Friday, 9 May 2025
WORLD

ปรากฏตัวกลางม็อบประท้วงอิสตันบูล สร้างขวัญกําลังใจ ร่วมกับประชาชนนับพันที่เดือดจัด ต่อต้านจับกุมนายกฯ ‘เอเครม อิมาโมกลู’

(28 มี.ค. 68) สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า บรรยากาศการประท้วงในเมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี เต็มไปด้วยความตึงเครียด หลังประชาชนหลายพันคนออกมารวมตัวบนท้องถนนเพื่อแสดงความไม่พอใจต่อการจับกุม 'เอเครม อิมาโมกลู' นายกเทศมนตรีอิสตันบูล 

โดยการประท้วงซึ่งรายงานว่าเป็นการเคลื่อนไหวมวลชนครั้งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคในรอบหลายทศวรรษ เริ่มต้นขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากนายกเทศมนตรีอิสตันบูล เอเครม อิมาโมกลู ถูกจับกุมในข้อหาทุจริต 

อย่างที่ทรากันดีว่า เอเครมเป็นคู่แข่งสำคัญของประธานาธิบดีเรเจป ทายิป เออร์โดกัน ซึ่งโจมตีกลุ่ม LGBTQ+ สิทธิสตรี ประชาธิปไตย และประชาชนตุรกีส่วนหนึ่งเชื่อว่ากำลังนำประเทศเข้าสู่ระบอบเผด็จการและเผด็จการ

การชุมนุมดังกล่าวเต็มไปด้วยอารมณ์เดือดดาล แต่กลับมีจังหวะน่าประหลาดใจ เมื่อมีชายหรือหญิงในชุดมาสคอต 'พิคาชู' จากการ์ตูนดังอย่างโปเกมอนร่วมเดินขบวนอย่างฮึกเหิม สร้างสีสันให้กับบรรยากาศตึงเครียด บางช่วงยังมีการตะโกนคำขวัญเรียกร้องความยุติธรรมพร้อมกับยกกำปั้นขึ้นฟ้า ท่ามกลางเสียงหัวเราะและความสนใจจากกลุ่มผู้ประท้วง

อย่างไรก็ตาม ความน่ารักของพิคาชูกลับแปรเปลี่ยนเป็นความโกลาหลเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าควบคุมฝูงชนด้วยรถฉีดน้ำแรงดันสูง ทำให้ประชาชนแตกกระเจิง ขณะที่พิคาชูต้องวิ่งหนีไปพร้อมกับผู้ชุมนุมคนอื่น ๆ ท่ามกลางความชุลมุน

การจับกุมอิโมม็อกลู ซึ่งถูกกล่าวหาว่าดูหมิ่นเจ้าหน้าที่รัฐ ถูกมองว่าเป็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่อาจส่งผลกระทบต่อการแข่งขันทางการเมืองในอนาคต โดยผู้สนับสนุนของเขาเชื่อว่านี่เป็นความพยายามกำจัดคู่แข่งของแอร์โดอันในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง

แม้เหตุการณ์จะจบลงด้วยการสลายตัวของกลุ่มผู้ชุมนุม แต่ภาพของพิคาชูท่ามกลางฝูงชนยังคงกลายเป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวางในสื่อสังคมออนไลน์ พร้อมแฮชแท็ก #PikachuProtest ที่ถูกแชร์ไปทั่วโลก

‘ทรัมป์’ เปรยอาจลดภาษีนำเข้าจากจีน หากปักกิ่งยอมขาย TikTok ให้กับบริษัทต่างชาติ

(27 มี.ค. 68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า เขาอาจพิจารณาการลดอัตราภาษีการนำเข้าสินค้าจากจีน หากรัฐบาลจีนอนุมัติการขายแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียชื่อดัง “ติ๊กต๊อก” (TikTok) ให้กับบริษัทต่างชาติที่ไม่ใช่ชาวจีน ท่ามกลางความตึงเครียดด้านการค้าและความปลอดภัยทางไซเบอร์ระหว่างสองประเทศ

โดยช่วงระหว่างการให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบขาวเมื่อวานนี้ (26 มี.ค.) ทรัมป์ได้กล่าวว่า สหรัฐฯ พร้อมที่จะขยายระยะเวลาเพิ่มเติมให้กับบริษัท ByteDance เพื่อให้มีเวลาเพียงพอในการติดต่อทาบทามนักลงทุนรายอื่นๆ ที่จะมาซื้อกิจการ TikTok ภายในระยะเวลาใหม่ โดยในตอนแรกทางการสหรัฐฯ ได้กำหนดเส้นตายให้ ByteDance ตัดสินใจขายกิจการภายในวันที่ 5 เมษายน 2568 

“การขยายระยะเวลานี้เป็นการให้โอกาสในการเจรจาและทำให้การตัดสินใจในการขายกิจการเกิดขึ้นอย่างรอบคอบและไม่เร่งรีบ” ทรัมป์กล่าว

“หากจีนยอมให้การขาย TikTok สำเร็จ ผมก็ยินดีที่จะพิจารณาลดภาษีนำเข้าจากจีน เพื่อเป็นการตอบแทน” ทรัมป์กล่าว พร้อมระบุว่า นี่เป็นโอกาสที่ดีในการแก้ไขข้อพิพาทด้านการค้าระหว่างทั้งสองประเทศ

สำหรับ แอปพลิเคชั่น TikTok ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ได้รับความนิยมทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ และมีผู้ใช้ประมาณ 170 ล้านคนในอเมริกา ซึ่งถูกจับตามองจากหลายประเทศในเรื่องของการเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้งาน ซึ่งจีนสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ตามกฎหมายของประเทศตัวเอง จึงเป็นประเด็นสำคัญในการเจรจาทางการเมืองและการค้าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

แม้ว่าเรื่องการขายติ๊กต๊อกยังคงอยู่ในขั้นตอนการเจรจา แต่การเปิดเผยของประธานาธิบดีทรัมป์นี้อาจเป็นการบ่งชี้ถึงทิศทางที่รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องการให้จีนทำการตอบสนองต่อข้อเรียกร้องต่างๆ ในการแก้ไขข้อขัดแย้งที่มีอยู่

ทั้งนี้ การลดภาษีการนำเข้าเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางเศรษฐกิจที่ทรัมป์ใช้ในการเจรจาทางการค้า เพื่อผลักดันให้จีนยอมรับข้อตกลงต่างๆ ที่สหรัฐฯ ต้องการในการแก้ไขปัญหาทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ

จีนรุกคืบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล วางสายเคเบิลใต้น้ำ 70,000 กม. ครอบคลุม 3 มหาสมุทร เสริมศักยภาพอินเทอร์เน็ตข้ามทวีป

(27 มี.ค. 68) บริษัทเทคโนโลยีจากจีนกำลังเร่งขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมระดับโลก ด้วยการวางสายเคเบิลใต้น้ำลึกกว่า 70,000 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ในมหาสมุทรแปซิฟิก, มหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแอตแลนติก เพื่อเสริมศักยภาพการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตข้ามทวีป

โครงการสายเคเบิลใต้น้ำนี้เป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ของจีนในการขยายอิทธิพลด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลทั่วโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มความสามารถด้าน การสื่อสารโทรคมนาคม และรองรับ ความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

บริษัทจีนหลายแห่งได้รับบทบาทสำคัญในการดำเนินโครงการนี้ ซึ่งรวมถึง China Mobile, China Telecom และ China Unicom โดยคาดว่าเมื่อโครงการเสร็จสมบูรณ์ จะช่วยให้การเชื่อมต่อระหว่างภูมิภาคเป็นไปอย่าง รวดเร็วและมีเสถียรภาพมากขึ้น

การขยายโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำของจีน อาจส่งผลต่อการแข่งขันในตลาดโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบริษัทเทคโนโลยีจากสหรัฐและยุโรปที่ครองตลาดโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลมาอย่างยาวนาน ขณะเดียวกัน หลายประเทศเริ่มจับตาดูการลงทุนครั้งใหญ่ของจีน เนื่องจากอาจเกี่ยวข้องกับประเด็นด้านความมั่นคงทางไซเบอร์และข้อมูล

ปัจจุบัน สายเคเบิลใต้น้ำถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของอินเทอร์เน็ตทั่วโลก โดยมากกว่า 95% ของการส่งข้อมูลระหว่างประเทศพึ่งพาระบบเคเบิลใต้น้ำ ทำให้โครงการขนาดใหญ่ของจีนอาจ เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ด้านการสื่อสารทั่วโลก อย่างมีนัยสำคัญ

มู่ชุนโป๋ วิศวกรอาวุโสของสถาบันโทรคมนาคมจีนเปิดเผยว่า การขยายตัวของเครือข่ายสายเคเบิลใต้น้ำของบริษัทจีน ไม่เพียงแต่ช่วยให้การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตทั่วโลกมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ยังช่วย ลดต้นทุนเครือข่าย สำหรับประเทศกำลังพัฒนา และส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล

นอกจากนี้ มู่ชุนโป๋เปรียบเทียบว่า สายเคเบิลใต้น้ำเพื่อการสื่อสาร มีความสำคัญไม่ต่างจาก คลองสุเอซ หรือ รถไฟด่วนจีน-ยุโรป เนื่องจากเป็น โครงสร้างพื้นฐานระดับโลก ที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการเชื่อมโยงระหว่างประเทศ โดยโครงการนี้จะช่วยให้ ประเทศกำลังพัฒนา สามารถเข้าถึงโครงข่ายอินเทอร์เน็ตคุณภาพสูงได้ในราคาที่ถูกลง

ทั้งนี้ ในยุคที่การสื่อสารทางดิจิทัล กลายเป็นหัวใจของเศรษฐกิจโลก มู่ชุนโป๋เน้นย้ำว่า การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านเครือข่ายจะช่วยสร้างงานและขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกไปข้างหน้า โดยสายเคเบิลใต้น้ำของจีนอาจเป็นหนึ่งในโครงการที่มีอิทธิพลสูงสุดต่อระบบอินเทอร์เน็ตในอนาคต

‘ทรัมป์’ ประกาศเก็บภาษี 25% สำหรับรถยนต์นำเข้า ยกเว้นเพื่อนบ้านแคนาดาและเม็กซิโก

(27 มี.ค. 68) สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลงนามคำสั่งเรียกเก็บภาษีศุลกากร 25% สำหรับรถยนต์ทุกคันที่ไม่ได้ผลิตในสหรัฐฯ โดยมาตรการนี้มีผลตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2025 และเริ่มเก็บภาษีในวันที่ 3 เมษายนนี้ 

ย้อนกลับไปเมื่อปีที่แล้ว สหรัฐอเมริกาได้นำเข้ารถยนต์ประมาณแปดล้านคัน คิดเป็นมูลค่าการค้าประมาณ 240,000 ล้านดอลลาร์ (186,000 ล้านปอนด์) และเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของยอดขายทั้งหมด

โดยมีเม็กซิโกเป็นซัพพลายเออร์รถยนต์ต่างชาติรายใหญ่ที่สุดให้กับสหรัฐอเมริกา รองลงมาคือเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น แคนาดา และเยอรมนี ซึ่งการเคลื่อนไหวล่าสุดของทรัมป์อาจส่งผลกระทบต่อการค้ารถยนต์และห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก

ทรัมป์ระบุว่ามาตรการนี้มีเป้าหมายเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมยานยนต์ของอเมริกาและกระตุ้นการผลิตภายในประเทศ พร้อมยืนยันว่า “รถยนต์ที่ผลิตในสหรัฐฯ จะไม่มีการเก็บภาษีศุลกากรเลย”

“เราต้องการให้บริษัทผลิตรถยนต์ในอเมริกา และสร้างงานให้กับชาวอเมริกัน” ทรัมป์กล่าวขณะลงนามคำสั่ง

อย่างไรก็ตาม ทำเนียบขาวกล่าวว่าคำสั่งดังกล่าวจะใช้ไม่เฉพาะกับรถยนต์สำเร็จรูปเท่านั้น แต่ยังรวมถึงชิ้นส่วนรถยนต์ด้วย ซึ่งมักจะถูกส่งจากประเทศอื่นก่อนที่จะมาประกอบในสหรัฐฯ แต่ภาษีศุลกากรใหม่นี้สำหรับชิ้นส่วนจากแคนาดาและเม็กซิโกจะได้รับการยกเว้น

ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า นโยบายดังกล่าวอาจทำให้ราคารถยนต์นำเข้าสูงขึ้น กระทบต่อผู้บริโภคในสหรัฐฯ และอาจนำไปสู่สงครามการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเมื่อวันพุธที่ป่านมา หุ้นของ เจเนรัลมอเตอร์ ร่วงลงราว 3% การเทขายหุ้นดังกล่าวได้ลามไปยังบริษัทอื่นๆ รวมถึง ฟอร์ด หลังจากที่ประธานาธิบดีได้กล่าวยืนยันถึงมาตรการภาษีดังกล่าว

ขณะที่ หลายบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ เช่น โตโยต้า, บีเอ็มดับเบิลยู และเมอร์เซเดส-เบนซ์ กำลังจับตาดูผลกระทบของมาตรการนี้ โดยบางบริษัทอาจต้องพิจารณาย้ายฐานการผลิตมายังสหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี

ส่วนประชาชนสหรัฐฯ บางส่วนกังวลว่ามาตรการนี้จะทำให้ราคารถยนต์สูงขึ้น แต่บางกลุ่มสนับสนุน โดยมองว่าเป็นแนวทางที่ช่วยส่งเสริมการผลิตในประเทศ

นายกรัฐมนตรีชิเงรุ อิชิบะของญี่ปุ่น กล่าวว่ารัฐบาลของเขาจะ “นำทุกทางเลือกมาพิจารณา” เพื่อตอบสนองต่อภาษีนำเข้าดังกล่าว

สำหรับญี่ปุ่นซึ่งมีโรงงานและบริษัทใหญ่ในอุตสาหกรรมยานยนต์หลายแห่ง ถือเป็นผู้ส่งออกรถยนต์เป็นอันดับสองของโลก โดยหุ้นของผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น ที่ประกอบด้วย โตโยต้า, นิสสัน, ฮอนด้า ร่วงลงในการซื้อขายช่วงเช้านี้ที่โตเกียว

บริษัทสั่งอาหารออนไลน์ชื่อดังของสหรัฐ เปิดแคมเปญใหม่ ‘ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง’ ผ่อนได้ 4 งวด แต่นักวิเคราะห์เตือนระวังหนี้พุ่ง

(27 มี.ค. 68) สำนักข่าวเอบีซี นิวส์ รายงานว่า DoorDash บริษัทสั่งอาหารและบริการจัดส่งอาหารออนไลน์ชั้นนำของสหรัฐ ประกาศความร่วมมือกับ Klarna บริษัทฟินเทคจากสวีเดน เพื่อให้บริการ 'ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง' (Buy Now, Pay Later - BNPL) สำหรับลูกค้าที่ใช้แพลตฟอร์มของตน โดยเปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถสั่งอาหารและชำระเงินในภายหลังได้

สำหรับบริการซื้อก่อน จ่ายทีหลัง (BNPL) ที่ DoorDash นำเสนอร่วมกับ Klarna จะช่วยให้ลูกค้าสามารถแบ่งจ่ายค่าอาหารออกเป็น 4 งวดโดยไม่มีดอกเบี้ย หรือเลือกชำระในภายหลังตามรอบเงินเดือนของตนเอง ซึ่งเป็นแนวทางที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซและบริการทางการเงิน

แม้ว่าบริการนี้จะช่วยเพิ่มทางเลือกและความสะดวกสบายให้กับลูกค้า แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินเตือนว่า การใช้ BNPL สำหรับการสั่งอาหารอาจนำไปสู่ปัญหาหนี้สินที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีความเปราะบางทางการเงิน

“โดยปกติแล้ว BNPL มักใช้สำหรับการซื้อสินค้าที่มีมูลค่าสูง เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าหรือสินค้าแฟชั่น แต่การนำมาใช้กับอาหารซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายประจำวัน อาจทำให้ผู้ใช้เกิดภาระหนี้สะสมโดยไม่รู้ตัว” ไคลา สแกนลอน นักวิเคราะห์การเงินกล่าว

ขณะที่ ผู้ใช้ X รายหนึ่งโพสต์เมื่อวันพฤหัสบดีเมื่อมีการประกาศความร่วมมือว่า “กินก่อน จ่ายทีหลัง? โลกาวินาศแห่งสินเชื่อกำลังจะมาถึง” 

อย่างไรก็ตามการที่ DoorDash เปิดให้ใช้ BNPL สะท้อนถึงสภาวะเศรษฐกิจที่ทำให้ผู้บริโภคต้องการความยืดหยุ่นทางการเงินมากขึ้น ขณะเดียวกัน ธุรกิจส่งอาหารเองก็ต้องหาแนวทางกระตุ้นยอดขายในช่วงที่ค่าครองชีพสูงขึ้น

ทั้งนี้ โฆษกของ Klarna กล่าวว่า ผู้คนจำนวนมากต้อง “ตัดสินใจอย่างมีเหตุผล” ที่จะใช้บริการ BNPL เพื่อช่วยจัดการเงินของพวกเขา และเสริมว่าฟีเจอร์ใหม่นี้จะใช้ได้เฉพาะกับการซื้อ DoorDash ที่มีมูลค่าอย่างน้อย 35 ดอลลาร์ (ราว 1,187 บาท) 

เดนมาร์กปรับนโยบาย บังคับเกณฑ์ทหารหญิง เพื่อความเท่าเทียมชาย เริ่มกรกฎาคม 2025

(27 มี.ค. 68) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2025 เป็นต้นไป ผู้หญิงชาวเดนมาร์กที่มีอายุ 18 ปี จะต้องเข้ารับการคัดเลือกเพื่อเข้ารับราชการทหาร เช่นเดียวกับผู้ชาย ซึ่งนับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในนโยบายการเกณฑ์ทหารของประเทศ 

เดนมาร์กกลายเป็นประเทศที่ 2 ในสหภาพยุโรปที่ใช้ระบบเกณฑ์ทหารสำหรับทั้งชายและหญิง โดยก่อนหน้านี้มีเพียงนอร์เวย์เท่านั้นที่ใช้แนวทางนี้ โดยรัฐบาลเดนมาร์กให้เหตุผลว่า การตัดสินใจครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญในการเสริมสร้างความเท่าเทียมทางเพศในกองทัพ และช่วยให้ประเทศมีทรัพยากรบุคคลเพียงพอสำหรับป้องกันประเทศในอนาคต

“การให้ผู้หญิงเข้ารับการเกณฑ์ทหารเท่าเทียมกับผู้ชายเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงค่านิยมประชาธิปไตยและความเสมอภาคของเดนมาร์ก” เมตเต เฟรเดอริกเซน (Mette Frederiksen) นายกรัฐมนตรีหญิงของเดนมาร์กกล่าว

การตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ความมั่นคงในยุโรปที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลายประเทศกำลังปรับนโยบายด้านการป้องกันประเทศให้สอดคล้องกับภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้น โดยผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงระบุว่า การขยายฐานกำลังพลจะช่วยให้เดนมาร์กมีความพร้อมในการป้องกันประเทศ และสนับสนุนภารกิจของ NATO มากขึ้น

ทั้งนี้ตามกฎหมายใหม่ ผู้หญิงอายุ 18 ปีขึ้นไปจะต้องเข้าร่วมการคัดเลือกทางทหารเช่นเดียวกับผู้ชาย แต่ผู้ที่ไม่ผ่านการคัดเลือกหรือมีเหตุผลทางสุขภาพอาจได้รับการยกเว้น

ปัจจุบัน เดนมาร์กมีระบบเกณฑ์ทหารสำหรับผู้ชาย แต่มีสัดส่วนของทหารหญิงที่สมัครใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก รัฐบาลเชื่อว่าการบังคับใช้ระบบใหม่จะช่วยสร้างกองทัพที่แข็งแกร่งและครอบคลุมมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การประกาศนโยบายใหม่นี้ได้รับทั้งเสียงสนับสนุนและเสียงคัดค้าน บางฝ่ายมองว่าเป็นก้าวสำคัญสู่ความเท่าเทียม ในขณะที่บางฝ่ายตั้งคำถามเกี่ยวกับความสมัครใจของผู้หญิงในการเข้ารับราชการทหาร แต่ทั้งนี้เดนมาร์กยังคงมุ่งมั่นที่จะดำเนินนโยบายนี้เพื่อเสริมสร้างกองทัพและความมั่นคงของประเทศในอนาคต

ประธานวุฒิสภาจอร์แดน จวกประเทศตะวันตก ปฏิบัติสองมาตรฐานในเรื่องประชาธิปไตยและเสรีภาพ

(26 มี.ค. 68) สำนักข่าวอาหรับนิวส์รายงานว่า นายไฟซอล อัลฟาเยส (Faisal Al-Fayez) ประธานวุฒิสภาของจอร์แดน ได้กล่าวระหว่างการประชุมกับสภายุโรปที่จัดขึ้น ณ เมืองสตราส์บูร์ก ประเทศฝรั่งเศส ว่า “ประเทศตะวันตกมีการปฏิบัติสองมาตรฐานในเรื่องของประชาธิปไตยและเสรีภาพของมวลชน”

อัลฟาเยสเน้นย้ำว่า “คุณค่าแห่งประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้นต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความจริงจังและความเสมอภาคในเรื่องสิทธิมนุษยชน” พร้อมแสดงความกังวลต่อแนวทางของบางประเทศตะวันตกที่เขามองว่ามีการใช้หลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนอย่างไม่สม่ำเสมอในบริบทที่แตกต่างกัน

“ประชาชนชาวปาเลสไตน์อดทนต่อความทุกข์ยากมากว่า 80 ปี แต่เพียงเพราะเหตุการณ์ในวันที่ 7 ตุลาคม 2566 พวกเขากลับถูกซ้ำเติม ถูกกำหนดให้เป็นเป้าแห่งความโหดร้ายของการรุกรานของกองทัพอิสราเอล ทั้งในเขตเวสต์แบงก์และในฉนวนกาซา” เขากล่าวว่า “ประชาชนหลายหมื่นคนต้องพลีชีพ ต้องบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะสตรีและเด็ก ๆ ผู้บริสุทธิ์ ต้องเสียชีวิตจากการรุกรานในครั้งนี้” และเรียกร้องให้โลกหันมาสนใจและดำเนินการเพื่อยุติความรุนแรงต่อประชาชนเหล่านี้

นอกจากนี้ นายอัลฟาเยสยังได้กล่าวถึงการใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการบิดเบือนข้อมูลและความจริง ซึ่งได้สร้างความเกลียดชังและการแบ่งแยกระหว่างคนในสังคม โดยเน้นว่า “การบิดเบือนข้อมูลดังกล่าวทำให้ความเป็นประชาธิปไตยถูกท้าทายและถูกละเลย”

อัลฟาเยสทิ้งท้ายเรียกร้องให้ทุกประเทศมี “ความมุ่งมั่นในการช่วยปกป้ององค์กรและสถาบันระหว่างประเทศที่ทำหน้าที่ธำรงความยุติธรรม” โดยเน้นว่าไม่ควรแทรกแซงการทำงานขององค์กรเหล่านั้นเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของตนเอง

สำหรับการประชุมครั้งนี้จัดขึ้นท่ามกลางบริบทของความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศ และการถกเถียงเกี่ยวกับมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนที่ถูกนำไปใช้ในระดับสากล โดยเฉพาะในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งหลายประเทศมองว่าตะวันตกมีแนวโน้มใช้มาตรฐานที่ไม่เท่าเทียมกันเมื่อต้องตัดสินนโยบายของรัฐอื่นๆ

การวิพากษ์วิจารณ์ของอัลฟาเยสได้รับความสนใจจากผู้แทนสภายุโรปและนักวิเคราะห์ด้านการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งมองว่าเป็นสัญญาณของความไม่พอใจที่หลายประเทศในภูมิภาคอาหรับมีต่อนโยบายของชาติตะวันตกในปัจจุบัน

Huawei สานต่อพันธกิจ ‘TECH4ALL’ ปลดล็อกโอกาสการศึกษา ขยายเครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้โรงเรียนประถมในเคนยา 21 แห่ง

(26 มี.ค. 68) หัวเหวย (Huawei) บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จากจีน ประกาศความสำเร็จของโครงการ “เชื่อมต่อดิจิทัลระยะที่สอง” ในโรงเรียนประถมศึกษาของเคนยาจำนวน 21 แห่ง ซึ่งเป็นความร่วมมือกับรัฐบาลเคนยาและองค์การยูเนสโก (UNESCO) เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง

โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนริเริ่มระยะยาว “TECH4ALL” ของหัวเหวย ซึ่งมุ่งเน้นการให้ทุกคนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล โดย สตีเวน จาง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายกิจการสาธารณะของหัวเหวยในเคนยา กล่าวว่า “การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไม่เพียงช่วยพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน แต่ยังเปิดโอกาสให้ครูและผู้บริหารสามารถเข้าถึงระบบการจัดการออนไลน์ได้ง่ายขึ้น”

ก่อนหน้านี้ หัวเหวยได้ดำเนินโครงการดิจิสคูล (DigiSchool) ในระยะที่หนึ่ง โดยเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตให้กับ 13 โรงเรียน ส่งผลให้นักเรียนและครู กว่า 6,000 คน ได้รับประโยชน์ โดยมีการสำรวจพบว่า 98% ของนักเรียนเห็นว่าการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตช่วยตอบสนองความต้องการทางการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในระยะที่สองนี้ โครงการ “เคนยา ดิจิสคูล คอนเน็กต์วิตี้” (Kenya DigiSchool Connectivity) ได้ขยายการเชื่อมต่อไปยัง 6 โรงเรียนสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการลดช่องว่างทางดิจิทัลของประเทศ

“ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนคือหัวใจสำคัญของการขยายการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในโรงเรียน เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้รับการศึกษาที่เท่าเทียมกัน” หลุยส์ แฮ็กซ์เฮาเซน ผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกของยูเนสโก กล่าว

รัสเซียย้ำชัด โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ‘ซาปอริซเซีย’ เป็นของมอสโก ยูเครน-ชาติตะวันตก ไม่สามารถอ้างสิทธิ์ได้อีกต่อไป

(26 มี.ค. 68) กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียประกาศเมื่อวานนี้ (25 มี.ค.) ว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซีย (Zaporizhzhia Nuclear Power Plant - ZNPP) ถือเป็นกรรมสิทธิ์ของรัสเซียโดยสมบูรณ์ และย้ำชัดว่า เป็นไปไม่ได้ที่ยูเครนหรือประเทศอื่นๆ จะเข้ามาควบคุมโรงไฟฟ้าแห่งนี้

“โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซียเป็นของสหพันธรัฐรัสเซีย การโอนความเป็นเจ้าของหรือให้ชาติอื่นเข้ามาควบคุมนั้นไม่สามารถเกิดขึ้นได้” กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียระบุในแถลงการณ์

สำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซีย เป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครน และถูกกองทัพรัสเซียเข้าควบคุมตั้งแต่เดือนมีนาคม 2022 ท่ามกลางสงครามรัสเซีย-ยูเครน 

อย่างไรก็ตาม บริษัทพลังงานนิวเคลียร์ยูเครน (Energoatom) ยังคงอ้างสิทธิ์ความเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ และเน้นย้ำว่ารัสเซียไม่มีอำนาจตามกฎหมายในการเข้าควบคุม

ด้านสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ เนื่องจากอยู่ในเขตสู้รบ และมีรายงานเหตุการณ์โจมตีใกล้กับโรงไฟฟ้าหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา

ขณะที่ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ได้โทรศัพท์พูดคุยกับ ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครนในเดือนนี้ โดยมีรายงานว่า ทรัมป์ได้เสนอแนวคิดให้สหรัฐฯ เข้าควบคุม หรือแม้กระทั่ง “ครอบครอง” โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมดในยูเครน เพื่อเป็นหลักประกันในการบรรลุข้อตกลงหยุดยิงในความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซีย

แต่เซเลนสกีได้แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมด “เป็นของชาวยูเครน” และย้ำว่ายูเครนจะไม่ยอมให้ประเทศอื่นเข้ามาครอบครองหรือควบคุมโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่สำคัญของประเทศ

รายงานระบุว่า ผู้นำยูเครนได้หารือกับทรัมป์เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะเข้ามาร่วมลงทุนในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซีย (ZNPP) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป และปัจจุบันอยู่ภายใต้การควบคุมของรัสเซีย

การพูดคุยระหว่างทรัมป์และเซเลนสกีครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สถานการณ์ด้านความมั่นคงพลังงานของยูเครนยังคงเผชิญแรงกดดันจากรัสเซีย ซึ่งยึดครองโรงไฟฟ้าซาปอริซเซียมาตั้งแต่ปี 2022 ขณะที่สหรัฐฯ และชาติตะวันตกกำลังมองหาหนทางในการช่วยเหลือยูเครนทั้งในด้านการทหารและเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียได้ลงนามออก กฤษฎีกาประกาศให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซีย เป็นทรัพย์สินของรัสเซียอย่างเป็นทางการ ตอกย้ำการควบคุมของมอสโกเหนือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ท่ามกลางข้อพิพาทระหว่างรัสเซียและยูเครนเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าแห่งนี้

เดินหน้าแผนพัฒนาเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเอง ตั้งแต่ปี 2009 ลดการนำเข้าสินค้าและอาหาร สู่ความมั่นคงที่ยั่งยืน

(26 มี.ค. 68) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า รัสเซียได้เริ่มดำเนินแผนพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (Self-sufficient economy) ตั้งแต่ปี 2009 โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการลดการพึ่งพาการนำเข้าอาหารและสินค้าภาคการผลิตที่สำคัญตามรายงานจากสำนักวิจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ สแตรทฟอร์ (Stratfor)

แผนเศรษฐกิจพอเพียงของรัสเซียเริ่มต้นขึ้นหลังจากที่ประเทศได้เผชิญกับผลกระทบจากการคว่ำบาตรระหว่างประเทศและความตึงเครียดทางการค้ากับชาติตะวันตก โดยรัฐบาลรัสเซียมุ่งหวังที่จะสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจภายในประเทศและลดการพึ่งพาภายนอกเพื่อเสริมสร้างอำนาจและอิทธิพลของตนเองในเวทีโลก

การพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงนี้เน้นที่การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารจากต่างประเทศ โดยรัสเซียได้เพิ่มการลงทุนในภาคเกษตรกรรมและส่งเสริมการผลิตภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ รัสเซียยังได้พยายามพัฒนาอุตสาหกรรมในภาคการผลิตเพื่อทดแทนสินค้านำเข้าที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมหนัก, ยานยนต์ และเทคโนโลยี

สแตรทฟอร์ รายงานว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่เครมลินดำเนินการเพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจที่ไม่พึ่งพิงจากการนำเข้าหรือการคว่ำบาตรจากชาติอื่นๆ และเพื่อให้รัสเซียสามารถดำเนินการได้อย่างมีอิสระในระดับภูมิภาคและโลก

การพัฒนาเศรษฐกิจแบบพอเพียงของรัสเซียได้รับการสนับสนุนจากหลายกลุ่มภายในประเทศ รวมถึงการส่งเสริมและปรับปรุงนโยบายที่เอื้อต่อการลงทุนในภาคเกษตรและอุตสาหกรรมท้องถิ่น ขณะที่รัฐบาลรัสเซียยังคงพยายามเสริมสร้างการค้าภายในประเทศและเปิดตลาดการค้ากับพันธมิตรที่ไม่เกี่ยวข้องกับการคว่ำบาตรระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ รายงานของ สแตรทฟอร์ ระบุอีกว่าแนวทางนี้ช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจรัสเซียในระดับหนึ่ง แม้ว่าจะมีความท้าทายทางเศรษฐกิจและการเมืองจากการพึ่งพาแหล่งพลังงานเป็นหลัก แต่การพัฒนาเศรษฐกิจที่พึ่งพาตนเองในด้านอื่นๆ ก็เริ่มเห็นผลในบางภาคส่วน

อุตสาหกรรมดิจิทัลจีนพุ่งทะยานในปี 2024 รายได้แตะ 35 ล้านล้านหยวน (ราว 162 ล้านล้านบาท)

(26 มี.ค. 68) อุตสาหกรรมดิจิทัลของจีนยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2024 โดยรายได้และกำไรของอุตสาหกรรมนี้มีการขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง ข้อมูลจากกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของจีน (MIIT) ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา ระบุว่า รายได้จากการดำเนินธุรกิจของอุตสาหกรรมดิจิทัลในปี 2024 ได้แตะระดับ 35 ล้านล้านหยวน (ราว 162 ล้านล้านบาท) ซึ่งเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.5 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ในขณะเดียวกัน กำไรรวม ของอุตสาหกรรมดิจิทัลจีนในปีนี้ก็เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.5 โดยมีมูลค่าถึง 2.7 ล้านล้านหยวน (ราว 12 ล้านล้านบาท) นอกจากนี้ มูลค่าเพิ่มของผู้ผลิตรายใหญ่ในกลุ่มอุปกรณ์คอมพิวเตอร์, อุปกรณ์สื่อสาร, และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ขยายตัวถึง ร้อยละ 11.8 ซึ่งเพิ่มขึ้น 8.4 จุด จากปีที่ผ่านมา

ส่วนในภาคซอฟต์แวร์ของจีน ก็ได้รับการขับเคลื่อนจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI), แพลตฟอร์มคลาวด์, และธุรกิจรูปแบบใหม่อื่น ๆ ทำให้รายได้รวมในภาคนี้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10 โดยมีมูลค่าทั้งสิ้น 13.7 ล้านล้านหยวน (ราว 73 ล้านล้านบาท)

จีนให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อนำไปสู่การยกระดับและปรับปรุงอุตสาหกรรมดั้งเดิมให้ทันสมัยยิ่งขึ้น รายงานผลการดำเนินงานของรัฐบาลประจำปี 2025 ระบุว่า จีนจะเร่งผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของภาคการผลิต พร้อมทั้งส่งเสริมการเติบโตของผู้ให้บริการที่มีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงเพิ่มการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

ทั้งนี้ รัฐบาลจีนยังเดินหน้าผลักดันโครงการ 'เอไอพลัส' (AI Plus) ซึ่งเน้นความร่วมมือในการผสานเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ากับจุดแข็งด้านการผลิตและตลาดภายในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรมดิจิทัลและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศในเวทีโลก

ญี่ปุ่นยุคใหม่ เตรียมพึ่งพาแรงงานจากต่างแดนมากขึ้น คาด 10% ของประชากรจะเป็นชาวต่างชาติใน 20 ปี

(26 มี.ค. 68) รายงานล่าสุดจากสื่อญี่ปุ่นระบุว่า ในอีก 20 ปีข้างหน้า ประเทศญี่ปุ่นกำลังเปลี่ยนผ่านสู่สังคมที่มีชาวต่างชาติคิดเป็น 10% ของประชากรทั้งหมด ท่ามกลางวิกฤติประชากรลดลงและแรงงานขาดแคลน

ญี่ปุ่นกำลังเผชิญปัญหาการลดลงของจำนวนประชากรอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากอัตราการเกิดต่ำและประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้น รัฐบาลจึงต้องปรับนโยบายเพื่อเปิดรับแรงงานต่างชาติมากขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ขาดแคลนแรงงาน เช่น การดูแลผู้สูงอายุ ก่อสร้าง และเทคโนโลยี

ข้อมูลจากนักวิชาการด้านประชากรศาสตร์ชี้ว่า หากแนวโน้มนี้ยังดำเนินต่อไป ภายในปี 2045 ชาวต่างชาติอาจมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจญี่ปุ่น และเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมของประเทศ

แม้ว่าญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่มี วัฒนธรรมแบบเอกลักษณ์และค่อนข้างปิดต่อแรงงานต่างชาติในอดีต แต่สถานการณ์ปัจจุบันบีบบังคับให้ต้องเปิดรับแรงงานจากต่างประเทศมากขึ้น รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ เช่น ขยายโครงการวีซ่าทำงาน และผ่อนปรนกฎระเบียบสำหรับแรงงานทักษะสูง เพื่อดึงดูดคนจากทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม แม้การเพิ่มขึ้นของชาวต่างชาติจะช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนแรงงาน แต่ก็อาจนำไปสู่ความท้าทายด้านการปรับตัวทางสังคมและวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นระบบสวัสดิการ การศึกษา และการอยู่ร่วมกันของคนหลายเชื้อชาติ

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์มองว่า หากญี่ปุ่นสามารถปรับตัวได้ดี ประเทศอาจกลายเป็นสังคมที่เปิดกว้างมากขึ้น และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางวัฒนธรรมเพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต

ผลสำรวจชี้ ชาวโปแลนด์กว่าครึ่งไม่ต้องการเข้าร่วมการฝึกทหารอดีตหน่วยรบพิเศษ GROM ผิดหวัง เตือนควรตื่นตัวมากกว่านี้

(26 มี.ค. 68) ผลสำรวจโดย Opinia24 สำหรับสถานีวิทยุ RMF FM เผยให้เห็นว่า ประชาชนโปแลนด์มีความเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับโครงการฝึกทหารของรัฐบาล โดยมีเพียง 35% เท่านั้นที่พร้อมเข้าร่วมการฝึกโดยสมัครใจ ขณะที่มากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากร (54%) ไม่ต้องการเข้าร่วม

สำหรับรายละเอียดของผลสำรวจพบว่า 14% ของผู้ตอบแบบสอบถาม “พร้อมอย่างแน่นอน” 21% “ค่อนข้างพร้อม” 21% “ค่อนข้างไม่พร้อม” 33% “ไม่พร้อมอย่างแน่นอน” และอีก 12% ระบุว่า "ไม่ทราบ/ยากที่จะตอบ" 

โดยโครงการฝึกอบรมทางทหารดังกล่าวเป็นนโยบายที่นายกรัฐมนตรีโดนัลด์ ทุสก์ (Donald Tusk) ประกาศเมื่อต้นเดือนมีนาคม กำหนดให้ผู้ชายที่เป็นผู้ใหญ่ทุกคนต้องเข้ารับการฝึก ขณะที่ผู้หญิงสามารถเข้าร่วมได้โดยสมัครใจ

ด้าน พาเวล มาเตนชุก (Paweł Mateńczuk) อดีตทหารจากหน่วยรบพิเศษ GROM และปัจจุบันเป็นผู้แทนกระทรวงกลาโหมด้านเงื่อนไขการรับราชการทหาร ได้แสดงความผิดหวังต่อผลสำรวจดังกล่าว โดยเขาระบุว่า

“ผมมั่นใจในกองทัพโปแลนด์ในฐานะสถาบันที่พัฒนาตัวเองเพื่อปฏิบัติภารกิจปกป้องประเทศของเรา (แต่ผมรู้สึกเศร้าเมื่อเห็นสถิติเหล่านี้ เพราะผมคิดว่าเมื่อมีโอกาสในการฝึกทหาร และเรามีพรมแดนติดกับประเทศที่อยู่ในภาวะสงคราม สังคมของเราควรมีความกระตือรือร้นมากกว่านี้”

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจสะท้อนให้เห็นถึงกระแสต่อต้านจากประชาชนจำนวนมาก ซึ่งอาจมาจากความกังวลเกี่ยวกับภาระหน้าที่ ความเสี่ยง และมุมมองที่แตกต่างกันเกี่ยวกับนโยบายด้านกลาโหมของรัฐบาล

ขณะที่รัฐบาลยังไม่ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับกระแสต่อต้านจากประชาชน การสำรวจนี้อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อแนวทางการดำเนินนโยบายด้านความมั่นคงในอนาคต

เตรียมเปิดสนามบินนานาชาติแห่งใหม่เดือนกรกฎาคมนี้ รับการท่องเที่ยวและธุรกิจเติบโต ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดในเอเชีย

(25 มี.ค. 68) กัมพูชาประกาศเตรียมเปิดสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ในเดือนกรกฎาคมนี้ โดยจะตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว หลังจากที่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเผชิญการแข่งขันที่ดุเดือดเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก

สนามบินแห่งใหม่ของพนมเปญ ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างเป็นทางการในชื่อ สนามบินนานาชาติเทโช เริ่มสร้างขึ้นในปี 2562 ครอบคลุมพื้นที่ 6,425 เอเคอร์ ตั้งอยู่ที่ชายแดนของจังหวัดกันดาลและตาแก้ว ห่างจากเมืองหลวงไปทางใต้ประมาณ 30 กิโลเมตร

ซึ่งเป็นโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐบาลกัมพูชาและภาคเอกชน จะเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงการเดินทางทั้งในและต่างประเทศ ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมาตรฐานระดับสากล คาดว่าจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้มากถึง 10 ล้านคนในปีแรกของการเปิดใช้งาน

โครงการนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนาเศรษฐกิจของกัมพูชา ซึ่งต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการดึงดูดนักท่องเที่ยวและการลงทุนจากต่างชาติ ท่ามกลางการเติบโตที่รวดเร็วของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในประเทศไทย เวียดนาม และมาเลเซีย ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญในตลาดนี้

สถาปนิกของสนามบินแห่งนี้คือบริษัท Foster + Partners ของประเทศอังกฤษ โดยเว็บไซต์ของบริษัทระบุว่า “การออกแบบสะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกที่แข็งแกร่งของสถานที่ และตอบสนองต่อสภาพภูมิอากาศแบบเขตร้อน”

ส่วนอาคารเทอร์มินัลตั้งอยู่ใต้สิ่งที่เรียกว่าหลังคาทรงโค้งเดี่ยวที่เป็นโครงเหล็กน้ำหนักเบา พร้อมหน้าจอนวัตกรรมที่กรองแสงธรรมชาติและส่องสว่างให้กับพื้นที่เทอร์มินัลอันกว้างใหญ่

การก่อสร้างจะดำเนินการเป็น 3 ระยะ โดยในระยะแรกคาดว่าสนามบินจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 13 ล้านคนต่อปี และจะเพิ่มความจุเป็น 30 ล้านคนหลังปี 2030 และสูงสุด 50 ล้านคนในปี 2050

สนามบินแห่งนี้จะเป็นสนามบินหลักแห่งที่สองของกัมพูชาที่จะเปิดให้บริการภายในระยะเวลาสองปี โดยในปี 2023 สนามบินนานาชาติเสียมเรียบ-อังกอร์ ซึ่งได้รับเงินทุนจากจีนได้เริ่มเปิดให้บริการในจังหวัดเสียมเรียบทางตะวันตกเฉียงเหนือ ห่างจากนครวัดซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศซึ่งมีอายุกว่าหลายศตวรรษไปทางทิศตะวันออกประมาณ 40 กิโลเมตร 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การท่องเที่ยวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้แต่ละประเทศในภูมิภาคต่างพยายามลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน กัมพูชาหวังว่าการเปิดสนามบินแห่งใหม่จะช่วยเสริมสร้างการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของประเทศ

สนามบินแห่งนี้จะเปิดให้บริการในช่วงฤดูร้อนของปี 2024 ซึ่งเป็นช่วงที่การท่องเที่ยวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มฟื้นตัวหลังจากผลกระทบของการระบาดใหญ่ของ COVID-19 โดยคาดว่าการเดินทางทางอากาศจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในเสาหลักที่สนับสนุนเศรษฐกิจของกัมพูชา ตามข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยว กัมพูชาต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 6.7 ล้านคนในปี 2024 ซึ่งเพิ่มขึ้น 23% จากปี 2023

ทั้งนี้ รัฐบาลกัมพูชามั่นใจว่าโครงการสนามบินแห่งใหม่จะเป็นจุดเริ่มต้นในการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวในระยะยาว และจะช่วยให้ประเทศสามารถแข่งขันได้ในตลาดการท่องเที่ยวที่มีการแข่งขันสูงในภูมิภาคนี้

ยูไนเต็ด แอร์ไลน์ ออกแถลงการณ์ขอโทษ หลังบินไปแล้ว 2 ชม. ต้องวกกลับกลางทาง

(25 มี.ค. 68) สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ยูไนเต็ด แอร์ไลน์ (United Airlines) ออกแถลงการณ์ขอโทษหลังจากเที่ยวบิน UA198 ซึ่งมุ่งหน้าไปยังเซี่ยงไฮ้จากลอสแอนเจลิส ต้องบินกลับกลางทางหลังจากเดินทางไปได้เพียง 2 ชั่วโมง เนื่องจากนักบินลืมนำหนังสือเดินทางติดตัวไปด้วย

เที่ยวบินดังกล่าวซึ่งออกเดินทางจากท่าอากาศยานนานาชาติลอสแอนเจลิส (LAX) เมื่อวันที่ 22 มีนาคม เวลา 14:00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ด้วยเครื่องบินโบอิ้ง 787-9 Dreamliner ได้บินไปได้ประมาณสองชั่วโมง ก่อนที่ทีมบินจะตระหนักถึงความผิดพลาดของนักบินที่ไม่มีเอกสารสำคัญสำหรับการเดินทางระหว่างประเทศ

หลังจากพบปัญหาดังกล่าว ทีมบินจึงตัดสินใจบินกลับและลงจอดที่ ท่าอากาศยานนานาชาติซานฟรานซิสโก (SFO) โดยไม่ได้เดินทางต่อไปยังเซี่ยงไฮ้ตามที่กำหนดไว้ ก่อนที่เที่ยวบินจะถูกเลื่อนออกไป

ทาง ยูไนเต็ด แอร์ไลน์ ได้ออกแถลงการณ์ขอโทษต่อผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ พร้อมยืนยันว่าได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน และจะทำการตรวจสอบการทำงานภายในเพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต

ขณะเดียวกันผู้โดยสารบนเครื่องก็ได้รับการดูแลและข้อเสนอในการเปลี่ยนแปลงกำหนดการเดินทางใหม่ และทางสายการบินระบุว่าได้ทำทุกอย่างเพื่อให้การเดินทางดำเนินไปอย่างราบรื่นที่สุด

“นักบินไม่ได้พกหนังสือเดินทางติดตัวมาด้วย” ยูไนเต็ดกล่าวในแถลงการณ์ “เราได้จัดเตรียมลูกเรือชุดใหม่เพื่อพาลูกค้าของเราไปยังจุดหมายปลายทางในเย็นวันนั้น โดยมอบคูปองอาหารและเงินชดเชยให้กับลูกค้า”

สำหรับเหตุการณ์ดังกล่าวกลายเป็นที่พูดถึงในโลกออนไลน์ โดยหลายคนไม่พอใจและตั้งคำถามว่า ทำไมถึงไม่มีการตรวจสอบเอกสารของนักบินก่อนการเดินทางไกล ส่งผลให้เที่ยวบินต้องล่าช้าและสร้างความไม่สะดวกให้กับผู้โดยสารจำนวนมาก


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top