เจ้าชายกำมะลอ โอรสผู้สมอ้าง องค์นโรดมและหม่อมเจ้าหญิงแห่งสยาม
เรื่องของเรื่องที่ผมยกเรื่องนี้มาเขียนให้ทุกท่านได้อ่านกันเพลิน ๆ นั้น เกิดขึ้นจากการที่ผมได้หยิบเอาหนังสือ “โครงกระดูกในตู้” ของอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มาอ่านเล่น ๆ อีกคำรบ โดยเฉพาะเรื่องของท่านป้า ม.จ.หญิงฉวีวาด ปราโมช ของท่านอาจารย์ ซึ่งหลายท่านน่าจะทราบว่า ม.จ.หญิงฉวีวาด ทรงหนีไปอยู่เขมร ซึ่งว่ากันว่าการละครในราชสำนักเขมรส่วนหนึ่งก็มาจากพระองค์นำไปเผยแพร่ ซึ่งจะถูกจะผิด จริงเท็จประการใดนั้น ไม่ใช่เนื้อหาในบทความนี้ (ถ้าใครยังไม่เคยอ่าน “โครงกระดูกในตู้” ผมแนะนำให้ลองหาอ่านดูครับ เล่มเล็ก ๆ ใช้เวลาอ่านไม่นาน)
เนื้อหาหลักในตอนนี้ก็คือเมื่อครั้ง ม.จ.หญิงฉวีวาด ปราโมช ทรงหนีไปเขมรนั้น มีเรื่องเล่าที่ถ่ายทอดไว้ใน “โครงกระดูกในตู้” ว่าพระองค์ได้เป็นเจ้าจอมอีกองค์หนึ่งในสมเด็จพระนโรดมกษัตริย์เขมรในเวลานั้น ถึงขนาดที่มีพระโอรสร่วมกัน (อ้างตาม ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช) แต่ทว่าพระองค์เจ้าในที่นี้เมื่อชันสูตรแล้วก็ไม่ปรากฏว่ามีจริง อีกทั้งเรื่องราวการเป็นเจ้าจอมนั้นก็ไม่เป็นจริง แต่กลับปรากฏพระองค์เจ้ากำมะลอที่อ้างตนเป็นเชื่อพระองค์ชั้นสูงของกัมพูชาพระองค์หนึ่งชื่อว่า “พระองค์เจ้าพานดุรี” (พานดูรี/พานคุลี/พานตุคี)
เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่าในช่วงต้นรัชกาลที่ ๗ ในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงได้รับหนังสือส่วนพระองค์จากพระองค์หญิงมาลิกา ซึ่งในหนังสือนั้นมีเนื้อหาโดยสรุปว่าพระองค์ทรงได้ข่าวว่ามีเจ้านายเขมรเข้ามาตกระกำลำบากอยู่ในหัวเมืองสยาม จึงใคร่ขอความกรุณาให้สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ให้ทรงช่วยสืบหา หากว่าเป็นจริง ก็จะทรงสงเคราะห์ช่วยเหลือเจ้านายองค์นั้นสืบไป
สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ก็ทรงช่วยสืบหาเจ้านายที่ว่านั้น ผ่านกระทรวงมหาดไทย ถัดมาอีกสองปีจึงได้รับรายงานจากเจ้าเมืองพิจิตรว่า ได้พบชายเขมรอ้างตัวว่าเป็นเชื้อพระวงศ์ชื่อ “พระองค์เจ้าพานดุรี” มารดาเป็นเจ้านายสยามพระนามว่า ม.จ.หญิงฉวีวาด จึงนำตัวไปสอบสวนพร้อมถ่ายรูปไว้ ก่อนจะส่งเป็นรายงานมาทูลฯ ถวาย พร้อมกับหนังสือฉบับหนึ่งจาก“พระองค์เจ้าพานดุรี” โดยมีเนื้อหาว่า (ขออนุญาตไม่ปรับเป็นภาษาปัจจุบันนะครับ)
“ขอพระเดชะ ปกเกล้าปกกระหม่อม ขอพระราชทานกราบถวายบังคมทูลกรมพระดำรงราชานุภาพ ขอทราบใต้ละอองธุลี ข้าพระพุฒิเจ้าขอเล่าความตามต้นเนิ่ม เมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชการที่ ๕ หม่อมเจ้าแม่ฉลีวาฏได้ออกจากพระราชอาณาจักรสยามไปที่พึ่งอาไสอยู่ในประเทสเขมร ได้บังเกิดข้าพระพุฒิเจ้าคนหนึ่ง แล้วได้เล่าบอกว่าเป็นพระราชตระกูลในสยาม ตั้งแต่ข้าพระพุฒิเจ้ารู้ความมา ก็ตั้งใจว่าจะทะนุบำรุงชาฏสยามให้อุตตมะชาฏอยู่
บันลุมาถึงรัชการ พระบาทสมเด็จรัชการที่ ๖ ม่อมเจ้าแม่ได้กลับมาอยู่ในสยาม ๑๖ ปีแล้ว ข้าพระพุฒิเจ้าก็ได้ภยายามตามมา หวังใจจะได้พึ่งพระบูรพะโพธิสมภาร ตั้งแต่เกิดมา ข้าพระพุฒิเจ้าเกิดมารู้ตัวว่าพระมารดาเกิดเป็นชาฏสยามก็ตั้งใจจะรักษาชาติสยามให้อุตตะมะชาฏ ที่ข้าพระพุฒิเจ้าเข้ามานี่จะได้แคลงคล้าย ยกเนื้อยกตัวดูถูกพระเจตสะดาพระองค์หนึ่งพระองค์ใดก็หามิได้ ประโยถจะสืบหาพระมาดาให้เห็นเท่านั้น แล้วจะไม่ให้ระคายไนพระราชตระกูลสยามด้วย ค้วนไม่ค้วนก็ตามแต่จะทรงพระกรุณาโปรฏ เพราะข้าพระพุฒิเจ้าเป็นคนเขมรเข้ามาใหม่ แล้วไม่รู่ความผิดชอบ
ลงชื่อ Phantugi”
แต่จริง ๆ แล้ว สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ได้ทรงสืบเรื่องของนายพานดุรีผู้มีนี้มาก่อน เพราะครั้ง ม.จ.ฉวีวาด ทรงกลับมาสยามก็ทรงทราบว่าพระองค์มีบุตรชาย แต่จะเกิดจากผู้ใดไม่ชัดแจ้ง พบแต่เพียงว่าติดคุกอยู่ฝั่งเขมร พอได้เรื่องราวแล้ว สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ จึงได้ทรงส่งหนังสือไปแจ้งแก่พระองค์หญิงมาลิกา เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้น สมเด็จกรมพระยาดำรงฯก็ทรงได้รับหนังสือของพระองค์หญิงมาลิกา กราบทูลฯ ตอบมาว่า
“ม.จ.ฉวีวาดเมื่อเสเพลไปอาศัยอยู่ในกรุงกัมพูชา สมเด็จพระนโรดมจะได้เลี้ยง ม.จ.ฉวีวาดเป็นเจ้าจอมหม่อมห้ามก็หาไม่ เมื่อหนีตามนายเวนผึ้ง (นายเวร ชื่อผึ้ง) ไปกัมพูชาแล้ว ม.จ.ฉวีวาดได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระนโรดมครั้งหนึ่ง ทรงบอกว่าถ้าจะอยู่ในวังท่านก็จะทรงเลี้ยง แต่ม.จ.ฉวีวาดกราบทูลว่าท่านมีครรภ์กับนายเวนผึ้งแล้ว สมเด็จพระนโรดมก็ทรงอนุมัติตามนั้น ม.จ.ฉวีวาดจึงได้อยู่กินกับนายเวนผึ้ง แบบเป็นเมียน้อยเขา เพราะเขามีเมียอยู่ก่อนแล้วถึงสองคน จึงอยู่กับนายเวนผึ้งได้ไม่เท่าไหร่ ก็วิ่งออกไปได้กับออกญานครบาล(มัน) แล้วเสเพลไปได้ออกญาแสรนธิบดี(ปัล) เจ้าเมืองระลาเปือย เป็นผัวอีกคนหนึ่ง บังเกิดบุตรชายด้วยกันชื่อ "นุด" ซึ่งตั้งตนเป็น “พระองค์เจ้าพานดุรี” นั่นแหละ เมื่อเด็กชายนุดยังเป็นเด็กอายุ ๖ ขวบ ม.จ.ปุก (ในเจ้าฟ้าอิศราพงศ์) พระอัครนารีเอาตัวไปเลี้ยงไว้ในพระราชวัง ให้บ่าวในกรมเรียกลูกชายม.จ.ฉวีวาดว่า "คุณ" คนอื่นๆ ก็เรียกตามๆกันไป ไพล่ไปได้กับพระพิทักราชถาน(ทอง) เป็นผัวอีกคนหนึ่ง ต่อมาพระพิทักราชถานสิ้นชีพไป ม.จ.ฉวีวาดได้ผัวใหม่ เป็นที่ขุนศรีมโนไมย อยู่กรมกาวัลเลอรีย์ในสมเด็จพระนโรดม อยู่ด้วยกันเป็นช้านานหลายปี เจ้านุดบุตรชายของ ม.จ.ฉวีวาดกับเจ้าเมืองระลาเปือยนั้นก็อยู่ด้วยกัน....
“นุด” มีบิดาเป็นเจ้าเมืองระลาเปือย ชื่อ “ปัล” เป็นเชื้อเจ๊ก หาเป็นเชื้อเจ้ามิได้ บุตรชาย ม.จ.ฉวีวาดนั้น ในปลายแผ่นดินสมเด็จพระนโรดมติดคุกครั้งหนึ่ง ออกจากคุกพร้อมกันกับคนโทษด้วยกันหลายร้อยคน เมื่อขณะเปลี่ยนแผ่นดินใหม่...ในแผ่นดินพระศรีสวัดในระหว่างพุทธศักราช ๒๔๖๑-๒๔๖๒ บุตรชาย ม.จ. ฉวีวาดติดคุกอีกครั้งหนึ่ง แต่โทษเป็นประการใดกระหม่อมฉันก็ลืมไป จำได้แน่แต่ว่าติดคุกด้วยตั้งตนเป็นโจรกรรมในครั้งแรก ในครั้งหลังดูเหมือนไปตั้งตนว่าเป็นเจ้า วานนี้ได้รับจดหมายลายพระหัตถ์ของฝ่าพระบาทก็จวนเพลานักแล้ว ไปดูบาญชีคุกไม่ทัน วานนี้และวันนี้เป็นวันกำเนิดพระเยซู กระทรวงหยุดทำงาน”
พอกระทรวงเปิดทำการพระองค์หญิงมาลิกาจึงได้ส่งหนังสือมาเพิ่มเติมอีกโดยมีความว่า
“ถวายบังโคมยังใต้ฝ่าพระบาท ทรงทราบ กระหม่อมฉันไปขออนุญาตกระทรวงยุติธรรมค้นหาหนังสือคุก และสารกรมทัณฑ์ ซึ่งตุลาการตัดสินจากโทษนายนุด บุตรชายของหม่อมเจ้าฉวีวาด ซึ่งตั้งตนเป็นพระองค์เจ้าพานดุรีนั้น โทษเมื่อแผ่นดินก่อนและแผ่นดินปัจจุบัน ค้นหายังไม่ภพ ภพแต่สำเนาสารกรมทัณฑ์ ศาลอุทรณ์กรุงภนมเพญ เห็นพร้อมตามศาลพัตตบอง ขาดโทษเมื่อตอนปลายที่สุด สารกรมราชทัณฑ์ ตุลาการเมืองพัตตบอง เลขที่ ๑๙๔ ลงวันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๖๔”
สรุปคือ “พานดุรี” เคยอ้างตนเป็นเชื้อเจ้าที่เขมรมาแล้ว ตามที่บันทึกไว้คือ ขณะที่ขุนศรีมโนไมย สามีคนสุดท้ายของหม่อมเจ้าฉวีวาดกำลังป่วยหนักด้วยไข้ทรพิษ ความกลัวว่าหมอจะมายึดเรือนแล้วเผาทิ้งสมบัติเพราะติดโรคร้าย จึงรีบขายเรือนสมบัติ จากนั้นก็หนีไปเมืองบาสักในกัมพูชาใต้ ต่อมา “นุด” ก็สมอ้างว่ามีศักดิ์เป็นราชบุตรกษัตริย์นโรดมจนมีคนหลงเชื่อให้เงินทองไปไม่น้อยแล้วก็หนีออกจากบาสัก ไปยังพัตตบองและใช้วิธีเดียวกับที่บาสัก แต่คราวนี้ถูกจับเข้าคุก เป็นครั้งที่ ๒ ข้อหาตั้งตนเป็นราชบุตรกษัตริย์ จนได้รับอภัยโทษปล่อยตัว เมื่อสมเด็จพระนโรดมสวรรคตและผลัดรัชกาล ก็ข้ามมาที่สยามเพื่อตามหาหม่อมแม่ นัยว่าอยากจะได้มรดก แต่ก็ไปถูกจับที่เมืองพิจิตรตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น
เหตุแห่งการสมอ้างดังที่ได้เล่าไปนั้น ส่วนหนึ่งอาจจะเกิดจากพานดุรีได้รับการเลี้ยงดูมาจากในวัง ทำให้เข้าใจธรรมเนียมปฏิบัติ การวางตัวจนมีความน่าเชื่อถือ เมื่อสมอ้างตนว่าเป็นเจ้าชาย จึงทำให้มีผู้หลงเชื่อ แม้ว่าขณะที่นายพานดุรีถูกจับจะมีอาชีพเป็นหมอดูและช่างสักก็ตาม ซึ่งการแอบอ้างตนเป็นเจ้านายเขมรก็ยังมีอยู่อีกหลายกรณี ต่างกรรม ต่างวาระกันออกไป
เรื่อง : สถาพร บุญนาจเสวี