Wednesday, 9 July 2025
ค้นหา พบ 49289 ที่เกี่ยวข้อง

เก็บภาษี 'อี - เซอร์วิส , เฟซบุ๊ก และกูเกิล' ดีเดย์ 1 กันยา

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ.2564 ว่าด้วยการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) กรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (อี-เซอร์วิส) โดยกำหนดให้ผู้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ รวมถึงแพลตฟอร์มออนไลน์จากต่างประเทศที่มีรายได้เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี จากการให้บริการทางออนไลน์แก่ผู้ใช้บริการในประเทศไทย ซึ่งไม่ใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มยื่นแบบแสดงรายการ และนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นรายเดือนให้กรมสรรพากรภายใต้ระบบ “ภาษีจ่าย” (pay-only) ห้ามหักภาษีซื้อ โดยไม่ต้องจัดทำใบกำกับภาษีและรายงานภาษีซื้อโดย พ.ร.บ.ฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ก.ย.2564 เป็นต้นไป 

ทั้งนี้กฎหมายดังกล่าวนั้น จะจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการที่ให้บริการ e-Service จากต่างประเทศ ได้แก่ การให้บริการดาวน์โหลด หนัง/ภาพยนตร์ เพลง เกม สติกเกอร์ นายหน้า สื่อโฆษณา เป็นต้น 

เช่นเดียวกันกับแพลตฟอร์มจากต่างประเทศที่ให้บริการในประเทศไทย เช่น Apple , Google, Facebook, Netflix, Line, Youtube Tiktok ซึ่งถือเป็นกลุ่มมีรายได้จากการให้บริการเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี 

สำหรับข้อดีของกฎหมายฉบับนี้ จะช่วยสร้างความเป็นธรรมในการเสียภาษี ระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้ประกอบการต่างประเทศ โดยเฉพาะบริการอี-เซอร์วิส อีกทั้งยังช่วยยกระดับการจัดเก็บภาษีของประเทศไทยให้ทัดเทียมนานาประเทศที่หลายประเทศก็มีการจัดเก็บภาษีบริการออนไลน์ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ไต้หวัน สิงคโปร์ และมาเลเซีย อีกทั้งยังเป็นการดำเนินการสอดรับการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล โดยคาดว่าการจัดเก็บภาษีดังกล่าว กรมสรรพากรจะจัดเก็บรายได้ปีละ 5,000 ล้านบาท

ทั้งนี้จากข้อมูลการใช้งานอินเตอร์เน็ตของประชากรไทย พบว่า ปัจจุบันมีการใช้งานและเข้าถึงอินเตอร์เน็ตมากกว่า 75% ของจำนวนประชากร ราว 69 ล้านคน ซึ่งมากกว่า 50% ใช้บริการออนไลน์ ทั้งดูหนัง ฟังเพลง เล่มเกมและใช้โซเชียลมีเดียเพิ่มสูงขึ้นทุกๆ ปี

ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า ขณะนี้กรมสรรพากรอยู่ระหว่างสร้างความรู้ ความเข้าใจกับผู้ประกอบการ เพื่อดำเนินการจ่ายภาษีให้ง่ายที่สุด และถูกต้องด้วย โดยจะเป็นการจ่ายภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด 



ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/business/finance-banking/2031664

ดร.จักษ์ พันธ์ชูเพชร โพสต์บทกลอนผ่านเฟซบุ๊ก กลอนยกย่อง รปภ.คนกล้า กรีดฝ่ายบริหาร มธ.

ดร.จักษ์ พันธ์ชูเพชร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์) โพสต์บทกลอนผ่านเฟซบุ๊ก โดยมีเนื้อหาดังนี้

มีคนฝากมา เขียนแทนใจคนไทยหลาย ๆ คน

“องค์กรใบ้ ไร้ผู้กล้า
ซุกหว่างขา ไม่กล้าสู้
ทั้งหนุ่มแก่ แค่นั่งดู
ความอดสู สู่องค์กร
หัวหน้านิ่ง ลูกน้องเงียบ
ยอมให้เหยียบ จนเรียบกร่อน
ความบรรลัย เข้าไชชอน
บทสะท้อน องค์กรทรุด
คงเหลือเพียง รปภ.
กล้าต้านต่อ จรยุทธ์
ยืนปักหลัก พิทักษ์สุด
มุ่งยื้อยุด หยุดพวกพาล
หลายคนฝาก อยากร้องขอ
รปภ. ผู้กล้าหาญ
อยากให้เป็น อธิการ
หรืออาจารย์ ฝ่ายปกครอง”

สุ่มเก็บตัวอย่างเชื้อโควิด เชื้อโควิด-19 อาจอยู่ในฝรั่งเศส ตั้งแต่ พฤศจิกายน 2019

ไม่นานมานี้ได้มีการศึกษาตัวอย่างเซรุ่มหรือน้ำเหลืองของผู้ใหญ่ชาวฝรั่งเศสกว่า 9,000 คน บ่งชี้ว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) อาจปรากฏในฝรั่งเศสครั้้งแรกสุด ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2019 เนื่องจากบางตัวอย่างที่เก็บระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2019 ถึงเดือนมกราคม 2020 มีผลตรวจแอนติบอดีต้านไวรัสฯ เป็นบวก 

การวิจัยดังกล่าวนำโดย ฟาบรีส การ์ราต์ ผู้อำนวยการสถาบันระบาดวิทยาและสาธารณสุขปีแยร์ หลุยส์ (iPLESP) และถูกตีพิมพ์ลงวารสารระบาดวิทยายุโรป (EJE) เมื่อวันที่ 6 ก.พ. ที่ผ่านมา

การศึกษาข้างต้นระบุว่าตัวอย่างเซรุ่มทั้งหมด 9,144 ตัวอย่าง ถูกเก็บระหว่างวันที่ 4 พ.ย 2019 ถึง 16 มี.ค. 2020 จากผู้อยู่อาศัยใน 12 ภูมิภาคบนแผ่นดินใหญ่ของฝรั่งเศส โดยกลุ่มผู้เข้าร่วมมีอายุเฉลี่ย 55 ปี และร้อยละ 51 เป็นผู้หญิง

“นักวิจัยได้จำแนกผู้เข้าร่วม 353 ราย ที่มีแอนติบอดีอิมมูโนโกลบูลินจี (IgG) ของไวรัสฯ เป็นบวก” และ “พบแอนติบอดีชนิดลบล้างฤทธิ์ในผู้เข้าร่วม 44 ราย”

ตัวอย่างจากผู้เข้าร่วมที่มีแอนติบอดีอิมมูโนโกลบูลินจีและแอนติบอดีชนิดลบล้างฤทธิ์ 13 ราย ถูกเก็บระหว่างวันที่ 5 พ.ย. 2019 ถึง 30 ม.ค. 2020 โดยตัวอย่างของผู้เข้าร่วมี 7 ราย ถูกเก็บในเดือนพฤศจิกายน 2019 ซึ่งนักวิจัยเชื่อว่าการศึกษานี้ชี้ว่าโรคโควิด-19 อยู่ในฝรั่งเศสมาอย่างน้อยตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2019

เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2020 โรงพยาบาลอัลเบิร์ต ชไวต์เซอร์ (Albert Schweitzer hospital) ในเมืองกอลมาร์ทางตะวันออกของฝรั่งเศส แถลงข่าวว่าคณะรังสีแพทย์ของโรงพยาบาลฯ ได้วิเคราะห์ผลสแกนทรวงอก 2,456 รายการ ที่ดำเนินการระหว่างวันที่ 1 พ.ย. 2019 ถึง 30 เม.ย. 2020 และพบว่ามีผู้ป่วยต้องสงสัยเป็นโรคโควิด-19 รายแรกสุดที่ย้อนไปถึงวันที่ 16 พ.ย. 2019

เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2020 อีฟส์ โคเฮน หัวหน้าแผนกผู้ป่วยหนักของโรงพยาบาลสองแห่งในเครือเอพี-เอชพี (AP-HP) แถลงข่าวว่าโรงพยาบาลทั้งสองแห่งได้วิเคราะห์ตัวอย่างจากผู้ป่วยโรคปอดบวม 24 ราย ระหว่างเดือนธันวาคม 2019 ถึงมกราคม 2020 และพบชายคนหนึ่งที่ถูกส่งมารักษาตัวในโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2019 มีผลตรวจโรคโควิด-19 เป็นบวก


ที่มา: https://www.naewna.com/inter/552418
 

เพนกวินติดคุกโพสต์ไม่ได้ แอดมินเพจเพนกวินโพสต์ปั่นแทน เรือนจำแจงไม่มีอภิสิทธิเหนือใคร

'ราชทัณฑ์' ระบุ ข้อความบนเฟซบุ๊ก 'เพนกวิน' เป็นการโพสต์โดยบุคคลอื่น ‘เหตุ’ ผู้ต้องขังห้ามใช้เครื่องมือสื่อสารทุกชนิด

นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ชี้แจง กรณีการโพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊กของนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน แกนนำคณะราษฎร ซึ่งถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร จนเกิดข้อสงสัยว่าเหตุใดจึงสามารถโพสต์ข้อความผ่านสื่อโซเชียลได้แม้กระทั่งถูกคุมขังอยู่ และเป็นการได้รับสิทธิพิเศษเหนือนักโทษคนอื่นหรือไม่นั้น

กรมราชทัณฑ์ ขอเรียนว่า ภาพกระดาษพร้อมลายมือของนายพริษฐ์ฯ ที่กำลังเป็นที่สนใจอยู่ในขณะนี้นั้น เป็นข้อความที่นายพริษฐ์ ได้เขียนขึ้น ณ ห้องเวรชี้สองสถานของศาลอาญา และส่งต่อให้แก่ทนายความของตนเอง ภายหลังจากที่ศาลอาญามีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 เวลาประมาณ 17.55 น. ก่อนที่จะถูกนำตัวกลับมาคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร 

ดังนั้น การที่ภาพดังกล่าวไปปรากฏอยู่บนเพจเฟซบุ๊กของนายพริษฐ์ เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 00.05 น. เป็นการดำเนินการโดยผู้ดูแลหรือแอดมินแฟนเพจ ซึ่งมีได้หลายคน ไม่ใช่การโพสต์โดยตัวนายพริษฐ์ฯ เอง เนื่องจากโทรศัพท์หรือเครื่องมือสื่อสารอื่นๆ เป็นสิ่งของต้องห้าม ตามมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 จึงเป็นไปไม่ได้ที่นายพริษฐ์ จะมีโทรศัพท์มือถืออยู่ในความครอบครอง ขณะถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ

นายอายุตม์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้สังคมและประชาชนทุกฝ่ายเชื่อมั่นต่อการปฏิบัติงานของกรมราชทัณฑ์ในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน และเป็นมาตรฐานตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะข้อกำหนดแมนเดลา (Mandela Rules) ซึ่งเป็นข้อกำหนดขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง และพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 รวมถึงกฎ ระเบียบ และวินัยต่างๆ ที่ข้าราชการกรมราชทัณฑ์ทุกคนพึงปฏิบัติและได้ยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด 


ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/922368

บิ๊กตู่ให้กำลังใจทีมแพทย์ สาธารณสุข เชื่อมือฝ่ายความมั่นคง มั่นใจคุมโควิด-19 ได้

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตีเผย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม รับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด19 ด้านการแพทย์ สาธารณสุข ดูแลคนไทยเดินทางกลับจากต่างประเทศ รวมถึงยับยั้งการกระทำผิดกฎหมาย และเตรียมพร้อมวัคซีนเพื่อคนไทย โดย ศบค.รายงานว่าสถานที่ควบคุมโรคแห่งรัฐ (State Quarantine) ทั้งหมด 579 แห่ง แบ่งเป็น State Quarantine (SQ) 152 แห่ง ยังคงมีห้องรับได้ 14,119 ห้อง และ Local Quarantine (LQ) จำนวน 427 แห่ง พร้อมใช้งาน 195 แห่ง เตรียมพร้อม 232 แห่ง สามารถรองรับ 10,257 คน  

โรงพยาบาลสนามจัดตั้งแล้วใน 6 จังหวัด ได้แก่ จ.ปทุมธานี จ.อ่างทอง จ.สมุทรสาคร จ.จันทบุรี จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง ปัจจุบันเปิดให้บริการ 3,092 เตียง Factory Quarantine (FQ) ในจ.สมุทรสาคร 2,389 เตียง  และช่วยคนไทยในต่างประเทศกลับประเทศไทยแล้ว ในช่วง 4  เม.ย.2563 - 8  ก.พ. 2564 จำนวน  167,617 คน จากเที่ยวบินและจากด่านชายแดนทั้งทางบกและทางน้ำ

สำหรับการยับยั้งการแพร่ระบาดภายในประเทศ ตั้งจุดตรวจควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเหล่าทัพและตำรวจทั่วประเทศ 1,522 จุด รวมทั้งจัดชุดสายตรวจคัดกรองบุคคลเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ส่วนการดำเนินการป้องกันและสกัดกั้นผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย กระทรวงมหาดไทย ตั้งจุดตรวจและจุดสกัด จำนวน 127 จุด ตรวจคัดกรองบุคคล จำนวน 9,882 คน 

ด้านความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด–19 คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีแผนการกระจายวัคซีน 63 ล้านโดส โดย 2 ล้านโดส ให้กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และอีก 61 ล้านโดสจะกระจายไปยังจังหวัดที่พบผู้ป่วย และวางแผนฉีดวัคซีน 10 ล้านโดสต่อเดือน มีโรงพยาบาลรัฐและเอกชนให้บริการกว่า 1,000 แห่ง และอยู่ระหว่างการพิจารณาขยายไปให้บริการ รพ.สต ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มใช้วัคซีนได้ภายในเดือน ก.พ. 2564

“นายกรัฐมนตรี มอบกำลังใจแก่ผู้ปฎิบัติหน้าที่ทุกหน่วยงาน พร้อมย้ำว่าเมื่อทราบปัญหาแล้วต้องเร่งดำเนินการแก้ไขโดยเร็ว และพร้อมเข้าร่วมแก้ปัญหาของทุกหน่วยงาน ด้วยความมั่นใจว่าโควิด-19 สามารถควบคุมได้ เพราะคนไทยร่วมมือกันด้วยดีตามแนวทาง "รวมไทย สร้างชาติ ฝ่าวิกฤตโควิด-19" " นายอนุชา กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top