Sunday, 11 May 2025
NEWS FEED

ส่งหมู่เรือฝึก Blue Strike 2025 สู่เมืองจ้านเจียง สาธารณรัฐประชาชนจีน

(19 มี.ค.68) พลเรือเอก ณัฏฐพล เดี่ยววานิช ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ เป็นประธานในพิธีส่งหมู่เรือฝึก Blue Strike 2025 โดยมี น.อ.บุญเกิด มูลละกัน  ผบ.หน่วยฝึกนาวิกโยธิน ร่วมให้การต้อนรับ ณ เรือหลวงอ่างทอง ท่าเรือแหลมเทียน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี

กองทัพเรือ ได้อนุมัติจัดกำลังเดินทางไปเข้าร่วมการฝึกผสม Blue Strike 2025 ณ เมืองจ้านเจียง สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่าง 18 มีนาคม - 10 เมษายน 2567 ประกอบด้วย เรือหลวงอ่างทอง กำลังพลนาวิกโยธิน และนักเรียนนายเรือชั้นใหม่ 

โดยการฝึกในครั้งนี้ เป็นการฝึกผสม ในกรอบทวิภาคี ระหว่างฝ่ายไทย และฝ่ายสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่าง กองทัพเรือไทย - กองทัพเรือจีน ที่มุ่งเน้นการฝึกการปฏิบัติการผสมระดับยุทธวิธีทางเรือ และ นาวิกโยธิน

‘วริษฐ์ ลิ้มทองกุล’ แชร์ประสบการณ์ทำข่าวต่างแดน ชี้ ทุกประเทศมีกฎเกณฑ์อย่าคิดว่าเป็นสื่อแล้วจะทำอะไรก็ได้

(20 มี.ค. 68) นายวริษฐ์ ลิ้มทองกุล ผู้สื่อข่าวอาวุโส เครือผู้จัดการ โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงการทำข่าวในประเทศจีน ว่า

ผมกับภรรยา คือ คุณดวงพร ลิ้มทองกุล น่าจะเป็นนักข่าวไทยเพียงไม่กี่คน ที่เคยเป็นนักข่าวชาวไทย จากสำนักข่าวของประเทศไทยที่เคยประจำอยู่ระยะยาวที่ประเทศจีน ผมกับภรรยาอยู่ที่กรุงปักกิ่งในช่วงปี ค.ศ.2002-2008 โดยช่วง 4 ปีแรกเรียนหนังสือไปด้วยและทำงานข่าวไปด้วย ส่วนในช่วง 2 ปีหลัง โดยเครือผู้จัดการมีสำนักงานอย่างเป็นทางการตั้งอยู่ที่กรุงปักกิ่ง ส่วนผมกับภรรยาก็มีสถานะเป็นนักข่าวประจำกรุงปักกิ่งอย่างเต็มตัว คือ มีวีซ่า J-1 (记者) 

สำหรับ J-1 เป็นวีซ่าผู้สื่อข่าวระยะยาว ต้องต่ออายุทุกปี ส่วน J-2 นั้นคือ วีซ่าผู้สื่อข่าวระยะสั้น คือไปทำงานไม่กี่วันก็กลับ ซึ่งส่วนใหญ่ทางการจีนจะอนุญาตให้อยู่ในประเทศจีนได้เท่าจำนวนวันที่ขอเช่น ทำข่าว 4 วัน ก็อยู่ได้ 4 วัน, ขอทำข่าว 7 วันก็ได้ 7 วันจริงๆ ไม่สามารถแถม ทำธุระ เยี่ยมเพื่อน หรือ เที่ยวต่อได้ เพราะวีซ่าจะระบุวันไปวันกลับของคุณแบบเป๊ะๆ 

ทั้งนี้ทั้งนั้น ตัวผมเองไม่ได้เคยแค่อยู่และประจำที่ประเทศจีนเท่านั้น แต่เคยเดินทางไปทำข่าวทั่วประเทศจีน รวมถึงในหลายประเทศทั่วโลก ทั้งยังเคยเป็น Fellowship ในโครงการ NSK-CAJ ของสมาคมหนังสือพิมพ์ญี่ปุ่นที่ประเทศญี่ปุ่น, ได้ร่วมโปรแกรม IVLP จากสถานทูตสหรัฐฯ ไปเป็น Fellowship เรื่อง Media Literacy and Countering Disinformation ที่สหรัฐอเมริกาพร้อมกับพี่ ๆ น้อง ๆ สื่อไทยหลายคน 

เผอิญตอนนี้ มีคณะของคุณภูมิธรรม เวชยชัย กับคุณทวี สอดส่องไปภารกิจเยี่ยม 40 อุยกูร์ที่จีน มีนักข่าวไทยโดนห้ามโน่นห้ามนี่ ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ บางคนบอกว่า "จีน" ก็คือเผด็จการไม่ต่างจาก "เกาหลีเหนือ" ตัวผมเองก็ต้องชี้แจงอย่างนี้ว่า นักข่าวบางคน หรือ ผู้เสพสื่อบางคนก็อย่ามโนมากเกินไป การที่คุณได้ไปทำข่าวเมืองนอก ไม่ใช่ว่าคุณจะทำอะไรก็ได้ โดยเฉพาะการที่เข้าไปในพื้นที่ค่อนข้างอ่อนไหว รายงานข่าวในประเด็นที่กำลังเป็น Hot Issue ระดับโลก

สังคมต่าง ๆ ประเทศต่าง ๆ เขาก็มีกฎเกณฑ์ในการทำข่าวของเขา จีนก็มี , ญี่ปุ่นก็มี, สิงคโปร์ก็มี, ไต้หวันก็มี, สหรัฐอเมริกาก็มี, อังกฤษก็มี ไม่ใช่ว่าคุณจะเดินดุ่ม ๆ ไปถ่ายรูปคนโน้นคนนี้ได้ตามในชอบ ในหลาย ๆ ประเทศมีกฎหมายเสียด้วยซ้ำว่าห้ามถ่ายรูปเด็ก-เยาวชนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ปกครอง ตอนผมไปทำข่าวที่อังกฤษ นักข่าวจะสัมภาษณ์ใครต้องมี Consent หรือ เอกสารยินยอม จากบุคคลนั้น ๆ ให้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ได้ผ่านสื่อใดบ้าง โดยต้องเซ็นเอกสารกันเป็นกิจจะลักษณะ ... ซึ่งทุกคนที่เคยไปทำข่าวต่างประเทศอย่างนี้ ปกติก็จะเข้าใจข้อจำกัดในเรื่องเหล่านี้ดี

นักข่าวไทยบางคนเวลาอยู่บ้าน อาจจะได้รับอภิสิทธิ์ หรือ มี "บัตรเบ่ง" จนเคยตัวนึกว่าจะทำอะไรก็ได้ แต่เมื่อคุณอยู่นอกบ้านจริง ๆ คุณมีสถานะเป็นตัวแทนของคนไทยทั้งประเทศเสียด้วยซ้ำ อย่าทำให้ใครดูถูกสื่อไทย ดูถูกคนไทยเลยว่า เอาแต่ใจ ไร้มารยาท และไม่เคารพประเทศที่คุณไปเยือน

คนที่เสียไม่ใช่คุณภูมิธรรม หัวหน้าคณะ คุณทวี หรือ กระทรวงต่างประเทศไทย หรือ สื่อต้นสังกัดของคุณหรอกครับ "คนไทย" เสียกันทั้งประเทศ

‘ครูลิลลี่’ โพสต์ภาพสุดประทับใจ หนึ่งในลูกศิษย์มากราบหลังสอบติดเตรียมอุดม

เมื่อวันที่ (19 มี.ค. 68) อ.กิจมาโนชญ์ โรจนทรัพย์ (ครูลิลลี่) ครูสอนภาษาไทยชื่อดัง ได้โพสต์ข้อความว่า เรื่องมีอยู่ว่า…นักเรียนคนนี้ชื่อ “พอดี” หนึ่งในลูกศิษย์ 658 คนที่สอบติดเตรียมอุดม รุ่น 88

วันนี้น้องกลับมากราบครูด้วยหัวใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความกตัญญู 

ภาพนี้ทำให้หัวใจฉันสั่นไหวไม่ใช่เพราะความภาคภูมิใจในฐานะครูเพียงอย่างเดียว แต่เพราะมันคือภาพสะท้อนของความพากเพียร ความมุ่งมั่น และเส้นทางที่นักเรียนฟันฝ่ามาจนถึงวันนี้

ในทุกตัวเลขมีเรื่องราว ใน 658 คนนี้ มีหยาดเหงื่อ แรงใจ และความฝันของลูกศิษย์มากมาย ฉันเห็นเธอพยายาม ฉันเห็นเธออดทน และวันนี้ฉันได้เห็นเธอเติบโต

ขอบใจนะหนูพอดี… ที่กลับมาบอกครูว่า “หนูทำได้” และขอบคุณที่ทำให้ครูรู้ว่า การเป็นครูคือความหมายที่งดงามที่สุดของชีวิต

จับขบวนการจัดหาบัญชีม้าให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์

บัญชีม้าถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งจะใช้บัญชีม้าสำหรับรับโอนเงินที่ได้จากการหลอกลวง บัญชีม้าจะมีอายุไม่เกิน 5 วันจะถูกอายัด แก๊งคอลเซ็นเตอร์จึงต้องจัดหาบัญชีม้าใหม่เข้ามาอยู่ในความควบคุมเพื่อสแกนหน้ารับโอนและโอนเงินต่อไปยังเงินคริปโตเคอเรนซี่

สืบสวนภาค 2 ได้สืบทราบขบวนการจัดหาบัญชีม้าผ่านโซเชี่ยลมีเดีย จึงได้ให้สายลับติดต่อรับจ้างเปิดบัญชีโดยจะได้รับค่าตอบแทนบัญชีละ 4,000 บาท ต่อมาเมื่อ 19 มีนาคม 2568 เมื่อสายลับตอบตกลงได้มีหนึ่งในขบวนการโทรศัพท์ติดต่อสายลับและขับรถมารับที่ย่าน อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ตามที่นัดหมาย โดยผู้ขับรถได้รับหญิงบัญชีม้าอีกคนหนึ่งมาด้วยแล้วพาตระเวนเปิดบัญชีม้าตามธนาคารต่าง ๆ คนละ 4 บัญชี จากนั้นได้พาเดินทางไปยัง อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว เพื่อส่งบัญชีม้าให้กับคนท้องถิ่นพาข้ามแดนไปยังเมืองปอยเปต กัมพูชา เพื่อสแกนหน้าให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ติดตามรถคันนี้มาตลอด จนกระทั่งเวลาประมาณ 20.00 น.รถได้จอดที่บริเวณศูนย์การค้าอินโดจีน เพื่อรอคนท้องถิ่นมารับพาข้ามแดนผ่านช่องทางธรรมชาติ เจ้าหน้าที่จึงได้เข้าแสดงตัวตรวจสอบและจับกุม พบนายเดชฯขอสงวนนามสกุลเป็นผู้ขับรถ พบสายลับและบัญชีม้าชื่อน.ส.พัชรีฯขอสงวนนามสกุล รวมบัญชีม้า 2 คน อยู่ในรถ พบในตัวน.ส.พัชรีฯมีบัญชีธนาคารออมสิน 2 บัญชี กรุงไทย และกสิกรไทย รวม 4 บัญชี เปิดบัญชีเมื่อ 19 มีนาคม 2568 เพื่อนำไปใช้ในขบวนการแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ สอบถามให้การยอมรับว่ารับจ้างเปิดบัญชีเหล่านี้ให้ผู้อื่นโดยได้รับค่าตอบแทน โดยนายเดชฯเป็นผู้นำพาไปเปิดและจ่ายเงินค่าเปิดบัญชีให้ จึงจับกุมนายเดชฯในข้อหาเป็นธุระจัดหาบัญชีม้า จับกุมน.ส.พัชรีฯในข้อหาเปิดบัญชีม้าให้ผู้อื่น อันเป็นความผิดตาม พรก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566

ขอประชาสัมพันธ์ว่าบัญชีม้าถือเป็นส่วนหนึ่งในแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ขบวนการจัดหาบัญชีม้ามีความผิดข้อหาเป็นธุระจัดหาฯมีอัตราโทษสูงถึง 5 ปี ปรับ 500,000 บาท ผู้เปิดบัญชีม้ามีอัตราโทษ 3 ปี ปรับ 300,000 บาท ซึ่งที่ผ่านศาลลงโทษจำคุกเกือบทุกราย ขอให้ประชาชนอย่าเข้าไปมีส่วนร่วมกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ทั้งการจัดหาบัญชีม้า เป็นผู้เปิดบัญชีม้า หรือนำพาบัญชีม้าข้ามแดน  นอกจากนั้นหากบัญชีม้ามีเงินจากการฉ้อโกงหลอกลวงโอนเข้าบัญชีจะมีความผิดในข้อหาฉ้อโกงประชาชนอีกส่วนหนึ่งด้วย

‘วินท์ สุธีรชัย’ ร่วมแชร์ประสบการณ์ “คิดอย่างไรให้ทันโลก” กับแนวคิดแห่ง ‘ความสำเร็จ’ แม้แต่ในสิ่งที่คนส่วนใหญ่คิดว่า ‘เป็นไปไม่ได้’

(19 มี.ค. 68) นายวินท์ สุธีรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดอะสตีล จำกัด (มหาชน) กรรมการ คณะปรับปรุงและยกร่างกฎหมาย กระทรวงพลังงาน กล่าวภายในสัมมนา THE FUTURE JOURNALISM 2025 “AI กับ สื่อสารศาสตร์ยุคใหม่” ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือของสำนักข่าวออนไลน์ THE STATES TIMES จากประเทศไทย, สำนักข่าว SPUTNIK ของรัสเซีย และวิทยาลัยผู้นำและนัวตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในอุตสาหกรรมสื่อสารมวลชนของทั้ง 2 ประเทศ โดยได้ร่วมให้ความรู้ในหัวข้อ “คิดอย่างไรให้ทันโลก” ว่า อย่างที่ทราบกันดีว่าโลกเราเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง คือ จะทำอย่างไร จึงจะตามโลกให้ทัน 

โดยนายวินท์ ได้หยิบยกเครื่องมือ 3 อย่างที่จะใช้รับมือโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พร้อมกับยกตัวอย่างการทำงานในอดีตที่ผ่านมา โดยเริ่มจากโครงการผลิตท่อยานยนต์ ซึ่งในอดีตการจะเข้าใส่อุตสาหกรรมนี้เป็นเรื่องยาก และมักจะมีคำพูดว่า คนไทยไม่สามารถทำท่อยานยนต์ได้ เพราะอุตสาหกรรมยานยนต์อยู่ในมือของบริษัทญี่ปุ่นเป็นส่วนใหญ่ และบริษัทญี่ปุ่นจะซื้อสินค้ากับญี่ปุ่นกันเองเท่านั้น 

แต่สุดท้ายก็ทำได้สำเร็จ ภายใต้บริษัท อิน-เทค สตีล จำกัด โดยปัจจุบันสามารถเจาะตลาดผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นได้เกือบทุกบริษัท โดยเฉพาะเหล็กยึดที่พิงศีรษะที่ผลิตส่งให้กับโตโยต้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมไปถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า และรถจักรยานต์ด้วย

สำหรับโครงการที่สอง ที่ทำได้สำเร็จ คือ การผลิตเหล็กรีดร้อนชนิดม้วนหน้าแคบในนาม บริษัท ไพร์ม สตีล มิลล์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ 3 ในประเทศไทย ที่สามารถผลิตได้ ซึ่งก่อนหน้านี้มักจะเจอกับคำพูดว่า “เป็นไปไม่ได้” แต่เราก็สามารถทำได้ ทั้งที่ก่อนหน้านั้นไม่มีบริษัทในประเทศไทยสามารถผลิตได้เลยในรอบ 20 ปี

นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่ 3 ซึ่งเป็นโครงการเพื่อสังคม ภายใต้ชื่อ “มูลนิธิ วิน วิน” ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2564 ในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 ระบาดอย่างหนัก ในขณะนั้น ได้ช่วยตรวจเอทีเค ให้กับประชาชนไปกว่า 12,000 คน ลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนทั่วไปได้อย่างมาก และช่วยดูแลรักษาคนที่ติดโควิดอีก 1,100 คน พร้อมส่งต่อเคสหนัก ๆ ไปยังโรงพยาบาล

พร้อมกันนี้ นายวินท์ ยังได้กล่าวถึงการเตรียมพร้อมรับมือและปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร ว่า  ก่อนอื่นต้องยอมรับว่าการทำนายอนาคตนั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก แม้จะนำบทเรียนในอดีตมาศึกษาและคาดการณ์ความเป็นไปได้ในอนาคต แต่ก็ไม่สามารถทำได้อย่างชัดเจน โดยมีเหตุการณ์ที่เกิดข้อผิดพลาดมาแล้วมากมายในอดีต ดังนั้น เราจะต้องมีเครื่องมีที่จะเป็นตัวช่วยให้เราก้าวไปสู่ความสำเร็จได้ในโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพราะเราจะไม่สามารถล่วงรู้ได้เลยว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง

โดยเครื่องมือที่ว่านั้นมีอยู่ 3 ข้อ นั่นคือ 1. ค้นหาความจริง 3. เน้นปัจจัยสู่ความสำเร็จ และ 3. Simple Rules หรือ กฎง่าย ๆ และจะวนอยู่ใน 3 ข้อนี้

สำหรับการค้นหาความจริงนั้น คือ ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในความจริง ซึ่งเป็นพื้นฐานที่จำเป็นต่อความสำเร็จ โดยต้องแยกให้ออกว่าสิ่งนั้นเป็นข้อเท็จจริง (Fact) หรือเป็นเพียง ความเห็น (Opinion) ยกตัวอย่าง ตอนที่เริ่มธุรกิจท่อยานยนต์ ซึ่งได้เจอข้อคิดเห็นที่ว่า บริษัทญี่ปุ่นซื้อกับบริษัทญี่ปุ่นเท่านั้นและเครื่องจักรต้องเป็นยี่ห้อญี่ปุ่น แต่เมื่อไปสำรวจในข้อเท็จจริงกับบริษัทญี่ปุ่นหรือคนญี่ปุ่นที่พร้อมให้ข้อแล้ว ทำให้พบว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด โดยบริษัทญี่ปุ่นซื้อกับบริษัทที่วางใจ โดยไม่สนว่าจะเป็นบริษัทไทย หรือบริษัทสัญชาติไหน ขอเพียงได้รับความไว้ใจ และสินค้านั้นมีคุณภาพ

หลังจากได้ความจริง ขั้นต่อไปคือ การไปหาปัจจัยสู่ความสำเร็จ และความเป็นไปได้ โดยพยายามจับทีละปัจจัย ก้าวทีละขั้น สุดท้ายเป้าหมายที่ดูใหญ่ก็จะสำเร็จได้ ยกตัวอย่าง ท่อยานยนต์ที่บริษัทฯ ผลิตมีปัจจัยแห่งความสำเร็จ คือ คุณภาพสินค้า ความตรงต่อเวลา และความสม่ำเสมอ ซึ่งจะนำพาไปสู่ ความไว้วางใจ จากนั้นจะต้องหาปัจจัยที่จะชนะคู่แข่ง เช่น ต้นทุนการผลิต และบริการที่ดีกว่า เป็นต้น 

ต่อจากนั้น นำเอาทั้ง 2 ส่วน มาตั้งกฎในการทำงาน โดยยึดหลัก กฎง่าย ๆ แต่ต้องได้ผลกว่ากฎจำนวนมาก ยกตัวอย่าง กฎง่ายๆ ของบริษัทฯ ผลิตท่อยานยนต์ที่ทำสำเร็จมาแล้ว นั่นก็คือ 1.ทำทุกอย่างเหมือนเจ้าตลาดญี่ปุ่น 2.ราคาถูกกว่าเจ้าตลาดญี่ปุ่น และ3.บริการดีกว่าเจ้าตลาดญี่ปุ่น ซึ่งทั้ง 3 ข้อนี้ หากสร้างความเข้าใจกับคนจำนวนมาก อาจจะเป็นพันคน ก็จะสามารถนำพาบริษัทประสบความสำเร็จได้

อีกหนึ่งตัวอย่างที่ทำแล้วประสบความสำเร็จนั่นก็คือ การลงทุนในการทำเหล็กรีดร้อน ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นเรื่องยาก เพราะต้องใช้เงินลงทุนนับหมื่นล้านบาท แต่ในขณะที่ในความเป็นจริงแล้ว เทคโนโลยีใหม่ในการผลิตเหล็กรีดร้อนหน้าแค่ ลงทุนแค่เพียงไม่กี่พันล้านบาทเท่านั้น จากนั้นแก้ปัญหาในแต่ละจุด กระทั่งทำได้สำเร็จ

โดยมีกฎง่าย ๆ นั่นคือ 1.เน้นเป้าหมาย ไม่เน้นวิธีการ 2. ใช้คนให้เหมาะสมกับงาน และ 3.ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว หมายถึง ทำดีต้องมีรางวัล และหากทำไม่ดี ก็ต้องมีบทลงโทษ ซึ่งจะช่วยให้องค์กรก้าวไปสู่ความสำเร็จได้

ส่วนการช่วยประชาชนในช่วงโควิด-19 ระบาด มีความเห็นบอกว่า ยากเกินไป ทำไม่ได้หรอก แต่สุดท้ายก็ทำได้ และช่วยคนป่วยนับพัน พร้อมกับตรวจเอทีเคไปกว่า 12,000 คน สุดท้ายที่คนบอกว่าทำไม่ได้ ก็สำเร็จลุล่วงด้วยความร่วมมือร่วมใจของหลายๆ ฝ่าย โดยการแยกปัจจัยและเป้าหมายในแต่ละจุด และแก้ทีละจุด 

“ดังนั้น หากเรามีการวางแนวทางการรับมือความเปลี่ยนแปลงด้วยเครื่องมือทั้ง 3 ที่กล่าวมา เชื่อว่าทุกคนสามารถประสบความสำเร็จและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคนี้ได้อย่างแน่นอน”

‘มูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์’ ชวนชาวไทยร่วมใจรักษ์โลก พร้อมใจปิดไฟ ถอดปลั๊ก 1 ชั่วโมง คืนวันเสาร์ที่ 22 มี.ค.นี้

นายสุกฤษฏิ์ชัย ธีระเริงฤทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ (หน่วยงานดีเด่นแห่งชาติสาขาอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) และ ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... ในสภาผู้แทนราษฎร ได้เผยแพร่ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก 'สุกฤษฏิ์ชัย ธีระเริงฤทธิ์ - Sukritchai Teeraroengrit' เพื่อรณรงค์กิจกรรมสิ่งแวดล้อม ปิดไฟ 1 ชม. 60+ Earth Hour 2025 เพื่อขอเชิญชวนพวกเรามาร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงในกิจกรรม Earth Hour 2025 ด้วยการปิดไฟ ถอดปลั๊ก งดใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น ตลอด 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน ให้โลกได้พัก พร้อมกัน ในวันเสาร์ที่ 22 มีนาคม 2568 เวลา 20:30 - 21:30 น.

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว จัดโดย องค์กรกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ World Wildlife Fund (WWF) มีกิจกรรมครั้งแรกในปี พ.ศ. 2550 และขยายไปสู่ทั่วทุกภูมิภาคของโลก เพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

‘เพจเรียนหมอ’ แชร์ประสบการณ์พากเพียรเรียนจบหมอทั้งพี่น้อง ขอเพียงเดินในเส้นทางที่ถูกต้อง ล้มแล้วปัดฝุ่นลุก ต้องถึงเป้าหมายสักวัน

(19 มี.ค. 68) เพจเฟซบุ๊ก เรียนหมอ โพสต์เฟซบุ๊ก แชร์ประสบการณ์และความพากเพียรกว่าจะประสบความสำเร็จด้านการศึกษา ว่า  สำหรับคนไม่มีต้นทุนชีวิต การศึกษาเท่านั้นที่จะเปลี่ยนชีวิต 

ใครที่บอกว่า บ้านจนเรียนหมอไม่ได้ บอกเลยไม่จริง เราสองพี่น้องพิสูจน์ให้แล้ว จนมากๆก็ยังเป็นหมอได้ทั้งคู่ แกวจบเภสัชหาเงินส่งน้องชายเรียนหมอ พอเริ่มอยู่ตัว แกวก็มาเรียนหมออีกใบ 
ในระบบการศึกษาไทย มีทุนการศึกษามากมายรอเราอยู่ ขอแค่เราตั้งใจ แล้วงานพิเศษก็ช่วยให้เรารอดได้ แกวทำทุกอย่างที่ได้เงิน สอนพิเศษ หาเสื้อผ้ามือสองมาขาย ทำงานร้านหมูกระทะ  สู้มาก 

“กล้วยไม้ออกดอกช้าฉันท์ใด การศึกษาเป็นไปฉันท์นั้น”
จริงตามนั้นทุกประการ ระหว่างทางที่เดิน ล้มลุกคลุกคลาน เสียน้ำตาไปมหาศาล 
ต่อให้ร้องไห้แค่ไหน ก็ยังจะเดินต่อไปไม่หยุด  กัดไม่ปล่อย  จะคิดเทียบเสมอ เดินต่อไปได้อะไร หยุดได้อะไร  มองไกลๆ

คำว่าไม่มีคือไม่มีจริงๆ ความจนมันน่ากลัว  ความจนมันมืดบอด น้อง ๆ คนไหนที่รู้สึกน้อยใจในโชคชะตาชีวิต  เข้มแข็งแล้วลุกขึ้นมาเอาชนะความจนไปด้วยกัน 

เทคนิคคือ 
เดินในทางที่ถูกที่ควรไปเรื่อย ๆ ระหว่างทางก็เอื้อเฟื้อแบ่งปัน พัฒนาตัวเอง เป็นของขวัญให้ทุกคนที่พบเจอไป ไปที่ไหนจะมีแต่คนรักคนเมตตา เทวดาคุ้มครอง ทำอะไรก็งอกงามขึ้นเรื่อย ๆ
แกวเป็นคนที่ได้รับความเมตาจากผู้คนที่ผ่านเข้ามาในทุกช่วงเวลาของชีวิตอยู่เสมอ รู้สึกขอบคุณตลอด มีคนใจดีมากมายคอยโอบอุ้ม ไม่เคยลืม  

ดอกไม้ดอกนี้เบ่งบานแล้ว พร้อมจะช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป เพราะเรารู้ดีว่าการได้รับตอนลำบาก มันทำให้ใจฟูแค่ไหน 
#bye bye ความจน เราก้าวข้ามคุณได้แล้วนะ ไม่มีอีกแล้วเด็กน้อยในวันนั้นที่หน้าหนาวยังไม่มีเสื้ออุ่นๆใส่  
#ขอบคุณทุกการศึกษา ขอบคุณผู้คนที่ผ่านเข้ามาทุกช่วงเวลาของชีวิตที่เมตตาช่วยเหลือ 
#ขอบคุณพ่อแม่ที่เลี้ยงดูมาอย่างดีด้วยความรัก ความอบอุ่น ยากจนเงินทอง แต่ไม่ได้ยากจนความสุข วันนี้พ่อแม่สุขสบายแล้ว  เราสองคนตอบแทนดูแลพ่อแม่อย่างดี 
ท่านเสียสละเพื่อพวกเรามามาก ในวันที่ลำบาก สิ่งที่ท่านให้คือสิ่งที่ดีที่สุดที่ท่านทำให้แล้ว 

เป็นกำลังใจให้ทุกคนที่กำลังเดิน รู้ว่าเหนื่อย 
อดทนทำต่อไปค่ะ ผลลัพธ์คุ้มมาก  ถ้าล้มแล้วปัดฝุ่นลุก มันต้องถึงเป้าหมายสักวัน

ศาล สั่งห้าม ‘ธนารักษ์’ ขึ้นทะเบียน 'พุทธมณฑล' 2.5 พันไร่เป็นที่ราชพัสดุ เหตุเป็นศาสนสมบัติกลางที่มีกฎหมายเฉพาะ

ศาลปกครองกลางพิพากษา ห้ามกรมธนารักษ์นำที่ดินพุทธมณฑล 2,500 ไร่ ขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุ ชี้เป็นที่ศาสนสมบัติกลางที่กฎหมายเฉพาะบัญญัติยกเว้น

(19 มี.ค.68) ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาห้ามมิให้กรมธนารักษ์นำที่ดินพุทธมณฑล เนื้อที่ 2,500ไร่ ขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุ คดีนี้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ผู้ฟ้องคดี ฟ้องว่า ได้รับความเดือดร้อนจากการที่กรมธนารักษ์ ผู้ถูกฟ้องคดี จะนำที่ดินแปลงดังกล่าวขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุและเข้าปกครองดูแลที่ราชพัสดุแปลงนี้ตามมาตรา 8 และมาตรา 17พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ 2562ทั้งที่ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ดูแลและพัฒนาที่ดินพุทธมณฑล เนื้อที่ประมาณ 2,500ไร่ ซึ่งเป็นศาสนสมบัติของพระพุทธศาสนา และเป็นศาสนสมบัติกลางตามมาตรา 40 พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2506จึงขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีระงับการขึ้นทะเบียนที่ดินพุทธมณฑลดังกล่าว ซึ่งศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า พุทธมณฑลสร้างขึ้นตามเจตนารมณ์ เพื่อเป็นอนุสรณ์ในการเฉลิมฉลองงาน 25 พุทธศตวรรษ โดยพิจารณาได้จากปูชนียสถานที่สร้างขึ้นในพุทธมณฑลล้วนแต่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น ส่วนในการจัดหาที่ดินนั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับซื้อที่ดินของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จำนวน 135 ไร่ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ทั้งได้มีประชาชนผู้เลื่อมใสศรัทธาบริจาคเงินเพื่อซื้อที่ดินถวายเป็นพุทธบูชาและร่วมสมทบในการสร้างพระพุทธรูปและพุทธมณฑลแล้ว เป็นเงินจำนวน 2,764256.82 บาท รวมถึง ฯพณฯ อูนุ นายกรัฐมนตรีพม่า ได้มอบเงินให้จำนวน 50,000 จาด

นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากการจำหน่ายพระเครื่อง พระพุทธรูป แสตมป์ ปฏิทินและเสมาที่ระลึก โดยเป็นการร่วมแรงร่วมใจในการจัดสร้างพุทธมณฑลตามนโยบายของรัฐบาลอีกด้วย จนรวบรวมที่ดินได้จำนวน 2,205 ไร่ 96 ตารางวา ที่ดินที่ได้มาดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่มีผู้ถวายให้แก่พระศาสนา แต่ปรากฏว่ายังขาดอีกจำนวน 294 ไร่ 3 งาน 4 ตารางวาจึงจะครบ 2,500 ไร่ ตามที่กำหนดไว้ รัฐบาลจึงได้มีการเวนคืนที่ดินจำนวนที่ยังขาดอยู่ แต่ก็เพื่อให้การดำเนินการจัดสร้างพุทธมณฑลสำเร็จลุล่วงตามเจตนารมณ์เท่านั้น หาได้มีวัตถุประสงค์ที่จะนำที่ดินไปใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ หรือเพื่อประโยชน์ของทางราชการตามกฎหมายแต่อย่างใด

"กรณีจึงต้องถือว่า เจตนารมณ์ทั้งของสถาบันพระมหากษัตริย์ รัฐบาล และประชาชนชาวไทยในการจัดซื้อและจัดหาที่ดินเนื้อที่รวม 2,500ไร่ จัดสร้างพุทธมณฑลก็เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและอุทิศให้พระพุทธศาสนา ดังนั้น ที่ดินพุทธมณฑลจึงเป็นทรัพย์สินของพระศาสนา เมื่อได้พิจารณาข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว จึงรับฟังเป็นยุติว่า พุทธมณฑลเป็นพุทธสถานที่ตั้งขึ้นเพื่อประโยชน์ในทางพระพุทธศาสนา ประกอบกับเมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าที่ดินพุทธมณฑลเป็นทรัพย์สินของพระศาสนา และเมื่อที่ดินดังกล่าวมิใช่ของวัดใดวัดหนึ่ง ดังนั้น ที่ดินพุทธมณฑลจึงเป็นศาสนสมบัติกลาง ตามมาตรา 46 (1) แห่งพ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2484 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่จัดตั้งพุทธมณฑล และตามมาตรา 40 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2505ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ที่มีผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ดูแลรักษาและจัดการ รวมทั้งเป็นเจ้าของ ตามมาตรา 40 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว อันเป็นที่ดินที่มีกฎหมายเฉพาะบัญญัติยกเว้นไว้ไม่ให้ถือเป็นที่ราชพัสดุ ทั้งนี้ ตามมาตรา 7 (7) แห่งพ.ร.บ. ที่ราชพัสดุ 2562

เมื่อได้วินิจฉัยมาแล้วว่า ที่ดินพุทธมณฑลเป็นทรัพย์สินของพระศาสนาอันเป็นศาสนสมบัติกลาง มิใช่ที่ราชพัสดุตามกฎหมายที่ราชพัสดุ ฉะนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่มีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 17 และมาตรา 19 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ประกอบข้อ 6 (16) ของระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการปกครอง ดูแล บำรุงรักษา และการใช้ที่ราชพัสดุ 2546 ให้ผู้ฟ้องคดีทำการสำรวจรังวัดและจัดทำแผนที่รายละเอียดที่ราชพัสดุแปลงพุทธมณฑลพร้อมสิ่งปลูกสร้าง แล้วนำส่งขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุและบริหารจัดการพื้นที่ให้เป็นไปตามกฎหมายที่ราชพัสดุแต่อย่างใด ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีโดยสำนักงานธนารักษ์พื้นที่นครปฐมได้มีหนังสือให้ผู้ฟ้องคดีสำรวจรังวัด และจัดทำแผนที่รายละเอียดที่ราชพัสดุแปลงพุทธมณฑลพร้อมสิ่งปลูกสร้าง นำส่งขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุและบริหารจัดการพื้นที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย และได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีสำรวจรายการที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินราชพัสดุแปลงพุทธมณฑลขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุตามแบบรายการส่ง - รับที่ราชพัสดุขึ้นทะเบียนจัดส่งให้สำนักงานธนารักษ์พื้นที่นครปฐม เพื่อดำเนินการรับขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุต่อไป จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมีคำพิพากษาดังกล่าว

‘ดร.กอบศักดิ์’ โพสต์ข้อความสุดประทับใจหลังจบหลักสูตร วปอ. เผย ได้เรียนรู้มากมายหลากหลายมุมมอง ทั้งประโยชน์และยุทธศาสตร์ชาติ

(19 มี.ค. 68) ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรียนจบแล้ว เป็น 1 ปีที่มีความหมายที่ วปอ. เป็นหลักสูตรที่สอง ที่เข้าเรียนในช่วง 30 ปี

ตัดสินใจสมัคร เพื่อเข้าใจมุมมองด้านการทหาร ท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างมหาอำนาจ ท่ามกลางสงครามที่ยูเครน ตะวันออกกลาง ตลอดจนความคุกรุ่นจากการเผชิญหน้าที่รอบๆ ไต้หวันและทะเลจีนใต้

ได้พบกับท่านอาจารย์ ท่านวิทยากร พี่ๆ เพื่อนๆ ได้เรียนรู้ เห็นสิ่งต่างๆ มากมาย ประโยชน์ของชาติ ยุทธศาสตร์ชาติ 
Ends Ways Mean Center of Gravity …

ได้รู้จักทุกคน ใช้เวลานับพันชั่วโมง ช่วยกันถกเถียง ช่วยกันคิด ช่วยกันเขียน “เปลี่ยนใหญ่ประเทศไทย : Thailand Next” ข้อเสนอของ วปอ 66

พี่ๆ ทุกคนตั้งใจกันมาก น้อง ๆ ทีมงานก็ทุ่มเทสุดตัว ตั้งใจให้เป็นผลงาน ที่ช่วยให้เราเห็นทางว่า ถ้าเราจะเปลี่ยนแปลง นำไทยไปสู่อนาคตที่สดใส รุ่งเรือง ไม่แพ้ใคร เราต้องทำอะไร

ได้ร่วมกับพี่ๆ หมู่นกเค้าแมว (ฮูก ฮูก ฮูก) จัดทำโครงการ Carbon Credit เพื่อชุมชนที่ยั่งยืน ที่บ้านถ้ำเสือ แก่งกระจาน เพชรบุรี ใช้เวลารวมกันอีกหลายพันชั่วโมง จัดทำโครงการเพื่อเอาพลังของทุกคน

ทุกหน่วยงาน ไปช่วยกันพัฒนาสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม ลงพื้นที่ทำงานกับพี่น้องชุมชน และหน่วยงานต่าง ๆ ทุกคนตั้งใจมาก เอาจริงเอาจัง นำไปสู่แนวคิดการพัฒนารายได้ชุมชนทั้งระยะสั้น กลาง ยาว เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการพัฒนาพื้นที่ และเป็นต้นแบบสำหรับการทำประโยชน์เพื่อสังคม

ได้เขียนเอกสารการวิจัยส่วนบุคคล “แนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาส และความเสมอภาคของไทย” ซึ่งเป็นเรื่องที่สนใจศึกษา วิจัย ทำมาทั้งชีวิตการทำงาน ใช้เวลาอีกมากมาย นับพันชั่วโมงเช่นกัน ในการคิดทบทวน วิเคราะห์ กลั่นกรอง เขียนงานวิจัยว่า ทำไมประเทศไทยถึงพ่ายแพ้สงครามกับความเหลื่อมล้ำ ทั้งที่ได้ใช้เงินงบประมาณในหลายสิบปีที่ผ่านมา หลายสิบล้านล้านบาท เฉพาะเรื่องนี้เรื่องเดียว ทุ่มลงไป เพื่อให้ความเหลื่อมล้ำลดลง แต่ยิ่งทำ ยิ่งพัฒนา ชนบท ชุมชน ต่างอ่อนแอ มีแต่หนี้ สูญเสียที่ดินทำกิน

ปัญหาจริงๆ คืออะไร ถ้าอยากเอาชนะ ต้องทำอะไร เป็นโอกาสได้ทำการวิจัยอย่างจริงจังอีกครั้งในรอบ 10 ปี รวบรวมประสบการณ์ของตนเอง ที่เคยเป็นทั้งนักวิชาการ นักพัฒนาสังคม ผู้ทำโครงการเพื่อสังคมในภาคเอกชน และเคยอยู่ในภาครัฐเป็นผู้กำหนดนโยบายและช่วยเขียนกฎหมายเพื่อชุมชน คนตัวเล็ก จัดทำข้อเสนอที่มั่นใจว่า จะช่วยพลิกจากความพ่ายแพ้เป็นชัยชนะ สร้างสังคม เศรษฐกิจที่ให้โอกาสกับทุกคน ลดความเหลื่อมล้ำให้เหลือเพียงที่จำเป็น นำไปสู่ความสำเร็จในการพัฒนาที่แท้จริง

นอกจากนี้ ยังได้เข้าร่วมการฝึกร่วมยุทธเสนา 67 ต่อสู้กับ ”ประเทศ“ ที่มารุกราน ร่วมปกป้องอธิปไตยของเรา กับทุกคนจากหลักสูตรต่างๆ ของทางกองทัพ จนข้าศึกต้องยอมความ ยุติความตั้งใจที่จะรุกราน ได้รับความรู้อย่างมากมายในเรื่องนี้เช่นกัน วันหลังเมื่อมีเวลา จะนำมาเล่าให้ทุกคนฟัง เป็น 1 ปีที่คุ้มค่าและมีความหมายอย่างยิ่ง

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับสหราชอาณาจักร เปิดตัว 'สถานีตำรวจนำร่อง' เพื่อยกระดับมาตรฐานการควบคุมตัวผู้ต้องหา สู่ความเป็นเลิศด้านสิทธิมนุษยชน

(19 มี.ค.68) เวลา 11.00 น. พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมและเปิดตัวโครงการ “สถานีตำรวจนำร่อง” เพื่อยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในเรื่องการควบคุมตัวผู้ต้องหาให้มีมาตรฐานเป็นสากล โดยมี นางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ , ผศ.ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ , นายพิทยา จินาวัฒน์  ที่ปรึกษาประจำสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ , นายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ ที่ปรึกษาประจำสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ , Mr. David Thomas Deputy อุปทูตสหราชอาณาจักร ประจำประเทศไทย , Mr.David Lawes ที่ปรึกษากระทรวงมหาดไทย สหราชอาณาจักร , Ms.Leanne Moorhouse ผู้เชี่ยวชาญด้านกล้องติดตัว จาก Devon & Cornwall Police สหราชอาณาจักร , Mr.Seamus Weightman เจ้าหน้าที่หัวหน้าส่วนคุมขัง จาก Northumbria Police สหราชอาณาจักร พร้อมด้วย พล.ต.ต.พงษ์สยาม มีขันทอง รองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว , พล.ต.ต.ชรินทร์ โกพัฒน์ตา รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล , พล.ต.ต.ธนู พวงมณี ผู้บังคับการกองยุทธศาสตร์ สำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ , พ.ต.อ.ธรา แปงเครื่อง รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6 และ พ.ต.อ.ศิริชาติ จันทร์พรมมา ผู้กำกับการ สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน ร่วมประชุมและเปิดตัวโครงการฯ ณ สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน

โครงการ “สถานีตำรวจนำร่อง” เพื่อยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในเรื่องการควบคุมตัวผู้ต้องหาให้มีมาตรฐานเป็นสากล จากการริเริ่มของ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มอบหมายให้จเรตำรวจแห่งชาติ ดำเนินโครงการฯ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสหราชอาณาจักร โดย Mr. David Thomas อุปทูตสหราชอาณาจักร ประจำประเทศไทย โดยการนำแนวทางการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best practice) และบทเรียน (Lesson learned) เกี่ยวกับการควบคุมผู้ต้องหาจากสหราชอาณาจักรมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับกฎหมายและบริบทของประเทศไทย โดยมุ่งเน้นการคุ้มครองผู้ต้องหาให้ปลอดภัยจากการซ้อมทรมาน และป้องกันมิให้เกิดการเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัว เพื่อให้การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 และส่งเสริมความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจในเรื่องชีวิต ร่างกาย และวิธีการปฏิบัติ 

ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นความมุ่งมั่นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและสหราชอาณาจักร ที่จะพัฒนาการควบคุมตัวผู้ต้องหาให้มีความปลอดภัย โดยแนวทางการปฏิบัติที่พัฒนาขึ้นนั้นต้องสามารถนำมาปฏิบัติได้จริง และเป็นผลดีต่อทั้งผู้ต้องหาและเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติ ดังนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน และสถานีตำรวจภูธรเมืองจันทบุรี ไปรับการฝึกอบรมจากกองบัญชาการตำรวจนอร์ทัมเบรีย ณ สหราชอาณาจักร และยังได้เชิญผู้เชี่ยวชาญซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทย จากสหราชอาณาจักร มาให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด เพื่อนำแนวทางปฏิบัติมาประยุกต์ใช้ในประเทศไทยให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปฏิบัติเกี่ยวกับการควบคุมตัวผู้ต้องหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้นำหลัก "Change by Design" มาพัฒนาแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการควบคุมตัวผู้ต้องหา โดยเน้นการออกแบบเชิงระบบ เริ่มจากการปรับปรุงโครงสร้างห้องควบคุมให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย มีกล้องวงจรปิดบันทึกเหตุการณ์ตลอดเวลา และการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกขั้นตอนต้องเกิดขึ้นในพื้นที่ห้องขัง นอกจากนี้ ยังพัฒนากระบวนการควบคุมตัวผู้ต้องหาให้มีความปลอดภัยและโปร่งใส โดยการประเมินความเสี่ยงต่างๆ รวมถึงสภาพความพร้อมด้านสุขภาพร่างกายและจิตใจของผู้ต้องหาในการถูกควบคุมตัว การจัดทำบันทึกควบคุมตัวโดยละเอียด มีการบันทึกทรัพย์สินส่วนบุคคล และการตรวจสอบการควบคุมตัวโดยผู้บังคับบัญชา ซึ่งทุกขั้นตอนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นจะถูกบันทึกลงในบันทึกการควบคุมตัวผู้ต้องหาเพื่อสร้างกระบวนการที่โปร่งใสสามารถตรวจสอบได้

เป้าหมายสูงสุดของโครงการสถานีตำรวจนำร่อง คือการป้องกันมิให้เกิดการซ้อมทรมานและการเสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัว โดยหลักปฏิบัติที่สำคัญของโครงการนี้คือ การประเมินความเสี่ยงและสภาพความพร้อมด้านสุขภาพร่างกายและจิตใจของผู้ต้องหาในการถูกควบคุมตัวในโอกาสแรกที่สามารถทำได้ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะเกิดประโยชน์อย่างมากในกรณีที่ผู้ต้องหานั้นมีโรคประจำตัวที่อาจส่งผลต่อชีวิต มีอาการบาดเจ็บ หรือมีประวัติการเสพยาเสพติดซึ่งอาจนำไปสู่อาการต้องการเสพยาขั้นรุนแรง เนื่องจากการทราบถึงข้อมูลเหล่านี้ก่อนจะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปนั้น สามารถทำให้เจ้าหน้าที่ประจำห้องขังสามารถตัดสินใจได้ว่ามีความจำเป็นต้องส่งต่อผู้ต้องหาไปยังโรงพยาบาลหรือไม่ หรือต้องกำหนดระดับการดูแลและตรวจสอบที่ระดับใด การตัดสินใจที่ถูกต้องและรวดเร็วบนพื้นฐานของข้อมูลดังกล่าวจะช่วยให้สามารถรักษาชีวิตของผู้ต้องหาเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินได้ ซึ่งแนวทางปฏิบัตินี้ได้ถูกนำมาปฏิบัติและพิสูจน์ว่าเกิดประสิทธิภาพในการช่วยชีวิตผู้ต้องหาได้จริงในสถานีตำรวจ 2 แห่งแล้ว ได้แก่ สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน และสถานีตำรวจภูธรเมืองจันทบุรี 

พล.ต.อ.ธัชชัยฯ กล่าวว่า หลังจากนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพในการปฏิบัติและการวิเคราะห์ข้อมูลการควบคุมตัวผู้ต้องหามากยิ่งขึ้น โดยจะพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับใช้ในการบันทึกการควบคุมตัวผู้ต้องหา และในระยะต่อไปจะขยายแนวทางการปฏิบัติรูปแบบใหม่นี้ไปยังสถานีตำรวจในสังกัดกองบังคับการตำรวจนครบาล 6 ก่อนที่จะนำไปใช้ในทุกสถานีตำรวจทั่วประเทศ โครงการ "สถานีตำรวจนำร่อง" นี้ สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 รวมถึงกฎหมาย และระเบียบอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนและเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในสถานีตำรวจ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top