Tuesday, 20 May 2025
ค้นหา พบ 48202 ที่เกี่ยวข้อง

โฆษกเกษตร เผย ชาวสวนทุเรียนเตรียมพร้อม ดันทุเรียนคุณภาพส่งจีน “ธรรมนัส” สั่งคุมเข้มตลอดห่วงโซ่อุปทาน เสริมแกร่งสู้ประเทศคู่แข่ง

นางสาวอัยรินทร์ พันธุ์ฤทธิ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ฝ่ายการเมือง) เปิดเผยถึงสถานการณ์ส่งออกทุเรียนไทยไปยังตลาดประเทศจีน ในปี 2567 ยังคงมีช่องทางการตลาดที่สดใส แม้ปัจจุบันทุเรียนไทยต้องเผชิญกับความท้าทายในการส่งออกไปยังตลาดจีน จากการแข่งขันของประเทศคู่แข่ง โดยล่าสุด ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งการให้กรมวิชาการเกษตร  เร่งดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ควบคุมคุณภาพทุเรียนส่งออกไปจีนตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ทั้งในส่วนของนโยบาย สวน โรงคัดบรรจุ การส่งออก การขนส่ง การตลาด การแปรรูป และการเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้กับเกษตรกร และผู้ประกอบการ พร้อมกันนี้ยังได้วางแผนขยายผลไปยังทุกภูมิภาคที่ผลิตทุเรียนเพื่อส่งออก และได้เตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษ สวพ.6 และศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรีกว่า 180 คน เพื่อสลับเปลี่ยนหมุนเวียนทำหน้าที่ ตั้งแต่เดือนมีนาคมจนสิ้นสุดฤดูกาลส่งออก และเพิ่มผู้จัดการเขตพื้นที่ทุเรียน (DIZ) จากเดิม 6 คน เพิ่มเป็น 9 คน พร้อมจะดำเนินการอย่างเด็ดขาด หากพบการสวมสิทธิ์ใบรับรอง GAP หรือการให้เช่าโรงคัดบรรจุพร้อมกับใบรับรอง GMP-DOA เป็นต้น ”

โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า รัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน ให้ความสำคัญอย่างมากกับการส่งเสริม สนับสนุน การส่งออกสินค้าเกษตรคุณภาพไปยังตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะทุเรียน ที่เป็นไม้ผลเศรษฐกิจสำคัญ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ภายใต้การนำของร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ใช้แนวนโยบาย ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ เป็นธงนำในการสร้างรายได้ และขยายโอกาสให้ภาคเกษตร มีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรเป็น 3 เท่าภายใน 4 ปีของรัฐบาล  จึงเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาภาคเกษตร ที่ช่วยเสริมจุดแข็งในการด้านการตลาด จากการสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ

ทั้งนี้ สถิติการส่งออกทุเรียน ปี พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมาไทยส่งออกทุเรียนไปจีนทั้งหมด 57,000 ตู้/ชิปเม้นท์ ปริมาณสูงถึง 945,900 ตัน มูลค่า 120,469.34 ล้านบาท โดยมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2565 สูงถึงร้อยละ 38.47 (ปี พ.ศ. 2565 ส่งออกทุเรียนไปจีน 8.11 แสนตัน มูลค่ากว่า 8.7 หมื่นล้านบาท) สำหรับช่องทางการส่งออก พบว่ารถยนต์มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 63.9 รองลลงมาคือทางเรือ ร้อยละ 31.72 และทางรถไฟ ร้อยละ 1.17 

ครบรอบ 10 ปี เที่ยวบิน MH 370 สาบสูญ 'มาเลเซีย' เตรียมรื้อแผนค้นหาใต้ทะเลลึกอีกครั้ง

รัฐบาลมาเลเซียเตรียมพิจารณาแผนการค้นหาซากเครื่องบินโบอิ้ง 777 ของมาเลเซีย แอร์ไลน์ เที่ยวบิน MH 370 ที่หายสาบสูญไปจากจอเรดาร์ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2014 ขณะออกจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ มุ่งหน้าสู่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน พร้อมผู้โดยสารและลูกเรือรวม 239 ชีวิต อย่างเป็นปริศนาจนถึงวันนี้ ที่กำลังจะครบรอบ 10 ปีของเหตุโศกนาฏกรรมดังกล่าวก็ยังไม่สามารถหาซากเครื่องบินพบ 

ทางการมาเลเซีย เคยประสานความร่วมมือกับหลายชาติ ทั้งจีน และ ออสเตรเลีย พยายามค้นหาเครื่องบิน MH 370 มาโดยตลอด 

แต่ทว่า พื้นที่ในการค้นหากว้างขวางมากถึง 1.2 แสนตารางกิโลเมตร ครอบคลุมน่านน้ำตั้งแต่ชายฝั่งออสเตรเลียตะวันตก ไปจนถึงมหาสมุทรอินเดีย และ เอเชียกลาง และใช้เวลาสำรวจนานมากกว่า 2 ปีตั้งแต่ปี 2017 - 2019 ทุ่มเทงบประมาณถึง 130 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4.68 พันล้านบาท) แต่ก็ยังหาเครื่องบิน MH 370 ไม่พบ ทิ้งไว้แต่เพียงความสิ้นหวังของครอบครัวผู้โดยสาร และ ลูกเรือ ที่หายสาบสูญไปพร้อมกับเที่ยวบินมรณะ 

แต่มาวันนี้ แอนโธนี โลค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้กล่าวในงานรำลึกครบรอบ 10 ปี โศกนาฏกรรมเที่ยวบิน MH 370 ว่า รัฐบาลมาเลเซียยังคงมีความมุ่งมั่นที่จะค้นหา และ การค้นหาจะต้องดำเนินต่อไปอย่างแน่นอน 

พร้อมกล่าวว่า ตอนนี้กำลังพิจารณาแผนการของ บริษัทสำรวจพื้นผิวใต้ทะเลของสหรัฐอเมริกา Ocean Infinity ที่ได้ยื่นเสนอโครงการค้นหา MH 370 ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ทีมสำรวจก่อนหน้าประสบความล้มเหลวไปแล้วถึง 2 ครั้ง 

รัฐมนตรี โลค กล่าวว่า ตอนนี้ โครงการครั้งใหม่ของ Ocean Infinity กำลังได้รับการพิจารณาในสภา โดยบริษัทสำรวจของสหรัฐฯ ยินดีรับประกันผลงานแบบ ‘ไม่เจอ ไม่ต้องจ่าย’ แต่ถ้าหาเจอ ทางรัฐบาลมาเลเซียถึงจะจ่ายค่าบริการสำรวจให้แก่ Ocean Infinity เป็นเงิน 70 ล้านดอลลาร์ ซึ่งคาดหวังว่า การค้นหาครั้งใหม่จะเริ่มต้นได้ในเร็ว ๆ นี้

แต่สำหรับครอบครัว และ ญาติมิตรผู้สูญเสีย หลังจากผ่านมา 10 ปี พวกเขาคิดอย่างไรกับการติดตามหาเครื่องบินมาเลเซีย แอร์ไลน์ ที่สาบสูญ 

ครอบครัวผู้เสียชีวิตบางกลุ่ม เรียกร้อง และ ยืนยันให้รัฐบาลมาเลเซียค้นหาเครื่องบินจนเจอ เพื่อให้เกิดความกระจ่างในกระบวนการยุติธรรม 

อาทิ นาย ไป๋ จง ชาวจีนผู้สูญเสียภรรยาจากเหตุโศกนาฏกรรม กล่าวหนักแน่นว่า ไม่ว่าจะผ่านไป 10 ปี 20 ปี หรือนานกว่านั้น ก็ยังคงต้องการคำตอบจากเหตุการณ์ดังกล่าว และเชื่อว่าเราจะสามารถค้นพบความจริงได้ในสักวันหนึ่ง

ในขณะที่ เกรซ นาธาน ทนายความมาเลเซียผู้สูญเสียแม่ไปกับเหตุการณ์ครั้งนั้น กล่าวว่าเธอรู้สึกยินดีที่ได้ยินว่าจะมีการเริ่มโครงการค้นหาซากเครื่องบินอีกครั้ง แต่ก็ควรอยู่ในโลกความจริง และไม่ต้องการให้รัฐบาลเสียงบประมาณเป็นพัน ๆ ล้านไปกับการพยายามค้นหาโดยเปล่าประโยชน์ 

แต่หากมองในอีกแง่หนึ่ง การผลักดันให้มีการค้นหา MH 370 จนสำเร็จก็เพื่ออนาคตของอุตสาหกรรมการบิน เพราะ MH370 จะไม่ถูกทิ้งเป็นประวัติศาสตร์ แต่จะนำไปสู่อนาคตของการวางมาตรฐานความปลอดภัยในการบิน เป็นเครื่องเตือนใจที่จะทำให้ผู้ที่รับผิดชอบนึกถึงทุกครั้งก่อนนำเครื่องบินขึ้นสู่ท้องฟ้า 

ซึ่งเชื่อว่า ปริศนา MH 370 ถูกค้นพบ และ คลี่คลายได้อย่างแน่นอนในสักวันหนึ่ง

พุ่งเป้า!! 'ไทย' จ่อทบทวน กม.คุม 'อินฟลูเอนเซอร์' เทียบเกณฑ์ ตปท.  หลังพบทำคอนเทนต์เชิงลบ สร้างกระแส หวังเพิ่มยอดวิว

(4 มี.ค.67) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 4/2566 และภาพรวมปี 2566 ว่า ด้านสถานการณ์ทางสังคมที่สำคัญ โดยเฉพาะเรื่องอินฟลูเอนเซอร์ (influencer) ข้อมูลจาก Nielsen ในปี 2565 พบว่า ประเทศในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) มีจำนวนอินฟลูเอนเซอร์ รวมกันมากถึง 13.5 ล้านคน โดยประเทศไทยมีจำนวนกว่า 2 ล้านคน เป็นอันดับ 2 รองจากอินโดนีเซีย ซึ่งการขยายตัวของอินฟลูเอนเซอร์ส่วนหนึ่งมาจากการเป็นช่องทางสร้างรายได้ ทั้งจากการโฆษณาหรือ รีวิวสินค้า โดยในปี 2566 สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับทั่วโลกถึง 19.01 พันล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 140.33 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2573 หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 7.4 เท่า ภายใน 7 ปี

นายดนุชา กล่าวว่า สำหรับไทย อินฟลูเอนเซอร์ได้รับความสนใจจากคนจำนวนมาก เนื่องจากสามารถสร้างรายได้ได้ค่อนข้างสูง เฉลี่ยตั้งแต่ 800-700,000 บาทขึ้นไปต่อโพสต์ อย่างไรก็ตาม การแข่งขันผลิตคอนเทนต์ และการให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วม (Engagement) ของอินฟลูเอนเซอร์มักมีการสร้างคอนเทนต์ให้เป็นกระแสโดยไม่ได้คำนึ่งถึงความถูกต้องเหมาะสมก่อนเผยแพร่ ซึ่งอาจสร้างผลกระทบเชิงลบต่อสังคมหลายประการ

อาทิ การนำเสนอข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง เช่น การเผยแพร่ข่าวปลอมหรือข้อมูลที่ไม่ได้รับการตรวจสอบ จากรายงานผลการดำเนินงานศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พบจำนวนยอดละสมผู้โพสต์ที่เข้าข่ายเป็นข่าวปลอม 7,394 บัญชี โดยเป็นจำนวนข่าวปลอมและข่าวบิดเบือนรวมกันกว่า 5,061 เรื่อง

นายดนุชา กล่าวว่า การชักจูงหรือชวนเชื่อที่ผิดกฎหมาย อาทิ การโฆษณาเว็บพนันออนไลน์ผ่านอินฟลูเอนเซอร์ ข้อมูลจากผลการสำรวจพฤติกรรมการเล่นพนันออนไลน์ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ของศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ในปี 2566 พบว่าคนรุ่นใหม่เล่นพนันออนไลน์ประมาณ 3 ล้านคน โดย 1 ใน 4 เป็นนักพนันฯ หน้าใหม่ หรือคิดเป็นจำนวนกว่า 7.4 แสนคน โดยส่วนใหญ่ 87.7% พบเห็นการโฆษณาหรือได้รับการชักชวนทางออนไลน์ ซึ่งมีผู้ได้รับผลกระทบแล้วกว่า 1 ล้านคน
.
การละเมิดสิทธิพบว่าอินฟลูเอนเซอร์บางรายมีการเสนอข่าวอาชญากรรมราวกับละคร เพื่อสร้างความตื่นเต้นเร้าใจ และไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้เสียหาย ครอบครัว หรือบุคคลใกล้ชิด นอกจากนี้ ยังพบการทำข่าวโดยใช้ภาพผู้คนหรือ วิดีโอของผู้อื่นมาตัดต่อลงคอนเทนต์ของตน โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่มีการอ้างอิงแหล่งที่มา
.
นายดนุชา กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีเนื้อหาบางประเภทที่ไม่ได้กระทำผิดกฎหมาย แต่อาจนำไปสู่การสร้างค่านิยมที่ผิดต่อสังคม อาทิ คอนเทนต์ การอวดความรำรวย จากการศึกษาของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล พบกลุ่มเจนซี (Gen Z) จำนวน 74.8% เป็นผู้ที่ชอบแสดงตัวตนในรูปแบบนี้มากที่สุด หรือการนำเสนอภาพบุคคลที่ได้รับการปรับแต่งให้ดูดี จนกลายเป็นมาตรฐานความงามที่ไม่แท้จริง ซึ่งอาจสร้างค่านิยมที่ผิดให้กับเด็กและเยาวชนในสังคม และอาจกระทบต่อการก่อหนี้เพื่อนำมาซื้อสินค้าและบริการ

“ตัวอย่างข้างต้นสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลเชิงลบของอินฟลูเอนเซอร์ต่อสังคมหลายแง่มุม ซึ่งในต่างประเทศเริ่มมีการออกกฎหมายเฉพาะอินฟลูเอนเซอร์อย่างชัดเจน เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน ออกระเบียบห้ามเผยแพร่ผิดกฎหมาย นอร์เวย์ และสหราชอาณาจักร กำหนดให้อินฟลูเอนเซอร์ แจ้งรายละเอียดภาพบุคคลที่ใช้สำหรับการขายและโฆษณาบนโซเชียลมีเดีย พร้อมแสดงเครื่องหมายกำกับ เพื่อลดปัญหาความกดดันทางสังคมต่อมาตรฐานความงามที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน”นายดนุชา กล่าว

นายดนุชา กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย ขณะนี้มีกฎหมายควบคุม อาทิ พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 และพ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 รวมทั้งอยู่ระหว่างพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. … ที่มีความพยายามปรับปรุงการกำกับดูแลการนำเสนอข้อมูลให้เท่าทันสื่อปัจจุบัน แต่ยังไม่มีกฎระเบียบสำหรับกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์อย่างชัดเจน

“นอกจากนี้ แนวทางการกำกับดูแลส่วนใหญ่เน้นไปที่การตรวจสอบ เฝ้าระวังการนำเสนอ และการตักเตือน/แก้ไข ซึ่งหากไทยจะขยายการกำกับดูแลให้ครอบคลุมกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์อาจต้องทบทวนการกำหนดนิยามของสื่อออนไลน์ให้มีความชัดเจนมากขึ้น รวมถึงแนวทางการกำกับดูแลที่สอดคล้องกับการผลิตเนื้อหาของสื่อกลุ่มต่าง ๆ โดยอาจศึกษาจากกรณีตัวอย่างของกฎหมายและมาตรการของต่างประเทศ เพื่อนำมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทสังคมต่อไป” นายดนุชากล่าว

'เต้-มงคลกิตติ์' แจ้งจับ 'พิธา-พวก' เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง อาจต้องโทษถึงประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิตหลายราย

(4 มี.ค.67) ที่ศูนย์รับแจ้งความ บชก. นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ อดีต สส.บัญชีรายชื่อพรรคไทยศรีวิไลย์ นำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีพรรคก้าวไกล ล้มล้างการปกครอง เมื่อวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา ฉบับเต็มรวม 32 หน้า มามอบให้กับพนักงานสอบสวนกองปราบปราม ประกอบการพิจารณาดำเนินคดีอาญา กับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และผู้บริหารพรรคก้าวไกล รวมความ 10 ราย

นายมงคลกิตติ์ ระบุว่า หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่าก้าวไกลเข้าข่ายการล้มล้างการปกครอง ตนได้ส่งหนังสือร้องเรียนไปยังผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ดำเนินคดีกับนายพิธาและพวกตามกฎหมาย ซึ่งหลังยื่นคำร้องดังกล่าว ทาง ผบ. ตร.ได้ดำเนินการมีคำสั่งมายังกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งวันนี้พนักงานสอบสวนกองปราบปราม เจ้าของสำนวนคดีนี้ ได้นัดให้ตนนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญฉบับเต็ม มามอบให้กับพนักงานสอบสวน ในฐานะผู้ร้อง

"มองว่าคดีนี้ต้องทำให้เป็นเยี่ยงอย่างเพื่อไม่ให้เกิดกรณีดังกล่าวขึ้นอีกในอนาคตเพราะการใช้นโยบายหาเสียงของพรรคก้าวไกล ก่อให้เกิดความขัดแย้ง และพยายามให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในระบบการปกครองประเทศ ที่สำคัญมีการบั่นทอนความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยธรรมวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว มีความชัดเจนว่าการกระทำของนายพิธาและพรรคก้าวไกลเป็นความผิดร้ายแรง แต่เป็นความผิดเฉพาะบุคคล ไม่เกี่ยวข้องกับพรรค ดังนั้นพนักงานสอบสวนจะต้องดำเนินการตามกฎหมาย เชื่อว่าหากพนักงานสอบสวนดำเนินคดีจะมีผู้ถูกออกหมายจับ อาจต้องโทษถึงประหารชีวิตถึง 10 ราย และจำคุกตลอดชีวิตอีกหลายคน" นายมงคลกิตติ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเบื้องต้นพนักงานสอบสวนกองปราบปรามเจ้าของสำนวนคดี ได้รับคำวินิจฉัยดังกล่าวไว้ประกอบการพิจารณา ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

‘แฟรงค์’ อาการไม่สู้ดี ‘ชีพจรเต้นอ่อน - นน.เหลือแค่ 38’ ฮึด!! ยืนหยัดสู้หนักแน่น บอก!! “ถึงตายก็ไม่เสียดายชีวิต”

(4 มี.ค. 67) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยความคืบหน้าการอดอาหารและน้ำประท้วงเข้าสู่วันที่ 20 ของ นายณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร หรือ แฟรงค์ ผู้ต้องขังคดีมาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ สืบเนื่องจากถูกกล่าวหาว่าบีบแตรใส่ขบวนเสด็จของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 4 ก.พ.2567 ทั้งนี้ เพื่อยืนยัน 3 ข้อเรียกร้องพร้อมกับ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน

ล่าสุด ศูนย์ทนายความฯ อัปเดตอาการ แฟรงค์ ณัฐนนท์ ว่า Update การอดอาหารและน้ำประท้วงของ #แฟรงค์ ณัฐนนท์ เพื่อ 3 ข้อเรียกร้องพร้อมกับ #ตะวัน เข้าสู่วันที่ 20 (4 มี.ค.) ปัจจุบันยังคงอยู่ที่ รพ.ราชทัณฑ์ การตอบสนอง-รับรู้ช้า รู้สึกร้อนในร่างกายมาก อ่อนแรงและซูบผอมมาก

แฟรงค์บอกว่า สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาสัญญาณชีพจรเต้นอ่อนมากถึง 3 ครั้ง น้ำหนักยังอยู่ที่ 38 กก. (ก่อนถูกคุมขังอยู่ที่ประมาณ 45 กก.)

สภาพร่างกายและอาการของแฟรงค์ในขณะนี้ ทนายสังเกตว่า

- การรับรู้ตอบสนองช้า กว่าจะโต้กลับใช้เวลาเกือบ 1 นาที
- แฟรงค์ดูเหม่อลอย เหนื่อยหอบมาก ตัวเหลืองซีด
- ปากแตกแห้ง พูดเบามาก ทั้งยังอ้าปากค้างไว้ตลอดเวลา เพราะรู้สึกร้อนมาก จากภายในร่างกายและจากสภาพอากาศ
- แฟรงค์ไม่ยอมใส่เครื่องช่วยหายใจ ตอนนี้จึงหายใจลำบาก
- รู้สึกเหนื่อยมาก แม้ว่าจะนั่ง หรือนอนเฉยๆ ก็ตาม
- มีอาเจียน ปวดท้อง ปวดศีรษะ และเวียนศีรษะเป็นระยะ
- เจ็บหน้าอกเมื่อนอนตะแคง อาจเพราะซูบผอมมากจนช่วงหน้าอกเห็นกระดูกซี่โครงชัดเจน
- อ่อนแรงมาก มีแรงยกแขนได้เพียงระยะสั้นๆ
- ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ มักจะเป็นตะคริวและเหน็บชา
- ตอนนี้ไม่มีอาการชักเกร็งแล้ว

แฟรงค์ไม่ได้จิบน้ำ หรือรับยารักษาเพื่อบรรเทาความเจ็บปวดมานานแล้ว กลางคืนจึงนอนไม่หลับเลย แต่แฟรงค์ยังคงเข้มแข็งและอดทนมาก แฟรงค์เป็นห่วงทุกคนข้างนอก และบอกว่า “ผมภาวนาให้ #ตะวัน ฝันดีทุกคืนเลย”

ถึงจุดนี้ผมหนักแน่นสุดๆ

“ถึงตายก็ไม่เสียดายชีวิต”

แฟรงค์ฝากบอกแม่และยาย “ไม่ต้องเป็นห่วงผมนะ”

เพื่อนๆ และแม่ของแฟรงค์ พูดกับแฟรงค์ก่อนหมดเวลาเข้าเยี่ยมว่า “หายใจเข้าไว้นะแฟรงค์ อยู่กับลมหายใจเข้าไว้ จะได้ลดความเจ็บปวดทรมานนะ เก่งมาก”

แฟรงค์น้ำตาซึม และบอกทุกคนว่า “ไว้เจอกันนะ”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top