Thursday, 22 May 2025
ค้นหา พบ 48285 ที่เกี่ยวข้อง

23 พฤษภาคม พ.ศ. 2545 รัชกาลที่ 10 ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ 'โรงพยาบาล 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ'

ย้อนไปเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2545 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ พร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ ไปทรงประกอบพิธี วางศิลาฤกษ์ พร้อมพระราชทานนาม 'โรงพยาบาล 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ' ณ บ้านปลาดุก หมู่ 3 อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

สำหรับโรงพยาบาลแห่งนี้ เกิดขึ้นจากพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงพยาบาลสงฆ์ต้นแบบ เพื่อบำบัดโรคาพาธ ดูแลสุขภาพพระภิกษุสามเณร และดูแลสุขภาพประชาชนผู้ด้อยโอกาส ในชนบทของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด

เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมา พระสงฆ์ในชนบทของประเทศไทย เวลาอาพาธจะเข้ารับการบำบัดรักษาที่โรงพยาบาลท้องถิ่นในอำเภอ หรือในจังหวัดของตนปะปนและแออัดกับคนไข้คฤหัสถ์ ซึ่งมีจำนวนมากอยู่แล้วจนเตียงและห้องไม่เพียงพอ อันเป็นภาพที่ไม่เหมาะสม ในกรณีที่เป็นเรื่องสำคัญก็จะเข้าไปรับการบำบัดที่โรงพยาบาลสงฆ์ในกรุงเทพฯ ซึ่งก็มักจะมีปัญหาในเรื่องหาที่พำนักก่อนเข้าโรงพยาบาล รวมถึงปัญหาค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่าง ๆ เช่น ค่าพาหนะและภัตตาหารตลอดถึงจะต้องหาพระเถระผู้ใหญ่ให้การรับรองเข้าโรงพยาบาลเป็นต้น

ปัญหาเรื้อรังตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาก็คือ พระสงฆ์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นพระสงฆ์ส่วนใหญ่ในประเทศ ต่างประสบความเดือดร้อนในเรื่องต่าง ๆ ดังกล่าวเป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้น พระสงฆ์และประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจึงต้องการให้มี 'โรงพยาบาลสงฆ์' ขึ้น ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อขจัดขั้นตอนปัญหาต่าง ๆ ในการบำบัดอาพาธของพระสงฆ์ และเพื่อแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลท้องถิ่น ในการบำบัดโรคภัยไข้เจ็บของประชาชนในชนบทด้วย แต่ความต้องการในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนดังกล่าว ยังมิได้รับการสนองตอบจากรัฐบาล เนื่องจากภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจดังเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว ด้วยเหตุนี้ คณะสงฆ์และประชาชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงเห็นควรรณรงค์ประชาชนร่วมกันบริจาคต้นทุนก่อสร้างตามกำลัง ก่อนที่จะได้รับความสนับสนุนจากรัฐบาล

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เมื่อครั้งยังเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงทราบถึงปัญหาและทรงตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการก่อสร้างโรงพยาบาลนี้ เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติ ในมหามงคลเฉลิมพระชนม 50 พรรษา ในปีพุทธศักราช 2545 พร้อมพระราชทานนามโรงพยาบาลนี้ว่า 'โรงพยาบาล 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ'

‘อิสราเอล’ เปิดฉากยิงเตือนคณะต่างชาติ จี้สอบด่วน..ทูตญี่ปุ่น-ยุโรปหวิดโดนลูกหลง

(22 พ.ค. 68) เกิดเหตุทหารอิสราเอลยิงปืนเตือนใส่คณะผู้แทนทางการทูตกว่า 20 ประเทศ ขณะลงพื้นที่ใกล้แคมป์ผู้ลี้ภัยในเมืองเจนิน เขตเวสต์แบงก์ เมื่อวันที่ 21 พ.ค. โดยมีเจ้าหน้าที่จากญี่ปุ่น จีน ฝรั่งเศส ตุรกี อียิปต์ รัสเซีย และอีกหลายประเทศร่วมอยู่ด้วย แม้ไม่มีผู้บาดเจ็บ แต่หลายชาติแสดงความไม่พอใจอย่างรุนแรง พร้อมเรียกร้องให้อิสราเอลสอบสวนเหตุการณ์

รัฐบาลญี่ปุ่นยืนยันว่ามีเจ้าหน้าที่ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ และได้ยื่นประท้วงอย่างเป็นทางการ โดยเรียกร้องให้อิสราเอลชี้แจงและป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ ด้านโฆษกของสหประชาชาติระบุว่า การยิงปืนใส่คณะทูต 'ไม่อาจยอมรับได้' และขอให้อิสราเอลเคารพความปลอดภัยของคณะทูตทุกชาติ

ขณะที่ กองทัพอิสราเอลชี้แจงว่าคณะทูตเบี่ยงเบนจากเส้นทางที่ได้รับอนุญาตและเข้าสู่เขตหวงห้าม จึงจำเป็นต้องยิงปืนเตือนเพื่อป้องกันความเสี่ยง พร้อมแสดงความเสียใจต่อ 'ความไม่สะดวก' ที่เกิดขึ้น ขณะที่หลายประเทศ ได้แก่ แคนาดา เยอรมนี อิตาลี สเปน และตุรกี ได้เรียกตัวทูตอิสราเอลเข้าชี้แจง หรือเตรียมดำเนินมาตรการทางการทูต

ทั้งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางแรงกดดันต่ออิสราเอลจากนานาชาติให้หยุดปฏิบัติการรุนแรงในฉนวนกาซา ซึ่งส่งผลให้พลเรือนเสียชีวิตกว่า 53,000 ราย และเกิดวิกฤตมนุษยธรรมอย่างรุนแรง ขณะที่สหภาพยุโรปเริ่มทบทวนความร่วมมือกับอิสราเอล และบางประเทศเสนอให้พิจารณาคว่ำบาตรรัฐมนตรีอิสราเอลด้วย

'เนติวิทย์' ขึ้นศาล! คดีหนีทหารครั้งแรก ยังยืนกรานปฏิเสธข้อกล่าวหา พร้อมสู้คดี

(22 พ.ค.68) นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นักเคลื่อนไหวกิจกรรมทางการเมือง โพสต์เฟซบุ๊กว่า ขึ้นศาลคดีต่อต้านเกณฑ์ทหารครั้งแรก วันนี้ 22 พฤษภาคม ครบรอบ 11 ปีของการรัฐประหารในประเทศไทย (English version below)

เช้าวันนี้ เวลา 10.00 น. ผมเดินทางไปที่ศาลแขวงสมุทรปราการ หลังจากอัยการมีคำสั่งฟ้องผมในข้อหาหลีกเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร

เมื่อปีที่ผ่านมา ผมได้ไปที่หน้าหน่วยตรวจเลือก แต่ปฏิเสธที่จะร่วมจับใบดำใบแดง ผมไม่ได้หลบหนี แต่เลือกที่จะไม่ร่วมมือกับระบบที่ผมไม่เชื่อถือ ด้วยเหตุผลทางมโนธรรม

ผมขอยืนยันการปฏิเสธข้อกล่าวหา

การปฏิเสธเกณฑ์ทหารด้วยเหตุผลทางมโนธรรม (conscientious objection) เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้รับการรับรองในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

ประชาชนไม่ควรถูกบังคับให้เข้าร่วมในระบบที่ฝึกฝนความรุนแรงหรือขัดต่อความเชื่อส่วนบุคคล ตลอดประวัติศาสตร์ มีผู้คนมากมายลุกขึ้นปฏิเสธการเกณฑ์ทหารด้วยจิตสำนึกทางศีลธรรม หนึ่งในนั้นคือ มูฮัมหมัด อาลี ตำนานนักมวยผู้ประกาศอย่างกล้าหาญว่า “ผมไม่มีเรื่องอะไรกับพวกเวียดกง”

เขาสูญเสียตำแหน่งแชมป์โลก และถูกจำคุก แต่จุดยืนของเขาได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้คนทั้งโลก ในหลายประเทศ เช่น เกาหลีใต้ เยอรมนี อิสราเอล และอีกมากมาย

มีผู้ปฏิเสธการเกณฑ์ทหารอย่างสันติและยอมแลกด้วยเสรีภาพส่วนตัว พวกเขาคือแรงบันดาลใจของผม

ระบบเกณฑ์ทหารในไทย เป็นต้นเหตุของการคอร์รัปชัน ความรุนแรง และการใช้อำนาจของกองทัพเกินขอบเขตมาช้านาน ผมเชื่อว่า การต่อสู้ด้วยสันติวิธีครั้งนี้จะนำไปสู่กองทัพที่โปร่งใสขึ้น และสังคมไทยที่เคารพเสรีภาพมากขึ้น เหมือนเมื่อ 11 ปีก่อนที่ผมลุกขึ้นต่อต้านรัฐประหาร

วันนี้ ผมยังคงยืนหยัดในแนวทางเดิม แนวทางของเสรีภาพ มโนธรรม และความไม่รุนแรง

อย่างไรก็ตาม ศาลแขวงสมุทรปราการมีคำสั่ง อนุญาตให้ประกันตัว เนื่องจากไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ไม่ต้องวางหลักทรัพย์ แต่ให้สาบานตนแทน

ผู้เชี่ยวชาญชี้แผน ‘Golden Dome’ เสี่ยงล้มเหลวสูง เทคโนโลยียังไม่พร้อม รับมือ ‘ขีปนาวุธข้ามทวีป’ ได้ไม่จริง

(22 พ.ค. 68) โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เปิดตัวแผนงานใหญ่ชื่อ “Golden Dome” มูลค่ากว่า 175 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสร้างระบบป้องกันขีปนาวุธที่ครอบคลุมทั้งภาคพื้นดินและอวกาศ โดยหวังให้เป็นประการสำคัญในการสกัดภัยคุกคามจากขีปนาวุธข้ามทวีปในอนาคต โดยได้แรงบันดาลใจจากระบบ “Iron Dome” ของอิสราเอลที่ใช้รับมือจรวดจากฉนวนกาซา

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารหลายรายแสดงความกังวลว่า แผนของทรัมป์อาจไม่สามารถบรรลุผลตามที่ตั้งเป้าไว้ ยูริ คนูตอฟ นักประวัติศาสตร์ด้านกองกำลังป้องกันทางอากาศของรัสเซีย ระบุว่า Iron Dome มีจุดแข็งในการจัดการเป้าหมายเดี่ยวหรือกลุ่มเล็ก แต่ไม่สามารถรับมือการโจมตีแบบรวมหมู่หรือการยิงขีปนาวุธจำนวนมากได้ ซึ่งเป็นลักษณะของภัยคุกคามในยุคสงครามนิวเคลียร์

อิกอร์ โคโรตเชนโก บรรณาธิการนิตยสาร National Defense เสริมว่า จุดต่างสำคัญระหว่าง Iron Dome และ Golden Dome คือระดับภัยคุกคามที่ต้องรับมือ โดย Iron Dome ออกแบบมาเพื่อสกัดจรวดทำเองของกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ ขณะที่ Golden Dome มีเป้าหมายรับมือขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBM) ที่ซับซ้อนและเร็วกว่า ซึ่งยังไม่มีเทคโนโลยีใดในปัจจุบันที่สามารถรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังตั้งข้อสังเกตว่า Golden Dome มีลักษณะคล้ายคลึงกับโครงการ “สงครามดวงดาว” (Strategic Defense Initiative – SDI) ที่ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน เสนอในยุค 1980 ซึ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีล้ำยุค เช่น เลเซอร์และขีปนาวุธจากอวกาศ แต่ล้มเหลวเพราะข้อจำกัดทางเทคนิคและงบประมาณ แม้เวลาผ่านมากว่า 40 ปี สหรัฐฯ ก็ยังไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านั้นให้เป็นจริงได้

แม้ส่วนภาคพื้นดินของแผน Golden Dome จะสามารถอัปเกรดจากระบบป้องกันขีปนาวุธที่มีอยู่แล้ว เช่น THAAD, Aegis และ Patriot ได้ แต่ส่วนที่เกี่ยวข้องกับอวกาศจะต้องพัฒนาขึ้นใหม่ทั้งหมด ซึ่งเป็นภารกิจที่ท้าทายและใช้เวลานาน ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า หากเกิดการยิงขีปนาวุธข้ามทวีปในจำนวนมาก Golden Dome ก็อาจไม่สามารถรับมือได้ในเชิงปฏิบัติ และอาจกลายเป็นอีกหนึ่งโครงการล้มเหลวเช่นเดียวกับในอดีต

ทรูยอมรับสัญญาณขัดข้อง แจ้งชดเชยผ่าน SMS กสทช. จี้มาตรฐานบริการ เตือนอาจมีบทลงโทษ

(22 พ.ค. 68) ภายหลังผู้ใช้บริการเครือข่ายทรู (True) ทั่วประเทศประสบปัญหาสัญญาณมือถือและอินเทอร์เน็ตล่มนานหลายชั่วโมง ส่งผลกระทบต่อการติดต่อสื่อสารและการดำเนินธุรกิจอย่างกว้างขวาง กสทช. ได้เรียกผู้บริหารของบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) เข้าชี้แจงโดยด่วน พร้อมสั่งให้รายงานสาเหตุปัญหาและมาตรการเยียวยาผู้ใช้ภายในวันเดียวกัน

ทรูประกาศขออภัยลูกค้า พร้อมแจ้งว่าบริการวอยซ์และดาต้ากลับมาใช้งานได้ตามปกติแล้วทั่วประเทศ พร้อมเตรียมส่ง SMS แจ้งรายละเอียดการชดเชยให้ลูกค้าระบบรายเดือนและเติมเงินที่ได้รับผลกระทบ ขณะที่ กสทช. สั่งกำชับให้บริษัทเร่งตรวจสอบและพัฒนาระบบเครือข่ายให้มีความเสถียร พร้อมเตือนว่าหากเกิดเหตุซ้ำอีกจะพิจารณาบทลงโทษขั้นต่อไป

ช่วงบ่ายวันเดียวกัน คณะผู้บริหารทรูได้เข้าพบ กสทช. เพื่อรายงานแผนป้องกันไม่ให้เหตุลักษณะนี้เกิดซ้ำ และแสดงความพร้อมในการเยียวยาผู้ใช้บริการที่ได้รับผลกระทบจากเหตุขัดข้องในครั้งนี้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top