Monday, 19 May 2025
ค้นหา พบ 48202 ที่เกี่ยวข้อง

ม.นิวยอร์ก ระงับมอบปริญญาแก่ ‘โลแกน โรโซส’ หลังนักศึกษาพูดหนุนปาเลสไตน์ ประณามสหรัฐฯ กลางเวทีจบการศึกษาว่า ได้ทำการ ‘ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ ในกาซา ผ่านเงินภาษีของประชาชน

(19 พ.ค. 68) มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (NYU) ระงับการมอบปริญญาบัตรให้ โลแกน โรโซส (Logan Rozos) นักศึกษาปริญญาตรี หลังเขาใช้เวทีรับปริญญาเมื่อวันพุธที่ผ่านมา เพื่อกล่าวประณามสหรัฐฯ ว่ามีส่วนสนับสนุน “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในกาซา” คำพูดของเขาทำให้เกิดเสียงเชียร์และโห่ปะปนกันในหมู่ผู้ชม

“การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ ได้รับการสนับสนุนทางการเมืองและทางทหารจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งมาจากการสนับสนุนทางการเงินจากภาษีของเรา” เขายังกล่าวเพิ่มเติมว่า “ผมขอประณามการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นี้ รวมถึงผู้ที่มีส่วนร่วมในนั้น” โรโซส กล่าว

ขณะที่ โฆษกของ NYU ระบุว่า โรโซสไม่ได้แจ้งเนื้อหาที่จะพูดตามที่กำหนดไว้ และใช้โอกาสดังกล่าวเพื่อแสดงมุมมองการเมืองด้านเดียวอย่างไม่เหมาะสม พร้อมกล่าวว่าสถาบันรู้สึกเสียใจอย่างยิ่งต่อเหตุการณ์นี้ ขณะเดียวกัน NYU ยืนยันว่าจะดำเนินการสอบสวนทางวินัย และยังไม่มอบปริญญาบัตรให้เขา

สำหรับการเคลื่อนไหวสนับสนุนปาเลสไตน์ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ของสหรัฐฯ กลายเป็นประเด็นทางการเมือง โดยเฉพาะภายใต้รัฐบาลทรัมป์ที่มีท่าทีแข็งกร้าวต่อกรณีที่ระบุว่าเป็น “การต่อต้านชาวยิว” ส่งผลให้เกิดข้อถกเถียงเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในสถาบันการศึกษาอย่างกว้างขวาง 

ทั้งนี้ NYU เป็นหนึ่งใน 10 สถาบันที่อยู่ระหว่างการสอบสวนของคณะทำงานต่อต้านการต่อต้านยิวของรัฐบาลทรัมป์ นับตั้งแต่สงครามอิสราเอล-กาซาเริ่มต้นในเดือนตุลาคม 2023

‘อรรถวิชช์’ เผยร่าง กม.ส่งเสริมอุตฯปาล์มน้ำมันเสร็จแล้ว ดูแลจัดการทั้งระบบตั้งแต่ชาวสวนถึงอุตสาหกรรมการผลิต

‘อรรถวิชช์’ เผย ยกร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันเสร็จแล้ว ชู "สำนักงานอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน" ดูแลโครงสร้างแบบครบวงจร ช่วยเกษตรกร-ผู้ประกอบการ มีรายได้อย่างมั่นคงเป็นธรรมทุกฝ่าย 

(19 พ.ค. 68) ดร.อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ประธานคณะกรรมการยกร่างกฎหมายส่งเสริมปาล์มน้ำมัน เปิดเผยว่า ตนได้รับมอบหมายจากนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ให้เป็นประธานยกร่างกฎหมายส่งเสริมอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน โดยนายพีระพันธุ์ และนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้รับเป็นที่ปรึกษาและผู้ให้ความเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายฉบับนี้

ซึ่งล่าสุดตนได้ดำเนินการยกร่างกฎหมายเสร็จสิ้น และส่งมอบต่อเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยขั้นตอนหลังจากนี้จะเป็นการเตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาสังคม ก่อนนำร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.) และสภาผู้แทนราษฎร ให้พิจารณาเห็นชอบร่างกฎหมายเพื่อบังคับใช้ต่อไป

ดร.อรรถวิชช์ กล่าวถึงสาระสำคัญของร่างกฎหมายส่งเสริมอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน ว่า จะบัญญัติให้มีสำนักอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน ที่จะเป็นหน่วยงานหลักในการควบคุมดูแลร่างกฎหมายนี้และอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งจะใช้ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ โดยเกษตรกร จะได้ผลประโยชน์จากการขายผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มที่แปรรูป ทั้งจะมีระบบประกันรายได้และการสร้างระบบซื้อขายอย่างเป็นธรรม ที่สำคัญ จะทำให้เกษตรกรไม่ต้องเร่งขายปาล์มที่ยังไม่สุกเต็มที่ควบคู่ไปกับมีการควบคุมการชั่งน้ำหนัก คำนวณเปอร์เซ็นต์น้ำมันปาล์มอย่างเป็นธรรม ซึ่งถือได้ว่าจะช่วยสร้างผลประโยชน์ให้กับเกษตรกรอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมโดยแท้จริง

ส่วนผู้ประกอบการก็จะมีการควบคุมจำนวนของผู้ประกอบการ การสร้างมาตรฐานที่เท่าเทียม มีระบบส่งเสริม รวมทั้งการได้วัตถุดิบชั้นดี โดยไม่ต้องแย่งกันซื้อปาล์ม แต่ก็ยังได้ปาล์มสุก มีคุณภาพ ได้น้ำมันสูง

“ตนใช้ระบบการกำกับคล้ายกับพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย ที่ยึดนโยบายหลักที่ว่า อุตสาหกรรมนำเกษตร มาเป็นหัวใจหลักในการพัฒนาและขับเคลื่อน อันจะสร้างผลประโยชน์ที่เป็นธรรมได้ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ที่สำคัญเกษตรกรและผู้ประกอบการสามารถเติบโตไปพร้อมกันได้อย่างมั่นคงและเป็นธรรม โดยไม่มีใครถูกเอาเปรียบด้วย” ดร.อรรถวิชช์ กล่าวทิ้งท้าย

นายกฯ ญี่ปุ่นชี้หนี้สาธารณะพุ่งเกิน 260% ของ GDP เปรียบเทียบวิกฤตคล้ายกรีซแต่เลวร้ายยิ่งกว่า

(19 พ.ค. 68) นายกรัฐมนตรีชิเกรุ อิชิบะ ของญี่ปุ่น เปิดเผยว่าสถานการณ์การคลังของประเทศอยู่ในภาวะที่ย่ำแย่กว่าของกรีซ โดยหนี้สาธารณะของญี่ปุ่นสูงถึง 260% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่สูงที่สุดในบรรดาประเทศพัฒนาแล้ว

อย่างที่ทราบกันดีว่า กรีซเคยประสบวิกฤตการคลังรุนแรงในช่วงปี 2009–2015 จากหนี้สาธารณะที่พุ่งสูงกว่า 180% ของ GDP รัฐบาลขาดความสามารถในการชำระหนี้ ต้องพึ่งพาเงินช่วยเหลือจากสหภาพยุโรปและ IMF รวมมูลค่ากว่า 260,000 ล้านยูโร พร้อมมาตรการรัดเข็มขัดเข้มงวด ส่งผลให้เศรษฐกิจถดถอย ประชาชนว่างงานสูงและเกิดความไม่สงบในประเทศอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี นายกอิชิบะได้ออกมาปฏิเสธข้อเสนอจากพรรคร่วมรัฐบาลบางกลุ่มและสมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติที่เรียกร้องให้มีการลดภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เขายืนยันว่าฐานะทางการเงินของประเทศในปัจจุบันอยู่ในจุดที่ไม่สามารถรองรับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลดรายได้ของรัฐได้อีกต่อไป โดยชี้ว่าหากดำเนินการลดภาษีในขณะนี้จะยิ่งทำให้ภาระหนี้สาธารณะของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างไม่ยั่งยืน

ด้านนักเศรษฐศาสตร์เตือนว่าหนี้สาธารณะที่สูงของญี่ปุ่นอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะหากอัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ภาระดอกเบี้ยของรัฐบาลเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นยังมีข้อได้เปรียบที่หนี้ส่วนใหญ่ถือโดยนักลงทุนภายในประเทศ และรัฐบาลมีการควบคุมสกุลเงินของตนเอง ซึ่งแตกต่างจากสถานการณ์ของกรีซที่พึ่งพาหนี้จากต่างประเทศและใช้สกุลเงินยูโร

ผู้ลี้ภัยโรฮิงญาอ้าง!..ถูกบังคับขึ้นเรือรบอินเดีย ถูกปิดตา-ทุบตี ก่อนโยนลงทะเลให้ว่ายกลับเมียนมา

(19 พ.ค. 68) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เจ้าหน้าที่อินเดียบังคับผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาจำนวนอย่างน้อย 40 คน ซึ่งรวมถึงผู้หญิง เด็ก และผู้สูงอายุ ให้ลงจากเรือของกองทัพเรืออินเดีย โดยมีการอ้างว่าบางคนถูกปิดตา ถูกทุบตี และถูกโยนลงทะเลบริเวณน่านน้ำสากลใกล้ชายแดนเมียนมา และให้ว่ายน้ำกลับเข้าฝั่งเอง

กลุ่มผู้ลี้ภัยเหล่านี้ถูกควบคุมตัวในกรุงนิวเดลีเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม และถูกส่งตัวโดยเครื่องบินไปยังหมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ ก่อนที่จะถูกนำขึ้นเรือของกองทัพอินเดีย

สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ได้แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อรายงานดังกล่าว โดย ทอม แอนดรูว์ส ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติด้านสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมา กล่าวว่า “แนวคิดที่ว่าผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาถูกโยนลงทะเลจากเรือของกองทัพเรือนั้นเป็นสิ่งที่น่าขุ่นเคืองอย่างยิ่ง” เขาเรียกร้องให้รัฐบาลอินเดียหยุดการปฏิบัติที่ไร้มนุษยธรรมและเป็นอันตรายต่อชีวิตของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา รวมถึงการส่งตัวพวกเขากลับไปสู่สภาพที่อันตรายในเมียนมา

ด้าน ทนายความ ดิลาวาร์ ฮุสเซน ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ลี้ภัย ได้ยื่นคำร้องต่อศาลสูงสุดของอินเดีย เพื่อขอให้รัฐบาลนำผู้ลี้ภัยเหล่านี้กลับมายังกรุงนิวเดลี อย่างไรก็ตาม กองทัพเรืออินเดียและกระทรวงการต่างประเทศยังไม่ได้แสดงความคิดเห็นต่อกรณีนี้

ทั้งนี้ อินเดียไม่ได้เป็นภาคีของอนุสัญญาผู้ลี้ภัยปี 1951 หรือพิธีสารปี 1967 แต่มีผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาประมาณ 40,000 คนอาศัยอยู่ในประเทศ โดยประมาณ 22,500 คนได้รับการลงทะเบียนกับสำนักงาน UNHCR หลายคนอาศัยอยู่ในสภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ และเผชิญกับการกดขี่ข่มเหงจากกลุ่มชาวฮินดูที่เรียกร้องให้ขับไล่พวกเขาออกจากประเทศ

บีโอไอ ปรับเงื่อนไขส่งเสริมการลงทุนรับมือการค้าโลก พร้อมไฟเขียว 7 โครงการ มูลค่าเฉียด 1 แสนล้านบาท

(19 พ.ค. 68) บอร์ดบีโอไอ อนุมัติมาตรการชุดใหญ่ เสริมศักยภาพผู้ประกอบการไทย รับมือการค้าโลกยุคใหม่ ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันท่ามกลางความผันผวน มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน พร้อมออกมาตรการส่งเสริมกิจการท่องเที่ยวในเมืองรอง ฟื้นเที่ยวไทยทั่วประเทศ อนุมัติส่งเสริมลงทุน 7 โครงการ มูลค่าเฉียด 1 แสนล้านบาท

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2568 การประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ซึ่งมีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ได้เห็นชอบ “มาตรการส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการไทยเพื่อรองรับโลกยุคใหม่” โดยมุ่งยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ไทย รักษาสมดุลทางเศรษฐกิจ ภายใต้สภาวะตลาดที่มีความผันผวน เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบจากมาตรการการค้าของสหรัฐอเมริกา และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยในหลากหลายอุตสาหกรรมได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของ Supply Chain ระดับโลก โดยมีมาตรการสำคัญ 4 ด้าน ดังนี้

1. ส่งเสริมให้ SMEs ไทย ปรับปรุงประสิทธิภาพ โดยออกมาตรการพิเศษเพื่อกระตุ้นให้ SMEs ไทย ลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เช่น การปรับเปลี่ยนเครื่องจักร การใช้ระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีดิจิทัล การประหยัดพลังงาน การยกระดับสู่มาตรฐานเพื่อความยั่งยืนในระดับสากล รวมทั้งการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ โดยเพิ่มสิทธิประโยชน์แก่ SMEs ไทย จากเดิมยกเว้นภาษีเงินได้ 3 ปี ในวงเงินไม่เกินร้อยละ 50 ของเงินลงทุนในการปรับปรุงประสิทธิภาพ ปรับเพิ่มขึ้นเป็นยกเว้นภาษีเงินได้ 5 ปี ในวงเงินร้อยละ 100

2. งดให้การส่งเสริมกิจการที่อาจมีปริมาณผลิตเกินความต้องการ (Oversupply) หรือกิจการที่มีความเสี่ยงต่อมาตรการการค้าของสหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ เช่น กิจการผลิตเซลล์และแผงเซลล์แสงอาทิตย์ แบตเตอรี่กลุ่มตะกั่ว-กรด อุปกรณ์เสริมและอุปกรณ์ตกแต่งยานพาหนะ กิจการตัดโลหะ กิจการคัดแยกวัสดุที่ไม่ใช้แล้วกรณีตั้งนอกนิคมอุตสาหกรรมและไม่มีกระบวนการรีไซเคิล นอกจากนี้ ยังจะงดส่งเสริมกิจการเหล็กขั้นปลายเพิ่มเติมจากเดิม ได้แก่ กิจการผลิตเหล็กทรงยาวทุกชนิด เหล็กทรงแบน (เฉพาะเหล็กแผ่นรีดร้อนและเหล็กแผ่นหนา) และท่อเหล็กชนิดต่าง ๆ

3. เพิ่มความเข้มข้นในการพิจารณากระบวนการผลิตที่เป็นสาระสำคัญ สำหรับบางกิจการที่มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบจากมาตรการการค้าสหรัฐฯ เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์โลหะ และอุตสาหกรรมเบา โดยกำหนดเป็นเงื่อนไขชัดเจนว่า ต้องมีกระบวนการผลิตที่เป็นสาระสำคัญ โดยมีการแปรสภาพวัตถุดิบหลักเป็นผลิตภัณฑ์อย่างเพียงพอ เช่น มีการเปลี่ยนพิกัดศุลกากรอย่างน้อยในระดับ 4 หลัก เพื่อให้การผลิตเพื่อส่งออกของไทยเป็นที่ยอมรับและเกิดประโยชน์ต่อประเทศชัดเจนมากยิ่งขึ้น

4. ปรับปรุงเงื่อนไขการจ้างงานบุคลากรต่างชาติ  สำหรับกิจการผลิตที่ขอรับการส่งเสริมลงทุนและมีการจ้างงานทั้งบริษัทตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป จะต้องมีการจ้างบุคลากรไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของการจ้างงานทั้งหมด นอกจากนี้ จะกำหนดรายได้ขั้นต่ำของบุคลากรต่างชาติที่จะขอใช้สิทธิด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงานกับบีโอไอ เช่น ถ้าเป็นระดับผู้บริหาร ต้องมีรายได้ 150,000 บาทขึ้นไป และระดับผู้เชี่ยวชาญ 50,000 บาทขึ้นไป เพื่อสร้างสมดุลการจ้างงานในประเทศให้เหมาะสม หลีกเลี่ยงการแย่งงานบุคลากรไทย และกระตุ้นให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้แก่บุคลากรไทยมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ยังสามารถดึงดูดผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศให้มาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มแก่เศรษฐกิจไทยได้

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้บีโอไอดำเนินการศึกษาแนวทางการกำหนดมาตรการเพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศ และการส่งเสริมการร่วมทุน ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการต่างชาติร่วมมือกับผู้ประกอบการไทยและช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับคนไทยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกิจการที่มีความสำคัญต่อการสร้างห่วงโซ่อุปทาน และให้นำกลับมาเสนอบอร์ดอีกครั้ง

ส่งเสริมท่องเที่ยวเมืองรอง

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบ “มาตรการส่งเสริมการลงทุนกิจการด้านการท่องเที่ยวในเมืองรอง” ตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ ในเมืองรอง เพื่อส่งเสริมการกระจายตัวของนักท่องเที่ยว และเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจให้มากขึ้น โดยสำหรับกิจการด้านการท่องเที่ยว ได้แก่ กิจการสร้างแหล่งท่องเที่ยวขนาดใหญ่ที่มีคุณภาพ สวนสนุก ศูนย์แสดงศิลปวัฒนธรรมไทย ศูนย์หัตถกรรมไทย พิพิธภัณฑ์ สวนสัตว์เปิด ศูนย์แสดงสินค้านานาชาติ หอประชุมขนาดใหญ่ ท่าเรือท่องเที่ยวขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) บริการที่จอดเรือท่องเที่ยว สนามแข่งขันยานยนต์ กระเช้าไฟฟ้าและรถรางไฟฟ้าเพื่อการท่องเที่ยว หากเป็นการลงทุนตั้งสถานประกอบการในเมืองรอง 55 จังหวัด จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม จากเดิม 5 ปี เป็น 8 ปี  และสำหรับกิจการโรงแรม หากตั้งในเมืองรอง 55 จังหวัด จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม จากเดิม 3 ปี เป็น 5 ปี

ปรับปรุงกิจการ Data Center, Data Hosting และ Cloud Service

บอร์ดบีโอไอ ได้อนุมัติการปรับปรุงการส่งเสริมการลงทุนกิจการ Data Center, Data Hosting และ Cloud Service ให้มีความเหมาะสมกับรูปแบบธุรกิจในปัจจุบัน โดยจะเน้นให้สิทธิประโยชน์ระดับสูงกับกิจการที่ใช้อุปกรณ์ที่มีความสามารถในการประมวลผลขั้นสูง (Advanced Computing Capabilities) และมีการใช้พลังงานไฟฟ้าและน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งได้เพิ่มเงื่อนไขให้โครงการที่จะขอรับการส่งเสริม ต้องเสนอแผนพัฒนาบุคลากรไทย เช่น การจัดทำหลักสูตรร่วมกับสถาบันการศึกษา การวิจัยและพัฒนา การพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs หรือการใช้อุปกรณ์ที่ผลิตในประเทศ โดยต้องดำเนินการตามแผนที่เสนอให้แล้วเสร็จก่อนการใช้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้ ทั้งนี้ เพื่อให้การลงทุนในกลุ่มธุรกิจนี้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลแก่ประเทศไทยให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

ไฟเขียวลงทุน 7 โครงการ มูลค่าเฉียดแสนล้าน

ที่ประชุมได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนกิจการ Data Center และพลังงานหมุนเวียน รวม 7 โครงการ มูลค่าลงทุนประมาณ 1 แสนล้านบาท ประกอบด้วย กิจการ Data Center 5 โครงการ ได้แก่ (1) บริษัท วิสตัส เทคโนโลยี จำกัด เงินลงทุน 6,854 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรี (2) บริษัท บริดจ์ ดาต้า เซ็นเตอร์ ไอไอไอ (ประเทศไทย) จำกัด เงินลงทุน 14,452 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรี (3) บริษัท กาแล็คซี่ พีค ดาต้า เซ็นเตอร์ จำกัด เงินลงทุน 23,553 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดระยอง (4) บริษัท กาแล็คซี่ ดาต้า เซ็นเตอร์ จำกัด เงินลงทุน 22,313 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดระยอง และ (5) บริษัท ดิจิทัล เอดจ์ ดีซี (ประเทศไทย) จำกัด เงินลงทุน 24,522 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรี

กิจการพลังงานหมุนเวียน 2 โครงการ ได้แก่ (1) บริษัท อัลฟ่า วัน โปรเจค จำกัด ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม เงินลงทุน 3,195 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดชุมพร และ (2) บริษัท อัลฟ่า ทู โปรเจค จำกัด ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม เงินลงทุน 4,838 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top