Wednesday, 21 May 2025
ค้นหา พบ 48222 ที่เกี่ยวข้อง

‘เอกนัฏ’ เดินหน้าปราบ “อุตสาหกรรมศูนย์เหรียญ” ตั้งทีมสกัดกลุ่มสินค้า สายไฟ เหล็ก ยางล้อ พลาสติก

(20 พ.ค. 68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย เป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศ และสถานการณ์การค้าของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ซึ่งในวันนี้ต้องยอมรับว่า การใช้วิธีการเดิม ๆ นั้น ไม่ทันต่อการปราบปรามและแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย โดยปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปราบปรามการผลิต นำเข้า และจำหน่ายสินค้าผิดกฎหมายที่ไม่ผ่านมาตรฐาน มอก. อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง โดยเฉพาะการจำหน่ายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์  กำหนดรายการสินค้าที่ต้องเฝ้าระวังการลักลอบสวมสิทธิ์เป็นสินค้าไทยเพิ่มเติม เร่งปิดช่องโหว่ทางกฎหมายที่เอื้อต่อการสวมสิทธิ์ เพิ่มบทลงโทษแก่ผู้กระทำความผิด ตรวจสอบโรงงานต่างชาติฝ่าฝืนกฎหมาย ตรวจสอบแหล่งที่มาของเงินทุนจดทะเบียน ทบทวนเงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุนให้มีการจ้างแรงงานไทยและการใช้ปัจจัยการผลิตในประเทศ และยกระดับการติดตามตรวจสอบให้เป็นไปตามเงื่อนไขอย่างเคร่งครัด 

“ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา (ตุลาคม 2567- มีนาคม 2568) “ชุดตรวจการสุดซอย” ของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ปราบปราม “อุตสาหกรรมศูนย์เหรียญ” ซึ่งเป็นการกระทำความผิดหลากหลายรูปแบบ อาทิ โรงงานต่างชาติที่มีลักษณะเข้าข่ายเป็นนอมินี ซึ่งอยู่ในระหว่างการขยายผลร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ การลักลอบนำเข้าสินค้าที่ไม่ผ่านมาตรฐาน โดยพฤติกรรมผู้กระทำความผิดมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ และไม่มีตัวตนในประเทศไทย การลักลอบสวมสิทธิ์ผลิตสินค้าที่กำหนดให้ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน และส่งออกโดยอ้างว่าเป็นสินค้าไทย การจำหน่ายสินค้าไม่ได้มาตรฐานโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแพลตฟอร์มออนไลน์เชื่อมโยงกับกลุ่มทุนศูนย์เหรียญ โดยยึดอายัดสินค้าไม่ได้มาตรฐานกว่า 692.14 ล้านบาท”  นายเอกนัฏ กล่าว

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา สมอ. ได้เสนอวาระเร่งด่วนให้บอร์ดพิจารณาแต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการศึกษาการเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม" ทำหน้าที่ในการศึกษาการดำเนินการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ด้วยการพัฒนากระบวนการทั้งระบบ ตั้งแต่การกำหนดมาตรฐาน การตรวจสอบรับรอง และการกำกับดูแล เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและรองรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะและแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมไทย และคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน 

นอกจากนี้ บอร์ดยังได้มีมติเห็นชอบร่างมาตรฐาน จำนวน 46 มาตรฐาน โดยแบ่งเป็นสินค้าควบคุม  2  มาตรฐาน ได้แก่ เคเบิลเส้นใยนำแสงโทรคมนาคมภายนอกอาคารชนิดแขวนในอากาศรับน้ำหนักตัวเองได้ และ เคเบิลเส้นใยนำแสงชนิด ADSS แขวนตามแนวสายไฟฟ้า และมาตรฐานทั่วไป จำนวน 44 มาตรฐาน เช่น ถุงพลาสติกบรรจุอาหาร ถุงพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับอุ่นในไมโครเวฟ ยานยนต์ที่ใช้บนถนน – ส่วนควบและเครื่องอุปกรณ์ระบบการใช้ก๊าซธรรมชาติอัดเป็นเชื้อเพลิง อนุภาคนาโนกักเก็บสารสกัดใบกระท่อม รหัสอักษรเบรลล์คอมพิวเตอร์สำหรับประเทศไทย เป็นต้น 

พร้อมทั้งเห็นชอบรายชื่อมาตรฐานที่ สมอ. จะจัดทำเพิ่มเติมในปี 2568 อีก 160 มาตรฐาน ครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ และอุตสาหกรรมส่งเสริมผู้ประกอบการ จากเดิมที่บอร์ดอนุมัติรายชื่อมาตรฐานไปแล้ว 611 มาตรฐาน รวมเป็น 771 มาตรฐาน 

เลขาธิการ สมอ. กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะอนุกรรมการฯ ชุดดังกล่าว จะประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถจากหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม    การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นต้น และจะเร่งเสนอรายชื่อคณะอนุกรรมการฯ เพื่อให้บอร์ดให้ความเห็นชอบในการประชุมครั้งต่อไป โดยจะนำร่องใน 5 กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ต้องควบคุมกำกับดูแลเป็นพิเศษก่อน เนื่องจากมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศและความปลอดภัยของประชาชนในวงกว้าง ได้แก่ กลุ่มสายไฟ เหล็ก และโครงสร้างเหล็กประกอบสำเร็จ(Prefabrication) ยางล้อ และกลุ่มพลาสติก เพื่อเป็นต้นแบบในการขยายผล ไปยังกลุ่มผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ต่อไป” เลขาธิการ สมอ. กล่าว

21 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ร. 9 พระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตจุฬาฯ นับเป็นครั้งแรกในรัชสมัยของพระองค์

หลังจากเสด็จนิวัติกรุงเทพมหานครในปี พ.ศ. 2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงปฏิบัติระราชกรณียกิจ ในพระฐานะพระบรมราชูปถัมภกแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พระองค์ที่ 5 ทั้งในรูปแบบสืบเนื่องจากสมเด็จพระปิตุลาธิราช และพระบรมเชษฐาธิราชของพระองค์คือ พระบาสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล นั่นคือการพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตที่สำเร็จการศึกษา รวมทั้งที่ได้พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณเป็นพิเศษคือ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรการแข่งขันกีฬากลางแจ้ง ที่สนามหน้าหอประชุมจุฬาฯ และได้พระราชทานรางวัลแก่นิสิตผู้ชนะการแข่งขัน

ในการประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 153/2493 เมื่อวันเสาร์ที่ 13 พฤษภาคม 2493 ณ ห้องประชุมคณะวิศวกรรมศาสตร์ เริ่มประชุมเวลา 9.50 น. มีจอมพล ป. พิบูลสงคราม อธิการบดีในฐานะอุปนายกสภามหาวิทยาลัยเป็นประธานในที่ประชุม ศาสตราจารย์ ม.ร.ว.สลับ ลดาวัลย์ เป็นกรรมการและเลขานุการ เรื่องที่ประชุมซึ่งสำคัญยิ่งมี 2 เรื่องคือ เรื่องแรกคณบดีห้าคณะ ได้แก่ วิศวกรรมศาสตร์ อักษรศาสตร์และครุศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ พาณิชยศาสตร์และการบัญชี เสนอชื่อนิสิตผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรคณะต่างๆ ในระดับปริญญาตรีและอนุปริญญา เพื่อขออนุมัติจากสภามหาวิทยาลัย เรื่องที่สำคัญยิ่งคือ การทูลเกล้าฯ ถวายปริญญากิตติมศักดิ์แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งที่ประชุมอนุมัติให้ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญารัฐศาสตรดุษฎีกิตติมศักดิ์

สำหรับการเสด็จฯ พระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในครั้งนั้น เป็นครั้งแรกในรัชสมัยของพระองค์อีกด้วย โดยบัณฑิตผู้ได้รับพระราชทานปริญญาจากพระหัตถ์ของพระองค์เป็นคนแรกคือ นายประกายเพ็ชร อินทุโสภณ วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง และได้พระราชทานรางวัลเหรียญทองแดง สาขาวิชาชีววิทยาแก่ นายจรัส สุวรรณเวลา ซึ่งต่อมา ศาสตราจารย์ นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีจุฬาฯ และนายกสภามหาวิทยาลัยในสมัยต่อมาอีกด้วย 

ข้อมูลจาก หอประวัติจุฬาฯ

‘รูบิโอ’ เผยเสียงสะท้อนจากวาติกันถึงทำเนียบขาว ชี้ ‘ยุโรป’ บางประเทศพูดถึงแต่ ‘สงคราม’ มากกว่าสันติภาพ

(20 พ.ค. 68) มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เผยว่า ระหว่างเดินทางเยือนกรุงโรม เขาได้รับฟังมุมมองสะเทือนใจจากนักบวชชั้นสูงรายหนึ่ง ซึ่งมองว่าโลกในขณะนี้กลับตาลปัตร โดยมีผู้นำสหรัฐฯ อย่างโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ต้องการสันติภาพ ขณะที่บางประเทศในยุโรปกลับพูดถึงการทำสงครามอยู่เสมอ คำพูดดังกล่าวถูกถ่ายทอดในงานเลี้ยงของคณะกรรมการศูนย์เคนเนดีที่ทำเนียบขาว ซึ่งสะท้อนความรู้สึกของหลายฝ่ายในยุโรปอย่างชัดเจน

รูบิโอระบุเพิ่มเติมว่า หนึ่งในคาร์ดินัลที่เขาพบก่อนพิธีมิสซาของสมเด็จพระสันตะปาปากล่าวว่า “เป็นเรื่องแปลกที่เรามีประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ต้องการสันติภาพ แต่กลับมีชาวยุโรปบางคนที่พูดถึงเรื่องสงครามตลอดเวลา” ซึ่งเป็นความเห็นที่ตอกย้ำภาพลักษณ์ใหม่ของสหรัฐฯ ในสายตาของผู้นำทางศาสนาในยุโรป

ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ได้หารือทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย โดยทั้งสองเห็นพ้องถึงการสานต่อการติดต่อโดยตรงระหว่างรัสเซียและยูเครนในทุกระดับ รวมถึงการเจรจาในระดับผู้นำ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่สะท้อนความพยายามลดความตึงเครียดในเวทีโลกของทรัมป์ผ่านแนวทางทางการทูตมากกว่าทางทหาร


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top