Wednesday, 21 May 2025
ค้นหา พบ 48259 ที่เกี่ยวข้อง

ตำรวจพัทยาเจ๋ง “ผบช.ภ.2” ชมปิดจ๊อบไว รวบ 2 อดีตช่าง คิดสั้นเป็นโจร ตระเวนลักทรัพย์พูลวิลล่า 12 วัน ก่อ 5 คดี สุดท้ายหนีไม่รอด

(19 พ.ค. 68) ผบช.ภ.2 ชื่นชม “ตำรวจพัทยา” ปิดจ๊อบไว สร้างความเชื่อมั่น สืบพัทยาปิดฉาก 2 โจรแสบอดีตช่างตกแต่งต่อเติม ตระเวนย่องเบา 12 วัน ก่อ 5 คดี ลักทรัพย์บ้านพูลวิลล่านักท่องเที่ยวกลางดึก รวบได้คาบ้านเช่า ยึดของกลางอื้อกว่า 100 รายการ สารภาพหาเงินใช้หนี้ เสพยา สุดท้ายไม่รอด

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2568 พล.ต.ท.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 เปิดเผยว่า ชื่นชมตำรวจ สภ.พัทยา ที่ปิดจ๊อบคดีคนร้ายตระเวนลักทรัพย์นักท่องเที่ยวในบ้านพักแบบพูลวิลล่าได้อย่างรวดเร็ว สืบสวนเกาะติดจนจับกุมคนร้ายได้พร้อมของกลาง สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว 

พล.ต.ท.ยิ่งยศ เผยว่า เมื่อเวลา 01.06 น. วันนี้ (19 พฤษภาคม 2568) พ.ต.อ.เอนก สระทองอยู่ ผกก.สภ.เมืองพัทยา พ.ต.ท.อรุษ สภานนท์ รอง ผกก.สส.สภ.เมืองพัทยา พร้อมกำลังชุดสืบสวน เข้าจับกุม นายอธิป หรือ “อาร์ม” อายุ 31 ปี และนายกุน อายุ 22 ปี สัญชาติกัมพูชา ที่บ้านเช่าไม่มีเลขที่ ซอยเขามะกอก ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี พร้อมของกลางนับร้อยรายการ ทั้งเงินสด ของแบรนด์เนม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ โดยการจับกุมครั้งนี้เนื่องนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ เข้าแจ้งความว่าถูกลักทรัพย์ขณะเข้าพักบ้านพักแบบพูลวิลล่าในพื้นที่พัทยา โดยเกิดเหตุต่อเนื่อง 5 ครั้งในบ้านพัก 5 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 5 -17 พฤษภาคม 2568 ฝ่ายสืบสวน สภ.เมืองพัทยา จึงเร่งสืบสวน ตรวจสอบกล้องวงจรปิด จนพบชายต้องสงสัย 2 คน ขี่รถจักรยานยนต์วนเวียนในพื้นที่ก่อนเกิดเหตุซ้ำ ๆ ตามแกะรอยจนจับกุมได้พร้อมของกลางจำนวนมาก

ผบช.ภ.2 เผยด้วยว่า จากการสอบสวน ผู้ต้องหาทั้งสองรับสารภาพว่าก่อเหตุจริง รับว่าเคยทำงานเป็นช่างต่อเติมบ้านพักพูลวิลล่าหลายแห่งจึงรู้ทางเข้าออก ซอกมุมลับ และจุดอ่อนของบ้านแต่ละหลังอย่างดี ก่อนเฝ้าดูบ้านที่มีนักท่องเที่ยวเข้าพัก รอจังหวะที่เหยื่อดื่มหนักจนเมาหลับ ก็ย่องเข้ากวาดทรัพย์สินหลบหนี ของกลางที่ยึดมาได้ ประกอบด้วยนาฬิกาแบรนด์หรู กระเป๋าแบรนด์เนมโทรศัพท์มือถือ เครื่องเล่นเกม บัตรต่าง ๆ รวมถึงเงินสดทั้งสกุลบาทและต่างประเทศ กว่า 100 รายการ โดยผู้ต้องหาอ้างว่าทรัพย์สินที่ลักมาแบ่งกันนำไปขายใช้หนี้ และซื้อยาเสพติดบางส่วนแล้ว จึงแจ้งข้อหา “ร่วมกันลักทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยทำอันตรายสิ่งกีดกั้น” พร้อมนำตัวส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมาย ส่วนของกลางจะเปิดให้ผู้เสียหายนำหลักฐานมาติดต่อขอรับคืนต่อไป

“ขอชื่นชมในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทุกนาย โดยเฉพาะทีมสืบสวน ที่ใช้ทั้งความสามารถ ความมุ่งมั่น และความอดทน แกะรอยคนร้ายจนสามารถจับกุมตัวได้ครบทีมพร้อมของกลาง ถือเป็นผลงานที่สมบูรณ์แบบ สร้างความมั่นใจให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวอย่างแท้จริงนี่คือภาพของตำรวจมืออาชีพ ที่ไม่ยอมปล่อยให้คนร้ายลอยนวล ทุกคดีต้องมีคำตอบ ความปลอดภัยของประชาชนต้องมาก่อน เพราะ “ทุกความปลอดภัยของประชาชน คือความสำเร็จของตำรวจ” การป้องกันเหตุได้ เมื่อเกิดเหตุจับกุมคนร้ายได้ เป็นความภาคภูมิใจของตำรวจ ขอให้รักษามาตรฐานแห่งความเป็นตำรวจไทย โดยเฉพาะพัทยาเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก หน้าที่ของตำรวจต้องสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว ” ผบช.ภ.2  

พล.ต.ท.ยิ่งยศ ฝากเตือนผู้ประกอบการบ้านพักพูลวิลล่า และนักท่องเที่ยวทุกคน ว่า ให้เพิ่มความระมัดระวัง ตรวจสอบระบบล็อก ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด ติดตั้งกล้องวงจรปิด เพื่อเป็นการป้องกันเบื้องต้น และช่วยเหลือการสืบสวนในภายหลัง  และหากมีเหตุด่วนเหตุร้ายให้โทรแจ้งตำรวจที่เบอร์ 191 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ตำรวจภูธรภาค 2 พร้อมเข้าไปดูแล 

‘วลาดิมีร์ เมดินสกี’ หนึ่งในขุนพลข้างกาย ‘ปูติน’ นักประวัติศาสตร์ผู้กำหนดอัตลักษณ์แห่งรัสเซีย

เมื่อกล่าวถึงการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หนึ่งในชื่อที่ปรากฏอย่างเด่นชัดบนโต๊ะเจรจาคือ วลาดิมีร์ เมดินสกี นักการเมือง นักประวัติศาสตร์และที่ปรึกษาประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินผู้ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายรัสเซียในหลายเวทีสำคัญ รวมถึงการเจรจา ณ กรุงอิสตันบูล

วลาดิมีร์ โรสตีสลาวิช เมดินสกี (Владимир Ростиславович Мединский) เกิดเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ค.ศ. 1970 ที่เมืองสเมล่า (Smela) ในเขตสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตยูเครน (ปัจจุบันอยู่ในยูเครนกลาง) ครอบครัวของเขาย้ายมาอยู่ในกรุงมอสโกตั้งแต่ยังเด็ก โดยมีพื้นฐานชีวิตในกลุ่มชนชั้นกลางสายเทคนิค (technical intelligentsia) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาอย่างยิ่งในยุคโซเวียต เส้นทางวิชาการของเมดินสกีเริ่มต้นอย่างจริงจังที่ Moscow State Institute of International Relations (MGIMO) สถาบันซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น “โรงเรียนเตรียมผู้นำของรัสเซีย” หรือ “Harvard แห่งมอสโก” ที่ผลิตบุคลากรสำหรับการทูตและนโยบายระหว่างประเทศของสหภาพโซเวียตและต่อมาในยุครัสเซียหลังโซเวียต เมดินสกีศึกษาด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 

แต่ในช่วงเวลานั้นเองเขาเริ่มให้ความสนใจพิเศษกับมิติของ “อัตลักษณ์ทางประวัติศาสตร์” และบทบาทของการรับรู้ทางจิตวิทยาในระดับมหภาค (mass psychology) หลังจบการศึกษาในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ในช่วงรัสเซียเผชิญภาวะสลายตัวทางอุดมการณ์หลังการล่มสลายของโซเวียต เมดินสกีกลับมาใช้เวลาในโลกวิชาการโดยเขียนวิทยานิพนธ์ระดับดุษฎีบัณฑิตในหัวข้อที่สะท้อนตัวตนทางอุดมการณ์อย่างชัดเจน ในหัวข้อ “คุณลักษณะของภาพลักษณ์ของรัสเซียในต่างประเทศ: กลยุทธ์ของรัฐในการจัดการการรับรู้ทางประวัติศาสตร์” งานวิทยานิพนธ์ของเขามุ่งไปที่การวิเคราะห์ภาพลักษณ์ของรัสเซียในตะวันตกและเสนอว่า รัสเซียจำเป็นต้องสร้างกลไกเชิงรัฐเพื่อ “ควบคุมการรับรู้” ทั้งในและนอกประเทศ 

นับจากนั้นเมดินสกีได้ผลิตงานเขียนทางประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์จำนวนมาก โดยมีเป้าหมายไม่ใช่แค่การศึกษาอดีตแต่คือการ “จัดระเบียบอดีตเพื่อควบคุมอนาคต” แนวทางที่สะท้อนโลกทัศน์แบบรัฐนิยมอนุรักษนิยมอย่างชัดเจน ตัวอย่างผลงานของเขา เช่น “Война. Мифы СССР. 1939–1945” (สงคราม: ตำนานแห่งโซเวียต) มีสาระสำคัญเกี่ยวกับความพยายามลบล้างการตีความตะวันตกเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 และ“О правде истории” (ว่าด้วยความจริงของประวัติศาสตร์) ที่เสนอว่าประวัติศาสตร์ไม่ควรถูกทิ้งให้เป็นพื้นที่เสรีทางปัญญาแต่ควรถูกควบคุมโดยรัฐเพื่อรักษาอำนาจและความสามัคคี เมดินสกีมีลักษณะเฉพาะที่หาได้ยากในหมู่นักวิชากา คือความสามารถในการแปลงทฤษฎีเชิงวิเคราะห์ให้กลายเป็นนโยบายสาธารณะที่จับต้องได้ เขาไม่ได้เขียนงานเพื่อโต้วาทีกับนักวิชาการตะวันตกเพียงอย่างเดียวแต่เพื่อ “แปลงอดีตให้กลายเป็นเครื่องมือของรัฐ” ทำให้เขากลายเป็นหนึ่งใน “นักประวัติศาสตร์เชิงรัฐ” (state-aligned historian) ที่ทรงอิทธิพลที่สุดของรัสเซียร่วมสมัย

วลาดิมีร์ เมดินสกี เป็นนักคิดที่ให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์ชาติอย่างลึกซึ้งโดยมีความเชื่อชัดเจนว่า “ประวัติศาสตร์ไม่ใช่ข้อเท็จจริงนิ่งเฉยแต่สามารถถูกเล่าใหม่เพื่อประโยชน์ของรัฐ” ความเชื่อนี้นำไปสู่การสร้างงานเขียนเชิง “ประวัติศาสตร์ปกป้องตนเอง” (Defensive History) ซึ่งมีเป้าหมายหลักเพื่อสร้างความชอบธรรมและปกป้องภาพลักษณ์ของรัสเซียบนเวทีระหว่างประเทศ เมดินสกีไม่ปฏิเสธว่าประวัติศาสตร์ควรเป็นเครื่องมือของรัฐในการรักษาอำนาจและความมั่นคง เขายืนยันว่าวิธีเล่าอดีตของชาติต้องสนับสนุนเป้าหมายในปัจจุบันไม่ใช่บ่อนทำลายศรัทธาหรือเปิดทางให้แนวคิดเสรีนิยมแบบตะวันตกเข้ามาแทรกแซง 

จากฐานคิดเชิงอุดมการณ์นี้เมดินสกีเดินหน้าสู่วงการเมืองอย่างมั่นคงด้วยตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมแห่งรัสเซีย (2012–2020) ซึ่งแม้จะดูเหมือนตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ไม่สูงมาก แต่สำหรับเขานี่คือสนามรบอันแท้จริงของสงครามอัตลักษณ์ชาติ เมดินสกีเปลี่ยนกระทรวงวัฒนธรรมให้กลายเป็นแนวหน้าในการต่อสู้เชิงวาทกรรมและอุดมการณ์ ตลอดช่วงดำรงตำแหน่งเขาใช้กระทรวงเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลักดันแนวคิด Russian cultural exceptionalism หรือความเชื่อว่ารัสเซียมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่สูงส่งกว่าตะวันตก จึงต้องได้รับการปกป้อง ฟื้นฟูและเผยแพร่อย่างเข้มข้น วาทกรรมนี้ไม่เพียงสะท้อนผ่านวรรณกรรมและภาพยนตร์เท่านั้น แต่แทรกซึมเข้าไปในระบบการศึกษา พิพิธภัณฑ์ กิจกรรมรัฐพิธีและกองทุนสนับสนุนงานศิลปะ โดยมีเงื่อนไขว่าเนื้อหาต้อง “ไม่บ่อนทำลายศีลธรรมชาติหรือเกียรติภูมิของรัสเซีย” ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่เมดินสกีเรียกว่า “วัฒนธรรมคือสมรภูมิ” เขาส่งเสริมภาพยนตร์รักชาติ เช่น 28 Panfilov Guardsmen และสารคดีเชิงโฆษณาชวนเชื่อที่พยายามสร้างภาพของรัสเซียในอดีตที่กล้าหาญและศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงการรื้อฟื้น “วันแห่งความทรงจำประจำชาติ” เพื่อเน้นย้ำบทบาทอันศักดิ์สิทธิ์ของรัสเซียในชัยชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งกลายเป็นศูนย์กลางความชอบธรรมเชิงประวัติศาสตร์ในยุคปูติน

ภายใต้การนำของเมดินสกีรัฐบาลรัสเซียเดินหน้าโครงการสร้าง “ความทรงจำของชาติ” (national memory construction) ในทุกมิติของสังคมเพื่อปลูกฝังแนวคิดชาตินิยมแบบอนุรักษ์นิยมอย่างเข้มแข็ง หลังพ้นตำแหน่งรัฐมนตรี เขาไม่ได้ลดบทบาทลงกลับกลายเป็นที่ปรึกษาประธานาธิบดีด้านนโยบายประวัติศาสตร์และอุดมการณ์ของรัฐซึ่งเปรียบเสมือน “เสนาบดีเงา” ของวลาดิมีร์ ปูติน ในการกำหนดกรอบวาทกรรมรัฐ เมดินสกีเป็นหนึ่งในแกนนำทีมใกล้ชิดเครมลินที่วางกรอบวาทกรรมความสัมพันธ์รัสเซีย–ยูเครน และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังบทความสำคัญของปูติน ปี ค.ศ. 2021 เรื่อง On the Historical Unity of Russians and Ukrainians ที่ยืนยันว่ายูเครนไม่มีตัวตนทางประวัติศาสตร์เป็นรัฐแยกต่างหาก กรอบคิดนี้กลายเป็นพื้นฐานอุดมการณ์รองรับการรุกรานทางทหาร

บทบาทของเมดินสกียิ่งชัดเจนขึ้นเมื่อได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าคณะเจรจารัสเซีย ในการประชุมอิสตันบูลปี ค.ศ. 2022 แม้ไม่ใช่ทหารหรือเจ้าหน้าที่ข่าวกรองแต่การส่งนักประวัติศาสตร์ในฐานะตัวแทนเจรจาส่งสัญญาณชัดเจนว่าสงครามครั้งนี้ไม่ใช่แค่สนามรบทางกายภาพหากแต่ยังเป็นสงครามแห่งความหมายและความชอบธรรมทางประวัติศาสตร์ เมดินสกีทำหน้าที่เสมือน “นักบวชแห่งชาติ” ที่ประกาศว่ารัสเซียมีสิทธิเหนือยูเครน ไม่ใช่ด้วยพละกำลังแต่ด้วยประวัติศาสตร์ที่ถูกเล่าใหม่ บทบาทนี้สะท้อนชัดว่าเมดินสกีไม่ใช่แค่นักวิชาการอีกต่อไป แต่คือนักอุดมการณ์ของรัฐที่เป็น “สะพานเชื่อม” ระหว่างโลกปัญญาชนและอำนาจรัฐ เขาไม่ได้เพียงวิเคราะห์รัฐหากแต่กำหนดบทบาทและทิศทางของรัฐผ่านการเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ที่หล่อหลอมโลกทัศน์ทางการเมืองยุครัสเซียปูตินให้มีรากฐานบนประวัติศาสตร์ร่วม อัตลักษณ์รัสเซียแท้และความชอบธรรมแบบจักรวรรดิอย่างแนบแน่น

ในยุคที่โลกาภิวัตน์และกระแสเสรีนิยมแบบตะวันตกทะลักเข้ามาทั่วทุกมุมโลก รัสเซียภายใต้การนำของเมดินสกีตระหนักดีว่าการต่อสู้เพื่อ “อธิปไตยทางวัฒนธรรม” คือสนามรบที่สำคัญไม่แพ้การเผชิญหน้าทางทหารและการเมือง อธิปไตยทางวัฒนธรรมในความหมายของเมดินสกีไม่ได้หมายถึงเพียงการอนุรักษ์วัฒนธรรมดั้งเดิมเท่านั้นแต่หมายถึงการควบคุมและกำหนดขอบเขตของ “ความจริง” และ “ความหมาย” ที่ประชาชนรัสเซียจะรับรู้และเชื่อถือ เมดินสกีและทีมงานรัฐบาลมองว่ากระแสวัฒนธรรมเสรีนิยมตะวันตก — ทั้งในรูปแบบแนวคิดประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน เสรีภาพของสื่อ และค่านิยมเรื่องเพศ สิทธิชนกลุ่มน้อย — เป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงต่อความมั่นคงของรัฐและเอกลักษณ์ของชาติ รัฐบาลรัสเซียจึงประกาศ “สงครามทางวัฒนธรรม” อย่างเปิดเผย เพื่อปกป้อง “จิตวิญญาณรัสเซีย” จากการถูกกลืนกลายและล้มละลายโดยวัฒนธรรมโลกาภิวัตน์และลัทธิเสรีนิยมตะวันตก ยุทธศาสตร์ของเมดินสกีจึงมุ่งเน้นการผลักดันวาทกรรมที่ว่ารัสเซียเป็น “อารยธรรมที่แตกต่าง” และ “สูงส่งกว่าตะวันตก” โดยย้ำว่ารัสเซียต้องเป็นผู้กำหนดนิยามของตนเอง ไม่ใช่ยอมเป็น “ลูกไล่” หรือ “ผู้รับวัฒนธรรม” จากโลกตะวันตก 

กระบวนการนี้ไม่ใช่เพียงแค่การส่งเสริมงานศิลปะหรือวรรณกรรมรักชาติเท่านั้นแต่คือการสร้าง “เกราะทางความคิด” ให้กับสังคมรัสเซีย ผ่านการควบคุมสื่อ การตั้งกฎเกณฑ์เข้มงวดต่อสื่อสังคมออนไลน์และการรณรงค์ส่งเสริมค่านิยมแบบอนุรักษ์นิยมอย่างเข้มข้น การต่อต้านค่านิยมตะวันตกในแง่นี้ยังสะท้อนในนโยบายทางการศึกษาที่บังคับให้โรงเรียนและมหาวิทยาลัยต้องปลูกฝังหลักสูตรที่สนับสนุนอุดมการณ์รัฐโดยเฉพาะการเน้นย้ำบทบาทของประวัติศาสตร์รัสเซียในฐานะ “ผู้พิทักษ์ศีลธรรมโลก” และการแสดงออกถึงความเป็น “อารยธรรมออร์โธดอกซ์” ที่แตกต่างจากโลกเสรีนิยมตะวันตกอย่างสิ้นเชิง ยุทธศาสตร์ “อธิปไตยทางวัฒนธรรม” นี้มีความหมายในเชิงลึกเพราะมันกำหนดความชอบธรรมของอำนาจรัฐในยุคปูตินและวางรากฐานให้เกิดความเป็นเอกภาพทางสังคมที่มีอุดมการณ์เป็นศูนย์กลาง 

ความพยายามของเมดินสกีในการขับเคลื่อนวัฒนธรรมให้เป็นเครื่องมือทางอุดมการณ์ทำให้รัสเซียสามารถใช้ “วัฒนธรรม” เป็นดาบสองคมทั้งปกป้องความมั่นคงภายในและขยายอิทธิพลเชิงนิ่มนวล (soft power) ไปยังโลกภายนอก ด้วยเหตุนี้ “อธิปไตยทางวัฒนธรรม” จึงไม่ใช่เพียงแค่นโยบายทางวัฒนธรรมธรรมดาแต่คือหัวใจของสงครามความหมายและการประกาศอิสรภาพทางอุดมการณ์ของรัสเซียในโลกที่สื่อสารข้ามพรมแดนอย่างเสรี การควบคุมวัฒนธรรมจึงกลายเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุดของรัฐในการต้านทานกระแสโลกาภิวัตน์และรักษาอำนาจอธิปไตยของชาติเอาไว้ได้อย่างยั่งยืน

ในยุทธศาสตร์วาทกรรมของรัสเซียยุคปูติน เมดินสกีคือผู้วางกรอบและขับเคลื่อนแนวคิด “รัสเซียผู้ยิ่งใหญ่” (Great Russia) ให้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองและอุดมการณ์สำคัญที่หล่อหลอมความชอบธรรมของรัฐในการดำเนินนโยบายทั้งในและนอกประเทศโดยเฉพาะในบริบทของสงครามกับยูเครน “รัสเซียผู้ยิ่งใหญ่” ไม่ใช่แค่คำขวัญหรือความภาคภูมิใจทางชาติพันธุ์หากแต่เป็นวาทกรรมที่ยืนยันสถานะ “จักรวรรดิที่กลับมาผงาด” (resurgent empire) ที่มีภารกิจและชะตากรรมพิเศษในการรวมดินแดนและผู้คนที่มีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์เดียวกันกลับคืนสู่ร่มเงาอำนาจมอสโก วาทกรรมนี้ทำหน้าที่สร้างภาพของรัสเซียในฐานะมหาอำนาจที่ “มีสิทธิและหน้าที่” ในการปกป้องและเรียกคืนดินแดนที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิรัสเซียและสหภาพโซเวียต ไม่ว่าจะเป็นดินแดนในยูเครน เบลารุส หรือประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ เมดินสกีและกลุ่มอุดมการณ์ของเครมลินได้ยกย่องบทบาทประวัติศาสตร์ของรัสเซียในฐานะ “ผู้พิทักษ์ความสงบเรียบร้อยและอารยธรรม” 

ซึ่งถูกคุกคามโดย “ลัทธิชาตินิยมยูเครน” และ “อิทธิพลลัทธิเสรีนิยมตะวันตก” ที่พยายามทำลายเอกลักษณ์และความมั่นคงของชาติรัสเซีย วาทกรรมนี้สร้างความชอบธรรมเชิงประวัติศาสตร์และจริยธรรมให้กับการ “แทรกแซง” และ “ปกป้อง” ประชากรรัสเซียในดินแดนยูเครนผ่าน “ภารกิจศักดิ์สิทธิ์” ที่เกินกว่าการรุกรานทางทหารธรรมดา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในบทความ “On the Historical Unity of Russians and Ukrainians” ที่เขียนโดยประธานาธิบดีปูตินในปี ค.ศ. 2021 เมดินสกีมีบทบาทสำคัญในการวางกรอบวาทกรรมที่ปฏิเสธความเป็นตัวตนของรัฐยูเครนอย่างแท้จริงและนิยามว่า “ยูเครนและรัสเซียเป็นส่วนหนึ่งของชาติพันธุ์เดียวกัน” ซึ่งเป็นพื้นฐานความคิดที่เครมลินใช้สนับสนุนความชอบธรรมในการผนวกและควบคุมยูเครน การใช้วาทกรรม “รัสเซียผู้ยิ่งใหญ่” ในการรุกรานยูเครนจึงเป็นการเล่นเกมทางการเมืองที่ใช้

ประวัติศาสตร์เป็นอาวุธ เมดินสกีและฝ่ายอุดมการณ์พยายามสร้างภาพว่า รัสเซียไม่ใช่ผู้รุกรานแต่เป็นผู้คืนความยิ่งใหญ่และปกป้องชาติพันธุ์ของตนเองจากการล่าอาณานิคมแบบใหม่ของโลกตะวันตก ซึ่งนำไปสู่การตีความสงครามเป็น “สงครามศักดิ์สิทธิ์” ที่มีเป้าหมายทางอุดมการณ์และประวัติศาสตร์ที่ลึกซึ้งกว่าความขัดแย้งทางดินแดนทั่วไป อย่างไรก็ตามวาทกรรมนี้ไม่ได้หยุดเพียงแค่การชี้แจงความชอบธรรมแต่ยังเป็นเครื่องมือสร้างแรงจูงใจให้กับประชาชนและกองกำลังทหารเพื่อกระตุ้นให้เห็นว่าการปกป้องและขยายอิทธิพลของรัสเซียในยูเครนคือภารกิจแห่งความรุ่งโรจน์และเกียรติภูมิของชาติ การทำสงครามจึงถูกนำเสนอในรูปแบบของ “หน้าที่ศักดิ์สิทธิ์” ที่เหนือกว่าการเมืองหรือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแบบโลกีย์ ในที่สุดวาทกรรม “รัสเซียผู้ยิ่งใหญ่” ภายใต้การขับเคลื่อนของเมดินสกีได้กลายเป็นฟันเฟืองหลักในเครื่องจักรสงครามของรัสเซีย เป็นทั้งโล่ป้องกันและดาบที่กรีดกรายเพื่อรักษาอำนาจของเครมลินและขยายอิทธิพลในเวทีโลก โดยเฉพาะในบริบทของความขัดแย้งกับโลกเสรีนิยมตะวันตกที่พยายามจำกัดบทบาทของรัสเซียในภูมิภาคยุโรป-ยูเรเชีย

ดังนั้นการที่วลาดิมีร์ เมดินสกีนักประวัติศาสตร์ที่กลายเป็นนักอุดมการณ์รัฐและนักเจรจาผู้ทรงอิทธิพลถูกส่งมายังเวทีอิสตันบูลในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาของรัสเซียในช่วงปี ค.ศ. 2025 เพื่อเป็นตัวแทนในการเจรจาสงครามยูเครนที่ซับซ้อนและเต็มไปด้วยความตึงเครียด นี่ไม่ใช่แค่การเจรจาทางการเมืองธรรมดา แต่นี่คือสนามรบของ “สงครามความหมาย” ที่เมดินสกีใช้ประวัติศาสตร์และวาทกรรมเป็นอาวุธในการขับเคลื่อนผลประโยชน์รัฐ บทบาทของเมดินสกีในอิสตันบูลสะท้อนความเชื่อมั่นอย่างลึกซึ้งของเครมลินว่า “สงครามไม่ได้จบลงที่สนามรบ” แต่เป็นการต่อสู้เพื่อชิงความชอบธรรมและอำนาจทางความคิด เมดินสกีไม่ได้ถูกส่งมาเป็นนักการทูตหรือทหาร แต่เป็น “นักบวชแห่งประวัติศาสตร์” ที่จะประกาศว่า รัสเซียมี “สิทธิ์เหนือยูเครน” ไม่ใช่เพียงด้วยกำลังอาวุธ 

แต่ด้วยความชอบธรรมทางประวัติศาสตร์ที่ขับเคลื่อนโดยวาทกรรมของเขาเอง ในเวทีอิสตันบูลเมดินสกีพยายามวางกรอบการเจรจาให้สอดคล้องกับแนวคิดของรัฐรัสเซียผ่านการย้ำเตือนเรื่อง “รากเหง้าทางประวัติศาสตร์ร่วม” และ “ภัยคุกคามจากตะวันตก” ซึ่งใช้เป็นข้ออ้างสำคัญในการรักษาผลประโยชน์ของเครมลินและกดดันฝ่ายตรงข้ามให้ยอมรับเงื่อนไขที่รุนแรงและไม่เป็นธรรม เมดินสกียังใช้ประสบการณ์ด้านวาทกรรมเพื่อ “บรรจุหีบ” การเจรจาในรูปแบบที่ทำให้รัสเซียดูเหมือนเป็นฝ่ายที่มีเหตุผล และพร้อมเปิดทางสู่สันติภาพแต่ในขณะเดียวกันก็ปฏิเสธข้อเรียกร้องหลักของยูเครนอย่างเด็ดขาด เป็นการเล่นเกมเจรจาที่เน้นการสร้าง “ข้อเท็จจริงเชิงวาทกรรม” ก่อนที่จะยอมความในบางจุดเพื่อรักษาภาพลักษณ์และอำนาจ นอกจากนี้ เมดินสกียังเป็นตัวแทนของรัฐที่ใช้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเป็น “อาวุธทางอุดมการณ์” ในการเจรจา เพื่อสกัดกั้นแรงกดดันจากชาติตะวันตกและป้องกันไม่ให้เงื่อนไขการเจรจานำไปสู่การลดทอนอำนาจหรือสถานะของรัสเซียในภูมิภาค ดังนั้นบทบาทของเมดินสกีในอิสตันบูลจึงเป็นการผสมผสานระหว่าง “นักประวัติศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่” กับ “นักการทูตสงครามความหมาย” ที่มีภารกิจสำคัญในการรักษา “ความชอบธรรม” ของรัสเซียบนเวทีโลกผ่านการเจรจาในสนามการทูต โดยไม่ลดละเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของรัฐปูติน

บทสรุป วลาดิมีร์ เมดินสกีคือภาพสะท้อนชัดเจนของการเปลี่ยนผ่านจากนักวิชาการที่ใช้ประวัติศาสตร์เป็นเครื่องมือในการสร้างอัตลักษณ์ชาติไปสู่ตัวแทนรัฐผู้ขับเคลื่อนวาทกรรมทางการเมืองและสงครามความหมายในระดับสูงสุดของเครมลิน เขาไม่ได้เป็นเพียงผู้บันทึกอดีตแต่กลายเป็นผู้แต่ง “บทประวัติศาสตร์” ให้กับรัฐรัสเซียยุคปูตินด้วยความเชื่อที่หนักแน่นว่าประวัติศาสตร์ต้องถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อปกป้องและเสริมสร้างอำนาจรัฐไม่ใช่แค่สะท้อนความจริงที่เป็นกลาง ในฐานะรัฐมนตรีวัฒนธรรมเมดินสกีเปลี่ยนกระทรวงที่ดูเหมือนไม่สำคัญให้กลายเป็นแนวหน้าของสงครามอุดมการณ์และวัฒนธรรมที่ซึ่งเขาผลักดันแนวคิด “Russian cultural exceptionalism” เพื่อปิดกั้นและต่อต้านค่านิยมเสรีนิยมตะวันตก สร้างรากฐานทางวัฒนธรรมสำหรับนโยบายภูมิรัฐศาสตร์และความชอบธรรมทางประวัติศาสตร์ของรัสเซีย เมื่อเข้าสู่บทบาทสำคัญในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาที่อิสตันบูล ในปีค.ศ. 2025 เมดินสกีไม่ได้มาเพียงเพื่อเจรจาสงครามเท่านั้นแต่เป็นตัวแทนของ “สงครามความหมาย” ที่รัสเซียใช้ประวัติศาสตร์และวาทกรรมปกป้องอธิปไตยและอำนาจในภูมิภาค ด้วยบทบาทนี้เขากลายเป็นสะพานเชื่อมระหว่างโลกของปัญญาชนและอำนาจรัฐ ประสานความคิดและนโยบายให้ไปในทิศทางเดียวกันอย่างแนบเนียนและมีประสิทธิภาพ โดยรวมแล้วเมดินสกีไม่ใช่แค่รัฐมนตรีวัฒนธรรมหรือนักประวัติศาสตร์ทั่วไปแต่คือเครื่องจักรอุดมการณ์ของรัฐรัสเซียที่ผสมผสานความรู้เชิงวิชาการเข้ากับอำนาจทางการเมืองและการทูตเพื่อรักษาและขยายอิทธิพลของรัสเซียในศตวรรษที่ 21 ผ่านสงครามทั้งที่มองเห็นและที่อยู่ในเงามืดของวาทกรรม

คณะจัดทำหนังสือ "เมื่อรบต้องชนะ" ประชุมหารือรวบรวมข้อมูลเรื่องราวเหตุการณ์สู้รบตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ในอดีต

(19 พ.ค. 68) พล.ร.ท.สนธยา น้อยฉายา อดีต ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน เป็นประธานการประชุม คณะจัดทำหนังสือชื่อเรื่อง "เมื่อรบต้องชนะ"  ได้มีการพบปะประชุมหารือเกี่ยวกับการรวบรวมข้อมูลเรื่องราวเหตุการณ์ การสู้รบตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา เมื่อสมัยอดีด ณ ห้องประชุมครัว coffee wars ริมถนน 331 ต.พลูตาหลวง อ.สัตหีบ จว.ชลบุรี โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมหารือ จำนวน 10 คน ได้แก่ พล.ร.ท.สนธยา  น้อยฉายา ประธานการประชุมฯ น.อ.พิชัย รอดกวี น.ท.เกรียงไกร แสงอุทัย  น.ต.สำเริง บ้านพวน น.ต.สุวัช แสงสว่าง น.ต.ชาลี กัลปะ ร.ท.อยู่  ปานเกษม ร.ท.สุระชัย ขันคำ ร.ท.กฤษณ์ แผลงเดช และ ร.ต.ปัญญา

โดยการประชุม เป็นแบบพบปะ เสวนาแบบเป็นกันเอง ผลัดเปลี่ยนกันเล่าประสพการณ์จริง เสนอแนะ เพื่อพิจารณานำข้อมูลให้ฝ่ายเรียบเรียงทำเป็นหนังสือ โดย ร.ท.กฤษ แผลงเดช ผู้จดบันทึก ใช้เวลาพบปะหารือ ประมาณ 7 ชม. ตั้งแต่เวลา 11.30 - 18.00 

หนังสือ "เมื่อรบต้องชนะ" จะเป็นเรื่องราวบอกเล่าถึงสถานการณ์จริงเกี่ยวกับการสู้รบ ในพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย - กัมพูชา โดยได้ยกตัวอย่างเหตุการณ์สู้รบที่สำคัญๆ ในหลายพื้นที่ เช่น เหตุการบ้านโขดทราย เหตุการณ์บ้านชำราก เป็นต้น

โดยมี ร.ท.กฤษ แผลงเดช อดีดผู้เคยอยู่ในเหตุการณ์จริง เป็นผู้ริเริ่มการประสานงานรวบรวมข้อมูล เพื่อจัดทำหนังสือดังกล่าว ซึ่งปัจจุบัน สามารถรวบรวมข้อมูลได้ ประมาณ 70% แล้ว

โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดทำ เพื่อให้เยาวชนรุ่นหลังได้เรียนรู้และรับทราบสถานการณ์และเหตุการณ์จริง รวมทั้งรวบรวมรายชื่อ วีรกรรมเกี่ยวกับการสู้รบในอดีต

ซึ่งบทวิเคราะห์ หนังสือดังกล่าว น่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง สำหรับบุคคลไทยโดยทั่วไป รวมทั้งเยาวชนรุ่นหลัง ไม่มากก็น้อย 

นิราช ทิพย์ศรี รายงาน 0909535645

‘โฆษกภูมิใจไทย’ ลั่นฟ้องกลับแน่คนยื่น ‘ยุบพรรค’ ซัดเสียผลประโยชน์อะไรหรือไม่ ถึงได้เอาเป็นเอาตาย

‘โฆษกภูมิใจไทย’ ซัดคนยื่น ‘ยุบพรรค’ มีหน้าที่อะไร เสียผลประโยชน์หรือไม่ ถึงเอาเป็นเอาตาย ลั่นฟ้องกลับแน่เพื่อปกป้องศักดิ์ศรีพรรค

(21 พ.ค. 68) น.ส.แนน บุณย์ธิดา สมชัย สส.อุบลราชธานี ในฐานะโฆษกพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงนางกุสุมาลวตี ศิริโกมุท และนายณฐพร โตประยูร ที่ยื่นยุบพรรคภูมิใจไทย ว่า ถ้าดูจากทั้งคำสัมภาษณ์และคนที่ยื่นไปนั้น จะบอกว่าเป็นความเชื่อของเขา ที่เชื่อว่าเป็นการฮั้ว ซึ่งในทางกฎหมายใช้ความเชื่อไม่ได้ และทุกอย่างต้องเป็นหลักฐานที่ชัดเจน ยิ่งมีคำสัมภาษณ์ว่ามีการพบเส้นเงินต้องก็บอกเขาว่า มีหน้าที่อะไร เพราะในขณะนี้เท่าที่ทุกคนทราบ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ไม่ได้สรุปว่าเป็นคดีอั้งยี่ซ่องโจร การขอหลักฐานทุกอย่างต้องมาจากธนาคาร ดังนั้นใช้อำนาจในส่วนใดเอาเอกสารส่วนนี้ออกมา จริงหรือไม่ก็ไม่รู้ และข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรก็ไม่ทราบได้

“ยิ่งเมื่อวานนี้ถึงขั้นเอ่ยถึงชื่อหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค สมาชิกพรรค และชื่อพรรคภูมิใจไทย เป็นเหตุให้พรรคต้องออกมาปกป้องตัวเองว่าเราโดนใส่ร้าย มีการพูดพาดพิงเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว เฉี่ยวไปเฉี่ยวไปมาก็จริง แต่เมื่อวานเป็นการเอ่ยชื่อโดยตรงพร้อมชื่อบุคคลของพรรคดังนั้น เราต้องใช้สิทธิ์ในการปกป้องพวกเราเอง แต่จะฟ้องที่ไหนบ้าง ต้องให้ทีมกฎหมายตัดสินใจ” น.ส.แนน กล่าว

ส่วนมีการวิเคราะห์หรือไม่ว่าเป็นการยื่น ตรวจสอบตามปกติหรือมีการเมืองเข้ามาผสมโรงด้วย น.ส.แนน กล่าวว่า ถ้าลึกกว่านั้นเราคงไม่ทราบ แต่ในขณะนี้ ที่โยงกลับมาหาเรา และถ้าฟังจากคำสัมภาษณ์แบบถอดเทป ไม่ว่าใครก็แล้วแต่ที่มาพาดพิง ว่าเป็นพรรคสีน้ำเงิน หรือสุดท้าย เอ่ยชื่อคนพรรคภูมิใจไทย ก็ต้องไปย้อนดูว่า ท่านเสียผลประโยชน์อะไรหรือไม่  ทำไมอยู่ดี ๆ ถึงมาฟาดงวงฟาดงาใส่เรา และมาเอาเป็นเอาตายกันขนาดนี้

“แต่ถ้าถามว่ามีเบื้องหลังอะไรหรือไม่ เราคงไม่ทราบถึงขนาดนั้น แต่เท่าที่ฟังจากข่าวที่เราเห็น ถ้า กกต. มีหนังสือมาถึงสมาชิกสมาชิกพรรค คนใด ซึ่งอาจเป็นแค่หนังสือเรียกเพียงเพื่อขอทราบข้อมูลก็ได้ แต่บางครั้งสื่อก็ไปลงว่าโดนฟ้อง ทั้งที่ส่วนใหญ่เป็นการขอข้อมูลอย่างเดียว และทุกอย่าง เป็นไปตามเอกสารหลักฐานถ้ามีก็เปิดมาเลย ซึ่งพรรคก็พร้อมสู้ ถ้าทำให้เราเสียหายก็ต้องฟ้อง” น.ส.แนน กล่าว

เมื่อถามว่าแนวทางการต่อสู้คดีเรื่องยุบพรรคนั้น น.ส.แนน กล่าวว่า อาจต้องดูเนื้อหา ที่เขาฟ้องร้องเราก่อน ว่าเข้าข่ายมาตราไหนบ้าง และคงต้องเตรียมตามขั้นตอนปกติ เพราะไม่ใช่ว่าในสมัยสภาชุดนี้มีเราพรรคเดียวที่โดนยื่นยุบพรรค พรรคอื่นเขาก็สู้ตามกระบวนการกฎหมายต่อไป เพียงแต่เรื่องของพรรคภูมิใจไทย พึ่งมีการยื่นเมื่อวานทาง กกต. ต้องรวบรวมหลักฐานและคงจะเชิญ พรรคภูมิใจไทยไปให้ข้อมูล

ลำปาง-ผบ.มทบ.32 นำกำลังพลจิตอาสาฯ ร่วมบริจาคโลหิต “70 พรรษา 70 ล้านซีซี” เฉลิมพระเกียรติฯ 

เมื่อวันที่ (19 พ.ค. 68) เวลา 11.30 น. พลตรี วิชาญ ศรีภัทรางกูร ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 32/ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทานมณฑลทหารบกที่ 32 พร้อมด้วยคณะผู้บังคับบัญชา และจิตอาสา 904 หลักสูตรพื้นฐานภาค 3 รุ่นที่ 1/65 ตลอดจนกำลังพลจิตอาสาพระราชทานมณฑลทหารบกที่ 32 จำนวน 22 นาย ได้ร่วมบริจาคโลหิต ณ บริเวณลานกิจกรรมชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลลำปาง ทั้งนี้โดยความร่วมมือกับ รพ.มะเร็งลำปาง มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือชีวิตเพื่อนมนุษย์ที่จำเป็นต้องการใช้โลหิต และส่งต่อโลหิตเพื่อนำไปใช้ช่วยชีวิตผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้โลหิตในการรักษาตามโครงการ “70 พรรษา 70 ล้านซีซี เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี” เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ ทรงเจริญพระชนมายุ 70 พรรษา 2 เมษายน 2568 

ในการนี้ นางสุรีรัตน์ พวงสายใจ รองผู้อำนวยการด้านการพยาบาล โรงพยาบาลมะเร็งลำปาง เป็นผู้แทนผู้อำนวยการฯ พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ร่วมให้การต้อนรับ ซึ่งกำลังพล มทบ.32 สามารถบริจาคโลหิตได้จำนวน 15 นาย ได้โลหิตจำนวน 6,000 ซีซี นอกจากนั้นยังมีพี่น้องประชาชนที่เข้าไปใช้บริการในศูนย์การค้าเซ็นทรัลลำปางร่วมบริจาคอีกด้วย 

ภาวินันท์ บุตรหล้า รายงาน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top