Sunday, 19 May 2024
CIIE

‘มะพร้าวน้ำหอมไทย’ จ่อขึ้นแท่นสินค้าดาวเด่นในงาน ‘CIIE’ ครั้งที่ 6 หลังฮอตฮิตในตลาดจีน เอื้อโอกาสธุรกิจเติบโต-สานฝันผู้ส่งออกไทย

เมื่อวันที่ 6 พ.ย. สำนักข่าวซินหัว, ราชบุรี รายงานข่าวความโด่งดังของอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี จากการเป็นที่ตั้งของตลาดน้ำอายุนับศตวรรษ อีกทั้งเป็นพื้นที่ผลิต ‘มะพร้าวน้ำหอม’ แห่งสำคัญของไทย ซึ่งมีกลิ่นเป็นเอกลักษณ์และรสชาติหอมหวาน โดยปัจจุบันเหล่าคนงานที่สายการประกอบในอำเภอแห่งนี้ กำลังสาละวนกับการบรรจุมะพร้าวที่ปอกเปลือกแล้วลงหีบห่อเพื่อเตรียมจัดส่งสู่จีน

นายณรงค์ศักดิ์ ชื่นสุชน ผู้ส่งออกมะพร้าววัย 53 ปี จากดำเนินสะดวก รู้สึกตื่นเต้นที่มีโอกาสได้แนะนำผลิตภัณฑ์มะพร้าวของตนแก่กลุ่มลูกค้าชาวจีนอีกครั้ง ในฐานะผู้จัดแสดงของงานมหกรรมสินค้านำเข้านานาชาติจีน (CIIE) ครั้งที่ 6 ในนครเซี่ยงไฮ้ทางตะวันออกของจีน

นายณรงค์ศักดิ์ ซึ่งเป็นประธานบริษัท เอ็นซี โคโคนัท จำกัด (NC Coconut) เปิดเผยกับสำนักข่าวซินหัวของจีนว่า เขารู้สึกยินดีและตื่นเต้นที่ได้ร่วมงานมหกรรมการค้าที่ยิ่งใหญ่แบบนี้ในจีนอีกครั้ง โดยปีนี้นับเป็นการกลับมาจัดแสดงครั้งสำคัญ หลังจากต้องระงับไปก่อนหน้านี้เนื่องจากการระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)

นายณรงค์ศักดิ์เกิดมาในครอบครัวเกษตรกรและได้เพาะปลูกมะพร้าวกับพ่อแม่ตั้งแต่วัยเด็ก เขาหลงรักมะพร้าว รู้ว่าต้องทำอย่างไรจึงจะปลูกมะพร้าวให้ได้พันธุ์ดีที่สุด และสามารถบอกได้ว่า มะพร้าวแบบไหนมีรสชาติอร่อยแค่เพียงกวาดสายตามอง

เมื่อปี 2009 นายณรงค์ศักดิ์จัดตั้งบริษัทมะพร้าวของตนเองที่มีชื่อว่า ‘เอ็นซี โคโคนัท’ ซึ่งปัจจุบันแปรรูปมะพร้าวราว 20 ล้านลูกต่อปี และมีจีนเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ที่สุดของบริษัทฯ คิดเป็นราวร้อยละ 60-70 ของยอดส่งออกทั้งหมด

ช่วงไม่กี่ปีมานี้ มะพร้าวน้ำหอมของไทยเป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่ลูกค้าชาวจีน และงานมหกรรมฯ มีบทบาทสำคัญในการขยายธุรกิจของณรงค์ศักดิ์ในตลาดจีน โดยเขากล่าวว่างานมหกรรมฯ เป็นเวทีเสริมสร้างการเชื่อมต่อและความร่วมมือระหว่างผู้ค้าชาวจีนและทั่วโลก ทั้งยังมอบโอกาสการนำเสนอแบรนด์และผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงของเรา รวมถึงเพิ่มการมองเห็นผ่านการตลาดและการส่งเสริมการตลาด

นายณรงค์ศักดิ์ร่วมงานมหกรรมฯ ครั้งแรกในปี 2018 หลังจากได้รับคำเชิญจากหุ้นส่วนทางธุรกิจในจีน ประสบการณ์ครั้งแรกของเขาในฐานะผู้เยี่ยมชมเป็นไปอย่างน่าประทับใจ งานครั้งนั้นถูกจัดเตรียมขึ้นเป็นอย่างดี พื้นที่นิทรรศการมีขนาดใหญ่มาก และพร้อมพรั่งด้วยหมวดหมู่ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย

นายณรงค์ศักดิ์ระบุว่า งานมหกรรมฯ เป็นเสมือนหน้าต่างบานสำคัญสำหรับผลไม้ที่มีคุณภาพสูงจากทั่วโลกในการเข้าสู่ตลาดจีน โดยในปี 2019 เอ็นซี โคโคนัท เริ่มจัดแสดงผลิตภัณฑ์มะพร้าวที่งานมหกรรมฯ ครั้งที่ 2 ผ่านหุ้นส่วนทางธุรกิจ ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีมากจากลูกค้าและทำให้ณรงค์ศักดิ์มองเห็นโอกาสที่ดีในการส่งเสริมและขยับขยายการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในตลาดจีน

สำหรับงานมหกรรมฯ ครั้งที่ 6 ประจำปีนี้ ซึ่งมีกำหนดจัดระหว่างวันที่ 5-10 พ.ย. ในเซี่ยงไฮ้ บริษัทของณรงค์ศักดิ์พร้อมเปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นใหม่ นอกเหนือจากกลุ่มผลิตภัณฑ์มะพร้าวอ่อนซึ่งส่งออกสู่จีนเป็นหลัก

การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ คาดว่าจะเป็นโอกาสกระตุ้นการเติบโตในตลาดจีน เนื่องจากน้ำมะพร้าวน้ำหอมแบบบรรจุขวดสอดรับกับวิถีชีวิตแบบสุขภาพดี และความต้องการที่เพิ่มสูงในกลุ่มคนรุ่นใหม่ และการเข้าร่วมงานมหกรรมฯ ยังมอบข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับแนวโน้มที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในอนาคต

นายณรงค์ศักดิ์เสริมว่า น้ำมะพร้าวพร้อมดื่มนี้ถูกผลิตโดยเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดของเรา ซึ่งทำให้สามารถจัดเก็บได้นานถึงหนึ่งปีโดยไม่ต้องแช่เย็น ส่งผลให้มีราคาที่อิงตามท้องตลาด และยังคงไว้ซึ่งลักษณะทางธรรมชาติ

“ตลาดจีนมีขนาดใหญ่มากและมีศักยภาพการบริโภคมหาศาล งานมหกรรมฯ จึงเอื้อให้เราได้แบ่งปันโอกาสการพัฒนาของจีน ซึ่งหมายถึงการที่ธุรกิจขนาดย่อมอย่างพวกเราสามารถบรรลุความฝันอันยิ่งใหญ่ได้” นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

‘กลุ่มธุรกิจไทย’ เผย งาน ‘CIIE’ หนุนการสื่อสาร-ขยายตลาดดียิ่งขึ้น เพิ่มขีดความสามารถการค้า-เจาะกลุ่มเป้าหมายตรงจุด-กระตุ้นยอดขายพุ่ง

เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 66 สำนักข่าวซินหัว, กรุงเทพฯ รายงานว่า ผู้นำวงการธุรกิจไทย กล่าวว่า ‘งานมหกรรมสินค้านำเข้านานาชาติจีน’ (CIIE) ครั้งที่ 6 ถือเป็นงานแสดงสินค้าระดับสูง ที่มีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมชั้นนำเข้าร่วม และสร้างเวทีอันกว้างใหญ่สำหรับผู้ประกอบการต่างชาติเข้าสู่ตลาดจีน

‘หลี่เจียชุน’ วัย 48 ปี ผู้ค้าอัญมณี และประธานสมาคมนักธุรกิจยุคใหม่ไทย-จีน ย้ายมาไทยพร้อมกับพ่อแม่ตั้งแต่ยังเด็ก และก่อตั้ง ‘บริษัท ไทยแลนด์ หย่งไท่ จิวเวลรี จำกัด’ (Thailand Yongtai Jewelry) ตอนอายุ 18 ปี ซึ่งนำสู่การมีส่วนร่วมในแวดวงธุรกิจการค้าอัญมณี

หลี่ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัว ก่อนมีการจัดงานมหกรรมฯ ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 5-10 พ.ย. ว่า งานมหกรรมฯ ขยับขยายกลุ่มมิตรสหาย และเขาเข้าร่วมงานทุกครั้งมาตั้งแต่ปี 2018 โดยปีนี้นับเป็นการเข้าร่วมงานครั้งที่ 6 แล้ว

ไทยเป็นศูนย์กลางการแปรรูปทับทิมและไพลินระดับโลก และอัญมณีเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเสาหลักของไทย โดยหลี่และบริษัทของเขาได้เข้าร่วมงานมหกรรมฯ ตามคำเชิญจากตลาดแลกเปลี่ยนอัญมณีและหยกแห่งประเทศจีน (China Gems & Jade Exchange) ในปี 2018

หลี่ กล่าวว่า บริษัทของเขาได้ลงนามสัญญาจะซื้อจะขายจำนวนมาก และทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ที่งานมหกรรมฯ รวมถึงแข่งขันกับแบรนด์ชื่อดังมากมาย และเรียนรู้จากแต่ละฝ่ายผ่านงานนี้ ขณะเดียวกันสามารถสื่อสารกับลูกค้าที่มีศักยภาพโดยตรง ซึ่งช่วยเพิ่มชื่อเสียงของเราในจีน

งานมหกรรมฯ ในปีนี้จัดทางออฟไลน์อย่างเต็มรูปแบบ และบูธของหลี่ขยายพื้นที่จากเดิม 36 เป็น 72 ตารางเมตร โดยขนาดบูธที่เพิ่มขึ้นสะท้อนความน่าดึงดูดของงานมหกรรมฯ ที่มีต่อผู้ประกอบการที่เข้าร่วม และเขาขยายบูธเพราะเชื่อว่าจะได้รับประโยชน์มากมายจากงานนี้

หลี่ เผยว่า งานมหกรรมฯ ไม่เพียงแสดงการเปิดกว้างของตลาดจีน แต่ยังแสดงพัฒนาการของบริษัทเขาตลอดหลายปีมานี้ด้วย โดยการขยายบูธเป็นเครื่องแสดงการหยั่งรากลึกในตลาดจีนยิ่งขึ้น และปีนี้เขาวางแผนนำเสนออัญมณีกว่า 1,000 รายการ และเพชรพลอย 5,000 กะรัต

การเจรจาพูดคุยกับลูกค้าชาวจีนโดยตรง ทำให้หลี่พบว่า ความเข้าใจของลูกค้าชาวจีนที่มีต่อวัฒนธรรมอัญมณีนั้นลึกซึ้งเพิ่มขึ้น โดยชาวจีนแสวงหาและรู้จักอัญมณีเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ตามกำลังการบริโภคที่พัฒนาดีขึ้นต่อเนื่อง ขณะความต้องการของลูกค้ามีความหลากหลายเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งเขาเชื่อว่าอุตสาหกรรมอัญมณีในจีนมีโอกาสรออยู่มากมาย

นอกจากมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ หลี่ยังมีส่วนร่วมช่วยผู้ประกอบการชาวไทยเข้าร่วมงานมหกรรมฯ ผ่านสมาคมฯ โดยเขานำพาผู้ผลิตอัญมณีไทยเข้าร่วมงานมหกรรมฯ ครั้งแรกในปี 2018 มากกว่า 40 ราย และตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 70 รายในงานมหกรรมฯ ครั้งที่ 2 ซึ่งครอบคลุมผู้จัดแสดงสินค้าอาหารและการแพทย์ด้วย

ปีนี้ตรงกับวาระครบรอบ 10 ปี ‘แผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ (BRI) ที่นำเสนอโดยจีน ซึ่งงานมหกรรมฯ ที่เป็นงานแสดงสินค้านำเข้าระดับชาติงานแรกของโลก มีกลุ่มประเทศตามแผนริเริ่มฯ เข้าร่วมกันอย่างแข็งขัน โดยปัจจุบันมีบริษัทจากกลุ่มประเทศตามแผนริเริ่มฯ ลงทะเบียนเข้าร่วมนิทรรศการผู้ประกอบการและธุรกิจของงานมหกรรมฯ ครั้งนี้มากกว่า 1,500 แห่ง

หลี่ กล่าวว่า งานมหกรรมฯ สร้างโอกาสใหม่แก่ไทยและกลุ่มประเทศตามแผนริเริ่มฯ ในการเข้าสู่ตลาดจีน โดยรัฐบาลไทยยกย่องงานมหกรรมฯ เป็นเวทีสำคัญในการส่งเสริมการค้า และกระตุ้นบริษัทต่างๆ เข้าร่วมอย่างแข็งขันเป็นจำนวนมาก

“เราจะยังคงส่งเสริมผู้ประกอบการชาวไทยเข้าร่วมงานมหกรรมฯ และนำเสนอสินค้าไทยสู่ตลาดจีนมากขึ้นในอนาคต ขณะเดียวกันจะมุ่งนำเสนอสินค้าที่มีคุณภาพสูงจากจีนมาสู่ไทยและทั่วโลกด้วย” หลี่ กล่าวทิ้งท้าย

‘ภูมิธรรม-นลินี’ เยือนนครเซี่ยงไฮ้ เดินหน้าหนุนเจาะการค้าจีนระดับท้องถิ่น จ่อคว้าโอกาสประชุม JC ‘ไทย-จีน’ ขยายตลาดใหม่-ส่งออกสินค้าไทยเพิ่ม

(8 พ.ย. 66) นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย กล่าวถึงการเดินทางไปเยือนนครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมกับนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ ระหว่างวันที่ 4 - 6 พ.ย. 66 ว่า การได้พบกับนายหวัง เหวินเต้า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของจีน เป็นโอกาสอันดีที่ได้กระชับความสัมพันธ์ทางด้านการค้าของทั้งสองประเทศ โดยในปีนี้จีนได้จัดงาน ‘China International Import Expo’ (CIIE) ครั้งที่ 6 ขึ้น ตามนโยบายการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจของจีนที่ให้ประเทศต่าง ๆ มีส่วนร่วม ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมงานใน 2 ส่วน คือ การจัดนิทรรศการ ‘Country Exhibition Thailand Pavilion’ ประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ประเทศไทย และการจัดแสดงสินค้า ‘Enterprise and Business Exhibition’ เน้นนำเสนอผลิตภัณฑ์อาหารและการเกษตรของไทย ซึ่งมีผู้เข้าชมเป็นจำนวนมาก

ผู้แทนการค้าไทย กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง และทั้งสองฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่เสร็จสิ้นแล้วจึงเป็นโอกาสอันดี ที่จะมีการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้าการลงทุนและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (JC) ไทย - จีน ครั้งที่ 7 ในระยะอันใกล้นี้ เพื่อสานต่อเป้าหมายทางการค้าและจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมฉบับใหม่ การเปิดตลาดสินค้าเกษตร การอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าระหว่างไทยและจีน เพื่อส่งเสริมการขยายมูลค่าการค้ากันระหว่างกัน

“ที่ผ่านมาไทยและจีนมีความร่วมมือทางการค้าลงไปถึงในระดับมณฑล/ท้องถิ่น โดยกระทรวงพาณิชย์ของไทยได้จัดทำบันทึกความเข้าใจกับเมืองหรือมณฑลของจีนแล้ว 4 ฉบับ คือ ไห่หนาน กานซู่ เซินเจิ้น และยูนนาน โดยในอนาคตจะทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางการค้ากับเมืองหรือมณฑลอื่นเพิ่มเติม เช่น เซี่ยเหมิน ซานซี เฮร์หลงเจียง และเหอเป่ย

ทั้งนี้ จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ที่มีมูลค่าการค้าระหว่างกันกับไทยสูงที่สุดติดต่อกันถึง 11 ปี ตั้งแต่ปี 2556 โดยปีที่แล้วมีมูลค่าการค้ารวม 105,196.80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าส่งออกหลักของไทยไปจีน ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก มันสำปะหลัง เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ส่วนประกอบ เป็นต้น” นางนลินี กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top