Tuesday, 8 July 2025
ค้นหา พบ 49269 ที่เกี่ยวข้อง

‘บิ๊กตู่’ แจง ครม. ย้ำจองวัคซีนโควิดแล้ว 63 ล้านโดส เพียงพอให้ประชาชนไทยครึ่งประเทศได้ฉีด เผยบางส่วนผ่านการรับรองจาก อย.แล้ว

นายอนุชา บูรพไชยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม แจ้งให้ที่ประชุมครม.รับทราบ นโยบายการให้วัคซีนแก่ประชาชนคนไทย

โดยผลการประชุมของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติได้ข้อสรุปว่า ไทยจะได้วัคซีนของบริษัทซิโนแวค จำนวน 2 ล้านโดส จากบริษัท แอสตราเซเนก้า อีก 26 ล้านโดส และมีการจองเพิ่มอีก 35 ล้านโดส รวม 63 ล้านโดส โดยจะทยอยฉีดให้กับประชาชนคนไทยเพื่อให้ครอบคลุมประมาณร้อยละ 50 ของจำนวนประชากรทั้งหมด

แบ่งการฉีดเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรก จะฉีดให้กับ 5 กลุ่ม ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า ทั้งภาครัฐและเอกชน ประชาชนที่มีโรคประจำตัว ประชาชนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย และแรงงานในพื้นที่ที่มีการระบาด

ระยะที่สองจะฉีดให้กับประชาชน 7 กลุ่ม คือ ประชาชนทั่วไป แรงงานภาคอุตสาหกรรม ผู้ประกอบอาชีพด้านการท่องเที่ยว ผู้เดินทางระหว่างประเทศ นักธุรกิจระหว่างประเทศ นักการทูต เจ้าหน้าที่องค์การระหว่างประเทศ และกลุ่มเป้าหมายในระยะที่หนึ่งในส่วนที่เหลือ ซึ่งวัคซีนจะทยอยเข้ามา โดยบางส่วนได้ผ่านการขึ้นทะเบียนจากองค์การอาหารและยา (อย.) แล้ว

องค์การอนามัยโลก หรือ WHO เตรียมทบทวนประสิทธิภาพวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าใหม่ หลังพบป้องกันโควิดกลายพันธุ์ได้น้อยลง

นายแพทย์ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่า กลุ่มผู้เชี่ยวชาญของ WHO ได้ประชุมกันเมื่อวานนี้ เพื่อทบทวนประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่พัฒนาโดยบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าและมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด หลังผลศึกษาแสดงให้เห็นว่า วัคซีนดังกล่าวมีประสิทธิภาพน้อยลงในการป้องกันไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่

สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ในแอฟริกาใต้ซึ่งมีการค้นพบไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ B.1.351 นั้น ได้ประกาศระงับการนำเข้าวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าจะได้ข้อมูลประสิทธิภาพทางคลินิกเพิ่มขึ้น

นายแพทย์ทีโดรส กล่าวว่า "แม้ว่าวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของออกซ์ฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนก้า จะเป็นหนึ่งในวัคซีนหลายตัวที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันอาการรุนแรง ลดการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล และลดการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ได้ แต่การค้นพบไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ก็ได้เพิ่มความกังวลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนเช่นกัน"

"เมื่อพิจารณาหลักฐานจากการทดลองวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าจำนวนหลายครั้ง ก็เป็นที่ชัดเจนว่าประสิทธิภาพของวัคซีนต่ออาการป่วยรุนแรง การเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล และการเสียชีวิต แตกต่างกันไปในแต่ละสายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19" ดร.เคท โอ’เบรียน ผู้อำนวยการฝ่ายภูมิคุ้มกัน วัคซีนและชีววิทยาของ WHO กล่าว

ขณะเดียวกัน ยังมีสัญญาณบ่งชี้บางอย่างถึงประสิทธิภาพที่ลดลงของวัคซีน โดยบางตัวมากกว่าเดิม บางตัวน้อยกว่าเดิม ขึ้นอยู่กับว่าเป็นไวรัสสายพันธุ์ใด ประชากรกลุ่มใด รวมถึงการตอบสนองของแอนติบอดีชนิดลบล้างฤทธิ์ (neutralizing antibody) ด้วย


Cr : http://www.xinhuanet.com/english/2021-02/09/c_139732313.htm

ประธานทีดีอาร์ไอ ‘ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์’ วิเคราะห์โควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ ส่อเค้าลากยาว แนะรัฐทำงานเชิงรุก ซัดทำงานเช้าชามเย็นชามแบบราชการ ไม่เหมาะรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) โพสต์เฟซบุ๊ก Somkiat Tangkitvanich Page ระบุว่า

ผมได้ติดตามปัญหาการระบาดของโควิด-19 ที่สมุทรสาครและในประเทศไทยมาโดยตลอด โดยพยายามหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ทั้งจากบุคลากรทางการแพทย์ ข้าราชการและฝ่ายการเมืองเพื่อให้ทราบสถานการณ์ที่เป็นอยู่ แต่พบว่าทำได้ไม่ง่ายนัก เพราะแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ไม่ครบถ้วน และให้ภาพที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ การสื่อสารของรัฐก็ยังไม่เป็นระบบและให้ข้อมูลที่ละเอียดมากพอ ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่า ภาพรวมของสถานการณ์ที่แท้จริงคืออะไร และการรับมือของประเทศไทยที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเพียงพอแล้วหรือไม่

ผมพยายามกลั่นกรองจากข้อมูลต่าง ๆ ที่ไม่สมบูรณ์ดังกล่าว และเชื่อว่า การระบาดในสมุทรสาครน่าจะยังอยู่ในขาขึ้น ไม่ใช่ขาลงอย่างที่เข้าใจกัน และน่าจะใช้เวลาอีกหลายเดือนในการควบคุม เพราะแม้แต่กรณีของสิงคโปร์ ซึ่งเคยมีการระบาดของโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานต่างด้าวจำนวนน้อยกว่าในประเทศไทย ก็ยังต้องใช้เวลานานถึง 6 เดือนในการแก้ปัญหา ทั้งที่มีการลงทุนต่างๆ มากมายเช่น การสร้างหอพักใหม่ให้แรงงานต่างด้าวอยู่

การระบาดในวงกว้างของโควิด-19 ที่สมุทรสาครน่าจะทำให้การควบคุมการระบาดในประเทศไทยโดยรวมต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนมาก และยากที่คนไทยจะกลับมาใช้ชีวิตในลักษณะใกล้เคียงกับความเป็นปกติ และสามารถเปิดการเดินทางกับต่างประเทศได้ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่น่าจะเลวร้ายกว่าที่เจ้าหน้าที่ของรัฐหลายคนที่ผมได้พบเชื่อกัน ถึงจุดนี้ ผมเชื่อว่า ยากที่เราจะสามารถควบคุมการระบาดในวงกว้างครั้งนี้ ด้วยวิธีการตรวจสอบและคัดแยกผู้ติดเชื้อแบบเดิม ที่เคยประสบความสำเร็จในการระบาดรอบแรก โดยทางออกในการแก้ปัญหา น่าจะหนีไม่พ้นการใช้ตัวช่วยที่สำคัญคือ วัคซีน

ผมมีความเห็นว่า การบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยในปัจจุบัน ยังมีลักษณะเหมือนการบริหารราชการปกติ (business as usual) มากกว่าการแก้ไขปัญหาในสถานการณ์เร่งด่วน เช่น ศบค. ก็ประชุมกันเพียง 2 สัปดาห์ต่อครั้ง

ผมอยากเห็นรัฐบาลตื่นตัวมากขึ้นในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยดำเนินการดังต่อไปนี้

- เร่งตรวจสอบและคัดแยกผู้ติดเชื้อในจังหวัดสมุทรสาคร ด้วยความเร็วที่มากกว่านี้ โดยขอความร่วมมือจากภาคเอกชนและภาคประชาสังคมในวงกว้าง หากเห็นว่าเกินกว่าขีดความสามารถของภาครัฐจะดำเนินการได้เองโดยลำพัง เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาลุกลามไปมาก

- สื่อสารอย่างชัดเจนเป็นระบบ เช่น แสดงแผนที่การตรวจและการระบาดในสมุทรสาครทุกวัน โดยแจ้งจำนวนการตรวจ และอัตราการพบผู้ติดเชื้อ และอธิบายแนวทางในการจัดการเมื่อพบผู้ติดเชื้อแล้ว

- จัดทำและประกาศ Road Map ในการแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยโดยรวม เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ทราบสถานการณ์ตามความเป็นจริง และทราบแนวทางในการร่วมกันแก้ไขปัญหา ซึ่งจะทำให้ภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมที่ทำงานกับแรงงานต่างด้าวสามารถช่วยรัฐบาลแก้ปัญหาได้มากขึ้น ที่สำคัญ เมื่อภาคธุรกิจและประชาชนได้ทราบ Road Map และจังหวะเวลาในการแก้ไขปัญหาแล้ว ก็จะสามารถวางแผนธุรกิจและวางแผนชีวิตของตนได้ดีขึ้น

- เร่งจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม นอกเหนือจากส่วนที่ได้สั่งจองไปแล้ว ซึ่งยังไม่เพียงพอที่จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศได้ และแน่นอนว่าไม่เพียงพอต่อการทำให้ทุกคนได้รับการป้องกันและมีความอุ่นใจที่จะดำเนินชีวิตตามปกติ โดยควรตั้งเป้าให้สามารถฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนและผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยครบทั้งหมดภายในปี 2564 นี้

- เร่งจัดทำแผนในการฉีดวัคซีนให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว โดยจัดลำดับว่าจะฉีดให้แก่กลุ่มใดก่อน (นอกเหนือจากบุคลากรทางการแพทย์ ผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยง) ในประเด็นนี้ ผมเห็นด้วยกับข้อเสนอของบางฝ่ายที่ว่า ควรเร่งฉีดในจังหวัดที่มีการติดเชื้อในระดับสูง เช่น สมุทรสาคร ก่อน โดยฉีดให้แก่แรงงานไทยและแรงงานต่างด้าว โดยในกรณีของแรงงานต่างด้าว รัฐบาลอาจให้นายจ้างช่วยออกค่าใช้จ่ายในการจัดหาวัคซีนบางส่วนด้วยก็ได้

- เร่งขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะส่วนที่ยังไม่มีนายจ้าง ซึ่งยังมีความคืบหน้าไม่มากนัก โดยยังน่าจะตกหล่นอยู่หลายแสนคน เพื่อให้สามารถประเมินสถานการณ์และบริหารความเสี่ยงได้อย่างถูกต้อง

อย่างที่กล่าวมาแล้ว ความเข้าใจของผมต่อสถานการณ์ในปัจจุบันมาจากความพยายามติดตามข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ หากผมเข้าใจประเด็นใดผิด ผมก็หวังที่จะได้รับคำชี้แจง และหวังว่า อย่างน้อยภาครัฐจะได้ทราบถึงปัญหาในการสื่อสารและปรับปรุงให้ดีขึ้น


ที่มา : เพจ Somkiat Tangkitvanich

‘รมว.แรงงาน’ เคลียร์ชัดโครงการ ‘ม33เรารักกัน’ ทั้งเงื่อนไข ไทม์ไลน์ และขั้นตอน การลงทะเบียนผู้ประกันตน รับสิทธิ์เงินเยียวยา 4 พันบาท คาดมีคนเข้าข่ายได้รับเงินเยียวยา 9.27 ล้านคน วงเงินประมาณ 37,100 ล้านบาท

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความชัดเจนถึงคุณสมบัติ ผู้ประกันตนมาตรา 33 ในโครงการ ม33 เรารักกัน เพื่อช่วยเหลือเยียวยาแบ่งเบาภาระค่าครองชีพ ของผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด - 19 โดยรัฐบาลจะจ่ายเยียวยา รายละ 4,000 บาท

พร้อมย้ำเงื่อนไขคุณสมบัติ คือ เป็นผู้มีสัญชาติไทย เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ในระบบประกันสังคม ไม่เป็นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และไม่ได้รับสิทธิโครงการ “เราชนะ” และไม่มีเงินฝากในสถาบันการเงินรวมกันเกิน 500,000 บาท (ณ วันที่ 31 ธ.ค.63) โดยจะเปิดให้ผู้ประกันตนที่มีคุณสมบัติ สามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.ม33เรารักกัน.com ได้ตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ - 7 มีนาคม 2564 ผู้ประกันตนสามารถยืนยันตัวตนผ่านช่องทางการให้บริการ Application “เป๋าตัง” ในวันที่ 15 - 21 มีนาคม 2564

จากนั้น รัฐบาลจะเริ่มโอนเงินผ่าน Application “เป๋าตัง” ในทุกๆ วันจันทร์ที่ 22, 29 มีนาคม และ 5, 12 เมษายน 2564 ครั้งละ 1,000 บาท จนครบ 4,000 บาท ทั้งนี้ ผู้ประกันตน สามารถเริ่มใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการกับร้านค้าภายใต้โครงการ “เราชนะ” ได้ในวันที่ 22 มีนาคม – 31 พฤษภาคม 2564

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีที่ผู้ประกันตนมาตรา 33 ไม่สามารถลงทะเบียนโครงการ ม33เรารักกัน ในรอบแรกได้ จะมีการเปิดให้ยื่นขอทบทวนสิทธิอีกครั้งผ่านทาง www.ม33เรารักกัน.com ได้ตั้งแต่ 15 – 28 มีนาคม 2564 และกดใช้งานและยืนยันตัวตนผ่าน Application “เป๋าตัง” ในวันที่ 5 – 11 เมษายน 2564 ซึ่งรัฐบาลจะโอนเงินเข้า Application “เป๋าตัง” ในวันจันทร์ที่ 12 และ 19 เมษายน 2564 จำนวน 2 ครั้งๆ ละ 2,000 บาท พร้อมให้ผู้ประกันตนเริ่มใช้จ่ายซื้อสินค้าภายใต้โครงการ “เราชนะ” ได้ในวันที่ 12 เมษายน - 31 พฤษภาคม 2564

ทั้งนี้ รอมติ ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบอย่างเป็นทางการอีกครั้ง อย่างไรก็ดีโครงการฯ ดังกล่าว คาดว่าจะมีผู้ประกันตนมาตรา 33 เข้าข่ายมีสิทธิได้รับเงินเยียวยาในครั้งนี้ 9.27 ล้านคน รัฐบาลใช้วงเงินประมาณ 37,100 ล้านบาท

“ตนได้กำชับไปยัง นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ให้รีบดำเนินการเตรียมความพร้อมรองรับ ในเรื่องของข้อมูลผู้ประกันตนมาตรา 33 ให้เป็นปัจจุบัน ทั้งนี้ เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์อันพึงมีพึงได้ ให้กับผู้ประกันตนมาตรา 33 อีกทั้งเป็นการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้ประกันตน ในช่วงสถานการณ์ปัจจุบันให้ตรงจุด ได้รับสิทธิอย่างทันท่วงที”

'บิ๊กตู่' ขอบคุณผู้ว่าฯ กทม.- มหาดไทย ชะลอขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว 104 บาท ช่วยเหลือประชาชน ลดค่าใช้จ่ายช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโควิด-19

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม โพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊ก ‘ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha’ โดยมีข้อความระบุว่า "ตามที่ทางกรุงเทพมหานครได้ออกประกาศ เลื่อนการเก็บค่าตั๋วรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีเขียว 104 บาทตลอดสายออกไปก่อน

หลังจากที่ได้รับนโยบายจากรัฐบาลให้พิจารณาทบทวนโดยให้คำนึงถึงภาระค่าใช้จ่ายของพี่น้องประชาชนท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ผมขอขอบคุณกรุงเทพมหานคร ท่านผู้ว่าฯ รวมถึงกระทรวงมหาดไทย ที่ได้ช่วยกันใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ ที่จะช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่กำลังเดือดร้อนจากสถานการณ์โควิดอยู่ ณ ตอนนี้ ขอบคุณครับ #รวมไทยสร้างชาติ"


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top