4 เหตุผล ที่ยังไม่ควรแก้ ‘มาตรา112’

ไม่นานมานี้ คุณอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้า ได้เปิดเผยในรายการ Click on Clear THE TOPIC EP.81 เกี่ยวกับเหตุผลที่ ทำไม…ไม่ควรแก้ ‘มาตรา 112’ ว่า...

จุดยืนของผมและพรรคกล้า ชัดเจนว่า ‘มาตรา 112’ ไม่ควรยกเลิก และไม่ควรแก้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์แบบนี้ เพราะว่าถ้าเราไปแก้ไข มันจะทำให้การหมิ่นเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางมากขึ้น บ่อเกิดแห่งความขัดแย้งมันก็ยังอยู่เหมือนเดิม 

ประการแรก คือ หากเกิดการแก้ไขมาตรา 112 แล้วเกิดการหมิ่นมากขึ้น สิ่งที่ตามมาเป็นประการที่สอง คือ จะเกิดการชุมนุม และเกิดการปะทะกันทั้ง 2 ฝั่งมากขึ้น

ทำไมถึงจะการเกิดการปะทะกันทั้ง 2 ฝั่ง เนื่องจากผลการดำเนินคดีของมาตรา 112 ขณะนี้ที่เราเห็นอยู่มีราษฎรเป็นโจทก์ฟ้อง หรือเป็นผู้กล่าวโทษ ร้องทุกข์อยู่ครึ่งหนึ่ง ถ้าเกิดมองว่าเพราะเป็นเรื่องที่รัฐเข้าแกล้ง หรือไปดำเนินการมาตรา 112 โดยตรง แต่ความเป็นจริงแล้วคนที่มาแจ้งความส่วนมากคือราษฎร นี่คือข้อเท็จจริง!!

ส่วนประการที่สามนั้น คือ โอกาสในการนำไปสู่รัฐประหารอีกครั้ง เนื่องจากว่า ‘พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา’ นายกรัฐมนตรี จะอยู่ครบ 8 ปีไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญ และวันที่ท่านต้องครบคือ เดือน สิงหาคม ในปีหน้า (2565) เพราะฉะนั้นวันนี้จนถึงสิงหาคมปีหน้า ผมมองว่าถ้าการเมืองไม่เกิดวิกฤตอีกระรอก เชื่อว่าท่านก็คงไม่ได้อยู่ในตำแหน่งนี้แล้ว และรอติดตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในอนาคต

ฉะนั้นถ้าเราเชื่อเรื่องกลไกของประชาธิปไตย ก็อย่าพึ่งไปทำให้เกิดแรงกระเพื่อม เพราะตอนนี้วิกฤตที่เกิดขึ้นคือ วิกฤตเศรษฐกิจ และวิกฤตโรคระบาด ไม่ใช่วิกฤตการเมือง แต่ถ้าเรามาทำให้เกิดเป็นวิกฤตการเมืองแล้วล่ะก็ ตอนเลือกตั้งทุกคนก็จะเลือกด้วยความเกลียด และความกลัว 

และนั่นก็แปลว่าเราทุกคนตกอยู่ในเครื่องมือของการแบ่งแยกคนเป็น 2 ฝั่ง ซึ่งโอกาสที่การแบ่งแยกคนอีกครั้งก่อนการเลือกตั้ง มันอาจจะกลายเป็นหัวข้อว่า ใครเห็นด้วยต่อกับปฏิรูปสถาบันไปฝั่งนี้ ใครให้ไม่เห็นด้วยไปฝั่งนี้ อย่าให้ใครมาแบ่งเราแบบนี้เด็ดขาด เพราะมันจะให้เราตัดสินใจด้วยความเกลียด และความกลัว

อรรถวิชช์ กล่าวอีกว่า ผมจะไม่ยอมให้เรื่องสถาบันกลายเป็นประเด็นการแบ่งแยกเด็ดขาด เพราะความเข้มแข็งของสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย จะเป็นองค์กรที่ยุติความขัดแย้งทางการเมืองได้ด้วย เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์มีส่วนอย่างยิ่งในการยุติและหลีกเลี่ยงการปะทะของบุคคลทั้ง 2 ฝ่ายเสมอ ดังนั้นถ้าเกิดว่าเราไปยุ่งเกี่ยวและดึงสถาบันเข้ามาข้องเกี่ยวทางการเมือง บ้านเมืองเราจะไปต่อไม่ได้ เพราะนี่คือความเข้มแข็งของรากฐานหรือรากเหง้าของคนไทย อย่าทำลายความเป็นไทยของเรา 

สำหรับกรณีกลุ่มวัยรุ่น นักเรียนหรือนักศึกษา เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองในมาตรา 112 อรรถวิชช์ ให้ความเห็นว่า...

ผมได้มีการดีเบตกับอาจารย์ ปิยะบุตร ว่าอาจารย์ปิยะบุตรไม่ได้โดนมาตรา 112 แต่ว่าเป็นน้อง ๆ ที่โดนมาตรา 112 จากการพูดบางอย่างลงไปสู่สังคมแล้วบาดใจคนที่เห็นต่าง ขณะที่อาจารย์รู้กรอบกฎหมายในการกล่าวถึงหรือวิพากษ์วิจารณ์สถาบัน จึงไม่เกิดผลอันใด

นอกจากนี้ หลายคนอาจจะมองว่าตัวบทกฎหมายมาตรา 112 มีโทษที่หนัก เพราะจำคุก 3-15 ปี ทำให้มีการหยิบยกมาเปรียบเทียบกับการหมิ่นคนธรรมดา หรือหมิ่นเจ้าหน้าที่

แต่แท้จริงแล้วมาตรา 112 ครอบคลุมโทษอยู่ 3 ประเด็น ได้แก่ 1.) ดูหมิ่น 2.) หมิ่นประมาท และ 3.) อาฆาตมาดร้าย 

ความรุนแรงของทั้ง 3 ประเด็นไม่เท่ากัน เช่น ในความหมายของ ‘ดูหมิ่น’ หากพูดภาษาชาวบ้าน จะหมายถึง การด่ากันด้วยคำหยาบ ส่วน ‘หมิ่นประมาท’ คือ เอาข้อเท็จจริงที่ไม่จริง มาใส่ความกัน ดังนั้น จะเห็นได้ว่าจากฐานของมาตรา 112 จะมีความกว้างมาก จึงทำให้นำมาซึ่งโทษที่สูง 3-15 ปี 

อย่างไรก็ตาม ก็มีคำถามว่า ทำไมไม่ยกโทษเกี่ยวกับการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น ให้เหลือเฉพาะทางแพ่ง และตัดคดีอาญาออกไป อรรถวิชช์ ชี้แจงว่า…

ถ้าจะตัดโทษประเภทนั้นออกทั้งหมด รวมถึงโทษหมิ่นสถาบันฯ ออกไปด้วย การกระทำเหล่านี้จะนำมาสู่ ‘ความไม่เท่าเทียม’ เพราะผู้ที่ได้เปรียบย่อมเป็นผู้ที่มีฐานะ หรือคนรวย เพราะเมื่อทำผิด ก็แค่ไปชดใช้ค่าสินไหม ค่าชดเชย ค่าทดแทน

หากถามว่าแก้ให้เหลือโทษปรับอย่างเดียวได้หรือไม่? ก็คงต้องเปรียบเทียบเหมือนการขับรถและใช้ความเร็วเกินกำหนดที่ปรับแต่เงิน ดังนั้นคนมีเงินย่อมได้เปรียบ เพราะไม่ต้องกังวลใจกับเรื่องเงิน และนั่นก็จะเป็นอีกจุดสำคัญที่ทำให้คนในประเทศเกิดความแตกแยก 

ฉะนั้น หากมองในเชิงของการปรับแก้ 112 จึงควรโฟกัสในรูปแบบของคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาเพื่อการกลั่นกรองเรื่องต่าง ๆ พร้อมรวบรวมเก็บสำนวนเก่า ๆ และเก็บสถิติให้เรียบร้อย เพื่อนำมาใช้เป็นบรรทัดฐานประกอบ ขณะเดียวกันทุกฝ่ายต้องเปิดกว้างและเปิดรับ ในการคงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างต่อเนื่องและตลอดไป 

ถึงกระนั้น โดยส่วนตัว นายอรรถวิชช์ ก็ยังไม่คิดว่าการยกเลิก หรือการแก้ มาตรา 112 ในขณะนี้จะเป็นทางออกที่ดีต่อประเทศเท่าไรนัก...