(28 มี.ค.66) จากที่ World Maker ได้รายงานไปว่าทาง IMF ออกมาเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านการเงินโลกที่อยู่ในระดับสูงเป็นพิเศษ และมองว่าจีนจะกลายเป็นความหวังในการพยุงเศรษฐกิจโลกในปี 2023 นี้ ! ซึ่งล่าสุดก็มีรายงานออกมาอีกว่าตอนนี้รัฐบาลจีนกำลังกู้ยืมเงินในอัตราที่เร็วที่สุดเป็นประวัติการณ์เพื่อหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ!
จำนวนพันธบัตรที่รัฐบาลจีนออกขายในไตรมาสแรกของปี 2023 (กู้ยืมเงินจากการระดมทุน) มีมูลค่าอย่างน้อย 4 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1997 ที่เริ่มเก็บข้อมูลมาเลยทีเดียว คิดเป็นการเพิ่มขึ้นถึง +35% จากปี 2022
ซึ่งทางรัฐบาลจีนเองก็ประกาศแผนงบประมาณปี 2023 ว่าจะกู้ยืมเงินเพิ่มประมาณ +20% จากปีที่แล้ว โดยจะนำเงินเหล่านี้มาช่วยหนุนเศรษฐกิจในภาคท้องถิ่นให้สามารถจัดการกับความตึงเครียดด้านสภาพคล่องได้ และยังมีแผนขยายการลงทุนเชิงโครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศ เช่น การปรับปรุงระบบระบายน้ำ-สาธารณูปโภคในเมืองต่าง ๆ
เป้าหมาย GDP ของจีนถูกตั้งไว้ราว +5% ในปีนี้ สอดคล้องกับคาดการณ์ของ IMF ที่ราว +5.2% ซึ่งหากจีนทำได้ตามเป้าก็จะถือเป็น 1 ในเสาหลักที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจโลกในปีนี้ ท่ามกลางความตึงเครียดในสหรัฐฯ ที่เกิดจากภาวะดอกเบี้ยสูงและวิกฤตต่าง ๆ เช่น Bank Run
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าการฟื้นตัวในไตรมาสแรกของจีนจะอ่อนแอกว่าที่คาดหวังเอาไว้ไม่มากก็น้อย เนื่องจากผลกำไรภาคอุตสาหกรรมในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ร่วงลงถึง -22.9% เมื่อเทียบจากปี 2022 แม้ว่าการผลิตใน Sector นี้จะดีดตัวขึ้นจากการที่จีนเริ่มเปิดประเทศอีกครั้ง
การลดลงของรายได้นี้ อยู่ในระดับที่รุนแรงกว่าการลดลงของต้นทุน ซึ่งจะส่งผลต่อ 'อัตรากำไรขั้นต้น' ของบริษัทต่าง ๆ และชี้ให้เห็นว่า Demand ทางเศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้ค่อนข้างช้า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังไม่ได้กลับมาเร็วอย่างที่คาดหวัง ดังนั้นต่อให้การผลิตดีดตัวสูงขึ้น แต่ถ้าไม่มีการบริโภคก็จะไม่มีความหมายเลยต่อเศรษฐกิจ กลับกันอาจกลายเป็นแย่ยิ่งกว่าเดิม
นั่นอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ IMF แนะนำให้จีนส่งเสริมภาคการบริโภคของประเทศ โดยตอนนี้บริษัทต่างชาติที่ทำธุรกิจในจีนดูเหมือนจะได้รับผลกระทบหนักสุดเพราะผลกำไรร่วงลง -35.7% ในช่วง 2 เดือนแรกของปี เทียบกับค่าเฉลี่ยทั้งประเทศที่ -9.5% ในขณะที่กำไรของบริษัทเอกชนจีนลดลง -19.9% และรัฐวิสาหกิจลดลง -17.5%
นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อในผู้ผลิต (PPI -1.4%) และผู้บริโภค (CPI 1%) ของจีนก็ยังอยู่ในระดับต่ำมากทีเดียว โดยเฉพาะ PPI ที่ติดลบหรืออยู่ในภาวะเงินฝืด หมายความว่าต้นทุนการผลิตสินค้าต่าง ๆ ลดลง ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ลดลง และโรงงานบางแห่งก็ได้ปรับลดราคาขาย ซึ่งจะส่งผลต่อรายได้และกำไรที่ลดลงด้วย (ค่อนข้างดีต่อผู้บริโภค แต่ในแง่ของตัวเลขทางเศรษฐกิจและการเติบโตก็จะลดลงไปด้วย)
สาเหตุหนึ่งที่บริษัทต่าง ๆ ไม่สามารถขึ้นราคาสินค้าได้นั้น เป็นเพราะว่า Demand ไม่ได้อยู่ในช่วงขยายตัวอย่างรวดเร็ว ดังนั้นหากขึ้นราคาสินค้าตอนนี้ก็จะกลายเป็นการลด Demand ลงอีก ซึ่งไม่ใช่คำตอบสำหรับบริษัทต่าง ๆ ในประเทศจีน
ดังนั้นจึงชัดเจนว่าปัญหาหลักคือจีนจะทำอย่างไรให้การบริโภคฟื้นตัว ? จะเรียกความเชื่อมั่นของตลาดกลับมาได้อย่างไร ? ยิ่งไปกว่านั้น อัตราว่างงานของจีนตอนนี้ยังอยู่ในระดับสูงและการลงทุนในภาคอสังหาฯ ซึ่งคิดเป็นราว 25% ของ GDP ก็ยังตกต่ำจากวิกฤตที่เกิดขึ้นซึ่งทำให้ความเชื่อมั่นหดหายไปอย่างมาก
Maersk หนึ่งในบริษัทขนส่งสินค้ายักษ์ใหญ่ที่สุดในโลก ก็ได้ออกมาเตือนว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนในตอนนี้อ่อนแอกว่าที่เคยคาดเอาไว้ โดยชี้ไปที่เหตุผลเดียวกันคือผู้บริโภคยังอยู่ในภาวะช็อก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าปัญหาเศรษฐกิจนั้นมีหลายมิติ ไม่ใช่แค่ว่าการผลิตฟื้นตัวแล้วจะแปลว่าเศรษฐกิจฟื้นตัว แต่ต้องมีการสนับสนุนผู้บริโภคควบคู่กันไปด้วย
ที่สำคัญคือเงินออมราว 70% ของจีนอยู่ในภาคอสังหาฯ ที่ยังคงตกต่ำและได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นเราคงพอจะเข้าใจเหตุผลว่าทำไมในปีนนี้รัฐบาลจีนประกาศว่าจะเริ่มกลับมาหนุนภาคการเงินและอสังหาฯ
ขณะเดียวกัน นักลงทุนต่างชาติและตลาดหุ้นของจีนก็ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงไม่ต่างจาก Real Estate ในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากราคาหุ้นยักษ์ใหญ่หลายตัวของจีนร่วงลงมากกว่า -50% ไม่ว่าจะเป็น Alibaba, Tencent และอื่น ๆ พร้อมกับความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นจากสงครามยูเครนและความตึงเครียดกับสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม ในแง่ดีคือการฟื้นตัวกำลังค่อย ๆ กลับมา และรัฐบาลจีนก็ดูเหมือนจะรู้ถึงปัญหาที่จะต้องส่งเสริมการบริโภคมากขึ้น โดยล่าสุดทาง PBOC ก็เริ่มปรับลดอัตราส่วนความต้องการทุนสำรองของธนาคาร (Reserve Requirement Ratio : RRR) เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในตลาดการเงิน แต่ทั้งนี้ก็อาจต้องมีมาตรการหนุนผู้บริโภคมากขึ้นกว่าเดิมเพื่อให้สอดคล้องกับการฟื้นตัวในภาคการผลิต
ปฏิเสธไม่ได้ว่าจีนถือเป็น 1 ในความหวังหลักของโลกสำหรับปี 2023 นี้ และต่างชาติหลายประเทศก็ให้ความสนใจที่จะเข้าไปลงทุนในจีน โดยเฉพาะหากรัฐบาลเปิดกว้างมากกว่าเดิม ยกตัวอย่างเช่นล่าสุด Saudi Aramco ยักษ์ใหญ่น้ำมันจากซาอุฯ ก็พึ่งบรรลุดีลสร้างโรงกลั่นยักษ์ใหญ่ในประเทศจีนร่วมกับ North Huajin Chemical และ Panjin Xincheng โดยจะเริ่มโครงการในไตรมาสที่ 2 นี้ คาดว่าจะพร้อมใช้งานในปี 2026
ดีลดังกล่าวถูกประเมินเบื้องต้นว่าอาจมีมูลค่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ มีขนาดการกลั่นอยู่ที่ 300,000 บาร์เรล/วัน โดยซาอุฯ จะถือหุ้น 30% ส่วน Norinco Group ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ North Huajin Chemical จะถือหุ้น 51% และ Panjin Xincheng จะถือหุ้นส่วนที่เหลือ ซึ่งจะทำให้ทั้งจีนและซาอุฯ ได้รับประโยชน์กันทั้ง 2 ฝ่าย และยังเป็นการเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในระยะยาวให้แน่นแฟ้นขึ้นอีกด้วย
แผนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการที่ซาอุฯ ตั้งเป้าจะขยายกำลังการผลิตน้ำมันให้ถึง +1,000,000 บาร์เรล/วัน และจะเพิ่มการผลิตก๊าซอีกมากกว่า +50% ภายในปี 2030 พร้อมกับพัฒนายกระดับอุตสาหกรรมกลั่นให้สามารถ 'ลดการปล่อยคาร์บอนให้ต่ำลงกว่าเดิม'
ขณะเดียวกัน ทางด้านรัสเซียกำลังผลักดันการใช้เงินหยวนของจีนเป็น 1 ในสกุลเงินหลักสำหรับทุนสำรองระหว่างประเทศและการค้ากับชาติพันธมิตร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการที่รัสเซียจะใช้หลีกเลี่ยงการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ-ชาติตะวันตก และยังเตรียมสร้างขั้วอำนาจใหม่ที่หวังจะมาทุบอำนาจของเงินดอลลาร์ให้เสื่อมลงอีกด้วย
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้รัสเซียเป็นผู้นำในสิ่งที่หาดูได้ยาก คือการใช้เงินหยวนมากกว่าดอลลาร์-ยูโรในทุนสำรอง แต่ก็เป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับรัสเซียด้วยเช่นกัน เพราะจีนเองเคยมีมาตรการลดค่าเงินอย่างกะทันหันและอาจทำให้ทุนสำรองหยวนที่รัสเซียถืออยู่มีมูลค่าลดลงได้อย่างรวดเร็วในกรณีที่มันเกิดขึ้นอีกครั้ง