีนมากที่สุดในเดือนเมษายน แม้ว่าน้ำมันรัสเซียที่ถูกคว่ำบาตรจะราคาถูกกว่าก็ตาม

และในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา บริษัทซาอุดี อารามโค ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันของรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย ได้ประกาศข้อตกลงโรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่ 2 ฉบับ ซึ่งจะส่งออกน้ำมัน 690,000 บาร์เรลต่อวัน ให้กับบริษัทหร่งเซิง ปิโตรเคมิคอล (Rongsheng Petrochemical) และบริษัทเจ้อเจียง ปิโตรเคมิคอล (Zhejiang Petrochemical) โดยข้อตกลงดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน เดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2565 ที่ผ่านมา

นี่ไม่ได้หมายความว่าซาอุฯ จะไม่ร่วมมือกับประเทศอื่น ยังมีประเทศกลุ่มประเทศอื่นที่ซาอุดีอาระเบียมีความสัมพันธ์ทางการค้าด้วย ไม่ว่าจะเป็นยุโรป เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหรัฐ และลาตินอเมริกา

อย่างไรก็ตาม การประชุมในกรุงริยาดนั้น จัดขึ้นท่ามกลางความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการทูตของจีนและซาอุดีอาระเบียที่เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ แต่ในขณะเดียวกันจีนและซาอุดีอาระเบียมีความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดกับชาติตะวันตก
 

ผู้นำอิหร่าน พบ ผู้นำเวเนฯ ถกความร่วมมือทางการค้าครั้งใหม่ ยกระดับมูลค่าระหว่างประเทศเพิ่มเป็น 2 หมื่นล้านเหรียญ

(14 มิ.ย. 66) ประธานาธิบดีอีบราฮิม ไรซี ผู้นำอิหร่าน พบหารือกับประธานาธิบดีนิโกลัส มาดูโร ผู้นำเวเนซุเอลา ที่กรุงการากัส เมื่อวันจันทร์ที่ 12 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยไรซีกล่าวในตอนหนึ่งว่า “เวเนซุเอลาและอิหร่านมีผลประโยชน์ร่วมกัน มีวิสัยทัศน์ร่วมกัน และมีศัตรูร่วมกัน ความสัมพันธ์ระหว่างเวเนซุเอลากับอิหร่านไม่ใช่แค่ความสัมพันธ์ทางการทูต แต่เป็นความสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์ ขณะที่มาดูโรแสดงความชื่นชมอิหร่าน ในฐานะหนึ่งในประเทศอำนาจเกิดใหม่ที่สำคัญของโลก และเน้นย้ำว่าการผนึกกำลังร่วมกันเพื่อความแข็งแกร่ง”

สำหรับหนึ่งในเป้าหมายการเยือนเวเนซุเอลาของไรซีในครั้งนี้ คือการขยายโอกาสเพื่อส่งเสริมมูลค่าการค้าระหว่างทั้งสองประเทศ จากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ปีละ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 103,560 ล้านบาท) เป็น 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 690,400 ล้านบาท) โดยผู้นำอิหร่านและผู้นำเวเนซุเอลาร่วมกันเป็นสักขีพยาน การลงนามในข้อตกลง 25 ฉบับ ครอบคลุมการยกระดับความร่วมมือ ตั้งแต่การศึกษา ไปจนถึงการสาธารณสุข และเหมืองแร่

ทั้งนี้ ไรซีนับเป็นผู้นำอิหร่านคนแรกในรอบเกือบ 7 ปี ที่เยือนเวเนซุเอลา ต่อจากประธานาธิบดีฮัสซัน โรฮานี เมื่อเดือน กันยายน 2016 และหลังเสร็จสิ้นการเยือนกรุงการากัส ไรซีเตรียมเยือนคิวบา และนิการากัวเป็นจุดหมายต่อไป

ก่อนหน้านี้ ฮอสเซ็น อมิราบโดลลาเฮียน รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน เดินทางเยือนเวเนซุเอลา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อหารือเกี่ยวกับการยกระดับความร่วมมือด้านความมั่นคง เพื่อต้านทานแรงกดดันจากภายนอก ขณะที่ย้อนกลับไปเมื่อปี 2020 อิหร่านส่งน้ำมันดิบทางเรือ 1.5 ล้านบาร์เรล เพื่อช่วยเหลือเวเนซุเอลา ซึ่งกำลังประสบกับวิกฤติเชื้อเพลิงในเวลานั้น ส่งผลให้สหรัฐฯ ออกมาประณามการกระทำดังกล่าว
 

‘OMD2–DITP’ จัดสัมมนายกระดับการค้าระหว่างประเทศ ส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการไทย สู่เวทีการค้าในตลาดโลก

เมื่อไม่นานนี้ นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดสัมมนาการพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการในภูมิภาค ภายใต้แนวคิด “เปิดประตูสู่โอกาสการค้าไทยในตลาดโลก” (The Key to Connext) ในโครงการเสริมสร้างศักยภาพผู้ส่งออกไทยด้วยข้อมูลการค้าตลาดภูมิภาคอเมริกา ลาตินอเมริกา ยุโรป CIS แอฟริกา และตะวันออกกลาง จัดโดย สำนักพัฒนาตลาดและธุรกิจไทยในต่างประเทศ 2 หรือ สพต.2 หรือ ‘OMD2’ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

ซึ่งเป็นการสัมมนาทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ถ่ายทอดผ่านระบบโปรแกรมผ่านระบบ ZOOM Application โดย ครั้งที่ 1 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน 2566 และครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 7 – 8 มิถุนายน 2566 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพและความพร้อมให้ผู้ประกอบการไทย และผลักดันการขยายการค้าและการลงทุนของไทยในตลาดโลก
.
โดยครั้งที่ 1 เป็นการสร้างความรู้ให้ผู้ประกอบการสามารถนำไปใช้ได้ อาทิ การเสริมสร้างศักยภาพด้านการค้าระหว่างประเทศในเรื่องการใช้ข้อมูลการค้า แนวโน้มตลาด มุมมองเศรษฐกิจ กลุ่มสินค้าส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัว พฤติกรรมผู้บริโภค ในปี 2023 แนวโน้มการค้าโลก การแบ่งกลุ่มเป้าหมายตามระดับต่างๆ เทคนิคการเจาะตลาด การเลือกตลาดให้เหมาะสมกับสินค้า โอกาสในการเจรจาการค้าในยุค Digital ทั้งเทคนิค ขั้นตอน วิธีการที่สำคัญในการเตรียมตัวสู่การเจรจาการค้าออนไลน์ รวมทั้งแนะนำสำนักงานส่งเสริมการค้าของไทยในต่างประเทศทั้ง 58 แห่ง ที่คอยช่วยเหลืออำนวยความสะดวก แนะนำข้อมูลการค้าต่างๆ พร้อมทั้งเสริมสร้างโอกาสทางการค้า ผ่านกิจกรรมต่างๆ

ครั้งที่ 2 เป็นการแนะนำการเสนอเรื่องราวของสินค้าอย่างไรให้ตรงใจผู้บริโภค การปรับแต่งเรื่องเล่าสำหรับตลาดต่างๆ การสร้างโอกาสผ่านการเล่าเรื่อง การค้นหาจุดเด่น บรรจุภัณฑ์ที่ดีต้องคำนึงถึงอะไร กลยุทธ์การตลาดกับการออกแบบบรรจุภัณฑ์ การออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อการส่งออก เลือกวิธีการสื่อสาร ไปจนถึงการนำเสนอรูปแบบสินค้า เทคนิคต่างๆ รวมทั้งการติดตามผลการเจรจาการค้าหรือกลยุทธ์อื่นๆ ที่เหมาะสม โดยวิทยากรที่มากด้วยความรู้และประสบการณ์ในวงการธุรกิจเป็นผู้บรรยายแลกเปลี่ยนความรู้ ซึ่งการจัดงานสัมมนาในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมงาน รวมทั้งสิ้นกว่า 200 คน

นอกจากจะยกระดับผู้ประกอบการไทยและผู้ประกอบการรายใหม่ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ยังมีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลหรือกิจกรรม ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของ สพต. 2 หรือ OMD2 สำหรับผู้ที่สนใจการสัมมนาหรือกิจกรรมที่จะช่วยยกพัฒนาศักยภาพด้านการค้าระหว่างประเทศในด้านต่างๆ สามารถติดตามข่าวสาร และสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

‘ไทย’ เตรียมผสานมือ ‘มาเลเซีย’ เสริมธุรกิจทางการค้า เชื่อ!! บรรลุเป้า 1.02 ล้านล้านบาท ภายในปี 2568

(24 ก.ค. 66) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีกับความร่วมมือทางการค้าของไทย-มาเลเซีย ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง เชื่อมั่นการค้าทั้งสองฝ่ายจะบรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งไว้ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.02 ล้านล้านบาท) ในปี 2568 รวมถึงจะมีการหารือเพื่อให้เกิดความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้กลไกการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee : JTC) ระดับรัฐมนตรี ซึ่งมีแผนจะจัดขึ้นในช่วงปลายปี 2566 นี้

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กลางเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้หารือกับกระทรวงการค้าภายในและค่าครองชีพมาเลเซีย (Secretary General of the Ministry of Domestic Trade and Cost of Living) และคณะ เพื่อหารือถึงความร่วมมือด้านการส่งเสริมธุรกิจแฟรนไชส์ การกำกับดูแลการค้าภายในประเทศให้มีความเป็นธรรม และการฟื้นฟูการค้าชายแดน ซึ่งมาเลเซียถือเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยในอาเซียน อีกทั้งการค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 35 ของการค้ารวมระหว่างสองประเทศ โดยปี 2565 มีตัวเลขการค้าชายแดนระหว่างกันอยู่ที่มูลค่า 336,118.41 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 0.05 โดยไทยมีสินค้าที่ส่งออกไปยังมาเลเซียที่สำคัญได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป และเครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ 

นอกจากนี้ มาเลเซียยังมีความสนใจที่จะร่วมมือเพื่อส่งเสริมธุรกิจแฟรนไชส์กับไทย นับได้ว่าเป็นการบุกเบิกประเด็นธุรกิจใหม่ ๆ ร่วมกัน ซึ่งมีการวางแผนที่จะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการแฟรนไชส์เข้าร่วมงานแสดงสินค้าของแต่ละฝ่ายเพื่อสร้างโอกาสขยายพันธมิตรทางการค้า การจับคู่ทางธุรกิจ และการแลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องขั้นตอนและกฎระเบียบเกี่ยวกับธุรกิจแฟรนไชส์ ทั้งนี้ มาเลเซียเป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับธุรกิจแฟรนไชส์ของไทย โดยเฉพาะสาขาอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งปัจจุบันแฟรนไชส์ของไทยที่อยู่ในตลาดมาเลเซีย จำนวน 6 ราย ได้แก่ อเมซอน แบล็คแคนยอน กาแฟดอยช้าง ตำมั่ว บาบีก้อน และสมาร์ทเบรน (Smart Brain) ขณะที่แฟรนไชส์ของมาเลเซียที่อยู่ในไทยมีประมาณ 6 ราย อาทิ Secret Recipe Laundry Bar และ Unisense 

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ผ่านมา ธุรกิจไทยที่มีศักยภาพเข้าไปลงทุนในมาเลเซีย ได้แก่ ธุรกิจสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูป โดยเฉพาะสินค้าฮาลาล ธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหารไทย ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว การก่อสร้าง โดยรัฐบาลได้มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด การขยายพันธมิตรการค้าไทย การสนับสนุนการลงทุนของนักธุรกิจไทย และ กิจกรรมส่งเสริมสินค้าไทยร่วมกับพันธมิตรในมาเลเซียมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ 

1.) การจัดโครงการส่งเสริมการค้าสินค้าอาหารฮาลาลในประเทศมาเลเซียภายใต้ชื่องาน 'I Love Thailand Fair' 
2.) การจัดตั้ง Thailand Pavilion ในงานแสดงสินค้า Malaysia International Halal Showcase (MIHAS) ซึ่งเน้นการประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมภาพลักษณ์และสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ซื้อและผู้บริโภคในมาเลเซียต่อสินค้าฮาลาลจากไทย 
3.) การจัดกิจกรรมส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าอาหารไทยและธุรกิจบริการร้านอาหารไทยในมาเลเซีย ซึ่งมุ่งประชาสัมพันธ์สินค้าและร้านที่ได้รับตรา THAI SELECT ในมาเลเซีย ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น
4.) เชื่อมโยงสมาคมการค้า/ผู้ประกอบการมาเลเซียกับกลุ่มผู้ประกอบการไทย อาทิ สมาคมผู้ผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วนยานยนต์แห่งรัฐสลังงอร์ (The Selangor And Federal Territory Engineering And Motor Parts Traders Association: EMPTA) กับกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นต้น 

“นายกรัฐมนตรีชื่นชมความร่วมมือระหว่างประเทศ ที่ทำให้การค้าระหว่างไทย-มาเลเซียเติบโต โดยเฉพาะการเปิดตลาดธุรกิจใหม่ เพื่อสร้างโอกาสให้นักธุรกิจทั้งสองประเทศ โดยรัฐบาลพร้อมที่จะกระชับความร่วมมือระหว่างไทย-มาเลเซียในทุกมิติ และทุกระดับ เพื่อกระชับความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดและเพื่อเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน” น.ส.รัชดากล่าว

ขบวนรถไฟขนส่งระหว่างประเทศไทย-กัมพูชา ออกขบวนแล้ว!! ช่วยลดต้นทุน ยกระดับการขนส่ง เพิ่มขีดความสามารถทางการค้า

เมื่อไม่นานนี้ การรถไฟฯ ได้เดินรถไฟขนส่งสินค้าขบวนทดลอง มาบตาพุด - ด่านคลองลึก (ฝั่งไทย) - ด่านปอยเปต (ฝั่งกัมพูชา) - พนมเปญ เป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของการพัฒนาเส้นทางเชื่อมระหว่างประเทศ ไทย-กัมพูชา

ซึ่งประเทศไทยมีส่วนในการสนับสนุน ร่วมกับหลายๆ ประเทศ ในการปรับปรุงเส้นทางรถไฟระหว่างประเทศนี้ ให้กลับมาอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์อีกครั้ง หลังจากถูกทำลายไปในช่วงสงครามกลางเมืองกัมพูชา

ซึ่งถ้าการทดสอบเป็นไปได้ด้วยดี ผู้ประกอบการ รวมถึงกลุ่ม ปตท. ก็มีการวางแผนขบวนขนส่งสินค้า ทั้งคอนเทนเนอร์ทั่วไป และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี จากมาบตาพุด ไปส่งกัมพูชาทางรถไฟอีกด้วย

ทราบหรือไม่ว่า เส้นทางรถไฟไทย-กัมพูชา มีอายุมากกว่า 68 ปี เปิดให้บริการครั้งแรกใน พ.ศ. 2498 แต่ถูกปล่อยทิ้งร้าง จากปัญหาควาามขัดแย้งระหว่างประเทศ และความไม่สงบในกัมพูชาไปกว่า 45 ปี

จนกระทั่งกลับมาเปิดด่านและสถานีรถไฟ ด่านพรมแดนบ้านคลองลึก และด่านปอยเปต ในปี 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ ไทยมีเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อระหว่างประเทศ เป็นจุดที่ 3 ต่อจาก ปาดังเบซาร์ และ หนองคาย

เส้นทางรถไฟระหว่างประเทศ สำคัญอย่างไร?
แน่นอนว่าหลายๆ คน อาจทราบอยู่บ้างว่า รถไฟเป็นระบบขนส่งทางบกที่ถูกที่สุด และมีความสามารถในการขนส่งต่อขบวนในปริมาณมาก ทำให้ช่วยลดการขนส่งสินค้าทางรถยนต์ได้มาก โดยเฉพาะการขนส่งสินค้า ซึ่งประเทศไทยมีสินค้าที่ส่งออกไปกัมพูชาในกลายกลุ่ม เช่น
- วัตถุดิบในการก่อสร้าง (ปูน กระเบื้อง สุขภัณฑ์) ซึ่งไทยเราเป็นผู้นำในระดับโลก
- กลุ่มปิโตรเคมี น้ำมัน และแก๊สธรรมชาติ
- อาหาร สิ่งอุปโภค บริโภค

โดยการเปลี่ยนมาขนส่งผ่านระบบรถไฟ จะช่วยลดต้นทุนในการขนส่งสินค้าได้มาก ทำให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันในตลาดได้ดีขึ้น (ถนนไทย-กัมพูชา ยังอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์) ที่สำคัญคือ การเปิดด่านเหล่านี้ จะเป็นการสนับสนุนนโยบายการเปิดการเพิ่มผู้ให้บริการ เพื่อสนับสนุนการขนส่งสินค้าข้ามชายแดนได้สะดวก และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

‘บิ๊กตู่’ ดัน ‘แลนด์บริดจ์ไทย’ พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หวังเปลี่ยนทิศขนส่งโลกมาไทย เพื่อก้าวเป็นฮับ ศก.ในภูมิภาค

(13 ส.ค. 66) สำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องการขยายรากฐานเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อให้ไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งและการค้าของเอเชีย โดยได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาจัดทำโครงการแลนด์บริดจ์ (LandBridge) ให้เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านคมนาคม เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน ที่สำคัญหากเมื่อโครงการสามารถทำได้และสำเร็จ จะเป็นการเปลี่ยนทิศทางการขนส่งของโลกให้มาที่ไทย จนไทยกลายเป็นฮับทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้

ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) รายงานว่าปัจจุบันโครงการแลนด์บริดจ์ ยังอยู่ในขั้นตอนศึกษาการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โดยจะมีการจัดรับฟังความคิดเห็นครั้งแรกจากทั้งหมด 3 ครั้ง ในวันที่ 16-18 สิงหาคมนี้ในพื้นที่ จ.ระนอง และ จ.ชุมพร ซึ่งรัฐบาลมีความต้องการให้ได้ข้อมูลจากผู้ได้รับผลกระทบทุกฝ่ายอย่างครบถ้วน รอบด้าน และรอบคอบเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนและประเทศชาติ จึงได้จัดรับฟังความคิดเห็นสำหรัลผู้ได้มีส่วนได้เสียและพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เพื่อลดผลกระทบโครงการ ตามวันและเวลา ดังนี้

ท่าเรือระนอง
- วันพุธที่ 16 สิงหาคม  2566 เวลา 08.30-12.00 น. จัดขึ้นที่ห้องราชาวดี ชั้น 3 เฮอริเทจ แกรนด์ คอนเวนชั่น อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง

- วันพฤหัสบดีที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2566 เวลา 08.30-12.00 น. ที่ห้องประชุมอุทยานแห่งชาติแหลมสน ตำบลม่วงกลวง อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง

ท่าเรือชุมพร
- วันศุกร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2566 เวลา 08.30 – 12.00 น. ที่ห้องอวยชัยแกรนด์บอลรูม ชั้น 2 โรงแรมอวยชัยแกรนด์ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร

สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์ ประกอบด้วย โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกระนอง โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกชุมพร โครงการระบบรถไฟทางคู่ ช่วงชุมพร - ระนอง และโครงการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ช่วงชุมพร – ระนอง ซึ่งมีการคาดการไว้ว่าหากโครงการแล้วเสร็จ  จะสามารถรองรับเรือขนส่งสินค้าที่เติบโตและหันมาใช้เส้นทางนี้กว่า 400,000 ลำต่อปีได้ในปี 2594 รวมถึงการพัฒนาพื้นที่โดยรอบให้เป็นไปตามอุตสาหกรรมเป้าหมายด้วย

“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ มุ่งมั่นวางรากฐานการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมไทย ให้ทัดเทียมนานาประเทศ ผลักดันเชื่อมไทยสู่โลก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน การขนส่งสินค้าและบริการ การท่องเที่ยว กระจายความเจริญไปสู่ภาคใต้ และภาพรวมของประเทศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนทุกกลุ่ม เพื่อวางอนาคตที่ดีไว้ให้คนไทยทุกคน” สำนักนายกรัฐมนตรี เผย

‘อ.พงษ์ภาณุ’ มอง!! ความท้าทายอาเซียนในสมรภูมิโลก หลากเงื่อนไขทาง ‘ภูมิรัฐศาสตร์-ศก.’ ที่ยังฉุดให้โตช้า

ทีมข่าว THE STATES TIMES / THE TOMORROW ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 27 ส.ค.66 เกี่ยวกับประเด็นไทยในอาเซียน โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

อาเซียนเป็นการรวมกลุ่มเศรษฐกิจภูมิภาคที่สำคัญและใกล้ชิดที่สุดของไทย แม้ว่าในทางการเมือง ยังมีปัญหาอยู่ค่อนข้างมากในบางประเทศ ทั้งเรื่องความรุนแรงและความไม่สงบ เช่น ในเมียนมา หรือแม้แต่ประเด็นความขัดแย้งกับจีนเหนือหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ แต่ในด้านเศรษฐกิจ อาเซียนก็ได้มุ่งมั่นผลักดันให้เกิดการรวมตัวทางเศรษฐกิจ (Economic Integration) ในระดับที่สูงขึ้นตามลำดับ เพียงแต่ก็ยังไม่สามารถเทียบเคียงได้กับสหภาพยุโรป (European Union) ที่ได้เข้าสู่ความเป็นสหภาพการเงิน (Monetary Union) ที่มีเงินยูโรสกุลเดียวมากว่า 20 ปีแล้ว

สำหรับก้าวแรกของการรวมตัวทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นเมื่อปี 2535 เมื่อนายอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรีไทยในขณะนั้น เสนอในการประชุมผู้นำอาเซียนให้จัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area - AFTA) โดยประเทศสมาชิก 10 ประเทศสามารถขจัดอุปสรรคทางการค้า ทั้งที่เป็นภาษีและไม่ใช่ภาษีได้ภายในปี 2008 ก่อให้เกิดตลาดการค้าเดียว อันเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจการลงทุนมากมาย

วันนี้ ท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ อาเซียนอยู่ในห้วงแห่งความท้าทายทางเศรษฐกิจ แม้เกิด AFTA (เขตการค้าเสรีอาเซียน) แต่ก็ไม่อาจกล่าวได้ว่าผู้นำอาเซียนจะสามารถผลักดันความร่วมมือที่มีนัยสำคัญได้เลย เพราะการเปิดเสรีด้านการค้าบริการก็ไปไม่ถึงไหน เนื่องจากประเทศสมาชิกยังคงยึดมั่นปกป้องธุรกิจบริการของตน ส่วนการเปิดเสรีแรงงานเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดน ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์เพราะเป็นสังคมสูงอายุ ก็ไม่คืบหน้า ทั้ง ๆ ที่มีแรงงานอพยพ (Migrant Workers) ในอาเซียนอยู่แล้วไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน 

สุดท้ายด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของทุกประเทศ ก็มีลักษณะแข่งขันกันเองมากกว่าที่จะร่วมมือกัน ความหวังที่จะให้เกิด ASEAN Single Visa ทำนองเดียวกับกลุ่ม Schengen ยังเป็นแค่ความฝัน

ฉะนั้นในวันนี้ ในวันที่อาเซียนยังหาผู้นำไม่เจอ จึงยังไม่สามารถนำอาเซียนสู่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจได้ในระดับที่สูงขึ้น 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top