Thursday, 15 May 2025
ค้นหา พบ 48079 ที่เกี่ยวข้อง

ราเมศ เผย 6 กค สุชาติ รอง ปธ คนที่ 1 นัด ประชุมวิป 4 ฝ่าย ประเมินสถานการณ์ 

นายราเมศ รัตนะเชวง เลขานุการประธานรัฐสภา ได้กล่าวถึงความเคลื่อนไหวต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ในส่วนของการประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้มอบหมายให้ นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 นัดประชุมวิป 4 ฝ่าย ในวันอังคารที่ 6 ก.ค.นี้ เวลา 10.30 น.

ซึ่งจะประกอบด้วยฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายวุฒิสภา และฝ่ายตัวแทนคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อหารือในเรื่องพิจารณาแนวทางการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด 19 ว่าจะดำเนินการประชุมต่อหรือไม่อย่างไร ประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งหากมีความจำเป็นต้องดำเนินการประชุม จะมีมาตรการการป้องกันเพื่อความปลอดภัย อย่างไร ขณะนี้ต้องรอการพิจารณาของที่ประชุม 4 ฝ่ายก่อน ว่าจะมีความคิดเห็นอย่างไร

นายราเมศกล่าวต่อว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎรในสัปดาห์หน้ามีเรื่องค้างการประชุม เพื่อพิจารณาญัตติด่วนที่ ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล เสนอญัตติด่วนด้วยวาจา เพื่อเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาโควิด-19 อย่างเร่งด่วน และมีร่างพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ…..ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา และร่างกฎหมายอีกหลายฉบับ 

ในส่วนของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฏรและสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ยังคงมีมาตรการป้องกันที่เข้มข้นอยู่แล้ว เพื่อให้การดำเนินงานในกิจการของทั้งสองสภาสามารถขับเคลื่อนทำงานไปได้ เพราะยังคงมีภารกิจงานประจำที่มีเจ้าหน้าที่สลับกันมาทำงานในจำนวนที่พอดีกับงาน ส่วนหนึ่งก็ทำงานที่บ้านเพื่อเป็นการป้องกัน และในส่วนของประชาชนที่จะเดินทางมาร้องทุกข์ต่อประธานรัฐสภา

หากเป็นไปได้ช่องทางที่สะดวกที่สุดคือการส่งเป็นหนังสือมายังรัฐสภา เขียนหน้าซองถึงประธานรัฐสภา หรือส่งอีเมล และช่องทางผ่านเว็บไซต์ ยืนยันว่าหนังสือร้องทุกข์ถึงมือ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาทุกฉบับ และผมในฐานะเลขานุการประธานรัฐสภาก็จะนำมาสรุปรายงานแถลงข่าวประจำสัปดาห์ว่ามีประชาชนเดือดร้อนร้องเรียนเรื่องอะไรมาบ้าง เพราะหากเดินทางมายื่นด้วยตนเองก็จะเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดด้วย นายชวนย้ำให้คณะทำงานทุกคนใส่ใจปัญหาของพี่น้องประชาชนในสถานการณ์เช่นนี้ต้องทุ่มเททำงานกันให้เต็มที่ สภาพร้อมรับใช้ประชาชนทุกคน ในทุกสถานการณ์

“ไพบูลย์” ยกเครื่อง ระเบียบ "วินัย-จริยธรรม" คนพปชร. วางบทลงโทษ 3 ระดับ พร้อมตั้งคกก. รักษาวินัยตามประมวลจริยธรรม จ่อชง บิ๊กป้อม-กก.บห. เคาะ

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้า ฝ่ายกฎหมายพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการร่างระเบียบว่าด้วยการรักษาวินัยตามประมวลจริยธรรมของสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ พ.ศ.2564 หลังร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช. เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรค มอบหมายให้ปรับปรุงจัดทำร่างใหม่เพื่อให้พลังประชารัฐเป็นระบบมากขึ้นว่า ใกล้เสร็จแล้ว เชื่อว่าทันเสนอต่อที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคในวันที่ 6 ก.ค.แต่ทั้งนี้ต้องนำเสนอหัวหน้าพรรคก่อน โดยสาระสำคัญเป็นเรื่องวินัยและจริยธรรมที่สมาชิกพรรคต้องปฏิบัติ อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ทำแล้วมีการร้องเรียนมาจะต้องตรวจสอบโดยคณะกรรมการรักษาวินัยตามประมวลจริยธรรม ซึ่งจะตั้งขึ้นหลังร่างนี้ประกาศใช้ 
        
ขณะที่ถ้าฝ่าฝืนระเบียบนี้ จะมีบทลงโทษ 3 ระดับ ได้แก่ 1.ว่ากล่าวตักเตือนอาจจะแจ้งประกาศให้สมาชิกทราบโดยทั่วไปว่ากระทำผิด 2.ตัดสิทธิ์ต่างๆที่จะได้รับการคัดเลือกตำแหน่งต่างๆจากสัดส่วนของพรรค รวมทั้งอาจจะถูกตัดสิทธิ์ไม่ส่งลงสมัครรับเลือกตั้ง และ3.ขับออกจากสมาชิกพรรคกรณีฝ่าฝืนระเบียบพรรคขั้นร้ายแรง
          
ทั้งนี้ รวมถึงการใช้วาจาต่างๆ ซึ่งการแสดงความคิดเห็นทำได้ แต่ต้องไม่มีผลกระทบต่อสมาชิกพรรคคนอื่น ต้องใช้วาจาสุภาพ ไม่ส่อเสียด ไม่ใส่ร้ายกัน ทั้งนี้ ถือเป็นการจัดระเบียบ การกระทำอะไรบ้างที่ทำจะกลายเป็นปัญหาขัดต่อจริยธรรมหรือวินัยของพรรคจะได้รู้และไม่ปฏิบัติ จะทำให้พรรคมีระเบียบวินัยมากขึ้นให้สมาชิกพรรคอยู่ด้วยกันเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีความขัดแย้งกัน 

ศรีสุวรรณ จ่อร้อง ดีเอสไอ สอบ รฟท.  ก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ส่อ ทุจริต

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ตรวจสอบติดตามโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา หรือรถไฟไทย-จีน ระยะทาง 253 กม. วงเงิน 179,413 ล้านบาท ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กระทรวงคมนาคม ซึ่งมีการแบ่งการก่อสร้างงานโยธาเป็น 14 สัญญา ซึ่งขณะนี้ผู้รับเหมาโครงการแต่ละสัญญากำลังดำเนินการก่อสร้างให้เป็นไปตามสัญญา ซึ่งจะประกอบไปด้วยโครงสร้างยกระดับสำหรับวางรางรถไฟความเร็วสูง โครงสร้างทางรถไฟบนดิน นอกจากนี้ยังมีงานก่อสร้างโรงซ่อมรถไฟ และอาคารประกอบอีก หลายอาคาร โดยมีบริษัทที่ปรึกษาจากประเทศจีนร่วมทำงานกันอย่างใกล้ชิดนั้น

แต่จากการตรวจสอบบางสัญญาพบความผิดปกติในการก่อสร้างและการดำเนินงานซึ่งอาจไม่เป็นไปตามข้อสัญญาการจ้าง หรือ ทีโออาร์ หลายจุด อาทิ การวางรางรถไฟ ซึ่งตามสัญญาจะต้องใช้รางเหล็กคุณภาพดีที่มีปีการผลิตในปี 2019 เท่านั้น แต่ปรากฏว่ามีการสอดใส้นำรางเหล็กเก่าที่ผลิตในปี 2013 และปี 2014 มาสอดใส้ใช้สลับแทนในบางจุดเพื่อตบตาผู้ตรวจสอบ (ซึ่งอาจไม่ได้ลงดูพื้นที่จริง)โดยเบื้องต้นพบว่ามีการนำรางเก่ามาใช้ทั้งหมด 48 ท่อน แยกเป็นปี 2013 จำนวน 28 ท่อน(PZH2013) ปี 2014 จำนวน 20 ท่อน(BISG2014) โดยตรวจพบในจุดที่ Sta.3+513 ไปจนถึงจุด 4+113 ซึ่งการสอดใส้นำรางเก่ามาใช้แทนรางใหม่จะทำให้ผู้รับเหมาประหยัดเงินไปได้อย่างมาก ซึ่งปัญหาดังกล่าวทราบมาว่าทางบริษัทที่ปรึกษาจากประเทศจีนได้ตรวจพบแล้ว และได้ทำหนังสือรายงานไปยังผู้จัดการโครงการฯของ รฟท.แล้ว แต่ทว่าเรื่องกลับเงียบไป เป็นที่น่าพิรุธ

นอกจากปัญหาการสอดไส้การนำรางเก่ามาใช้แล้ว ยังมีปัญหาการนำรถกระบะยี่ห้อหนึ่งมาใช้ในโครงการโดยในสัญญาระบุว่าต้องเป็นรถที่มีแรงม้า 2,900 แรงม้า แต่เอามาใช้จริงกลับเป็นรถที่มีแรงม้าเพียง 2,200 แรงม้าเท่านั้น อาจไม่ตรงกับสเปกตามสัญญา และยังพบว่าการก่อสร้างอาคารสำนักงานจำนวน 3 อาคาร ที่ อ.ปากช่อง พบว่ามีการก่อสร้างเกินไปกว่าแบบแปลนที่กำหนดจากพื้นที่ใช้สอย 1,550 ตร.ม. กลับเพิ่มเป็น 1,940 ตร.ม. ทำให้ค่าก่อสร้างเพิ่มมากขึ้น ค่าบริหารจัดการเพิ่มมากขึ้น และยังไม่มีฉนวนกันความร้อนบนผ้าเพดานไม่เป็นไปตามแบบที่กำหนดอีกด้วย และเฟอร์นิเจอร์ภายในอาคารโครงการฯพบว่ามีการจัดซื้อจัดหามาใช้ในราคาที่แพงกว่าราคาตลาดที่ซื้อขายกันโดยทั่วไปหลายเท่ามาก และยังพบข้อพิรุธอื่น ๆ อีกมากมาย

โดยในวันจันทร์ที่ 5 ก.ค.64 เวลา 10.00 น.ไปยื่นที่สำนักงาน DSI ศูนย์ราชการฯ ถ.แจ้งวัฒนะ สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จะนำพยานหลักฐานทั้งหมดไปร้องเรียน ให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ทำการตรวจสอบว่าโครงการรถไฟไทย-จีนดังกล่าว มีการทุจริตคอรัปชั่นกันหรือไม่ หากพบความผิด และมีใครเกี่ยวข้องและต้องรับผิดชอบบ้าง จะได้ดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายต่อไป 

โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯ เดินหน้า ยุทธศาสตร์ชาติก้าวสู่รัฐบาลดิจิทัลอย่างสมบูรณ์-ยูเอ็น จัดไทย อยู่ในกลุ่มที่มีการพัฒนา รัฐบาลดิจิทัล ระดับสูงมาก

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผย ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้วางแนวนโยบายและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อการก้าวเป็นรัฐบาลดิจิทัล ยกระดับความโปร่งใส ตรวจสอบได้หรือการเป็นรัฐบาลเปิด (Open Government) อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนและ ส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงเพิ่มการได้รับความเชื่อใจจากประชาชน (Public Trust)

นายอนุชา กล่าวว่า องค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศผลการสำรวจรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ประจำปี 2020 หรือ UN E-Government Survey 2020 อันประกอบไปด้วยการประเมินระดับการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศต่างๆ ใน 3 ดัชนี ได้แก่ ดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (E-Government Development Index: EGDI) ดัชนีการมีส่วนร่วมทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Participation Index: EPI) และดัชนีการให้บริการภาครัฐออนไลน์ในระดับท้องถิ่น (Local Online Service Index: LOSI) โดยผลการจัดอันดับดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ประจำปี พ.ศ.2563 ไทยได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับที่ 57 จาก 193 ประเทศ ซึ่งไทยได้รับตำแหน่งที่ดีขึ้นอย่างมาก จากอันดับที่ 73 ในปี 2561 และอันดับที่ 77 ในปี 2559 มีการพัฒนาในด้านการเป็นรัฐบาลดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งองค์การสหประชาชาติจัดไทยให้อยู่ในกลุ่มที่มีการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลในระดับสูงมากโดยหากพิจารณาในรายละเอียดแต่ละด้าน ไทยได้รับคะแนนด้านการให้บริการออนไลน์ (Online Service Index: OSI) และโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม (Telecommunication Infrastructure Index: TII) เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ในระดับอาเซียน ไทยอยู่ในอันดับที่ 3 รองจากสิงคโปร์ (อันดับที่ 11 ของโลก) และมาเลเซีย (อันดับที่ 47 ของโลก) ตามลำดับ 

นายอนุชา กล่าวว่า ในรายงานดังกล่าวได้เปิดเผยถึง ดัชนีการมีส่วนร่วมทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Participation Index: EPI) ซึ่งประเมินการใช้เครื่องมือดิจิทัลในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการกำหนดทิศทางการทำงานของภาครัฐ ได้แก่ การเปิดช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อรับฟังความคิดเห็นมากขึ้น ในการกำหนดนโยบาย ร่างกฎหมาย การใช้จ่ายงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้าง ตลอดจน การร้องเรียนการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ ไทยได้รับการจัดให้อยู่อันดับที่ 51 ปรับตัวขึ้นมาจากอันดับที่ 82 ในปี 2561 ซึ่งคงเป็นอันดับที่ 3 ในอาเซียน รองจากสิงคโปร์ (อันดับที่ 6 ของโลก) และมาเลเซีย (อันดับที่ 29 ของโลก) ตามลำดับ

นายอนุชา กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินนโยบายเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลอย่างเข้มข้น โดยได้กำหนดเป็นแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2563-2565 จึงส่งผลให้ประเทศได้รับการยอมรับและการจัดอันดับที่ดีในเวทีโลก และพร้อมวางแนวทางสู่อนาคตอย่างต่อเนื่อง

รัฐบาลดันอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทยสู่ตลาดโลก 

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์กำลังขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ครอบคลุม ภาพยนตร์/ซี่รี่ออนไลน์ แอนิเมชั่น เกม การ์ตูน และคาแรคเตอร์ โดยกำหนดแผนดำเนินการในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งประกอบด้วย การพัฒนาผู้ประกอบการทั้งด้านการสร้างองค์ความรู้ การสร้างแรงบันดาลใจ การขยายตลาดต่างประเทศ รวมถึงการขายผลงานและเจรจาผ่านระบบออนไลน์ 

ทั้งนี้คาดว่าจะนำไปสู่การซื้อขายผลงานของผู้ประกอบการไทย มูลค่ารวมประมาณ 3,600 ล้านบาท ตลาดที่มีศัยภาพของผู้ประกอบการไทย คือ ตลาดญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน เนื่องจากมีอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ขนาดใหญ่ทั้งด้านแอนิเมชั่นและคาแรคเตอร์ และมีแนวโน้มที่จะว่าจ้างผู้ประกอบการต่างชาติอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบการจ้างผลิตและร่วมกันผลิต

สำหรับในช่วง 2 ปีหลัง ผลงานของผู้ประกอบการไทย ได้รับความสนใจอย่างมากในตลาดต่างประเทศ ทั้ง จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และลาตินอเมริกา มีมูลค่าตลาดรวมกว่า 1 พันล้านบาท ถือได้ว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการผลิตคอนเทนท์ซีรีวายระดับโลกและเป็นอันดับหนึ่งในเอเซีย ซึ่งในปีที่ผ่านมามีผู้ชมเพิ่มขึ้นกว่า 328% ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ

น.ส.รัชดา กล่าวถึงอุตสาหกรรมเกมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ด้วยว่า กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วตามการพัฒนาของเทคโนโลยี และประเทศไทยไทยถือเป็นที่หนึ่งในอาเซียน มีโอกาสขยายสู่ตลาดโลก โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) รายงานว่า ปีที่แล้ว อุตสาหกรรมเกมในประเทศ ขยายตัวสูงขึ้น14-15% คิดเป็นมูลค่า 29,000 ล้านบาท 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top