Thursday, 15 May 2025
ค้นหา พบ 48102 ที่เกี่ยวข้อง

มสส.ร่วมกับ สสส.ประชุมความเสี่ยงและสถานการณ์สุขภาพสื่อมวลชน ปี 67

(19 ธ.ค. 67) มสส.ร่วมกับ สสส.ประชุมความเสี่ยงและสถานการณ์สุขภาพสื่อมวลชน ปี 67 เห็นตรงกันอาชีพสื่อไม่มีความมั่นคง ถูกเลิกจ้าง คนที่ยังอยู่ทำงานหนักเกิดความเครียด ซึมเศร้า เสนอตั้งคณะทำงานหาแนวทางแก้ปัญหาและผลกระทบ มสส. เปิดผลสำรวจสุขภาพสื่อไทยปี 67 พบคนทำสื่อทำงานหนักพักผ่อนน้อยมีความเครียดสูง โรคประจำตัวมากขึ้นทั้งความดันและเบาหวาน แต่ยังมีข่าวดีดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าลดลง บอร์ดสสส.ห่วงปี 2568 สื่อออนไลน์เกิดภาวะฟองสบู่เพราะแข่งขันสูง ด้านเทวฤทธิ์ มณีฉาย สว.สายสื่อเสนอแก้ปัญหา 4 ส.คือ เสรีภาพ สวัสดิภาพ สวัสดิการและสหภาพแรงงาน ส่วนนักวิชาการห่วงอุตสาหกรรมบันเทิงที่มีความรุนแรงและการล่วงละเมิดทางเพศ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 ธันวาคม 2567 มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.)  โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)  ได้จัด ประชุมโฟกัส กรุ๊ป เรื่อง  “ความเสี่ยงและสถานการณ์สุขภาวะสื่อมวลชนไทย ปี 2567 ” เพื่อนำเสนอผลการสำรวจสถานการณ์สุขภาวะของสื่อมวลชน ณ ห้องไดมอน 4 ชั้น 3 โรงแรมอวานี  รัชดา กรุงเทพฯ
นายวิเชษฐ์  พิชัยรัตน์ กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)ด้านการสื่อสารมวลชน  กล่าวเปิดการประชุมว่าภาพรวมการทำงานของสื่อมวลชนไทยในปี 2567เต็มไปด้วยความยากลำบากแค่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน 2567 มีธุรกิจสื่อปลดออกพนักงานไปแล้วไม่ต่ำกว่า 300 คน เช่น Voice TV เลิกจ้างพนักงาน 200 กว่าคน PP TV เลิกจ้างพนักงาน 90 คน ส่วนครึ่งปีหลังล่าสุดสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 เพิ่งเลิกจ้างพนักงานกว่า 300 คน แม้จะมีการจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายแต่ในอนาคตก็ยังยากลำบาก ส่วนคนที่ยังอยู่ก็มีความไม่แน่นอนเนื่องจากรายได้สปอนเซอร์น้อยลงทุกสื่อต้องแย่งเม็ดเงินโฆษณากัน นอกจากนั้นในอนาคตอันใกล้ภาวะฟองสบู่ของวงการสื่อออนไลน์กำลังจะแตกเพราะปริมาณมากเกินจนล้นตลาด สื่อที่ยังอยู่ก็ปรับลดขนาดองค์กรทำให้คนทำงานสื่อต้องทำงานหนักขึ้นค่าล่วงเวลาไม่ได้เบี้ยเลี้ยงไม่มี วันหยุดก็น้อยจนเกิดความเครียดแทบไม่มีเวลาพักผ่อน สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลต่อสุขภาพของสื่อมวลชนอย่างมาก จึงหวังว่าผลการสำรวจสถานการณ์สุขภาวะสื่อมวลชนไทยปี 2567 ที่ทางมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะโดยการสนับสนุนของสสส.จะนำมาเป็นข้อมูลร่วมกันแสวงหาแนวทางในการดูแลสุขภาพของสื่อมวลชน และในเวทีการประชุมครั้งนี้มีนายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สมาชิกวุฒิสภาสายสื่อมวลชนมาร่วมเสนอแนะมุมมองด้วยจะได้นำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนเชิงนโยบายระดับชาติต่อไป

​รศ.ดร.ณัฐนันท์  ศิริเจริญ  เลขาธิการมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจสถานการณ์ ปัญหาสุขภาวะของสื่อมวลชนไทย ปี 2567 โดยมีการสอบถามกลุ่มตัวอย่างสื่อมวลชนประเภทหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ และสื่อออนไลน์ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จำนวน  372 คน แบ่งเป็นเป็นเพศชาย 61% เพศหญิง 38.0% เพศทางเลือก 1 % คำถามแรกสื่อมวลชนทำงานหนักมากน้อยแค่ไหนพบว่าส่วนใหญ่ 44.09%ทำงาน 6-8 ชั่วโมงต่อวัน แต่จำนวน 19.35%ไม่มีความแน่นอนในชั่วโมงทำงาน ขณะที่ 13.98% ทำงาน 9-10 ชั่วโมงต่อวันและที่มากกว่านั้นมีสื่อมวลชน 8.60%ต้องทำงานมากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน สรุปว่าเกินครึ่งทำงานหนักมากกว่าวันละ 8 ชั่วโมง นอกจากนั้นยังพบว่าส่วนใหญ่ 41.94%ไม่มีวันหยุดที่แน่นอน 31.18% หยุด 2 วันต่อสัปดาห์ 10.75% หยุด 1 วันต่อสัปดาห์ และ8.60 % ไม่มีวันหยุดเลย ส่วนเรื่องโรคประจำตัวส่วนใหญ่ 56.99% ไม่มีโรคประจำตัว 43.01%มีโรคประจำตัว คนที่มีโรคประจำตัวเป็นความดันโลหิตสูงและเบาหวานในสัดส่วนที่พอๆกันคือ 24.14% โดยภาพรวม 77.58% เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือNCDs ส่วนการตรวจสุขภาพประจำปีส่วนใหญ่ 74.19%มีการตรวจสุขภาพประจำปี อีก25.81%ไม่ได้ตรวจ  ประเด็นสุดท้ายเรื่องปัญหาความเครียดจากการทำงานพบว่าสื่อมวลชนส่วนใหญ่41.13%มีความเครียดสูงกว่าปกติเล็กน้อย รองลงมา 23.39%มีความเครียดปานกลาง ตามมาด้วยปกติไม่เครียด 18.28% และสุดท้ายเครียดมาก 5.38% เมื่อดูโดยภาพรวมมีความเครียดสูงถึง 69.9%

ส่วนพฤติกรรมเสี่ยงสุขภาพสื่อมวลชนส่วนใหญ่ 83.60% ไม่สูบบุหรี่ ส่วนอีก16.40%ยังสูบบุหรี่อยู่ สำหรับเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าส่วนใหญ่ 96.77%ไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้า มีเพียง 3.23%เท่านั้นที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า สำหรับคนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า 58.33%ซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ ส่วนอีก41.67%ซื้อจากร้านค้าทั่วไป ส่วนเหตุผลของคนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้านั้นระบุว่ากลิ่นไม่เหม็นและคิดว่าเลิกได้ง่าย ประเด็นพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์นั้นพบว่า 43.01%ยังดื่มแอลกอฮอล์อยู่ ส่วนอีก 48.12% ไม่ดื่มแอลกอฮอล์  ส่วนเหตุผลที่ดื่มแอลกอฮอล์ส่วนใหญ่ 43.66% เพราะยังสังสรรค์และเข้าสังคมอยู่ รองลงมา26.76% ดื่มเพื่อความสนุกสนาน  สำหรับสื่อมวลชนที่ยังดื่มแอลกอฮอล์อยู่นั้น 58.55% มีความเสี่ยงต่ำ 22.80%มีความเสี่ยงสูงหรือเสพติดแอลกอฮอล์แล้วและ18.65% เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายได้  คนที่ดื่มแอลกอฮอล์ 57%ไม่คิดจะเลิก ส่วนอีก43%คิดจะเลิกดื่ม

ด้านความปลอดภัยทางถนน ปรากฏว่าสื่อมวลชนมีการสวมหมวกนิรภัยทุกครั้ง 60.22%   สวมบางครั้ง 35.48% และไม่สวมเลย 4.30% ในขณะที่การคาดเข็มขัดนิรภัยขณะขับขี่รถยนต์ 84.95% คาดทุกครั้ง มีเพียง 15.05%ที่คาดบางครั้ง  สื่อส่วนใหญ่ 42.53%ไม่เคยประสบเหตุจากการดินทาง 23.54%เคยประสบอุบัติเหตุจากรถยนต์และ 24.81% เคยประสบอุบัติเหตุจากรถจักรยายนต์  ในขณะที่พฤติกรรมฝ่าฝืนกฎจราจร 51.08% ไม่เคยฝ่าฝืน ส่วน48.92% นั้นเคยฝ่าฝืนส่วนใหญ่เป็นการฝ่าฝืนสัญญาณไฟและการขับรถเร็วกว่าที่กฎหมายกำหนด ด้านปัจจัยเสี่ยงเรื่องการพนันและการพนันออนไลน์นั้นพบว่าสื่อมวลชนส่วนใหญ่ 65.59% เคยเล่นการพนัน ส่วนอีก34.41%ไม่เคยเล่นการพนัน  สำหรับคนที่เคยเล่นการพนันส่วนใหญ่ 80.47% เล่นในสถานที่ที่จัดให้มีการเล่น ส่วนอีก 17.19%เล่นผ่านออนไลน์ เมื่อถามถึงประเภทการพนันที่เล่นว่าเล่นพนันชนิดไหน ส่วนใหญ่ 46.84% ตอบว่าซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล รองลงมา 20.53%ซื้อหวยใต้ดินและอีก20.53 % เล่นไพ่

เลขาฯมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) กล่าวสรุปและวิเคราะห์ผลการสำรวจในปี 2567ว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์สื่อทำให้สื่อมีความเสี่ยงต่อความมั่นคงในการทำงานและต้องทำงานหนักขึ้น วันหยุดต่อสัปดาห์ลดน้อยลงส่งผลให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพ สื่อมวลชนมีโรคประจำตัวเพิ่มขึ้น16.01%เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2566 โรคประจำตัวที่เป็นกันมากที่สุดคือเป็นความดันโลหิตสูงและเบาหวาน การเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมีปริมาณที่สูงขึ้น และยังพบว่าส่วนใหญ่มีความเครียดจากการทำงานสูงมาก ดังนั้นผู้บริหารองค์กรสื่อควรให้ความสำคัญในการป้องกันปัญหานี้โดยเร่งด่วน ส่วนพฤติกรรมการสูบบุหรี่ มีการสูบบุหรี่น้อยลงเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2566 ลดลงไป7.13%  และพบว่าสื่อมวลชนที่ไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2566  เช่นเดียวกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พบว่าดื่มลดลง8.99%เมื่อเปรียบกับปี 2566   ส่วนความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัยทางถนนพบว่ามีการสวมหมวกนิรภัยทุกครั้งนั้นมีตัวเลขเพิ่มขึ้น 2.82% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2566   ส่วนการคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งลดลง2.26% เมื่อเทียบกับปี 2566  พฤติกรรมการพนัน ยอมรับว่าเคยเล่นพนันซึ่งเป็นอัตราที่สูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับปี 2566  ประเภทการพนันที่เล่นมากที่สุดคือสลากกินแบ่งรัฐบาลไม่แตกต่างไปจากปี 2566 ซึ่งเป็นไปได้ว่าสื่อมวลชนมองว่าสลากกินแบ่งรัฐบาลไม่ได้เป็นการพนันแต่เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายเพราะรัฐบาลเป็นเจ้าของ ดังนั้นการปรับมุมมองของสื่อว่าสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นการพนันจึงไม่ใชเรื่องง่าย

นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย  สมาชิกวุฒิสภา  กลุ่ม18 สายสื่อสารมวลชน อดีตบรรณาธิการบริหารสำนักข่าวประชาไท กล่าวว่าผลจากการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์สื่อทำให้สื่อมวลชนต้องทำงานหนักมาก เกิดความเครียดมีภาวะซึมเศร้าจำนวนมาก ควรจะมีทีมที่ปรึกษาเข้าไปช่วยเหลือโดยเฉพาะคนทำงานที่อยู่เบื้องหลังต้องได้รับการดูแลมากเป็นพิเศษ จากประสบการณ์การทำงานด้านสื่อสารมวลชนของตัวเอง สรุปได้ว่ามีประเด็นที่สื่อมวลชนไทยต้องเผชิญขอเรียกว่า 4 ส. คือ เสรีภาพที่สื่อมวลชนไทยยังคงมีข้อจำกัดในการแสดงความคิดเห็นหรือการนำเสนอข่าวสาร เพราะยังมีการฟ้องร้องปิดปากโดยใช้กฎหมายความมั่นคงและกฎหมายหมิ่นประมาทอยู่ ส.ที่สองคือสวัสดิภาพของคนทำงานด้านสื่อสารมวลชนมีอยู่หลายครั้งนำเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมากลับถูกข่มขู่คุกคามจากผู้มีอิทธิพล ส.ที่3 คือ สวัสดิการในการทำงาน ในอดีตการจ้างงานของธุรกิจสื่อจะเป็นพนักงานประจำมีสวัสดิการดูแลแต่ทุกวันนี้มีการแข่งขันสูงทำให้ต้องลดต้นทุน ลดสวัสดิการลง จากพนักงานประจำเป็นการทำงานชั่วคราวทำให้ไม่มีความมั่นคงในการทำงาน สื่อต้องทำงานหนักมากขึ้น มีความเสี่ยงทั้งด้านสุขภาพเพราะพักผ่อนไม่เพียงพอ และส.สุดท้ายคือสหภาพแรงงาน ปัจจุบันมีองค์กรธุรกิจสื่อจำนวนไม่มากนักที่มีสหภาพแรงงานซึ่งเป็นองค์กรที่ลูกจ้างรวมตัวกันจัดตั้งขึ้นมาเพื่อปกป้องเรียกร้องสวัสดิการและสวัสดิภาพต่อนายจ้าง

ดร.กฤษฎา  ธีระโกศลพงศ์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากการศึกษารูปแบบการจ้างการงานของคนที่ทำงานในวงการสื่อมวลชนพบว่าเป็นรูปแบบการจ้างงานที่ผิดปกติ มีการจ้างงานที่ไม่มีมาตรฐานการทำงานมากขึ้น เช่น จ้างทำงานบางเวลาหรือจ้างทำงานแค่ 11 เดือน มีการต่อสัญญาการทำงานเป็นรายปีหรือการจ้างงานเหมาช่วง เป็นสถานการณ์ที่มีการแปรสภาพจากการทำงานมั่นคงไปสู่ความไม่มั่นคง ส่งผลกระทบต่อปัญหาความเครียดและสุขภาพจิตมีผลต่อพลังของสื่อจากเดิมที่มีพลังมากไปสู่การมีพลังน้อยลงเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์สื่อ เรื่องนี้ ไม่ใช่เฉพาะสื่อดั้งเดิมที่จะได้รับผลกระทบเท่านั้นแม้แต่คนรุ่นใหม่ Gen Z หรือ Gen Alpha ที่ต้องการเป็น Youtuber Tiktoker ที่มุ่งหารายได้และเห็นว่าเป็นงานชนิดหนึ่ง ก็จะได้รับผลกระทบเพราะไม่มีความมั่นคงในการทำงานและไม่มีระบบสวัสดิการต่างๆในการดูแลเช่นเดียวกัน 
จากข้อมูลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ธุรกิจสื่อ วัฒนธรรมและกราฟฟิก เป็นภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนรูปของรูปแบบธุรกิจใหม่ ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ วิทยุ การแสดง และสื่อสิ่งพิมพ์ รวมทั้งมีประเด็นที่น่ากังวลในอุตสาหกรรมบันเทิง เช่น ความรุนแรงและล่วงละเมิดทางเพศ ขาดการทำงานที่มีคุณค่า และการเข้าไม่ถึงระบบการคุ้มครองทางสังคม  ส่งผลให้ต้องมีการประเมินผลกระทบของการจ้างงานใหม่

ด้านสื่อมวลชน นายเสด็จ บุนนาค ผู้จัดการสภาการสื่อสารมวลชนแห่งชาติ ยอมรับว่ามีการจ้างงานหลายรูปแบบแต่สรุปว่าไม่ว่าจ้างงานแบบไหนการทำงานก็เหนื่อยเหมือนกันหมด เพราะทำงานเหมือนเป็นพนักงานประจำทุกอย่างแต่ไม่ค่อยมีลูกจ้างลุกขึ้นมาเรียกร้อง เคยมีการตั้ สหภาพแรงงานสื่อมวลชนการแห่งประเทศไทยแต่เจ้าของธุรกิจสื่อก็ไม่ให้ความร่วมมือ ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้มากนัก ขณะที่สื่อมวลชนอื่นๆต่างได้แสดงความคิดเห็นสอดคล้องกันและเห็นร่วมกันว่า สภาการสื่อสารมวลชนแห่งชาติ สมาคมวิชาชีพสื่อ นักวิชาการ สมาชิกวุฒิสภา และมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะควรจะจับมือกันเพื่อหาข้อสรุปในการผลักดันแนวทางแก้ปัญหาทั้งเรื่องสภาพการจ้างในการทำงาน สวัสดิภาพ สวัสดิการ และการช่วยเหลือสื่อมวลชน ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์สื่อโดยการตั้งเป็นคณะทำงานเพื่อเร่งรัดผลักดันเรื่องนี้ต่อไป

“พิชัย”  เร่งช่วยเกษตรกรชาวไร่มัน ประสานจีนรับซื้อมันสำปะหลัง ดันผู้ประกอบอาหารสัตว์ใช้มันเส้นเพิ่ม พร้อมสั่งการทูตพาณิชย์เปิดตลาดใหม่

(19 ธ.ค. 67) นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ท่านนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีหลายท่านได้ให้ความห่วงใยต่อปัญหาราคามันสำปะหลังอย่างมาก ตนจึงได้สั่งการไปยังกรมการค้าภายใน และกรมการค้าต่างประเทศ ให้เร่งช่วยเหลือพี่น้องเกษตรชาวไร่มันผ่านหลายมาตรการ  และตนยังได้เร่งประสานให้ทางการจีนเข้ามาช่วยรับซื้อผลผลิตจากมันสำปะหลังเป็นการเร่งด่วน พร้อมขอให้สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยเพิ่มจำนวนรับซื้อมันเส้น และสั่งการทูตพาณิชย์ให้หาตลาดล่วงหน้า เน้นเปิดตลาดใหม่ให้แก่ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง

รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ได้รับรายงานจากกรมการค้าภายในว่าสัปดาห์หน้า ช่วงก่อนปีใหม่ ทางกรมฯ เตรียมของบประมาณกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร สำหรับโครงการชะลอการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง ปี 2567/68 เพื่อให้เกษตรกรชะลอการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังไปก่อน ในช่วงที่ผลผลิตกำลังจะออกสู่ตลาดมาก สนับสนุนให้ใช้สินเชื่อจาก ธ.ก.ส. และรัฐบาลจะรับภาระดอกเบี้ยให้ส่วนหนึ่ง รวมทั้งได้เตรียมหารือร่วมกับสมาคมมันสำปะหลังทั้ง 4 สมาคม กลุ่มผู้ประกอบการอาหารสัตว์ ผู้เลี้ยงสุกร เพื่อให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ หรือผู้เลี้ยงปศุสัตว์ช่วยดูดซับปริมาณมันสำปะหลังในประเทศ ผลักดันการใช้มันเส้นในประเทศในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ปริมาณไม่น้อยกว่า 5 แสนตัน ซึ่งมากกว่าปริมาณการใช้ในอดีตที่ผ่านมา

ในส่วนของกรมการค้าต่างประเทศ ตนได้รับแจ้งว่า ได้เร่งเดินหน้าขยายตลาดส่งออกมันสำปะหลังไปต่างประเทศ โดยมีการหารือร่วมกับสมาคมผู้ส่งออกมันสำปะหลังอย่างต่อเนื่อง ซี่งเมื่อวันที่ 4 และ17 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมาได้หาแนวทางการจัดกิจกรรมขยายตลาดร่วมกัน พร้อมกำหนดตลาดเป้าหมายที่มีศักยภาพในการนำเข้ามันสำปะหลังเพิ่มเติม อาทิ เม็กซิโก ชิลี ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียรวมทั้งให้เร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มการส่งออกสินค้าให้สูงขึ้น

ทั้งนี้ จะมีแผนงานจัดกิจกรรมขยายตลาดมันสำปะหลังร่วมกับภาคเอกชน เช่นที่ จีน ระหว่างวันที่ 5 – 9 มกราคม 2568 จะนำคณะเดินทางทั้งภาครัฐและภาคเอกชนไปจัดกิจกรรมขยายตลาดผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทยในอุตสาหกรรมขั้นปลายที่มีศักยภาพต่างๆ ที่หลากหลาย ณ นครเซี่ยงไฮ้ และ นครเฉิงตู สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยคาดว่าจะสามารถสร้างความต้องการล่วงหน้าในตลาดก่อนเทศกาลตรุษจีนให้แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมมันสำปะหลังไทยได้กว่า 1 ล้านตัน และเร่งผลักดันผลผลิตมันสำปะหลังสู่ตลาดจีน โดยดึงผู้ค้ารายใหม่ที่ไม่เคยใช้มันสำปะหลังมาก่อน เข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่ๆนอกเหนือจากอุตสาหกรรมเดิมของจีน อาทิ อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ กาว กระดาษ สารให้ความหวาน กรดซิตริก ให้นำเข้ามันสำปะหลังไทย 

นายพิชัย เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ตนได้หารือกับนายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย ขอให้ผู้นำเข้าจีนช่วยรับซื้อมันสําปะหลังของไทยที่ผลผลิตกำลังออกสู่ตลาดมากในช่วงนี้ และได้ประสานไปยัง นายอู๋ จื้ออู่ อัครราชทูตจีนให้เร่งช่วยดำเนินการในขั้นตอนและกระบวนการต่างๆ ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อดูแลพี่น้องเกษตรกรชาวไร่มันให้ทันต่อสถานการณ์ รวมทั้งได้ประสานขอให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ในไทย ให้ช่วยกันใช้ส่วนผสมจากมันสำปะหลังในการผลิตเยอะขึ้นด้วย ซึ่งทางสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ยินดีช่วยรับซื้อมันเส้นตามที่กรมการค้าภายในขอความร่วมมือ โดยพี่น้องเกษตรกรชาวไร่มันสามารถติดต่อกับโรงงานอาหารสัตว์แต่ละแห่งได้โดยตรง และให้ทูตพาณิชย์ทั่วโลกช่วยประชาสัมพันธ์และเดินหน้าหาตลาดล่วงหน้าให้สินค้ามันสำปะหลัง ตลอดจนผลักดันให้มีการนำเข้าสินค้าแปรรูปจากมันสำปะหลังที่มีมูลค่าสูง เพื่อกระตุ้นตลาดและยกระดับการสร้างเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศให้กับอุตสาหกรรมมันสำปะหลังไทยโดยเร็วต่อไป

10 หน่วยงาน เปิดปฏิบัติการกลางทะเล เข้มปัญหาแรงงานต่างด้าว ป้องกันการค้ามนุษย์ด้านประมง  

(19 ธ.ค. 67) พ.ต.อ.นภัสพงษ์ โฆษิตสุริยมณี ผกก.ตม.จว.ชลบุรี บูรณาร่วมกับกระทรวงแรงงาน, ศรชล.จ.ชลบุรี, กรมประมง, กรมเจ้าท่า, อีเอสไอ, หน่วยปราบปรามประมงทะเล, ตำรวจน้ำ กว่า 30 นาย ร่วมกันจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว และการค้ามนุษย์ด้านประมง และประชาสัมพันธ์ ณ อ่าวทะเลใกล้กับเคียงท่าเรือแหลมเทียน ฐานทัพเรือสัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี 

โดยปฏิบัติการครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้นำเรือยนต์ขนาดใหญ่ ออกลาดตระเวน ก่อนจะเทียบข้างเรือประมงที่กำลังลอยลำอยู่กลางทะเล จากการตรวจสอบส่วนใหญ่เป็นเรือประมง จำนวน 7 ลำ พบคนต่างด้าว จำนวน 115 คน ตรวจสอบทั้งหมดมีเอกสารพาสปอร์ต และใบอนุญาตทำงานถูกต้องตามกฎหมาย โดยไม่พบการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์แต่อย่างใด

ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ฝากประชาสัมพันธ์ให้นายจ้างกลุ่มเรือประมงในน่านน้ำไทย หากต้องรับแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงาน ควรจัดให้มีการยื่นขอเอกสาร และขอใบอนุญาตให้ครบถ้วนตามที่ภาครัฐ ได้ตั้งระเบียบเอาไว้ พร้อมทั้งสั่งห้ามรับบุคคลต่างด้าวลักลอบเข้ามาทำงานแบบเถื่อนๆ เป็นอันขาด หากตรวจพบทางเจ้าหน้าที่จะดำเนินการตามขั้นตอนของกฏหมายอย่างเด็ดขาด โดยไม่มีข้อยกเว้น

นิราช/นันทพล ทิพย์ศรี ชลบุรี 0909535645

“มนพร” มอบหมาย บวท. เตรียมความพร้อมรองรับปริมาณเที่ยวบินช่วงปีใหม่ 68 

(19 ธ.ค. 67) “มนพร” มอบหมาย บวท. เตรียมความพร้อมรองรับปริมาณเที่ยวบินช่วงปีใหม่ 68 รวม 7 วัน กว่า 1.8 หมื่นเที่ยวบิน โต 14% ด้าน “วิทยุการบินฯ” ชู I-SMART ใช้เทคโนโลยีบริหารจัดการ เพิ่มขีดความสามารถทางวิ่ง หวังอำนวยความสะดวก ประชาชน-ไฟลท์บินไม่ล่าช้า-ปลอดภัย คาดปีหน้า อุตสาหกรรมการบินโตต่อเนื่อง แตะ 1 ล้านเที่ยวบิน
 
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ที่จะถึงนี้ คาดว่าจะมีประชาชนและนักท่องเที่ยวเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก โดยจากการรายงานของบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) คาดการณ์ปริมาณเที่ยวบินในช่วงระหว่างวันที่ 27ธันวาคม 2567 - 2 มกราคม 2568 รวม 7 วัน ระบุว่า จะมีเที่ยวบินรวม 18,280 เที่ยวบิน เฉลี่ย 2,611 เที่ยวบินต่อวัน เพิ่มขึ้น 14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนในปี 2568อุตสาหกรรมการบินในประเทศจะฟื้นตัวอย่างชัดเจน ซึ่งคาดว่า จะมีเที่ยวบินทั่วประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านเที่ยวบิน จากปี 2567 ที่ให้บริการเที่ยวบินรวม 981,270 เที่ยวบิน และยังเตรียมที่จะพัฒนาท่าอากาศยานและระบบเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อรองรับการเติบโตสอดคล้องกับภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องเช่นกัน  
 
ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมด้านต่าง ๆ เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชน ภายใต้แนวคิด I-SMART ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม พร้อมทั้งประยุกต์ใช้ระบบเทคโนโลยีมาบริหารจัดการ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้ประชาชน และนักท่องเที่ยวให้มีรวดเร็ว และปลอดภัยและรองรับปริมาณเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อไม่ให้เที่ยวบินมีความล่าช้า และลดความแออัดของเที่ยวบิน รวมถึงอำนวยความสะดวกด้านข้อมูลสภาพการจราจรทางอากาศและข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้สายการบินอย่างรวดเร็วและทั่วถึง 
 
ด้านนายณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บวท. กล่าวว่า วิทยุการบินฯ ได้เตรียมมาตรการรองรับการเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568ตามนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงคมนาคม โดยได้ดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานทางวิ่ง (High Intensity Runway Operation) หรือ HIROs ซึ่งจะจัดระยะห่างของอากาศยานขาเข้าและขาออกให้กระชับตามกฎเกณฑ์มาตรฐานและสัมพันธ์กับค่าการใช้เวลาบนทางวิ่งของอากาศยาน (Runway Occupancy Time) เพื่อให้สามารถรองรับปริมาณเที่ยวบินได้มากที่สุด สามารถใช้ทางวิ่งร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังเพิ่มข้อกำหนดทางขับ (Preferred-Exit Taxiway) ที่เหมาะสมให้อากาศยานใช้ในการออกจากทางวิ่ง เพื่อใช้เวลาบนทางวิ่งน้อยที่สุด เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจราจรทางอากาศ
 
 ทั้งนี้ การดำเนินโครงการ HIROs นั้น จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบินของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพิ่มเป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง จากเดิมรองรับได้ 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ขณะที่ ท่าอากาศยานดอนเมือง จะเพิ่มเป็น 57-60 เที่ยวบินต่อชั่วโมง จากเดิม 52 เที่ยวบินต่อชั่วโมง อีกทั้ง ยังขยายขีดความสามารถด้านการปฏิบัติการบินและการกำหนดความเร็วของอากาศยานให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์และคำแนะนำการให้บริการควบคุมจราจรทางอากาศ เพื่อรักษาระยะห่างระหว่างอากาศยานบนแนวร่อนให้คงที่และสามารถทำการลงได้อย่างปลอดภัย
 
นายณพศิษฏ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ บวท. ยังได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่เข้าดูแลทั่วทุกบริเวณอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะ การควบคุมการจราจรทางอากาศและวิศวกร รวมถึงเตรียมมาตรการรองรับในกรณีสถานการณ์ฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อต้องการให้ประชาชนผู้ใช้บริการ เดินทางอย่างปลอดภัย ถึงจุดหมายโดยสวัสดิภาพ และดำเนินการตามแผนของกระทรวงคมนาคม ภายใต้แนวคิด I-SMART ที่ประกอบด้วย I - Inclusive ระบบขนส่งที่เข้าถึงทุกคน , S - Safe, Security and Sustainable ความปลอดภัย มั่นคง และยั่งยืน, M - Multimodal Transport การคมนาคมขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ, A - Approachable สะดวก, R - Reasonable Price ราคาสมเหตุสมผล, T - Timely and Technology ตรงเวลาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยี                                    

เผย ‘ดุสิต ปริ๊นเซส เชียงใหม่’ โฉมใหม่ พร้อมเปิดบริการ ‘ดุสิตดีทู ฟากู’ ในอินเดีย

(19 ธ.ค. 67) กลุ่มดุสิตธานี เดินหน้าเปิดรับฤดูกาลท่องเที่ยว ด้วยการเปิดให้บริการ “โรงแรมดุสิต ปริ๊นเซส เชียงใหม่” อย่างเป็นทางการตั้งแต่ช่วงต้นเดือนธันวาคม หลังจากปรับปรุงครั้งใหญ่ เผยกลับมาพร้อมลุคใหม่ที่ผสมผสานมรดกทางวัฒนธรรมภาคเหนือของไทยกับความสะดวกสบายสมัยใหม่ ด้วยห้องพักและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยว พร้อมยกระดับประสบการณ์การเข้าพักใจกลางเมือง พร้อมกันนี้ กลุ่มดุสิตธานียังเปิดให้บริการโรงแรม “ดุสิตดีทู ฟากู” ในอินเดีย ตั้งแต่ 15 ธันวาคม 2567 เพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลกที่หลงใหลการผจญภัย และแสวงหาความเงียบสงบท่ามกลางเทือกเขาหิมาลัยอันเลื่องชื่อ 

บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DUSIT เปิดเผยว่า กลุ่มดุสิตธานีพร้อมต้อนรับฤดูกาลท่องเที่ยวในช่วงปลายปี ซึ่งเป็นไฮซีซั่น ด้วยการเปิดให้บริการโรงแรมในทำเลที่มีศักยภาพอย่างต่อเนื่องทั้งในไทยและในต่างประเทศ โดยในประเทศไทย ล่าสุด โรงแรมดุสิต ปริ๊นเซส เชียงใหม่ ได้กลับมาเปิดให้บริการแล้วตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2567 หลังได้รับการปรับปรุงครั้งใหญ่ ด้วยห้องพักที่ได้รับการออกแบบใหม่ผสมผสานศิลปะชาวเหนือและความสะดวกสบายทันสมัย รวมถึงล็อบบี้ที่ตกแต่งด้วยงานศิลปะท้องถิ่นและโคมไฟเซมา ธรรมจักร ซึ่งสะท้อนถึงวัฒนธรรมล้านนา รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น พื้นที่ประชุมที่ทันสมัย, สระว่ายน้ำ และยิมที่มีอุปกรณ์ครบครัน

ทั้งนี้ โรงแรมดุสิต ปริ๊นเซส เชียงใหม่ตั้งอยู่บนถนนช้างคลาน ย่านใจกลางเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นทำเลที่สะดวกต่อการเดินทางและการสำรวจสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญต่างๆ โดยการกลับมาครั้งนี้ โรงแรมได้เข้าร่วมโครงการ “แคมเปญแอ่วเหนือ...คนละครึ่ง” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “เหนือพร้อม...เที่ยว” ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภาคเหนือในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม 2567 ด้วยการมอบส่วนลด 50% สำหรับการใช้จ่ายสินค้าและบริการในสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 10,000 สิทธิ์ โดยมีวงเงินสูงสุด 400 บาทต่อท่าน ซึ่งคาดว่าจะสร้างรายได้หมุนเวียนไม่น้อยกว่า 44.34 ล้านบาท

และเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองการกลับมาให้บริการ โรงแรมดุสิต ปริ๊นเซส เชียงใหม่มอบโปรโมชั่นพิเศษเริ่มต้นที่ 1,600 บาท++ ต่อห้อง/คืน พร้อมอาหารเช้าฟรีและส่วนลด 20% สำหรับอาหารและเครื่องดื่ม โดยสามารถจองได้ถึงวันที่ 6 มกราคม 2568 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือการจองห้องพักได้ที่ dusit.com/dusitprincess-chiangmai 

สำหรับการให้บริการในต่างประเทศ ล่าสุด กลุ่มดุสิตธานี พร้อมเปิดให้บริการ “โรงแรมดุสิตดีทู ฟากู” ในประเทศอินเดีย ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2567 โดยโรงแรมดุสิตดีทู ฟากู ตั้งอยู่ท่ามกลางเทือกเขาหิมาลัยอันงดงามตระการตา เหมาะต่อการพักผ่อนสำหรับนักเดินทางที่แสวงหาความเงียบสงบพร้อมความหรูหรา รวมถึงยังตอบโจทย์นักเดินทางกลุ่มรักสุขภาพและกลุ่มที่รักการผจญภัย ภายในโรงแรม ประกอบด้วย ห้องพักจำนวน 80 ห้อง  มีขนาดตั้งแต่ 38 ตร. ม. ถึง 86 ตร. ม. แต่ละห้องยังได้รับการออกแบบอย่างพิถีพิถันเพื่อผสมผสานความสะดวกสบายแบบทันสมัยให้เข้ากับกลิ่นอายท้องถิ่น โดยห้องพักทุกห้องมาพร้อมทิวทัศน์อันสวยงามของหุบเขาและภูเขาที่โอบล้อม ช่วยให้ผู้เข้าพักผ่อนคลายไปกับความงามของธรรมชาติได้ตลอดเวลา


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top