Thursday, 22 May 2025
ค้นหา พบ 48259 ที่เกี่ยวข้อง

สมุทรปราการ-พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี เป็นประธานเปิดอาคารเรียนนามพระราชทาน “อาคารเทพรัตน์” โรงเรียนบางบ่อวิทยาคม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ (19 พ.ค.68) ที่ผ่านมา เวลา 09.00 น. ณ โรงเรียนบางบ่อวิทยาคม  ต.บางบ่อ อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ได้ให้เกียรติเดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดอาคารเรียนหลังใหม่  นามพระราชทาน “อาคารเทพรัตน์” โรงเรียนบางบ่อวิทยาคม สมุทรปราการ

โดยมี นายศุภมิตร ชิณศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ พร้อมด้วย นายสมศักดิ์ แก้วเสนา ปลัดจังหวัดสมุทรปราการ และหัวหน้าส่วนราชการ ตลอดจนคณะผู้บริหารโรงเรียนบางบ่อวิทยาคม นำโดย นายวิโรจน์ จำปาทอง ผู้อำนวยการโรงเรียนบางบ่อวิทยาคม นำคณะครูนักเรียน บุคลากร ผู้ปกครองโรงเรียนบางบ่อวิทยาคม ร่วมให้การต้อนรับ

จากนั้น นายวิโรจน์ จำปาทอง ผู้อำนวยการโรงเรียนบางบ่อวิทยาคม กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ของการก่อสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ โดยมี คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน คณะครู บุคลากรทางการศึกษา คณะผู้ปกครอง นักเรียนโรงเรียนบางบ่อวิทยาคม ตลอดจนแขกผู้มีเกียรติ และประชาชนชาวอำเภอบางบ่อ เข้าร่วมในพิธีเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ ทางโรงเรียนบางบ่อวิทยาคม ยังได้รับความเมตตาจากท่านเจ้าคุณพระวชิรธรรมวิธาน เจ้าคณะอำเภอบางบ่อ เจ้าอาวาสวัดสุคันธาวาส นำคณะสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถาเจริญพระพุทธมนต์ จากนั้นประธานในพิธีพร้อมด้วยแขกผู้มีเกียรติร่วมถวายเครื่องไทยธรรมแด่พระสงฆ์ พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์และ ประพรมน้ำมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคล ในการนี้ท่านเจ้าคุณพระวชิรธรรมวิธาน เจ้าอาวาสวัดสุคัลธาวาสได้เจิมแผ่นศิลาฤกษ์ จากนั้น องคมนตรีได้กดปุ่มเปิดแพรคุมป้ายอาคารเรียนอย่างเป็นทางการ 

พร้อมกันนี้ องคมนตรีได้มอบโล่ประกาศเกียรติคุณ แก่ผู้มีอุปการะคุณ และมอบโล่ศิษย์เก่าดีเด่น และมอบรางวัลแข่งขันเครื่องบินพลังยางให้แก่นักเรียนโรงเรียนบางบ่อวิทยาคมอีกด้วยด้วย สำหรับ อาคารเรียนหลังใหม่ โรงเรียนบางบ่อวิทยาคม ได้รับการสนับสนุนงบประมาณปี 2563 โครงการก่อสร้างอาคารเรียน 4 ชั้น 18 ห้องเรียน จากองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ เป็นจำนวนเงิน 50,906,000 บาท ซึ่งได้ดำเนินการจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) โดยผู้รับจ้างคือ บริษัท พี อี ซี ซี กรุ๊ป จำกัด ในวงเงิน 39,800,000 บาท ตามสัญญา เลขที่ 1/2563 ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2563 โดยเริ่มก่อสร้าง ตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2563 ถึงวันที่ 19 กรกฎาคม 2565 และได้มีการขยายสัญญาเพิ่มเติม เนื่องจากเกิดสถานการณ์น้ำท่วมโรงเรียน และโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และดำเนินการก่อสร้างต่อเรื่อยมาจนกระทั่งอาคารแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2566

ทั้งนี้ เพื่อแสดงความจงรักภักดี เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ ผู้บริหาร ครู บุคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครอง นักเรียน และประชาชนอำเภอบางบ่อ  ทางโรงเรียนจึงได้ดำเนินการขอพระราชทานชื่ออาคาร จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จนได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานชื่ออาคารเรียนดังกล่าวว่า “อาคารเทพรัตน์” และพระราชทาน พระราชานุญาตให้เชิญอักษรพระนามาภิไธย “ส.ธ.” ประดับที่ป้ายชื่อพระราชทาน เมื่อวันที่  6 มกราคม 2568

คิว-ข่าวสมุทรปราการ รายงาน

เปิดประสบการณ์สุดล้ำ พาชม “เรือตัดน้ำแข็ง Xue long 2” ครั้งแรกในน่านน้ำไทย ณ ท่าเรือสัตหีบ

เมื่อวันที่ (19 พ.ค. 68) พล.ร.ต.ธำรง สุพรรณพงศ์ ผอ.กทส.ฐท.สส. เป็นผู้แทน ฐานทัพเรือสัตหีบ พร้อมด้วย ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM ให้การต้อนรับ นายเสียว ชื่อหมิง ผู้บังคับการเรือ เสว่หลง 2 (Mr.XIAO ZHIMIN, Captain) และคณะลูกเรือ เนื่องในโอกาสเข้าเยือนประเทศไทย เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 70 พรรษา 2 เมษายน 2568 และเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 50 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-จีน ปี พ.ศ. 2568 พร้อมเปิดโอกาสให้ประชาชน ได้เข้าเยี่ยมชมเรือสำรวจขั้วโลก เสว่หลง 2 (Xue Long 2) ซึ่งได้จอดเทียบท่าที่ ท่าเรือจุกเสม็ด การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ตั้งแต่วันที่ 19 - 23 พ.ค.68

ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวว่า การมาเยือนของเรือเสว่หลง 2 ในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการร่วมเฉลิมฉลอง เนื่องในโอกาสมหามงคลที่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเจริญพระชนมายุครบ 70 พรรษา ในวันที่ 2 เมษายน 2568 และยังเป็นการเฉลิมฉลองวาระสำคัญของการครบรอบ 50 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน ในปี พ.ศ. 2568

การมาเยือนประเทศไทย ของเรือเสว่หลง 2 ในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสอันล้ำค่าที่นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยไทย รวมถึงเยาวชนและประชาชนชาวไทย จะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์โดยตรงกับทีมวิจัยระดับแนวหน้าของจีน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการสำรวจขั้วโลก นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมพิเศษที่จะจัดขึ้นควบคู่กับการมาเยือนของเรือเสว่หลง 2 ได้แก่ การจัดนิทรรศการ "Xue Long 2 and See the Unseen in Polar Region" ระหว่างวันที่ 14 - 25 พฤษภาคม 2568 ณ Crystal Court ชั้น 2 ศูนย์การค้าสยามพารากอน และการเสวนาระหว่างนักวิทยาศาสตร์ ผู้มีประสบการณ์เดินทางไปสำรวจขั้วโลกใต้ ด้วยเรือเสว่หลง 2 กับเยาวชนไทย, กิจกรรมเผยแพร่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์สู่สาธารณชนของนักวิทยาศาสตร์ไทยและจีน ที่เคยเดินทางไปสำรวจขั้วโลกใต้ ด้วยเรือเสว่หลง 2, การประชุมวิชาการ “Thailand-China Polar Science Conference”, และพิธีอำลาเรือเสว่หลง 2 โดยในระหว่างที่เรือจอดเทียบท่าเรือจุกเสม็ด จะมีการนำคณะลูกเรือเข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและเยี่ยมชมความงดงามของศิลปวัฒนธรรมไทย ณ สวนนงนุช พัทยา อีกด้วย”

ศ.ดร.ไพรัช กล่าวทิ้งท้ายว่า กิจกรรมทั้งหมดนี้ ได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย, กระทรวงการต่างประเทศ, กองทัพเรือ, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กลุ่มธุรกิจ TCP, สำนักงานบริหารอาร์กติกและแอนตาร์กติกแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (CAA) และสถาบันวิจัยขั้วโลกแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (PRIC) ซึ่งสะท้อนถึงความร่วมมืออันดีระหว่างประเทศไทยและจีน ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึง ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของทั้งสองประเทศ

ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM กล่าวถึงความร่วมมือในการต้อนรับเรือตัดน้ำแข็งเสว่หลง 2 ว่า NSM มุ่งมั่นส่งเสริมวิทยาศาสตร์สู่สังคม โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้เยาวชน ได้เรียนรู้จากการวิจัยระดับนานาชาติ ซึ่งในครั้งนี้ NSM ได้ร่วมจัดนิทรรศการ “Xue Long 2 and See the Unseen in Polar Region” เพื่อเปิดโลกวิทยาศาสตร์ขั้วโลกให้กว้างขึ้น ผู้ชมจะได้เห็นความสำคัญของการวิจัยขั้วโลกผ่านนักวิจัยไทย และเทคโนโลยีสำรวจอันล้ำสมัยของจีน โดยนิทรรศการนี้ มุ่งหวังให้เกิดความตระหนักถึงความสำคัญของขั้วโลกต่อระบบนิเวศและชีวิตประจำวันของเรา รวมถึงกระตุ้นความสนใจในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่เกี่ยวข้อง นิทรรศการจัดแสดงที่ สยามพารากอน ระหว่างวันที่ 14-25 พ.ค. 68 และท่าเรือจุกเสม็ด ระหว่างวันที่ 20 – 23 พ.ค. 2658 จากนั้น NSM มีแผนนำไปจัดแสดงต่อที่จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. เดอะ สตรีท รัชดา เพื่อให้ประชาชนที่พลาดโอกาสยังสามารถเข้าถึงความรู้เกี่ยวกับการสำรวจขั้วโลกใต้ เทคโนโลยี และงานวิจัยสำคัญได้

นอกจากนี้ อพวช. ยังร่วมกับมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ จัดกิจกรรม Research show by Naturalist 2025 หัวข้อ “Miracle of Polar: มหัศจรรย์แห่งขั้วโลก” โดยเชิญนักวิจัยขั้วโลกตามโครงการพระราชดำริฯ มาถ่ายทอดประสบการณ์และสร้างแรงบันดาลใจแก่เยาวชนผ่านงานวิจัยต่าง ๆ กิจกรรมนี้ จัดทุกเสาร์ที่ 3 ของเดือน ตั้งแต่ มกราคม จนถึงสิ้นปี เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องอีกด้วย

นายเสียว ชื่อหมิง ผู้บังคับการเรือเสว่หลง 2 (Mr.XIAO ZHIMIN, Captain) กล่าวว่า เรือเสว่หลง 2 เป็นเรือสำรวจขั้วโลกลำที่ 4 ของจีน และถือเป็นเรือสำรวจขั้วโลกลำแรกของจีน ที่สร้างขึ้นเองทั้งหมดภายในประเทศ เป็นเรือตัดน้ำแข็งขนาดกลาง ที่มีความทันสมัยและมีสมรรถนะสูงที่สุดลำหนึ่งของโลก ด้วยเทคโนโลยีการตัดน้ำแข็ง 2 ทิศทาง ทำให้สามารถตัดน้ำแข็งหนา 1.5 เมตรพร้อมเดินทางด้วยความเร็ว 2-3 น็อต ทำให้เดินทางผ่านแผ่นน้ำแข็งได้หลายทิศทางอย่างคล่องตัว หัวเรือส่วนใต้น้ำถูกออกแบบมาเป็นพิเศษให้มีความแข็งแรง สามารถชนและไต่ขึ้นบนแผ่นน้ำแข็ง พร้อมแรงกดที่ช่วยแยกน้ำแข็ง เพื่อให้เรือสามารถเคลื่อนที่ต่อไปได้

เรือเสว่หลง 2 มีความยาว 122.5 เมตร ความกว้าง 22.3 เมตร กินน้ำลึก 12 เมตร และมีระวางขับน้ำ 13,990 ตัน สามารถรองรับลูกเรือได้ 40 นาย และนักวิจัยได้อีก 50 นาย รวมทั้งสิ้น 90 ชีวิต ภารกิจหลักของเสว่หลง 2 คือ การสนับสนุนการสำรวจวิจัยขั้วโลกในหลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลก ธารน้ำแข็ง วิทยาศาสตร์ทางทะเล วิทยาศาสตร์บรรยากาศ ธรณีวิทยาและธรณีฟิสิกส์ นิเวศวิทยาและชีววิทยา รวมถึงการศึกษาสิ่งแวดล้อม ทั้งในแผนงานระยะสั้นและระยะยาว                

นอกจากนี้ เรือยังมีบทบาทสำคัญในการรับส่งนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย พร้อมเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึงการขนส่งเสบียง อาหาร เชื้อเพลิง และอุปกรณ์ก่อสร้างสำหรับสถานีวิจัยของจีน ทั้งที่ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ โดยจีนมีสถานีวิจัยหลายแห่งที่ขั้วโลกใต้ ได้แก่ สถานี Great Wall (1985), Zhongshan (1989), Kunlun (2009), Taishan Camp

(2014) และสถานีล่าสุด Qinling (2024) และที่ขั้วโลกเหนือ คือ สถานี Yellow River (2004) ซึ่งเสว่หลง 2 มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการดำเนินงานของสถานีเหล่านี้

เสว่หลง 2 ได้รับการยกย่องว่าเป็นเรือสำรวจอัจฉริยะที่ทันสมัยที่สุดลำหนึ่งของโลก ด้วยการติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจวัดหลายชนิด ครอบคลุมการสำรวจที่หลากหลาย พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย อีกทั้งยังมีเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยสำหรับการประมวลผลข้อมูลทั้งด้านปฏิบัติการและการวิจัย      นอกจากนี้ เรือยังถูกออกแบบมาพร้อมเทคโนโลยีสะอาด SCR (Selective Catalytic  Reduction) เพื่อลดการปล่อยมลพิษในเขตขั้วโลก ที่อยู่ในระดับสูงกว่ามาตรฐานทั่วไป อีกด้วย

นิราช/นันทพล ทิพย์ศรี รายงาน 0909535645

ด่วน แม่ทัพปุ๊ ลงพื้นที่ควบคุมและสั่งการจับกุม 2 เรือประมง อินโดนีเซีย

(20 พ.ค.68) เวลา 10.00 น. พลเรือโทสุวัจ ดอนสกุล ผอ.ศรชล.ภาค 3 เดินทางไปยังท่าเทียบเรือทับละมุ ต.ท้ายเหมือง อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา เพื่อควบคุมและสั่งการดูแลความเรียบร้อย ในการจับกุมสอบสวนและดำเนินคดี การจับกุมเรือประมงอินโดนีเซีย จำนวน 2 ลำพร้อมผู้ต้องหา 18 คน ที่ลักลอบทำการประมงในน่านน้ำไทย บริเวณทิศตะวันตกเฉียงใต้ ของเกาะภูเก็ต ระยะประมาณ 80 ไมล์

ตามที่ได้รับรายงานการจับกุม 2 เรือประมงอินโดนีเซีย พร้อมผู้ต้องหา 18 คน ลักลอบทำการประมงในน่านน้ำไทย ไปก่อนหน้านี้นั้น ชุดปฏิบัติการของ ร.ล.ล่องลม ได้ควบคุมเรือประมงทั้ง 2 ลำกลับเข้าสู่ฝั่ง เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย ที่ท่าเทียบเรือทับละมุ โดยคาดหมายจะเดินทางถึงท่าเรือเวลา 03.00 น ของวันที่ 20 พ.ค.68 แต่เนื่องจากสภาพคลื่นลมแรงและสภาพของเรือประมงที่ถูกจับได้ทั้ง 2 ลำ ทำความเร็วได้น้อย จึงเดินทางมาถึงท่าเรือทับละมุ ช้ากว่ากำหนด โดยเดินทางมาถึงเวลาประมาณ 10.00 น. ของวันที่ 20 พ.ค.68 

จากนั้น เจ้าหน้าที่จัดชุดสหวิชาชีพและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้าดำเนินการตามกระบวนการที่เกี่ยวข้อง ขณะนี้ อยู่ระหว่างดำเนินการ หากมีความคืบหน้าจะรายงานให้ทราบต่อไป

เหตุด่วน เหตุร้าย ภัยทางทะเล ต้องการความช่วยเหลือทางทะเล โทร  1465 แจ้ง ศรชล.ภาค 3 ตลอด 24 ชั่วโมง
น.อ.พิเชษฐ์ ซองตัน ผอ.กองสารนิเทศ/โฆษก ศรชล.ภาค 3 รายงาน
#ศรชลจวพังงา
#ศคทจวพังงา
#ศรชลภาค3
#สายด่วน1465

จีนเปิดตัว ‘Jiu Tan’ เครื่องบินไร้คนขับรุ่นใหม่ ปล่อยโดรนกามิกาเซ่พร้อมกันได้สูงสุด 100 ลำ

(21 พ.ค. 68) จีนเตรียมเปิดตัวเครื่องบินไร้คนขับชื่อ “Jiu Tan” ซึ่งมีความสามารถในการปล่อยโดรนกามิกาเซ่ได้พร้อมกันนับ 100 ลำ ถือเป็นหมัดเด็ดใหม่ของจีนในการเพิ่มศักยภาพทางทหารและรับมือระบบป้องกันทางอากาศแบบเดิม

ตามรายงานจากสื่อรัฐของจีน เครื่องบินลำนี้พัฒนาโดยบริษัท Shaanxi Unmanned Equipment Technology โดยต้นแบบรุ่นที่ 4 อยู่ระหว่างการทดสอบ และเตรียมบินครั้งแรกในเดือนหน้า หลังเปิดตัวครั้งแรกในงานแสดงการบินจูไห่ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2567

สำหรับ Jiu Tan มีระยะปีกกว้าง 25 เมตร บินได้นานถึง 12 ชั่วโมง และระยะทางไกลกว่า 7,000 กิโลเมตร รองรับน้ำหนักบรรทุกได้ถึง 6 ตัน ทั้งอุปกรณ์สอดแนม อาวุธ และขีปนาวุธ จุดเด่นคือการโจมตีแบบฝูง “barrage attack” ซึ่งทำให้ยากต่อการสกัดจากระบบป้องกันของศัตรู

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า การพัฒนา Jiu Tan สะท้อนเป้าหมายของจีนที่ต้องการท้าทายอำนาจทางอากาศของสหรัฐฯ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับ RQ-4 Global Hawk และ MQ-9 Reaper ของอเมริกา ซึ่งยังไม่มีความสามารถในการโจมตีฝูงขนาดใหญ่แบบเดียวกัน

กฟผ. – สวีเดน ผสานกำลังหนุนพลังงานสีเขียว หวังตอบโจทย์ลดโลกร้อนด้วยพลังงานสะอาด

กฟผ. ร่วมกับสถานทูตเอกอัครราชทูตสวีเดนและภาคเอกชนสวีเดน ขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสะอาด จัดงาน “Pioneer the Possible Thailand 2025” แลกเปลี่ยนความรู้และความร่วมมือด้านพลังงานสีเขียวสู่ความยั่งยืน

เมื่อวันที่ (20 พ.ค. 68) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับ สถานเอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย และ The Swedish Trade & Invest Council (Business Sweden) จัดงาน Pioneer the Possible Thailand 2025 เพื่อขยายความร่วมมือด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานสีเขียว โดยมีนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ กฟผ. และนางอันนา ฮัมมาร์เกรน (H.E. Mrs. Anna Hammargren) เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย ร่วมเปิดงาน พร้อมด้วยผู้แทน กฟผ. และบริษัทชั้นนำของสวีเดน ร่วมงานฯ ณ อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานใหญ่ กฟผ. จ.นนทบุรี

นางอันนา ฮัมมาร์เกรน เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย กล่าวว่า ความร่วมมือนี้เป็นการดำเนินการร่วมกันเพื่อผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียวอย่างเป็นรูปธรรม โดยสวีเดนถือเป็นประเทศผู้นำที่มีการพัฒนาการใช้เชื้อเพลิงทางเลือกที่ยั่งยืน มีบริษัทที่เป็นผู้นำด้าน Solutions เรื่องไฮโดรเจนและพลังงานแสงอาทิตย์ บริษัทที่พร้อมสนับสนุนระบบ Smart Grid ด้วย Solutions 4G และ 5G ที่ทันสมัย ช่วยยกระดับการผลิตและส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อีกทั้งบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมดิจิทัล ที่นำระบบดิจิทัลมาใช้ในการจัดการระบบพลังงานและปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพอีกด้วย

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ กฟผ. เผยว่า การจัดงานในครั้งนี้เป็นการต่อยอดจากบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง กฟผ. และ Business Sweden ที่มุ่งเสริมสร้างความร่วมมือด้านพลังงานชีวมวลและไฮโดรเจนในอนาคต รวมทั้งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนแนวคิด นวัตกรรม และความร่วมมือในการสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งในด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานสีเขียว ร่วมผลักดันแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนระหว่างสองประเทศ มุ่งมั่นสร้างแรงบันดาลใจและกำหนดอนาคตด้านพลังงานที่ยั่งยืน โดยภายในงานมีการหารือร่วมกัน 3 หัวข้อ คือ 1) เชื้อเพลิงสีเขียว (ชีวมวลและไฮโดรเจน) กับศักยภาพในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 2) สมาร์ทกริด (เทคโนโลยีดิจิทัล กังหันก๊าซ และการบูรณาการพลังงานหมุนเวียน) และ 3) การแปลงกระบวนการผลิตและส่งจ่ายไฟฟ้าเป็นดิจิทัล และการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและส่งจ่ายไฟฟ้า

การจัดงาน Pioneer the Possible Thailand 2025 ถือเป็นก้าวสำคัญของความร่วมมือระหว่างไทยและสวีเดนในการขับเคลื่อนสู่อนาคตพลังงานสะอาด โดยเน้นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่ทันสมัย เพื่อยกระดับระบบพลังงานของไทยให้มีความยั่งยืน มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับแนวทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับโลก


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top