เอเลี่ยนสปีชีส์ตัวร้าย แพร่กระจายทำลายระบบนิเวศท้องถิ่น

ประเทศไทยกำลังเผชิญการแพร่ระบาดของ ปลาหมอคางดำ (Blackchin Tilapia) หรือที่เรียกกันว่า ปลาหมอสีคางดำ ในหลายพื้นที่ สร้างความเสียหายร้ายแรงต่อเกษตรกรและส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางน้ำ โดยปลาชนิดนี้ถูกจัดให้เป็น เอเลียนสปีชีส์ ที่ต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด  

ปลาหมอคางดำมีถิ่นกำเนิดในแอฟริกา และแพร่กระจายจากแอฟริกาตะวันตกเฉียงเหนือไปยังชายฝั่งในประเทศอย่างไนจีเรีย เซเนกัล และกานา โดยถูกนำเข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกในปี พ.ศ. 2553 เพื่อทดลองเลี้ยงในเชิงพาณิชย์ อย่างไรก็ตาม การทดลองล้มเหลวและปลาชนิดนี้เริ่มหลุดรอดออกมาสู่ธรรมชาติ  

ปลาหมอคางดำมีลักษณะเด่นคือ ขนาดตัวที่ยาวถึง 8 นิ้ว ตัวผู้มีสีดำเด่นบริเวณหัวและแผ่นปิดเหงือกเมื่อโตเต็มวัย มีความสามารถปรับตัวสูง สามารถอาศัยอยู่ได้ทั้งในน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม และทนต่อการเปลี่ยนแปลงของความเค็มได้อย่างรวดเร็ว  

ในด้านพฤติกรรม ปลาหมอคางดำมีอัตราการขยายพันธุ์สูง ตัวเมียสามารถวางไข่ได้ 150-300 ฟองต่อรอบ โดยตัวผู้จะช่วยฟักไข่ในปากได้นาน 2-3 สัปดาห์ นอกจากนี้ยังมีระบบย่อยอาหารที่มีประสิทธิภาพสูง ทำให้ต้องการอาหารตลอดเวลา และมีพฤติกรรมการกินที่หลากหลาย ตั้งแต่แพลงก์ตอน ลูกหอย ลูกกุ้ง ไปจนถึงซากสิ่งมีชีวิต  

ปลาหมอคางดำเป็นภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์น้ำพื้นถิ่น ทำให้สัตว์น้ำบางชนิดเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และส่งผลกระทบต่อความสมดุลของระบบนิเวศ นอกจากนี้ ยังสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมประมง โดยเฉพาะการเลี้ยงกุ้ง เช่น กุ้งกุลาดำและกุ้งขาว  

ในปี พ.ศ. 2566 ปลาหมอคางดำถูกประกาศเป็นสัตว์น้ำต้องห้ามนำเข้าประเทศ แต่การแพร่ระบาดยังคงขยายวงกว้าง โดยพบการแพร่กระจายในจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ รวมถึงพื้นที่ชานเมืองและใจกลางกรุงเทพมหานคร  

รัฐบาลได้ประกาศให้การจัดการกับปลาหมอคางดำเป็นวาระแห่งชาติในปี พ.ศ. 2567 และกำลังดำเนินมาตรการควบคุมประชากรปลาด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การปล่อยปลานักล่า เช่น ปลากะพงขาว ลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อลดจำนวนประชากรปลาหมอคางดำ  

การแก้ไขวิกฤตปลาหมอคางดำในประเทศไทยต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งเกษตรกร นักวิทยาศาสตร์ และหน่วยงานภาครัฐ เพื่อปกป้องระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศจากการคุกคามของสายพันธุ์รุกรานชนิดนี้