Sunday, 18 May 2025
ค้นหา พบ 48181 ที่เกี่ยวข้อง

โศกนาฏกรรมกลางวิภาวดี คร่าชีวิตนักเรียน 23 ราย

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 รถบัสนักเรียนจากโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม จังหวัดอุทัยธานี เกิดเพลิงไหม้ขณะเดินทางกลับจากทัศนศึกษา บริเวณถนนวิภาวดีรังสิต หน้าศูนย์การค้าเซียร์รังสิต เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิต 23 ราย และบาดเจ็บอีกหลายราย โดยส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียน  

คณะครูและนักเรียนจำนวน 44 คน เดินทางด้วยรถบัสเพื่อเยี่ยมชมอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ระหว่างเดินทางกลับ รถเกิดอุบัติเหตุยางหน้าซ้ายระเบิด ส่งผลให้รถเสียหลักชนแบริเออร์กลางถนน เกิดประกายไฟลุกไหม้อย่างรวดเร็ว  

ผู้โดยสาร 20 คนสามารถหนีออกมาได้อย่างปลอดภัย ขณะที่อีก 23 ชีวิตติดอยู่ในรถท่ามกลางเพลิงที่โหมกระหน่ำ เจ้าหน้าที่กู้ภัยพยายามเข้าช่วยเหลือ แต่ไม่สามารถเข้าถึงตัวรถได้ทันเวลา  

นายสมาน คนขับรถ อ้างว่าพยายามหาถังดับเพลิงจากรถคันอื่น แต่เกิดความตกใจจนหลบหนี ก่อนถูกจับกุมในเวลาต่อมา เจ้าหน้าที่แจ้งข้อหาทั้งหมด 4 ข้อหา รวมถึงขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต  

เหตุการณ์นี้นำไปสู่คำถามใหญ่เกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยของรถโดยสารและการจัดการทัศนศึกษาของโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการประกาศตรวจสอบมาตรฐานการเดินทางของนักเรียนทั่วประเทศ ขณะเดียวกัน ประชาชนเรียกร้องให้รัฐเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสภาพรถโดยสารและบังคับใช้มาตรการความปลอดภัยอย่างจริงจัง  เหตุโศกนาฏกรรมนี้เป็นการย้ำเตือนถึงความสำคัญของมาตรการความปลอดภัยบนท้องถนน พร้อมถอดบทเรียนเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์สูญเสียเช่นนี้อีกในอนาคต

วิกฤตอุทกภัยในรอบ 30 ปี สะท้อนพลังน้ำใจคนไทย

ปีนี้ ประเทศไทยเผชิญกับอุทกภัยรุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี อันเนื่องมาจากพายุไต้ฝุ่นยางิและซูลิก ส่งผลกระทบต่อ 19 จังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และประชาชนกว่า 43,000 ครัวเรือนได้รับผลกระทบ

วันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา ฝนที่ตกต่อเนื่องจากร่องมรสุมและมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้หลายพื้นที่โดยเฉพาะภาคเหนือเกิดน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วม และเส้นทางคมนาคมถูกตัดขาด ในจังหวัดเชียงราย น้ำป่าจากฝนหนักทำให้บริเวณมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายและถนนพหลโยธินจมน้ำ สร้างความลำบากในการสัญจร โดยบางพื้นที่รถเล็กไม่สามารถผ่านได้

วันที่ 17 สิงหาคม อุทกภัยฉับพลันใน 9 อำเภอของเชียงราย ส่งผลกระทบต่อ 1,665 ครัวเรือน แม้ว่าจะไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต แต่อำเภอเชียงแสนและขุนตาลได้รับความเสียหายอย่างหนักจากน้ำในแม่น้ำที่ระบายลงสู่แม่น้ำโขงไม่ทัน ต่อมาในวันที่ 18 สิงหาคม จังหวัดพะเยาและแม่ฮ่องสอนต่างได้รับผลกระทบ ขณะที่จังหวัดเพชรบูรณ์ในวันที่ 19 สิงหาคมเผชิญน้ำป่าไหลหลากในอำเภอหนองไผ่และหล่มสัก กระทบประชาชนกว่า 650 ครัวเรือน

วันที่ 23 สิงหาคม จังหวัดน่านเผชิญน้ำท่วมสูงถึง 3 เมตรในหลายพื้นที่ เช่น วัดภูมินทร์และชุมชนบ้านท่าลี่ ขณะที่จังหวัดแพร่ น้ำจากแม่น้ำยมท่วมพื้นที่เศรษฐกิจและศูนย์ราชการ โรงเรียนต้องหยุดการเรียนการสอนชั่วคราว

ระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่เพิ่มสูงในเดือนกันยายน ทำให้จังหวัดเลย หนองคาย และนครพนมได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะในหนองคาย น้ำท่วมตัวเมืองสูงถึง 50 เซนติเมตร กระทบการดำเนินชีวิตของประชาชน

ในยามวิกฤต คนไทยทั่วประเทศได้แสดงความสามัคคีและน้ำใจ ด้วยการบริจาคสิ่งของและเงินทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัย มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก และสภากาชาดไทยได้จัดตั้งศูนย์รับบริจาค ขณะที่สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มอบกัปปิยภัณฑ์ 100,000 บาท สนับสนุนการทำโรงทานช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเชียงราย ภาครัฐ เช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ระดมเจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือประชาชน พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำในพื้นที่

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กแสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์น้ำท่วม พร้อมส่งกำลังใจถึงผู้ประสบภัยทุกครัวเรือนและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่

สถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้เป็นบทพิสูจน์ความสามัคคีของคนไทยที่ร่วมมือกันช่วยเหลือผู้เดือดร้อน พร้อมสร้างความหวังให้ผู้ประสบภัยสามารถฟื้นฟูชีวิตกลับสู่ภาวะปกติได้ในเร็ววัน

ยุบพรรคก้าวไกล-ถอดถอนเศรษฐา 'อุ๊งอิ๊งค์ แพทองธาร' ผงาดนายกฯ

ปี 2567 ถือเป็นปีที่การเมืองไทยเผชิญการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญจากสองคดีใหญ่ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อการเมืองทั้งระบบ ได้แก่ การยุบพรรคก้าวไกล และการถอดถอนเศรษฐา ทวีสิน ส่งผลให้ประเทศไทยได้ นายกรัฐมนตรีคนที่ 31 แพทองธาร ชินวัตร

คดีที่ 1 ยุบพรรคก้าวไกล การยุบพรรคก้าวไกลเริ่มต้นจากการที่พรรคเสนอ นโยบายแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งปี 2566 ซึ่งถูกยื่นคำร้องว่าเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาและตัดสินในวันที่ 31 มกราคม 2567 ว่าพรรคก้าวไกลมีการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ  

เหตุการณ์สำคัญ: 12 มีนาคม 2567 กกต. มีมติส่งคำร้องยุบพรรคก้าวไกลต่อศาลรัฐธรรมนูญ  7 สิงหาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค 10 ปี  

หลังคำตัดสิน อดีตสมาชิกพรรคก้าวไกลจำนวน 143 คนได้ย้ายไปสังกัดพรรคใหม่ชื่อ **พรรคประชาชน** โดยมี ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ เป็นหัวหน้าพรรค พร้อมประกาศเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงผ่านการเลือกตั้งในปี 2570  

คดีที่ 2 ถอดถอนเศรษฐา ทวีสิน เศรษฐา ทวีสิน เผชิญคดีที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี แม้นายพิชิตจะมีประวัติคดีอาญาในข้อหาละเมิดอำนาจศาลจากกรณีติดสินบนระหว่างพิจารณาคดีที่ดินรัชดาฯ  

เหตุการณ์สำคัญ เมษายน 2567 มีการยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. ให้สอบสวนเศรษฐา  พฤษภาคม 2567 พิชิตลาออกจากตำแหน่งเพื่อลดกระแสวิพากษ์วิจารณ์   สิงหาคม 2567ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งถอดถอนเศรษฐาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  

สองคดีนี้ไม่เพียงส่งผลต่อพรรคการเมืองและผู้นำ แต่ยังเปลี่ยนโฉมการเมืองไทยโดยสิ้นเชิง การถอดถอนเศรษฐาทำให้ 'แพทองธาร ชินวัตร' ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่

เอเลี่ยนสปีชีส์ตัวร้าย แพร่กระจายทำลายระบบนิเวศท้องถิ่น

ประเทศไทยกำลังเผชิญการแพร่ระบาดของ ปลาหมอคางดำ (Blackchin Tilapia) หรือที่เรียกกันว่า ปลาหมอสีคางดำ ในหลายพื้นที่ สร้างความเสียหายร้ายแรงต่อเกษตรกรและส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางน้ำ โดยปลาชนิดนี้ถูกจัดให้เป็น เอเลียนสปีชีส์ ที่ต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด  

ปลาหมอคางดำมีถิ่นกำเนิดในแอฟริกา และแพร่กระจายจากแอฟริกาตะวันตกเฉียงเหนือไปยังชายฝั่งในประเทศอย่างไนจีเรีย เซเนกัล และกานา โดยถูกนำเข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกในปี พ.ศ. 2553 เพื่อทดลองเลี้ยงในเชิงพาณิชย์ อย่างไรก็ตาม การทดลองล้มเหลวและปลาชนิดนี้เริ่มหลุดรอดออกมาสู่ธรรมชาติ  

ปลาหมอคางดำมีลักษณะเด่นคือ ขนาดตัวที่ยาวถึง 8 นิ้ว ตัวผู้มีสีดำเด่นบริเวณหัวและแผ่นปิดเหงือกเมื่อโตเต็มวัย มีความสามารถปรับตัวสูง สามารถอาศัยอยู่ได้ทั้งในน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม และทนต่อการเปลี่ยนแปลงของความเค็มได้อย่างรวดเร็ว  

ในด้านพฤติกรรม ปลาหมอคางดำมีอัตราการขยายพันธุ์สูง ตัวเมียสามารถวางไข่ได้ 150-300 ฟองต่อรอบ โดยตัวผู้จะช่วยฟักไข่ในปากได้นาน 2-3 สัปดาห์ นอกจากนี้ยังมีระบบย่อยอาหารที่มีประสิทธิภาพสูง ทำให้ต้องการอาหารตลอดเวลา และมีพฤติกรรมการกินที่หลากหลาย ตั้งแต่แพลงก์ตอน ลูกหอย ลูกกุ้ง ไปจนถึงซากสิ่งมีชีวิต  

ปลาหมอคางดำเป็นภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์น้ำพื้นถิ่น ทำให้สัตว์น้ำบางชนิดเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และส่งผลกระทบต่อความสมดุลของระบบนิเวศ นอกจากนี้ ยังสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมประมง โดยเฉพาะการเลี้ยงกุ้ง เช่น กุ้งกุลาดำและกุ้งขาว  

ในปี พ.ศ. 2566 ปลาหมอคางดำถูกประกาศเป็นสัตว์น้ำต้องห้ามนำเข้าประเทศ แต่การแพร่ระบาดยังคงขยายวงกว้าง โดยพบการแพร่กระจายในจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ รวมถึงพื้นที่ชานเมืองและใจกลางกรุงเทพมหานคร  

รัฐบาลได้ประกาศให้การจัดการกับปลาหมอคางดำเป็นวาระแห่งชาติในปี พ.ศ. 2567 และกำลังดำเนินมาตรการควบคุมประชากรปลาด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การปล่อยปลานักล่า เช่น ปลากะพงขาว ลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อลดจำนวนประชากรปลาหมอคางดำ  

การแก้ไขวิกฤตปลาหมอคางดำในประเทศไทยต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งเกษตรกร นักวิทยาศาสตร์ และหน่วยงานภาครัฐ เพื่อปกป้องระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศจากการคุกคามของสายพันธุ์รุกรานชนิดนี้

ปฏิบัติการเด็ดปีกเหล่าบอส ธุรกิจหมื่นล้านสู่ข้อหาฉ้อโกง-แชร์ลูกโซ่

ย้อนมหากาพย์คดีดิไอคอน จากเครือข่ายบริษัทขายออนไลน์หมื่นล้าน 'บอสพอล' สู่ข้อกล่าวหาฉ้อโกงประชาชน-แชร์ลูกโซ่ ความเสียหาย 3,000 ล้านบาท

ยังคงเป็นเรื่องที่จะต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง สำหรับ 'มหากาพย์คดีดิไอคอน' ซึ่งปัจจุบันพบยอดรวมผู้เสียหายที่เข้าให้ปากคำกับศูนย์รับแจ้งความร้องทุกข์ในคดีดิไอคอน กรุ๊ป ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติทั่วประเทศ มากกว่า 9 พันคน รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 3,000 ล้านบาท

TST พาไล่เรียงลำดับเหตุการณ์ของ 'มหากาพย์คดีดิไอคอน' ตั้งแต่เริ่มต้นที่กลายมาเป็นประเด็นร้อน จนถึงความคืบหน้าล่าสุดในปัจจุบัน

บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด (The iCON GROUP) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2561 โดยมีการแจ้งประเภทธุรกิจเป็นการขายปลีกทางอินเทอร์เน็ต และ 'บอสพอล' วรัตน์พล วรัทย์วรกุล ได้รับการจดทะเบียนเป็นกรรมการบริษัท โดยในระหว่างปี 2562-2566 รายได้รวมของบริษัทฯ สูงถึง 10,613,171,867 บาท

อย่างไรก็ตาม การดำเนินธุรกิจของบริษัทเริ่มถูกตั้งข้อสงสัยในปี 2567 ว่าอาจเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ หลังจากกลุ่มผู้เสียหายที่เปิดบิลแล้วไม่สามารถขายสินค้าได้ เริ่มออกมาร้องเรียนในเพจต่างๆ กระทั่งกลายเป็นประเด็นร้อนแรงเมื่อ 'กบ ไมโคร' หรือ นายไกรภพ จันทร์ดี นักร้องรุ่นใหญ่ โพสต์เฟซบุ๊กแฉว่าเขาลงทุน 2 ล้านบาทกับบริษัทแห่งนี้ แต่สุดท้ายต้องเลิกลงทุน พร้อมกับกล่าวหาว่ามีผู้สูงอายุหลายคนลงทุนจนแทบสูญเสียทุกอย่าง และเรียกร้องให้หยุดธุรกิจที่อันตรายกว่าธุรกิจ 18 มงกุฎ

จากนั้น ผู้เสียหายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และหลายเพจเฟซบุ๊กดังเริ่มเปิดเผยข้อมูลไม่พอใจในการดำเนินธุรกิจของบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป ซึ่งวิธีการธุรกิจที่มีการเชิญชวนให้เข้าร่วมอบรม-สัมมนาก่อนชวนเปิดบิลขายสินค้าหรือเป็นดีลเลอร์ นั้นถูกมองว่าเหมือนการทำแชร์ลูกโซ่ แม้ว่าจะมีการขายสินค้า แต่สินค้าหลายรายการกลับไม่ได้รับความนิยมตามที่โฆษณาไว้

เมื่อประเด็นร้อนเริ่มขยายตัว 'บอสพอล' วรัตน์พล วรัทย์วรกุล ซีอีโอของดิไอคอนกรุ๊ป ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กยืนยันว่า ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ทำธุรกิจ ผ่านระบบตัวแทนของบริษัทฯ เขาเชื่อมั่นว่าได้ดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใสและไม่ผิดกฎหมาย พร้อมยืนยันว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์

ในขณะเดียวกัน ข้อมูลของบรรดา 'บอสดิไอคอน' ที่มีชื่อเสียงเริ่มถูกขุดคุ้ยออกมาเผยแพร่ ซึ่งประกอบด้วย 'บอสกันต์' กันต์ กันตถาวร (CMO), 'บอสแซม' ยุรนันท์ ภมรมนตรี (CRO), และ 'บอสมีน' พีชญา วัฒนามนตรี (CCO) ทำให้บริษัทดิไอคอนกรุ๊ปต้องออกแถลงการณ์ชี้แจงว่า บุคคลเหล่านี้ไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นบริษัท แต่เป็นเพียงผู้ช่วยในการทำการตลาด

หลังจากที่ผู้เสียหายออกมาแจ้งความร้องทุกข์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตำรวจได้ออกหมายจับผู้บริหารและบอสใหญ่ของบริษัทดิไอคอนกรุ๊ป 18 คน ในข้อหาฉ้อโกงประชาชนและความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ รวมถึงข้อหาฉ้อโกงประชาชนเกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่ ตาม พ.ร.ก.กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกง

รายชื่อผู้ถูกจับรวมถึง 'บอสพอล' และบอสจากวงการบันเทิงอีกหลายคน ทั้ง 'บอสกันต์' กันต์ กันตถาวร, 'บอสแซม' ยุรนันท์ ภมรมนตรี, และ 'บอสมีน' พีชญา วัฒนามนตรี

ในขณะที่กลุ่มบอสดิไอคอนยังคงยืนยันว่า ธุรกิจของบริษัทไม่ได้เป็นแชร์ลูกโซ่หรือการฉ้อโกงประชาชน แต่ทางคดีได้มีการขุดข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจ่ายเงินสินบนและความเชื่อมโยงกับผู้ใหญ่ในรัฐบาลที่ถูกเปิดเผยโดย 'เอกภพ เหลืองประเสริฐ' ผู้ก่อตั้งเพจสายไหมต้องรอด โดยอ้างว่ามีการใช้เงินสดฟอกแปลงเป็นสกุลเงินดิจิทัลและจ่ายสินบนในรูปแบบต่างๆ โดยมีการเซ่นไหว้ 'เทวดา' เพื่อขอความคุ้มครอง

เรื่องราวนี้ยังคงเป็นที่จับตามองในสังคม และยังคงมีการขยายผลสืบสวนอย่างต่อเนื่อง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top