Thursday, 10 July 2025
NEWS FEED

‘ดี้ นิติพงษ์’ แบน!! แม่หยัว จากกรณีวางยาสลบแมว ขอแสดงจุดยืน ลั่น!! หมาแมวดำ ก็มีชีวิตจิตใจ

(10 พ.ย. 67) จากประเด็นดรามาที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก สำหรับละครเรื่อง แม่หยัว ตอนที่ 5 ซึ่งมีฉากที่แมวดำถูกวางยาตาย โดยแมวได้กระตุก ตัวเกร็ง ตาค้าง และส่งเสียงร้อง ก่อนสลบ

ต่อมาผู้กำกับได้ออกมาชี้แจงว่ามีการวางยาสลบแมวจริง โดยมีเจ้าของแมวและผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลในทุกขั้นตอน แต่เรื่องราวยังไม่จบเพียงเท่านั้น เนื่องจากคนจำนวนมากเห็นว่าเข้าข่ายทารุณกรรมสัตว์ เพราะการวางยาสลบอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตแมวได้ และต้องเป็นไปเพื่อการรักษาเท่านั้น ทำให้เกิดแฮชแท็ก #แบนแม่หยัว ขึ้นเทรนด์ในโลกโซเชียล ขณะที่สัตวแพทยสภาฯ ได้ออกมาประกาศตรวจสอบด้วย

ด้าน ดี้ นิติพงษ์ ห่อนาค นักร้องและนักแต่งเพลงชื่อดัง ได้โพสต์เฟซบุ๊กถึงเรื่องดังกล่าวว่า 

#ในฐานะที่ฉันก็มีหมาดำ หมาแมวสีดำก็มีชีวิตจิตใจ การที่คุณบอกวางยาสลบแมวเพื่อเข้าฉาก โห…พูดไม่ออก ถ้านอกจากการรักษาไม่ควรเลย แล้วแมวมีเจ้าของคงไม่มีใครยอม (ถ้ายอมก็ยอมใจ) 

ถ้าเอาแมวจรมาแปลว่าคุณก็ไม่สนว่ามันจะเป็นยังไง แล้วต้องมีผู้เชี่ยวชาญวางยาให้ใช่ไหม !? …ฟื้นแล้วก็ปล่อยไปตามยถากรรมงั้นหรือ !?

ผมขอ #ร่วมต่อต้านการทารุณกรรมสัตว์ ครั้งนี้ ถึงละครเรื่องนี้ผมจะไม่ได้ดู แต่ก็ขอแสดงจุดยืน… และเป็นกระบอกเสียง #แบนแม่หยัว ครับ

สมาคมสื่อสร้างสรรค์ เพื่อสังคมจัดโครงการ 'แผ่นดินเดียวกัน ต้านภัยหนาว ให้ผู้ยากไร้' จัดเครื่องนุ่งห่มกันหนาวบนดอยประสบดินถล่ม และภัยหนาว

เมื่อวานนี้ (9 พ.ย.67) ที่ผ่านมาจากสถานการณ์ที่มีดินถล่ม ที่บ้านดอยแหลม ม.13 ต.แม่อาย อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 6 คน แบ่งออกเป็นชาย 1 คน หญิง 3 คน และเด็กชายอายุ 4 ขวบ 1 คน เด็กหญิง 5 เดือนจำนวน 1 คน ทำให้พื้นที่บ้านเรือนประชาชนบางแห่งได้รับความเสียหายจากดินถล่ม เมื่อช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมาก ซึ่งบ้านดอยแหลมเป็นหมู่บ้านของชาวลาหู่ มีบ้านเรือนจำนวน 214 หลังคาเรือน มีประชากรทั้งหมดจำนวนประมาณ 1000 คนเป็นชาวลาหู่ นับถือศาสนาพุทธ ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำไร่ทำสวน เป็นหมู่บ้านห่างไกล การช่วยเหลือเข้าถึงยาก 

ซึ่งล่าสุด นายเอกรินทร์ เสถียรมล ร่วมกับสมาคมสื่อสร้างสรรค์ โดยมีนายอภิรัฐ กุมกันไซย นายกสมาคมสื่อสร้างสรรค์ เพื่อสังคม ได้รับการประสานจากภรรยาผู้ใหญ่บ้าน และเป็นภรรยาของผู้ใหญ่บ้านที่เสียชีวิติจากเหตุกาณ์ดินถล่มเมื่อเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา ร้องขอความอนุเคาระห์เครื่องนุ่งห่มกันหนาว เนื่องจากหลังภัยดินถล่ม ประชาชนส่วนใหญ่มีฐานะยากจน จึงขาดเครื่องนุ่งห่มกันหนาว ทางนายเอกรินทร์ เสถียรมล ร่วมกับสมาคมสื่อสร้างสรรค์ โดยมีนายอภิรัฐ กุมกันไซย นายกสมาคมสื่อสร้างสรรค์ เพื่อสังคม ได้จัดโครงการ' แผ่นดินเดียวกัน ต้านภัยหนาว ให้ผู้ยากไร้ 'จัดเครื่องนุ่งห่มกันหนาวประมาณ 1 คันรถ ได้เดินทางออกจากกรุงเทพมาตั้งแต่เมื่อคืน มาถึงยังหมู่บ้านดอยแหลม เมื่อช่วงบ่ายของวันนี้

โดยมีนายเจตกรวีร์ จิรารัชต์พงศ์ ผู้ใหญ่บ้านดอยแหลม ให้การต้อนรับ พร้อมด้วยภรรยาอดีตผู้ใหญ่บ้านที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดินถล่ม และมีชาวบ้านทั้งหมู่บ้านมาให้การตอนรับ ซึ่งทางชาวบ้านต่างดีใจที่ได้รับเครื่องนุ่งห่มในครั้งนี้ เนื่องจากหมู่บ้านชุมชนห่างไกล และอยู่บนดอยสูงชันทำให้มีการกาศหนาวเย็นในช่วงฤดูหนาว ซึ่งมีอุณหภูต่ำสุดอยู่ที่ 16 องศา

เชียงใหม่-รมว.ทส. เดินทางเข้าตรวจเยี่ยมและสำรวจพื้นที่การเตรียมความพร้อมรับหมีแพนด้าคู่ใหม่จากจีน 

เมื่อวานนี้ (9 พ.ย.67) เวลา 11.15 น. ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมคณะ ได้เดินทางเข้าตรวจเยี่ยมสวนสัตว์เชียงใหม่ พร้อมทั้งชมสถานที่ส่วนจัดแสดงหมีแพนด้าที่ผ่านมา เพื่อหาข้อสรุปจะปรับปรุงหรือก่อสร้างส่วนจัดแสดงใหม่ ภายในสวนสัตว์เชียงใหม่ โดยมี นายอรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศ ไทย พร้อมด้วย นายวุฒิชัย ม่วงมัน ผู้อำนวยการสวนสัตว์เชียงใหม่ และผู้บริหาร พนักงานเจ้าหน้าที่ สวนสัตว์เชียงใหม่ ให้การต้อนรับและนำตรวจเยี่ยม 

ในการนี้ ผู้อำนวยการสวนสัตว์เชียงใหม่ ได้นำชมพื้นที่ส่วนจัดแสดงหมีแพนด้าที่ผ่านมาในพื้นที่4ไร่และลงสำรวจพื้นที่ใหม่บริเวณส่วนจัดแสดง เก้ง กวาง วัวแดง ที่มีขนาดพื้นที่ 19ไร่ โดยได้นำเสนอหลักการให้พิจารณาเหตุผล ความจำเป็น ในการจัดสร้างศูนย์จัดแสดงหมีแพนด้าคู่ใหม่ในไทยโดยมีส่วนประกอบที่มาตราฐานตามเงื่อนไขที่ทางจีนกำหนดในปัจจุบัน 

หลังจากนั้น สัตวแพทย์หญิง กรรณิการ์ จันทรังษี หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์วิจัยและสุขภาพสัตว์ รักษาการในตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายบำรุงสัตว์ ผู้ที่เคยดูแลหมีแพนด้าในไทยที่ผ่านมา เป็นผู้บรรยายสรุปแนวคิดการใช้พื้นที่ และความสอดคล้องในการแบ่งพื้นที่ตามข้อกำหนด เพื่อเตรียมความพร้อม ด้านการออกแบบสถานที่เลี้ยงสำหรับการรับหมีแพนด้ายักษ์คู่ใหม่ให้มีความเหมาะสมทั้งด้านความเป็นอยู่ และส่วนที่อยู่อาศัยของพื้นที่การจัดแสดงฯเพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้เข้าชมหมีแพนด้ายักษ์ ที่สวนสัตว์เชียงใหม่ อีกครั้ง 

ดร.เฉลิมชัย เผยว่า สวนสัตว์เชียงใหม่มีความพร้อมในด้านต่างๆทั้งองค์ความรู้ในการบริหารจัดการประสบการณ์ และเนื่องในโอกาสครบรอบความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน 50 ปี มีความเป็นไปได้ว่าทางการจีนจะส่งหมีแพนด้ายักษ์เป็นทูตสันถวไมตรีอีกครั้งหนึ่งดังนั้นในวันนี้จึงต้องมีการสำรวจความพร้อมให้มากขึ้น และต้องมีพื้นที่ที่ใหญ่กว่าเดิม เพื่อสวัสดิภาพที่ดีของหมีแพนด้าและเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ที่ผ่านมาสวนสัตว์เชียงใหม่ได้รับหนังสือจากฝ่ายจีนกล่าวชื่นชมการทำงานในเรื่องการเลี้ยงดูแลหมีแพนด้าอีกด้วย สำหรับพื้นที่ก่อสร้างใหม่อาจจะต้องใช้เวลาในการก่อสร้าง1.5-2ปี ซึ่ง ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์และสวนสัตว์เชียงใหม่ พร้อมจะบริหารจัดการต่อไป

นายอรรถพรฯ เผยว่า ต้องขอบคุณรัฐบาลที่ทำให้เกิดโครงการนี้ขึ้นอีกครั้ง ซึ่งองค์การสวนสัตว์ฯได้เตรียมความพร้อมทุกด้าน เบื้องต้นได้มีการจัดทำร่างผัง ของส่วนจัดแสดงใหม่ไว้เบื้องต้น ซึ่งจะต้องส่งให้ทางการจีนทำการพิจารณาต่อไป ซึ่งตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา มีนักวิจัย และนักวิทยาศาสตร์ ของสวนสัตว์ฯได้แสดงให้เห็นว่าหมีแพนด้าได้มีการผสมเทียมและขยายพันธุ์ ในไทยแล้ว จนทำให้เกิดกระแสแพนด้าฟีเวอร์มาแล้ว และมีแฟนคลับติดตามเป็นจำนวนมากเหมือนหมูเด้ง ดังนั้นในอนาคตจะต้องสร้างพี่เลี้ยงหมีแพนด้าขึ้นมาใหม่เพื่อที่จะเป็นเหมือน พี่เลี้ยง 'หมูเด้ง' ต่อไป   

หลังจาก รมว.ทส. รับฟังการรายงานได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนที่ติดตามทำข่าว และให้คำแนะนำผู้บริหารสวนสัตว์เชียงใหม่ ด้านการ เตรียมความพร้อมในการรับหมีแพนด้าคู่ใหม่จากสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นทูตสันทวไมตรี ในวาระครบรอบ 50 ปี เชื่อมความสัมพันธ์ไทย-จีน จากนั้นถ่ายภาพกับนกแก้ว(บูลแอนด์โกล์มาคอร์)ที่สวนสัตว์เชียงใหม่ได้เพาะขยายพันธ์ุได้ และสัตว์ น่ารักต่าง ๆ ด้านหน้าส่วนจัดแสดงกวางฯก่อนเดินทางกลับ และได้ลงนามในสมุดเซ็นเยี่ยม พร้อมทั้งได้กล่าวชื่นชมให้กำลังใจการทำงานของทุกคนในสวนสัตว์เชียงใหม่ ต่อไป

‘น้อง ป.5 - น้อง อ.3’ รีวิวหลังอ่าน ‘2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ’ สนุกมาก วางไม่ลง!! ได้เรียนรู้ ความจริงในประวัติศาสตร์

(10 พ.ย. 67) รีวิวจาก น้อง ป.5 และน้อง อ.3 ที่ได้อ่าน ‘2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ’ สร้างความประทับใจเป็นอย่างมาก 

เด็กอ่านแล้วรู้เรื่อง อ่านแล้วสนุก

ตรงตามวัตถุประสงค์ของผู้จัดสร้าง ที่ต้องการถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นจริงในประวัติศาสตร์ ให้กับคนรุ่นใหม่ได้เข้าใจ จะได้ไม่ถูก ‘บิดเบือน’

ระหว่างอ่าน!! มีถามแม่ “กษัตริย์ เป็นคนดีไหม”

ถ้าเป็นคุณ ‘จะตอบคำถามนี้ ของลูกว่าอย่างไร’ 

ส่งข้อความมาคุยกันกับ THE STATES TIMES

‘นิพิฏฐ์’ สงสาร!! ทนายตั้มจูบหน้าผากลา ‘เมียรัก’ ฝากเพื่อนทนาย ให้กำลังใจเพื่อน ขอให้เขาเข้มแข็ง

(10 พ.ย. 67) นาย นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ และทนายความ โพสต์ภาพของนาย ษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือ ทนายตั้ม ผู้ต้องหาในคดีฉ้อโกงและฟอกเงิน กำลังหอมหน้าผากของนาง ปทิตตา เบี้ยบังเกิด หรือ เดือน ภรรยาคนสวย ซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาในคดีร่วมกันฟอกเงิน บนรถตู้ ก่อนเจ้าหน้าที่ตำรวจจะนำตัวไปขออำนาจศาลเพื่อฝากขัง พร้อมข้อความลงในเฟซบุ๊ก ‘นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ’ ระบุว่า …

ขี้สงสาร ผมน่าจะมีจุดอ่อนอยู่เรื่องหนึ่ง คือ ขี้สงสาร เห็นใครทุกข์ลำบากไม่ว่าเขาเป็นคนดีหรือไม่ดี ผมสงสารไปหมด ขอเขียนอีกครั้งเถอะ แม้จริตผมไม่ตรงกับทนายตั้ม ผมเคยเขียนต่อว่าเขาครั้งหนึ่ง ตอนเขาไปทำบุญ และอธิษฐานให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ลงโทษใครคนหนึ่ง (ผมจำไม่ได้แล้วว่าเขาให้ลงโทษใคร) ผมขึ้นเฟซบุ๊กต่อว่าเขาทันทีว่า จะบ้ารึ!! การอธิษฐานขอพร เขาไม่อธิษฐานขอพรให้พระหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ลงโทษใคร มีแต่ขอพรให้ตัวเองและผู้อื่นพ้นทุกข์ ได้วิชานี้มาจากไหนวะ!!! นี่มันวิชามารนะ!! 

หลังจากนั้นทนายตั้ม ลงเฟซบุ๊กขอถอนคำอธิษฐาน ด้วยความขี้สงสารของผม เห็นภาพทนายตั้มโอบกอดภรรยาแ ละจูบที่หน้าผากภรรยา ผมก็สะท้อนใจ ผมบ่นกับภรรยาว่า สงสารเขา ปกติคนเป็นสามีต้องปกป้องภรรยา เขาคงปวดใจที่ปกป้องภรรยาไม่ได้ ทำให้ภรรยาต้องมารับวิบากด้วย

ภรรยาผมสวนขึ้นมาว่า ดีนะขนาดอยู่ในรถควบคุมผู้ต้องหา เขายังจูบหน้าผากภรรยา แต่เธอไม่เคยจูบหน้าผากฉันนานแล้ว เป็นงั้นไปอีก!!!

ยิ่งอ่านข่าวว่า เขาไม่ขอประกันตัวเอง แต่ขอให้ภรรยาได้ประกันตัว ผมก็ยิ่งเห็นใจเขาเข้าไปอีก ประกันออกมาแล้วผิดเงื่อนไข ค่อยถอนประกันก็ได้

ผมฝากเพื่อนทนายตั้ม จะช่วยเขาหรือไม่ช่วยเขาก็ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงและรูปคดี แต่การให้กำลังใจให้เขาเข้มแข็ง ไม่ผิดอะไรหรอก เขาเรียกว่าเพื่อนแท้มิใช่เพื่อนกิน จำหลักไว้นะครับผู้ต้องหาหรือจำเลย ไม่ว่าเขาผิดหรือถูก เขา ‘จำเป็น’ ต้องมีทนายความเป็นที่ปรึกษา ผิด-ถูกก็ว่าไปตามข้อเท็จจริง เหมือนผู้ป่วยไม่ว่าเป็นโจรหรือพระ หมอก็ต้องรักษาอาการเจ็บป่วยให้

เพื่อนทนายความคนไหนไปเยี่ยมเขา ก็ซื้อหนังสือปรัชญา สโตอิก (Stoicism) เล่มดี ๆ ไปฝากเขาสักเล่มสองเล่ม เพื่อให้เขาอยู่ได้โดยมีหลักคิด ที่ไม่ทุกข์จนเกินไป ใครไม่ชอบใจข้อเขียนผมก็เมตตาผมเถอะ ผมเหมือนผลไม้ที่หมดรสฝาด หมดรสเปรี้ยวแล้ว มีแต่รสหวาน ที่อยากให้เพื่อนร่วมโลกอยู่กันอย่างมีความสุข ไม่เบียดเบียนกันเท่านั้น

เปิดตัว!! หนังสือการ์ตูน ‘2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ’ ผู้กำกับ เผย!! อยากให้คนรุ่นใหม่ เข้าใจประวัติศาสตร์มากขึ้น

(9 พ.ย. 67) นายวิวัธน์ จิโรจน์กุล ผู้กำกับภาพยนตร์แอนิเมชัน ‘2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ’ เปิดตัวหนังสือการ์ตูนต่อยอดแอนิเมชัน เสริมฉากที่ไม่มีในหนัง พิมพ์ 4 สีทั้งเล่ม ปกแข็งทนทาน บอกเล่าเหตุการณ์ย่อยเรื่องยากให้ง่าย เข้าใจประวัติศาสตร์มากขึ้น ภูมิใจมีเด็ก ป.5 อ่านแล้วรู้เรื่อง สนุกแทบวางไม่ลง เผยมีอีกหลายเรื่องอยากคลี่คลาย ให้เด็กรุ่นหลัง ได้รู้ที่มาที่ไปให้แข็งแรง และหยัดยืนเติบโตได้

"ในระหว่างทำแอนิเมชัน เราเคยคิดเรื่องการดัดแปลงเป็นหนังสือการ์ตูน แต่ภาพยังไม่ค่อยชัดมาก ตอนนั้นคิดแค่ว่าเอาแอนิเมชันให้จบก่อน พอจบแล้วเสียงตอบรับดี เนื้อหาของเรื่องมันได้ บทที่ใส่ไปในเรื่องมันพร้อมที่จะทำ คิดว่าถ้ามันประสบผลสำเร็จ ก็จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะเป็นรายได้ให้กับพวกเราด้วย แต่ผมก็ไม่อยากที่จะให้หนังสือมันแพงมาก ผมต้องการให้หนังสือมีคุณค่า ผมจึงทำเป็นปกแข็งและทำสี่สีทั้งเล่ม" นายวิวัธน์ กล่าว

สำหรับการจัดทำหนังสือการ์ตูนดังกล่าว นายวิวัธน์ กล่าวว่า เดิมตั้งเป้าไว้ที่ 3 เดือน สุดท้ายอยู่ที่ 4 เดือน แต่ถือว่าเร็วเมื่อเทียบกับการวาดการ์ตูนใหม่ทั้งหมด หากฉากไหนไม่สมบูรณ์ก็นำมาวาดเพิ่ม แต่ด้วยความที่มีแหล่งวัตถุดิบอยู่แล้ว และได้คุณเก่ง สุทธิ บุญมนัส เป็นคนวาดการ์ตูนและวางโครงเรื่อง ทำให้เล่าเรื่องราวอย่างราบรื่น ออกมาเป็นการ์ตูนแบบญี่ปุ่นที่เด็กๆ ย่อยง่ายและสนใจอย่างมาก เพราะเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ซึ่งมาจากการสืบค้นกว่า 3 ปี มาเรียบเรียงใหม่ ถือเป็นการรวมพลังของคนทำแอนิเมชันเพื่อส่งต่องานให้สมบูรณ์

"สิ่งที่ภูมิใจที่สุด คือ เด็กอ่านแล้วรู้เรื่อง อ่านแล้วสนุก อันนี้คือหัวใจสำคัญในการทำประวัติศาสตร์ที่เล่ายาก ๆ เป็นเรื่องที่ตึงเครียด แต่ทำให้เด็กสามารถอ่านแล้วสนุกกับเนื้อหา และได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ไปด้วยกัน คือคุณทำตำราเรียนมา 1 เล่ม มันมีแต่ข้อความ เด็กมันเบื่อไม่อยากอ่าน แต่พอทำเป็นการ์ตูน เด็กเกิดความสนใจที่จะศึกษาต่อ ผมคิดว่าเราประสบความสำเร็จมาก คุณแม่ส่งรูปมาให้ดูว่าลูกชาย ป.5 นั่งอ่านการ์ตูนโดยที่วางไม่ลง พวกเรารู้สึกหายเหนื่อยในสิ่งที่ทำมา มันได้ประโยชน์จริง ๆ" นายวิวัธน์ กล่าวทิ้งท้ายด้วยความภาคภูมิใจ

ทำความเข้าใจ ‘YPTA’ ของ ‘Airasia’ เยาวชนที่เดินทางโดยลำพัง เปิดแนวทางป้องกัน เพื่อไม่ให้ผิดพลาด ถึงจุดหมายดังใจ

(9 พ.ย. 67) เพจเฟซบุ๊ก ‘Happ Study Abroad’ ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ  ผู้โดยสารเยาวชนที่เดินทางลำพัง โดยมีใจความว่า ...

ทำความเข้าใจ YPTA ของ Airasia

1. YPTA หมายถึง ผู้โดยสารเยาวชนที่เดินทางลำพัง
2. เยาวชนในที่นี้ คือ อายุ 12-16 ปี
3. รายละเอียดต่าง ๆ ตามใน https://support.airasia.com/.../Are-children-allowed-to... 
4. เอกสารสละสิทธิ์การเรียกร้องเพื่อรับรอง YPTA ที่เป็นเอกสารภายในของสายการบิน แต่ละสายการบินอาจมีแบบฟอร์มและวิธีปฏิบัติแตกต่างกัน เจ้าหน้าที่เช็กอินมีหน้าที่แจ้งให้ผู้ปกครองลงนามเอกสารนี้ 
5. YPTA ต้องมาแสดงตัวเช็กอินพร้อมผู้ปกครองที่เคาน์เตอร์เท่านั้น

* เหตุการณ์สายการบินปฏิเสธไม่ให้น้องเล็กและเพื่อนขึ้นเครื่องจาก Dmk -Jai เมื่อ 3 พ.ย.67 ที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลว่าเพราะผู้ปกครองไม่ได้เซ็นเอกสารสละสิทธิ์การเรียกร้องเพื่อรับรอง YPTA ณ เคาน์เตอร์เช็กอิน 

* ผู้ปกครองแย้งกลับว่า เจ้าหน้าที่เช็กอินไม่ได้ยื่นเอกสารใดๆมาให้เซ็น ในเมื่อเจ้าหน้าที่ไม่แจ้ง ไม่ยื่นเอกสารให้ลงนาม ผู้ปกครองจะทราบได้อย่างไร 

* รายละเอียดผู้โดยสารตรงตามพาสปอร์ต เจ้าหน้าที่เช็กอินเห็นอยู่แล้ว เพราะมีหน้าที่ต้องตรวจทาน และเด็ก ๆ ก็ยืนแสดงตัวอยู่หน้าเคาน์เตอร์ตลอดเวลา ดูหน้าก็รู้ว่าเป็นเด็กทั้งคู่ แต่ก็ไม่ได้ถามไถ่ ทักท้วงใด ๆ และทำการออกบัตรโดยสาร พร้อมโหลดสัมภาระให้เรียบร้อย 

* การที่เจ้าหน้าที่อีกคนอ้างภายหลังว่าผู้ปกครองจองตั๋วโดยใส่วันเดือนปีเกิดไม่ตรงตามพาสปอร์ตนั้นไม่เป็นความจริง เด็กทั้งสองอายุเกิน 12 ปีแล้ว ใน website สามารถจองตั๋วได้เลย โดยเลือกตั๋วผู้ใหญ่ (อายุ 12 ปีขึ้นไป)

* หนังสือให้ความยินยอมที่พ่อแม่ทำมาจากอำเภอหรือเขต ใช้ยื่นให้กับเจ้าหน้าที่ ตม. (สายการบินไม่ได้ขอดูเอกสารนี้)

แนวทางป้องกันสำหรับผู้ปกครอง
1. จองตั๋วทาง website หรือ app ของสายการบินโดยตรง เพื่อความสะดวกในการติดต่อ หากเกิดความผิดพลาดใด ๆ
2. เตรียมหนังสือให้ความยินยอมฉบับจริง หรือโหลดเก็บไว้ในโทรศัพท์ เพื่อแสดงต่อเจ้าหน้าที่ตม.
3. ขณะเช็กอินให้ผู้ปกครองถามเจ้าหน้าที่ ขอเซ็นเอกสารของสายการบินทุกครั้ง
4. รอที่สนามบินจนกว่าเครื่องจะออก และโทร.ติดต่อเด็กเพื่ออัปเดตสถานะเป็นระยะ

เปิดเส้นทางรัก ‘ทนายตั้ม - ปทิตตา’ รักกันมา 25 ปี สมัยจีบกัน คุยข้ามวัน 2 ทุ่ม ถึง ตี 2 ก่อนได้ครองคู่

(9 พ.ย. 67) ย้อนเรื่องราวเส้นทางความรัก 25 ปี ของ ทนายตั้ม ษิทรา เบี้ยบังเกิด กับ ภรรยาคนสวย คุณเดือน ปทิตตา เบี้ยบังเกิด ในรายการ 'ที่รัก เสือสิงห์ กระทิงแซ่บ' กับชื่อตอน เปิดคดีรัก 25 ปี เป็นเมียทนายต้องอดทน!! ทำคดีมามากมาย แต่ ทนายตั้ม ษิทรา กลับแพ้ให้คดีของ เดือน ปทิตตา ภรรยาคนสวยสุดแซ่บนี่เอง แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ ภรรยาคนนี้ต้องสู้และอดทนแค่ไหน?

ทนายตั้มเล่าว่า รักกันมา 25 ปี ช่วงแรกไม่ค่อยเปิดเผยเรื่องครอบครัวให้ใครรู้เลย แต่ช่วงหลัง ๆ พอทนายตั้มเริ่มมี FC มากขึ้น คุณเดือนเริ่มรู้สึกไม่สบายใจ ก็เลยต้องแสดงตัวว่า ทนายตั้มมีครอบครัวแล้วนะ

“เจอกันครั้งแรกในงานประกวดนางนพมาศ ตั้งใจจะไปจีบเพื่อนของคุณเดือน แต่เพื่อนเขามีแฟนแล้ว ก็เลยเบนเข็มไปจีบเขาแทน โดยโทรไปหาเขาหลายวันติดต่อกัน จนคุณเดือนเริ่มรู้สึกแปลกๆ เพราะเริ่มไม่ได้ถามเรื่องเพื่อนแล้ว แต่ถามเรื่องคุณเดือนอย่างเดียวเลย จนฝ่ายคุณเดือนต้องถามว่า ‘พี่ตั้มคิดอะไรกับหนูหรือเปล่า’ จะได้ทำตัวถูก ก็เลยบอกว่า คุยกันตั้งแต่ 2 ทุ่ม ถึง ตี 2 ยังไม่รู้ตัวอีกเหรอ” ทนายตั้มย้อนเล่า

แต่ก็ไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะคุณเดือนเป็นลูกหลานบ้านนายตำรวจใหญ่ของจังหวัด จะเข้าไปจีบก็เหมือนเข้าถ้ำเสือ จนต้องเข้าทางคุณย่าแทน มาถึงช่วงที่หัวเลี้ยวหัวต่อ กำลังจะจบ ม.6 ที่บ้านจะส่งไปเรียนเมืองนอก แต่ทนายตั้มเชื่อว่าถ้าคุณเดือนไปเมืองนอกจะต้องเลิกกันแน่นอน ก็เลยตัดสินใจ ไปที่บ้านเข้าไปขอลูกสาวเขาเลย ตอนนั้นคุณเดือนเพิ่งจบ ม.6 ตัวเองก็เพิ่งเรียนมหาวิทยาลัยปี 2

คุณเดือนบอกว่า ช่วงที่คบกับทนายตั้มแรกๆ ลำบากมาก ทนายตั้มเรียน ม.ราม ได้เงินวันละ 200 บาท บางวันได้ 50 บาท ลงเรือ เดินเท้า ทุกอย่างผ่านมาด้วยกันหมดแล้ว แต่สิ่งที่ทำให้ เรามั่นใจว่าคิดไม่ผิดจริง ๆ ที่เลือกเขาเป็นคู่ชีวิต เรารู้ว่าเขาทำงานเสี่ยง ๆ เพื่อครอบครัวทุกอย่าง

คุณเดือนยังถูกถามคำถามในรายการว่า จริงหรือไม่ที่ เป็นเมียทนายตั้มต้องอดทน เพราะ ทนายตั้ม HOT เกินต้าน จนเมียหัวจะปวด ซึ่งคุณเดือนบอกว่า สำหรับสามีคนนี้ ช่วงแรก ๆ ต้องเช็กทุกอย่าง เพราะเขาชอบตีเนียน บอกว่าคุยเรื่องงาน พอทนายตั้มหลับ ก็จะต้องเอามือถือมาเช็ก เช้ามาถ้าหน้านิ่วคิ้วขมวด แปลว่าเจออะไรแปลก ๆ แน่นอนแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการแชตคุยที่ไม่เหมือนลูกความกับทนายคุยกัน เช่น “กินข้าวหรือยังคะ” อะไรแบบนี้

ทนายตั้มก็ตอบว่า จริง ๆ เป็นเรื่องงาน เป็นบรรดา FC ที่เขาติดตามเรา บางคนส่งอาหาร ส่งของมาให้กินที่สำนักงานเลยก็มี

รมว.แรงงาน 'พิพัฒน์' เป็นประธานพิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทานกระทรวงแรงงาน ประจำปี 2567 ณ วัดชัยมงคล พระอารามหลวง จ.สงขลา 

(9 พ.ย.67) เวลา 10.00 น. นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทานของกระทรวงแรงงาน ประจำปี 2567 ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้ากระกฐินให้กระทรวงแรงงาน ตามที่ขอพระราชทานเพื่อน้อมนำไปถวายพระสงฆ์จำพรรษากาลถ้วนไตรมาส ณ วัดชัยมงคล พระอารามหลวง ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลาเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อีกทั้งเป็นการสนองสถาบันพระมหากษัตริย์ในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและพระอารามหลวง พร้อมสืบสานขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของไทย

ในการนี้มี นายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน นายจิรวัตร์ มณีโชติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายวิทยา จันทน์เสนะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงแรงงาน หัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดสงขลาและจังหวัดใกล้เคียง หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดสงขลา ภาคเอกชน และพุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดสงขลา เข้าร่วมพิธีโดยพร้อมเพรียงกัน ทั้งนี้ ผู้มีจิตกุศลร่วมถวายจตุปัจจัย ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและบูรณะพระอาราม ทำบุญกฐินพระราชทานของกระทรวงแรงงาน ประจำปี 2567 รวมเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 2,583,812 บาท นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยังได้มอบทุนการศึกษาให้กับผู้อำนวยการโรงเรียนในอุปถัมภ์ จำนวน 2 ทุนๆ ละ 10,000 บาท จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดชัยมงคล และโรงเรียนชัยมงคลวิทย์ รวมเป็นเงินจำนวน 20,000 บาท 

สำหรับวัดชัยมงคล พระอารามหลวง ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งวัดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2320 วัดมีพระบรมธาตุที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพบูชาของชาวจังหวัดสงขลา ซึ่งสร้างเมื่อใดไม่ทราบชัด เดิมวัดมีชื่อว่า วัดโคกเสม็ด เพราะตั้งอยู่บนเนินทรายที่มีต้นเสม็ดอยู่จำนวนมาก ในสมัยพระอาจารย์ศรีเป็นเจ้าอาวาส วัดชัยมงคลมีความเจริญรุ่งเรืองมาก และสมัยที่พระมหาแฉล้ม เขมปญฺโญ เป็นเจ้าอาวาส ได้ทำเรื่องเสนอคณะสงฆ์และบ้านเมืองเพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตสถาปนาวัดขึ้นเป็นพระอารามหลวง จนยกฐานะเป็นพระอารามหลวงเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2528

ทั้งนี้ กฐินพระราชทาน เป็นกฐินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานผ้าของหลวงแก่ผู้กราบบังคมทูล ขอพระราชทานเพื่อไปถวายยังวัดหลวงต่างๆ นอกจากวัดสำคัญที่ทรงกำหนดไว้ว่าจะเสด็จพระราชดำเนินด้วยพระองค์เอง หรือจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ หรือองคมนตรี หรือผู้ที่ทรงเห็นสมควรเป็นผู้แทนพระองค์ไปถวาย จึงเปิดโอกาสให้กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ตลอดจนคณะบุคคลหรือบุคลากรที่สมควรรับพระราชทานผ้ากฐินไปถวายได้ โดยกระทรวงแรงงานได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เนื่องจากเป็นประเพณีที่พุทธศาสนิกชน ได้ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน เพื่อเป็นการอุปถัมภ์พระสงฆ์ที่จำพรรษาครบถ้วนไตรมาสให้ได้รับอานิสงส์ตามพระวินัย และเป็นทุนในการบูรณปฏิสังขรณ์พระอาราม โดยเป็นการรวมพลังแห่งความสามัคคี ทั้งทางกาย วาจา และจิตใจในการสร้างบุญกุศลสร้างความสุขของการอยู่ร่วมกันในสังคม รวมทั้งเป็นการจรรโลงและส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้มั่นคงดำรงอยู่เจริญวัฒนาสถาพรสืบไป

แม่ทัพภาคที่ 4 ให้การต้อนรับคณะ ส.ว. จาก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าพบแสดงความยินดี และร่วมหารือแก้ไขปัญหา ผลักดันการพัฒนาคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน

เมื่อวานนี้ (8 พ.ย.67) เวลา 14.00 น. ณ ห้องรับรอง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี พลโท ไพศาล  หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 พร้อมคณะฯ ให้การต้อนรับสมาชิกวุฒิสภาจาก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้และคณะที่ปรึกษากรรมาธิการทหาร นำโดย นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล สมาชิกวุฒิสภา / นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้ พร้อมด้วยสมาชิกวุฒิสภาจาก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล เข้าพบ พลโท ไพศาล หนูสังข์ เพื่อร่วมแสดงความยินดี ในการเข้ารับตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่ แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 และร่วมพูดคุยหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเน้นการใช้การศึกษาเป็นฐานในการพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมไปถึงการสร้างความเข้าใจแก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ เพื่อสร้างสันติสุขอย่างยั่งยืนในพื้นที่ต่อไป

โอกาสนี้ พลโท ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ได้กล่าวขอบคุณ นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล สมาชิกวุฒิสภา / นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้ และคณะฯ ที่ได้เดินทางมาร่วมแสดงความยินดี โดยตนรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ให้การต้อนรับคณะ แต่ขณะเดียวกัน ตนต้องคิดให้มากขึ้นและทำให้มากขึ้น ให้สมกับที่ทุกท่านได้มาร่วมแสดงความยินดี และรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่ แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 สำหรับการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น จากประสบการณ์การทำงานในพื้นที่มาอย่างยาวนาน ทำให้เข้าใจและพร้อมที่จะแก้ไขปัญหา โดยใช้กระบวนการสร้างการรับรู้ 2 P คือ Perception (การรับรู้) และ Process (กระบวนการ) เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับพี่น้องประชาชน ภาคประชาสังคม รวมไปถึงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นฐานนำไปสู่การสร้างสันติสุขในพื้นที่

นอกจากนี้ คณะสมาชิกวุฒิสภาจาก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และคณะที่ปรึกษากรรมาธิการทหาร ยังได้ร่วมหารือและเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ โดยเน้นการส่งเสริมการศึกษาให้กับเยาวชนกลุ่มเปราะบาง ทั้งในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานและหลักสูตรเร่งรัด เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างคนดีสู่สังคมในอนาคต รวมทั้งเน้นการพูดคุยพบปะพัฒนาสัมพันธ์กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและความเข้าใจอันดี ซึ่งจะช่วยให้การแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงในพื้นที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top