“ปิ้ง ปิ้ง หุ่นยนต์ปิ้งหมู” เป็นผลงานการออกแบบและพัฒนาโดย นายวริทธิ์ธร คงหนู หรือ เด่น และ นายชวภณ วชิรานิรมิตหรือ ไออุ่น นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ที่ได้แรงบันดาลใจจากร้านขายหมูปิ้ง
“พวกเราเดินผ่านร้านหมูปิ้งแถวมหาวิทยาลัยทุกวัน ก็เห็นแม่ค้าต้องยืนปิ้ง ยืนพลิกหมูอยู่ตลอดเวลา บางวันมีออเดอร์เยอะก็ต้องคอยพลิกไม้หลายรอบกว่าจะสุก ลูกค้าต้องยืนรอ เลยคิดว่า ถ้ามีหุ่นยนต์มาช่วยปิ้งแทนได้ ก็น่าจะช่วยให้แม่ค้าไม่ต้องเสียแรงมาก แถมยังมีเวลาทำอย่างอื่น เช่น รับลูกค้า เตรียมของ หรือพูดคุยกับลูกค้าได้มากขึ้น” วริทธิ์ธร หรือ เด่น กล่าวถึงแรงบันดาลใจ
วริทธิ์ธร กล่าวว่า เริ่มต้นก็มาดูขั้นตอนการปิ้งหมูเป็นอย่างไร ถ้าเราทำเป็นระบบออโตเมชันเราต้องทำอะไรบ้าง ปกติการปิ้งทำกันอย่างไร มีการหยิบ จับ เคลื่อนย้าย หรือการพลิกหมู การตรวจดูว่าหมูสุกหรือยัง แล้วเราก็มาแบ่งส่วนที่จะพัฒนาว่า จะพัฒนาอะไรก่อน ซึ่งตัวหุ่นยนต์ Demo 1 เราเริ่มจากการพัฒนาในส่วนของการพลิกหมูให้ได้บนเตา แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ตัวระบบควบคุม การออกแบบตัวจับและโครงสร้างของเตา ตลอดจนการคำนึงถึงข้อจำกัดต่างๆ
กลไกการทำงานของหุ่นยนต์ 'ปิ้ง ปิ้ง' คือการนำแขนกลที่สามารถทำงานร่วมกับคน (Co-operation Robot) มาพัฒนาให้ช่วยพลิกหมูปิ้ง โดยหุ่นยนต์จะค่อย ๆ พลิกหมูทีละไม้ ส่วนคนจะเป็นผู้ตรวจดูว่าหมูไม้ไหนสุกแล้วจึงหยิบออก ส่วนไม้ที่ยังไม่สุก หุ่นจะทำหน้าที่พลิกต่อไปโดย Demo 1 หุ่นยนต์สามารถพลิกหมูได้ครั้งละ 8 ไม้ และพลิกได้แค่ด้านเดียว เพราะเตายังมีขนาดเล็ก ขณะเดียวกัน หมูแต่ละไม้มีขนาดและวิธีเสียบที่ต่างกัน จึงสุกไม่พร้อมกันทั้งหมด ทีมจึงออกแบบให้หุ่นพลิกหมูอย่างเป็นจังหวะไม้ต่อไม้ และเน้นการทำงานร่วมกันระหว่างคนกับหุ่นยนต์ เพื่อแบ่งเบาภาระและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
สำหรับแนวทางการพัฒนาในอนาคต ชวภณ หรือ ไออุ่น กล่าวว่า หากพัฒนาต่อ Demo 2 ก็อยากจะพัฒนาให้หุ่นรู้ว่าจะต้องพลิกหมูไม้ไหน และสามารถดูความสุกของหมูได้ รู้ว่าหมูไม้ไหนสุก ไม้ไหนยังไม่สุก โดยตอนนี้กำลังศึกษาว่าจะให้หุ่นดูความสุกของหมูได้อย่างไร เพราะการทําหมูปิ้ง จุดที่สุกก่อนจะอยู่ด้านล่างด้านที่โดนความร้อน ซึ่งเราไม่สามารถมองเห็นได้จากด้านบน รวมถึงเพิ่มระบบที่ให้หุ่นยนต์นำหมูที่สุกแล้วออกไปวางบนถาด และหยิบหมูสดไม้ใหม่ออกมาปิ้งบนเตาได้ รวมทั้งจะเพิ่มความเร็วในการพลิกหมู และระบบควบคุมความร้อนของเตาให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
วริทธิ์ธร กล่าวเสริมว่า“การได้ลงมือพัฒนา ปิ้ง ปิ้ง เป็นเหมือนโจทย์ที่ทำให้เราได้ทดลองทำโครงการหรือโปรเจกต์ร่วมกับอาจารย์ และทำให้เราได้ต่อยอดความรู้จากสิ่งที่เรียนมา ได้ทดลองกับอุปกรณ์หลายอย่าง ได้เรียนรู้ว่าเราจะต้องแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร ได้ประสบการณ์การทำงาน ได้คิด วิเคราะห์ และเพิ่มทักษะมากขึ้น”
“ปิ้ง ปิ้ง หุ่นยนต์ปิ้งหมู” คือหนึ่งในผลงานของนักศึกษาฟีโบ้ที่จัดแสดงในงานครบรอบ 30 ปีของสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) ภายใต้ธีม 'Robotics ไทยแทร่' ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 6-8 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา โดย ผศ. ดร.สุภชัย วงศ์บุณย์ยง ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม อธิบายว่า ธีมไทยแทร่ต้องการสร้างบรรยากาศสนุกสนานแบบงานวัด เพื่อให้นักศึกษาได้ออกแบบหุ่นยนต์ที่สะท้อนวัฒนธรรมไทยอย่างมีชีวิตชีวา และอาหารปิ้งย่างซึ่งเป็นของคุ้นเคยบนถนนเมืองไทยจนกลายเป็นโจทย์หลักให้ทีมพัฒนาหุ่นยนต์ชุดนี้ โดยใช้พื้นฐานความรู้ด้านหุ่นยนต์และอุปกรณ์ในห้องปฏิบัติการของฟีโบ้นำไปพัฒนาต่อยอด จนเกิดเป็นหุ่นยนต์ที่ไม่เพียงแต่โชว์ไอเดียสนุก ๆ ในงานนิทรรศการ แต่ยังเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ที่มีพลังให้นักศึกษาได้ฝึกตั้งแต่การออกแบบฟังก์ชัน เลือกเทคโนโลยี ประเมินต้นทุน ไปจนถึงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าจากการใช้งานจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่เกินกว่าการเรียนในห้องหรือการทำโปรเจกต์บนกระดาษ
ผศ. ดร.สุภชัย เน้นว่า “เทคโนโลยีไม่ใช่แค่เรื่องเทคนิค แต่ต้องตอบโจทย์การใช้งานจริง และคุ้มค่าในการลงทุน แม้หุ่นยนต์ปิ้งหมูเวอร์ชันต้นแบบจะยังไม่พร้อมสำหรับร้านค้าทั่วไป แต่ก็ถือเป็นก้าวแรกของการประยุกต์ใช้หุ่นยนต์และ AI ในธุรกิจอาหาร โดยอาจต่อยอดได้ทั้งในร้านอาหารระดับพรีเมียม หรือใช้สร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ในกิจกรรมการตลาด ซึ่งต่อเนื่องจากผลงานด้านเทคโนโลยีอาหารของฟีโบ้ที่ผ่านมา เช่น หุ่นยนต์ลวกก๋วยเตี๋ยว หุ่นยนต์ตักไอศกรีม และหุ่นยนต์ชงน้ำ ที่เคยสร้างการเปลี่ยนแปลงจากระบบแรงงานคนสู่ระบบอัตโนมัติในชีวิตประจำวัน”
นอกจาก ปิ้ง ปิ้ง ยังมีผลงานของนักศึกษาทุกชั้นปีทั้ง ป.ตรี โท เอก ที่นำมาจัดแสดงมากมาย และได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการเข้ามาติดต่อเพื่อนำไปต่อยอดหรือร่วมกับนักศึกษาในการพัฒนาต่อไป อาทิ กรอบรูป ราชรถ หุ่นยนต์สายมู (เตลู) ลงยันต์ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ตอกย้ำบทบาทของฟีโบ้ ที่ไม่เพียงเป็นสถาบันผลิตวิศวกรหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ แต่ยังเป็นแหล่งบ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์และการลงมือทำจริง นักศึกษาไม่ได้เรียนแค่ทฤษฎีหรือวิธีสร้างหุ่นยนต์ แต่เรียนรู้จากโจทย์จริงของสังคม ผ่านการฝึกคิด ฝึกแก้ปัญหา และพัฒนาเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์การใช้งาน พร้อมติดอาวุธทั้ง Upskill, Reskill และ Newskill ที่จำเป็นต่อโลกยุคใหม่