Thursday, 29 May 2025
ค้นหา พบ 48420 ที่เกี่ยวข้อง

‘ม. ฟู่ตั้น’ คว้าถ้วยแข่งเรือมังกรเซี่ยงไฮ้สำเร็จ เหนือผลรางวัลคือการได้ร่วมกิจกรรมอันทรงเกียรติ

A great story of my life.

(26 พ.ค. 68) ตั้งแต่ได้รับอุบัติเหตุไหล่หลุดระหว่างการซ้อมพายเรือ Dragon Boat ก่อนการแข่งขัน Shanghai International Dragon Boat Competition เมื่อ 6 ปีที่แล้ว จนทำให้ไม่สามารถลงเป็นตัวจริงในการแข่งขันได้ แม้ในวันนั้นจะคว้ารางวัลรองชนะเลิศมาครองได้ แต่ลึก ๆ ในใจก็เซ็งมากเพราะอยากลงเป็นตัวจริงในการแข่งขัน

ในวันนั้น (กลางปี 2019) ผมยังอายุ 21 เรียนอยู่ ป.ตรี ปี 1 ที่มหาวิทยาลัย East China Normal University ซึ่งเป็นทีมตัวตึงที่มักจะได้ที่หนึ่งและเป็นแชมป์ในการแข่งขันแทบทุกปี ผมได้ตั้งมั่นในใจว่าจะรีบฟื้นฟูร่างกายจากการบาดเจ็บ ฝึกร่างกายเพิ่ม และกลับมาใหม่ในปีต่อไป (2020) แบบแข็งแกร่งกว่าเดิม

ทว่า ชะตาไม่เป็นใจ การโจมตีของโควิด-19 ในช่วงปิดเทอมฤดูหนาวตอนปลายปีนั้น ทำให้ผมไม่ได้กลับจีน และเรียนออนไลน์จนจบ ป.ตรี และไม่ได้กลับไปเรียนที่ ECNU ต่ออีกเลย ทิ้งความตั้งใจที่จะลงแข่งขันและคว้าแชมป์กีฬาเรือมังกรให้เป็นปมค้างคาในใจมาร่วม 6 ปี ก้าวเข้าสู่วัยทำงานเต็มตัวโดยที่คิดว่าคงจะไม่ได้มีโอกาสให้แก้มือได้ง่าย ๆ แน่

จนกระทั่งปี 2024 หลังจากที่ผมได้รับทุนรัฐบาลจีนให้กลับมาเรียนที่เซี่ยงไฮ้อีกครั้ง แต่ครั้งนี้เปลี่ยนมหาวิทยาลัยจาก ECNU มาเป็น Fudan University ซึ่งเป็น ม. ระดับท็อปของจีนและของโลก ซึ่งจะมีการจัดงาน Club Festival ในทุก ๆ เทอม เพื่อดึงดูดนักศึกษาให้เข้าชมรมต่าง ๆ ของ ม. และร่วมทำกิจกรรมนอกห้องเรียน ในวันนั้น ฝนตกหนัก ผมทิ้งกระเป๋าไว้ในห้องเรียน และวิ่งตากฝนตามหาบูธของทีม Dragon Boat ของฟู่ตั้น เพื่อที่จะเข้ากลุ่มวีแชท และสมัครเข้าไปทดสอบร่างกายคัดตัวเข้าทีม Fudan International Dragon Boat

การคัดตัวเริ่มต้นขึ้นในช่วงต้นปี 2025 จากวันแรกที่ได้เข้าทีม ECNU Dragon Boat เมื่อ 6 ปีที่แล้ว ตอนนั้นผมอายุ 21 ตอนนี้ผม 27 แล้ว ผลลัพธ์ของการออกกำลังกายหนักแบบไม่เคยหยุดเลยในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ผมทำคะแนนสูงสุดในการทดสอบร่างกายของทีมฟู่ตั้น จนได้รับการจับตามองโดยกัปตันทีม โค้ช และอาจารย์ที่ดูแลทีม

ยิ่งไปกว่านั้น การที่ผมบอกว่าเคยอยู่ทีม ECNU ที่ก่อนหน้านี้ได้แชมป์ติดกันมาตลอดตั้งแต่ช่วงหลังโควิด ทำให้เมื่อได้รับเลือกเข้าทีมแล้ว ก็ได้เลื่อนขั้นไปนั่งฝั่งขวาแถว 2 จากหัวเรือ ซึ่งเป็นตำแหน่งค่อนข้างสำคัญ เพราะแถวหน้า 2 แถวแรกของเรือนั้นเป็นแถวที่สำคัญที่สุด และใช้แรงเยอะ ทีมส่วนใหญ่จะเลือกมือดีที่สุดของทีมให้นั่ง 2 แถวแรก ไล่ลำดับความแข็งแรงไปจนถึงแถวสุดท้าย ซึ่งตอนผมอยู่ทีม ECNU นั้น ผมอยู่แถวที่ 6

แม้จะรู้อยู่แก่ใจว่าทีม Fudan นั้นไม่ได้แข็งแรงเท่าทีม ECNU ในปีที่ผ่านมาก็อยู่ในลำดับกลาง ๆ ได้เข้ารอบ Final แค่บางปีเท่านั้น แต่เมื่อผม join the game แล้ว ก็ยังรู้สึกว่าอยากชนะ อยากได้ที่ 1 อยู่ดี หรืออย่างน้อยขออยู่ในลำดับสูง ๆ ยิ่งถ้าชนะ ECNU ได้ ก็คงจะดี (ไม่ได้มีความโกรธแค้นใด ๆ กับ ECNU นะครับ แค่อยากชนะเฉย ๆ)

การซ้อมของทีมฟู่ตั้นต่างจากทีม ECNU ที่เน้นการใช้พลังและความทนทาน ด้วยความที่ทีมฟู่ตั้นไม่ได้กล้ามใหญ่หรือแข็งแรงแบบ ECNU เราจึงต้องพึ่งพาการคำนวณ การใช้เทคนิคและการวางแผน (สมกับเป็น ม. ที่มีแต่หัวกะทิ 😂) โดยการจ้างโค้ชที่มีประสบการณ์มาช่วยวิเคราะห์ตั้งแต่การจัดตำแหน่งของคนบนเรือ น้ำหนักรวมบนเรือ การแบ่ง phase การพายในแต่ละช่วงของการแข่ง 200 เมตร…

Phase 1 : First big 5 (5 ไม้แรก)
Phase 2 : 30 ไม้แรก
Phase 3 : 50 ไม้แรก
Phase 4 : Last dash (พลังเฮือกสุดท้าย)

โดยแต่ละ phase จะพายไม่เหมือนกัน โดยจะคำนวนระยะทางที่ทำได้ด้วยความเร็วในการพายที่แตกต่างกันในแต่ละ phase โดยจะมีมาตรฐานชัดเจนว่า 50 ไม้แรกต้องพายได้ 150 เมตร 

ถ้าพายไกลเกิน 150 เมตร ใน 50 ไม้ อาจไม่ใช่เรื่องดีเสมอไป เพราะอาจหมายความว่าใช้แรงมากไป และไม่เหลือแรงพายในช่วง Last dash ได้ อาจทำให้หมดแรง จังหวะพัง และถูกแซงในช่วงท้าย

หรือหากพายไม่ถึง 150 เมตรใน 50 ไม้แรก อาจหมายความว่าใช้แรงน้อยไป ทำให้ไม่สามารถขึ้นนำ หรือตามคนอื่นทันในช่วง Last dash ได้

150 เมตรคือระยะทางและความเร็วที่ลงตัวที่สุดสำหรับ 50 ไม้แรกตามศักยภาพของทีมฟู่ตั้น และเราก็ยึดตามแผนนี้ในการแข่งจริง (มาตรฐาน 50 ไม้สำหรับทีมคนจีนหรือทีมเก่ง ๆ อาจจะไปถึง 170-180 เมตรได้เลย) 

ถึงเวลาแข่งจริง การแข่งในรอบแรก เราทำเวลาได้ 54.28 วินาที ได้อันดับ 5 จากทุกทีม และผ่านเข้ารอบไฟนอลไป ส่วน ECNU ทำเวลาได้ 53 กว่า ๆ ครองอันดับ 2 ในรอบแรกไป

ในรอบไฟนอล 8 ทีมสุดท้าย เป็นรอบที่ตัดสินผู้ชนะโดยจะ reset เวลาใหม่ทั้งหมด รอบนี้ทีมเราทำเวลาได้ 54.31 วินาที (ห่างจากรอบแรกแค่ 3 เสี้ยววินาที) ในขณะที่ทีม ECNU ทำพลาดในช่วงท้าย ทำเวลาเสียไปหลายวินาที จนเวลาทะลุ 56 วินาที ซึ่งผิดมาตรฐานไปมาก และตกไปอยู่อันดับ 7 จาก 33 มหาวิทยาลัย

ส่วน 2 มหาวิทยาลัยม้ามืดในปีนี้ ที่เข้ามาพลิกเกม คว้าอันดับ 1 และอันดับ 2 ไปด้วยเวลา 53.69 วินาที และ 54.03 วินาที อย่าง Shanghai Normal University และ Jiangsu University of Science and Technology ก็ได้เฮกันไป

ส่วนทีมฟู่ตั้นของผมได้อันดับ 3 ไปครอง ถือว่าเป็นผลลัพธ์ที่เหนือความคาดหมายสำหรับทุกคน แม้จะไม่ได้อันดับหนึ่ง แต่บรรยากาศความสุขและความดีใจที่เกิดขึ้นในทีมนั้นก็ถือว่าเป็นผลลัพธ์ที่น่าพอใจ เพราะจริง ๆ นี่ก็เป็นครั้งแรกที่ฟู่ตั้นได้ top 3 ในรอบหลายปี 

ยิ่งไปกว่านั้น เราชนะ ECNU ได้ หลายคนบอกว่าถ้า ECNU ไม่พลาดทำเละก็อาจจะได้ที่ 1 หรือ 2 อย่างไรก็ดี การซ้อมทั้งหมดที่ผ่านมานั้น ก็เพื่อให้ไม่ทำพลาดในการแข่งจริง ผลลัพธ์ในการแข่งจริง ก็คือภาพสะท้อนการเตรียมตัวและการฝึกซ้อม ซึ่งฟู่ตั้นไม่พลาด และทำผลงานได้ดีกว่าที่คาดหมาย

ผมเดินไปหาเพื่อนเก่าบางคนในทีม ECNU เพื่อให้กำลังใจ และไปสวัสดีอาจารย์ที่เคยดูแลผม จนโดนแซวนิดหน่อยเรื่องที่ย้ายค่าย โดยรวม ทั้งเพื่อนและอาจารย์ต่างชื่นชมว่าทีมฟู่ตั้นทำได้ดีมากในปีนี้ ได้ที่สามนับว่าเหนือความคาดหมายในระดับหนึ่ง

ในแง่ของทีม ก็นับว่าเป็นเรื่องน่ายินดี แต่ในทางส่วนตัวผมเอง มันคือการที่ผมสามารถแก้ปมในใจที่ค้างคามานานไปได้ ได้แข่งแบบไม่บาดเจ็บ ได้เป็นตัวสำคัญของทีม และได้รางวัลจากการแข่งขัน ซึ่งทำให้ผมมีความสุข และพึงพอใจกับผลลัพธ์ของการฝึกฝนร่างกายและการขัดเกลาจิตใจมาตลอดชีวิต

แต่ให้พอแค่นี้ก็ไม่ได้หรอกครับ ปีหน้าผมจะลุยต่อ ความสำเร็จในปีนี้จะเป็นรากฐานสำคัญให้ต่อยอดได้ในปีหน้า เคมีของสมาชิกในทีมตอนนี้คือดีสุด ๆ พลังใจเต็มเปี่ยม ร่างกายก็ได้พัฒนา ค่าประสบการณ์ก็เพิ่มขึ้น แถมโดยรวม ด้วยโมเมนตั้มตอนนี้ ถ้าปีหน้าได้ซ้อมมากกว่านี้ เราต้องได้ดีกว่าอันดับ 3 แน่นอน

ถึงเวลานั้น ผมจะ finish the story เรื่องราวการเรียนต่อในประเทศจีนของผมได้อย่างสมบูรณ์แบบ

อว. ปลดล็อกนักเรียนทุน ปรับนโยบายทุนเรียนต่อ เปิดทางต่อยอดงานวิจัย สร้างเป็นธุรกิจจากต่างแดน

(26 พ.ค. 68) นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผยนโยบายใหม่ เปิดทางให้นักเรียนทุนไม่ต้องจำกัดแค่กลับมาใช้ทุนในหน่วยงานรัฐ แต่สามารถนำผลงานวิจัยไปต่อยอดเป็นธุรกิจ สนับสนุนสตาร์ตอัปไทย ผ่านกลไกของกระทรวง อว. เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงในประเทศ

รัฐมนตรี อว. กล่าวระหว่างพบปะนักเรียนไทยที่กำลังศึกษาอยู่ที่ Imperial College London สหราชอาณาจักร ว่า ได้เริ่มปลดล็อกข้อจำกัดต่าง ๆ เพื่อให้นักเรียนทุนสามารถใช้ความรู้ไปสู่ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะในสาขาสำคัญ เช่น IC Design สำหรับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทาง Imperial ในการสนับสนุนการต่อยอดสู่การก่อตั้งสตาร์ตอัป

ทั้งนี้ นักศึกษาไทยให้ความสนใจอย่างมาก พร้อมร่วมซักถามแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยรัฐมนตรี อว. ย้ำถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการฟังเสียงคนรุ่นใหม่ เพื่อนำไปปรับใช้นโยบายให้ตอบโจทย์ตรงจุด ทั้งในด้านการศึกษา การพัฒนากำลังคน และความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระดับโลก

นอกจากนี้ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี ยังให้กำลังใจนักศึกษาทุกคนในการตั้งใจเรียน พร้อมเปิดรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะ เพื่อเสริมการสนับสนุนในอนาคต โดยหวังให้คนรุ่นใหม่เป็นพลังหลักในการขับเคลื่อนประเทศ ผ่านการผสมผสานองค์ความรู้กับโอกาสทางธุรกิจที่เป็นรูปธรรม

‘รถถัง‘ ไม่ธรรมดา แชทคุย ’มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก‘ หลังเฟซบุ๊กมีปัญหาก่อนได้รับการแก้ไขตามคำขอ

(26 พ.ค. 68) รถถัง จิตรเมืองนนท์ สุดยอดนักมวยไทยชื่อดังระดับโลก อดีตเจ้าของแชมป์โลก ONE มวยไทย รุ่นฟลายเวต ส่งข้อความไปหา มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้ง และซีอีโอเฟซบุ๊ก เป็นการส่วนตัว หลังบัญชีของเขามีปัญหา

โดย มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ก็ตอบแชทรถถังเป็นอย่างดี พร้อมส่งทีมงานให้การช่วยเหลือในปัญหาดังกล่าว โดยระบุว่า "ทีมงานน่าจะช่วยรีเซ็ตบัญชีของคุณได้ แจ้งผมได้เลยหากคุณต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม"

ย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีก่อน รถถัง จิตรเมืองนนท์ เคยส่งข้อความไปหา มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก แล้วทีหนึ่ง โดยเวลานั้นเจ้าตัวมีปัญหาเกี่ยวกับแชทเฟซบุ๊กที่ไม่สามารถเปิดรูปได้ ซึ่งทางผู้ก่อตั้ง และซีอีโอเฟซบุ๊ก ก็ตอบกลับ และช่วยแก้ปัญหาให้

สำหรับ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้ง และซีอีโอเฟซบุ๊ก ถือเป็นหนึ่งในผู้มีชื่อเสียงระดับโลกที่ชื่นชอบในศิลปะการต่อสู้ และป้องกันตัวเป็นอย่างมาก มีฝีมือพอตัว ถึงขั้นเคยคว้าเหรียญทองยิวยิตสูรายการหนึ่งมาแล้ว แถมยังรู้จักเป็นการส่วนตัวกับ ชาตรี ศิษย์ยอดธง ประธาน และซีอีโอ วัน แชมเปียนชิพ อีกด้วย

‘ม.โตเกียว’ พร้อมช่วย ‘นศ.ต่างชาติ ฮาร์วาร์ด’ หลังทรัมป์แบน เล็งใช้แนวทางรับเรียนชั่วคราว แต่โอนหน่วยกิตได้เมื่อคลี่คลาย

(26 พ.ค. 68) มหาวิทยาลัยโตเกียว ประกาศเตรียมเปิดรับนักศึกษาญี่ปุ่นและนักศึกษาต่างชาติที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เพิกถอนสิทธิ์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในการรับนักศึกษาต่างชาติ โดยนักศึกษาจะสามารถเข้าเรียนเพื่อสะสมหน่วยกิต ซึ่งสามารถโอนกลับไปยังฮาร์วาร์ดได้หากสถานการณ์คลี่คลาย

สำหรับ ม.โตเกียว เคยใช้แนวทางนี้มาแล้วจากกรณีช่วยเหลือนักศึกษาในสงครามประเทศยูเครน ซึ่งจะอนุญาตให้เข้าร่วมเรียนในรายวิชาต่าง ๆ และใช้บริการห้องสมุด เพื่อให้โอกาสในการศึกษาต่อไม่สะดุด โดยรองอธิการบดี คาโอริ ฮายาชิ ระบุว่า สถาบันต้องการสนับสนุนนักศึกษาที่มีความตั้งใจจริง ให้สามารถเรียนต่อได้อย่างราบรื่น

ขณะเดียวกัน นักศึกษาญี่ปุ่นในฮาร์วาร์ดต่างแสดงความวิตกและไม่พอใจอย่างมากต่อคำสั่งของรัฐบาลสหรัฐฯ โดยหนึ่งในนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโตเกียวที่ไปศึกษาเรื่องควอนตัมคอมพิวเตอร์ที่ฮาร์วาร์ด กล่าวว่า หากต้องยุติการเรียนกลางคัน “ความพยายามที่ผ่านมาจะสูญเปล่า”

ทั้งนี้ มาตรการใหม่ของรัฐบาลสหรัฐฯ บังคับให้นักศึกษาต่างชาติที่ยังเรียนอยู่ในฮาร์วาร์ดต้องโอนย้ายไปสถาบันอื่น มิฉะนั้นจะสูญเสียสถานะพำนักในประเทศ ขณะที่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ของสหรัฐฯ กำลังเข้าสู่ช่วงปิดภาคฤดูร้อน อาจทำให้นักศึกษาหลายคนไม่มีเวลาย้ายสถาบันได้ทัน

ข้อมูลจากองค์การสนับสนุนนักเรียนญี่ปุ่นระบุว่า ปัจจุบันมีนักเรียนญี่ปุ่นกว่า 13,500 คนในสหรัฐฯ โดย 260 คนอยู่ที่ฮาร์วาร์ด นักวิชาการในญี่ปุ่นเตือนว่าหากสถานการณ์ยังไม่ชัดเจนเกี่ยวกับสถานะของนักศึกษาต่างชาติ สหรัฐฯ อาจสูญเสียความนิยมในฐานะจุดหมายด้านการศึกษานานาชาติ โดยแคนาดา สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย อาจกลายเป็นทางเลือกที่น่าสนใจกว่า


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top