‘กลุ่มธุรกิจไทย’ เผย งาน ‘CIIE’ หนุนการสื่อสาร-ขยายตลาดดียิ่งขึ้น เพิ่มขีดความสามารถการค้า-เจาะกลุ่มเป้าหมายตรงจุด-กระตุ้นยอดขายพุ่ง

เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 66 สำนักข่าวซินหัว, กรุงเทพฯ รายงานว่า ผู้นำวงการธุรกิจไทย กล่าวว่า ‘งานมหกรรมสินค้านำเข้านานาชาติจีน’ (CIIE) ครั้งที่ 6 ถือเป็นงานแสดงสินค้าระดับสูง ที่มีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมชั้นนำเข้าร่วม และสร้างเวทีอันกว้างใหญ่สำหรับผู้ประกอบการต่างชาติเข้าสู่ตลาดจีน

‘หลี่เจียชุน’ วัย 48 ปี ผู้ค้าอัญมณี และประธานสมาคมนักธุรกิจยุคใหม่ไทย-จีน ย้ายมาไทยพร้อมกับพ่อแม่ตั้งแต่ยังเด็ก และก่อตั้ง ‘บริษัท ไทยแลนด์ หย่งไท่ จิวเวลรี จำกัด’ (Thailand Yongtai Jewelry) ตอนอายุ 18 ปี ซึ่งนำสู่การมีส่วนร่วมในแวดวงธุรกิจการค้าอัญมณี

หลี่ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัว ก่อนมีการจัดงานมหกรรมฯ ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 5-10 พ.ย. ว่า งานมหกรรมฯ ขยับขยายกลุ่มมิตรสหาย และเขาเข้าร่วมงานทุกครั้งมาตั้งแต่ปี 2018 โดยปีนี้นับเป็นการเข้าร่วมงานครั้งที่ 6 แล้ว

ไทยเป็นศูนย์กลางการแปรรูปทับทิมและไพลินระดับโลก และอัญมณีเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเสาหลักของไทย โดยหลี่และบริษัทของเขาได้เข้าร่วมงานมหกรรมฯ ตามคำเชิญจากตลาดแลกเปลี่ยนอัญมณีและหยกแห่งประเทศจีน (China Gems & Jade Exchange) ในปี 2018

หลี่ กล่าวว่า บริษัทของเขาได้ลงนามสัญญาจะซื้อจะขายจำนวนมาก และทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ที่งานมหกรรมฯ รวมถึงแข่งขันกับแบรนด์ชื่อดังมากมาย และเรียนรู้จากแต่ละฝ่ายผ่านงานนี้ ขณะเดียวกันสามารถสื่อสารกับลูกค้าที่มีศักยภาพโดยตรง ซึ่งช่วยเพิ่มชื่อเสียงของเราในจีน

งานมหกรรมฯ ในปีนี้จัดทางออฟไลน์อย่างเต็มรูปแบบ และบูธของหลี่ขยายพื้นที่จากเดิม 36 เป็น 72 ตารางเมตร โดยขนาดบูธที่เพิ่มขึ้นสะท้อนความน่าดึงดูดของงานมหกรรมฯ ที่มีต่อผู้ประกอบการที่เข้าร่วม และเขาขยายบูธเพราะเชื่อว่าจะได้รับประโยชน์มากมายจากงานนี้

หลี่ เผยว่า งานมหกรรมฯ ไม่เพียงแสดงการเปิดกว้างของตลาดจีน แต่ยังแสดงพัฒนาการของบริษัทเขาตลอดหลายปีมานี้ด้วย โดยการขยายบูธเป็นเครื่องแสดงการหยั่งรากลึกในตลาดจีนยิ่งขึ้น และปีนี้เขาวางแผนนำเสนออัญมณีกว่า 1,000 รายการ และเพชรพลอย 5,000 กะรัต

การเจรจาพูดคุยกับลูกค้าชาวจีนโดยตรง ทำให้หลี่พบว่า ความเข้าใจของลูกค้าชาวจีนที่มีต่อวัฒนธรรมอัญมณีนั้นลึกซึ้งเพิ่มขึ้น โดยชาวจีนแสวงหาและรู้จักอัญมณีเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ตามกำลังการบริโภคที่พัฒนาดีขึ้นต่อเนื่อง ขณะความต้องการของลูกค้ามีความหลากหลายเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งเขาเชื่อว่าอุตสาหกรรมอัญมณีในจีนมีโอกาสรออยู่มากมาย

นอกจากมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ หลี่ยังมีส่วนร่วมช่วยผู้ประกอบการชาวไทยเข้าร่วมงานมหกรรมฯ ผ่านสมาคมฯ โดยเขานำพาผู้ผลิตอัญมณีไทยเข้าร่วมงานมหกรรมฯ ครั้งแรกในปี 2018 มากกว่า 40 ราย และตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 70 รายในงานมหกรรมฯ ครั้งที่ 2 ซึ่งครอบคลุมผู้จัดแสดงสินค้าอาหารและการแพทย์ด้วย

ปีนี้ตรงกับวาระครบรอบ 10 ปี ‘แผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ (BRI) ที่นำเสนอโดยจีน ซึ่งงานมหกรรมฯ ที่เป็นงานแสดงสินค้านำเข้าระดับชาติงานแรกของโลก มีกลุ่มประเทศตามแผนริเริ่มฯ เข้าร่วมกันอย่างแข็งขัน โดยปัจจุบันมีบริษัทจากกลุ่มประเทศตามแผนริเริ่มฯ ลงทะเบียนเข้าร่วมนิทรรศการผู้ประกอบการและธุรกิจของงานมหกรรมฯ ครั้งนี้มากกว่า 1,500 แห่ง

หลี่ กล่าวว่า งานมหกรรมฯ สร้างโอกาสใหม่แก่ไทยและกลุ่มประเทศตามแผนริเริ่มฯ ในการเข้าสู่ตลาดจีน โดยรัฐบาลไทยยกย่องงานมหกรรมฯ เป็นเวทีสำคัญในการส่งเสริมการค้า และกระตุ้นบริษัทต่างๆ เข้าร่วมอย่างแข็งขันเป็นจำนวนมาก

“เราจะยังคงส่งเสริมผู้ประกอบการชาวไทยเข้าร่วมงานมหกรรมฯ และนำเสนอสินค้าไทยสู่ตลาดจีนมากขึ้นในอนาคต ขณะเดียวกันจะมุ่งนำเสนอสินค้าที่มีคุณภาพสูงจากจีนมาสู่ไทยและทั่วโลกด้วย” หลี่ กล่าวทิ้งท้าย


ที่มา : Xinhuathai / Xinhua
https://www.xinhuathai.com/china/396231_20231107