Tuesday, 8 July 2025
ค้นหา พบ 49261 ที่เกี่ยวข้อง

ธุรกิจสปาทรุดหนัก จากพิษโควิด-19 ล่าสุดพบเปิดให้บริการแค่ 20% จากจำนวนกว่า 8,000 แห่ง ส่งผลแรงงานที่เกี่ยวข้องตกงานแล้วกว่า 2.4 แสนคน วอนรัฐพยุงการจ้างงานภาคท่องเที่ยว ช่วยจ่ายค่าแรงคนละครึ่งกับเอกชน นาน 6 - 12 เดือน

นายกรด โรจนเสถียร นายกสมาคมสปาไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมของธุรกิจสปานั้น ถือว่าได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะธุรกิจร้านนวดสปา ซึ่งมีกว่า 8,000 แห่งที่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559 มีจำนวนบุคลากรที่เกี่ยวข้องรวมกว่า 3 แสนคน ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนร้านนวดสปาเปิดให้บริการเพียง 20% ของทั้งหมด และแรงงานที่เกี่ยวข้องกว่า 80% หรือราว 240,000 คน อยู่ในสภาวะตกงาน

เพื่อแก้ปัญหาและเยียวยาผลกระทบให้กับผู้ประกอบธุรกิจ สมาคมฯ จึงจัดทำข้อเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งช่วยเหลือ โดยเฉพาะการช่วยพยุงการจ้างงานภาคท่องเที่ยว ด้วยการทำโครงการร่วมจ่าย ระหว่างรัฐและเอกชนช่วยกันเงินเดือนให้พนักงานคนละครึ่ง วงเงินต่อรายไม่เกิน 7,500 บาท รวมจำนวน 8 แสนคน เป็นระยะเวลา 6-12 เดือน รวมทั้งเสนอให้คลายล็อกธุรกิจบริการออนเซ็น ภายใต้ พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ เพราะไม่ได้มีลักษณะเหมือนสถานประกอบการอาบอบนวด

"ขณะนี้ได้รับทราบมาว่า ได้มีกลุ่มทุนจากต่างประเทศหลายรายกำลังเข้ามาหาช่องทางซื้อกิจการในประเทศไทยจำนวนมาก หลังจากธุรกิจหลายประเภทได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา โดยส่วนของธุรกิจสปาเองนั้น ก็มีกลุ่มทุนจากจีนหลายรายที่แสวงหาช่องทางเข้ามาซื้อกิจการของไทยที่ประสบปัญหาด้านรายได้ หรือมีสายป่านทางธุรกิจที่ไม่ยาวพอ และอาจขยายไปยังธุรกิจอื่นๆ ในภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมที่ตอนนี้กำลังประสบปัญหาอย่างหนัก"

‘ธนาธร’ เฮ! หลังศาลมีคำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาคำร้องดีอีเอส กรณีระงับคลิปไลฟ์สดวัคซีนโควิด พาดพิงสถาบัน ชี้เนื้อหามุ่งเน้นการ กล่าวหารัฐบาลบกพร่อง ส่วนข้อมูลเรื่องผู้ถือหุ้นเป็นเพียงส่วนน้อย ไม่ชัดเจนกระทบความมั่นคง

วันที่ 8 ก.พ. ที่ห้องพิจารณา 906 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำสั่งคดีหมายเลขดำ พศ.76/2546 ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการเผยแพร่คลิปไลฟ์สดของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กรณีการไลฟ์สดเกี่ยวกับการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของรัฐบาล โดยมีเนื้อหาพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ ซึ่งก่อนหน้านี้ ศาลได้มีคำสั่งให้ระงับคลิปตามที่ดีอีเอสยื่นร้องขอ ต่อมานายธนาธรได้ยื่นคัดค้าน โดยศาลได้ไต่สวนคู่ความทั้งสองฝ่ายเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ในวันนี้มีผู้แทนดีอีเอสและทนายความผู้รับมอบอำนาจจากนายธนาธรเดินทางมาศาล ส่วนนายธนาธรไม่ได้เดินทางมา

โดยศาลได้อ่านคำสั่ง ซึ่งมีเนื้อหาพิเคราะห์ทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงโดยละเอียด เนื้อหาที่นายธนาธร ผู้คัดค้านกล่าว มุ่งเน้นการกล่าวหารัฐบาลบกพร่อง ข้อมูลเรื่องผู้ถือหุ้นเป็นเพียงส่วนน้อย ไม่เป็นประเด็นหลักในการนำเสนอ ไม่สามารถเห็นได้ชัดเจนถึงกับกระทบความมั่นคง จึงให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาเเละคำสั่งศาลที่ให้ระงับการเผยแพร่คลิปเมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2564 เป็นอันสิ้นผล ยกคำร้อง

‘บิ๊กป้อม’ สั่งแก้ปมบุกรุกที่ดิน พร้อมเร่งพิสูจน์สิทธิ์ครอบครองที่ดินรัฐ พร้อมย้ำต้องอยู่บนพื้นฐานกฎหมาย - เหมาะสมเป็นธรรม ยืนยันรัฐบาลจะพยายามหาทางออก ที่กระทบความเป็นอยู่ของประชาชนให้น้อยที่สุด

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหา การบุกรุกที่ดินของรัฐ(กบร.)ครั้งที่ 1/2564 มีนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้าร่วม

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า "ความเป็นอยู่ของประชาชนต้องควบคู่กับการยกระดับคุณภาพชีวิตในการครอบครองที่ดิน เพื่อที่อยู่อาศัยและใช้ประโยชน์เป็นที่ทำกิน โดยรัฐบาลพยายามหาทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาการรุกที่ของรัฐ ที่กระทบความเป็นอยู่ของประชาชนให้น้อยที่สุด พร้อมกำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

สร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่ให้การแก้ปัญหาอยู่บนพื้นฐานความถูกต้องตามกฎหมาย และอยู่บนประโยชน์ร่วมกันอย่างเหมาะสมเป็นธรรม รักษาไว้ซึ่งธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่มีค่าของประเทศให้คงอยู่"

โดยที่ประชุมเห็นชอบหลักการให้มีการแก้ไขปัญหา ป้องกันการบุกรุกที่ดินของรัฐ ตามมาตรการของกบร.ใน 2 เรื่องสำคัญ ได้แก่ การพิสูจน์สิทธิ์การครอบครองที่ดินของบุคคลในเขตที่ดินของรัฐ ขั้นตอน และวิธีการดำเนินงาน ของคณะอนุกรรมการอ่านภาพถ่ายทางอากาศ ให้ไปเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.)

นอกจากนั้นรับทราบปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ สรุปผลการดำเนินงาน กบร.จังหวัด และกบร.กทม. ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558-2563 มีค่าเฉลี่ยการแก้ไขปัญหา ข้อโต้แย้งสิทธิในที่ดิน ที่มีข้อยุติปรากฎว่าราษฎรที่อาศัยอยู่ก่อน และเป็นที่ดินของรัฐ ร้อยละ 78 และได้กำหนดประเภทที่ดินของรัฐ ที่เข้าสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา ได้แก่ ที่สาธารณะประโยชน์ ที่ราชพัสดุ และที่ป่าไม้ ตามลำดับ

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย เผยโควิด -19 ระบาดระลอกใหม่ ส่งผลกระทบหนัก ยอดขายดิ่ง 10 - 30% วอนภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือด่วน เติมสภาพคล่องด้วยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เผยสภาพคล่องที่เหลือใช้ดำเนินธุรกิจได้ไม่เกิน 6 เดือน

นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เผยว่า จากข้อมูลผลของการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบค้าปลีก (Retailer Sentiment Index: RSI) เดือนมกราคม 2564 (รอบการสำรวจข้อมูลระหว่างวันที่ 19-26 มกราคม 2564) โดยสมาคมผู้ค้าปลีกไทยร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีการสำรวจเป็นรายเดือน พบว่า ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก เดือนมกราคม 2564 ลดลงทันทีอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม

และเป็นการปรับลดลง จากความอ่อนไหวจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19ระลอกใหม่ แม้ภาครัฐจะใช้มาตรการเข้มข้นเพียง 28 จังหวัด ดัชนีความเชื่อมั่นก็ยังคงปรับตัวลดลงใกล้เคียงกับดัชนีความเชื่อมั่นเมื่อเดือนเมษายน 2563 จากครั้งที่เกิดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกแรก ที่ภาครัฐมีมาตรการ Lock Down ทั้งประเทศ

ทั้งนี้ สมาคมฯ มองว่า ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะดีขึ้น รวมทั้งหวังว่าภาครัฐน่าจะมีมาตรการเยียวยาและกระตุ้นการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง ดัชนีความเชื่อมั่นน่าจะมีทิศทางเดียวกับดัชนีเดือนพฤษภาคมและเดือนมิถุนายน 2563

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นต่อยอดขายสาขาเดิมแยกตามภูมิภาค ทางด้านดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการต่อยอดขายเดิมรายภูมิภาค ปรับลดลงจากเดือนธันวาคมในทุกภูมิภาค สะท้อนถึงสภาวะความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 อย่างชัดเจน

โดยเฉพาะภาคกลางซึ่งได้รับผลกระทบจาก super spreader ที่ตลาดกุ้งสมุทรสาคร รวมทั้งกรุงเทพ และปริมณฑล ที่มีอาณาเขตต่อเนื่องจากจังหวัดสมุทรสาคร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีแนวโน้มการบริโภคที่ขยายตัวได้ปานกลาง เนื่องจากประชากรส่วนหนึ่งเคลื่อนย้ายจากอุตสาหกรรมสู่ภูมิลำเนา ผสานกับแรงหนุนจากมาตรการของภาครัฐในการสนับสนุนสภาพคล่องและการใช้จ่าย ซึ่งจะช่วยประคับประคองการบริโภคภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้เมื่อเทียบกับภาคอื่น ๆ

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการมองว่าแนวโน้มในอีก 3 เดือนข้างหน้า ดัชนีความเชื่อมั่นจะเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาคเช่นกัน เนื่องจากมั่นใจว่าภาครัฐมีบทเรียนจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกแรกเมื่อไตรมาสที่สอง 2563 และคาดหวังว่าคงต้องมีมาตรการเยียวยาและกระตุ้นการใช้จ่ายจากภาครัฐเช่นที่ผ่านมา

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นแยกตามประเภทร้านค้าเปรียบเทียบระหว่างเดือนมกราคมและเดือนธันวาคมที่ผ่านมา พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทุกประเภทของร้านค้าปลีกลดลงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะร้านค้าปลีกประเภทห้างสรรพสินค้าและร้านค้าปลีกร้านอาหาร ซึ่งได้รับผลกระทบของมาตรการภาครัฐที่ประกาศปิดศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้าและร้านอาหารในเวลา 3 ทุ่ม

อย่างไรก็ตาม ผลจากการใช้มาตรการการทำงานจากบ้าน (WFH) ทำให้ร้านค้าวัสดุก่อสร้าง ซ่อมบำรุง เฟอร์นิเจอร์ กลับมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นสวนทางกลับดัชนีความเชื่อมั่นร้านค้าปลีกอื่น ๆ

ด้านผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า มีความวิตกต่อการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ค่อนข้างมากสะท้อนถึงความเชื่อมั่นในเดือนมกราคม 2564 ที่ลดลงอย่างทันที ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางระดับที่ 50 หรือลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่งอย่างชัดเจน ในขณะที่ในเดือนธันวาคม 2563 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยกลางระดับที่ 50 ทั้งนี้สำหรับแนวโน้มดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้ายังคงมีความเชื่อมั่นที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยกลาง

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ ร้านค้าปลีกประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นในเดือนมกราคม ลดลงมากและรวดเร็ว จากที่ดัชนีความเชื่อมั่นเดือนธันวาคมยังอยู่เหนือระดับค่าเฉลี่ยกลางที่ระดับ 50 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นการจับจ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่หดตัวลงอย่างมาก เมื่อเทียบดัชนีประเภทร้านค้าทั้งสามประเภท ดูเหมือนว่าผู้ประกอบการค้าปลีกไฮเปอร์มาร์เก็ต รู้สึกวิตกกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 มากกว่าผู้ประกอบการร้านค้าสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ต

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ตและซูเปอร์มาร์เก็ตกลับมีความเชื่อมั่นที่สูงขึ้น สูงกว่าเกณฑ์ค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นต่อมาตรการภาครัฐที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจใน 3 เดือนข้างหน้า

พร้อมกันนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการประเภท ร้านค้าวัสดุก่อสร้าง ในเดือนมกราคม มีความเชื่อมั่นดีขึ้นสวนทางกับทิศทางของดัชนีความเชื่อมั่นร้านค้าประเภทอื่น ๆ ที่ลดลงอย่างรุนแรง

สะท้อนได้ว่าร้านค้าวัสดุก่อสร้าง ได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และการปรับวิถีทำงานจากที่บ้าน (WFH) ทำให้มีความนิยมในการปรับภูมิทัศน์ภายในที่อยู่อาศัย ประกอบกับช่วงจัดซื้อจัดจ้างงบประมาณก่อสร้างภาครัฐ และวัสดุอุปกรณ์การก่อสร้างมีการปรับราคาที่สูงขึ้น

ผลจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ ประเภทร้านอาหาร ภัตตาคาร และเครื่องดื่ม มีความเชื่อมั่นที่ลดลงอย่างมีนัยยะชัดเจน มากกว่าร้านค้าประเภทอื่นๆ และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 ค่อนข้างมากและเมื่อเทียบกับความเชื่อมั่นในเดือนธันวาคม 2563 ก็ยังลดต่ำลงอย่างเห็นได้ชัดเจน ซึ่งอาจเป็นเพราะร้านอาหารมักเป็นธุรกิจที่อ่อนไหวต่อการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 และอาจได้รับผลกระทบจากมาตรการจำกัดเวลาการให้บริการและจำนวนการให้บริการแต่ละรอบที่ลดลงจากมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม

นายญนน์ กล่าวว่า การประเมินผลกระทบต่อยอดขายและกำลังซื้อและผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ จากมุมมองผู้ประกอบการ คือ 1.) ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบด้านยอดขาย ที่ลดลง 10-30% 2.) ผู้ประกอบการกล่าวว่า ด้วยยอดขายที่หายไป สภาพคล่องที่เหลืออยู่จะสามารถดำเนินธุรกิจได้อีกไม่เกิน 6 เดือน หากไม่มีมาตรการเยียวยาและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ตรงเป้า 3.) ผู้ประกอบการกว่า 80% ประเมินว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงมากว่า 25% เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม ปี 2563

สำหรับข้อ 4.) หากเปรียบเทียบยอดขายจากมาตรการ "ช้อปดีมีคืน" เมื่อช่วงสิ้นปี 2563 (วงเงิน 30,000 บาท) เมื่อเทียบกับมาตรการช้อปช่วยชาติ (วงเงิน 15,000 บาท) ในปี 2561 - 2562 ผู้ประกอบการ 55% ตอบว่า มียอดขายเท่าเดิมและน้อยกว่าเดิม ขณะที่ผู้ประกอบการ 43% ตอบว่า ยอดขายเพิ่มขึ้นไม่ถึง 25% และมีเพียง 2% ที่ตอบว่า ยอดขายเพิ่มขึ้นมากกว่า 25%

ขณะที่ 5.) ผู้ประกอบการกว่า 90% อยากให้ภาครัฐเปิดโอกาสให้เข้าร่วมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ อย่างเท่าเทียมกัน อาทิ โครงการคนละครึ่ง 6.) ผู้ประกอบการเสนอแนะให้ภาครัฐช่วยเหลือเรื่องสภาพคล่องอย่างเร่งด่วน ด้วยมาตรการภาษีลดภาระค่าใช้จ่าย และ สนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) แก่ผู้ประกอบการโดยเร็ว เนื่องจากด้วยสภาพคล่องที่เหลืออยู่จะสามารถดำเนินธุรกิจได้ไม่เกิน 6 เดือน

อย่างไรก็ตาม ข้อ 7.) ผู้ประกอบการอยากให้ภาครัฐประกาศการจ้างงานเป็นรายชั่วโมง เพื่อให้สอดคล้องกับการบริการต่อผู้บริโภคที่มาเป็นช่วงเวลา โดยให้ใช้กับธุรกิจค้าปลีกและร้านอาหารเป็นการเฉพาะก่อน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชา Business Analytics and Intelligence และ Actuarial Science and Risk Management คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้โพสต์ลงเฟซบุ๊ก Arnond Sakworawich เล่าเรื่อง คนเนรคุณสองแผ่นดิน

"แม่รักลูกไม่เท่ากัน

ลูกชายคนเล็ก แม่รักมากที่สุด ได้ดั่งใจ สนใจทำมาค้าขายอย่างเดียว แต่งงานกับหญิงสาวลูกพ่อค้าตระกูลดังร่ำรวยอันดับต้น ๆ ของประเทศ

ปีแรกเปิดบริษัทค้าที่ดิน ทำกำไรเข้ากงสีได้ 800 ล้านบาท ปีสอง ทำกำไรได้อีก 800 ล้านบาท ปีที่ 3 ต้องการทำให้ได้ 1,000 ล้านบาท ทำสารพัดวิธี ตั้งแต่ให้สินบนเพื่อให้ได้ที่ดินของพระเจ้าแผ่นดิน ไม่ใช่แปลงนี้แปลงแรกหรอกที่ทำ เป็นแปลงที่สองที่พยายามจ่ายสินบน ยังมีปัญหาใช้คนยังกะขี้ข้ากดขี่แรงงาน ไม่ยอมจ่ายโบนัสพนักงานจนเดือนเมษายนก็ทำมาแล้ว

แม่รักลูกชายคนเล็กสุดนี้ดั่งแก้วตาดวงใจ ไม่สนใจการเมือง หาเงินเก่งสุด ๆ ว่านอนสอนง่าย หัวอ่อน

พอมีคดีขึ้นมา แม่ก็ทุกข์ใจหนักมาก ห่วงลูกชายคนเล็กคนนี้มากที่สุด รักสุดหัวใจ รักมากกว่าพี่น้องท้องเดียวกันที่ตัวเองคลอดออกมาทุกคน

"แม่" ไม่ได้คิดเลยว่า จริง ๆ แล้วคดีบุกรุกที่ป่าของชาติของตัวเองนั้น จะทำให้ตนเองได้เข้าคุกตอนแก่ได้โดยง่าย ๆ หลักฐานมัดแน่นมากที่สุด ทั้งภาษีดอกหญ้า ทั้ง น.ส.2 ก. แม่ยังคิดว่าตัวเองสบายๆ ส่วนหนึ่งอาจจะไม่มีสำนึกคิดว่าตัวเองคงวิ่งคดีในศาลได้ อย่างที่เคยทำมาเสมอ อีกส่วนหนึ่งก็อาจจะเกิดจากความรักและแสนห่วง กลัวลูกชายคนเล็กสุดที่รักจะต้องติดคุก ห่วงลูกรักลูกมากกว่ารักและห่วงตัวเอง

สำหรับลูกชายคนโต เป็นลูกชังที่แม่ไม่ชอบเลย แต่ในความเป็นแม่ลูก ก็ตัดไม่ได้ ขายไม่ขาดหรอก ลูกชายคนโตแม้จะเก่งในเชิงค้าขาย ไล่คนงานออกได้ทั้งโรงงานเพื่อให้ธุรกิจมีกำไรและอยู่รอด มีความอำมหิตผิดไปจากเตี่ยที่รักลูกน้องและดูแลลูกน้องเป็นอย่างดี

ไอ้ลูกชายคนโตคนนี้เวลาทะเลาะกับคนในบ้าน คนในบ้านหนีปิดประตู มันก็วิ่งเอาขวานมาจามประตูจะเข้าไปทะเลาะต่อ

แล้วก็มีความทะเยอทะยาน อยากเป็นฮีโร่ล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ได้

ลูกคนนี้ ไม่ได้ดั่งใจ แต่ด้วยหัวอกคนเป็นแม่ ก็ต้องปกป้องลูก ไม่รัก แต่ก็ห่วง และตัดไม่ขาด แม่เองก็ต้องยอมรับเหมือนกันกับคนสนิทว่ารักลูกไม่เท่ากัน

พอลูกก่อเรื่องแต่ละที แม่ก็ต้องวิ่งเต้นเส้นสาย หาผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านในเมือง ให้มาช่วยลูกให้หลุดพ้นคดี ในความเป็นแม่ ลูกจะเลวอย่างไรก็ยังรัก และตัดไม่ขาดหรอก

เมื่อสิบปีก่อน ลูกชายทำหนังสือขาย แต่เป็นหนังสือผิดกฎหมาย เขาจะดำเนินคดี แม่ก็ไปหาผู้ใหญ่ให้ช่วย ผู้ใหญ่ท่านยอมช่วย แต่ขอสัญญาว่าจะไปสั่งสอนลูกชายคนโต ไม่ให้ล้มเจ้า

พอแม่ไปพูด ลูกชายคนโตผู้ก้าวร้าว ก็ "ตัดขาด" ความเป็นแม่ลูกทันที แล้วไม่พูดกับแม่เป็นปี ๆ ไม่ยอมให้แม่เข้าบ้านตัวเอง ไม่ยอมให้แม่พบหลาน สุดท้ายแม่ทนไม่ได้ มาขอโทษลูกชายบังเกิดเกล้า ขอคืนดี และต้องสนับสนุนลูกทุกทาง เพราะกลัวลูกจะตัดแม่ตัดลูก

เออ มันเนรคุณแม่มันได้ อย่าได้แปลกใจที่มันจะเนรคุณทุกแผ่นดิน ไม่ว่าจะแผ่นดินของบรรพบุรุษ หรือแผ่นดินเกิด

ไอ้คนเนรคุณสองแผ่นดินและเนรคุณมารดา ยังมีปมอะไรกับพ่อมันที่เป็นคนดีแต่อายุสั้น ไม่ทันได้เห็นความเลวระยำของลูกชาย รีบตายไปก่อนด้วยโรคมะเร็ง แต่พ่อตั้งโรงงานไว้ให้ ลูกก็แปลกเอาประวัติและคุณงามความดีของพ่อออกจากเว็บไซต์ของบริษัทที่พ่อตั้งมาเองออกจนหมด

เฮ้อ บ้านเมืองเรามีกรรม ได้คนเนรคุณบิดามารดา และคนเนรคุณสองแผ่นดิน มาปลุกปั่นยุยงให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง

กรรมหนักของประเทศจริง ๆ"


ที่มา: https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=10159249623242728&id=784302727

https://mgronline.com/onlinesection/detail/9640000012149


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top