อดีต ผอ.TCDC เผยเหตุ ซบพรรคก้าวไกล เป็นพรรคเดียวที่เจาะปัญหาเพื่อแก้ให้ ปชช. จริงๆ

‘อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล’ อดีต ผอ.TCDC ขึ้นเวทีในนามพรรคก้าวไกล โชว์วิสัยทัศน์สร้างอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ย้ำสิ่งที่สำคัญที่สุดต้องแก้กฎหมายจำกัดเสรีภาพ

(14 มี.ค.66) โรงแรม พูลแมน คิงเพาเวอร์ ซอยรางน้ำ กทม. อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล อดีตผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ในฐานะ ‘ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกลด้านนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์’ ได้ขึ้นเวทีในเสวนา ‘อนาคตประเทศไทย Soft Power ขับเคลื่อนประเทศ?’ เพื่อแสดงวิสัยทัศน์และเสนอ 5 นโยบายสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งอภิสิทธิ์ชี้ให้เห็นความสำคัญที่รัฐบาลต้องเพิ่มงบประมาณส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ การสร้างระบบสวัสดิการที่สำหรับคนทำงานสร้างสรรค์ และแก้กฎหมายที่ปิดกั้นเสรีภาพ

อภิสิทธิ์ เริ่มต้นด้วยการบอกว่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศไทย มีขนาดเศรษฐกิจกว่า 1.2 ล้านล้านบาท หรือ 7.5% ของ GDP มีแรงงานอยู่ในอุตสาหกรรมนี้มากกว่า 9 แสนคน แต่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์กลับไม่ได้ถูกบรรจุอยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ 

“ตั้งแต่เราได้ยินคำว่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ คำว่า Soft Power ไม่ต่ำกว่า 20 ปี วันไหนที่เอกชนไปประสบความสำเร็จ เราก็หยิบเรื่องนั้นขึ้นมาพูด ขึ้นมาชมเชย หยิบมงกุฎ หยิบชฎา หยิบข้าวเหนียวมะม่วงมาชมเชย แต่ข้อเท็จจริงกว่าคนเหล่านั้นจะประสบความสำเร็จได้ ล้วนมาจากความอุตสาหะของกาย เงิน ของคนเหล่านั้น”

อภิสิทธิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า จากงบประมาณทั้งหมดของประเทศไทย 3.3 ล้านล้านบาท มีส่วนที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เพียงแค่ 8,000 กว่าล้านบาทเท่านั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงคือสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ได้งบประมาณ 310 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับ Korea Creative Content Agency (KOCCA) ของประเทศเกาหลีใต้ ได้งบประมาณในปีที่แล้วถึง 22,000 ล้านบาท ซึ่งแตกต่างกันอย่างลิบลับ ดังนั้นพรรคก้าวไกลจึงเสนอนโยบาย 5 มิติเพื่อสร้างอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ขึ้นในประเทศไทย

เรื่องแรก พรรคก้าวไกลจะเสนอให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์เป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ พร้อมๆ กับที่เราต้องส่งเสริมอุตสาหกรรมอื่นๆ เรามีสถาบันการศึกษาที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้ 130 แห่ง มีธุรกิจที่จดทะเบียนในระบบมากกว่า 82,072 ราย เราต้องรื้อระบบโครงสร้างงบประมาณใหม่ เพราะโครงสร้างงบประมาณเดิมยิ่งสร้างปัญหา ไม่แหลมคมพอ กระจัดกระจาย รวมทั้งระบบการจัดซื้อในรัฐบาลต้องเปลี่ยนใหม่ เพื่อพุ่งเป้าไปสร้างอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มากขึ้น

สอง พรรคก้าวไกลจะปรับระบบสวัสดิการคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ให้มีชีวิตเพิ่มมากขึ้น ให้เขาเห็นปลายแสงสว่างในชีวิตว่ามาทำอุตสาหกรรมสร้างสรรค์แล้วไม่ได้ตกทุกข์ได้ยากลำบาก เราอาจเห็นร้านอาหารที่มีชื่อ อาจเห็นชื่อเสียงของนักดนตรีไทย แต่หลังบ้านของสิ่งเหล่านั้นเป็นหลังบ้านที่น่าสงสาร

สาม พรรคก้าวไกลจะเปลี่ยนพื้นที่บางพื้นที่ให้เป็นพื้นที่ทดลองของคนในอุตสาหกรรมนี้ ประเทศไทยมีพื้นที่ว่างในพื้นที่ราชพัสดุ ที่ดินทหารและส่วนราชการอีกเยอะแยะที่สามารถเอามาเป็นแล็บให้พวกเขาได้ทดลอง นอกจากนี้ เราต้องทำโครงสร้างพื้นฐานทั้งหลายให้ตอบโจทย์ เช่น เสนอคูปองให้พัฒนาความรู้ เพื่อนำไปบวกกับความคิดสร้างสรรค์ ไปบวกกับเทคโนโลยี ไปบวกกับทุนเดิมทางวัฒนธรรม 

สี่ พรรคก้าวไกลเสนอให้รวบรวมกองทุนต่างๆ ทำงานร่วมกันอย่างมีเอกภาพ ในวันนี้เรามีกองทุนหลายกองทุน เช่น กองทุนใน กสทช. กองทุนในกระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย กองทุนสื่อสร้างสรรค์ แต่กองทุนเหล่านี้มีวัตถุประสงค์เฉพาะของตัวเอง เราต้องปรับเนื้อหากองทุนเพื่อมาตอบโจทย์ในเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้กว้างมากขึ้น เราต้องทำกองทุนให้ตอบโจทย์ผู้สร้างสรรค์ที่หลากหลายมากขึ้น พรรคก้าวไกลเสนอให้การปรับกองทุนและเพิ่มเงินในกองทุน เพื่อทำให้กองทุนความคิดสร้างสรรค์นี้สามารถกู้ยืมได้ สามารถต่อยอดไอเดียออกมาเป็นผลงานได้

สุดท้าย สิ่งที่สำคัญที่สุดคือกฎระเบียบ และ พ.ร.บ.ต่างๆ ที่ปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ ปิดกั้นความสามารถ เช่น เรื่องกรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นในการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์เรื่องหุ่นพยนต์ 

ข้อเสนอของพรรคก้าวไกล 5 ข้อที่ว่ามา สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องมีเสรีภาพ มีสวัสดิการของคนที่ทำงานสร้างสรรค์ และที่สำคัญต้องแก้กฎหมาย

ทั้งนี้ อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล เป็นที่รู้จักในฐานะผู้บริหารองค์กรด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ในอดีตเคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารองค์การมหาชนหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นอดีต ผอ.สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA), อดีตผอ.ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ปัจจุบันเป็นดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการสำนักการตลาด กรุงเทพมหานคร

สาเหตุที่ร่วมงานกับพรรคก้าวไกล อภิสิทธิ์กล่าวว่าตนได้ติดตามพรรคก้าวไกลมาตลอด 4 ปี ทำให้เห็นว่าพรรคก้าวไกลเป็นพรรคที่เห็นผลงานรูปธรรมและที่สำคัญคือมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเพื่อเปิดโอกาสให้สิทธิคนตัวเล็กสามารถมีศักยภาพในการสร้างสรรค์ได้เทียบเท่ากลุ่มทุนขนาดใหญ่ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือกฎหมายสุราก้าวหน้า

อภิสิทธิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลอดเวลาที่ทำงานในฐานะผู้บริหารองค์การมหาชนที่ต้องไปของบประมาณในสภา พรรคก้าวไกลเป็นพรรคการเมืองเดียวที่ตั้งคำถามไม่เหมือน ส.ส.พรรคอื่น ที่มักถามรายชิ้นว่าทำไมอะไรแพง อะไรถูก แต่พรรคก้าวไกลถามตรงประเด็นไปที่เนื้องานโครงการ และ impact ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนจริงๆ นอกจากนี้ ในการเสนอนโยบาย พรรคก้าวไกลพูดเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ชัดเจนที่สุด ทุกพรรคพูดเรื่องนี้แต่ไม่บอกว่าทำอะไร แต่นโยบายพรรคก้าวไกลมีรายละเอียดพอสมควร

“ผมใช้เวลาตัดสินใจไม่นานในการเข้าร่วมกับพรรคก้าวไกล เพราะเคยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เคยเป็นผอ.สำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ก็เป็นเพียงคนปฏิบัติตามนโยบาย แต่ถ้าเราได้ทำงานระดับนโยบาย ผมเชื่อว่าเราจะเห็น impact มากขึ้น เช่น การแก้กฎหมาย พ.ร.บ.เซ็นเซอร์ภาพยนตร์ ที่การทำสิ่งเหล่านี้ในระดับปฏิบัติแก้ไขไม่ได้ ผมเชื่อว่าพรรคก้าวไกลคือคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับการสร้างอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย” อภิสิทธิ์กล่าว