Sunday, 18 May 2025
ค้นหา พบ 48181 ที่เกี่ยวข้อง

จีนเผยโฉมเรือยกพลขึ้นบกลำใหม่ ‘ซื่อชวน’ เพิ่มขีดความสามารถสู้รบในน่านน้ำระยะไกล

จีนได้จัดพิธีเปิดตัวเรือโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบกไทป์ 076 รุ่นใหม่ลำแรกในนครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งถูกตั้งชื่อตามมณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ โดยเรือลำใหม่ที่พัฒนาขึ้นเองนี้มีหมายเลขตัวเรือเป็นเลข 51

(27 ธ.ค.67) รายงานระบุว่าเรือซื่อชวนมีระวางขับน้ำเต็มพิกัดกว่า 40,000 ตันโครงสร้างเก๋งเรือแบบเกาะคู่ ดาดฟ้าเรือเต็มความยาว และใช้เทคโนโลยีเครื่องดีดส่งและอุปกรณ์จับกุมแบบคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าอันเป็นนวัตกรรมใหม่ ช่วยให้สามารถบรรทุกอากาศยานปีกตรึง เฮลิคอปเตอร์ และอุปกรณ์สะเทินน้ำสะเทินบก

เจ้าหน้าที่กองทัพเรือจีนเผยว่าเรือซื่อชวนเป็นเรือโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบกรุ่นใหม่ของกองทัพเรือแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน มีบทบาทสำคัญต่อการเดินหน้าการพัฒนาของกองทัพเรือและการเพิ่มพูนขีดความสามารถทางการสู้รบในน่านน้ำทะเลอันไกลโพ้น

ทั้งนี้ เรือซื่อชวนจะต้องผ่านบททดสอบรายการต่าง ๆ ตามแผน ทั้งการทำงานของอุปกรณ์ การจอดเทียบ และการล่องทะเล

ตำรวจ ขยายผลจับตัวการค้ายาบ้ากว่า 15 ล้านเม็ด พบการเครือข่ายทั้งผู้ซื้อ - ผู้ขาย โดยใช้ออกทริปบังหน้า

อวสาน 'ทริปน้ำไม่อาบ' จับตัวการชักชวน ขยายผลจับยาบ้ากว่า 15 ล้านเม็ด พบมีการหาเครือข่ายทั้งผู้ซื้อ ผู้ขายยาเสพติด โดยใช้ออกทริปบังหน้า

(27 ธ.ค. 67) พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และ พล.ต.อ.ประจวบ วงศ์สุข รอง ผบ.ตร. ได้มอบหมายให้ พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานป้องกันปราบปรามการขับขี่รถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น การแข่งรถ หรือความผิดอื่นที่เกี่ยวข้อง พร้อมด้วย พล.ต.ต.สารนัย คงเมือง ผบก.ภ.จว.เพชรบูรณ์ , พ.ต.อ.สราวุธ คนใหญ่ รอง ผบก.สส.ภ.6 ขยายผลผู้กระทำผิดเกี่ยวกับการแข่งรถในทาง เครือข่ายทริป “น้ำไม่อาบ” นำไปสู่การจับกุมยาบ้ารวมกว่า 15.6 ล้านเม็ด (เครือข่าย RNC8) พบว่ามีการหาเครือข่ายทั้งผู้ซื้อ ผู้ขาย ใช้ออกทริปบังหน้า

พล.ต.ท.สำราญ กล่าวว่า พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร. ได้สั่งการให้ดำเนินคดีเด็ดขาดกับกลุ่มออกทริป 'น้ำไม่อาบ' ย้ำ 'ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย' ได้มอบหมาย พล.ต.อ.ประจวบ วงศ์สุข รอง ผบ.ตร. กำกับดูแลงานป้องกันและปราบปราม ซึ่งปัญหาดังกล่าวเกิดจากเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'เมลาย รัชดา' ชักชวนทำให้มีการรวมกลุ่มของการขับขี่รถจักรยานยนต์ในลักษณะที่สร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนอย่างมาก ต่อเนื่องมาเป็นเวลา 7 ปี มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตซึ่งเกิดจากกลุ่มผู้ออกทริปเป็นประจำทุกปี คณะทำงานฯ ได้ออกประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนตามเส้นทางให้ขับขี่เคารพกฎจราจร แต่ยังมีการฝ่าฝืน เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้จับกุมดำเนินคดีในข้อหาแข่งรถในทางฯ จากการสอบสวนทราบว่ามาร่วมทริป 'น้ำไม่อาบ' จึงได้สั่งการให้คณะทำงานฯ ดำเนินการรวบรวมข้อมูล เพื่อนำไปสู่การจับกุมผู้เชิญชวนส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการกระทำความผิดดังกล่าวอย่างแพร่หลายในสังคมออนไลน์ ต่อมาได้มีการออกหมายเรียกผู้ต้องหา และ นายเมธาฯ หรือ 'เมลาย รัชดา' และภรรยา คือ น.ส.วิริยาฯ เจ้าของเพจ 'เมลาย รัชดา แฟนเพจ' เพื่อมารับทราบข้อกล่าวหา ในความผิดฐานชักชวนให้มีการแข่งรถในทางฯ จากข้อมูลและผลการปฏิบัติดังกล่าว จะได้เป็นแนวทางในการมอบหมายให้ทุกหน่วยทั่วประเทศดำเนินการในการเฝ้าระวัง และสืบสวนติดตามจับกุมดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดในทุกรูปแบบที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่พี่น้องประชาชน

นอกจากนี้ พล.ต.ท.สำราญฯ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2567 เวลาประมาณ 03.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.สส.บก.น.6 ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหาร นปส.ขกท.ศปก.ทบ.(สปข.ขกท.ศปก.ทบ.) และ ขกท.ศปก.ทภ.1 ร่วมจับกุมตัวผู้ต้องหา คือ นายวีรเทพฯ พร้อมของกลาง ยาบ้าบรรจุอยู่ในถุงกระสอบ จำนวนประมาณ 78 กระสอบ กระสอบละประมาณ 200,000 เม็ด รวมจำนวนยาบ้า ประมาณ 15,600,000 เม็ด ซึ่งจากคำให้การของผู้ต้องหา พบว่าจุดเริ่มต้นที่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด คือมีคนชักชวนผ่านทางการพนันตามสนามแข่งรถ หรือจัดทริปขับขี่รถจักรยานยนต์ออกเที่ยวตามต่างจังหวัดในสถานที่ต่างๆ โดยแต่ละครั้งที่มีการรวมตัวกัน จะมีบุคคลซึ่งเป็นระดับสั่งการหรือนายทุนมาร่วมกิจกรรมด้วย ซึ่งเป็นเหมือนการพบปะ หรือจัดเลี้ยงของกลุ่มขบวนการยาเสพติดไปในตัว โดยใช้การออกทริปหรือไปท่องเที่ยวเป็นกลุ่มด้วยกัน เป็นการสังสรรค์ ประสานงานกัน สั่งการในเรื่องซื้อขายยาเสพติด ซึ่งล่าสุดคือทริป “น้ำไม่อาบ” ที่เพิ่งผ่านมา

พล.ต.ท.สำราญ ย้ำว่า นโยบายของรัฐบาล โดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมาย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้กำชับให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติปราบปรามแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจังทั้งระบบ รวมถึงความผิดอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ทั้งนี้ สามารถแจ้งเบาะแสเหตุได้ที่สายด่วน 191 หรือ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

‘คงกระพัน’ ชูวิชั่นปี 68 มุ่งผลักดัน ปตท. ยั่งยืนทุกมิติ ปักหมุดต่อยอดพลังงานสะอาด - ไม่เน้นกำไรระยะสั้น

'คงกระพัน' ชูวิชั่นปี 2568 ดันปตท.ยืนในทุกมิติ ต่อยอดธุรกิจที่มีโอกาส ไม่เน้นกำไรระยะสั้น ตัดใจเลิกธุรกิจที่ไม่ perform มั่นใจก๊าซธรรมชาติ ยังเป็นพลังงานสำคัญ เน้นทำในสิ่งที่ ปตท.ถนัด 

ภายหลังเข้ารับตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ของนายคงกระพัน อินทรแจ้ง ได้ขับเคลื่อน ปตท.ด้วยวิสัยทัศน์ 'ปตท.แข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน' หรือ 'TOGETHER FOR SUSTAINABLE THAILAND, SUSTAINABLE WORLD'

กลุ่ม ปตท.ได้พลิกโฉมธุรกิจครั้งใหญ่อีกครั้ง จากการบริหารงาน 7 เดือนของ CEO ปตท.ที่มีการตั้งเป้าหมายการทำงานทั้งกลุ่ม ปตท. เพื่อสร้างความแข็งแรงร่วมกับสังคมไทย สร้างการเติบโตทางธุรกิจ ต้องอยู่บนพื้นฐานหลักการของความยั่งยืนอย่างสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและการกำกับดูแลกิจการที่ดี

ทั้งนี้ ปตท.ถือเป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติ ที่สร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทยและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มอย่างสมดุล บริหารองค์กรด้วยความโปร่งใส มีการกำกับดูแลที่ดีมีธรรมาภิบาลตาม Vision ปี 2568 สู่เป้าหมายเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน

นายคงกระพัน ได้ให้แนวคิดการบริหารธุรกิจ ประกอบด้วย "บริหารธุรกิจแบบยั่งยืนในทุกมิติ” ดังนั้น การที่องค์กรจะดำเนินไปได้ ธุรกิจจึงต้องมีกำไร ซึ่งจะต้องเป็นกำไรที่เหมาะสมและยั่งยืน ไม่เน้นกำไรระยะสั้น รวมถึงธุรกิจต้องเป็นประโยชน์กับประเทศไทย ช่วยสังคมไทย ผู้ประกอบการ SME และเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม

ส่วนการลงทุนต้องเกิดประโยชน์ทั้งกับองค์กรและประเทศ จากสถานการณ์โลกที่ผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ปตท. จะต้องมีความคล่องตัว มี Agility ธุรกิจใดที่ดี ต้องเร่งต่อยอดขยายผล แต่หากธุรกิจใดที่เคยดี หรือไม่ perform แล้ว ก็ต้องมีความกล้าที่ออกจากธุรกิจอย่างชาญฉลาดและรวดเร็ว

นอกจากนี้ อีกสิ่งสำคัญคือ การสร้างความเชื่อมั่นให้ทุกภาคส่วน การทำธุรกิจและการบริหารจัดการต้องโปร่งใส ทำเรื่องบรรษัทภิบาลอย่างจริงจัง สิ่งสำคัญมาก ๆ คือ “บุคลากร” ซึ่ง ปตท.มีบุคลากรที่เก่ง มีความรู้ความสามารถ ต้องสร้างพลังให้เกิดความร่วมมือร่วมใจพาองค์กรก้าวผ่านทุกความท้าทาย สร้างโอกาสที่ดียิ่งขึ้นเพื่อส่งต่อให้ "ปตท.แข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน”

อย่างไรก็ตาม จากภารกิจ ปตท.ยังคงมุ่งมั่นสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน บริหารต้นทุนราคาที่เป็นธรรมตามนโยบายการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน พร้อมเดินหน้าในการเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดอย่างต่อเนื่องเพื่อรับกับเมกะเทรนด์โลก

'คงกระพัน' เปิดวิชั่น 2568
นายคงกระพัน กล่าวว่า Vision for Opportunity 2025 ของกลุ่ม ปตท. (PTT Group Direction and Strategy) โดยจะเน้นการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน สร้างการเติบโตทางธุรกิจ ควบคู่กับการบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างสมดุล เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี พ.ศ.2593

ดังนั้น ความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศถือเป็นสิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีการเตรียมความพร้อม และพัฒนาด้วยการนำนวัตกรรม และองค์ความรู้ใหม่ ๆ มาปรับใช้เพื่อให้ความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศไทยมีความมั่นคงยิ่งขึ้นไป รองรับการเติบโตเศรษฐกิจประเทศ

“ปตท.ถือเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญที่ดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานคนไทย ดังนั้น การเปลี่ยนผ่านพลังงานสู่พลังงานที่สะอาดมากขึ้น สิ่งสำคัญจะต้องสมดุลระหว่างด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพราะประเทศไทยยังต้องสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่ราบรื่นจะต้องบาลานซ์ทั้ง 3 องคาพยพ”

จากการที่กลุ่มประเทศอาเซียนมีจำนวนประชากรเกือบ 700 ล้านคน ถือเป็นเขตเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม โดยผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ (GDP) ของอาเซียนมีขนาดใหญ่ถึง 6% ของโลก สามารถดึงดูดการลงทุนได้ดีเป็นเขตเศรษฐกิจที่สำคัญ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าโลกต้องมุ่งไปสู่พลังงานสะอาด

ชี้ก๊าซยังเป็นแหล่งพลังงานสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดของพลังงานหมุนเวียนในปัจจุบัน ดังนั้น เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ ยังคงเป็นพลังงานที่สำคัญ ส่วนถ่านหินและน้ำมันจะต้องค่อย ๆ ลดปริมาณลงเพราะมีการปล่อยคาร์บอนสูงกว่าก๊าซฯ 

อีกทั้ง แหล่งก๊าซฯ ที่มีมูลค่ามหาศาลที่สำคัญล้วนมีจำนวนมากในบริเวณอ่าวไทย ดังนั้น กลุ่มอาเซียน ทั้งประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเมียนมา ต่างล้วนได้รับประโยชน์ในสินทรัพย์ใต้ท้องทะเลนี้

นอกจากนี้ พลังงานหมุนเวียนในอนาคตที่จะมีมากขึ้นทั้งโซลาร์ ลม และน้ำ ยังคงต้องใช้เวลา โดยประเทศในอาเซียน ยังคงพึ่งพาก๊าซฯ ซึ่งในเอเชียแปซิฟิกยังเป็นแหล่งที่การผลิตยังต่ำกว่าความต้องการ จึงต้องนำเข้าก๊าซฯ ปริมาณมาก ทั้ง ๆ ที่ในอ่าวไทยยังมีใช้เพราะเป็นพลังงานที่ใช้ได้สะดวก โดยประเทศไทยพึ่งพาก๊าซฯ ในอ่าวไทย 50% และนำเข้า LNG และก๊าซฯ ประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉลี่ยอีก 50%

“รัฐบาลได้พยายามผลักดันเจรจาการนำทรัพยากรจากพื้นที่ไหล่ทวีปคาบเกี่ยวไทย-กัมพูชา หรือ OCA (Overlapping Claims Area) ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการเจรจาและใช้มาแล้วกับมาเลเซีย ซึ่งตอนร่วมผลิตไม่สามารถตกลงในเรื่องเขตแดน จึงใช้วิธีร่วมใช้ทรัพยากรมาพัฒนาสร้างเศรษฐกิจความเจริญให้ประเทศได้”

เดินหน้ากักเก็บคาร์บอน-ไฮโดรเจน
ทั้งนี้ จากการนำก๊าซฯ มาผลิตไฟฟ้าจะถือเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สะอาดที่สุดตัวหนึ่งแต่ยังก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกอยู่ จึงต้องทำในเรื่องของการลดการปลดปล่อยคาร์บอน ซึ่งในช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงาน กลุ่ม ปตท. จะดำเนินควบคู่ใน 2 วิธี คือ การพัฒนาโครงการการดักจับและการจัดเก็บคาร์บอน (CCS) และการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนเป็นส่วนผสมในกลุ่มอุตสาหกรรมตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) สัดส่วน 5% รวมถึงการปลูกป่า เป็นต้น

“เทคโนโลยี CCS เป็นการเอาคาร์บอนในอากาศมาเปลี่ยนสภาพเป็นของเหลวเพื่อเก็บไว้ใต้ดินหรือใต้ทะเลจะช่วยลดโลกร้อน ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ ทั้ง สหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชียล้วนแล้วแต่ใช้เทคโนโลยี CCS มานานแล้ว ส่วนไฮโดรเจนทั่วโลกตื่นตัวมากระยะ 5-10 ปีที่ผ่านมา ได้พัฒนามาใช้มากมายประเทศไทยจึงหลีกเลี่ยงใน 2 เรื่องนี้ไม่ได้หากจะมุ่งไปสู่เป้าหมาย Net Zero ปี 2065"

การที่ประเทศไทยต้องนำเข้าทั้งก๊าซฯ 50% และน้ำมันกว่า 90% และด้วยสภาวะเศรษฐกิจ ภูมิรัฐศาสตร์ และความไม่แน่นอนต่าง ๆ ปตท. จึงมีวิชั่น “แข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน” อีกทั้ง ปตท.เป็นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จึงต้องสร้างความแข็งแรงและผลกำไร สร้างสมดุลทั้งเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ให้กับประเทศไทยอย่างยั่งยืน

ยึดกลยุทธ์ทำในสิ่งที่ ปตท.ถนัด
ทั้งนี้ จากการเติบโตของ ปตท.จะทำในสิ่งที่ตนเองถนัดเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน สร้างการเติบโตควบคู่กับการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งกลุ่ม ปตท.ได้ตั้งเป้าหมาย Net Zero ปี 2050 ผ่าน C3 คือ 

1. ธุรกิจที่มีความยืดหยุ่นต่อสภาพอากาศ Climate-Reilience Business 2. ธุรกิจที่ใส่ใจเรื่องคาร์บอน Carbon Conscious Business 3. การร่วมมือ การสร้างสรรค์ เพื่อทุกคน Coalition, Co-creation & collective Efforts for All

“เพื่อพัฒนาขีดความสามารถ เนื่องจากมีปัจจัยภายนอกที่กระทบต่อธุรกิจจึงต้องสร้างความแข็งแกร่งจากภายใน โดยการยกระดับ Operation & Efficiency ด้วยการนำเทคโนโลยี ดิจิทัล และ AI มาประยุกต์ใช้" 

อีกทั้งต้องทำ Lean Organization ร่วมกับ Digital Transformation ซึ่งต้องเริ่มในวันที่องค์กรยังแข็งแรง เพื่อให้เกิดการยอมรับในทุกระดับ และต้องสร้างความเข้มแข็งด้านวัฒนธรรมองค์กร (Culture) สร้างความตระหนัก ปลูกฝังให้พนักงานกล้าที่จะปรับ และพร้อมที่จะเปลี่ยนเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

“ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ปตท.ต้องปรับตัว มีความคล่องตัว และมุ่งมั่นรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโต ควบคู่ไปกับการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย พร้อมมุ่งสู่การเติบโตขององค์กรในระดับโลกอย่างยั่งยืนต่อไป”

เจ้าชายกำมะลอ โอรสผู้สมอ้าง องค์นโรดมและหม่อมเจ้าหญิงแห่งสยาม

เรื่องของเรื่องที่ผมยกเรื่องนี้มาเขียนให้ทุกท่านได้อ่านกันเพลิน ๆ นั้น เกิดขึ้นจากการที่ผมได้หยิบเอาหนังสือ “โครงกระดูกในตู้” ของอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มาอ่านเล่น ๆ อีกคำรบ โดยเฉพาะเรื่องของท่านป้า ม.จ.หญิงฉวีวาด ปราโมช ของท่านอาจารย์ ซึ่งหลายท่านน่าจะทราบว่า ม.จ.หญิงฉวีวาด ทรงหนีไปอยู่เขมร ซึ่งว่ากันว่าการละครในราชสำนักเขมรส่วนหนึ่งก็มาจากพระองค์นำไปเผยแพร่ ซึ่งจะถูกจะผิด จริงเท็จประการใดนั้น ไม่ใช่เนื้อหาในบทความนี้ (ถ้าใครยังไม่เคยอ่าน “โครงกระดูกในตู้” ผมแนะนำให้ลองหาอ่านดูครับ เล่มเล็ก ๆ ใช้เวลาอ่านไม่นาน) 

เนื้อหาหลักในตอนนี้ก็คือเมื่อครั้ง ม.จ.หญิงฉวีวาด ปราโมช ทรงหนีไปเขมรนั้น มีเรื่องเล่าที่ถ่ายทอดไว้ใน “โครงกระดูกในตู้” ว่าพระองค์ได้เป็นเจ้าจอมอีกองค์หนึ่งในสมเด็จพระนโรดมกษัตริย์เขมรในเวลานั้น ถึงขนาดที่มีพระโอรสร่วมกัน (อ้างตาม ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช) แต่ทว่าพระองค์เจ้าในที่นี้เมื่อชันสูตรแล้วก็ไม่ปรากฏว่ามีจริง อีกทั้งเรื่องราวการเป็นเจ้าจอมนั้นก็ไม่เป็นจริง แต่กลับปรากฏพระองค์เจ้ากำมะลอที่อ้างตนเป็นเชื่อพระองค์ชั้นสูงของกัมพูชาพระองค์หนึ่งชื่อว่า “พระองค์เจ้าพานดุรี” (พานดูรี/พานคุลี/พานตุคี) 

เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่าในช่วงต้นรัชกาลที่ ๗ ในปี พ.ศ. ๒๔๖๙  สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงได้รับหนังสือส่วนพระองค์จากพระองค์หญิงมาลิกา ซึ่งในหนังสือนั้นมีเนื้อหาโดยสรุปว่าพระองค์ทรงได้ข่าวว่ามีเจ้านายเขมรเข้ามาตกระกำลำบากอยู่ในหัวเมืองสยาม  จึงใคร่ขอความกรุณาให้สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ให้ทรงช่วยสืบหา หากว่าเป็นจริง ก็จะทรงสงเคราะห์ช่วยเหลือเจ้านายองค์นั้นสืบไป 

สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ก็ทรงช่วยสืบหาเจ้านายที่ว่านั้น ผ่านกระทรวงมหาดไทย ถัดมาอีกสองปีจึงได้รับรายงานจากเจ้าเมืองพิจิตรว่า ได้พบชายเขมรอ้างตัวว่าเป็นเชื้อพระวงศ์ชื่อ “พระองค์เจ้าพานดุรี” มารดาเป็นเจ้านายสยามพระนามว่า ม.จ.หญิงฉวีวาด จึงนำตัวไปสอบสวนพร้อมถ่ายรูปไว้  ก่อนจะส่งเป็นรายงานมาทูลฯ ถวาย พร้อมกับหนังสือฉบับหนึ่งจาก“พระองค์เจ้าพานดุรี” โดยมีเนื้อหาว่า (ขออนุญาตไม่ปรับเป็นภาษาปัจจุบันนะครับ) 

“ขอพระเดชะ ปกเกล้าปกกระหม่อม ขอพระราชทานกราบถวายบังคมทูลกรมพระดำรงราชานุภาพ ขอทราบใต้ละอองธุลี ข้าพระพุฒิเจ้าขอเล่าความตามต้นเนิ่ม เมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชการที่ ๕ หม่อมเจ้าแม่ฉลีวาฏได้ออกจากพระราชอาณาจักรสยามไปที่พึ่งอาไสอยู่ในประเทสเขมร ได้บังเกิดข้าพระพุฒิเจ้าคนหนึ่ง แล้วได้เล่าบอกว่าเป็นพระราชตระกูลในสยาม ตั้งแต่ข้าพระพุฒิเจ้ารู้ความมา ก็ตั้งใจว่าจะทะนุบำรุงชาฏสยามให้อุตตมะชาฏอยู่

บันลุมาถึงรัชการ พระบาทสมเด็จรัชการที่ ๖ ม่อมเจ้าแม่ได้กลับมาอยู่ในสยาม ๑๖ ปีแล้ว ข้าพระพุฒิเจ้าก็ได้ภยายามตามมา หวังใจจะได้พึ่งพระบูรพะโพธิสมภาร ตั้งแต่เกิดมา ข้าพระพุฒิเจ้าเกิดมารู้ตัวว่าพระมารดาเกิดเป็นชาฏสยามก็ตั้งใจจะรักษาชาติสยามให้อุตตะมะชาฏ ที่ข้าพระพุฒิเจ้าเข้ามานี่จะได้แคลงคล้าย ยกเนื้อยกตัวดูถูกพระเจตสะดาพระองค์หนึ่งพระองค์ใดก็หามิได้ ประโยถจะสืบหาพระมาดาให้เห็นเท่านั้น แล้วจะไม่ให้ระคายไนพระราชตระกูลสยามด้วย ค้วนไม่ค้วนก็ตามแต่จะทรงพระกรุณาโปรฏ เพราะข้าพระพุฒิเจ้าเป็นคนเขมรเข้ามาใหม่ แล้วไม่รู่ความผิดชอบ
ลงชื่อ Phantugi”

แต่จริง ๆ แล้ว สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ได้ทรงสืบเรื่องของนายพานดุรีผู้มีนี้มาก่อน เพราะครั้ง ม.จ.ฉวีวาด ทรงกลับมาสยามก็ทรงทราบว่าพระองค์มีบุตรชาย แต่จะเกิดจากผู้ใดไม่ชัดแจ้ง พบแต่เพียงว่าติดคุกอยู่ฝั่งเขมร พอได้เรื่องราวแล้ว สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ จึงได้ทรงส่งหนังสือไปแจ้งแก่พระองค์หญิงมาลิกา เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้น สมเด็จกรมพระยาดำรงฯก็ทรงได้รับหนังสือของพระองค์หญิงมาลิกา กราบทูลฯ ตอบมาว่า

“ม.จ.ฉวีวาดเมื่อเสเพลไปอาศัยอยู่ในกรุงกัมพูชา สมเด็จพระนโรดมจะได้เลี้ยง ม.จ.ฉวีวาดเป็นเจ้าจอมหม่อมห้ามก็หาไม่  เมื่อหนีตามนายเวนผึ้ง (นายเวร ชื่อผึ้ง) ไปกัมพูชาแล้ว ม.จ.ฉวีวาดได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระนโรดมครั้งหนึ่ง ทรงบอกว่าถ้าจะอยู่ในวังท่านก็จะทรงเลี้ยง แต่ม.จ.ฉวีวาดกราบทูลว่าท่านมีครรภ์กับนายเวนผึ้งแล้ว สมเด็จพระนโรดมก็ทรงอนุมัติตามนั้น ม.จ.ฉวีวาดจึงได้อยู่กินกับนายเวนผึ้ง แบบเป็นเมียน้อยเขา เพราะเขามีเมียอยู่ก่อนแล้วถึงสองคน จึงอยู่กับนายเวนผึ้งได้ไม่เท่าไหร่ ก็วิ่งออกไปได้กับออกญานครบาล(มัน) แล้วเสเพลไปได้ออกญาแสรนธิบดี(ปัล) เจ้าเมืองระลาเปือย เป็นผัวอีกคนหนึ่ง  บังเกิดบุตรชายด้วยกันชื่อ "นุด" ซึ่งตั้งตนเป็น “พระองค์เจ้าพานดุรี” นั่นแหละ เมื่อเด็กชายนุดยังเป็นเด็กอายุ ๖ ขวบ  ม.จ.ปุก (ในเจ้าฟ้าอิศราพงศ์) พระอัครนารีเอาตัวไปเลี้ยงไว้ในพระราชวัง  ให้บ่าวในกรมเรียกลูกชายม.จ.ฉวีวาดว่า "คุณ" คนอื่นๆ ก็เรียกตามๆกันไป ไพล่ไปได้กับพระพิทักราชถาน(ทอง) เป็นผัวอีกคนหนึ่ง  ต่อมาพระพิทักราชถานสิ้นชีพไป   ม.จ.ฉวีวาดได้ผัวใหม่  เป็นที่ขุนศรีมโนไมย อยู่กรมกาวัลเลอรีย์ในสมเด็จพระนโรดม  อยู่ด้วยกันเป็นช้านานหลายปี เจ้านุดบุตรชายของ ม.จ.ฉวีวาดกับเจ้าเมืองระลาเปือยนั้นก็อยู่ด้วยกัน....

“นุด” มีบิดาเป็นเจ้าเมืองระลาเปือย ชื่อ “ปัล” เป็นเชื้อเจ๊ก หาเป็นเชื้อเจ้ามิได้ บุตรชาย ม.จ.ฉวีวาดนั้น ในปลายแผ่นดินสมเด็จพระนโรดมติดคุกครั้งหนึ่ง  ออกจากคุกพร้อมกันกับคนโทษด้วยกันหลายร้อยคน เมื่อขณะเปลี่ยนแผ่นดินใหม่...ในแผ่นดินพระศรีสวัดในระหว่างพุทธศักราช ๒๔๖๑-๒๔๖๒ บุตรชาย ม.จ. ฉวีวาดติดคุกอีกครั้งหนึ่ง แต่โทษเป็นประการใดกระหม่อมฉันก็ลืมไป จำได้แน่แต่ว่าติดคุกด้วยตั้งตนเป็นโจรกรรมในครั้งแรก ในครั้งหลังดูเหมือนไปตั้งตนว่าเป็นเจ้า วานนี้ได้รับจดหมายลายพระหัตถ์ของฝ่าพระบาทก็จวนเพลานักแล้ว ไปดูบาญชีคุกไม่ทัน วานนี้และวันนี้เป็นวันกำเนิดพระเยซู กระทรวงหยุดทำงาน” 

พอกระทรวงเปิดทำการพระองค์หญิงมาลิกาจึงได้ส่งหนังสือมาเพิ่มเติมอีกโดยมีความว่า 

“ถวายบังโคมยังใต้ฝ่าพระบาท ทรงทราบ กระหม่อมฉันไปขออนุญาตกระทรวงยุติธรรมค้นหาหนังสือคุก และสารกรมทัณฑ์ ซึ่งตุลาการตัดสินจากโทษนายนุด บุตรชายของหม่อมเจ้าฉวีวาด ซึ่งตั้งตนเป็นพระองค์เจ้าพานดุรีนั้น โทษเมื่อแผ่นดินก่อนและแผ่นดินปัจจุบัน ค้นหายังไม่ภพ ภพแต่สำเนาสารกรมทัณฑ์ ศาลอุทรณ์กรุงภนมเพญ เห็นพร้อมตามศาลพัตตบอง ขาดโทษเมื่อตอนปลายที่สุด สารกรมราชทัณฑ์ ตุลาการเมืองพัตตบอง เลขที่ ๑๙๔ ลงวันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๖๔”

สรุปคือ “พานดุรี” เคยอ้างตนเป็นเชื้อเจ้าที่เขมรมาแล้ว ตามที่บันทึกไว้คือ ขณะที่ขุนศรีมโนไมย สามีคนสุดท้ายของหม่อมเจ้าฉวีวาดกำลังป่วยหนักด้วยไข้ทรพิษ ความกลัวว่าหมอจะมายึดเรือนแล้วเผาทิ้งสมบัติเพราะติดโรคร้าย จึงรีบขายเรือนสมบัติ จากนั้นก็หนีไปเมืองบาสักในกัมพูชาใต้ ต่อมา “นุด” ก็สมอ้างว่ามีศักดิ์เป็นราชบุตรกษัตริย์นโรดมจนมีคนหลงเชื่อให้เงินทองไปไม่น้อยแล้วก็หนีออกจากบาสัก ไปยังพัตตบองและใช้วิธีเดียวกับที่บาสัก แต่คราวนี้ถูกจับเข้าคุก เป็นครั้งที่ ๒ ข้อหาตั้งตนเป็นราชบุตรกษัตริย์ จนได้รับอภัยโทษปล่อยตัว เมื่อสมเด็จพระนโรดมสวรรคตและผลัดรัชกาล ก็ข้ามมาที่สยามเพื่อตามหาหม่อมแม่ นัยว่าอยากจะได้มรดก แต่ก็ไปถูกจับที่เมืองพิจิตรตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น 

เหตุแห่งการสมอ้างดังที่ได้เล่าไปนั้น ส่วนหนึ่งอาจจะเกิดจากพานดุรีได้รับการเลี้ยงดูมาจากในวัง ทำให้เข้าใจธรรมเนียมปฏิบัติ การวางตัวจนมีความน่าเชื่อถือ เมื่อสมอ้างตนว่าเป็นเจ้าชาย จึงทำให้มีผู้หลงเชื่อ แม้ว่าขณะที่นายพานดุรีถูกจับจะมีอาชีพเป็นหมอดูและช่างสักก็ตาม ซึ่งการแอบอ้างตนเป็นเจ้านายเขมรก็ยังมีอยู่อีกหลายกรณี ต่างกรรม ต่างวาระกันออกไป

31 ธันวาคม วันส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ 2568

ในปฏิทินเกรกอเรียน วันที่ 31 ธันวาคม หรือที่เรียกว่า 'วันส่งท้ายปีเก่า' เป็นช่วงเวลาของการเฉลิมฉลองการสิ้นสุดของปีเก่าและการต้อนรับปีใหม่ ซึ่งถือเป็นวันสุดท้ายของปี ในหลายประเทศ การเฉลิมฉลองคืนวันปีใหม่มักจะเต็มไปด้วยการเฉลิมฉลอง และการชมพลุดอกไม้ไฟ นอกจากนี้ ในบางประเทศที่มีคริสเตียนก็จะมีการไปทำพิธีนมัสการในคืนวันปีใหม่ การเฉลิมฉลองมักจะดำเนินต่อไปจนถึงเที่ยงคืนและต้อนรับวันปีใหม่ในวันที่ 1 มกราคม

ประเทศในแถบเกาะไลน์ อาทิ คีริบาส, ซามัว และ ตองกา ในมหาสมุทรแปซิฟิก จะเป็นพื้นที่แรกของโลกที่ต้อนเข้าสู่ศักราชใหม่ ขณะที่ อเมริกันซามัว, เกาะเบเคอร์ และ เกาะฮาวแลนด์ (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะอเมริกัน) จะต้อนรับปีใหม่เป็นพื้นที่สุดท้ายของโลกที่เข้าสู่ปี 2025 

ในแต่ชาติจะมีวัฒนธรรมการเฉลิมฉลองที่แตกต่างกัน ในประเทศจีน แม้ว่าจะมีการเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนอยู่แล้ว แต่ก็มีการฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ตามแบบปฏิทินเกรกอเรียนเช่นกัน โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ เช่น ปักกิ่ง ที่มีการจัดแสดงพลุและคอนเสิร์ตร็อก และในเซี่ยงไฮ้ที่มีการแสดงแสงและเสียงก่อนเที่ยงคืน

ใน ญี่ปุ่น, ค่ำคืนวันปีใหม่ถือเป็นเวลาที่ชาวญี่ปุ่นจะเตรียมตัวต้อนรับ 'เทพเจ้าแห่งปีใหม่' หรือ โทชิกามิ ชาวญี่ปุ่นมักนิยมทำความสะอาดบ้านและเตรียม 'คาโดมัตสึ' หรือ 'ชิเมนาวะ' เพื่อการต้อนรับเทพเจ้าถือเป็นประเพณีที่สำคัญ โดยที่วัดพุทธในญี่ปุ่นจะตีระฆัง 108 ครั้งในคืนวันปีใหม่เพื่อขจัดสิ่งไม่ดีทั้งหลาย

ใน ประเทศไทย มีหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทยต่างจัดงานเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่ากันอย่างคึกคัก อาทิ  กรุงเทพฯ และพัทยา มีการจัดงานเคานต์ดาวน์ การแสดงพลุไฟ และคอนเสิร์ต รวมไปถึงงานปาร์ตี้ในโรงแรม ร้านอาหาร และสถานบันเทิงต่าง ๆ 

ใน ฝรั่งเศส, การเฉลิมฉลองวันปีใหม่ หรือ 'la Saint-Sylvestre' มักจะมีการจัดเลี้ยงอาหารมื้อใหญ่ หรือ 'Réveillon de la Saint-Sylvestre' ซึ่งมีอาหารพิเศษเช่น ฟัวกราส, ซีฟู้ด, และแชมเปญ และมีไฮไลต์คือการแสดงพลุที่หอไอเฟลเป็นประจำทุกปี

ใน รัสเซีย, การเฉลิมฉลองวันปีใหม่ที่เรียกว่า 'Novy God' แม้ว่ารัสเซียจะนับถือศาสนาคริสต์นิกายออร์โธดอกซ์ (Orthodox) ที่จะมีการเฉลิมฉลองบางอย่างแตกต่างจากคริสตชนประเทศอื่น แต่ก็มีรัสเซียก็มีวันหยุดที่เหมือนกับวันคริสต์มาส โด จะมีการประดับตกแต่งไฟและขอของขวัญจาก 'Ded Moroz' หรือ ซานตาคลอสในภาษารัสเซีย 

ในสหรัฐอเมริกา ไฮไลท์การถอยหลังเข้าสู่ปีใหม่ที่ไทม์สแควร์ในนิวยอร์ก เริ่มต้นครั้งแรกในปี 1970 ก่อนที่จะกลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญของการเฉลิมฉลองนี้ในเวลาต่อมา ในปีนี้ลูกบอลยักษ์ที่ประดับด้วยคริสตัล จำนวน 2,688 ชิ้นที่ผลิตโดยบริษัท Gillinder Glass พร้อมติดตั้งไฟ LED มีน้ำหนักถึง 11,875 ปอนด์และเส้นผ่านศูนย์กลาง 12 ฟุต จะตกลงมาในไทม์สแควร์ช่วงเวลาใกล้เที่ยงคืน พร้อมอักษรไฟคำว่า '2025' ที่มีน้ำหนักราว 545 กิโลกรัม มีความสูง 7 ฟุต ได้รับการประดับประดาด้วยหลอดไฟแอลอีดีจำนวน 620 ดวง จะสว่างไสวสร้างความประทับใจให้กับคนทั่วโลกในคืนสุดท้ายของปี


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top