นายกฯ ไทยที่มีอายุการทำงาน ''สั้นและยาวที่สุด''
อีกประมาณ 2 เดือนข้างหน้าจะเข้าสู่การเลือกตั้งใหญ่ เป็นที่รู้กันว่าตามรัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติไว้ให้นายกรัฐมนตรีมีวาระในการดำรงตำแหน่งไม่ว่าจะติดต่อกันหรือไม่ แต่รวมแล้วต้องไม่เกิน 8 ปี หากย้อนดูในประวัติศาสตร์การเมืองไทย มีนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 29 คน ซึ่งแต่ละคนก็มีวาระในการดำรงตำแหน่ง และห้วงเวลาสั้น ยาว แตกต่างกันไป
แต่ถ้าพูดถึงนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในอำนาจสั้นที่สุด นั่นคือ "ทวี บุณยะเกตุ" ซึ่งอยู่ในตำแหน่งเพียง 18 วัน เป็นช่วงเวลาแสนสั้น แต่ภารกิจนั้นกลับสำคัญยิ่ง
ย้อนกลับไปเมื่อ 15 สิงหาคม 2488 สงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มเข้าสู่จุดสิ้นสุดเมื่อญี่ปุ่นประกาศตกลงยอมแพ้สงคราม นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 ได้ออก “ประกาศสันติภาพ” อันมีใจความสำคัญว่า การประกาศสงครามของไทยต่ออังกฤษและสหรัฐฯ เป็นโมฆะ ทำให้รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ลาออกตามมารยาทการเมือง
ขณะที่ต้องรอเวลาให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าเสรีไทยสายสหรัฐอเมริกา เดินทางกลับมาที่ไทยเพื่อรับตำแหน่งนายกฯ ต่อไป ทว่ามีภารกิจเร่งด่วนที่สุดของประเทศที่รอไม่ได้ คือการเจรจายุติสงครามกับอังกฤษและสหรัฐฯ จึงจำเป็นต้องตั้ง "รัฐบาลเฉพาะกิจ" เร่งจัดการเรื่องต่างๆ ช่วงรอยต่อจากภาวะสงคราม
"ทวี บุณยเกตุ" คือบุคคลที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมให้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี "ขัดตาทัพ" ด้วยความที่เป็นสมาชิกคณะราษฎรสายพลเรือน ผ่านประสบการณ์ทางการเมืองเป็นเลขา ครม.ในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม และเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ และเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดคือ นายทวี เป็นแกนนำคณะเสรีไทย ที่นายปรีดี พนมยงค์ ไว้ใจ รวมถึงเป็นที่ยอมรับของฝ่ายสัมพันธมิตร
ดังนั้นรัฐบาลของนายกฯ "ทวี บุณยเกตุ" จึงมีอายุเพียงแค่ "18 วัน" ตั้งแต่ 31 สิงหาคม-17 กันยายน 2488 ในการทำภารกิจสำคัญเร่งด่วน คือ เตรียมการเจรจายุติสถานะสงครามกับอังกฤษ และสหรัฐฯ พร้อมปูทางให้ไทยสมัครเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ รวมถึงเปลี่ยนชื่อประเทศจาก “ไทยแลนด์” กลับมาใช้ชื่อ “สยาม” และยุบตำแหน่ง “ที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน” เพื่อลดเกียรติภูมิของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ตัดสินใจให้ความร่วมมือกับกองทัพญี่ปุ่นก่อนหน้านั้น
กระทั่ง ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เดินทางกลับถึงไทย วันที่ 17 กันยายน 2488 นายทวีได้นำคณะรัฐมนตรีลาออกเพื่อเปิดทางให้ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช จัดตั้งรัฐบาลตามที่ตกลงกันไว้ เป็นอันเสร็จสิ้นภารกิจของนายกรัฐมนตรีที่มีระยะเวลาอยู่ในตำแหน่งสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
เมื่อพูดถึง “นายกฯ ที่มีอายุงานสั้นที่สุด” ในมุมตรงข้าม นายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุด ต้องยกให้ "จอมพล ป. พิบูลสงคราม" ที่เป็นนายกรัฐมนตรี 2 ช่วง รวมเวลายาวนานถึง 15 ปี กับอีก 11 เดือน
