Wednesday, 21 May 2025
ค้นหา พบ 48222 ที่เกี่ยวข้อง

อดีต ผอ.TCDC เผยเหตุ ซบพรรคก้าวไกล เป็นพรรคเดียวที่เจาะปัญหาเพื่อแก้ให้ ปชช. จริงๆ

‘อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล’ อดีต ผอ.TCDC ขึ้นเวทีในนามพรรคก้าวไกล โชว์วิสัยทัศน์สร้างอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ย้ำสิ่งที่สำคัญที่สุดต้องแก้กฎหมายจำกัดเสรีภาพ

(14 มี.ค.66) โรงแรม พูลแมน คิงเพาเวอร์ ซอยรางน้ำ กทม. อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล อดีตผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ในฐานะ ‘ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกลด้านนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์’ ได้ขึ้นเวทีในเสวนา ‘อนาคตประเทศไทย Soft Power ขับเคลื่อนประเทศ?’ เพื่อแสดงวิสัยทัศน์และเสนอ 5 นโยบายสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งอภิสิทธิ์ชี้ให้เห็นความสำคัญที่รัฐบาลต้องเพิ่มงบประมาณส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ การสร้างระบบสวัสดิการที่สำหรับคนทำงานสร้างสรรค์ และแก้กฎหมายที่ปิดกั้นเสรีภาพ

อภิสิทธิ์ เริ่มต้นด้วยการบอกว่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศไทย มีขนาดเศรษฐกิจกว่า 1.2 ล้านล้านบาท หรือ 7.5% ของ GDP มีแรงงานอยู่ในอุตสาหกรรมนี้มากกว่า 9 แสนคน แต่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์กลับไม่ได้ถูกบรรจุอยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ 

“ตั้งแต่เราได้ยินคำว่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ คำว่า Soft Power ไม่ต่ำกว่า 20 ปี วันไหนที่เอกชนไปประสบความสำเร็จ เราก็หยิบเรื่องนั้นขึ้นมาพูด ขึ้นมาชมเชย หยิบมงกุฎ หยิบชฎา หยิบข้าวเหนียวมะม่วงมาชมเชย แต่ข้อเท็จจริงกว่าคนเหล่านั้นจะประสบความสำเร็จได้ ล้วนมาจากความอุตสาหะของกาย เงิน ของคนเหล่านั้น”

อภิสิทธิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า จากงบประมาณทั้งหมดของประเทศไทย 3.3 ล้านล้านบาท มีส่วนที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เพียงแค่ 8,000 กว่าล้านบาทเท่านั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงคือสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ได้งบประมาณ 310 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับ Korea Creative Content Agency (KOCCA) ของประเทศเกาหลีใต้ ได้งบประมาณในปีที่แล้วถึง 22,000 ล้านบาท ซึ่งแตกต่างกันอย่างลิบลับ ดังนั้นพรรคก้าวไกลจึงเสนอนโยบาย 5 มิติเพื่อสร้างอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ขึ้นในประเทศไทย

เรื่องแรก พรรคก้าวไกลจะเสนอให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์เป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ พร้อมๆ กับที่เราต้องส่งเสริมอุตสาหกรรมอื่นๆ เรามีสถาบันการศึกษาที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้ 130 แห่ง มีธุรกิจที่จดทะเบียนในระบบมากกว่า 82,072 ราย เราต้องรื้อระบบโครงสร้างงบประมาณใหม่ เพราะโครงสร้างงบประมาณเดิมยิ่งสร้างปัญหา ไม่แหลมคมพอ กระจัดกระจาย รวมทั้งระบบการจัดซื้อในรัฐบาลต้องเปลี่ยนใหม่ เพื่อพุ่งเป้าไปสร้างอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มากขึ้น

สอง พรรคก้าวไกลจะปรับระบบสวัสดิการคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ให้มีชีวิตเพิ่มมากขึ้น ให้เขาเห็นปลายแสงสว่างในชีวิตว่ามาทำอุตสาหกรรมสร้างสรรค์แล้วไม่ได้ตกทุกข์ได้ยากลำบาก เราอาจเห็นร้านอาหารที่มีชื่อ อาจเห็นชื่อเสียงของนักดนตรีไทย แต่หลังบ้านของสิ่งเหล่านั้นเป็นหลังบ้านที่น่าสงสาร

สาม พรรคก้าวไกลจะเปลี่ยนพื้นที่บางพื้นที่ให้เป็นพื้นที่ทดลองของคนในอุตสาหกรรมนี้ ประเทศไทยมีพื้นที่ว่างในพื้นที่ราชพัสดุ ที่ดินทหารและส่วนราชการอีกเยอะแยะที่สามารถเอามาเป็นแล็บให้พวกเขาได้ทดลอง นอกจากนี้ เราต้องทำโครงสร้างพื้นฐานทั้งหลายให้ตอบโจทย์ เช่น เสนอคูปองให้พัฒนาความรู้ เพื่อนำไปบวกกับความคิดสร้างสรรค์ ไปบวกกับเทคโนโลยี ไปบวกกับทุนเดิมทางวัฒนธรรม 

สี่ พรรคก้าวไกลเสนอให้รวบรวมกองทุนต่างๆ ทำงานร่วมกันอย่างมีเอกภาพ ในวันนี้เรามีกองทุนหลายกองทุน เช่น กองทุนใน กสทช. กองทุนในกระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย กองทุนสื่อสร้างสรรค์ แต่กองทุนเหล่านี้มีวัตถุประสงค์เฉพาะของตัวเอง เราต้องปรับเนื้อหากองทุนเพื่อมาตอบโจทย์ในเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้กว้างมากขึ้น เราต้องทำกองทุนให้ตอบโจทย์ผู้สร้างสรรค์ที่หลากหลายมากขึ้น พรรคก้าวไกลเสนอให้การปรับกองทุนและเพิ่มเงินในกองทุน เพื่อทำให้กองทุนความคิดสร้างสรรค์นี้สามารถกู้ยืมได้ สามารถต่อยอดไอเดียออกมาเป็นผลงานได้

สุดท้าย สิ่งที่สำคัญที่สุดคือกฎระเบียบ และ พ.ร.บ.ต่างๆ ที่ปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ ปิดกั้นความสามารถ เช่น เรื่องกรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นในการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์เรื่องหุ่นพยนต์ 

ข้อเสนอของพรรคก้าวไกล 5 ข้อที่ว่ามา สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องมีเสรีภาพ มีสวัสดิการของคนที่ทำงานสร้างสรรค์ และที่สำคัญต้องแก้กฎหมาย

‘สุริยะ’ นัดประชุมข้าราชการระดับสูง 17 มี.ค.  โหมสะพัด!! อำลาตำแหน่ง ซบ ‘เพื่อไทย’

(14 มี.ค.66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเย็นวันที่ 13 มีนาคม ที่ผ่านมา ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงอุตสาหกรรม ทั้งปลัดกระทรวง อธิบดีกรมต่าง ๆ รองปลัดกระทรวง ผู้ตรวจราชการกระทรวง ผู้ช่วยปลัดกระทรวง และผู้อำนวยการสถาบันเครือข่ายทั้งหมดของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับแจ้งทางไลน์ว่านายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ขอนัดประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงอุตสาหกรรม เวลา 10.00-12.00 น. ของวันที่ 17 มีนาคม 2566

ครม. เคาะ!! ฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ นทท.ต่างชาติ พร้อมจัดเก็บค่าวัคซีนเป็นรายได้แผ่นดิน

(14 มี.ค.66) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ (คกง.) ภายใต้พระราชกำหนดเงินกู้ฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ให้กรมควบคุมโรคเปลี่ยนแปลงรายละเอียด ซึ่งเป็นสาระสำคัญของโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด19) สำหรับบริการประชากรในประเทศไทยจำนวน 60 ล้านโดส (AstraZeneca) ปี พ.ศ. 2565 โดยการปรับลดราคาวัคซีนตามโครงการเหลือ 5 ดอลลาร์สหรัฐต่อโดส ส่งผลให้วงเงินตามโครงการลดลงเหลือ 18,382.46 ล้านบาท (เดิม 18,639.10 ล้านบาท) และปรับเพิ่มกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นกลุ่มเป้าหมายตามโครงการด้วย

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า รวมถึงเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการจัดหาวัคซีนโควิด-19 สำหรับประชากรในประเทศไทยจำนวน 30 ล้านโดส (Pfizer) ปี พ.ศ. 2565 โดยปรับเพิ่มกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นกลุ่มเป้าหมายตามโครงการ และขยายระยะเวลาดำเนินโครงการจากสิ้นสุด ธ.ค. 65 เป็น ก.ย. 66

‘สตรีสามจังหวัดชายแดนใต้’ ร่วมโครงการ 'WE Achieve' พัฒนาศักยภาพ ก้าวข้ามข้อจำกัด ยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง

(14 มี.ค. 66) สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อทุกชีวิตทั่วโลก รวมถึงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ การปิดประเทศและการเลิกจ้างงานในช่วงโควิด ทำให้หลายครอบครัวที่เคยพึ่งพารายได้จากสมาชิกที่ย้ายไปทำงานในประเทศมาเลเซียต้องขาดรายได้ และขาดความมั่นคงทางการเงิน

กลุ่มเยาวชนและสตรีก็ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เงื่อนไขทางสังคมวัฒนธรรมที่จำกัดงานบางประเภท เช่น งานก่อสร้างและงานด้านเทคนิคไว้เฉพาะผู้ชาย นับเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาทักษะและรายได้ของผู้หญิงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้

รายงานหลายฉบับชี้ให้เห็นว่า ผู้หญิงมีความเสี่ยงต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจของโควิด-19 มากกว่าผู้ชายถึง 1.8 เท่า (McKinsey, 2020) เนื่องจากมีอัตราการว่างงานที่สูงกว่า และมีภาระที่เพิ่มขึ้นจากการที่ต้องดูแลลูกและทำงานบ้าน

มูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (ประเทศไทย) จึงร่วมมือกับบริษัท Avery Dennison ในโครงการ WE Achieve ตั้งแต่ปี 2565 เพื่อเข้ามาสนับสนุนห้องสำหรับปั๊มนมแม่และดูแลเด็กเล็ก อุปกรณ์เบื้องต้นสำหรับเด็ก รวมไปถึงสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการฝากเลี้ยง กรณีที่ลูกไม่มีผู้ดูแลระหว่างมาเรียน

โครงการ WE Achieve เป็นส่วนหนึ่งของโครงการส่งเสริมอาชีพและทักษะชีวิตเยาวชน เพื่อเสริมสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ (USAID Achieve) สนับสนุนโดยองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) ตั้งแต่ปี 2561 เพื่อสร้างโอกาสทางอาชีพ เสริมพลัง และสร้างคุณค่าในตัวเองผ่านการพัฒนาทักษะชีวิตของเยาวชน ซึ่งมีภูมิหลังที่แตกต่างให้สามารถอยู่ร่วมกัน

โดยมูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (ประเทศไทย) ร่วมมือกับ THE LOOKER สถาบันอาชีวะและสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานในจังหวัดปัตตานี จัดอบรมวิชาชีพให้เยาวชน เช่น สาขาการทำอาหาร สาขาตัดเย็บเสื้อผ้าบุรุษ และสาขาทาสีและปูกระเบื้อง รวมถึงให้ความรู้ด้านทักษะชีวิต การเงิน และการทำธุรกิจขนาดเล็ก ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 500 คน โดยมากกว่าร้อยละ 85 ของผู้เข้าร่วมเป็นผู้หญิง

“การเสริมพลังให้ผู้หญิงเป็นสิ่งหนึ่งที่ Avery Dennison ให้ความสำคัญมาก เพราะนำมาซึ่งโอกาสที่ผู้หญิงจะได้พัฒนาชีวิตของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงที่เข้าไม่ถึงโอกาสในทักษะวิชาชีพที่ตรงกับตลาดแรงงาน”

“ในโครงการของมูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (ประเทศไทย) นั้น เราทราบว่าเยาวชนหญิงและคุณแม่อายุน้อยในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนต้องพบกับความท้าทายหลายอย่าง และมีข้อจำกัดในการเข้าถึงการศึกษาและวิชาชีพ เราจึงเข้ามาสนับสนุนในด้านนี้เพื่อมอบโอกาสให้พวกเธอได้ต่อยอดในอนาคต” นายภูวดล วงศ์แสงทรัพย์ ผู้จัดการโรงงาน บริษัท เอเวอรี่ เดนนิสสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว

จากการพูดคุยกับ 4 เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ WE Achieve ‘ฮัซนี อาแว’ และ ‘อักรัน สาแม’ คู่สามี-ภรรยา หนุ่มสาวที่เพิ่งแต่งงานใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน ฮัซนี แม่บ้านวัย 20 ปี ได้ยินคำบอกเล่าจากญาติที่เคยเข้าร่วมโครงการว่าสอนจริง ได้งานจริง

ฮัซนีที่เพิ่งเรียนจบชั้น ม.6 จึงไม่รอช้า รีบติดต่อขอสมัครเข้าร่วมโครงการ ด้วยความหวังว่าเธอจะมีทักษะและมีงานทำ เธอเข้าร่วมโครงการได้ไม่นานก็ชวนอักรันไปลงสมัครเรียนด้วยกัน เขาเองก็อยากพัฒนาทักษะเพื่อมาช่วยพ่อ และสร้างรายได้เพิ่มให้ครอบครัว ซึ่งอยู่รวมกันถึง 9 คน

คู่สามีภรรยาเล่าว่า บางครั้งเหนื่อยและแทบถอดใจอยากเลิกเรียน ด้วยระยะการเดินทางจากบ้านไปตัวเมืองปัตตานีนั้นกินเวลากว่า 2 ชั่วโมงด้วยการขี่มอเตอร์ไซค์ทั้งไปและกลับ แต่เมื่อนึกถึงโอกาสและรายได้ที่จะได้รับหากจบการศึกษาในโครงการ ทั้งฮัซนีและอักรันก็พยายามเข้าเรียนให้ครบทุกครั้ง

นอกจากหลักสูตรตัดเย็บเสื้อผ้าที่ทั้งสองได้ฝึก ฮัซนีและอักรันยังได้เรียนทักษะชีวิตด้านอื่น ๆ เช่น การออมเงิน และการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม ซึ่งเป็นทักษะที่รวมอยู่ในหลักสูตรของโครงการความฝันของฮัซนีและอักรันคือการมีร้านรับตัดเสื้อผ้าแบรนด์ของตัวเอง

ฮัซนีและสามีตั้งใจจะตั้งชื่อแบรนด์ว่า ‘Anakees’ ตามชื่อร้านเดิมของพ่ออักรัน ทั้งคู่เชื่อว่า หากมีร้านออนไลน์จะช่วยขยายฐานกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น และสามารถสร้างอาชีพกระจายรายได้ไปยังช่างตัดเย็บมีฝีมือคนอื่น ๆ ในชุมชนได้อีก

‘คอดีเยาะห์ ฮะซา’ คุณแม่วัย 25 ปี เป็นอีกหนึ่งคนที่ได้เข้าร่วมโครงการ WE Achieve ในสาขาอาหารและการบริการ คอดีเยาะห์เลี้ยงลูกอยู่ที่บ้าน ส่วนสามีรับงานกรีดยางที่รัฐกลันตันในมาเลเซีย ลำพังงานกรีดยางไม่พอเลี้ยงครอบครัวที่มีลูกอีก 2 คน

“สามีไปเจอโครงการในเฟซบุ๊กเลยถามเราว่าสนใจไหม ตอนนั้นเราเข้าไปดูในเพจก็เห็นมีผู้หญิงเรียนช่างไฟ รู้สึกว่าน่าสนใจ เลยลองเข้าไปดู อยากหาประสบการณ์มาต่อยอดให้ตัวเอง ทำอะไรที่บ้าน แค่สามีหาเงินคนเดียว ลูกของเราโตขึ้นคงไม่พอ ถ้าเราไม่ทำอะไรเลยคงไม่ได้” คอดีเยาะห์ เล่า

จากที่เคยเลี้ยงลูกเอง เธอต้องฝากลูกไว้กับพี่สาวและจ้างคนมาช่วยดูแล การสนับสนุนเรื่องค่าเดินทางจากบ้านไปเรียนในตัวเมืองปัตตานีและค่าเลี้ยงดูลูกบางส่วนช่วยแบ่งเบาภาระของเธอได้มาก แม้ช่วงที่เรียนจะค่อนข้างหนักสำหรับแม่ที่มีลูกเล็ก แต่คอดิเยาะห์ตั้งใจเรียนจนจบ

ปัจจุบันเธอนำความรู้ที่ได้จากห้องเรียนมาทดลองทำซาโมซาส่งขายในชุมชน แม้รายได้จะยังไม่มาก แต่นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เธอภูมิใจในตัวเองที่เลี้ยงลูกได้แม้สามีไม่อยู่ และยังเริ่มต้นหารายได้เสริมให้ครอบครัว ลูกของเธอเองก็ชอบซาโมซาและมักขอให้เธอทำให้กินบ่อยครั้ง

‘นูรีฮัน หะ’ เป็นอีกคนที่เข้าเรียนในสาขาอาหารและการบริการ เธอเป็นลูกคนที่สองของพี่น้องทั้งหมด 5 คน สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้นูรีฮันซึ่งตอนนั้นกำลังเรียนคณะศึกษาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยในอินโดนีเซียต้องเดินทางกลับไทย

“พ่อทำงานเป็น รปภ. อยู่หาดใหญ่ แม่อยู่บ้าน พี่ชายผ่อนรถ และมีลูกที่ดูแล 2 คน อยากให้พ่อหยุดทำงานมาอยู่บ้าน แต่ตอนนี้ยังไม่ลงตัว ครอบครัวยังต้องเช่าบ้าน ต้องผ่อนมอเตอร์ไซค์อยู่” นูรีฮันบอกเล่า

นูรีฮันใช้เวลาสมัครเข้าร่วมโครงการถึงสองหนกว่าจะได้รับคัดเลือก เธอเล่าว่าตื่นเต้นมาก เพราะชื่อของเธออยู่ในลำดับสุดท้ายของคนที่ได้รับคัดเลือก ไม่เพียงแต่รายการอาหารใหม่ ๆ ที่นูรีฮันฝึกหัด โครงการ WE Achieve ยังสอนทักษะการทำธุรกิจ ทั้งการคำนวณต้นทุน กำไร การจัดการเงิน ซึ่งจำเป็นต่อการต่อยอดทางธุรกิจของผู้เรียนต่อไป

“เขาจะสอนให้เราคิดว่าทำขนมแต่ละครั้งมีต้นทุน กำไร ค่าแรงของเราเท่าไหร่ ขายของแต่ละครั้งมีกำไรเท่าไหร่ ซึ่งมีประโยชน์มาก เราจะได้จัดการระบบของเราได้ ถ้าเราไม่รู้เรื่องการเงิน เราจะขายไปอย่างเดียวโดยไม่รู้ว่าเงินต้นทุน กำไร ค่าแรงอยู่ไหน” นูรีฮันบอกเล่า

หลังเรียนจบ นูรีฮันขายบราวนี่ออนไลน์ ทำคัพเค้กให้งานแต่งงาน รวมถึงรับออเดอร์ขนมจากเพื่อนและคนรู้จัก นูรีฮันค่อย ๆ ก้าวเข้าใกล้ความฝันมากขึ้น หลังแผนธุรกิจของเธอได้รับเลือกให้รับเงินทุนสนับสนุนจากโครงการ WE Achieve ให้นำไปต่อยอดธุรกิจ

“โครงการนี้เป็นเหมือนแรงผลักดันให้เราอยากไปต่อ เราสามารถเรียนไปทำไปได้ ไม่ต้องซื้อวัตถุดิบมาทำเอง ไม่ต้องเตรียมอะไร แค่เตรียมตัวเตรียมใจมาตั้งใจเรียนอย่างเดียว แต่ก่อนไม่กล้าคิดจะเปิดร้านส่วนตัวเพราะเงินไม่อำนวย แต่พอมาโครงการนี้ก็เริ่มมีความหวังว่าจะเปิดร้านได้” นูรีฮันปิดท้ายด้วยแววตาสดใสและมีความหวัง

‘ในหลวง’ ทรงมีพระราชสาส์นแสดงความยินดี ‘สี จิ้นผิง’ ในโอกาสเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน สมัยที่ 3

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ส่งข้อความพระราชสาส์นแสดงความยินดีไปยัง นายสี จิ้นผิง (Mr. Xi Jinping) ในโอกาสเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน สมัยที่ 3 เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 ความว่า

ฯพณฯ นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน กรุงปักกิ่ง 

ในโอกาสอันสำคัญที่ท่านเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐ ประชาชนจีนอีกวาระหนึ่ง ข้าพเจ้าในนามของประชาชนชาวไทย ขอแสดงความยินดีด้วยใจจริง และขออำนวยพรให้ท่านประธานาธิบดีประสบความสำเร็จในภาระหน้าที่ความรับผิดชอบ  และภารกิจแห่งรัฐทุกประการ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top