ภาษิตกฎหมายในภาษาอังกฤษที่ว่า Justice delayed is justice denied. หรือในภาษาฝรั่งเศส Justice différée est justice refusée เป็นหลักการพื้นฐานของสิทธิการเข้าถึงการพิจารณาคดีที่รวดเร็วและสิทธิอื่น ๆ เพื่อขับเคลื่อนให้กระบวนการยุติธรรมเร็วขึ้น เช่น การเยียวยาความเสียหายแก่ผู้เสียหาย แม้ว่าภาษิตดังกล่าวจะไม่มีที่มาแน่ชัดแต่เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ความยุติธรรมที่ล่าช้าคือความไม่ยุติธรรม”
ในกฎบัตร Magna Carta ข้อ 40 ได้บัญญัติไว้ใกล้เคียงกัน กล่าวคือ "อันว่าสิทธิก็ดี หรือความยุติธรรมก็ดีนั้น เราจักไม่ขายให้แก่ผู้ใด เราจักไม่เพิกเฉยหรือทำให้ล่าช้าต่อผู้ใด" (To no one will we sell, to no one will we refuse or delay, right or justice) หมายถึง สิทธิหรือความยุติธรรมนั้นจะต้องเที่ยงตรงเท่าเทียม ยิ่งไปกว่านั้นจะไม่ถูกละเลยหรือทำให้ล่าช้า
นอกจากนั้นในวิกีพีเดียได้ระบุว่า วอร์เรน อี. เบอร์เกอร์ (Warren E. Burger) ประธานศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกา เคยกล่าวไว้ใน What's Wrong with the Courts: The Chief Justice Speaks Out ว่า
"ศาลทั้งหลายจำเป็นต้องได้รับความเชื่อมั่น เพื่อจะได้ธำรงโครงสร้างแห่งเสรีภาพอันเป็นระเบียบเรียบร้อยของเสรีชน และความเชื่อมั่นประการนี้...อาจย่อยยับไปด้วยโทษสามประการ คือ การที่ผู้คนเริ่มเชื่อว่า ความไร้ประสิทธิภาพและความล่าช้าจะบั่นทอนคุณค่าของคำพิพากษา แม้เป็นคำพิพากษาอันเที่ยงธรรมก็ตาม ประการหนึ่ง การที่ผู้คนผู้ถูกแสวงหาประโยชน์ในธุรกรรมเล็ก ๆ น้อยตามประสาชีวิตประจำวันเริ่มพากันเชื่อว่า ศาลจะไม่สามารถพิทักษ์สิทธิตามกฎหมายของพวกเขามิให้ถูกทำลายไปด้วยการฉ้อฉลและการเอื้อมไม่ถึง ประการหนึ่ง การที่ผู้คนตั้งต้นเชื่อว่า กฎหมายในความหมายอย่างกว้าง จะไม่บรรลุหน้าที่เบื้องต้นของมันในอันที่จะคุ้มครองพวกเขาและครอบครัวของพวกเขา ในบ้านของพวกเขา ในที่ทำงานของพวกเขา ตลอดจนบนถนนหนทางสาธารณะ อีกประการหนึ่ง"

Warren E. Burger
ในประเทศไทย ความล่าช้าทั้งในกระบวนการยุติธรรมและการเยียวยาผู้เสียหาย มีให้เห็นโดยตลอดไม่นับเรื่องการบิดเบือนข้อกฎหมายและบิดเบือนข้อเท็จจริงอย่างเป็นกระบวนการ ความล่าช้าในการเยียวยาผู้เสียหายก่อให้เกิดปัญหาฝังรากลึกและสั่นคลอนความเชื่อมั่นของกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบจนกระทั่งถึงศาลยุติธรรม ตั้งแต่กรณีอุบัติเหตุบนท้องถนนที่มีทุกวัน ไปจนถึงกรณีพิพาทระหว่างประชาชนกับรัฐ โดยเฉพาะเมื่อหน่วยงานรัฐใช้อำนาจเกินขอบเขตและเลยไปยังแดนเทาถึงดำ ความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรมทำให้ต้นทุนของประชาชนสูงขึ้นตั้งแต่ค่าใช้จ่ายในการฟ้องร้องคดี เสียเวลา เสียโอกาส ในขณะที่หน่วยงานรัฐนั้น “แม้ว่าจะกระทำการไม่ถูกต้อง” แต่ผู้กระทำการก็มิต้องรับต้นทุนดังกล่าว เพราะรัฐก็มีหน่วยงานที่ดำเนินการเรื่องคดีความให้โดยอัยการ ความล่าช้าเมื่อประชาชนฟ้องรัฐจึงเป็นกระจกสะท้อนความไม่ยุติธรรมที่เกิดปัญหาและหยั่งรากลึกพร้อมกับความคับข้องใจเมื่อการฟ้องคดีถูกทอดยาวออกไปและดูเหมือนไม่มีจุดสิ้นสุดในสายตาของประชาชนผู้ฟ้องคดี
กรณีของพนักงานมหาวิทยาลัยหลายแห่งฟ้องหน่วยงานตนเอง เพราะผู้บริหารหักเงินเดือนจากฐานเงินเดือนเอาไว้โดยอ้างว่าไปจัดสวัสดิการทั้งที่ไม่มีอำนาจ หรือผู้บริหารใช้อำนาจหักเงินเพิ่มเงินเดือนนำไปเพิ่มให้พรรคพวกตนเอง กว่าที่ศาลจะตัดสินหรือมีคำสั่งก็ใช้ระยะเวลามากกว่าสามปี ยิ่งไปกว่านั้นแม้ว่าจะมีกรณีคล้ายกัน แต่การเชื่อมโยงข้อมูลดังกล่าวในศาลกลับไม่ได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลมากนัก ทำให้พนักงานมหาวิทยาลัยหลายแห่งเกิดภาวะสมองไหลออกจากมหาวิทยาลัย หรือจำใจที่ต้องปรับตัวให้คุ้นชิน และลดประสิทธิภาพการทำงานของตนเองลง เพราะทำดีแค่ไหนก็ไม่สู้การเป็นคนของใครได้ ความยุติธรรมที่ล่าช้าดังกล่าว จึงก่อให้เกิดผลกระทบที่ไม่คาดคิดได้

ยิ่งไปกว่านั้น ในกระบวนการร้องเรียนการทุจริตและประพฤติมิชอบในประเทศไทย ซึ่งกฎหมายหลักให้อำนาจ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยที่รายงานสถานการณ์ทุจริตประเทศไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 หน้า 37 ระบุว่า
“ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 สำนักงาน ป.ป.ช. มีเรื่องกล่าวหาคงค้างสะสม (ณ วันที่ 30 กันยายน 2562) จำนวน 14,350 เรื่อง เรื่องกล่าวหารับใหม่ (ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2562 - 30 กันยายน 2563) จำนวน 3,559 เรื่อง รวมทั้งสิ้น 17,909 เรื่อง ซึ่งได้ดำเนินการเสร็จในชั้นการตรวจสอบเบื้องต้นและในชั้นการไต่สวนข้อเท็จจริง รวมทั้งสิ้น 4,852 เรื่อง โดยมีเรื่องกล่าวหาคงเหลืออยู่ระหว่างดำเนินการ (ณ วันที่ 30 กันยายน 2563) จำนวน 13,057 เรื่อง”