ผู้เชี่ยวชาญชี้แผน ‘Golden Dome’ เสี่ยงล้มเหลวสูง เทคโนโลยียังไม่พร้อม รับมือ ‘ขีปนาวุธข้ามทวีป’ ได้ไม่จริง

(22 พ.ค. 68) โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เปิดตัวแผนงานใหญ่ชื่อ “Golden Dome” มูลค่ากว่า 175 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสร้างระบบป้องกันขีปนาวุธที่ครอบคลุมทั้งภาคพื้นดินและอวกาศ โดยหวังให้เป็นประการสำคัญในการสกัดภัยคุกคามจากขีปนาวุธข้ามทวีปในอนาคต โดยได้แรงบันดาลใจจากระบบ “Iron Dome” ของอิสราเอลที่ใช้รับมือจรวดจากฉนวนกาซา

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารหลายรายแสดงความกังวลว่า แผนของทรัมป์อาจไม่สามารถบรรลุผลตามที่ตั้งเป้าไว้ ยูริ คนูตอฟ นักประวัติศาสตร์ด้านกองกำลังป้องกันทางอากาศของรัสเซีย ระบุว่า Iron Dome มีจุดแข็งในการจัดการเป้าหมายเดี่ยวหรือกลุ่มเล็ก แต่ไม่สามารถรับมือการโจมตีแบบรวมหมู่หรือการยิงขีปนาวุธจำนวนมากได้ ซึ่งเป็นลักษณะของภัยคุกคามในยุคสงครามนิวเคลียร์

อิกอร์ โคโรตเชนโก บรรณาธิการนิตยสาร National Defense เสริมว่า จุดต่างสำคัญระหว่าง Iron Dome และ Golden Dome คือระดับภัยคุกคามที่ต้องรับมือ โดย Iron Dome ออกแบบมาเพื่อสกัดจรวดทำเองของกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ ขณะที่ Golden Dome มีเป้าหมายรับมือขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBM) ที่ซับซ้อนและเร็วกว่า ซึ่งยังไม่มีเทคโนโลยีใดในปัจจุบันที่สามารถรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังตั้งข้อสังเกตว่า Golden Dome มีลักษณะคล้ายคลึงกับโครงการ “สงครามดวงดาว” (Strategic Defense Initiative – SDI) ที่ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน เสนอในยุค 1980 ซึ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีล้ำยุค เช่น เลเซอร์และขีปนาวุธจากอวกาศ แต่ล้มเหลวเพราะข้อจำกัดทางเทคนิคและงบประมาณ แม้เวลาผ่านมากว่า 40 ปี สหรัฐฯ ก็ยังไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านั้นให้เป็นจริงได้

แม้ส่วนภาคพื้นดินของแผน Golden Dome จะสามารถอัปเกรดจากระบบป้องกันขีปนาวุธที่มีอยู่แล้ว เช่น THAAD, Aegis และ Patriot ได้ แต่ส่วนที่เกี่ยวข้องกับอวกาศจะต้องพัฒนาขึ้นใหม่ทั้งหมด ซึ่งเป็นภารกิจที่ท้าทายและใช้เวลานาน ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า หากเกิดการยิงขีปนาวุธข้ามทวีปในจำนวนมาก Golden Dome ก็อาจไม่สามารถรับมือได้ในเชิงปฏิบัติ และอาจกลายเป็นอีกหนึ่งโครงการล้มเหลวเช่นเดียวกับในอดีต


ที่มา : Sputnikglobe