Thursday, 9 May 2024
การค้า

‘จีน’ เปิดม่าน ‘มหกรรมการค้านานาชาติ’ ปี 2023 ที่เทียนจิน รวมสินค้านานาชาติ หนุนการลงทุน-แลกเปลี่ยนความรู้ทางธุรกิจ

เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 66 สำนักข่าวซินหัว, เทียนจิน รายงานว่า งานมหกรรมการลงทุนและการค้านานาชาติ (เทียนจิน) แห่งประเทศจีน และงานมหกรรมสภาความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ในภาคพื้นแปซิฟิก (PECC Expo) ประจำปี 2023 ที่ได้เริ่มขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดี (23 พ.ย.) ที่ผ่านมา ณ เทศบาลนครเทียนจินทางตอนเหนือของจีน โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อกระตุ้นการบริโภค

งานมหกรรมฯ รวบรวมผลิตภัณฑ์หลากหลายประเภท ซึ่งรวมถึงอาหาร ไวน์ เครื่องสำอาง ของเล่น และงานฝีมือจากนานาประเทศ อาทิ รัสเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย พร้อมด้วยบูธสินค้านานาชาติ 1,500 บูธ กระจายอยู่บนพื้นที่จัดแสดง 50,000 ตารางเมตร

งานมหกรรมฯ ระยะเวลา 4 วัน แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ การเจรจาการลงทุน การค้าสินค้าโภคภัณฑ์ และการแลกเปลี่ยนบุคลากร โดยจะมีการจัดงานเกี่ยวกับการประชุมและการลงนามสัญญาต่างๆ

ทั้งนี้ งานมหกรรมการค้าเทียนจินดังกล่าว เริ่มจัดขึ้นเมื่อปี 1994 และตั้งแต่ปี 2011 ได้ถูกจัดร่วมกับงานมหกรรมสภาความร่วมมือทางเศรษฐกิจฯ ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติรอบด้าน ที่ได้รับอนุญาตจากสภาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภาคพื้นแปซิฟิก และกำลังกลายเป็นงานมหกรรมการค้าที่ทรงอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ ทางตอนเหนือของจีน

‘สศช.’ ชี้!! ส่งออก ‘ไทย’ โตต่อเนื่อง คาด ปี 67 บวกถึง 3.8% ตั้งเป้า ดันไทยสู่ฮับยานยนต์ ชิงส่วนแบ่งการตลาดมหาอำนาจ

(24 พ.ย. 66) นางสาวอานันท์ชนก สกนธวัฒน์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า อัตราการขยายตัวของปริมาณการค้าโลก ปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวที่ 3.2% ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนหลักที่มองว่าการส่งออกไทยปีหน้า จะสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง คาดการณ์บวกที่ 3.8% กลับมาเป็นพระเอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยโตระหว่าง 2.7-3.7% ได้ ภายใต้อัตราแลกเปลี่ยนจะอยู่ประมาณ 34-35 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ เป็นผลจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่กลับมาเกินดุลมากขึ้น รวมถึงแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะเห็นช่วงกลางปี 2567 เป็นต้นไป

นางสาวอานันท์ชนก กล่าวว่า ในเชิงการค้าระหว่างประเทศ หากมีการแบ่งขั้วประเทศระหว่างประเทศมหาอำนาจสหรัฐฯ และ จีนนั้น ต้องประเมินข้อมูลสัดส่วนการนำเข้าสินค้าระหว่างทั้ง 2 ประเทศ ที่ผ่านมาปรับลดลงในเชิงสัดส่วน แต่มีการนำเข้าสินค้าจากประเทศอาเซียนไปยังสหรัฐฯ มากขึ้น อาทิ เกษตรแปรรูปจากสิงคโปร์ สิ่งทอเครื่องนุ่งห่มจากเวียดนาม ขณะที่ไทยเป็นยานยนต์และชิ้นส่วนอยู่ กุญแจสำคัญคือ ไทยจะทำอย่างไรในการช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดจากความขัดแย้งของประเทศมหาอำนาจได้ เพื่อสร้างโอกาสในการส่งออกไทยต่อไป

“ปัจจัยสนับสนุนในปี 2567 คือ การบริโภคภายในประเทศที่แม้เริ่มเห็นการชะลอตัวลง แต่ก็ยังบวกกว่า 3% เทียบกับฐานที่สูงกว่า 7% รวมถึงการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าปีนี้จะมีต่างชาติเข้ามา 28 ล้านคน ขณะนี้สะสมแล้วเกือบ 24 ล้านคน ส่วนอีก 4 ล้านคนในช่วงที่เหลือของปีนี้ มองว่าน่าจะสามารถทำได้

ส่วนที่กังวลเป็นเรื่องคุณภาพของนักท่องเที่ยวมากกว่า เนื่องจากขณะนี้ประเทศที่กลับมาเป็นตลาดระยะใกล้ แต่ประเทศระยะไกลที่มีการใช้จ่ายสูง ยังต้องสนับสนุนต่อไป ปัจจัยเสี่ยงและข้อจำกัดเป็นเรื่องงบประมาณภาครัฐที่ล่าช้า หนี้ครัวเรือนและหนี้ธุรกิจ ภัยแล้ง ปริมาณน้ำฝนที่หากปี 2567 ความรุนแรงมากขึ้น อาจส่งผลกระทบกับสินค้าเกษตรได้ รวมถึงเศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอตัวมากกว่าคาดไว้” นางสาวอานันท์ชนก กล่าว

‘จีน’ เผย ‘การค้าดิจิทัล’ โตก้าวกระโดด มูลค่าการค้าปี 2022 แตะ 13.16 ลลบ.

(24 พ.ย. 66) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า หวังตงถัง เจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ของจีน เปิดเผยว่าการค้าทางดิจิทัลของจีนมีความก้าวหน้าโดดเด่นด้านปริมาณการค้าในปี 2022 พร้อมกับมีการพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันในระดับโลกอย่างต่อเนื่อง

หวัง ซึ่งร่วมพิธีเปิดงานมหกรรมการค้าดิจิทัลโลก ครั้งที่ 2 ในนครหางโจว มณฑลเจ้อเจียงทางตะวันออกของจีน กล่าวว่ามูลค่าการค้าทางดิจิทัลของจีนในปี 2022 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบปีต่อปี รวมอยู่ที่ 3.72 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 13.16 ล้านล้านบาท) ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์

รายงานว่าด้วยการพัฒนาการค้าทางดิจิทัลของจีนประจำปี 2022 ระบุว่าปริมาณการนำเข้าและส่งออกของอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนในปี 2022 รวมอยู่ที่ 2.11 ล้านล้านหยวน (ราว 10.55 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 เมื่อเทียบปีต่อปี

ส่วนจำนวนผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์มการบริการทางดิจิทัลของจีน ซึ่งมีมูลค่าตลาดกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.54 หมื่นล้านบาท) ได้สูงเกิน 200 ราย เมื่อนับถึงสิ้นปี 2022

หวังเสริมว่าการค้าทางดิจิทัลกำลังเป็นเครื่องยนต์ใหม่ที่ขับเคลื่อนการสร้างชาติการค้าอันแข็งแกร่ง และเครื่องมือใหม่สำหรับการเปิดกว้างเชิงสถาบันในระดับสูงของจีน โดยจีนจะพยายามเสริมสร้างการออกแบบระดับสูง พัฒนาธุรกิจรูปแบบใหม่ และจัดระเบียบการค้าทางดิจิทัลตามมาตรฐานสูง

‘จีน’ ออกมาตรการเร่งพัฒนา ‘การค้าในประเทศ-ระหว่างประเทศ’ เพิ่มคุณภาพการค้า-รักษาเสถียรภาพการเงิน-เสริมระบบเศรษฐกิจ

(12 ธ.ค. 66) สำนักข่าวซินหัว, ปักกิ่ง รายงานว่า คณะรัฐมนตรีจีนออกชุดมาตรการเร่งรัดการพัฒนาเชิงบูรณาการของการค้าภายในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งจำเป็นต่อการสร้างการพัฒนารูปแบบใหม่และการส่งเสริมการพัฒนาที่มีคุณภาพสูง รวมถึงมีบทบาทสำคัญต่อการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ การขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ และการรักษาเสถียรภาพของผู้ประกอบการ

มาตรการเหล่านี้จะยกระดับการปรับปรุงกฎเกณฑ์และระบบการค้า ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งครอบคลุมการกำกับตรวจสอบ การควบรวมมาตรฐานต่างๆ และการอำนวยความสะดวกแก่การหมุนเวียนทรัพยากรการค้า ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศอย่างราบรื่น

นอกจากนั้น มาตรการเหล่านี้จะส่งเสริมการประสานงาน ของช่องทางการตลาดภายในประเทศและระหว่างประเทศ ปรับปรุงสภาพแวดล้อมสำหรับการพัฒนาเชิงบูรณาการ ของการค้าภายในประเทศและระหว่างประเทศ และเร่งรัดการพัฒนาเชิงบูรณาการในหลายด้านสำคัญ

ทั้งนี้ จีนจะเสริมสร้างการสนับสนุนทางการคลังและการเงิน สำหรับการพัฒนาเชิงบูรณาการของการค้าภายในประเทศและระหว่างประเทศเพิ่มเติม

‘จีน’ มั่นใจ!! ‘การค้าต่างแดน-ส่วนแบ่งตลาดโลก’ ฟื้นตัวดี พร้อมดึงผู้ประกอบการ ร่วมมือรักษาเสถียรภาพ ศก.ต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 66 สำนักข่าวซินหัว ,ปักกิ่ง รายงานว่า กระทรวงพาณิชย์ของจีน แถลงข่าวว่า ‘จีน’ มั่นใจว่าจะสามารถรักษาเสถียรภาพโดยทั่วไป ของปริมาณการค้าระหว่างประเทศ และส่วนแบ่งในตลาดโลกในปีนี้

‘เหอ ย่าตง’ โฆษกกระทรวงฯ กล่าวว่า การค้าระหว่างประเทศของจีน ค่อนข้างมีความแข็งแกร่งในปีนี้ สามารถเอาชนะผลกระทบจากความต้องการภายนอกหดตัว แนวโน้มขาลงของราคา และฐานสูงของปีก่อน

สำหรับปี 2024 จีนอาจประสบกับความไม่แน่นอนจากภายนอก แต่มีปัจจัยเกื้อหนุนการพัฒนาเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น โดยการเปิดกว้างของจีนจะยังคงสร้างผลประโยชน์ ขณะผลิตภัณฑ์ใหม่และธุรกิจรูปแบบใหม่ในการค้าระหว่างประเทศ จะปลดปล่อยศักยภาพเพิ่มขึ้น

เหอ เสริมว่า จีนมั่นใจว่า จะสามารถรักษาทิศทางขาขึ้นของการฟื้นฟูการค้าระหว่างประเทศ ภายใต้แรงสนับสนุนจากหลากหลายนโยบาย ที่มุ่งรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงความพยายามร่วมจากผู้ประกอบการ

‘RCEP’ หนุน ‘ไทย-จีน’ เสริมความร่วมมือด้าน ‘งานแสดงสินค้า’ เปิดประตูเชื่อมการค้า 2 ประเทศ แบ่งปันโอกาสเติบโตทางธุรกิจ

เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 67 สำนักข่าวซินหัว, หนานชาง รายงานว่า เมื่อไม่นานนี้ นายดวงเด็ด ย้วยความดี ผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรมการแสดงสินค้านานาชาติ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการแห่งประเทศไทย ได้เข้าร่วมการประชุมงานจัดแสดงสินค้าเพื่อความร่วมมือระดับนานาชาติ (CEFCO) ครั้งที่ 19 ในนครหนานชาง มณฑลเจียงซีทางตะวันออกของจีน

นายดวงเด็ด กล่าวว่า ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่มีผลบังคับใช้สองปีแล้ว ได้ช่วยส่งเสริมการค้าระหว่างจีนกับไทย โดยเฉพาะความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมการจัดแสดงสินค้า และนำพาโอกาสการพัฒนาใหม่ๆ มาสู่ 2 ประเทศ ซึ่งไทยพร้อมเดินหน้าทำงานกับทุกฝ่ายอย่างรอบด้านเพื่อสร้างผลประโยชน์จากความตกลงฯ เพิ่มขึ้น

ไทยนั้นอยู่ในตำแหน่งศูนย์กลางเชิงยุทธศาสตร์ของภูมิภาคอาเซียน ทำให้เป็นทำเลทองของการจัดงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติ โดยมีระบบขนส่งที่เชื่อมโยงถึงกันอย่างโดดเด่น การเดินทางจากไทยไปยังตลาดอื่นๆ ในอาเซียนมีความสะดวกง่ายดาย จึงเกื้อหนุนการดำเนินงานของเหล่าผู้จัดแสดงสินค้าให้ดียิ่งขึ้น

ปัจจุบันไทยมีการจัดงานแสดงสินค้าที่โดดเด่นในด้านการผลิตอัจฉริยะ เทคโนโลยีอัจฉริยะ และอุตสาหกรรมอัญมณี ซึ่งนายดวงเด็ดหวังว่า จีนและไทยจะร่วมมือกันในด้านเหล่านี้เพิ่มขึ้น พร้อมต้อนรับจีนเข้ามาจัดงานแสดงสินค้าใหม่ๆ โดยไทยจะให้การสนับสนุนทางนโยบายสิทธิพิเศษ โครงสร้างพื้นฐาน และเทคโนโลยีเฉพาะทาง

นายดวงเด็ด เสริมว่า จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของไทยในปี 2023 ด้วยปริมาณการค้าทวิภาคีสูงถึง 1.35 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 4.73 ล้านล้านบาท) โดยจีนนำเข้าสินค้าจากไทยสูงถึง 5.65 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 1.98 ล้านล้านบาท) ขณะไทยนำเข้าสินค้าจากจีนสูงถึง 7.85 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 2.75 ล้านล้านบาท)

อนึ่ง การประชุมงานจัดแสดงสินค้าเพื่อความร่วมมือระดับนานาชาติ ครั้งที่ 19 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 10-12 ม.ค. 67 ภายใต้หัวข้อ ‘แบ่งปันอย่างเปิดกว้าง เชื่อมโยงสู่ทั่วโลก’ โดยมีตัวแทนจากกว่า 10 ประเทศและภูมิภาค อาทิ ไทย, เยอรมนี, สหราชอาณาจักร, ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ เข้าร่วมมากกว่า 500 คน

‘นายกฯ’ ชี้!! ‘ฟรีวีซ่า’ ก้าวสำคัญสัมพันธ์ ‘ไทย-จีน’ มั่นใจ!! ช่วยกระตุ้น ‘เศรษฐกิจ-การค้า-การลงทุน’

(28 ม.ค. 67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่าน X ว่า ไทยกับจีน ได้ลงนามในความตกลงฟรีวีซ่าสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดา และหนังสือเดินทางกึ่งราชการ เมื่อเช้าวันที่ 28 ม.ค.ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.67 

“ผมมองว่าเป็นก้าวสำคัญในความสัมพันธ์ ไทย - จีน และจะมีผลอย่างมากต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่เพียงในแง่การส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกัน แต่ยังรวมถึงการค้า การลงทุนด้วย อย่างแน่นอน”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 29 ม.ค.นี้ นายหวัง อี้ (H.E.Mr.Wang Yi) สมาชิกกรมการเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกลางด้านกิจการต่างประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และรมว.ต่างประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน มีกำหนดเข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี ที่ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล 

‘จีน’ เปิดกำไร ‘ภาคอุตสาหกรรม’ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.8 สะท้อน!! ภาคการผลิต-เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 67 สำนักข่าวซินหัว, ปักกิ่ง รายงานข่าว สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน รายงานว่าบริษัทอุตสาหกรรมรายใหญ่ภายในประเทศ ซึ่งมีรายได้ทางธุรกิจหลักรายปีอย่างน้อย 20 ล้านหยวน (ราว 100 ล้านบาท) ทำกำไรรวมในเดือนธันวาคม 2023 เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.8 เมื่อเทียบปีต่อปี ซึ่งเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5

รายงานระบุว่า กำไรรวมของบริษัทอุตสาหกรรมรายใหญ่ในจีนของทั้งปี 2023 อยู่ที่ 7.69 ล้านล้านหยวน (ราว 39 ล้านล้านบาท) ซึ่งลดลงร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบปีต่อปี และลดลงน้อยลง 2.1 จุดจากช่วง 11 เดือนแรก (มกราคม-พฤศจิกายน) ของปีเดียวกัน

ภาคการผลิตและจ่ายพลังงาน ความร้อน ก๊าซ และน้ำ กลายเป็นกลุ่มผู้ทำกำไรชั้นนำในปีที่ผ่านมา โดยมีกำไรรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 54.7 เมื่อเทียบปีต่อปี ซึ่งการเพิ่มขึ้นดังกล่าวมีส่วนส่งเสริมการเติบโตโดยรวมของกำไรทางอุตสาหกรรมในประเทศ 3.1 จุด

ขณะกำไรของภาคการผลิตอุปกรณ์ในจีน ช่วงปี 2023 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตของปีก่อนหน้า 2.4 จุด ส่วนอุตสาหกรรม 27 ประเภทจากทั้งหมด 41 ประเภท มีกำไรเติบโตในปีที่ผ่านมา

‘จีน’ ครองแชมป์คู่ค้ารายใหญ่ของ ‘แอฟริกา’ 15 ปีซ้อน มูลค่าการค้าทวิภาคี ปี 2023 แตะ 10 ล้านล้านบาท

เมื่อวานนี้ (1 ก.พ. 67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ของจีน เปิดเผยว่าจีนยังคงครองตำแหน่งคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของแอฟริกาติดต่อกันเป็นปีที่ 15 ด้วยมูลค่าการค้าทวิภาคีสูงแตะ 2.82 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 10 ล้านล้านบาท) ในปี 2023

เจียงเหว่ย เจ้าหน้าที่กระทรวงฯ แถลงข่าวว่าความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าเป็นตัวควบคุมและขับเคลื่อนความสัมพันธ์จีน-แอฟริกา โดยคณะรัฐมนตรีจีนได้อนุมัติแผนการทั่วไปเพื่อสร้างเขตนำร่องความร่วมมือเชิงลึกทางเศรษฐกิจและการค้าจีน-แอฟริกา

จีนจะจัดตั้งเขตนำร่องดังกล่าวเพื่อเป็นพื้นที่สำหรับการเปิดกว้างและความร่วมมือกับแอฟริกาอันมีอิทธิพลระดับนานาชาติภายในปี 2027 โดยเป้าหมายหลักคือการสร้างพื้นที่สำหรับความร่วมมือกับแอฟริกาอันมีความสามารถทางการแข่งขันระดับนานาชาติ

เจียงเหว่ย เสริมว่า ทั้งสองฝ่ายจะกระตุ้นบทบาทของเขตนำร่องแห่งนี้อย่างเต็มที่ ส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านและยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าทวิภาคี และส่งมอบผลประโยชน์แก่ประชาชนในจีนและแอฟริกาเพิ่มขึ้นในหลายปีข้างหน้านี้

ผนึกกำลัง 'ไทย-ยูนนาน' หนุนด่านท่าเรือกวนเหล่ย เพิ่มมูลค่าการค้า อำนวยความสะดวก 'รถ-ราง-เรือ' ส่ง 'ผลไม้-โค' ไทยเข้าจีน

(30 เม.ย. 67) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังหารือกับนายหวัง หยู่โป (H.E.Mr.Wang Yubo) รองเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำมณฑลยูนนาน ผู้ว่าการมณฑลยูนนาน และเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำรัฐบาลมณฑลยูนนาน ที่ Haigeng Garden ห้องประชุม 1 เมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ช่วงเย็นวานนี้ (29 เม.ย. 67)

นายภูมิธรรม กล่าวว่า ตนมาครั้งนี้เพื่อกระชับความสัมพันธ์การค้าระหว่างกันในระดับมณฑลให้รวดเร็วและเข้าถึงปัญหาได้อย่างเต็มที่ รัฐบาลฯ มุ่งมั่นที่จะขยายความร่วมมือทางการค้ากับมณฑลยูนนาน ผ่าน เส้นที่ 1 หนองคายต่อรถไฟเวียงจันทน์สู่มณฑลยูนนาน และเส้นที่ 2 จังหวัดเชียงราย (เชียงของ - บ่อเต็น - โม่ฮาน) ผ่านถนน R3A สู่ด่านบ่อเต็นเข้าด่านโม่ฮาน และอีกเส้นทางที่มาเจรจาเพื่อเปิดเส้นทางการเดินเรือผ่านท่าเรือเชียงแสนมาท่าเรือกวนเหล่ย ซึ่งจะเป็นเส้นทางการค้าใหม่ ที่ยังไม่คึกคักเท่าที่ควร อยากเปิดเส้นทางนี้ให้ดียิ่งขึ้น เพราะสามารถเชื่อมโยงการค้าจากเชียงรายสู่คุนหมิงได้โดยตรง ซึ่งฝ่ายจีนรับจะร่วมมือกำกับดูแลให้สะดวกทั้ง 3 เส้นทาง

นอกจากนั้นนายภูมิธรรมได้กล่าวขอบคุณรัฐบาลจีน ที่ช่วยแก้ปัญหาอุปสรรคทางการค้าอย่างเต็มที่ ทั้งการขยายเวลาเปิด-ปิดด่าน แก้ปัญหาความแออัดรถบรรทุกที่ขนส่งผลไม้ ซึ่งผลผลิตกำลังจะออกมาก บางครั้งต้องใช้เวลาถึง 5 วัน สำหรับรอตู้ผ่านเข้าจีนแล้วกลับออกมาบ่อเต็นให้เหลือเพียง 3 วัน และทางจีนกำลังปรับปรุงขยายถนนจากเดิม 2 ช่อง เป็น 12 ช่อง ที่จะแล้วเสร็จในอีก 2 ปี จะเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย ไทยสามารถส่งสินค้าที่สดคุณภาพดีให้กับจีน และลดต้นทุนสินค้าลง และทางด่านบ่อเต็น (สปป.ลาว) ก็ให้ความร่วมมือเต็มที่ ความร่วมมือ 3 ประเทศทั้ง ไทย สปป.ลาว และจีน จะเป็นประโยชน์ต่อการค้าร่วมกัน และขอให้ทางการจีนสนับสนุนเรื่องการนำเข้าโคมีชีวิตและโคแช่แข็งจากไทยให้มาที่จีน รวมไปถึงผลไม้ตามฤดูกาลอื่น โดยยินดีที่จะปฏิบัติตามกฎระเบียบของจีน ซึ่งทางผู้ว่าการฯ ตอบรับที่จะไปช่วยผลักดันต่อไป

“ขอขอบคุณทางการจีน และเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตนจะกลับไปรายงานท่านนายกฯ ถึงการต้อนรับและความเอาใจใส่ในการแก้ปัญหาร่วมกัน หวังว่าเราจะพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีอย่างนี้ตลอดไป” นายภูมิธรรม กล่าว

ข้อมูลจากกรมการค้าต่างประเทศ ระบุว่า มณฑลยูนนาน มีพรมแดนติดกับเมียนมา, เวียดนาม และลาว เป็นมณฑลของจีนที่อยู่ใกล้กับไทยมากที่สุด มีความโดดเด่นด้านการค้าชายแดน โดยใช้เส้นทางถนน R3A (คุนหมิง-สปป.ลาว-กรุงเทพฯ) ซึ่งมีความสำคัญในการส่งออกผลไม้ของไทยไปจีน ปัจจุบันไทยสามารถส่งออกผลไม้สดไปจีนทางบกได้ 6 ด่าน คือ ด่านนครพนม, ด่านมุกดาหาร, ด่านเชียงของ, ด่านหนองคาย, ด่านบ้านผักกาด (จันทบุรี) และด่านบึงกาฬ ซึ่งการส่งออกผลไม้สู่มณฑลยูนนานจะขนส่งผ่าน 2 ด่านหลัก คือ ด่านเชียงของ (จ.เชียงราย) ตามเส้นทาง R3A เข้าสู่จีนที่ด่านโม่ฮาน และด่านหนองคาย ขึ้นรถไฟลาว-จีน เข้าสู่จีนที่ด่านรถไฟโม่ฮาน โดยในปี 2566 ไทยมีการส่งออกสินค้าผลไม้และลูกนัทที่บริโภคได้ (HS 08) ไปมณฑลยูนนานผ่านเส้นทางทั้งสอง มูลค่ารวม 1,680 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.6 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยมีสัดส่วนร้อยละ 50 ของการส่งออกสินค้าดังกล่าวทางบก และมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 27 ของการส่งออกสินค้าผลไม้และลูกนัทฯ ไปจีนทั้งหมด


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top