Monday, 7 July 2025
ค้นหา พบ 49261 ที่เกี่ยวข้อง

‘พลังประชารัฐ’ ยืนยันมติพรรคไม่ส่งตัวแทน สู้ศึกเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศ ตามรอยมติเดิมที่เคยมีมติไม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง อบจ. ก่อนหน้านี้

นายสัณหพจน์ สุขศรีเมือง ส.ส.เขต 2 จ.นครศรีธรรมราช ในฐานะรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า จากกรณีที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดให้มีการเลือกตั้งสภาเทศบาล นายกเทศมนตรี ขึ้นในวันที่ 28 มีนาคม 2564 โดยกำหนดวันรับสมัครเลือกตั้งในวันที่ 8-12 กุมภาพันธ์ 2564 ที่จะถึงนี้ ทางพรรคพลังประชารัฐ ยังคงยืนยันตามมติพรรคเดิม ที่มีมติไม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น หรือสนับสนุนกลุ่มการเมือง หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นตัวแทนในนามของพรรค เช่นเดียวกับที่ผ่านมาในการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด

“ยืนยันว่าพรรคพลังประชารัฐ ไม่ได้ให้การสนับสนุนกลุ่มการเมือง หรือบุคคลใดๆ ในการลงสมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่น ทั้งการเลือกตั้งสภาเทศบาล หรือนายกเทศมนตรี โดยพรรคยังคงยืนยันมีตามมติเดิมที่เคยมีมติไม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง อบจ. สำหรับผมนั้นยืนยันปฏิบัติตามมติของพรรคที่จะไม่ให้การสนับสนุน หรือช่วยเหลือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ในการเลือกตั้งท้องถิ่นในพื้นที่จ.นครศรีธรรมราชด้วยเช่นกัน” นายสัณหพจน์ กล่าว

อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เปิดยุทธการสาวแกร่งชุดปฏิบัติการพิเศษ ‘กองร้อยน้ำหวาน’ ช่วยงานพิทักษ์ป่า

นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (สบอ.3) สาขาเพชรบุรี เปิดเผยว่า ทางอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้จัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าหญิงจำนวน 30 คน เพื่อปฏิบัติงานในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน หรือที่เรียกว่าชุดปฏิบัติการพิเศษ “กองร้อยน้ำหวาน” ทั้งนี้จากการปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เป็นงานที่ต้องใช้ความเข้มแข็งแต่ก็ต้องมีความยืดหยุ่นในตัว การใช้เจ้าหน้าที่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ผู้ชาย ก็อาจจะดูแข็งกร้าวเกินไป

การมีชุดปฏิบัติการพิเศษ “กองร้อยน้ำหวาน” จะทำให้งานด้านเข้าพื้นที่ การประชาสัมพันธ์ เข้าไปพูดคุย ทำความเข้าใจกับชาวบ้าน จะทำได้เป็นอย่างดี สถานการณ์ที่ดูรุนแรง คับขัน สามารถคลี่คลายไปในทางที่ดี จากความอ่อนโยนของผู้พิทักษ์ป่าหญิงที่ได้รับการฝึกมาอย่างดีนั้น เมื่อได้เข้าไปพูดคุยทำความเข้าใจกับชาวบ้าน ทำให้ความรุนแรงที่มีทีท่าว่าจะบานปลายในตอนแรกก็จะสามารถผ่อนคลายลงในบางเหตุการณ์ต้องเผชิญหน้ากับชาวบ้านที่เป็นผู้หญิงและเด็ก รวมทั้งเรื่องการค้นตัวผู้ต้องหาที่เป็นผู้หญิง “กองร้อยน้ำหวาน” จะสามารถปฏิบัติการได้อย่างไม่ติดขัด จึงเป็นการสนับสนุนการทำงาน ลดความขัดแย้ง ช่วยคลี่คลายปัญหาและอุปสรรค ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายขึ้นได้

“โดยได้ทำการฝึกอบรมยุทธวิธี บุคคลท่ามือเปล่า การใช้อาวุธปืน การหาข่าว การควบคุมตัวผู้ต้องหา และการบังคับใช้กฎหมาย เป็นต้น จากครูวิทยากรผู้มีความรู้ความชนาญจากส่วนยุทธการด้านป้องกันและปราบปราม กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และหน่วยเฉพาะกิจปฏิบัติการพิเศษผู้พิทักษ์อุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่า (หน่วยฯ พญาเสือ) ในการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่กองร้อยน้ำหวาน อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ในครั้งนี้ ซึ่งในอนาคตจะนำเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าหญิงจากอุทยานแห่งชาติกุยบุรี สามร้อยยอด และอื่นๆมาร่วมทีม” นายพิชัย กล่าว


ภาพ/ข่าว นิพล ทองเก่า

“นิด้าโพล” เผยคนไทยกลัวติดโควิดเพิ่มขึ้น 63% ขณะที่ 42.13% ค่อนข้างพอใจมาตรการคุมโควิดรอบใหม่ของรัฐบาล ส่วนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด พบส่วนใหญ่ ร้อยละ 63.12 จะรับบริการฉีดวัคซีนฟรีจากรัฐบาล แต่ยังมีอีกร้อยละ 23.57 ที่ระบุว่า จะไม่ฉีดวัคซีน

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “COVID-19 รอบใหม่” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 1 – 3 กุมภาพันธ์ 2564 จากประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,315 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 รอบใหม่ การสำรวจอาศัย การสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 97.0

จากการสำรวจเมื่อถามถึงความกลัวของประชาชนว่าจะติดเชื้อไวรัส COVID-19 จากการแพร่ระบาดในขณะนี้ พบว่า ร้อยละ 25.86 ระบุว่า มีความกลัวมาก เพราะ เชื้อไวรัส COVID-19 มีการเเพร่กระจายอย่างรวดเร็วมาก ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อ ประชาชนบางกลุ่มยังละเลย ในการป้องกันตนเอง และยังไม่มีวัคซีนหรือยารักษาให้หายขาด ร้อยละ 37.79 ระบุว่า ค่อนข้างมีความกลัว เพราะ ผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 มีจำนวนมากกว่ารอบที่แล้ว พบผู้ที่ติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการมากขึ้นทำให้ติดกันง่ายกว่าเดิม จำเป็นต้องเดินทางไปทำงานและต้องเจอกับผู้คนจำนวนมาก ร้อยละ 18.86 ระบุว่า ไม่ค่อยมีความกลัว เพราะ ประชาชนส่วนใหญ่ดูแลและป้องกันตนเองดี หลีกเลี่ยงไปพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง และมั่นใจในการทำงานของบุคลากรทางการเเพทย์ในการรักษาให้หาย และร้อยละ 17.49 ระบุว่า ไม่มีความกลัวเลย เพราะ ประชาชนส่วนใหญ่มีการป้องกันตนเองอย่างดีมาก และไม่ได้อาศัยในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจความกลัวของประชาชนว่าจะติดเชื้อไวรัส COVID-19 จากการแพร่ระบาดในขณะนี้ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2563 พบว่า ผู้ที่ระบุว่า ไม่ค่อยมีความกลัว และไม่มีความกลัวเลย มีสัดส่วนลดลง ซึ่งในขณะที่ผู้ที่ระบุว่า มีความกลัวมาก และค่อนข้างมีความกลัว มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น

ด้านความพึงพอใจของประชาชนต่อการดำเนินการของรัฐบาลตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 ถึง 31 มกราคม 2564 ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 รอบใหม่ พบว่า ร้อยละ 27.60 ระบุว่า พอใจมาก เพราะ มีมาตรการควบคุมป้องกันโรคได้อย่างรวดเร็ว มีการจัดแบ่งพื้นที่เสี่ยงได้ชัดเจน สามารถทำงานหรือกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติกับพื้นที่ที่ไม่ได้คุมเข้ม ร้อยละ 42.13 ระบุว่า ค่อนข้างพอใจ เพราะ มีการควบคุมที่ไม่เข้มงวดมากเกินไป ทำให้ประชาชนบางส่วนไม่ค่อยได้รับผลกระทบมาก ปิดเฉพาะจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก สามารถดำรงชีวิตตามปกติได้ ร้อยละ 20.99 ระบุว่า ไม่ค่อยพอใจ เพราะ การคุมเข้มกับกิจกรรมบางอย่างยังไม่รัดกุม เช่น ให้มีการจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ การเดินทางข้ามจังหวัด และการเข้ามาทำงานของแรงงานต่างด้าวยังขาดการควบคุมที่รัดกุม ทำให้ยังพบผู้ติดเชื้ออยู่จำนวนมาก และร้อยละ 9.28 ระบุว่า ไม่พอใจเลย เพราะ ต้องการให้มีการควบคุมที่เข้มข้นเหมือนครั้งก่อน และต้องการให้มีการล็อคดาวน์ทั้งประเทศ

สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อการผ่อนคลายมาตรการของรัฐในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 รอบใหม่ ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 พบว่า ร้อยละ 43.57 ระบุว่า เห็นด้วยมาก เพราะ ทำให้ธุรกิจดำเนินกิจกรรมได้ เศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนได้ดีขึ้น และสามารถกลับมาประกอบอาชีพ การเรียนการสอน หรือกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติ ร้อยละ 34.68 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะ ประชาชนได้ผ่อนคลายบ้าง มีการรับมือทางการแพทย์ที่ดีขึ้น ประชาชนดำรงชีวิตสะดวกมากขึ้น และประกอบอาชีพ หารายได้ได้เหมือนเดิม ร้อยละ 14.75 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะ สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ยังไม่ดีขึ้น ทำให้ การใช้ชีวิตแย่ลงกว่าเดิม รายได้จะหายไปมากกว่าเดิม และต้องการให้เลื่อนระยะเวลาการเปิดสถานศึกษาออกไปอีก ร้อยละ 6.39 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย เพราะ ประชาชนบางกลุ่มยังละเลยการป้องกันตนเองโดยเฉพาะเด็กนักเรียน และจำนวนของผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ยังไม่ลดลง และร้อยละ 0.61 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงการตัดสินใจของประชาชนเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส COVID-19 พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 63.12 ระบุว่า จะรับบริการฉีดวัคซีนฟรีจากรัฐบาล รองลงมา ร้อยละ 23.57 ระบุว่า จะไม่ฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส COVID-19 ร้อยละ 7.98 ระบุว่า จะยอมเสียเงินเองในการฉีดวัคซีนตามโรงพยาบาลเอกชนที่ได้รับการอนุญาตจากรัฐ และร้อยละ 5.33 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

"ทิพานัน" ยกผลโพลพอใจรัฐคุมโควิดรอบใหม่ ไม่แปลกใจ หาก ‘3 ป.’ จะสอบผ่านซักฟอก เพราะผลงานเป็นที่ประจักษ์ เย้ยศึกอภิปรายครั้งนี้ไม่ห่วงรัฐบาล แต่ห่วงฝ่ายค้านทำประชาชนผิดหวัง อภิปรายแบบตีหัวเข้าบ้าน ซ้ำรอย ‘ธนาธร’ บิดเบือนตัดแปะ

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ อดีตรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ของนิด้าโพล พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 42.13 ค่อนข้างพอใจกับการดำเนินการของรัฐบาลตั้งแต่ ธ.ค. 63 - 31 ม.ค. 64 ในการป้องกันการแพร่ระบาดโควิดรอบใหม่ เพราะมีการควบคุมที่ไม่เข้มงวดมากเกินไป ทำให้ประชาชนบางส่วนไม่ค่อยได้รับผลกระทบมาก

ปิดเฉพาะจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก สามารถดำรงชีวิตตามปกติได้ ขณะที่อีกร้อยละ 27.60 ระบุว่า พอใจมาก เพราะ มีมาตรการควบคุมป้องกันโรคได้อย่างรวดเร็ว มีการจัดแบ่งพื้นที่เสี่ยงได้ชัดเจน สามารถทำงานหรือกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติกับพื้นที่ที่ไม่ได้คุมเข้ม ว่า ขอบคุณพี่น้องประชาชนที่ได้เห็นถึงผลงานความตั้งใจจริงของรัฐบาลในการให้ความสำคัญกับสุขภาพ ความปลอดภัยของประชาชน และปัญหาปากท้อง ความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ ควบคู่กันไป

การรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย สะท้อนออกมาเป็นความพึงพอใจของพี่น้องประชาชน ที่ผ่านมาไทยยังได้รับความชื่นชมในระดับโลกอีกครั้งเมื่อวันที่ 28 ม.ค. ที่ผ่านมา จากการจัดอันดับของสถาบันโลวี (Lowy Institute) ของออสเตรเลียที่ยกให้ไทยอยู่ในอันดับที่ 4 ติดอันดับท็อป 5 ประเทศที่จัดการกับ Covid-19 ได้ดีที่สุดในโลก นี่ยิ่งทำให้เห็นถึงผลงานการดูแลชีวิตประชาชนได้อย่างดียิ่ง

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ที่สำคัญที่ประชาชนเห็นว่า มีการผ่อนคลายมาตรการของรัฐที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ก.พ. 64 ก็พบว่าร้อยละ 43.57 เห็นด้วยมาก เพราะทำให้ธุรกิจดำเนินกิจกรรมได้ เศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนได้ดีขึ้น และสามารถกลับมาประกอบอาชีพ การเรียนการสอน หรือกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ ทำให้ตนไม่ห่วงในประเด็นที่ฝ่ายค้านจะอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เพราะผลการทำงานที่ผ่านมามีประสิทธิภาพ และโปร่งใสคาดว่าจะได้รับความไว้วางใจในการบริหารประเทศต่อไป ดังที่จะเห็นได้จากผลสำรวจความเห็นของซูเปอร์โพล พบว่าประชาชน ร้อยละ 86.3 เชื่อมั่นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ละพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จะสามารถผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจไปได้ เพราะมีผลงานเป็นที่ประจักษ์

“ที่น่าสังเกตคือ ผลสำรวจของซูเปอร์โพล ประชาชนร้อยละ 98.3 มองว่าการอภิปรายของฝ่ายค้านเพื่อประโยชน์ทางการเมืองมากกว่าชาติ และร้อยละ 90.9 ของประชาชนคาดหวังข้อมูลของฝ่ายค้านน่าเชื่อในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตนจึงอยากให้ฝ่ายค้านตระหนักในความคาดหวังของประชาชน ขอให้การบ้านอย่างรอบคอบรอบด้าน อย่าทำให้ผิดหวังในการทำหน้าที่ เช่นการนำข้อมูลเลื่อนลอยมาพูดในสภาอันทรงเกียรติ แล้วตีหัวเข้าบ้าน ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของพี่น้องประชาชนที่มีต่อฝ่ายค้านเองเหมือนอย่างที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้าโชว์ซักฟอกรัฐบาลนอกสภาฯ ไปก่อนหน้านี้ด้วยข้อมูลที่เข้าข่ายบิดเบือนตัดแปะ ปะติดปะต่อกับความมโนและเจตนาไม่สุจริต จนถูกดำเนินคดีอยู่ในขณะนี้” น.ส.ทิพานัน กล่าว

หัวหน้าพรรคกล้า ‘กรณ์ จาติกวณิช’ แนะรัฐบาลปรับวิธีเยียวยาผลกระทบโควิด-19 โดยเฉพาะผู้สูงอายุ

นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า ได้แสดงความเห็นถึงการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19ระบาดในกลุ่มผู้สูงอายุของรัฐบาล ผ่านเฟซบุ๊ก กรณ์ จาติกวณิช - Korn Chatikavanij โดยมีเนื้อหาดังนี้

ผู้สูงอายุ กับการเยียวยา

วันนี้ขณะลงพื้นที่หลายเขตในกรุงเทพ มีชาวบ้านจำนวนมากได้ขอพูดคุยในประเด็นความเดือดร้อนต่าง ๆ

ที่น่าเห็นใจที่สุดคือ "ผู้สูงอายุ" เพราะเขาขึ้นทะเบียนไม่ได้ และตั้งคำถามง่ายๆ ฝากผมไปถึงผู้มีอำนาจว่า "ทำไมรัฐบาลไม่ดูแลผู้สูงอายุด้วยการโอนเงินเยียวยาตรงเข้าบัญชีที่เขารับเบี้ยผู้สูงอายุอยู่แล้วเดือนละ 600 - 1,000 บาท?"

เพราะข้อเท็จจริงแม้แต่เงินพันบาทนั้น ด้วยสภาพเศรษฐกิจจากโควิดตอนนี้ไม่เพียงพอแน่นอน และลูกหลานที่เคยมีงาน มีเงินดูแลพ่อแม่ ตอนนี้ชักหน้าไม่ถึงหลัง ตกงานกันก็มาก แถมการเยียวยารูปแบบต่าง ๆ ก็ค่อนข้างล่าช้า

ส่วนการช่วยเหลือนั้น รอบนี้ทุกคนอยากให้เป็น "เงินสด" ผมเองก็คิดอย่างนี้แต่แรก ถึงแม้ผมเข้าใจเจตนาที่ดีของรัฐบาลที่จะให้มีการใช้เงินผ่าน "เป๋าตัง" เพื่อมุ่งสู่การเข้าระบบดิจิตัลทางการเงิน แต่เจตนาดีในกรณีนี้ "ผิดจังหวะ" ครับ

ตอนทำ "คนละครึ่ง" หรือ "เราเที่ยวด้วยกัน" คือบริบทของการฟื้นฟูก่อนระบาดระลอกใหม่ แต่วันนี้คนเดือดร้อนแบบขาดเงินสดหนักมากจากโควิดรอบใหม่

ผู้กำหนดนโยบาย (รวมถึงตัวผมเอง) ไม่มีทางที่จะคิดแทนชาวบ้านได้ทั้งหมดว่าเขาเดือดร้อนที่ต้องใช้เงินอย่างไร วันนี้บางคนเพียงต้องการเงินสดเพื่อให้ลูกมีเงินติดไปโรงเรียน แต่ก็ไม่สามารถใช้เงินเยียวยาตามความต้องการนี้ได้

ผมทำนโยบายมาก็เยอะนะครับ บทเรียนที่สำคัญคือต้องเอาความต้องการของผู้เดือดร้อนเป็นที่ตั้ง เมื่อทำแล้วมีช่องโหว่ต้องรีบปรับทันที อย่าทำอะไรที่สลับซับซ้อนเกินไป สำคัญที่สุดคือ อย่าฟังแต่ข้าราชการและนักวิชาการ ต้องมีทีมลงไปฟังประชาชนคนเดินถนน ชาวบ้านร้านตลาดตัวจริง

เปรียบเทียบกับการออกแบบ App ก็ได้ครับ โปรแกรมเมอร์ที่เก่งที่สุดในโลกก็ยังต้องทดสอบกับผู้ใช้บริการจริงเพื่อตรวจเช็ค user experience เสร็จแล้วก็เอาข้อมูลมาปรับให้ App ใช้ง่ายขึ้นและตอบโจทย์ผู้ใช้มากขึ้น

ไม่สายเกินไปที่จะปรับแก้ครับ

เอาใจช่วยเสมอ ประชาชนรออยู่


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top