(7 พ.ค. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสั่งการ เน้นย้ำ ให้ความสำคัญการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ขจัดยาเสพติดให้หมดสิ้นไปจากสังคมไทย เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้มีความมั่นคงปลอดภัย เป็นสังคมปลอดยาเสพติด สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้วิสัยทัศน์ “สังคมไทยปลอดภัยจากยาเสพติด ด้วยมาตรการทางเลือกใหม่ สู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน”
นายอนุชา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลได้กำหนดและดำเนินการอย่างแข็งขันภายใต้นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติด (พ.ศ.2566 - 2570) ซึ่ง ครม. เห็นชอบเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2566 มีแนวทางการดำเนินงาน 6 ด้าน ดังนี้
1. การป้องกันยาเสพติด เสริมสร้างความรู้เท่าทันและป้องกันยาเสพติดในเด็กและเยาวชน และสร้างความตระหนักและจิตสำนึกร่วมในการป้องกันปัญหายาเสพติด รวมทั้งพัฒนาระบบเฝ้าระวังและควบคุมปัญหายาเสพติดในพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์
2. ด้านการปราบปรามยาเสพติดมีเป้าหมาย สกัดกั้นยาเสพติด สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ ไม่ให้เข้าสู่ประเทศและถูกใช้เป็นเส้นทางนำผ่านไปยังประเทศที่สาม ปราบปรามเครือข่ายการค้ายาเสพติด และเนินการทางวินัยและบังคับใช้กฎหมายลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด
3. ด้านการยึดทรัพย์สินคดียาเสพติด ทำลายเครือข่ายการค้ายาเสพติดด้วยมาตรการทางทรัพย์สิน
4. ด้านการบำบัดรักษายาเสพติด การบำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพทางสังคมของผู้เสพยาเสพติดและผู้เสพยาเสพติดมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
5. ด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ ไทยมีบทบาทในการเสริมสร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน และพัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพให้กับบุคลากรด้านยาเสพติดระหว่างประเทศ
6. ด้านการบริหารจัดการ นำนโยบายไปสู่การปฏิบัติอย่างบูรณาการในทุกระดับ บุคลากรภาครัฐที่ปฏิบัติงานด้านยาเสพติดมีทักษะและสมรรถนะสูงพร้อมรับมือกับภัยคุกคามของปัญหายาเสพติดในยุคดิจิทัล พัฒนากลไกอำนวยการ ระเบียบ กฎหมาย เสริมสร้างสมรรถนะของบุคลากรภาครัฐที่ปฏิบัติงานด้านยาเสพติด และการควบคุมและใช้ประโยชน์จากพืชเสพติด และพืชในการกำกับควบคุมดูแลพิเศษของรัฐ
นายอนุชา กล่าวว่า ขอยกตัวอย่างถึง ชุมชน “สินไหโมเดล” จ.ระนอง ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวอย่างชุมชนที่ดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบครบวงจรตามยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งเป็นการบูรณาการการทำงานอย่างใกล้ชิด ทั้งในระดับส่วนกลางและในพื้นที่ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งภาคประชาชน ทุกภาคส่วนร่วมกันป้องกัน แก้ไข และหยุดยั้งการแพร่ระบาดของยาเสพติด อาทิ การให้ความรู้ การบำบัดรักษาผู้เสพยาเสพติด และการสร้างอาชีพ ตามนโยบายและเจตนารมณ์มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาผู้ติดยาเสพติดของรัฐบาล