Tuesday, 29 April 2025
ค้นหา พบ 47725 ที่เกี่ยวข้อง

พลิกปูมตำนานชุดนักเรียนญี่ปุ่น เบื้องหลังแฟชั่นสุดคาวาอี้ ที่นักเรียนทั่วโลกใฝ่ฝัน

หากจะนึกถึงชุดนักเรียน ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนแรงอยู่ในขณะนี้ ชุดนักเรียนญี่ปุ่นต้องติดโผเป็นต้นแบบชุดนักเรียนในฝันของใครหลาย ๆ คน เนื่องจากมีความน่ารัก มุ้งมิ้ง คิขุ คาวาอี้ ที่แม้แต่คนวัยเกินเกณฑ์รั้วโรงเรียนเห็นแล้วยังอยากลองใส่ดูมั่ง ถ้าไม่เกรงใจโลก

แต่ทราบหรือไม่ว่า เบื้องหลังเรื่องราวของชุดนักเรียนญี่ปุ่น กว่าที่จะมาเป็นรูปแบบในปัจจุบันได้ ผ่านช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยในญี่ปุ่นมาแล้วมากมาย

ตั้งแต่การปฏิรูปประเทศ ปฏิวัติอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ สังคม สงครามโลก ขบถความคิดของเหล่าบุปผาชน ที่สะท้อนผ่านรูปแบบของชุดนักเรียนญี่ปุ่น จากรุ่นสู่รุ่นได้อย่างน่าทึ่ง และวันนี้ เรามาพลิกปูมตำนานกว่า 150 ปี ของชุดนักเรียนญี่ปุ่นกันดีกว่า

ประวัติความเป็นมาของต้นกำเนิดชุดนักเรียนญี่ปุ่น สามารถย้อนไกลได้ถึงสมัยเมจิ (ค.ศ. 1868 - 1912)  เป็นช่วงที่คนญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมตะวันตกอย่างมาก จนกลายเป็นกระแสนิยม หลังจากที่ญี่ปุ่นปิดประเทศนานถึง 220 ในสมัยเอโดะ ภายใต้การปกครองในระบอบโชกุนตระกูลโทกุกาวะ

ก่อนสมัยเมจิ ญี่ปุ่นไม่เคยมีกำหนดชุดเครื่องแบบนักเรียนมาก่อน และโอกาสด้านการศึกษาก็จะจำกัดอยู่แต่ในกลุ่มราชสำนัก ขุนนางชั้นปกครอง ซามุไร ซึ่งในสมัยนั้น นักเรียนชายจะสวมชุดแบบญี่ปุ่น สวมกางเกงฮากามะ ที่เป็นเหมือนชุดจำลองของชนชั้นซามุไร ส่วนนักเรียนหญิงจะสวมกิโมโนไปโรงเรียน

แต่รูปแบบการแต่งกายของชนชั้นปกครองญี่ปุ่นเริ่มเปลี่ยนไป ตั้งแต่การมาถึงของเรือดำ ของกองทัพเรือสหรัฐที่นำโดย พลเรือจัตวา แมทธิว แพร์รี่ ในปี ค.ศ. 1854 ที่บังคับให้ญี่ปุ่นต้องยอมเปิดประเทศเพื่อติดต่อค้าขายกับชาติตะวันตก และนำไปสู่การปฏิรูปเมจิ รื้อถอนระบอบโชกุน ฟื้นฟูพระราชอำนาจให้แก่สมเด็จพระจักรพรรดิเมจิในปีค.ศ. 1868 ในเวลาต่อมา

.

และในยุคสมัยเมจินี่เอง ที่วัฒนธรรมของชาติตะวันตก หลั่งไหลเข้าไปในญี่ปุ่นอย่างมากมายราวทำนบแตก ที่สะท้อนผ่านเครื่องแต่งกายของข้าราชสำนัก และผู้นำชั้นปกครอง ที่เริ่มเปลี่ยนเครื่องแบบจากแบบญี่ปุ่นดั้งเดิมกลายเป็นสไตล์ตะวันตก และยังส่งผลต่อแนวคิดการออกแบบชุดนักเรียนของญี่ปุ่น ที่เริ่มมีการกำหนดมาตรฐานของชุดนักเรียนเป็นครั้งแรกในสมัยนี้เช่นกัน

ซึ่งโรงเรียนนำร่องแห่งแรกที่มีข้อกำหนดให้ใช้ชุดนักเรียนแบบมาตรฐานคือ โรงเรียนกักคุชูอิน ที่เป็นโรงเรียนชั้นสูงสำหรับลูกหลานชาววัง และข้าราชการระดับสูง ในปี 1879

ชุดนักเรียนญี่ปุ่นในยุคแรก มีต้นแบบมาจากเครื่องแบบทหารตะวันตก ชุดนักเรียนชายจะเป็นเสื้อแขนยาวสีดำ ปกตั้ง ติดกระดุมหน้าทำด้วยโลหะ กางเกงขายาวสีดำ สวมหมวกแก๊บ ที่ชาวญี่ปุ่นเรียกว่า กะคุรัน  (学ラン) ที่แปลว่าชุดนักเรียนแบบตะวันตก

ซึ่งชุดกะคุรัน เป็นชุดนักเรียนที่ตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน และกลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของเครื่องแบบนักเรียนญี่ปุ่น และยังมีใช้ในบางโรงเรียนที่จีน และ เกาหลีใต้อีกด้วย

ส่วนนักเรียนหญิง ไม่ได้ใส่กะคุรัน แต่จะสวมเสื้อแบบกิโมโน แต่ทับด้วยกางเกงฮากามะ แบบผู้ชายแต่ปรับรูปแบบสีสันให้สวยงาม และสวมรองเท้าบูทหนัง ทั้งนี้เพราะมีการบรรจุวิชาพลศึกษา เป็นวิชาภาคบังคับทั้งชาย-หญิง และการสวมกางเกงก็ช่วยให้นักเรียนหญิงสามารถเรียนวิชาพละได้อย่างคล่องตัวกว่าชุดกิโมโนแบบเก่า

แต่ชุดนักเรียนสมัยแรกมีราคาแพงมาก ที่ครอบครัวชั้นสูง ที่มีฐานะดีเท่านั้น ถึงสามารถซื้อเครื่องแบบเหล่านี้ให้บุตรหลานได้โดยไม่เดือดร้อน

หลังจากสิ้นสุดยุคเมจิ เข้าสู่ยุคไทโช (ค.ศ.1912 - ค.ศ.1926) เป็นช่วงที่โลกเข้าสู่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 รูปแบบชุดนักเรียนญี่ปุ่นก็ยังคงได้รับอิทธิพลมาจากชุดทหารตะวันตก และเริ่มมีหลักสูตรฝึกทหารสำหรับสตรีชาวญี่ปุ่น จึงมีการปรับเครื่องแบบนักเรียนหญิงให้เข้ากับยุคสมัยโดยใช้รูปแบบของชุดของทหารเรือมาใช้ ที่เรียกว่า "เซย์ฟุคุ" (制服)

.

และโรงเรียนที่ใช้ชุดนักเรียนทรงทหารเรือเป็นที่แรกของญี่ปุ่นคือ วิทยาลัยสตรีฟุกุโอกะ ต้นกำเนิดไอเดียเป็นของอลิซเบธ ลี ครูใหญ่ของโรงเรียน ที่เห็นว่าชุดนักเรียนหญิงแบบเก่าที่สวมกางเกงฮากามะทับกิโมโน ร้อนเกินไปสำหรับช่วงหน้าร้อน จึงออกแบบชุดใหม่ให้กับนักเรียนโดยใช้เครื่องแบบทหารเรือของราชนาวีอังกฤษเป็นต้นแบบ กับกระโปรงแบบตะวันตกเข้าชุดกัน

และก็ได้รับความนิยมแพร่หลายมาก เนื่องจากชุดทรงทหารเรือ มีความน่ารัก เรียบร้อย ภูมิฐาน และตัดเย็บง่าย ราคาถูกกว่าชุดแบบดั้งเดิม เนื่องจากการเติบโตของอุตสาหกรรมสิ่งทอของญี่ปุ่นในยุคนี้ ที่ทำให้เครื่องแต่งกายมีราคาถูกลง ผู้คนจับต้องง่ายขึ้น

จนมาถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะสงคราม ข้าวยากหมากแพง นักเรียนจำนวนมากต้องออกจากโรงเรียนมาทำงานช่วยครอบครัว โดยเฉพาะนักเรียนหญิงที่ต้องรับหน้าที่มากขึ้น เครื่องแบบนักเรียนยุคนี้จึงต้องปรับเปลี่ยน อนุญาตให้นักเรียนหญิงสวมกางเกงขายาวแทนกระโปรงมาเรียนได้ ความน่ารักสดใสในเครื่องแบบอาจหายไป แต่ก็สะท้อนความยากเข็ญของสังคมในยุคสงครามได้เป็นอย่างดี

.

เมื่อหลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านพ้นไปหลายสิบปี และเข้าสู่ยุคเสรีนิยมแบบตะวันตก ตามรูปแบบการปกครองแบบใหม่ที่สหรัฐอเมริกาเข้ามาวางกรอบให้ เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวบนพื้นฐานการแข่งขันแบบทุนนิยม ที่เกิดช่องว่างระหว่างชนชั้นในเชิงเศรษฐกิจมากขึ้น จึงเกิดการแพร่หลายของแนวคิดเสรีชน ต่อต้านกรอบสังคมแบบเก่าของกลุ่มบุปผาชนสายขบถในญี่ปุ่น ที่เรียกว่ากลุ่มสุเคบัน แยงกี้ ที่เป็นการรวมกลุ่มนักเรียนต่อต้านสังคม และแสดงออกด้วยการเอาชุดนักเรียนมาดัดแปลงตามใจฉัน สวมเสื้อสั้นเต่อ กระโปรงยาวลากพื้น หรือกางเกงทรงสุ่ม ย้อมสีผม  เป็นเชิงสัญลักษณ์ของการแหกจารีตของสังคม

.

แต่เมื่อเวลาผ่านไป ประเทศญี่ปุ่นพัฒนาจนกลายเป็นหนึ่งในประเทศแถวหน้าของโลก และมีมาตรฐานการศึกษาที่ดีเยี่ยม เข้าถึงทุกพื้นที่ ดังนั้นการแข่งขันจึงกลายเป็นระดับโรงเรียนด้วยกัน โดยการออกแบบชุดให้มีความทันสมัย จากชุดเสื้อกะลาสี ผูกโบว์แดง หรือกะคุรันแบบเก่า ก็เริ่มเป็นชุดเสื้อเชิ้ต ผูกเนคไทด์ สวมทับด้วยสูทแบบตะวันตก หรือชุดเอี๊ยมผูกโบว์ เพื่อดึงดูดนักเรียนให้เข้ามาสมัครเรียน เพราะชอบชุดก็มีไม่น้อย

.

จึงทำให้เกิดเป็นแฟชั่นชุดนักเรียน หลากหลายรูปแบบ สดใส คาวาอี้ ที่ทำให้เด็กนักเรียนทั่วโลกชื่นชอบในวัฒนธรรมชุดนักเรียนของญี่ปุ่น และนำมาแต่งเล่นเป็นชุดคอสเพลย์กันอย่างสนุกสนาน

และนี่ก็คือความเป็นมาของชุดนักเรียนญี่ปุ่น ที่อยู่คู่กับนักเรียนญี่ปุ่นมานานกว่า 150 ปี และยังคงอยู่ตลอดไป อย่างไม่จำกัดรูปแบบ และพร้อมเปลี่ยนแปลงได้เสมอ


แหล่งข้อมูล

https://www.nippon.com/en/column/g00554/

https://learnjapanese123.com/japanese-school-uniforms/

https://seifuku.neocities.org/index_e.html

https://medium.com/@katier.jiang/development-and-evolution-of-japanese-school-uniform-12bf9c7856af

https://jpninfo.com/64959

https://medium.com/@katier.jiang/development-and-evolution-of-japanese-school-uniform-12bf9c7856af

"MTL – BDMS - Pfizer" ผนึกกำลังยกระดับสิทธิประโยชน์ เสิร์ฟลูกค้าไทยประกัน 4 ล้านราย

ถ้าจะทำธุรกิจแบบเดินเดี่ยว (Stand Alone) สายป่านไม่ดีจริง หรือฐานลูกค้าไม่ภักดีจริง อาจจะเหนื่อยนักในยุคนี้ แม้แต่จะเป็นธุรกิจใหญ่ก็ตาม

ดังนั้น ในช่วงที่ผ่านมา การจับมือกันทางธุรกิจ จึงเกิดขึ้นบ่อยๆ โดยเฉพาะจับกับแบบ "ข้ามธุรกิจ" แล้วเอาความเชี่ยวชาญของแต่ละธุรกิจเข้ามาเสริมความแข็งแกร่ง เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่

ล่าสุด 3 บริษัทใหญ่อย่าง บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ MTL ร่วมมือกับบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS และ บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ออกโครงการใหม่ร่วมกันโดยใช้ชื่อว่า "MTL Health Buddy"

สาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MTL เผยว่า "โครงการนี้เป็นการนำร่องเพื่อยกระดับระบบนิเวศน์ของวงการสุขภาพ (Health Ecosystem) ที่ลูกค้าของเมืองไทยฯ จะได้รับความสิทธิประโยชน์จากการที่เราได้ร่วมมือกับทั้ง BDMS และไฟเซอร์ โดยทาง BDMS จะทำหน้าที่ผู้ช่วยด้านสุขภาพ พร้อมให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพ ค้นหาศูนย์แพทย์เฉพาะทาง ค้นหาแพทย์ที่เหมาะกับโรค ทำการนัดหมาย ปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และสิทธิพิเศษอื่น ๆ ให้กับ "ลูกค้าของเมืองไทยประกันชีวิต" กว่า 4 ล้านคน"

"ขณะเดียวกัน ทาง ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จะเข้ามาเป็นอีกทางเลือกแก่ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านม ในการเข้าถึงการรักษาแบบมุ่งเป้า (Targeted Therapy) และหากได้รับผลตอบรับที่ดี หลังจากนี้จะมีการหารือถึงความเป็นไปได้ในการเตรียมขยายสิทธิประโยชน์การรักษากลุ่มโรคอื่นๆ อีกต่อไปในอนาคต เช่น โรคมะเร็งปอด มะเร็ง ลำไส้ เป็นต้น"

ด้าน พญ.ปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร กลุ่ม 1 BDMS ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในส่วนของบริษัทฯ จะให้บริการการปรึกษาแพทย์แบบ Teleconsultation ทั้งการปรึกษาปัญหาสุขภาพจากอาการป่วย หรือการวางแผนสุขภาพเชิงป้องกัน รวมไปถึงการหา Second opinion

โดยมีทีมแพทย์จากศูนย์แห่งความเป็นเลิศ Center of Excellence ในสาขาต่างๆ ร่วมให้คำปรึกษา อาทิ โรคสมอง หัวใจ มะเร็ง กระดูก หรืออุบัติเหตุ การเจ็บป่วยที่รุนแรง ฯลฯ หากเป็นผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านม จะมีการดูแลโดยทีมแพทย์ผู้ชำนาญการด้านโรคมะเร็ง พร้อมแนะนำการเลือกใช้ยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) ซึ่งได้ร่วมมือกับทางไฟเซอร์ในการให้ยามุ่งเป้าเพื่อการรักษาในระยะยาวอีกด้วย

.

ปัจจุบัน การรักษาด้วยโรคมะเร็งแบบมุ่งเป้า หรือ Targeted Therapy ในคนไข้ทั่วไป ต้องเสียค่าใช้จ่ายที่สูงมาก เฉลี่ยประมาณ 100,000 บาทต่อการรับยา 1 ครั้ง และบางคนต้องรับยาเดือนละหลายครั้ง ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ และหากการรักษายาวนานเป็นปี คนไข้ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงหลายล้านบาท

.

แต่หากลูกค้าเมืองไทยประกันชีวิต ที่มีประกันสุขภาพอีลิทเฮลท์ (Elite Health) ที่มีวงเงินความคุ้มครอง 20 - 100 ล้านบาท จะได้รับสิทธิ์ในการรักษาแบบ Targeted Therapy ทันที ส่วนลูกค้าประกันมะเร็ง (CI) อื่น ๆ แม้ไม่ได้รับสิทธิ์นี้ แต่จะได้รับสิทธิ์เป็นส่วนลดค่ายานวัตกรรมจากไฟเซอร์แทน เช่น เดือนนี้จ่าย แต่เดือนหน้าฟรีค่ายา เป็นต้น

.

Did you know

- มะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในผู้หญิง

- มะเร็งเต้านม เป็นอันดับ 2 ของยอดผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมด

- ปีค.ศ.2018 พบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมใหม่กว่า 2 ล้านคนทั่วโลก

- ยอดผู้เสียชีวิต 6.3 แสนคนทั่วโลก

- ในไทย มีผู้ป่วยมะเร็งเต้านม 1.9 หมื่นคนต่อปี

- คนไทย เสียชีวิตจากมะเร็งเต้านม 5,900 คนต่อปี

ทัพภาค 4 ระดมพล!! เร่งรุดช่วยน้ำท่วมใต้ 7 จังหวัด

จากกรณีฝนตกติดต่อกันจนถึงวันนี้ ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันใน 7 จังหวัดภาคใต้ ตั้งแต่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส

ผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลัน ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ประสบปัญหาอย่างหนัก ทาง พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) จึงได้กำชับกองทัพภาคที่ 4 จัดหน่วยช่วยดูแลประชาชนให้ปลอดภัย

และคลี่คลายสถานการณ์ตามแผนการช่วยเหลือ ร่วมกับส่วนราชการประจำจังหวัด ตามที่นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้สั่งการ โดยเฉพาะจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่มีระดับน้ำท่วมสูงเกือบทุกอำเภอ

ทั้งนี้กองทัพภาคที่ 4 ได้สำรวจเส้นทางและช่วยเหลือประชาชน โดยพลโท เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้บินสำรวจสภาพน้ำและสั่งการให้หน่วยทหารในพื้นที่ 8 ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย เข้าช่วยประชาชนเร่งด่วนให้ทันน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากฝนที่ตกหนักต่อเนื่อง และถนนเส้นทางหลักในจังหวัดนครศรีธรรมราช ถูกตัดขาด 7 สาย

โดยตั้งแต่ช่วงเมื่อวาน จนถึงวันนี้ได้ทำการเร่งอพยพประชาชนจากพื้นที่ต่าง ๆ ไปยังสถานที่ที่ทางจังหวัดเตรียมไว้ พร้อมช่วยขนย้ายสิ่งของตามบ้านเรือนโรงเรียนขึ้นที่สูง เคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเตียงไปยังโรงพยาบาล รับส่งประชาชนที่ติดค้างที่ท่าอากาศยาน โดยงานเร่งด่วนคือการจัดรถครัวสนามและเร่งอพยพผู้คนที่ยังติดค้างมายังศูนย์อพยพโดยเร็ว ซึ่งคาดว่าสถานการณ์จะคลี่คลายใน7วัน

นอกจากนี้ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันมอบอาหารเครื่องดื่มสิ่งของเครื่องใช้จำเป็นให้กับผู้อพยพที่เดินทางมาอาศัยพักพิง ณ ศูนย์อพยพชั่วคราวโรงเรียนเทศบาลวัดท่าโพธิ์ อ.เมือง ประมาณ 60 ครัวเรือน จำนวน 230 คน และคาดว่าจะมีผู้อพยพเข้ามาอีก 160 ครัวเรือนประมาณ 700 คนในเขตเทศบาล ขณะเดียวกันที่ อ.ทุ่งสง ซึ่งมีน้ำป่าไหลหลากเป็นวงกว้าง ทางกองบัญชาการช่วยรบที่ 4 ก็ได้เข้าช่วยประชาชนแล้วเช่นกัน

ในส่วนของจังหวัดสงขลา ได้มีการช่วยขนย้ายคนและสิ่งของ ทั้งนำกระสอบทรายไปแจกจ่ายให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบในเขต อ.เมือง ขณะที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี มวลน้ำหนุนเข้าท่วมในพื้นที่ ฝนยังคงตกหนักส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขัง 30 - 120 ซม. ทางกองทัพจึงได้จัดกำลังพล ยุทโธปกรณ์ ยานพาหนะ ช่วยขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง และขนย้ายปศุสัตว์ ในพื้นที่ ต.ทุ่งเตา อ.บ้านนาสาร คู่ขนานไปกับ ร.25 พัน.3 ที่ได้จัดกำลังพล ยานพาหนะ ช่วยขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง เเละอพยพประชาชนที่ ต.ท่าเคย อ.ท่าฉาง ซึ่งมวลน้ำได้เพิ่มขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว ฝนยังคงตกหนักและได้รับอิทธิพลน้ำหนุนมาจากพื้นที่ใกล้เคียง โดยคาดว่าภายใน 2 วันนี้ น้ำยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามภาพรวมในช่วงเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม ภาคใต้จะเกิดมรสุมประจำทุกปี โดยที่ผ่านมาทางกองทัพภาคที่ 4 ได้เตรียมความพร้อมบรรเทาอุทกภัย ช่วยเหลือประชาชนอย่างเป็นระบบไว้ก่อนหน้า โดยมีการแบ่งมอบพื้นที่อย่างชัดเจน รวมถึงประสานการปฏิบัติกับทางจังหวัด ทางอำเภอ ติดต่อสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลใกล้ชิด เชื่อว่า จนท.ทุกส่วนมีความพร้อมเข้าดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่

ทั้งนี้ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้สามารถขอความช่วยเหลือได้ที่ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพภาคที่ 4 หมายเลขโทรศัพท์ 075 - 383405 ตลอด 24 ชั่วโมง

อังกฤษไฟเขียววัคซีนโควิด-19 "ไฟเซอร์" พร้อมฉีดจริงสัปดาห์หน้า...เพียงพอ 20 ล้านคน

หลังการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ในปีนี้ ได้ทุบเศรษฐกิจโลกพังยับเยิน รวมถึงมีผู้สังเวยโรคร้ายดังกล่าวไปแล้วกว่า 1.5 ล้านคนทั่วโลก

นั่นจึงทำให้ผู้คนทั่วโลกต่างรอคอยวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยให้การดำเนินชีวิตกลับสู่ภาวะปกติอีกครั้ง

ปัจจุบันวัคซีนที่กำลังเป็นที่จับตาเป็นของ "ไฟเซอร์ - ไบโอเอ็นเทค" และวัคซีนจาก "โมเดอร์นา" ซึ่งเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีชีวภาพของสหรัฐฯ ได้รับการยืนยันถึงประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 สูงกว่า 90% โดยทั้ง 2 ชนิดต่างเป็นวัคซีนแบบตัดต่อสารพันธุกรรมหรือที่เรียกกันว่า RNA (mRNA)

ล่าสุดอังกฤษกลายเป็นประเทศแรกในโลกที่อนุมัติการใช้งานวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่พัฒนาโดยบริษัทเวชภัณฑ์ไฟเซอร์ (Pfizer) และ ไบโอเอ็นเทค (BioNTech)

โดยรัฐบาลอังกฤษ เห็นพ้องตามคำแนะนำจากสำนักงานกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพและยา (Medicines and Healthcare products Regulatory Agency - MHRA) และรับรองการใช้งานวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของบริษัทดังกล่าว

ด้าน แม็ตต์ แฮนค็อก รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขอังกฤษ ยอมรับว่า นี่เป็นข่าวดีมาก พร้อมประกาศว่าโครงการแจกวัคซีน โควิด-19 จะเริ่มแจกจ่ายทั่วสหราชอาณาจักรตั้งแต่ต้นสัปดาห์หน้า โดยโรงพยาบาลทั่วอังกฤษมีความพร้อมที่จะทำการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน ซึ่งเพียงพอสำหรับ 20 ล้านคน หลังจากรัฐบาลอังกฤษได้ทำสัญญาสั่งซื้อวัคซีนจากไฟเซอร์จำนวน 40 ล้านโดส

ทั้งนี้ทางคณะกรรมการด้านวัคซีนจะพิจารณาว่าคนกลุ่มใดที่จำเป็นต้องได้รับวัคซีนเป็นกลุ่มแรก ๆ ตัวอย่างเช่น ผู้ที่อาศัยอยู่ตามสถานสงเคราะห์, เจ้าหน้าที่สาธารณสุข, ผู้สูงวัย หรือผู้ที่มีความเปราะบางเป็นพิเศษ ต่อไป


ที่มา: รอยเตอร์, BBC

4 ธันวาคม..วันเสื้อกั๊กสากล

มี ‘เสื้อกั๊ก’ อยู่ในตู้เสื้อผ้ากันไหม? เอาเป็นว่า ถ้าใครที่มี วันนี้หยิบมาสวมใส่ให้เท่ๆ คูลๆ กันไปเลย เพราะวันนี้ถูกยกให้เป็น ‘วันแห่งเสื้อกั๊ก’

 

ตามประวัติศาสตร์ ‘เสื้อกั๊ก’ ถูกเผยแพร่มาตั้งแต่ราวปี ค.ศ. 1666 โดยในสมัยนั้น ผู้คนเรียกมันว่า เสื้อผ่าอกที่ผูกปมเงื่อนอย่างแน่นหนา หรือ Vest กระทั่งต่อมา รูปแบบการสวมเสื้อกั๊กไว้ใต้เสื้อคลุมก็กลายเป็นแฟชั่นอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในช่วงศตวรรษที่ 17-18 จนในที่สุด มันก็พัฒนาเป็นแอคเซสเซอรี่ชิ้นหนึ่งของการแต่งตัวในยุคปัจจุบัน

 

เหตุที่มาที่ยกให้วันนี้เป็น ‘วันเสื้อกั๊กสากล’ เกิดขึ้นจากนักข่าวคนหนึ่งที่ชื่อ แคโรลีน จอห์นสัน ที่นึกสนุกจัดเทศกาลการใส่เสื้อกั๊กขึ้นในช่วงเริ่มต้นฤดูหนาว โดยรณรงค์ให้ผู้คนใส่เสื้อกั๊กไปทำงานกัน ก่อนที่จะยกให้ทุกๆ วันที่ศุกร์ที่ 2 หลังวันขอบคุณพระเจ้า เป็นวันเสื้อกั๊กสากลในเวลาต่อมา

 

เอาเข้าจริง ช่วงนี้ทั่วโลกก็เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวกันแล้ว วันเสื้อกั๊กนี้ก็ดูจะเข้าบรรยากาศดีไม่ใช่เล่น ใส่เท่ๆ สวยๆ รับลมหนาว ก็ดูจะเข้ากั๊นเข้ากัน แต่สำหรับเมืองไทย ถ้าคุณเป็นคนทนร้อนได้ดีสักหน่อย ก็จัดเสื้อกั๊กสักตัวใส่เดินพลิ้วๆ ในวันนี้ แต่ถ้าเมื่อไรแอบร้อนขึ้นมา จะถอดออกระหว่างวัน อันนี้ก็ไม่ว่ากันหรอกนะ เอาที่สบายใจ (อิอิ)

 

อ้างอิง: https://anydayguide.com/calendar/1385


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top