นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พรรคในฐานะทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ชี้แจงถึงผลการประชุมว่าด้วยแนวทางนโยบายเศรษฐกิจของพรรคประชาธิปัตย์ระหว่างนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคกับทีมเศรษฐกิจวันนี้(29มีนาคม)ว่า พรรคประชาธิปัตย์กำหนดกรอบนโยบายเศรษฐกิจบน3นโยบายเรือธง(Flagship Policy)ได้แก่
1.เศรษฐกิจฐานราก พรรคประชาธิปัตย์ให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคการเกษตรและภาคการท่องเที่ยวด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเนื่องจากเป็น2ภาคเศรษฐกิจที่เป็นศักยภาพของประเทศโดยเฉพาะเกษตรถือเป็นดีเอ็นเอ(DNA) ของประเทศครอบคลุมสาขาพืช ประมง และปศุสัตว์ เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวรวมทั้งธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SME)ซึ่งเป็นธุรกิจสร้างงานสร้างอาชีพใหญ่ที่สุดของประเทศ
ตลอดจนการยกระดับภาคแรงงานในทุกสาขาซึ่งถือเป็นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ
2.เศรษฐกิจมหภาค ทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์กำหนดเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืนไม่น้อยกว่า5%ต่อปีมุ่งกระจายรายได้กระจายความเจริญลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มการลงทุนในประเทศและต่างประเทศ พัฒนาตลาดทุนยุคใหม่ ส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตร อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและ12อุตสาหกรรมใหม่(12 S-Curves) รวมถึงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในภูมิภาคและการลงทุน
โครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ทั้งระบบขนส่งมวลชน ระบบราง ระบบถนน ระบบขนส่งทางน้ำและทางอากาศภายใต้ยุทธศาสตร์เขื่อมไทย เชื่อมโลก ตลอดจนการปูทางสร้างโอกาสด้วยความตกลงการค้าเสรี(FTA-Mini-FTA)โดยเฉพาะความตกลงว่าด้วยหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระดับภูมิภาค(RCEP)
3.เศรษฐกิจทันสมัยหรือเศรษฐกิจอนาคต พรรคประชาธิปัตย์เร่งวางรากฐานใหม่ให้ประเทศโดยสร้างเครื่องยนต์ตัวใหม่ทางเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้แก่เศรษฐกิจดิจิตอล (Digital Economy) เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เศรษฐกิจสูงวัย(Silver Economy) เศรษฐกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy)และเศรษฐกิจคาร์บอน(Carbon Economy) เป็นต้น